January 20, 2025

ผ่ากลยุทธ์ “รศ.ดร.ดนยพฤทธ์ ศรีวรรโณภาส” กับภารกิจพา “Inter MBA – AMBA” NIDA ลุยตลาดการศึกษา

December 03, 2024 506

ในวันที่การศึกษาต่อระดับปริญญาโทถูกตอบรับจากคนรุ่นใหม่ลดลง ด้วยปัจจัยประชากรลดลง เศรษฐกิจ ความสนใจการเรียนคอร์สระยะสั้นที่ใช้เวลาไม่นานได้เข้ามาแทนที่การศึกษาในระบบที่ต้องใช้เวลา 1.5 – 2 ปี ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทาย “รศ.ดร.ดนยพฤทธ์ ศรีวรรโณภาส ผู้อำนวยการโครงการ International MBA (Inter MBA) / Accelerated MBA (AMBA) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)” ในการทำให้ทั้ง 2 หลักสูตรสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ 

การขึ้นมาดำรงตำแหน่งของ รศ.ดร.ดนยพฤทธ์ ถือเป็นการเปิดหนังสือหน้าใหม่ของหลักสูตรที่เคยเงียบๆ อย่าง Inter MBA เพราะสามารถเปิดรับนักศึกษาได้ปีละ 2 รุ่น ๆ ละไม่ต่ำกว่า 25 คน ภายในเวลาเพียง 6 เดือน

“ทุกคนงงว่าเราทำได้ไง เราปรับทุกอย่าง ปรับโฆษณา ปรับการยิงโฆษณา เราเลือกวิชาที่คนรุ่นใหม่อยากเรียน อยากรู้ และความที่นิด้าเป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล ทำให้เด็กมั่นใจว่ามาเรียนแล้วจะได้ทั้งทักษะและความรู้”

รศ.ดร.ดนยพฤทธ์ ได้กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างการเรียนระดับปริญญาโทกับคอร์สระยะสั้นซึ่งเป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ว่า “เป็นความท้าทายของเรามากที่จะทำอย่างไรให้เด็กอยู่กับเรา บางคนเขามองว่าเรียนคอร์สสั้นๆ ดีกว่า แต่สิ่งที่ทำให้การเรียนที่เราต่างจากการเรียนคอร์สระยะสั้น คือ องค์ความรู้ที่เขาจะได้คุ้มค่ากับการมาเรียน เขายังได้คอนเนคชั่นแบบรุ่นพี่รุ่นน้อง ได้เรียนรู้รอบด้าน บรรยากาศการเรียนเป็นรูปแบบนานาชาติ เด็กจะได้พูดภาษาอังกฤษตลอดเวลา โดยทั้ง 2 หลักสูตรจะมีเด็กต่างชาติประมาณ 30% นอกจากนี้ หลักสูตรยังสะท้อนความต้องการของอุตสาหกรรม เนื่องจากมีการอัปเดตบ่อยๆ” 

สำหรับความแตกต่างของหลักสูตร Inter MBA และ AMBA คือ AMBA เปิดรับผู้ที่จบการศึกษาใหม่หรือคนที่ยังไม่ได้เข้าระบบการทำงาน โดยจะเรียนวันจันทร์ - ศุกร์ ส่วน Inter MBA ผู้มาเรียนส่วนใหญ่เป็นคนทำงานแล้วจึงเรียนวันเสาร์ - อาทิตย์

ด้าน Core Course ของทั้ง 2 หลักสูตรเหมือนกันและอาจารย์ผู้สอนคนเดียวกัน เช่น วิชาผู้นำองค์กร กลยุทธ์องค์กร ฯลฯ โดยจะต่างกันในเรื่องของวิชาเลือก ซึ่งวิชาเลือกจะเหมาะกับเทรนด์หรือความต้องการของตลาด โดย Inter MBA จะเน้นเนื้อหาที่ Advance ทั้งด้านเทคโนโลยี การตลาด อย่าง Digital Marketing, AI, Brand Marketing ฯลฯ เพื่อให้เด็กนำความรู้ไปพัฒนาสายงานตัวเองหรือเปลี่ยนแปลงสายงาน

“อย่าง AI เราไม่ได้ให้เขาเรียนเพื่อทำเอง แต่ให้เขาเข้าใจคนทำ AI การเป็นผู้บริหารจะต้องเข้าใจสิ่งที่คนทำซอฟต์แวร์จะทำและต้องรู้ขีดกำจัดของ AI เพื่อนำเอาเทคโนโลยีมาปรับกับองค์กร”

ส่วน AMBA จะเรียนแบบครบรอบด้านทั้งการตลาด การเงิน HR Contemporary Management ฯลฯ เพื่อส่งเสริมให้เขาได้เลือกงานที่เหมาะกับตัวเองหรือสร้างศักยภาพเป็นรีดเดอร์ชิพ วิชาเลือกจะเป็น CRM, Datamining ฯลฯ

