November 21, 2024

ส่อง'ผลกระทบทางเศรษฐกิจ' ผ่านสกุลเงิน US ดอลลาร์ และแนวทางรับมือ ผ่านมุมมองเหล่านักวิชาการนานาชาติ ASFRCM จากเวทีสัมมนา โดย MBA นิด้า

February 10, 2023 1242

What can Asian Economies do about the USD Global Financial Cycle?

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โดย รศ.ดร.ธัชวรรณ กนิษฐ์พงศ์ คณบดี และผศ.ดร.กฤษฎา นิมมานันทน์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร ร่วมกับ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการเงินองค์กร การลงทุน และ การบริหารความเสี่ยง โดย รศ.ดร.เอกชัย นิตยาเกษตรวัฒน์ ผู้อำนวยการหลักสูตรฯ เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการด้านการกำกับดูแลการเงินแห่งเอเชีย (Asian Shadow Financial Regulatory Committee Meeting) ครั้งที่ 36 โดยครั้งนี้ กำหนดหัวข้อเรื่อง What can Asian Economies do about the USD Global Financial Cycle? ซึ่งเป็นประเด็นที่อยู่ในกระแสของความสนใจ และจับตาของทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ จากการประชุมสัมมนา ระดมความคิด และแลกเปลี่ยนความเห็น ในครั้งนี้ พบ 4 ประเด็นสำคัญที่วัฏจักรสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ มีความเชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศทั่วโลกคือ

US ดอลลาร์ ยังคงเป็นสกุลเงินมาตรฐานหลักของโลก

ถึงแม้ว่าจะมีการลอยตัวของระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ประเทศต่างๆเคยผูกกับสกุลเงิน US ดอลลาร์  มากว่า 50 ปี แต่เงินสกุล US ดอลลาร์ ก็ยังคงเป็นสกุลเงินมาตรฐานที่ถูกนำมาใช้ ทั้งในการลงทุน การทำธุรกรรม อีกทั้งยังเป็นสกุลเงินที่ถูกเก็บเป็นทุนสำรองในประเทศโดยส่วนมากเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ นโยบายการเงินและสภาวะทางการเงินของสหรัฐอเมริกาจึงสามารถส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปยังระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ดังกรณีตัวอย่างของการเกิดเงินเฟ้อในปัจจุบันของสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อไปทั่วโลก

นโยบายการเงินของสหรัฐ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจต่อประเทศในโลกผ่านสกุลเงิน US ดอลลาร์

การกำหนดนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกา เป็นการกำหนดโดยคำนึงถึงสภาวะทางเศรษฐกิจภายในประเทศสหรัฐฯ เป็นหลัก ถึงกระนั้นนโยบายเหล่านี้ก็ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในสภาวะที่แตกต่างกันออกไป ด้วยพื้นฐานที่ไม่เหมือนกัน อาทิเช่น นโยบายการเงินหดตัว ซึ่งอาจเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐ แต่ในทางกลับกัน ก็สามารถส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกเกิดการถดถอยได้ นอกจากนั้นการปรับขึ้นดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ สามารถส่งผลให้เกิดการไหลออกของเงินทุนจากประเทศอื่นๆ ทำให้สกุลเงินต่างๆอ่อนค่าลง เป็นเหตุให้เกิดเงินเฟ้อในประเทศนั้นๆ ในที่สุด เป็นต้น

ซึ่งผลกระทบในเรื่องนี้มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ตลาดเกิดใหม่ หรือ ประเทศที่กำลังพัฒนา (Emerging markets and developing economies: EMDE) ซึ่งจากผลการวิจัยของ Obstfeld and Zhou ในปี 2022 ได้กล่าวถึงผลกระทบของการแข็งค่าอย่างฉับพลันของสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐ ที่ส่งผลให้เกิดการลดลงของผลิตผลในภาคอุตสาหกรรม การบริโภค และการลงทุนของภาครัฐ อีกทั้งยังส่งผลถึงการถดถอยในภาคการค้า, ส่งออก-นำเข้า, การปล่อยสินเชื่อ และอัตรากู้ยืมเงินสกุลต่างประเทศของภาครัฐ ที่เพิ่มขึ้นในระหว่างปี 1999-2019  

กล่าวได้ว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม EMDE นั้นรุนแรงกว่าประเทศพัฒนาแล้วมาก เนื่องจากประเทศเหล่านี้มักจะมีระบบสถาบันการเงินที่ไม่เข้มแข็งเท่าประเทศที่พัฒนาแล้ว การออกนโยบายและการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่ผลลัพธ์ก็ทำได้ไม่ค่อยดี เสถียรภาพในตลาดเงินและตลาดทุนรวมถึงสภาพคล่องอาจมีไม่สูงมาก และ ในหลายประเทศมีการกู้ยืมเงินเป็นดอลลาร์สหรัฐ  นำมาซึ่งโอกาสของความเสี่ยงที่สูงหากเกิดการกลับตัวไหลออกของเงินทุน

ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่าธุรกรรมทางการค้า และธุรกรรมระหว่างประเทศโดยผ่านสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ฯ ทั่วโลก มีสัดส่วนถึง 50% ในขณะที่ 90% ของธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราทั่วโลกเกี่ยวข้องกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ทั้งการซื้อและการขาย ทำให้เสถียรภาพของตลาดการเงินขึ้นอยู่กับนโยบายของประเทศสหรัฐ ฯ โดยปริยาย

