ดังนั้นธุรกิจต่างๆ จึงต้องปรับตัวและทำความเข้าใจ รวมถึงพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะและความรู้ใหม่ๆ เพื่อที่จะอยู่รอดต่อไปในอนาคตได้ ซึ่งการปรับตัวและการทำความเข้าใจในธุรกิจนั้น เป็นหนึ่งในงานของภาคการศึกษาที่คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โดย ผศ.ดร. ปิยะ งามเจริญมงคล รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา ได้เปิดเผยถึงความคิดเห็นในประเด็นนี้ต่อนิตยสาร MBA ว่า
ผลจากการ Disruption นั้น จะทำให้อาชีพและงานในปัจจุบันหลายอย่างอาจจะไม่มีอยู่อีกต่อไปในอนาคต และหลายอาชีพที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตก็อาจจะยังไม่มีในวันนี้ พอเป็นประเด็นแบบนี้จึงไม่ใช่เพียงแค่ว่าในภาคการศึกษาต้องมีการเปิดหลักสูตรใหม่ๆ แต่เราต้องเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง คณะต้องมีความยืดหยุ่นเพื่อสานต่อชื่อเสียงและปณิธานให้ยังคงสามารถเดินหน้าต่อไปได้
หลักสูตรต้อง Personalized ตามเป้าหมายให้ตรงกับความต้องการของผู้เรียน
ผศ.ดร. ปิยะ กล่าวถึงแนวทางการจัดวางหลักสูตรที่ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายและความต้องการของผู้เรียนและตลาดการศึกษาให้มากที่สุดว่า “ในปัจจุบันเป็นที่เริ่มรับรู้กันว่า แนวคิดเรื่องปริญญามีความสำคัญน้อยลง ในบางสายงานอย่างเช่นด้านการเงิน นักวิเคราะห์การลงทุน และกลุ่ม IT นักพัฒนาหรือโปรแกรมเมอร์ ความรู้ความสามารถเฉพาะด้านที่มี Global Certificate รับรองอาจจะมีความหมายมากกว่าใบปริญญา ดังนั้นโครงสร้างเราก็ต้อง Flexible เพียงพอเพื่อเอื้อให้นักศึกษาและคนภายนอกรวมทั้งศิษย์เก่าก็สามารถเข้ามาเรียนรู้เพิ่มเติม ต่อยอดเพื่อ Re-skill กับเราได้ ซึ่งเราจะมีหลักสูตรที่ตายตัวเหมือนแต่ก่อนอย่างเดียวไม่ได้แล้ว เพราะไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเปลี่ยนไปเป็นอย่างไร
ที่ผ่านมาหลายธุรกิจมีการปิดตัวลง บ้างก็ลดขนาด เช่นธนาคารลดจำนวนสาขา โรงงานปรับตัวเปลี่ยนไปใช้ Robotic Automation และ AI ในกระบวนการทำงานเพิ่มขึ้นทุกวัน ดังนั้น การศึกษาต้องเป็นอะไรที่ต้องอัปเดตตลอดเวลาและ Real Time ช้าไม่ได้ และต้องไม่หยุดนิ่ง อย่างตอนนี้สิ่งที่กำลังเป็นที่พูดถึงและสังคมให้ความสนใจอย่างเรื่อง Blockchain และ FinTech ซึ่งทันทีที่เป็นเทรนด์ คณะบริหารธุรกิจ นิด้าของเราก็ตอบรับและเปิดหลักสูตรเรื่อง Blockchain ขึ้นมาในทันที ลักษณะเช่นนี้ที่เราพยายามจะมีทุกอย่างที่ต้องมีและทำให้เกิดให้มี ขึ้นอย่างทันท่วงที เราถือเป็นการปรับตัวเองเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลง”
Lifelong Learning เรียนรู้แบบไม่เลิกรา คือทิศทางการศึกษาในอนาคต
Learn, Unlearn และ Relearn คือความจำเป็นและเป็นเทรนด์ของการศึกษาในอนาคตที่ ผศ.ดร.ปิยะ ให้ความเห็นว่า การเรียนรู้ในยุคต่อไปจะเป็นแบบ Lifelong Learning ซึ่งต้องมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต อนาคตนั้นยากจะคาดการณ์เพราะสิ่งต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงพลิกผันและผุดขึ้นตลอดเวลาอยู่อย่างไม่หยุดนิ่ง ในช่วงที่ผ่านมาเกิดการ Disruption ที่เร็วมาก อย่างการจัดวางหลักสูตรการเรียนรู้และจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างปุบปับฉับพลันในทันที สำหรับ MBA