×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 810

The Sexy Thammasat 

February 20, 2018 5069

คำว่า ‘เซ็กซี่’ เมื่อนำมาใช้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อาจจะฟังแล้วไม่คุ้นหู แต่เมื่อฟังคำอธิบายของ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา ก็ทำให้เห็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้กำลังจะเดินหน้าไปตามแนวคิดของผู้นำหญิงท่านนี้ 

เพราะเซ็กซี่ตามความหมายของ รศ.เกศินี แปลได้ว่า “ที่กระตุ้นความสนใจ น่าตื่นเต้น หรือน่าสนใจ” เป็นการจัดการการศึกษาที่ต้องติดตามในช่วงเวลาที่วงการการศึกษาไทยกำลังเผชิญกับความท้าทาย ทั้งเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลที่แทรกซึมเข้าไปอยู่ในวงการต่างๆ มีความชัดเจนจนทุกภาคส่วนต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับดิจิทัลเทคโนโลยีเหล่านี้ รวมถึงวงการศึกษาในฐานะแหล่งผลิตบุคลากรเข้าสู่สังคมด้วย 

การที่วงการศึกษาแคบลง ในความหมายนี้คือ นักศึกษาให้ความสำคัญ และมีการแลกเปลี่ยนไปศึกษาดูงานและฝึกงานในรูปแบบต่างๆ ในต่างประเทศอย่างหลากหลายมากขึ้น และอีกเรื่องคือพฤติกรรมของคนในแต่ละเจเนอเรชันที่มีความต้องการแตกต่างกันไป คนรุ่นใหม่มีแนวคิดในการเรียนและการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ที่ประชากรวัยเรียนลดลง ขณะที่ผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้น  

พื้นฐานที่เปลี่ยนแปลงไปเหล่านี้คือโจทย์ที่วงการศึกษาต้องปรับตัวเพื่อรับมือ  

อธิการบดี มธ. มองว่า เทคโนโลยีดิจิทัลคือความท้าทายในการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้เท่าทันเทคโนโลยี สามารถผลิตหรือใช้งานเทคโนโลยีต่างๆ ได้ มีพื้นความรู้ที่หลากหลาย เพื่อให้สามารถอยู่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง    

“นอกจากความรู้พื้นฐาน Digital Literacy แล้วคนในศตวรรษที่ 21 ต้องมีความสามารถคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ก็จะเป็นพื้นฐานที่จะช่วยเขาไม่ว่าอยู่อาชีพอะไรก็สามารถทำงานได้ เป็นนักคิดนักเขียน นักกำกับ นักการตลาดที่ไม่เหมือนใคร  ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เรื่องความเป็นผู้ประกอบการ อาจารย์มองว่าทุกคนต้องมี Entrepreneurial Spirit มีจิตวิญญาณความคิดของความเป็นผู้ประกอบการไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ประกอบการเองหรือไม่ก็ตาม เป็นลูกจ้างเขาก็ต้องมีจิตวิญญาณนี้ จะทำให้คนเขาอยากได้เรา เพราะคนที่มีคือคนที่ทำอะไร มีการวางแผน สู้งาน กล้าตัดสินใจ กล้าเสี่ยงในสถานการณ์ต่างๆ ที่วิเคราะห์แล้ว ก็เลยเสนอหลักสูตรว่า เราจะมีไมเนอร์ทางด้านความเป็นผู้ประกอบการให้เด็กทุกคนที่เข้ามาเรียนธรรมศาสตร์ได้มีโอกาสเลือกเรียนวิชาความเป็นผู้ประกอบการ” 