นอกจากนี้ หนี้สินขนาดใหญ่ของสหรัฐฯและนโยบายที่มีผลประโยชน์ของสหรัฐฯเป็นหลัก ยังส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆที่ถือครองหรือจำเป็นต้องซื้อ-ขายผ่านสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ก็มีความเสี่ยงต่อผลกระทบทางการเงินและเศรษฐกิจตามมาเช่นกัน  ตัวอย่างเช่น การคว่ำบาตรประเทศใดประเทศหนึ่งในการทำธุรกรรม ไม่เพียงแต่ส่งผลเสียต่อประเทศเป้าหมายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศที่เป็นคู่ค้าทั้งหมดของประเทศนั้นๆ อีกด้วย

Multi-Polar Currency System เป็นอีกแนวทางการลดผลกระทบจากการอิงเพียงสกุลเงินเดียว

ระบบการแลกเปลี่ยนสกุลเงินอิงสากล หรือ Multi-Polar Currency System อาจจะมีข้อได้เปรียบต่อระบบปัจจุบันที่อิงสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก หนึ่งในนั้นคือ การลดผลกระทบที่เกิดจากนโยบายของสถาบันการเงินของประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งผลกระทบจากความผันผวนของมูลค่าเงิน US ดอลลาร์ ได้เพิ่มความเปราะบางให้แก่ประเทศต่างๆเมื่อวงจรเศรษฐกิจของประเทศนั้นไม่สอดคล้องกับนโยบายการเงินและสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ  การอิงสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลักจำกัดความสามารถของหน่วยงานภายในของประเทศต่างๆ ในการตอบสนองอย่างเป็นอิสระต่อปัญหาทางเศรษฐกิจที่เข้ามากระทบ มาตรฐานสกุลเงินหลายขั้วจะช่วยลดความเสี่ยงต่อปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของหน่วยงานภายในของประเทศต่างๆ

ระบบการอิงเงินตราที่เป็นสากล ช่วยกระจายความเสี่ยง

การก้าวไปสู่ระบบการอิงเงินตราที่เป็นสากลจะลดความจำเป็นในการสำรองดอลลาร์สหรัฐฯ อีกทั้งยังจะช่วยกระจายความเสี่ยงจากผลกระทบภายนอก (Externalities) โดยเฉพาะความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าและสภาพคล่องของอัตราแลกเปลี่ยน มีผลการวิจัย (Kamin, 2022) ที่แสดงให้เห็นว่า อัตราการอ่อนค่าระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศคู่ค้าต่างๆ มีน้อยกว่าการอ่อนค่าโดยรวมของอัตราแลกเปลี่ยนนั้นๆ กับดอลลาร์สหรัฐ  และในขณะเดียวกันได้แสดงให้เห็นว่าประเทศที่ใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความยืดหยุ่นสูงกว่า จะส่งผลลัพธ์ที่ดีกว่าต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ การควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และในการสร้างเสถียรภาพทางการเงิน

ประสานความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อเสริมสร้างระบบการเงินให้เข็มแข็ง

เพื่อเป็นแนวทางในการปลดล็อคความท้าทายจากประเด็นทางเศรษฐกิจอันเป็นผลสืบเนื่องมาการอิงระบบสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นสำคัญ ทางสมาชิก ASFRC มีการเสนอแนวคิดการเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ในรูปแบบต่างๆ  คือ

  • การพัฒนาตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนร่วมกันของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค อาทิเช่น พัฒนา Asian Bond Market Initiative (ABMI)
  • สนับสนุนให้เกิดกระแสการไหลเวียนของเงินอย่างเสรี ภายใน ASEAN+3
  • พัฒนาต่อยอด Chiang Mai Initiative Multi-literalized (CMIM) ให้เป็นตลาด Repo ในระดับภูมิภาค
  • สนับสนุนให้การซื้อ-ขาย สินค้าและบริการทางการเงินด้วยสกุลเงินท้องถิ่นของภูมิภาค แทนการใช้เพียงดอลลาร์สหรัฐ
  • สร้างระบบการบริหารความเสี่ยงระดับองค์กร และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของฟินคเทคในการทำธุรกรรมต่างๆ
  • การพิจารณาใช้สกุลเงินดิจิทัล และส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในระบบธุรกรรมทางบัญชีและการเงินในรูปแบบกระจายศูนย์ (Decentralized) เพื่อเพิ่มความรวดเร็ว และความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องประสิทธิภาพในการทำธุรกรรมข้ามแดน ดังเช่นโครงการ mBridge (Multiple Central Bank Digital Currency Bridge) ที่ BIS (Bank for International Settlements) ร่วมกับธนาคารกลางอีก 4 ประเทศ เป็นต้น

ผู้สนใจข้อมูลฉบับเต็ม สามารถติดตามอ่านได้ที่
http://mba.nida.ac.th/en/detail/news-event/20230201055529

 

Last modified on Friday, 10 February 2023 08:00
X

Right Click

No right click