December 21, 2024

MIS หรือ สาขาสารสนเทศเพื่อการบริหาร เป็นอีกหนึ่งสาขาที่วันนี้คนทำงานจากหลากหลายสาขาให้ความสนใจเข้าศึกษาต่อ “รศ.ดร.จงสวัสดิ์ จงวัฒน์ผล” อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ สาขาสารสนเทศเพื่อการบริหาร (MIS) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า กลุ่มคนที่มาเรียน MIS มีหลากหลายอาชีพและจบจากหลากหลายสาขา ทั้งวิศวะ ศิลปศาสตร์ ทันตแพทย์ แพทย์ บริหาร ฯลฯ เนื่องจากเป็นความรู้ด้านการบริหารจัดการ การเรียนรู้เรื่องธุรกิจ การบริหารองค์กร ฯลฯ

โดยภาพการศึกษาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจะเห็นผู้บริหารระดับสูงหันมาเรียนเพิ่มเติมมากขึ้น ทั้งแบบ Degree และ Non- Degree เพื่ออัปตัวเองเพราะหากไม่ปรับตัวเขาจะอยู่ในองค์กรไม่รอด นอกจากนี้ จะเห็นว่าเด็กอายุ 20 ปลายๆ ก็หันมาเรียนมากขึ้นเช่นกัน เพราะเทคโนโลยีไปเร็วมาก เด็กจึงสนใจศึกษาเพี่อพัฒนาตัวเองให้เติบโตเพื่อองค์กรจะได้เลือกเขา

“การเรียน MIS เราจะบอกเด็กเลยว่า จบจากเราคุณจะเป็นผู้บริหารระดับสูง เป็นผู้บริหารที่รู้เรื่องเทคโนโลยี เข้าใจการบริหารงานที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องหรือขั้นต่ำต้องเป็น Project Manager ต้องสามารถควบคุม Project ได้”

สำหรับการปรับปรุงรายวิชาใน MIS นั้นมีการปรับตลอดเวลา เพื่อให้ทันกับเทคโนโลยี อย่าง วิชา Business Strategy X AI innovation เป็นวิชาใหม่ จะเห็นว่า AI มีความจำเป็นต่อการบริหารกลยุทธ์และกำลังมาแรง โดยแนวคิดในการปรับหลักสูตรจะคง Key word ที่ว่า Digital Citizenship เพื่อให้เด็กคุ้นชินก่อนออกไปทำงาน เด็กจะต้องได้เรียนกับเครื่องมือที่ดี เทคโนโลยีที่ดีและทันสมัย ไม่อย่างนั้นจะก้าวสู่ตลาดแรงงานในต่างประเทศไม่ได้หรือเมื่อก่อน ChatGPT ไม่มีคนพูดถึงตอนนี้คนพูดถึงมากในช่วงหลังปี 2020 ซึ่งความรู้เหล่านี้ไม่มีทางตกยุค

“เทคโนโลยีปัจจุบันทำให้การทำอะไรทำได้ง่ายขึ้น อย่าง การเขียน Coding สมัยก่อนต้องเขียนครบบรรทัด 10 ปีต่อมาพิมพ์นิดหน่อยระบบจะเติม Coding ที่สมบูรณ์ให้กับเรา แต่ปัจจุบันพิมพ์แล้วระบบเติมให้ไม่พอยังตรวจให้ด้วยว่าเราพิมพ์ผิดตรงไหน”

เด็ก MIS นอกจากจะได้เรียนรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยแล้ว เขายังได้เทคนิคหลายอย่างเพื่อให้เขาประสบความสำเร็จ ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ในห้องเรียนภายใต้ Key Word 3 คำ คือ Explore Before Expense การเรียนในห้องเรียนแบบเดิมที่เน้นการจดจะถูกเปลี่ยนมาเป็นการเรียนแบบให้เด็กได้ทำกิจกรรม ได้แก้ปัญหา เพื่อให้เขามีส่วนร่วม ซึ่งรูปแบบใหม่นี้ทำให้เด็กได้รู้เทคนิค เข้าใจกระบวนการจากหลากหลายองค์กร ที่สำคัญการเรียนในห้องเรียนจะถูกจัดให้เป็นลักษณะ Design Thinking นอกจากนี้ MIS ยังมี Artifacts ไว้รองรับเพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้จากอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีต่างๆ ที่มี ทำให้เด็กมีโอกาสได้ทดลองได้ใช้งานจริง

รศ.ดร.จงสวัสดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับตัวชี้วัดความสำเร็จที่สำคัญของ MIS คือ การส่งเด็กไปแข่งขันหรือสอบเพื่อให้ได้ Global Certificate ซึ่งถือเป็นอาวุธเสริมที่ MIS ส่งเสริมให้กับเด็ก นอกจากนี้ การที่เด็กสามารถเรียน Major ได้หลาย Major ทำให้เขามีอาวุธที่แข็งแกร่งขึ้น 