ในส่วนของหลักสูตรที่จะช่วยสร้างพื้นฐานความรู้ที่หลากหลาย อธิการบดี มธ. เล่าว่ามีการออกแบบหลักสูตรให้นักศึกษาสามารถเลือกเรียนข้ามคณะได้ เช่นเปิดโอกาสให้เรียนเป็น 2 วิชาเอก หรือ 1 วิชาเอก 2 วิชาโท เพื่อให้บัณฑิตสามารถเลือกความหลากหลายได้ด้วยตัวเอง รวมทั้งวิชาของแต่ละคณะจะมีการ บูรณาการกันมากขึ้น ในบางวิชามีการเชิญผู้ประกอบการมาร่วมออกแบบหลักสูตรร่วมกับทางมหาวิทยาลัย  เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความสามารถออกไปทำงานได้จริง มีพื้นฐานการคิดวิเคราะห์ ปลูกฝังทักษะในการคิด วิเคราะห์และค้นคว้า ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับคนยุคนี้ ปรับรูปแบบการเรียนการสอนจากการบรรยายเป็นหลักสู่การเรียนแบบ Active Learning ที่ผู้เรียนจะได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นอภิปรายและปฏิบัติในห้องเรียนเพิ่มขึ้น 

  

มหาวิทยาลัยต้องดึงดูดผู้เรียน 

รศ.เกศินีชี้ว่า การปรับรูปแบบการเรียนรู้ ก็เพื่อรองรับคนเก่งยุคใหม่ที่มีช่องทางในการเรียนรู้ด้วยตัวเองอยู่มากมาย แต่การเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะทำให้ผู้เรียนได้เรียนและฝึกฝนทักษะต่างๆ ไปพร้อมกัน ด้วยการจัดระบบการเรียนการสอน มีหลักสูตรที่แลกเปลี่ยนไปศึกษาในต่างประเทศ มีการบูรณาการรายวิชาต่างๆ การเรียนการสอนที่สอดแทรกความสนุกสนาน การให้ข้อมูลว่าสิ่งที่เรียนอยู่นั้นสามารถนำไปใช้งานได้อย่างไรในชีวิตประจำวัน ประกอบกับค่านิยมของสังคมไทยเรื่องใบปริญญายังเป็นสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ให้ความสนใจ จะช่วยดึงดูดให้ผู้เรียนสนใจวิชาที่เรียนในมหาวิทยาลัย  

 “ด้านหนึ่งต้องทำให้เขาเข้าใจ อีกด้านก็ต้องทำให้วิธีการเรียนการสอนสนุก แล้วเด็กน้อยลงเรายิ่งต้องหาทางทำให้เขาอยู่กับเรา แต่ก่อนเราคิดว่าเป็นหน้าที่เขาที่ต้องมาเรียน เดี๋ยวนี้คิดว่าเป็นหน้าที่เรา ที่ทำให้เขาอยากมาเรียน เพราะเขามีช่องทางเรียนเยอะแยะ แต่ทำอย่างไรให้เขาอยากมาเรียนกับเรา อยากพัฒนาตัวเองไปในทิศทางที่เราคิดว่าดีกับเขา คือเด็กอย่างไรก็มีความคิดเป็นเด็ก ยังมองไม่รอบด้าน เราต้องช่วยเขา” 

สิ่งที่มธ.กำลังพยายามสร้าง คือ การเรียนการสอนที่อิงกับความเป็นจริง สร้างพื้นฐานให้กับนักศึกษาสามารถนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติได้ รู้ถึงจุดอ่อนและจุดแข็งของตัวเอง โดยมีการตั้ง ศูนย์ทดสอบสมรรถนะ Thammasat Competency Test Center เพื่อประเมินนักศึกษาตั้งแต่เข้าเรียนปีแรกจนจบการศึกษา 

ในด้านการเรียนการสอนจะเน้นการให้ผู้เรียนได้ค้นคว้าหาความรู้ภายนอกเพิ่มขึ้น เพิ่มการพูดคุยอภิปรายในชั้นเรียน โดยอาจารย์จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาชี้ทาง และกดดันให้ผู้เรียนมีความมุ่งมั่นพัฒนาตัวเองไปตลอดที่เรียนในมหาวิทยาลัย  

