×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

แสนสิริ จับมือพลัส พร็อพเพอร์ตี้ บริษัทในเครือ ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและจัดการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เปิดตัว Smart Command Centre” ศูนย์ควบคุมสังเกตการณ์จากส่วนกลางเต็มรูปแบบแห่งแรกของวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย ณ อาคารสิริภิญโญ ภายใต้การลงทุนรวมกว่า  20 ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการความปลอดภัยในพื้นที่ส่วนกลาง (Security Monitoring) และระบบวิศวกรรมอาคารส่วนกลาง (IoT Facility Management) ของโครงการที่พักอาศัย มายังศูนย์ควบคุมส่วนกลาง พร้อมผู้เชี่ยวชาญคอยเฝ้าระวัง สั่งการ และประสานงานตลอด 24 ชั่วโมงเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในการบริการ ทั้งด้านการดูแลความปลอดภัย และระบบภายในอาคารให้ทุกระบบทำงานรวดเร็ว แม่นยำ จัดการปัญหาได้ตรงจุด พร้อมเสริมขีดความสามารถในการบริหารโครงการแบบป้องกันก่อนเกิดเหตุ (Preventive Maintenance) นำร่อง 4 โครงการส่งท้ายปี 61 เป็นของขวัญปีใหม่ให้ลูกบ้านแสนสิริ เผยแผนเตรียมเชื่อมต่อ Smart Command Centre เข้ากับ 11 โครงการแนวราบและกลุ่มโครงการคอนโดมิเนียม ภายใต้การบริหารโดยพลัส พร็อพเพอร์ตี้ที่จะแล้วเสร็จใหม่ ในปี 2562

ดร. ทวิชา ตระกูลยิ่งยง ประธานผู้บริหารสายงานเทคโนโลยี บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเข้าใจลึกซึ้งถึงความต้องการของลูกค้าและไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาการบริการในโครงการที่อยู่อาศัย ล่าสุดจึงประกาศความพร้อมในการเดินหน้าต่อเนื่องในการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีมาพัฒนายกระดับการบริการหลังการขายให้แก่ลูกบ้าน เพื่อสร้างประสบการณ์การอยู่อาศัยที่สมบูรณ์แบบ ภายใต้แนวคิดที่เป็นหัวใจหลักของแสนสิริและตอบโจทย์เทรนด์การใช้ชีวิตในยุคที่เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มดิจิทัล    มีบทบาท สำคัญในชีวิตประจำวัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ บริษัทประสบความสำเร็จในกระแสตอบรับการเปิดตัว Sansiri Security System หรือระบบรักษาความปลอดภัยภายในโครงการ (พื้นที่ส่วนกลาง) ที่แข็งแกร่งด้วยเทคโนโลยีอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยที่ทันสมัยผสานกับการทำงานของทีมงานที่ได้รับการฝึกอบรมจากครูฝึกมากด้วยประสบการณ์ เพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับการอยู่อาศัยของลูกบ้านในด้านความปลอดภัยอย่างรอบด้าน รวมถึงการเป็นผู้นำในการพัฒนา สมาร์ท คอนโด โดยการเดินหน้าใช้เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ในทุกโครงการคอนโดมิเนียมที่จะแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2562เป็นต้นไป

“ในวันนี้ แสนสิริได้ต่อยอดการให้บริการด้านการอยู่อาศัยให้ล้ำหน้าไปอีกขั้นด้วยการร่วมมือกับพลัส พร็อพเพอร์ตี้ จัดตั้ง “Smart Command Centre” ศูนย์ควบคุมสังเกตุการณ์จากส่วนกลาง เต็มรูปแบบแห่งแรกของวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมกว่า  20 ล้านบาท เพื่อสร้างความมั่นใจในการให้บริการที่ดีที่สุดให้กับลูกบ้านแสนสิริในโครงการที่บริหารจัดการโดยพลัส พร็อพเพอร์ตี้ทั้งด้านบริหารจัดการความปลอดภัย (Security Monitoring) ที่เพิ่มความอุ่นใจแก่ผู้อยู่อาศัยเป็น 2 เท่า และด้านการบริหารจัดการระบบวิศวกรรมอาคาร (IoT Facility Management) ด้วยเทคโนโลยี IoT อันล้ำสมัยที่สามารถช่วยในเรื่องของการบริหารจัดการ Facility และลดค่าใช้จ่ายส่วนกลางของโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ดร.ทวิชา กล่าว

