เพื่อนฝูงในแวดวง VC บอกให้จับตากิจการเล็กๆ ที่เพิ่งรับเงินรอบ Series A ไป 10 ล้านเหรียญฯ แบบชิวๆ ว่าสิ่งที่เขาทำมันน่าสนใจ และน่าจะใหญ่โตได้ในอนาคต
เราว่าทุกคนต้องเคยหงุดหงิดเวลาไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตแล้วต้องมารอจ่ายเงิน ยิ่งซูเปอร์ใหญ่ๆ ในวันหยุดหรือสิ้นเดือน ที่ลูกค้าต่างมาช้อปปิ้งกันแบบเต็มคันรถเข็นด้วยแล้ว ต้องมีสิบห้าถึงยี่สิบนาที...เฉพาะยืนรอ... ยังไม่นับว่าต้อง “ติ๊ดเครื่อง” และรูดบัตรเครดิต แล้วเก็บของใส่ถุงอีก...ยิ่งตอนนี้บางวันหรือบางช่องเก็บเงิน ก็ไม่มีถุงบริการแล้ว เพราะไม่อยากให้โลกร้อนขึ้น
ถ้าต้องซื้อผลไม้หรือผักตามฤดูกาลด้วยแล้ว ยังต้องไปรอคิวชั่งน้ำหนักเพื่อติดแท็กราคาเสียอีกต่อหนึ่งก่อน
เท่ากับรอสองต่อละ
แม้เดี๋ยวนี้ ซูเปอร์ที่คนแยะๆ จะนำเครื่อง “Self Checkout” มาให้บริการสำหรับแม่บ้านพ่อบ้านที่อินทรีย์แก่กล้าขึ้นมาหน่อย สามารถ “ติ๊ดเครื่อง” เองได้ รูดบัตรเองได้ แต่หลายต่อหลายครั้ง เมื่อคนข้างหน้ามีปัญหาเรื่อง “ติ๊ดเครื่อง” (จะเพราะเซนเซอร์ไม่อ่านแทกราคา หรือเพราะความเงอะๆ งะๆ ของผู้ “ติ๊ด” ก็ตาม) ระหว่างที่รอพนักงานมาช่วยแก้ไข คนข้างหลังก็ต้องรอแง๊กกันต่อไป
ช่างเป็นประสบการณ์ที่แย่ เสียนี่กระไร
บริการจัดส่งให้ถึงบ้านสมาชิก หรือเดลิเวอรี่เซอร์วิส อาจช่วยแก้ขัดได้บ้าง สำหรับสินค้าไอเต็มที่เราซื้อประจำและไม่ต้องการใช้แบบเร่งด่วนนัก
แต่มันก็ยังไม่หนำใจ เพราะการไปดูของหน้างาน ย่อมสะใจกว่าและเลือกได้มากกว่า
Solution หนึ่งที่ฝรั่งทำ คือสร้างห้างซูเปอร์มาเก็ตแบบใหม่ ที่ไม่ต้องมีเคาน์เตอร์เก็บตัง และไม่ต้องมีพนักงานเก็บตัง โดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วย
ผู้บุกเบิกคือ AmazonGo ซึ่งเปิดหลายสาขาแล้วตามเมืองใหญ่ๆ ของสหรัฐฯ และตอนนี้ในเมืองจีน และยุโรป ก็เริ่มมีเชนแบบนี้มาเปิดแล้วเช่นกัน (เช่นห้างของ Alibaba และ JD ในจีน และ Auchan ในยุโรป เป็นต้น)
ในอนาคต ก็คงจะมีคนนำมาเปิดในกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองใหญ่ที่มีนักท่องเที่ยวแยะๆ
ซูเปอร์มาร์เก็ตพวกนี้ใช้เทคโนโลยี AI เข้าช่วย (เช่น Deep Learning, Computer Vision, Sensor Fusion, Geofencing…เออ ช่างมันเถอะ เพราะพวกเราไม่จำเป็นต้องรู้เบื้องหลังว่ามันทำกันยังไง...เป็นเรื่องของพวกช่าง) คือเราเพียงแต่โหลดแอปของเขาและเปิดบัญชีกับเขาแล้วก็เอามือถือสแกนหรือ “ติ๊ด” ที่เครื่องแล้วประตูก็เปิด (เหมือนกับขึ้นรถไฟฟ้า BTS)
แล้วก็ไปเดินหยิบสินค้าจากชั้นใส่ตะกร้า เสร็จแล้วก็เดินออกไปเลย ไม่ต้องรอจ่ายตัง เพราะไม่มีเค้าเตอร์แคชเชียร์