“เด็กเราบางคนได้ 2 Major 5 Global Certificate เขาจะได้เปรียบคนอื่นตอนสมัครงานหรือถ้าทำงานแล้วบริษัทจะคัดคนออก เขาจะถูกเลือกให้อยู่ เพราะเขามีอะไรที่เหนือกว่า ตอนโควิดมีให้เห็นแล้ว เด็กมาขอบคุณเรา เขาได้ทำงานต่อเพราะ Global Certificate ที่เราให้เขาไปสอบ ด้วยการออกทุนค่าสมัครสอบให้ 50%  ซึ่งบางครั้งแพงกว่าค่าเล่าเรียนที่เขาจ่ายกับเราอีก และเด็กที่ได้ Global Certificate เขาไม่ต้องสอบ Final ในวิชานั้น ตรงนี้จะเป็นแรงผลักดันให้เด็กแข่งขันกัน เขาจะรู้สึกว่าเขาแพ้ไม่ได้ เด็กของเราบางคนก็ได้เงินเดือนเพิ่มเป็น 6 หลักเมื่อจบ MIS เพราะเราติดอาวุธให้เขาเยอะ เขาพร้อมจะขึ้นเป็นผู้บริหารที่มีความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยี สามารถอธิบายสิ่งที่ต้องการให้กับคนที่ทำได้โดยไม่จำเป็นต้องลงมือทำเอง”

แม้ว่า MIS จะเน้นรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี แต่สำหรับวิชาพื้นฐาน อย่าง บัญชี การเงิน HR การตลาด ฯลฯ ยังคงมีสอนเพราะการจะเข้าใจตลาดได้ต้องเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่ง MIS ก็มีการปรับปรุงการเรียนการสอนให้เป็นรูปแบบ E-learning ส่วนวิชาด้านเทคโนโลยีจะเป็นวิชาเลือก

“ถึงวิชาพื้นฐานจะเรียนในระบบ E-learning แต่เด็กก็ต้องเข้าชั้นเรียน เพื่อที่ไม่เข้าใจตรงไหนจะได้ถามได้ อาจารย์จะทำหน้าที่เป็นโค้ชให้กับเด็ก เราต้องการดึงเด็กให้สูงขึ้น ดังนั้น อาจารย์ของเราก็ต้องพัฒนาตัวเองด้วย”

รศ.ดร.จงสวัสดิ์ ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงความสำเร็จของเด็กว่า “เด็กถือเป็น Key Success Factor ของคณะ ถ้าเด็กทำได้ดีก็เป็นการประชาสัมพันธ์คณะ สิ่งที่เราทำอยู่ คือ Human Center Design หรือการให้เด็กเป็นศูนย์กลาง ถ้าเด็กประสบความสำเร็จก็เป็นการโฆษณาคณะไปในตัว”


เรื่อง / ภาพ: กองบรรณาธิการ

 

การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคทำให้การทำตลาดต้องเปลี่ยนแปลงไป “รศ.ดร.กัญญาภัสส์ ปันจัยสีห์ อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)” ได้ถ่ายทอดให้เห็นว่า วันนี้การทำตลาดต้องอาศัย 2D2C คือ Data – Digital – Customer – Content”

สิ่งที่จำเป็นอย่างมาก คือ การใช้ Data” ให้เป็นประโยชน์ เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก คู่แข่งตัวเล็กตัวใหญ่เข้ามาในธุรกิจมากขึ้น ผู้บริโภคจึงมีทางเลือกที่หลากหลายขึ้น Data มีประโยชน์ในเรื่องนี้มาก หากต้องการเจาะตลาดให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SMEs ควรให้ความสำคัญเรื่องนี้      

“Data มีประโยชน์ในการนำมาใช้วิเคราะห์ Data ทำให้เราเข้าใจอุตสาหกรรม กระแสเทรนด์หลักในตลาด กระแสสินค้า เข้าใจกลุ่มเป้าหมาย ฯลฯ ถ้าเรามี Data เราจะปรับตัวได้ง่ายขึ้นและสามารถวางกลยุทธ์ที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายมากขึ้น อย่าง ตอนโควิดทุกคนปรับตัวไม่ทัน เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไร แต่ถ้าเรารู้ก่อนเราจะปรับตัวได้ทัน”

หลายคนอาจจะมองว่า ต้องซื้อ Data จากบริษัทที่เก็บข้อมูล ซึ่งราคาสูง รศ.ดร.กัญญาภัสส์ ให้ความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า ตอนนี้ Data หาได้ง่ายขึ้น สมัยก่อนต้องจ้างบริษัทวิจัย ทำให้มีราคาค่อนข้างแพง แต่ปัจจุบันสามารถหา Data ได้มากขึ้นบนโลกออนไลน์ แต่ต้องเลือกแหล่ง Data ให้ถูกด้วย เพราะทุกคนสามารถโพสต์อะไรบนโลกออนไลน์ได้ ซึ่งอาจจะถูกต้อง เป็นจริง หรือไม่ก็ได้ ดังนั้น ควรพิจารณาและเลือกแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบัน Data มีขนาดใหญ่ขึ้นและหลากหลาย ซับซ้อนมากขึ้นและในอนาคตจะยิ่งซับซ้อนมากกว่านี้ จึงต้องรอบคอบในการเลือกใช้ประโยชน์จาก Data

คำว่าData is King” ถือเป็นสิ่งที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีก็ยังคงอยู่ ซึ่ง รศ.ดร.กัญญาภัสส์ มองเห็นเหมือนกันว่า “ทุกปีเรายังพูดว่า Data สำคัญ พูดกันมานานแล้ว ในการจะทำตลาดหรือธุรกิจ เราต้องตอบโจทย์ว่าลูกค้าเราคือใคร เราจะทำผลิตภัณฑ์อะไร จะสร้างแบรนด์ยังไง ฯลฯ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า (Customer) การเข้าใจลูกค้าอย่างชัดเจน เราจะสามารถสื่อสารกับเขาได้ เราจะรู้ว่าต้องพูดอะไรเพื่อจูงใจเขา”