ที่นิด้าเราเน้นไปที่การปรับโครงสร้างให้ Adaptable ต่อสิ่งที่เราไม่แน่ใจว่าอะไรจะเกิดขึ้น ศาสตร์ด้านบริหารธุรกิจในหลักสูตรของเรา เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องทั้งทางด้านวิชาการและการนำไปใช้จริง ต้องทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Lifelong Learning) ลดความกังวลว่าจะต้องผจญกับสภาวการณ์ตกงานในอนาคตจากความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน คืออีกความเห็นเรื่องการเรียนรู้ในอนาคตของ ผศ.ดร.ปิยะ รองคณบดี
ภาคีเครือข่าย หนึ่งในความแข็งแกร่งของคณะ
นอกเหนือไปจากประเด็นเรื่องการปรับตัว สิ่งที่สำคัญต่อการรับมือกับสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น คือความสามารถในการดึงเอาศักยภาพและความแข็งแกร่งของตัวเองที่มีอยู่ออกมาใช้ เพื่อการต่อยอดความได้เปรียบในการรับมือหรือแข่งขันในสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่ง ผศ.ดร.ปิยะ กล่าวต่อว่า
คณะบริหารธุรกิจนิด้า เราเริ่มมีการพูดคุยกับเครือข่ายและสายสัมพันธ์ทั้งองค์กรภาครัฐ เอกชนรวมไปถึงศิษย์เก่าในเรื่องการสร้างความร่วมมือกัน โดยเป้าหมายนั้นคือการร่วมกันพัฒนาหลักสูตรและพัฒนานักศึกษาของเรา เพื่อให้อนาคตมหาบัณฑิตของคณะฯ เป็นบัณฑิตที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับสิ่งที่องค์กรต่างๆ ต้องการจริงในแต่ละช่วงเวลา เพราะในแต่ละช่วงเวลาความต้องการในด้านคุณสมบัติของบุคลากรก็มีความแตกต่างกันไป แต่ในฐานะของเราที่เป็นผู้จัดการเรียนการสอน เราจะตอบสนองความต้องการเหล่านั้นให้ได้ เพราะเมื่อเรามีความใกล้ชิดกับตลาดงานที่แท้จริงและภาคประชาคมสังคมธุรกิจ การรับรู้ถึง Demand ของตลาดก็จะสามารถมีส่วนช่วยในการส่งเสริมการออกแบบและจัดวางหลักสูตรให้สอดคล้องไปกับความต้องการอย่างแท้จริง
จริงๆ ทางสถาบันนิด้าเราในขณะนี้ กำลังอยู่ในกระบวนการสร้างความร่วมมือกันระหว่างทุกๆ ภาคส่วนของสถาบันฯ อย่างคณะบริหารธุรกิจเราก็มุ่งเป้าไปว่าจะทำอย่างไรให้คณะของเราสามารถตอบรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด ตัวอย่างเช่น โครงการที่เราสามารถมีนักศึกษาภาคสมทบ ตลอดจนถึงโครงการที่ให้นักศึกษาที่จบไปแล้วกลับมาเรียนเพิ่มเติม หาความรู้ในสาขาวิชาที่เปิดใหม่ เป็นการ Re-skill ความรู้ใหม่ ซึ่งโครงการพิเศษเหล่านี้แม้แต่คนภายนอกก็เข้ามาลงเรียนได้ โดยเรียนแล้วค่อยๆ สะสมเครดิตเป็นรายวิชาไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งเก็บหน่วยกิตครบก็สามารถรับปริญญาบัตรได้ เรายังพยายามพัฒนาแนวทางเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้ามาอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ผู้เรียนได้อะไรมากกว่าที่คิด ทั้งฮาร์ดสกิล และซอฟต์สกิล ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงประสบการณ์ในการทำงานได้จริง ภายใต้การจัดการเรียนการสอนที่เอื้อกับไลฟ์สไตล์ เทคโนโลยี ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
คงไว้ และไม่เปลี่ยนแปลง คือเรื่องคุณภาพ