สำหรับศูนย์ควบคุมสังเกตุการณ์จากส่วนกลางเต็มรูปแบบแห่งแรกของวงการอสังหาฯไทย (Smart Command Centre) ตั้งอยู่ที่อาคารสิริภิญโญ ได้รับการพัฒนาและวางระบบจากผู้นำในธุรกิจและเทคโนโลยีด้านการรักษาความปลอดภัยมาตรฐานสากลที่มีประสบการณ์มากว่า 40 ปี ได้แก่ บริษัท กัทส์ อินเวสติเกชั่น จำกัด ร่วมพัฒนาและวางระบบในการปฏิบัติการทั้งหมด โดย Smart Command Centre มีหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการ เฝ้าระวัง สังเกตุการณ์เหตุผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนกลาง รวมถึงแจ้งเตือนเมื่ออุปกรณ์ใกล้ถึงเวลาบำรุงรักษาแบบเรียลไทม์ พร้อมสั่งการเพื่อดำเนินการตรวจสอบความผิดปกติต่าง ๆ จากศูนย์ควบคุมฯ ได้ทันที นอกจากนี้ยังช่วยประสานงาน กับหน่วยงานต่างๆ เช่น ตำรวจ โรงพยาบาล หรือช่างผู้เชี่ยวชาญได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการต่อเหตุการณ์ได้อย่างแม่นยำ รวดเร็ว และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด โดยภายในศูนย์ควบคุมฯ จะมีเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการ 2 ทีมประจำ 24 ชั่วโมง ตลอดทั้ง 7 วัน ผ่านหน้าจอมอนิเตอร์คมชัดระดับ HD จำนวน 12  จอที่จะรับสัญญาณตรงมาจากโครงการแบบเรียลไทม์

นายชาญ ศิริรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายบริหารทรัพยากรอาคารและวิศวกรรม บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือกับแสนสิริในการจัดตั้ง Smart Command Centre จะช่วยสร้างความอุ่นใจและสบายใจให้กับลูกบ้านแสนสิริในโครงการที่พลัส พร็อพเพอร์ตี้บริหารจัดการ ทั้งในด้านการเฝ้าระวัง (Preventive Monitoring) และการดูแลรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance ) สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการที่อยู่อาศัยให้โดดเด่นด้านมูลค่าเหนือคู่แข่งในทำเลเดียวกัน จากระดับความปลอดภัยในการอยู่อาศัยและความสามารถในการดูแลรักษาโครงการให้มีประสิทธิภาพสวยงามอยู่เสมอ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจเช่าและการซื้อขายเปลี่ยนมือ รวมถึงช่วยบริหารค่าส่วนกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

“ในปลายปี 2561 นี้ Smart Command Centre จะเริ่มเชื่อมต่อข้อมูลจาก 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการคอนโดมิเนียม เดอะ เทอร์ทีไนน์ สุขุมวิท 39, โครงการ เดอะ ไลน์ อโศก-รัชดา, โครงการ เดอะ ไลน์ ราชเทวี และโครงการบ้านเดี่ยวคณาสิริ พระราม 2 – วงแหวน นอกจากนี้ในปี 2562 เรามีแผนที่จะเชื่อมต่อ Smart Command Centre เข้ากับโครงการแนวราบ 11 โครงการ และโครงการแนวสูงที่จะแล้วเสร็จทั้งหมด