นอกจากนี้ ในอนาคต Digital” จะมีบทบาทมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะพฤติกรรมคนหันไปซื้อออนไลน์มากขึ้น คนที่ขายแต่ออฟไลน์ก็ต้องเพิ่มออนไลน์เข้ามา อันนี้เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่ต้องปรับตัวให้ทัน ซึ่งนำไปสู่ Content” วันนี้เห็นแล้วว่า Content สำคัญขนาดไหนยิ่งในอนาคตจะสำคัญมากกว่านี้

“ตอนนี้สินค้า Luxury Brand ยอดขายตกลง เพราะ Gen ของคนเปลี่ยนไป เมื่อก่อนเราจะอิงสิ่งที่แบรนด์สื่อสาร แต่วันนี้คนเกิดมาและเติบโตมากับ Online และ Digital เขาสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มาก เขาเลือกแบรนด์เองได้ ทำให้แบรนด์จะต้องสร้าง Content เพื่อดึงดูดคนและช่วยให้เขาสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น”

การที่จะทำ Content ให้เข้าถึงใจลูกค้า (Customer) ได้ รศ.ดร.กัญญาภัสส์ มองว่า Data มีส่วนสำคัญในการช่วยแบรนด์ทำ Content เพราะจะทำให้แบรนด์เข้าใจว่าอะไรกำลังเป็นกระแส อะไรเป็นสิ่งที่ลูกค้ากำลังสนใจ จึงสามารถสร้าง Content ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น ส่วนการใช้ประสบการณ์ที่มีในการสร้าง Content นั้น ถือว่าดี แต่อาจจะพลาดก็ได้ ดังนั้น การมี Data จะช่วยทำให้แม่นยำมากขึ้น เขาถึงบอกว่า Data is King”

สำหรับการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทหลายคนมองว่าเป็นการเรียนด้านทฤษฎีอย่างเดียว ซึ่งอาจไม่ตอบโจทย์ แต่ทฤษฎีเป็นรากฐานที่ต้องควบคู่กับความเข้าใจและความสามารถที่จะนำทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ ดังนั้น นิด้า ไม่เพียงแต่เน้นให้ผู้เรียนเข้าใจทฤษฎี แต่ยังต้องสามารถประยุกต์ใช้ทฤษฎี เพื่อตอบโจทย์ปัญหาและความท้าทายในการทำธุรกิจที่มีบริบทแตกต่างและหลากหลาย

รศ.ดร.กัญญาภัสส์ ได้ให้มุมมองเรื่อง AI ว่า ตอนนี้คนกลัว AI มาก กลัวมาแย่งงานเรา จริง ๆ แล้วเราควรเอา AI มา Support ไม่ใช่ให้มาครอบงำเรา จุดแข็งของ AI คือ ความสามารถในการค้นหาและประมวลผลข้อมูลที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นมนุษย์จะสู้กับ AI ได้จำเป็นที่จะต้องผลักดันตัวเองให้คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ควบคู่ไปกับการคิดแนวสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของมนุษย์ อย่างไรก็ดี ในการตลาดความคิดสร้างสรรค์ต้องอยู่ในกรอบของความเป็นไปได้ เช่น ภายในงบประมาณและทรัพยากรที่องค์กรมี เป็นต้น

ดังนั้น สิ่งที่นักศึกษาที่เรียนกับนิด้าจะได้ เขาจะต้องเข้าใจ วิเคราะห์ สังเคราะห์ Data ต่างๆ ผสมผสานความคิดสร้างสรรค์ ที่สามารถตอบโจทย์เป้าหมายที่ต้องการได้ สิ่งนี้คือสิ่งที่ผู้เรียนด้านการตลาดควรทำความเข้าใจ ไม่ใช่การเข้าใจแค่ทฤษฎีเพราะทฤษฎีหาอ่านได้ การทำธุรกิจไม่มีอะไรที่ตายตัว บริบทวันนี้กับอนาคตก็ไม่เหมือนกัน คู่แข่ง ความสามารถของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน จึงต้องปรับให้เหมาะสมกับแต่ละธุรกิจ

เมื่อการเรียนรู้มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การอัปเดตหลักสูตรจึงจำเป็น รศ.ดร.กัญญาภัสส์ ได้พูดถึงเรื่องนี้ว่า หลักสูตรมีการอัปเดตอยู่เสมอเพื่อให้ทันสมัย ยิ่งเรื่อง Digital มีการปรับเปลี่ยนที่เร็วมากหรือขณะนี้เรื่อง Sustainability กำลังมาก็ต้องสอดแทรกเรื่องนี้เข้าไป ซึ่งคณาจารย์ก็มีการเพิ่มเติมองค์ความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ

“อาจารย์หลายท่านมีประสบการณ์ เป็นที่ปรึกษา ก็จะสามารถนำประสบการณ์เหล่านี้มาแบ่งปันได้ เขาก็นำความรู้ตรงนี้มาสอนเสริม นักศึกษาของเราก็มาจากหลากหลายบริษัท เขามีประสบการณ์ทำงานมาแล้ว เมื่อนำประสบการณ์ที่เขามีมาบวกกับของคณาจารย์ทำให้เขาได้เห็น Case ที่หลากหลายขึ้น ไม่ใช่แค่ในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่เขาทำอยู่ ทำให้การเรียนการสอนสนุก ต่างคนต่างเสริมซึ่งกันและกัน”