ผศ.ดร.ปิยะ กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในหลายประเด็นแต่ประเด็นที่คณะฯ จะยังต้องคงไว้และรักษาให้ได้ในระดับที่เหมือนเดิมคือเรื่องของ คุณภาพ เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญที่สุด นิด้าเรามีหลักสูตรบริหารธุรกิจเป็นที่แรกของประเทศไทย ในช่วงแรกๆ มี Demand ในด้านนี้มีเยอะมาก จึงมีหลักสูตรด้านการบริหารธุรกิจเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศไทย ทำให้ supply เกินความต้องการ ซึ่งในตอนนี้ก็เริ่มมีการทยอยปิดตัวลงไปบ้างแล้ว ด้วยปัจจัยกระทบทั้งในเชิงประชากร ทั้งในเชิงเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่ที่สำคัญเป็นอย่างมากคือคุณภาพการจัดการด้านการศึกษาที่หากไม่ได้มาตรฐานก็ย่อมยากจะอยู่ต่อได้
ในความท้าทายของนิด้าและสถาบันการศึกษาอื่นๆ ในเวลานี้ก็คือการเตรียมตั้งรับกับสภาพการณ์ ที่เริ่มเห็นสัญญาณของการถูก Disrupt แต่ ผศ.ดร.ปิยะ มองว่า ด้วยชื่อเสียงและคุณภาพของคณะฯ และสถาบันฯ ที่สร้างสมและมีมาอย่างยาวนาน จึงเชื่อมั่นว่าจะยังคงเดินหน้าต่อไปได้ เพียงต้องเพิ่มเติมสิ่งใหม่ๆ ให้ทันยุคและทันสมัย โดยใส่ใจในการมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ในการเรียนรู้ที่นำไปใช้ได้จริงอย่างเต็มที่
“ในปัจจุบันนี้ความรู้ไม่ได้มาจากสถาบันการศึกษาเพียงอย่างเดียว ทุกคนสามารถหาความรู้ได้จากทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นความรู้เชิงวิชาการหรือความรู้ทั่วไปในชีวิต เพราะฉะนั้น สถาบันการศึกษาต้องเป็นมากกว่าการให้ความรู้ ซึ่งสอดคล้องกับ Wisdom for Change คือเราต้องสร้างปัญญาเพื่อการเปลี่ยนแปลง
ส่วนจุดแข็งที่สำคัญอีกประการของคณะเรา คือเรื่องของ 'บุคลากร' เพราะบุคลากรของเรา เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ เป็นหัวกะทิในหลากหลายสาขา และมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง สถาบันของเรามี Vision และ Passion ในการมุ่งพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เรามีหลักยึดบนแนวคิดในเรื่องของความยั่งยืน ทั้งคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ รวมถึงศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่าก็มีความภาคภูมิใจที่จบจากสถาบันนี้”
Why MBA NIDA?
ผศ.ดร ปิยะ กล่าวว่า นักศึกษาที่เข้ามาเรียน MBA ที่นิด้า คือเรียนแล้วต้องสามารถนำเอาความรู้ไปใช้ได้จริง Output ของเรายังตอบโจทย์ยุคสมัย นักศึกษาที่เข้ามาเรียนในคณะบริหารธุรกิจส่วนใหญ่จะมีพื้นฐานปริญญาตรีจากหลากหลายสาขาวิชา ที่เป็นหลักเลยส่วนใหญ่จะมาจากสายวิศวกรรมศาสตร์และสายวิทยาศาสตร์ ซึ่งส่วนใหญ่ของคนกลุ่มนี้มักอยู่ในระยะที่กำลังจะก้าวขึ้นเป็นระดับผู้บริหาร ดังนั้น เขาจึงต้องการมารับไอเดียและองค์ความรู้ เพื่อจะนำไปปรับใช้ในสายงานจริง เพื่อการเติบโตและก้าวหน้าในอาชีพต่อไป
คณะของเรามีความหลากหลายในด้าน MBA ที่สามารถรองรับในทุก Segments ทั้งภาคปกติ และภาคพิเศษต่างๆ นอกจากนี้ นักศึกษาที่เรียน MBA ที่นิด้า จะได้รับการสนับสนุนและผลักดันในเรื่องการเพิ่มพูนประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเชิญผู้เชี่ยวชาญภายนอกที่เป็น Practitioners มาเสริมการเรียนรู้ให้นักศึกษาในคลาส และการสนับสนุนทุนในการสอบใบประกอบวิชาชีพต่างๆ เช่นในด้านสายการเงินที่เป็น Global Certificate หรือสนับสนุนเงินรางวัลในการแข่งขันทำกิจกรรมตามเวทีต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงความสามารถจากสิ่งที่ได้เรียนรู้มาอย่างเต็มที่
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
ภาพ: ณัฐพงศ์ เปรุนาวิน