ปัจจุบัน มธ. มีการฝึกอบรมอาจารย์ทางด้าน Active Learning อย่างสม่ำเสมอ โดยอาจารย์รุ่นใหม่ทั้งหมดจะต้องเข้ารับการอบรม เพื่อสามารถเป็นแบบอย่างให้กับนักศึกษาในการเรียนการสอน ให้อาจารย์เป็นผู้กระตุ้นขับเคลื่อนนักศึกษา 

อีกด้านหนึ่ง มธ. มีนโยบายสร้างโครงการช่วยเหลือชุมชน โดยให้ทุกคณะต้องเข้าไปช่วยเหลือชุมชนทั่วประเทศ เพื่อให้นักศึกษาและอาจารย์ได้เรียนรู้ความต้องการของชุมชน โดยร่วมมือกับภาคเอกชนที่จะเข้าไปช่วยเหลือชุมชนต่างๆ เป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ให้กับนักศึกษาและคณาจารย์ด้วยการได้สัมผัสกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในประเทศ เป็นส่วนเสริมการเรียนรู้และเพิ่มทักษะในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อสร้างผู้นำ ดังที่ รศ.เกศินีกล่าวสรุปว่า “คนจะเป็นผู้นำต้องออกไปเรียนรู้ข้างนอก”   

ขณะเดียวกัน มธ. มีการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกให้ตอบรับความต้องการของคนรุ่นใหม่ เช่น มีการทำ  Co-Working Space ที่หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต และที่ชั้น 1 คณะพาณิชยศาสตร์ ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทน์ โดยจะมีการเชิญคนที่น่าสนใจมาพูดคุยให้นักศึกษาฟังเป็นระยะ และมีเครื่องมือให้นักศึกษาสามารถทดลองทำสิ่งต่างๆ ได้ เป้าหมายคือให้นักศึกษามีพื้นที่สำหรับพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างความคิดและความร่วมมือระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น  

ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้กำลังเกิดขึ้น และน่าจะเห็นได้ชัดเจนภายใน 2 ปีนี้ เพื่อสร้างคนที่มีคุณลักษณะ ตามวิสัยทัศน์ที่ต้องการจะสร้างผู้นำที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีของสังคม  ดังที่ รศ.เกศินีอธิบายว่า 

“บัณฑิตธรรมศาสตร์ต้องมีคุณลักษณะที่เรียกว่า GREATS 

G - Global Mindset รู้เรื่องในโลก ทันสังคม ไม่ใช่รู้แค่เรื่องในประเทศในบ้าน ต้องรู้ให้ทั่ว 

R - Responsibility ต้องมีความ 
รับผิดชอบ คนที่ไม่มีความรับผิดชอบอย่างไรก็ไม่เจริญ รับผิดชอบต่อสังคม ต่อตัวเอง ต่อโลก  

E - Eloquence คือการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์และทรงพลัง ต้องรู้จักสื่อสาร เดี๋ยวนี้การสื่อสารสำคัญ ไม่ใช่พูดไม่รู้เรื่อง คนฟังเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทำให้สื่อได้โน้มน้าวผู้คนได้ ไม่ทะเลาะกับคนอื่นด้วยวิธีการสื่อสาร เป็นหนึ่งใน 3 ทักษะของคนที่เป็นผู้นำ 

A - Aesthetic Appreciation ต้องมีสุนทรียะ คนเราทำอะไรต้องมีสุนทรียะ เข้าใจความงาม คนเรียนธรรมศาสตร์สมัยก่อนต้องเรียนดนตรี ฟังดนตรี อาจารย์ให้ไปฟังคอนเสิร์ต คุณต้องรู้จักชื่นชมกับศิลปะ ผสมผสานสมองซีกซ้ายซีกขวา เข้าใจคนอื่นได้ 