รศ.ดร.กัญญาภัสส์ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “การตลาดเป็นเรื่องที่ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป ถ้าเราทำการตลาดแบบถูกต้อง เราจะตอบโจทย์ลูกค้าและชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นจริง การตลาดไม่ใช่แค่การขายสินค้าแล้วจบ แต่การตลาดจะต้องทำให้เราสามารถสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าจนเขาอยากมาใช้ซ้ำ อยากบอกต่อ เพราะเราสามารถแก้ปัญหา ตอบโจทย์ความต้องการ สร้างความพึงพอใจให้กับพวกเขาได้ อันนี้เรียก “การตลาดที่แท้จริง”


เรื่อง / ภาพ โดย: กองบรรณาธิการ

ในวันที่การศึกษาต่อระดับปริญญาโทถูกตอบรับจากคนรุ่นใหม่ลดลง ด้วยปัจจัยประชากรลดลง เศรษฐกิจ ความสนใจการเรียนคอร์สระยะสั้นที่ใช้เวลาไม่นานได้เข้ามาแทนที่การศึกษาในระบบที่ต้องใช้เวลา 1.5 – 2 ปี ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทาย “รศ.ดร.ดนยพฤทธ์ ศรีวรรโณภาส ผู้อำนวยการโครงการ International MBA (Inter MBA) / Accelerated MBA (AMBA) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)” ในการทำให้ทั้ง 2 หลักสูตรสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ 

การขึ้นมาดำรงตำแหน่งของ รศ.ดร.ดนยพฤทธ์ ถือเป็นการเปิดหนังสือหน้าใหม่ของหลักสูตรที่เคยเงียบๆ อย่าง Inter MBA เพราะสามารถเปิดรับนักศึกษาได้ปีละ 2 รุ่น ๆ ละไม่ต่ำกว่า 25 คน ภายในเวลาเพียง 6 เดือน

“ทุกคนงงว่าเราทำได้ไง เราปรับทุกอย่าง ปรับโฆษณา ปรับการยิงโฆษณา เราเลือกวิชาที่คนรุ่นใหม่อยากเรียน อยากรู้ และความที่นิด้าเป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล ทำให้เด็กมั่นใจว่ามาเรียนแล้วจะได้ทั้งทักษะและความรู้”

รศ.ดร.ดนยพฤทธ์ ได้กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างการเรียนระดับปริญญาโทกับคอร์สระยะสั้นซึ่งเป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ว่า “เป็นความท้าทายของเรามากที่จะทำอย่างไรให้เด็กอยู่กับเรา บางคนเขามองว่าเรียนคอร์สสั้นๆ ดีกว่า แต่สิ่งที่ทำให้การเรียนที่เราต่างจากการเรียนคอร์สระยะสั้น คือ องค์ความรู้ที่เขาจะได้คุ้มค่ากับการมาเรียน เขายังได้คอนเนคชั่นแบบรุ่นพี่รุ่นน้อง ได้เรียนรู้รอบด้าน บรรยากาศการเรียนเป็นรูปแบบนานาชาติ เด็กจะได้พูดภาษาอังกฤษตลอดเวลา โดยทั้ง 2 หลักสูตรจะมีเด็กต่างชาติประมาณ 30% นอกจากนี้ หลักสูตรยังสะท้อนความต้องการของอุตสาหกรรม เนื่องจากมีการอัปเดตบ่อยๆ” 

สำหรับความแตกต่างของหลักสูตร Inter MBA และ AMBA คือ AMBA เปิดรับผู้ที่จบการศึกษาใหม่หรือคนที่ยังไม่ได้เข้าระบบการทำงาน โดยจะเรียนวันจันทร์ - ศุกร์ ส่วน Inter MBA ผู้มาเรียนส่วนใหญ่เป็นคนทำงานแล้วจึงเรียนวันเสาร์ - อาทิตย์

ด้าน Core Course ของทั้ง 2 หลักสูตรเหมือนกันและอาจารย์ผู้สอนคนเดียวกัน เช่น วิชาผู้นำองค์กร กลยุทธ์องค์กร ฯลฯ โดยจะต่างกันในเรื่องของวิชาเลือก ซึ่งวิชาเลือกจะเหมาะกับเทรนด์หรือความต้องการของตลาด โดย Inter MBA จะเน้นเนื้อหาที่ Advance ทั้งด้านเทคโนโลยี การตลาด อย่าง Digital Marketing, AI, Brand Marketing ฯลฯ เพื่อให้เด็กนำความรู้ไปพัฒนาสายงานตัวเองหรือเปลี่ยนแปลงสายงาน

“อย่าง AI เราไม่ได้ให้เขาเรียนเพื่อทำเอง แต่ให้เขาเข้าใจคนทำ AI การเป็นผู้บริหารจะต้องเข้าใจสิ่งที่คนทำซอฟต์แวร์จะทำและต้องรู้ขีดกำจัดของ AI เพื่อนำเอาเทคโนโลยีมาปรับกับองค์กร”

ส่วน AMBA จะเรียนแบบครบรอบด้านทั้งการตลาด การเงิน HR Contemporary Management ฯลฯ เพื่อส่งเสริมให้เขาได้เลือกงานที่เหมาะกับตัวเองหรือสร้างศักยภาพเป็นรีดเดอร์ชิพ วิชาเลือกจะเป็น CRM, Datamining ฯลฯ

นอกจากจะมีการปรับหลักสูตรให้เหมาะกับเด็กมากขึ้น ยังปรับลดค่าเทอมด้วยการยกเลิก Study Trip เนื่องจากมีความยุ่งยากในการบริหารและระยะเวลา 1 สัปดาห์ เด็กไม่ค่อยได้อะไรกลับมาก็เหมือนกับการเรียนคอร์สระยะสั้น เมื่อตัด Study Trip ออกและไปเพิ่มวิชาอื่นๆ รวมทั้งการให้เด็กทำ IS (Independent Study) ซึ่งเขาจะต้องทำเองทั้งหมด ทำให้ค่าเล่าเรียนถูกลงแต่เขาได้ความรู้มากขึ้นและเด็กก็ตอบรับตรงนี้ด้วย 

รศ.ดร.ดนยพฤทธ์ กล่าวต่อว่า การที่นิด้าเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในไทยที่ได้รับมาตรฐาน AACSB Accredited ซึ่งมีการตรวจที่เข้มข้นทุกๆ 5 ปี ในทุกปีหลักสูตรมีการเตรียมพร้อมทั้งเรื่องมาตรฐานการศึกษา การเก็บข้อมูล เพื่อเข้าถึงปัญหาก่อนและปรับปรุงให้สอดรับกับมาตรฐาน อย่างไรก็ดี มาตรฐาน AACSB ไม่เพียงแต่เน้นด้านวิชาการ แต่เน้นในเรื่องของความยั่งยืน (ESG) จริยธรรมทางธุรกิจ การทำ CSR ฯลฯ ดังนั้น ทั้ง 2 หลักสูตรก็จะนำความรู้เหล่านี้มาสอนเพื่อให้เด็กไม่เพียงแต่มีคุณภาพทางด้านวิชาการ การวางแผนพัฒนาธุรกิจ แต่เขาต้องเก่งและให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้ด้วย

ด้านความร่วมมือทางวิชาการ รศ.ดร.ดนยพฤทธ์ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมามีการจับมือกับ University of Massachusetts ในหลักสูตร AMBA เป็นการเรียนคู่กันและแข่งขันกันในเกม Simulation ซึ่งทาง AMBA ชนะ นอกจากนี้ ในปีหน้า Inter MBA จะมีคอร์สเรียนคู่กับสถาบันทางอเมริกา วิชา Operations Management โดยสิ่งที่นักศึกษาจะได้จากการร่วมมือทางวิชาการ คือ ได้ประสบการณ์ ได้เพิ่มทักษะการแข่งขันและได้แสดงศักยภาพในตัวเอง

นอกจากนี้ AMBA ยังเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยทางฝรั่งเศสและรัสเซีย โดยนักศึกษาเสียแค่ค่าครองชีพ ส่วนค่าเล่าเรียนจ่ายตามราคาเมืองไทยและได้รับดีกรี 2 ใบ ด้านความร่วมมือของตัวอาจารย์ก็มีการจับมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศอินโดนีเซีย เป็นการทำวิจัยร่วมกันและนำความรู้ตรงนี้มาสอน

แม้วันนี้ทั้ง 2 หลักสูตรภายใต้การบริหารงานของ รศ.ดร.ดนยพฤทธ์ จะได้รับการยอมรับจากทั้งภายในและภายนอกแล้ว แต่ความท้าทายในการบริหารงานยังคงมีอยู่เสมอ

“เราจะเน้นรับเด็กต่างชาติเพิ่มขึ้น อันนี้เป็นความท้าทายของเราเลย ตอนนี้เราทำการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์ผู้เรียนในพม่าและกำลังจะเริ่มทำตลาดจีน เด็กพม่า เด็กจีน อยากมาเรียนที่ไทย เรามีการคัดเลือกเด็กต่างชาติแบบเข้มข้นเพื่อให้ได้คนที่อยากเรียนจริงๆ เราจะบอกเลยว่าถ้าไม่เข้าเรียนเราจะถอนวีซ่า เราดิวกับต่างชาติมามาก เรามองออกว่าแต่ละชาติมีความแตกต่างกันอย่างไร คนที่ไม่ใช่ก็จะไปจากตรงนี้เอง”

สำหรับเป้าหมายเปิดรับนักศึกษาใหม่ปี 2568 Inter MBA จะเปิดรับรุ่นละ 25 – 30 คน ส่วน AMBA จะเปิดรับรุ่นละ 15 คน ถือเป็นตัวเลขที่ท้าทายพอสมควร เพราะนิด้าไม่มีนักศึกษาปริญญาตรีและประชากรรุ่นใหม่มีจำนวนลดลง ดังนั้น คนอยากเรียนต่อที่นิด้าจริงๆ ถึงจะมา


เรื่อง / ภาพ โดย กองบรรณาธิการ

อาชีพทางด้านการเงินสามารถแบ่งได้เป็น 2 สายงานหลักดังนี้ สายงานแรก คือสายงานการเงินองค์กร (Corporate Finance / Managerial Finance) สายงานนี้เกี่ยวข้องกับการเงินของธุรกิจต่างๆ ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือใหญ่ เป็นธุรกิจภาครัฐหรือเอกชนก็ตาม ลักษณะงานในสายงานนี้จะเกี่ยวข้องกับเรื่องการเงินทั้งหมดขององค์กร ตั้งแต่การระดมทุนในการทำธุรกิจขององค์กร การจัดทำงบประมาณลงทุน (Capital Budgeting) หรือการศึกษาความเป็นไปได้ทางการเงินของโครงการ (Financial Feasibility) ต่างๆ ขององค์กร การจัดทำแผนการเงิน การวางแผนในการซื้อเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ต่างๆ ในการทำธุรกิจขององค์กร และการบริหารเงินสดและสินทรัพย์หมุนเวียนขององค์กร อาชีพหรืองานในสายนี้ ได้แก่ ผู้บริหารสูงสุดด้านการเงินขององค์กร (Chief Financial Officer/CFO), ผู้จัดการฝ่ายการเงินขององค์กร (Corporate Treasurer/Financial Manager) และ นักวิเคราะห์การเงินขององค์กร เป็นต้น

สายงานที่สอง คือสายงานบริการทางการเงิน (Financial Services) เป็นสายงานที่เกี่ยวข้องกับการให้คำแนะนำทางการเงิน และการออกแบบและการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน (Financial Products) ต่างๆ ให้กับบุคคลทั่วไป บริษัทเอกชนต่างๆ และภาครัฐ สายงานนี้พบได้ทั้งในธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บริษัทประกัน และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อาชีพหรืองานในสายนี้มีมากมาย ได้แก่ วาณิชธนกร (Investment Banker), ผู้จัดการกองทุน (Fund Manager), นักวิเคราะห์การลงทุน (Investment Analyst), ผู้แนะนำการลงทุน (Investment Consultant), นักวางแผนทางการเงิน (Financial Planner/Wealth Manager), ผู้ประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Appraiser) เป็นต้น

เมื่อพูดถึงการเรียนในสาขาการเงินแล้ว มักนิยมแบ่งการเรียนการเงินเป็น 3 กลุ่มหลักดังนี้ โดยเป็นการแบ่งที่คำนึงถึงการไหลของเงินทุน (Flow of Funds) ในระบบเศรษฐกิจเป็นหลัก ดังแสดงในภาพด้านล่าง

กลุ่มแรกเป็นการเรียนในเรื่อง Corporate Finance ซึ่งสามารถเรียกได้ในชื่ออื่นๆ เช่น การบริหารการเงิน (Financial Management/Managerial Finance) หรือการเงินธุรกิจ (Business Finance) เป็นต้น โดยตัวอย่างวิชาภายใต้กลุ่มนี้ ได้แก่ การบริหารการเงิน (Financial Management), การศึกษาความเป็นไปได้ทางการเงินของโครงการ (Feasibility Study), การเงินระหว่างประเทศ (International Finance), การเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) ที่คำนึงถึง สิ่งแวดล้อม (Environmental), สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) เป็นต้น กลุ่มนี้เป็นการศึกษาถึงการตัดสินใจระดมทุน (Financing Decisions) และการตัดสินใจลงทุน (Investment Decisions) ของบริษัทต่างๆ โดยบริษัทจะพิจารณาโครงการลงทุนและคำนวณหาค่าผลตอบแทนของโครงการลงทุน (Internal Rate of Return/IRR) นั้น จากนั้น พิจารณาเลือกแหล่งที่มาของเงินทุนว่าจะเป็นหนี้สิน (Debt) ผ่านการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์หรือการขายหุ้นกู้ และทุน (Equity) ผ่านการขายหุ้นสามัญ ในสัดส่วนที่บริษัทเห็นว่าเหมาะสม ซึ่งสัดส่วนของแหล่งที่มาของเงินทุนจะเป็นตัวกำหนดต้นทุนเงินทุน (Cost of Capital) ของโครงการหรือของบริษัท จากนั้น ทั้ง IRR และ Cost of Capital จะเป็นตัวกำหนดว่าโครงการลงทุนต่างๆ น่าลงทุนหรือไม่

ดังนั้น กลุ่มที่สองของการเรียนการเงินจึงเป็นกลุ่ม Financial Markets and Institutions หรือตลาดการเงินและสถาบันการเงิน เพราะการระดมทุนของบริษัทดังกล่าวข้างต้น อาจจะระดมทุนผ่านสถาบันการเงิน (Financial Institutions) เช่น ธนาคารพาณิชย์ ในรูปเงินกู้ (Loans) เป็นต้น (โดยธนาคารพาณิชย์ก็ระดมเงินจากนักลงทุนในรูปเงินฝากต่ออีกทีหนึ่ง) และระดมผ่านตลาดการเงิน (Financial Markets) ในรูปแบบของการออกตราสารทุน (ครั้งแรกหรือ Initial Public Offerings/IPOs หรือครั้งถัดมาหรือ Seasoned Equity Offerings/SEOs) อย่างหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิ หรือในรูปแบบของการออกหุ้นกู้ (Corporate Bonds) เพื่อขายให้กับนักลงทุนรายย่อย (Individual Investors) และ/หรือนักลงทุนสถาบัน (Institutional Investors) ซึ่งหน้าที่หลักๆ ในทางเศรษฐกิจของตลาดการเงินและสถาบันการเงิน คือเป็นแหล่งที่ทำให้ผู้ที่ต้องการเงิน (Demanders of Funds) อย่างบริษัทต่างๆ หรือจะเป็นภาครัฐก็ได้ มาเจอกับผู้ที่มีเงินและต้องการลงทุน (Suppliers of Funds/Investors) โดยวิชาภายใต้กลุ่มนี้แบ่งเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับตลาดการเงิน (Financial Markets) อาทิเช่น Market Microstructure, เครื่องมือและตราสารทางการเงิน (Financial Instruments) ต่างๆ ตั้งแต่ หุ้นสามัญ ตราสารหนี้ ตราสารอนุพันธ์ และตราสารทางการเงินที่ซื้อขายกันในตลาดรองอย่าง ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trusts/REITs), Exchange Traded Funds (ETFs), ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (Depository Receipts/DRs) เป็นต้น ส่วนวิชาทางด้านสถาบันการเงินจะมีจุดมุ่งหมายที่จะทำความเข้าใจบทบาทของสถาบันการเงินต่างๆ ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ ลักษณะของธุรกิจของสถาบันการเงินต่างๆ และการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ของสถาบันการเงินต่างๆ เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกัน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (ที่บริหารการลงทุนของกองทุนรวมต่างๆ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) เป็นต้น โดยวิชาทางด้านบริหารความเสี่ยง จึงมักเป็นวิชาที่สำคัญและควรศึกษาสำหรับผู้ที่ต้องการทำงานในสถาบันการเงินต่างๆ เหล่านี้ โดยคุณวุฒิหรือ Certificates ระดับนานาชาติที่เป็นที่ยอมรับทางด้านการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน ได้แก่ Financial Risk Manager (FRM®)

