November 23, 2024

บริหารธุรกิจนานาชาติ สจล. เน้นการประยุกต์ศาสตร์บริหารเข้ากับภาคอุตสาหกรรม

June 05, 2019 5986

แม้โลกปัจจุบันหลายภาคส่วนจะมีการคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆเพื่อตอบสนองการใช้งานและมอบความสะดวกสบายให้แก่ผู้บริโภคแต่ศาสตร์ในด้านการบริหารจัดการยังคงเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนโมเดลธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ

ในยุคที่การแข่งขันของอัตราผู้ที่ต้องการเติบโตเป็นผู้ประกอบการเพิ่มจำนวนมากขึ้นเช่นนี้ ผศ.ดร. ณัฐวุฒิ โรจน์นิรุตติกุล หัวหน้าภาควิชาบริหารธุรกิจนานาชาติ คณะการบริหารและจัดการ (Faculty Administration and Management: FAM) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้กล่าวถึงจุดเด่นของหลักสูตรโดยมีด้วยกันทั้งหมด 3 ระดับ คือ บริหารธุรกิจในระดับปริญญาตรี (Bachelor of Business Administration: B.B.A) ต่อยอดเป็นระดับปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม (Industrial Business Administration:M.B.A) และระดับปริญญาเอกในด้านการบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม(Industrial Business Administration: Ph.D) ซึ่งเป็นการผสมผสานหลักการบริหารจัดการเข้ากับภาคอุตสาหกรรมซึ่งครอบคลุมทั้งการผลิตสินค้าในโรงงานอุตสาหกรรมและการบริการ

นักศึกษาที่มาเรียนกับเราในหลักสูตรนานาชาติจะมีทั้งนักศึกษาที่เป็นคนไทย บางส่วนจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาหลักสูตรนานาชาติหรือจากต่างประเทศแล้วมาต่อปริญญาที่เรา ทั้งนี้ เนื่องจากนักศึกษาปริญญาตรีของเราเพิ่งจะอยู่ชั้นปีที่ 2 โดยส่วนใหญ่จะเริ่มฝึกงานหรือเข้าโครงการแลกเปลี่ยนกันในปี 3 – 4 เราก็มีแผนรองรับอยู่ว่าจะมีโครงการทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ

ส่วนระดับปริญญาโทจะมีชาวต่างชาติอย่างเวียดนามเข้ามาเรียนกับเราบ้างและบางเทอมก็มีนักศึกษาจากประเทศฝรั่งเศส สาธารณรัฐเช็ก และไต้หวันมาแลกเปลี่ยนด้วย ในแง่ของโครงสร้างหลักสูตรทั้งภาคไทยและนานาชาติมีความคล้ายคลึงกัน แต่หลักสูตรนานาชาติจะเน้นการบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้น จะเกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ และบางวิชาก็เปิดโอกาสให้นักศึกษาไปดูงานนอกสถานที่ เยี่ยมชมบรรยากาศการทำงานจริงในโรงงานอุตสาหกรรม เพราะเราต้องการที่จะตอบสนองให้ตรงกับตลาดเนื่องจากหลักสูตรด้านบริหารของเราเปิดมานานกว่า 20 ปี พื้นฐานด้านบริหารจะค่อนข้างเข้มแข็ง ขณะที่การจัดการธุรกิจอุตสาหกรรมก็ถือเป็นอีกแขนงหนึ่งที่เราโฟกัสเพราะความเชี่ยวชาญของ สจล. ก็คือด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ รวมถึงวิศวกรรมศาสตร์ด้วย เราจึงมองว่าถ้าเรามีหลักสูตรที่สามารถบูรณาการระหว่างด้านการจัดการและเทคโนโลยีได้ก็น่าจะทำให้เกิดเป็นจุดแข็งที่สำคัญ

คณะการบริหารและจัดการหรือ FAM มีแผนที่จะขยายความร่วมมือไปสู่ระดับสากลผ่านการทำ MOU กับมหาวิทยาลัยในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศจีน ซึ่งอนาคตอาจมีหลักสูตรที่สอนเป็นภาษาจีนทั้งหมด เนื่องจากเป็นประเทศใหญ่มีการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว หลักสูตรบริหารธุรกิจอุตสาหกรรมจึงสามารถตอบโจทย์ผู้สนใจชาวจีนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีประเทศอื่นๆ อย่างอังกฤษ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ภายใน 1 – 2 ปี ข้างหน้าอาจจะได้เห็นหลักสูตรสองปริญญา และโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา นักวิจัยหรืออาจารย์ เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ระหว่างสถาบันมากขึ้น ทั้งนี้ หลักสูตรนานาชาติก็พยายามที่จะเข้าถึงนักศึกษาในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ เวียดนาม ลาว และประเทศใกล้เคียง เนื่องจากมีความคล้ายคลึงในเรื่องวัฒนธรรมและในประเด็นค่าใช้จ่ายการเดินทาง ที่พัก และความเป็นอยู่ที่นักศึกษาเหล่านี้ สามารถ Absorb ได้ ผศ.ดร. ณัฐวุฒิ เผยว่านักศึกษาที่เข้ามาเรียนในหลักสูตรจะมีจุดแข็งคือ สามารถผสมผสานเนื้อหาวิชาการให้เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานในภาคอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี

“โดยจากการสำรวจข้อมูล นักศึกษาของเราค่อนข้างมีความหลากหลาย สามารถที่จะเข้าไปอยู่ในส่วนงานด้านการวางแผน การจัดซื้อวัตถุดิบ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี หรือแม้แต่หน่วยงานด้านทรัพยากรมนุษย์ด้วยเช่นกัน เนื่องจากวิชาด้านบริหารค่อนข้างครอบคลุมหลายมิติ ทั้งแง่คน การตลาดและการผลิต เพียงแต่จะเน้นภาคอุตสาหกรรมมากกว่าและยังมีข้อได้เปรียบเรื่องของภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้น ตอนที่เขาจะได้ไปฝึกงานตามสถานประกอบการต่างๆ เขาก็จะมีโอกาสใช้ภาษาและซึมซับวัฒนธรรมในการทำงานกับชาวต่างชาติได้มากกว่า ทำให้มีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมที่แตกต่างได้ดี และเรายังมีโครงการที่ส่งเสริมนักศึกษาทั้งภายในและภายนอกสถาบัน เช่น การจัดการประกวดแผนธุรกิจที่จัดขึ้นทุกปี โดยนักศึกษาจะฟอร์มทีมมาทำ Business Plan มีกรรมการทั้งจากสถาบันและจากองค์กรภายนอก เป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ทำให้นักศึกษาได้ประยุกต์สิ่งที่เรียนเข้ากับการลงมือทำ และได้รับแนวคิดจากนักศึกษาต่างสถาบันว่าเขามีจุดที่เหมือนหรือแตกต่างจากเราอย่างไร”

สำหรับการปรับตัวต่อความท้าทายในยุค Technology Disruption ที่เคลื่อนเข้ามาส่งผลต่อระบบการศึกษา ผศ.ดร. ณัฐวุฒิ มองว่าวิธีการรับมือต่อสถานการณ์เช่นนี้คือการเพิ่มความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น เพราะเวลาพูดถึงเรื่องเทคโนโลยี หลายคนมักนึกถึงเฉพาะเรื่องไอที แต่ในแง่ของภาคอุตสาหกรรม เทคโนโลยีในการผลิตสินค้าก็มีความก้าวหน้าไวเช่นกัน ทั้งในงานส่วนของการผลิต การจัดการสินค้าคงคลังหรือโลจิสติกส์ Supply Chain ดังนั้น การสร้างความร่วมมือกับบริษัทต่างๆ และให้นักศึกษาได้สัมผัสเรียนรู้ เข้าไปฝึกงาน ปฏิบัติหน้างานจริง จะกลายเป็นจุดแข็งของเด็กในการพัฒนาศักยภาพในตัวเขา หลังจากที่จบการศึกษาไปแล้วหน่วยงานที่เป็นนายจ้างจะได้ไม่ต้องใช้ระยะเวลาในการฝึกอบรมเขานานมาก

ตอนนี้ก็มีหลายๆ บริษัทที่ติดต่อเข้ามาในลักษณะ CSR ส่วนหนึ่งเพื่อต้องการให้ทุนการศึกษาแก่เด็ก โดยเราก็จะมีการทำงานร่วมกันในเพื่อคัดเลือกเด็กที่มีคุณสมบัติเหมาะสม นอกจากนี้เราก็มีแนวโน้มของการนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยเรื่องการเรียนการสอนมากขึ้น เช่น การเปิดหลักสูตรออนไลน์ทั้งภาคไทยและนานาชาติ ซึ่งถ้ามีภาษาอังกฤษ หรือภาษาจีนที่ใช้กันอย่างสากลก็น่าจะสามารถตอบสนองความต้องการในระดับโลกได้มากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยที่เรามองว่า จะทำให้หลักสูตรนานาชาติของ FAM นั้น Famous ขึ้นมามีสองลักษณะ

หนึ่งคือ --- Famous จากการสร้างประโยชน์ที่เราให้กับสังคมก็คือ บัณฑิต มหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตที่จบจากคณะเรา สร้างประโยชน์อะไรให้กับสังคมได้บ้าง Stakeholder ทั้งหลาย Prefer บัณฑิตเรามั้ย ซึ่งด้วยอัตลักษณ์ของนักศึกษาเราที่มีความซื่อสัตย์ ใฝ่รู้ไม่หยุดนิ่ง มีความพยายามพัฒนาตัวเองให้เท่าทันกับเทคโนโลยีอยู่เสมอ และขยัน รับผิดชอบ สู้งาน ลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่นายจ้างทุกคนย่อมยากได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเด็กมีทั้ง 3 อย่างนี้ เขาจะสามารถสร้างประโยชน์ให้สังคมได้แล้ว Famous ก็จะกลับมาสู่คณะเราเอง ส่วนที่สอง --- มองในแง่ของบุคลากรทั้งคณาจารย์และนักวิจัย ทุกคนที่อยู่ในสถาบันต้องพยายามสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ทั้งเชิงวิชาการและสังคม เช่น ผลิตตำรา ผลงานวิจัยตีพิมพ์เพื่อแสดงองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการ เพราะถ้าเรายึดกับความรู้หรือตำราในอดีตอย่างเดียวโดยไม่มีการค้นคว้าหรือพัฒนาสิ่งใหม่ก็จะไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับสังคมได้


เรื่อง : ณัฐพัชธ์ สุมา

ภาพ : ฐิติชญาน์ แปลงกูล            

Last modified on Sunday, 01 September 2019 19:20
X

Right Click

No right click