อีกสักพัก เขาก็จะส่งใบเสร็จรับเงินมาในมือถือ แล้วเราก็จ่ายด้วยบัตรเครดิต หรือ PayPal หรือให้หักบัญชี หรือจ่ายจาก Wallet ต่างๆ ฯลฯ
เป็นอันจบกระบวนการช็อป
ง่ายขึ้นแยะ...ใช่ปะ
อีก Solution นึง นี่เกี่ยวกับบริษัทเล็กๆ ชื่อ Caper ที่เพื่อน VC แนะนำ และเราเกริ่นไว้แต่แรก
คือแบบว่า การจะเปลี่ยนซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีอยู่แล้วให้เป็นแบบ Unmanned Supermarket หรือแบบ AmazonGo โดยไม่ต้องมีพนักงานและเคาน์เตอร์เก็บเงินนั้น มันต้องลงทุนสูง เพราะต้องติดตั้งกล้องพร้อมอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และ
Remote Sensing จำนวนมาก และต้องเปลี่ยนชั้นวางของให้เป็นแบบอัจฉริยะ เพื่อจะให้ AI มันทำงานได้แบบไม่ผิดพลาด
มันก็เลยมีคนคิดทางเลือกที่ง่ายกว่า ถูกกว่า
โดยเอาอุปกรณ์และ AI ทั้งหมด และเคาน์เตอร์แคชเชียร์มารวมไว้ในรถเข็นซะเลย (ดูภาพล่างประกอบ)
เออ..เข้าท่าแฮะ
เราเพียงแต่หยิบสินค้าลงรถเข็น มันก็จะสแกนหรือ “ติ๊ด” ให้เราระหว่างหยิบลงเสร็จสรรพโดยอัตโนมัติ เพราะมันมีเซนเซอร์หลายตัวดักรออยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปเอียงข้างให้บาร์โค้ดจ่อกับเซนเซอร์เหมือนตอนนี้ และมันยังมีข้อมูลใกล้เคียงแนะนำเราอีกด้วย เช่นเราหยิบสปาเกตตีลง มันรู้ละ มันก็จะแนะนำเครื่องเคียง Recipe ว่าจะมีอะไรอยู่บนชั้นตรงไหนและราคาเท่าไหร่ให้เลือกบ้าง
หรือถ้าเราต้องการซื้อผลไม้หรือผักที่ต้องชั่งเพื่อติดแท็กราคา ก็ไม่จำเป็นต้องไปรอชั่งอีกต่อไป เพราะในรถเข็นนี้มันมีเครื่องชั่งน้ำหนักฝังไว้แล้ว เราเพียงหยิบใส่รถเป็นพอ
ตอนจบก็สามารถเสียบบัตรเครดิตได้ที่รถเลย หรือจะจ่ายด้วยวิธี QR Quote หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็สามารถทำได้ทันที (ลองคลิกดูลิงก์นี้น๊ะ https://www.msn.com/en-us/foodanddrink/watch/caper-smart-cart-make-shopping-magic/vi-BBSTdYY)
แบบนี้ น่าจะง่ายกับเจ้าของร้านซูเปอร์ด้วย เพราะแทนที่จะต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งร้าน ก็เปลี่ยนเฉพาะรถเข็นพอ
ส่วนลูกค้าบางคนที่ไม่ชินกับการใช้ของใหม่ หรือยังต้องการเจ๊าะแจ๊ะกับแคชเชียร์ สอดรู้เรื่องดาราหรือผัวเมียคนอื่น ก็สามารถเลือกใช้ช่องทางแบบเก่าได้เหมือนเดิม
ไม่แน่ เทคโนโลยีนี้ อาจทำให้โชวห่วยกลับมาสู้กับเครือใหญ่ๆ ได้อีกครั้ง
ยังไงๆ อนาคตของการช็อปปิ้ง มันก็ต้องเปลี่ยนไปในแนวนี้แน่ๆ เพราะเทคโนโลยีมันทำได้แล้ว และมันถูกลงมาก
รู้ไว้ก่อนก็ดี
หรือถ้าอยากจะลงทุน ก็หาบริษัทดีๆ ที่ทำเรื่องพวกนี้ อีกหน่อยต้องโตอยู่แล้ว
ไว้เมื่อเว็บใหม่ของเราเรียบร้อย คงมีรายงานเชิงลึกให้ได้ดูกัน
19 ก.ย. 62
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว