Ex-MBA KU หลักสูตรปั้นผู้บริหารตอบโจทย์ได้ทุกยุคทุกสมัย

October 11, 2019 9154

คีย์เวิร์ดสำคัญของยุคสมัยในช่วงเวลานี้คงหนีไม่พ้นคำว่า ‘ดิสรัปชั่น’ คำสำคัญที่สืบเนื่องจากพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และสร้างความท้าทายต่อการตัดตอนความสำเร็จของอดีตที่เคยมีมา

ที่เคยดำเนินมาในอดีต หลายธุรกิจ ในหลายอุตสาหกรรมเริ่มได้แรงกระทบ และขณะนี้ที่อีกหลายอุตสาหกรรมเริ่มตระหนักและเตรียมสร้างความเปลี่ยนผ่านเพื่อการรับมือ สำหรับภาคศึกษาในฐานะหน่วยสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ และ’ เตรียมคน’ เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจ จึงกล่าวได้ว่าเป็นอีกหน่วยสำคัญที่ต้องเตรียมตั้งรับกับยุคสมัยที่เรียกขานกันว่า ‘Disruption Era’

ผศ.ดร.หฤทัย นำประเสริฐชัย ประธานกรรมการดำเนินงานโครงการปริญญาโทสำหรับผู้บริหาร หรือ Executive MBA (Ex-MBA) คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้กล่าวถึงความเห็นต่อประเด็นเรื่อง Disruption ว่าแต่ไหนแต่ไรมา การดำเนินธุรกิจ การผลิตสินค้า หรือการบริหารจัดการในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ดำเนินมาเป็นไปตามมาตรฐาน ของแต่ละยุคสมัยและเมื่ออะไรๆ ในแต่ละช่วงเวลามีการเปลี่ยนแปลง ก็ถือเป็นเรื่องปกติ ที่กระบวนการต่างๆ จะต้องมีการปรับตัว มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อความสอดคล้องให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลง อย่างประเด็นเรื่องดิสรัปชั่น กล่าวได้ว่า คียส์สำคัญคือเรื่องเทคโนโลยี เพราะเป็นตัวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ความเร็วและความแม่นยำในกระบวนการทำงาน ปัญหาหรือความท้าทายจึงไม่ใช่การเข้ามาของเทคโนโลยี หรือการคิดว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่กระบวนการทำงานของคนได้ในทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วดิสรัปทุกสิ่งออกไปโดยสิ้นเชิง แต่คีย์ที่สำคัญก็คือ ความสามารถในการประยุกต์เทคโนโลยีมาใช้ในการเสริมความสามารถในการกระบวนการทำงาน การบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ขยายโอกาสและความสามารถในการแข่งขันให้ดีขึ้น นั่นคือประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ

หลักสูตร MBA ในยุค Disruption

ในยุคที่หลายสิ่งเริ่มเข้าสู่การเป็นยุคแห่ง IOT (Internet of Things) ทำให้เกิดกระแสแนวคิดที่ถือว่าเป็นความท้าทายของสถาบันการศึกษาอย่างมากว่า การเรียนรู้เป็นสิ่งที่เข้าถึงและทำให้เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย ด้วยเพียงการสืบค้นเข้าไปในอินเทอร์เน็ต หรือบ้างก็มีความคิดว่า แค่เพียงอ่านหนังสือก็ทำให้เกิดความรู้ได้แล้ว ในเรื่องนี้ ผศ.ดร.หฤทัย ได้แสดงทัศนะว่า

ทุกวันนี้บทบาทของมหาวิทยาลัยได้เริ่มปรับตัวมาเป็นเสมือนผู้ให้บริการและอำนวยความสะดวกในการศึกษา โดยมีโจทย์ที่ท้าทายคือ ทำอย่างไรให้ผู้เรียนได้รับความรู้ไปอย่างเต็มที่ ถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว ฉับไว เรียนรู้ได้ง่าย และผู้เรียนที่เข้ามาศึกษาในหลักสูตรมีทักษะและความสามารถที่จะประมวลความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการคิดวิเคราะห์ ต่อยอดเพื่อการนำไปประยุกต์ใช้ หรือนำไปสู่แนวทางหรือก่อเกิดโซลูชั่นใหม่ๆ ในการทำงานของผู้เรียน ซึ่งการจะสร้างให้เกิดความสำเร็จในการตอบโจทย์เหล่านี้ รูปแบบและกระบวนการเรียนการสอน ยังต้องการรูปแบบของการพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนแนวคิด แลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน ผู้เรียนกับผู้เรียน ที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ระหว่างกัน และนั่นยังคงเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ Ex-MBA มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ของ เรายังให้ความสำคัญ นอกเหนือไปจากเพิ่มแนวทางการเรียนการสอนใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้ามา .

ผศ.ดร.หฤทัย  ยังกล่าวเสริมอีกว่า เรื่อง Human Interaction หรือการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน โดยเฉพาะการเรียน MBA ยังมีความจำเป็นมาก ถึงแม้จะมีเทคโนโลยี ที่ทำให้เกิดหลักสูตรอย่างเช่น One-year Online Program หรืออีกหลายๆ หลักสูตรในรูปแบบที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดรูปแบบการเรียนการสอน แต่คำถามที่ผู้เรียนจะต้องหาคำตอบให้ได้ก่อนคือ การเรียนนั้นต้องการเพียงปริญญาบัตร หรือต้องการการเรียนรู้ที่นำไปสู่การพัฒนางานให้เกิดผลสัมฤทธิ์

สำหรับโครงการ Ex-MBA มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เราเปิดสอนหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตเพื่อพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้บริหาร ก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำ จึงจำเป็นที่จะต้องจัดวางหลักสูตรเพื่อการเรียนรู้ที่กว้างและลึก มีเครือข่ายความสัมพันธ์ทางธุรกิจ ซึ่งเกิดขึ้นได้ยากหรืออาจเกิดขึ้นไม่ได้จากรูปแบบหลักสูตรออนไลน์เพียงอย่างเดียว เพราะบทพิสูจน์นั้นมีอยู่ว่า ปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในโปรแกรมระหว่างการเรียนรู้ ทั้งจากเพื่อน จากอาจารย์ผู้รู้ทั้งหลายสามารถทำให้ผู้เรียนมีมุมมองที่กว้างขวาง หลากหลายมากขึ้น ที่เราบอกว่า “เหลาความคิดให้แหลม” คือรู้ให้กว้างก็จริง แต่กว้างแล้วต้องคม ต้องชัด ต้องลึก และสามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิผลนำไปสู่ความสำเร็จได้

ปรับใหม่เน้นย้ำ
Soft Skill และเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่ง

เพื่อตอบรับกับความแปรเปลี่ยนทั้งประเด็น Disruption และบริบทของความต้องการใหม่ๆ ในระบบธุรกิจและเศรษฐกิจแห่งอนาคต โครงการปริญญาโท สำหรับผู้บริหาร หรือ Ex-MBA มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการปรับหลักสูตรเพื่อความสดใหม่และสอดคล้องอย่างเท่าทันกับยุคสมัย ดร.ยอดมนี เทพนนท์ หัวหน้าภาควิชาการจัดการการผลิต กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการดำเนินงานโครงการ Ex- MBA คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ได้กล่าวว่า

“จะเพิ่มเน้นและตอกย้ำการสร้าง Soft Skill ให้เข้มข้นขึ้น เพื่อหล่อหลอมมหาบัณฑิตในการก้าวไปสู่การเป็นผู้บริหารที่มีความสามารถในมิติต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้น มีการเติมสาระที่เกี่ยวกับเรื่องการทำงานร่วมกับผู้อื่น ความสามารถในการปรับตัว เทคนิคการจัดการความเสี่ยงด้านต่างๆ ความคิดสร้างสรรค์ การบริหารที่มุ่งเน้นเพื่อสังคมหรือ Social Impact เพื่อที่ว่าเขาเหล่านั้นมีเมล็ดพันธุ์แห่งแนวทางความคิดว่า องค์กรของเขาสามารถยื่นมืออะไรมาช่วยสังคมได้บ้าง ที่ไม่ได้ผลักดันเฉพาะผลกำไรขององค์กร แต่ในด้านสังคมต้องไปพร้อมกัน เพราะทุกวันนี้ในเวทีโลก ได้ประกาศชัดเจนแล้วว่าเป้าหมายของธุรกิจไม่ได้อยู่ที่การมุ่งสร้างผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องคำนึงและดึงเรื่องประโยชน์ หรือ Interest ของกลุ่มอื่นๆ เข้ามาด้วย โดยเข้ามาผสมผสานอยู่ในกลยุทธ์ขององค์กรเป็นเนื้อเดียวกัน โดยเฉพาะประเด็นที่กำลังได้รับความสำคัญเป็นอย่างมากในขณะนี้คือ เรื่อง Sustainable Development  Goals (SDGs) ที่องค์กรต่างๆ ได้นำไปผนวกในการกำหนดกลยุทธ์ขององค์กรตนเอง โดยทุกรายวิชาของ หลักสูตร MBA จะสอดแทรกสิ่งเหล่านี้เข้าไป”

อย่างไรก็ดี ศาสตร์ของการเรียนการสอนในด้านบริหารธุรกิจ หรือ MBA นอกจากเรื่องหลักวิชาการจากผู้สอนที่ถ่ายทอดไปยังผู้เรียนแล้ว สิ่งที่สำคัญและขาดไม่ได้คือการได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างนิสิตด้วยกันที่มาจากหลากหลายสาขาอาชีพ และหลากหลายองค์กร รวมไปถึงการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนจากวิทยากรที่เป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรใหญ่ๆ เรื่องนี้ ดร.ณัฐพล พันธุ์ภักดี กรรมการดำเนินงานโครงการ Ex- MBA คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เผยว่า

“ที่คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มี ‘สมาคมปริญญาโทสำหรับผู้บริหาร’ ที่ไม่เหมือนสมาคมศิษย์เก่าทั่วไป โดยได้เปิดควบคู่มากับโครงการปริญญาโทสำหรับผู้บริหาร (โครงการ Ex MBA) และนิสิต Ex MBA จะได้เป็นสมาชิกตั้งแต่วันแรกที่มาเรียนโดยทันที ซึ่งหมายความว่า นอกจากคอนเน็กชั่นหรือความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนในชั้นเรียนที่ได้มาแชร์ประสบการณ์กันแล้ว ผู้เรียนยังได้เครือข่ายที่เป็นศิษย์เก่าซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมไปด้วยควบคู่กัน ซึ่งในการทำงาน หรือทำธุรกิจ การมีเครือข่ายหรือสายสัมพันธ์ทางธุรกิจเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและมีความสำคัญมาก”

ดีกรี ยังมีความสำคัญ

ในหลายปีที่ผ่านมา ภายใต้บริบทที่เทคโนโลยีเปิดโอกาสให้ใครๆ ก็ได้ที่มีอุปกรณ์และเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างง่ายดาย ด้วยต้นทุนที่ถูกลง รวดเร็วและ ครอบคลุมทั่วถึงเท่าที่สัญญาณของโครงข่ายจะนำพาไป ทำให้เกิดกระแสและค่านิยมใหม่ที่กล่าวกันว่า ต่อไปการเรียนรู้ไม่จำเป็นที่จะต้องถูกจำกัดไว้เพียงภายในสถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยอย่างที่เคยเป็น โดยความท้าทายยังรุกไล่ต่อไปที่เรื่อง 'ค่านิยม' ที่เริ่มมองว่าต่อไปในอนาคต ดีกรีหรือใบประกาศรับรองวุฒิการศึกษาจะไม่มีความจำเป็นเท่ากับทักษะและความสามารถในการทำงานได้จริง ซึ่งประเด็นนี้ ผศ.ดร หฤทัย ได้ให้ความคิดเห็นว่า

เทรนด์เรื่องนี้มีอยู่ 2 แนวคิด คือ กลุ่มแรก ไม่สนใจใบประกาศนียบัตร หรือดีกรี และคิดว่าเทรนด์กลุ่มนี้มีแนวโน้มว่าจะมีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ อยากได้ความรู้ที่นำไปใช้งานได้ทันที รวดเร็ว รวบรัด และช็อตคัทเพื่อตอบโจทย์การทำงานไปเลย ส่วนกลุ่มที่สอง คือ กลุ่มคนที่ต้องการท้าทายตัวเองและยังมีความต้องการการรับรองคุณวุฒิทางความรู้ของเขา โดยเขาสามารถนำความรู้ที่ได้และใบประกาศนียบัตร หรือดีกรีที่ได้รับการรับรองไปใช้ประโยชน์ในงานได้ ซึ่งกลุ่มนี้ประกาศนียบัตรยังสามารถเป็นแต้มต่อเพื่อให้ได้รับการโปรโมทในองค์กรที่เขาทำงาน เพราะองค์กรขนาดใหญ่โดยส่วนใหญ่ยังใช้มาตรฐานการพิจารณาในจุดนี้ และบางองค์กรปริญญาบัตรยังอยู่ในเงื่อนไขการพิจารณารับบุคลากรเข้าทำงาน หรือการย้ายจากบริษัทหนึ่งไปยังอีกบริษัทหนึ่ง หรือย้ายข้ามฝ่ายภายในบริษัทเดียวกันเองก็ตาม

แต่สำหรับความคิดเห็นของ ผศ.ดร. หฤทัย ต่อประเด็นเรื่องดีกรี หรือใบประกาศนียบัตรว่ายังมีความสำคัญหรือไม่เพียงใดนั้น ประธานหลักสูตร Ex- MBA ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เห็นว่า “ในมุมของผู้จัดทำและบริหารหลักสูตร จริงๆ แล้วดีกรีหรือไม่ดีกรีก็ตาม ความภูมิใจของเรา คือนักศึกษาหรือผู้เรียนได้อะไรกลับไป อันนี้คือสาระสำคัญมากกว่า คือเขาได้อะไรกลับไป ยกระดับจากที่ไม่มีให้มี และมีความสามารถเก่งขึ้นดีขึ้น ความสำเร็จที่สะท้อนและแสดงออกด้วยผลงาน หรืองานของเขา การได้เลื่อนตำแหน่ง มีความก้าวหน้าในวิชาชีพ สิ่งเหล่านั้นสำคัญมากเวลาเราประเมินคำว่าหลักสูตร เหล่านี้คือตัวชี้วัดที่สะท้อนความสำเร็จของหลักสูตรอย่างแท้จริง”

“โครงการ Ex- MBA KU ได้ขยับและปรับตัวมาตลอด หลักสูตรปัจจุบันที่เปิดสอนปรับปรุงเมื่อปี 2560 มีการปรับทั้งในเรื่องการเรียนการสอน อาจารย์ผู้สอนมีการอัปเดตเนื้อหาให้เท่าทันกับสถานการณ์สังคม เศรษฐกิจในปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา และแน่นอนว่าในหลักสูตรยังมีวิทยากรผู้ทรงวุฒิและมีชื่อเสียงทั้งในภาครัฐและเอกชนมาร่วมให้ความรู้กับนิสิต รวมทั้งศิษย์เก่าของสถาบันฯ ก็เช่นกันมาปรับเปลี่ยนหมุนเวียนมาร่วมแบ่งปันความรู้กับผู้เรียนในแต่ละรุ่น รวมไปถึงการจัดสัมมนาพิเศษสอดแทรกในหลักสูตร ตามแต่กระแสของประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจ ซึ่งทางหลักสูตรก็เปิดให้มีความยืดหยุ่นในการเพิ่มและเติมเต็มบนเป้าหมายสำคัญคือให้ผู้เรียนได้ประโยชน์สูงสุดผศ.ดร.หฤทัย กล่าวในตอนท้าย

ดร.ณัฐพล พันธุ์ภักดี อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรและกรรมการดำเนินงานโครงการ Ex-MBA ได้กล่าวถึงความเข้มแข็งของเครือข่ายนิสิตและศิษย์เก่า Executive MBA ของคณะบริหารธุรกิจ  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า “เรามีสมาคมปริญญาโทสำหรับผู้บริหาร ซึ่งไม่ใช่สมาคมศิษย์เก่าทั่วไป โดยนิสิต Executive MBA จะได้เป็นสมาชิกของสมาคมตั้งแต่วันแรกที่มาเรียนโดยทันที นั่นหมายความว่าการเรียนEx- MBA ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นอกจากจะได้ความรู้ ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมชั้น ร่วมรุ่นแล้ว ยังได้สร้างสายสัมพันธ์ของเครือข่ายศิษย์เก่าที่มีความแน่นแฟ้มและช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างกันและกันอย่างแนบแน่นมาโดยตลอด”

ดร.ยอดมนี เทพนนท์ หัวหน้าภาควิชาการจัดการการผลิต กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการดำเนินโครงการ Ex- MBA คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวย้ำว่า “Executive MBA ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความต่างจากสถาบันอื่น ตรงที่กลุ่มเป้าหมายมักเป็นนิสิตที่คงความเป็นผู้ใหญ่แต่แน่นอนยังมีคนรุ่นใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา วัฒนธรรมของ Ex- MBA KU มีความกลมเกลียว เราหล่อหลอมให้ทั้งความรู้และความสุขในการเรียน มีความยากลำบากอยู่บ้างแต่ก็เป็นความท้าทายของผู้บริหารที่เป็นนิสิต คือคุณบริหารธุรกิจประสบความสำเร็จ แต่เมื่อต้องมาอยู่ในคลาสคุณต้องฟันฝ่าและเอาชนะอุปสรรคและความท้าทายของการเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อก้าวข้ามความสำเร็จมาได้ ก็จะรู้สึกภาคภูมิใจในความสำเร็จกันถ้วนหน้า”


เรื่อง:     กัลย์ฐิตา โชคศักดาเศรษฐ์

ภาพ:     ภัทรวรรธน์ พงษ์บริพันธ์

Last modified on Sunday, 13 October 2019 04:58
X

Right Click

No right click