ท้ายที่สุด เมื่อบริษัทต่างๆ ระดมทุนผ่านการออกตราสารทางการเงิน ก็ต้องมีนักลงทุนรายย่อยและ/หรือนักลงทุนสถาบันที่เข้ามาซื้อตราสารทางการเงินเหล่านั้น ดังนั้น กลุ่มที่สามของการเรียนการเงิน (และมักเป็นกลุ่มที่มีจำนวนวิชาและผู้สนใจเรียนอย่างมาก) คือกลุ่ม Investment/Asset Management หรือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนและการบริหารสินทรัพย์ลงทุน โดยกลุ่มนี้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาสินทรัพย์ลงทุนหรือตราสารทางการเงินต่างๆ ตั้งแต่ เงินฝาก ตราสารหนี้ระยะสั้น หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล หุ้นบุริมสิทธิและหุ้นสามัญ (ทั้งแบบออกใหม่อย่าง IPOs/SEOs และที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดรอง) รวมทั้งหน่วยลงทุนในกองทุนรวมต่างๆ โดยวิชาในกลุ่มนี้มักจะมุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์ราคา (Valuation) ผลตอบแทนคาดหวังและความเสี่ยง (Expected Returns and Risk) ของตราสารทางการเงินแต่ละประเภท วิชาภายใต้กลุ่มนี้มีเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น จรรยาบรรณและมาตรฐานวิชาชีพทางด้านการเงินการลงทุน (Ethics in Finance and Investment), ทฤษฎีการลงทุนและการบริหารพอร์ตโฟลิโอ (Investment Theory and Portfolio Management), การวิเคราะห์ตราสารทุน (Equity Valuation), ตราสารหนี้ (Fixed Income Securities), ตราสารอนุพันธ์และการบริหารความเสี่ยง (Derivatives and Risk Management), การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก (Alternative Investments), วาณิชธนกิจ (Investment Banking), การบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management), การเงินเชิงพฤติกรรม (Behavioral Finance), การเงินเชิงปริมาณ (Quantitative Finance), การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการตัดสินใจทางการเงิน (Data Analytics for Finance), และเทคโนโลยีทางการเงินและสินทรัพย์ดิจิทัล (Fintech and Digital Assets) โดยคุณวุฒิหรือ Certificates ระดับนานาชาติที่เป็นที่ยอมรับทางด้านการเงินการลงทุน ได้แก่ Chartered Financial Analyst® (CFA®) และ Certified Financial PlannerTM (CFP®) เป็นต้น

ท้ายที่สุดนี้ หวังว่าข้อมูลของอาชีพสายการเงินและวิชาเรียนที่เกี่ยวข้องที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จะเป็นประโยชน์สำหรับนิสิตนักศึกษาที่สนใจเรียนด้านการเงินและมาประกอบอาชีพทางด้านการเงิน รวมทั้งผู้ที่ต้องการเปลี่ยนสายการทำงาน โดยข้อมูลข้างต้นน่าจะเป็นประโยชน์ในการเลือกหลักสูตรการเงินและ/หรือวิชาการเงินต่างๆ ที่ตรงกับความสนใจของตนเอง เพื่อนำไปประกอบอาชีพทางการเงินต่อไปครับ


บทความโดย: รศ.ดร. ณัฐวุฒิ เจนวิทยาโรจน์   CFA

   คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

เมื่อคนเข้าสู่วัยสูงอายุ การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย จิตใจ และสังคมส่งผลต่อความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีอย่างมาก การลดลงของความสามารถทางร่างกาย การเจ็บป่วยเรื้อรัง การเสื่อมถอยทางความจำและการรับรู้ รวมถึงการสูญเสียบทบาททางสังคมและความโดดเดี่ยวสามารถทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตลดลงได้ การมีเครือข่ายสนับสนุนที่ดีจากครอบครัวและเพื่อนฝูง การมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ชอบ การดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจอย่างเหมาะสม รวมถึงการมีการจัดการทางการเงินที่ดีจะช่วยเพิ่มระดับความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุได้ จากข้อมูลสถิติจำนวนประชากรไทยอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวนถึง 13,358,751 คน คิดเป็นร้อยละ 19.6 ของประชากรทั้งหมด  เป็นผู้สูงอายุชายประมาณ 5.97 ล้านคน และหญิงประมาณ 7.38 ล้านคน (การสำรวจประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย, สำนักงานสถิติแห่งชาติ)  ถือได้ว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น ทั่วโลกก็กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มมากขึ้น

ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยจำนวนมากมุ่งเน้นค้นหาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ และผลการศึกษาในประเทศต่างๆ ทำให้เห็นได้ว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุนั้นมีหลายแง่มุมและมีความสัมพันธ์กัน ตัวอย่างการวิจัยผู้สูงอายุในฟินแลนด์ โปแลนด์ และสเปน พบความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมกับความพึงพอใจในคุณภาพชีวิต ส่วนผู้สูงวัยชาวจีนที่มีสถานะทางการเงินดีมีแนวโน้มที่จะมีความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตในระดับที่สูงเช่นกัน นอกจากนั้น ยังพบว่าสุขภาพกายและสุขภาพจิตเป็นมิติสำคัญที่มีอิทธิพลต่อความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุอีกด้วย สำหรับในอินเดียพบความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างสุขภาพกาย สุขภาพจิต และความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตโดยรวม เช่นเดียวกันกับในเกาหลีใต้ ผู้สูงอายุที่มีสถานะทางการเงินดี มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางกายต่างๆ เช่น การออกกำลัง การทำงานบ้าน และผู้สูงอายุเกาหลีที่พบปะพูดคุยหรือมีความสัมพันธ์ทางสังคม มักจะมีความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตที่สูงตามไปด้วย ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุนั้นเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสนใจศึกษาและความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุเกิดขึ้นได้ในหลายแง่มุม

ในประเทศไทย การศึกษาเรื่อง Factors Influencing Elderly Life Satisfaction in Thailand: A Comprehensive Study on Socio-economic, Mental, and Physical Health, and Social Activity” โดย ผศ.ดร.ธิฏิรัตน์ พิมลศรี รศ.ดร.พาชิตชนัต ศิริพานิช และ วศิน แก้วชาญค้า จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA))  ใช้ข้อมูลจากการสำรวจรอบที่ 4 ที่ดำเนินการในปี 2565-2566 ของโครงการสำรวจด้านสุขภาพ การสูงอายุ และการเกษียณในประเทศไทย (Health, Aging, and Retirement in Thailand: HART) ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของ ศูนย์วิจัยสังคมสูงอายุ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) (https://hart.nida.ac.th/) ที่มีสำรวจข้อมูลจากผู้สูงอายุชาวไทยอายุ 45 ปีขึ้นไป จาก 5 ภูมิภาค ทั่วประเทศ รวมถึงกรุงเทพฯ สำหรับงานวิจัยนี้ใช้ขนาดตัวอย่างจำนวน 646 คน (ศึกษาเฉพาะผู้สูงอายุที่ยังมีรายได้) และใช้เทคนิคทางสถิติตัวแบบสมการโครงสร้างในการวิเคราะห์ข้อมูล

การศึกษานี้เปิดเผยให้เห็นข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจว่าสิ่งที่สำคัญต่อความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศไทย คือ “สุขภาพจิต” และ “ทรัพย์สินที่ถือครอง” ซึ่งส่งผลกระทบทางตรงต่อความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ “รายได้” “สุขภาพกาย” และ “การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม” ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อพิจารณาเจาะลึกในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือในวัยเกษียณนั่นเอง เราได้ข้อค้นพบว่า หากผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตดีจะส่งผลกระทบทางตรงต่อความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตที่ดีตามไปด้วย สำหรับสุขภาพกายและทรัพย์สินที่ถือครองจะส่งผลกระทบทางอ้อมผ่านสุขภาพจิตเท่านั้น

ในขณะที่สำหรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 45-59 ปี ประเด็นสุขภาพจิตและทรัพย์สินที่ถือครองยังถือเป็นปัจจัยที่มีส่วนสำคัญต่อความพึงพอใจในคุณภาพชีวิต รวมทั้งกิจกรรมทางสังคมและสุขภาพกายส่งผลกระทบทางอ้อมต่อความพึงพอใจในคุณภาพชีวิต

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ก่อนเข้าสู่วัยเกษียณ (อายุ 45-59 ปี) ความมั่นคงทางการเงินมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มระดับความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและทำให้มีสุขภาพจิตที่ดี และในช่วงแรกของการเกษียณอายุ (อายุ 60-69 ปี) สถานะทางการเงินและสุขภาพร่างกายยังคงมีผลทางอ้อมกับความพึงพอใจในคุณภาพชีวิต  แต่ท้ายที่สุดท้ายแล้วสำหรับผู้สูงอายุที่อายุ 70 ปีขึ้นไป “ทรัพย์สินภายนอก และสุขภาพกาย ดูเหมือนไม่ใช่สิ่งสำคัญเท่ากับความสุขภายในหรือความสุขทางจิตใจ” นั่นเอง และนี่คือสิ่งนี้สะท้อนถึงความเป็นจริงของชีวิต

อย่างไรก็ตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุก็ต้องการการสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นเช่นกันดังนั้นรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรปรับปรุงบริการต่างๆ ให้ตรงตามความต้องการเฉพาะของผู้สูงอายุ ผลการศึกษานี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการกำหนดนโยบายสาธารณะอย่างรอบคอบ และการดำเนินการส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาตรการที่มีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับระบบสนับสนุนเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุในประเทศไทยได้อย่างเหมาะสม


เอกสารอ้างอิง

กองสถิติและสังคม. (2564). การสำรวจประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย. สำนักงานสถิติแห่งชาติ.

Phimolsri, T., Siripanich, P., Kaewchankha, W. (2024). Factors Influencing Elderly Life Satisfaction in Thailand: A Comprehensive Study on Socio-economic, Mental, and Physical Health, and Social Activity. Proceedings of The 10th Asian Conference on Aging & Gerontology (Agen2024), March 25-29, 2024. Tokyo, Japan.

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธิฏิรัตน์ พิมลศรี ผู้อำนวยการหลักสูตรสถิติประยุกต์ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)

Page 1 of 5
X

Right Click

No right click