T - Team Leader สามารถทำงานเป็นทีม ไม่เด่นคนเดียว เดี๋ยวนี้แทบทุกวิชาให้เด็กทำงานเป็นกลุ่มตลอด และมีการประเมินไปด้วย จะมาลอยตัวไม่ทำงานให้เพื่อนทำไม่ได้   

S - Spirit of Thammasat คือให้มีจิตวิญญาณความเป็นธรรมศาสตร์ รับ 
ผิดชอบต่อสังคม ทำอะไรคิดถึงส่วนรวม ประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเป็นธรรม” 

 

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ว่าด้วยความเป็นผู้นำ

อธิการบดี มธ. มองว่า ด้วยคุณลักษณะ GREAT ข้างต้น และการปลูกฝังแนวคิดการคิดถึงส่วนรวม จะช่วยสร้างผู้นำแห่งอนาคตให้กับสังคมไทย โดยการสร้างผู้นำจะต้อง “ปลูกฝังแต่เยาว์วัย มี Mindset ที่ดี มีความรับผิดชอบ ทำงานเป็นทีม มองประโยชน์ส่วนรวม คิดเรื่องประชาธิปไตย ความเป็นธรรม ใครๆ ก็อยากได้คนอย่างนี้ ถ้าใครไม่มีเรื่องเหล่านี้ภาพลักษณ์ก็ไม่ดี โอกาสที่ใครจะมาเลือกเป็นผู้นำคงจะยาก อีกอย่างการปลูกฝังคุณลักษณะที่ดีแบบนี้ ต้องปลูกฝังและพัฒนาไปเรื่อยๆ ให้งอกเงย” 

ขณะเดียวกัน มธ. จะรักษาความเป็นผู้นำทางด้านการศึกษาได้ก็ด้วยการทำสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นให้เห็นเป็นรูปธรรม เมื่อบุคคลภายนอกได้สัมผัสกับผลผลิตของธรรมศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นตัวบัณฑิต งานวิจัย รวมถึงได้ใช้งานบริการทางวิชาการด้านต่างๆ ก็จะบอกกันปากต่อปากจากประสบการณ์จริงที่ได้รับ  ส่งผลต่อเนื่องถึงชื่อเสียงของสถาบัน 

ทั้งหมดนั้นเพื่อสร้างธรรมศาสตร์ที่เซ็กซี่ดึงดูดทั้งผู้เรียน และรักษาความเป็นผู้นำด้านการศึกษา ดังที่รศ.เกศินีสรุปปิดท้ายว่า  “สถาบันที่มีคุณภาพ ที่ใครๆ ก็อยากเข้ามาเรียน”  

  

Thammasat Valley of Wellness 

Thammasat Valley of Wellness เป็นหนึ่งในโครงการใหญ่ที่ธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยาซึ่ง รศ.เกศินีตั้งใจจะทำให้เห็นผล โดยจะเป็นการร่วมมือกันระหว่างคณะพาณิชยศาสตร์ แพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ มีภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมคือ ธ.กรุงเทพ ตามเป้าหมายที่วางไว้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่จัดการเรียนการสอน แต่จะเป็นศูนย์ในการสร้างผู้ประกอบการ สร้างผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพด้านต่างๆ โดยจะมีห้องแล็บและ Co-Working Space และสวนพฤกษศาสตร์ด้านสมุนไพรที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  

 โครงการนี้จะมามีส่วนช่วยให้ธรรมศาสตร์สามารถบรรลุเป้าหมายการสร้างสตาร์ตอัพปีละ 1,000 รายที่วางเอาไว้ โดยจะมีการคัดเลือกสตาร์ตอัพด้านสุขภาพจากทั่วโลกให้มาร่วมทำงานกันที่ธรรมศาสตร์ศูนย์พัทยา นอกจากนี้จะเป็นศูนย์ฝึกอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ และจัดโปรแกรมดูแลสุขภาพสำหรับผู้สูงวัยในอนาคต  

Rate this item
(2 votes)
Last modified on Tuesday, 20 February 2018 06:58
X

Right Click

No right click