นอกจากจะมีการปรับหลักสูตรให้เหมาะกับเด็กมากขึ้น ยังปรับลดค่าเทอมด้วยการยกเลิก Study Trip เนื่องจากมีความยุ่งยากในการบริหารและระยะเวลา 1 สัปดาห์ เด็กไม่ค่อยได้อะไรกลับมาก็เหมือนกับการเรียนคอร์สระยะสั้น เมื่อตัด Study Trip ออกและไปเพิ่มวิชาอื่นๆ รวมทั้งการให้เด็กทำ IS (Independent Study) ซึ่งเขาจะต้องทำเองทั้งหมด ทำให้ค่าเล่าเรียนถูกลงแต่เขาได้ความรู้มากขึ้นและเด็กก็ตอบรับตรงนี้ด้วย 

รศ.ดร.ดนยพฤทธ์ กล่าวต่อว่า การที่นิด้าเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในไทยที่ได้รับมาตรฐาน AACSB Accredited ซึ่งมีการตรวจที่เข้มข้นทุกๆ 5 ปี ในทุกปีหลักสูตรมีการเตรียมพร้อมทั้งเรื่องมาตรฐานการศึกษา การเก็บข้อมูล เพื่อเข้าถึงปัญหาก่อนและปรับปรุงให้สอดรับกับมาตรฐาน อย่างไรก็ดี มาตรฐาน AACSB ไม่เพียงแต่เน้นด้านวิชาการ แต่เน้นในเรื่องของความยั่งยืน (ESG) จริยธรรมทางธุรกิจ การทำ CSR ฯลฯ ดังนั้น ทั้ง 2 หลักสูตรก็จะนำความรู้เหล่านี้มาสอนเพื่อให้เด็กไม่เพียงแต่มีคุณภาพทางด้านวิชาการ การวางแผนพัฒนาธุรกิจ แต่เขาต้องเก่งและให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้ด้วย

ด้านความร่วมมือทางวิชาการ รศ.ดร.ดนยพฤทธ์ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมามีการจับมือกับ University of Massachusetts ในหลักสูตร AMBA เป็นการเรียนคู่กันและแข่งขันกันในเกม Simulation ซึ่งทาง AMBA ชนะ นอกจากนี้ ในปีหน้า Inter MBA จะมีคอร์สเรียนคู่กับสถาบันทางอเมริกา วิชา Operations Management โดยสิ่งที่นักศึกษาจะได้จากการร่วมมือทางวิชาการ คือ ได้ประสบการณ์ ได้เพิ่มทักษะการแข่งขันและได้แสดงศักยภาพในตัวเอง

นอกจากนี้ AMBA ยังเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยทางฝรั่งเศสและรัสเซีย โดยนักศึกษาเสียแค่ค่าครองชีพ ส่วนค่าเล่าเรียนจ่ายตามราคาเมืองไทยและได้รับดีกรี 2 ใบ ด้านความร่วมมือของตัวอาจารย์ก็มีการจับมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศอินโดนีเซีย เป็นการทำวิจัยร่วมกันและนำความรู้ตรงนี้มาสอน

แม้วันนี้ทั้ง 2 หลักสูตรภายใต้การบริหารงานของ รศ.ดร.ดนยพฤทธ์ จะได้รับการยอมรับจากทั้งภายในและภายนอกแล้ว แต่ความท้าทายในการบริหารงานยังคงมีอยู่เสมอ

“เราจะเน้นรับเด็กต่างชาติเพิ่มขึ้น อันนี้เป็นความท้าทายของเราเลย ตอนนี้เราทำการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์ผู้เรียนในพม่าและกำลังจะเริ่มทำตลาดจีน เด็กพม่า เด็กจีน อยากมาเรียนที่ไทย เรามีการคัดเลือกเด็กต่างชาติแบบเข้มข้นเพื่อให้ได้คนที่อยากเรียนจริงๆ เราจะบอกเลยว่าถ้าไม่เข้าเรียนเราจะถอนวีซ่า เราดิวกับต่างชาติมามาก เรามองออกว่าแต่ละชาติมีความแตกต่างกันอย่างไร คนที่ไม่ใช่ก็จะไปจากตรงนี้เอง”

สำหรับเป้าหมายเปิดรับนักศึกษาใหม่ปี 2568 Inter MBA จะเปิดรับรุ่นละ 25 – 30 คน ส่วน AMBA จะเปิดรับรุ่นละ 15 คน ถือเป็นตัวเลขที่ท้าทายพอสมควร เพราะนิด้าไม่มีนักศึกษาปริญญาตรีและประชากรรุ่นใหม่มีจำนวนลดลง ดังนั้น คนอยากเรียนต่อที่นิด้าจริงๆ ถึงจะมา


เรื่อง / ภาพ โดย กองบรรณาธิการ

Last modified on Tuesday, 03 December 2024 08:22
X

Right Click

No right click