ในอนาคต แสนสิริ และพลัสฯ ยังมีแผนการต่อยอดขอบข่ายการทำงานของ Smart Command Centre ทั้งในด้านของการบริหารความปลอดภัย ที่จะเพิ่มการเชื่อมต่อข้อมูลจากระบบ Visitor Management System ที่ใช้ในการจัดเก็บข้อมูลของผู้มาติดต่อทั้งหมด และระบบ Face Recognition ที่สามารถจัดเก็บภาพใบหน้า ลายนิ้วมือ และข้อมูลของผู้รับเหมา และในส่วนของ IoT Facility Management จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ (Smart Grid) และการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) เพิ่มเติม

“นอกเหนือจากความสามารถด้านการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย และการดูแลระบบวิศวกรรมอาคารส่วนกลาง แสนสิริและพลัสฯ ยังมีแผนขยายขีดความสามารถของ Smart Command Centre ไปยังการใช้งานระบบ Touch Points & Intelligent ซึ่งเป็นเครื่องมือในการรับฟังและตอบรับ ความต้องการของลูกค้าทั่วประเทศผ่านทั้งช่องทางโซเชียลมีเดียและ คอลล์เซ็นเตอร์ รวมถึง Sansiri Infrastructure ที่จะสร้างความมั่นใจในความพร้อมเรื่อง CRM, Salesforce, Data Warehouse ต่าง ๆ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการดูแลลูกบ้านตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งทั้งหมดนี้ คือบริการจากแสนสิริและพลัสฯ ที่พัฒนาด้วยความใส่ใจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในการให้บริการและสร้างประสบการณ์การอยู่อาศัยที่สมบูรณ์แบบให้แก่ลูกบ้านแสนสิริครอบคลุมไปถึงในปี 2562” ดร. ทวิชากล่าว

“Smart City หรือ เมืองอัจฉริยะ คือเมืองที่มีพื้นที่บางส่วนหรือทั้งหมด ที่นำเอาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารทรัพยากรของเมือง ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างและเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนในเมืองให้สูงขึ้น และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอนอีกครั้งหนึ่ง ผ่านการใช้บริการข้อมูล และเครื่องมือเทคโนโลยีสารสนเทศในระบบและรูปแบบต่างๆ มากมายที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวก และตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวันของคนในเมืองหรือในสังคม” ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเมืองให้เป็น Smart City ไว้อย่างน่าสนใจและอธิบายต่อว่า

หัวใจสำคัญของการสร้างเมืองเป็น Smart City เป็น Smart Community เมืองอัจฉริยะ ชุมชนอัจฉริยะ คือต้องมี “ผู้นำ” ไม่ว่าจะมาจากหน่วยงาน องค์กรใด และตำแหน่งอะไรก็ตาม หากผู้นำท่านนั้นเป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มและมีความคิดสร้างสรรค์ มีมุมมองและรู้จักหรือยอมรับที่จะนำเอาเทคโนโลยีมีมากมายในโลกใบนี้มาใช้ และเป็นเทคโนโลยีที่ไม่จำเป็นต้องแพง แต่ทำให้ทุกคนในเมืองหรือชุมชนสามารถเข้าถึงได้ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดของการเปลี่ยนแปลงชุมชนเมืองให้เป็น Smart City ขึ้นมาได้

เพราะเมืองที่ฉลาด ก็คือเมืองที่สามารถตอบโจทย์ชีวิตของประชากรในเมืองได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่เกิดจนถึงเชิงตะกอน การที่เมืองจะตอบโจทย์คนในเมืองได้จึงอยู่ที่ผู้นำผู้เข้าใจและรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองนั้นๆ สามารถนำสิ่งเหล่านี้มาสร้างเป็นโจทย์พัฒนาระบบต่างๆ เพื่อให้บริการกับคนในเมือง โดยเหตุผลที่ผู้นำต้องเข้าใจและรู้จักการใช้เทคโนโลยี ก็เพราะว่าเทคโนโลยีจะมาเป็นเครื่องมือที่เข้าช่วยให้คนสามารถพัฒนาและแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งนับวันศักยภาพของเทคโนโลยีก็มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นในทุกๆ วัน

โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5G ซึ่งจะมาพร้อมกับประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อการสื่อสารที่รวดเร็วมากขึ้นและสามารถส่งข้อมูลจำนวนมากในเวลาเดียวกัน ความสามารถนี้ทำให้เราส่งภาพที่คมชัด บันทึกไฟล์ได้ต่อเนื่องไม่ติดขัด ประมวลผลที่มีความซับซ้อนได้ดีมากขึ้น นำไปใช้ได้ในหลายด้าน

ยกตัวอย่างในกรุงเทพมหานคร ปัญหาหนึ่งของเราคือ การเดินทางไม่ว่าจะโดยรถส่วนตัวหรือรถสาธารณะคนในเมืองต้องคิดเผื่อเวลากันเองเพราะไม่รู้ว่าปริมาณรถในเส้นทางที่เราต้องการจะเดินทางเป็นอย่างไร มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในเส้นทางนั้นหรือไม่ หรือรถโดยสารที่เราต้องการใช้บริการจะมาถึงป้ายรถหรือสถานีเวลาใด คน กทม. ไม่สามารถประเมินเวลาการเดินทางในแต่ละวันได้เลย โดยเฉพาะวันไหนฝนตกลงมาการจราจรก็จะติดขัดมากกว่าปกติและหากเส้นทางหลักๆ เกิดสถานการณ์น้ำระบายไม่ทันก็จะเป็นอัมพาตกันทั้งเมือง 

แต่หากกรุงเทพมหานครเป็นเมืองอัจฉริยะ ก็อาจจะมีการพัฒนาและเชื่อมโยงระบบการคมนาคมร่วมกับระบบผังเมือง ระบบการจราจร และระบบรายงานอากาศ เข้าด้วยกัน กลายเป็นระบบที่เข้ามาช่วยให้คนในเมืองสามารถทราบตารางรถสาธารณะที่จะผ่านเข้ามายังจุดที่ต้องการ ว่าแต่ละคันจะมาถึงเวลาใด และใช้เวลาในการเดินทางถึงที่หมายเท่าไร รู้สภาพการจราจรล่วงหน้า สามารถเลือกเส้นทางการเดินทางที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลาของวัน หรือสามารถทราบข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศตลอดทั้งวันโดยเฉพาะในฤดูฝน เพื่อให้คนในเมืองได้จัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันฝน หรือทราบว่าบริเวณไหนจะมีน้ำขังรอการระบาย ก็จะได้หลีกเลี่ยงเส้นทางนั้น นี่คือตัวอย่างส่วนหนึ่งของระบบในเมืองอัจฉริยะที่มาตอบโจทย์ชีวิตของคน กทม.

จากแนวคิดข้างต้นของ ดร.สุชัชวีร์ ข้างต้น นำมาสู่การศึกษาพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของประชาชนในเมืองอัจฉริยะ 6 ด้านอย่างเป็นรูปธรรม ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกำลังศึกษา พัฒนา และเชื่อมโยง เพื่อนำไปสู่ทางออกใหม่ให้กับคนในเมืองกรุง ผ่านสถาบันวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) ของสถาบันฯ เกี่ยวกับเรื่อง Smart Living หรือ ระบบการอยู่อาศัยอัจฉริยะ Smart Utility หรือระบบสาธารณูปการอัจฉริยะ Smart Environment หรือระบบสภาพแวดล้อมอัจฉริยะ Smart Economy หรือ ระบบเศรษฐกิจอัจฉริยะ Smart IT หรือ ระบบสารสนเทศอัจฉริยะ และ Smart Mobility หรือ ระบบการขนส่งอัจฉริยะ


สามารถรับชมคลิปวิดีโอ หัวข้อ “Smart City” ชีวิตยุคใหม่ในเมืองอัจฉริยะ โดย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จากงาน Thailand MBA Forum 2018 ได้ที่นี่

MBA in “Smart” Era

August 13, 2018

"MBA เป็นหลักสูตรที่มีคนต้องการเรียนมากที่สุดในโลก เพราะเป็นหลักสูตรที่สอนทักษะจำเป็นสำหรับการทำธุรกิจหรือต้องการเป็นส่วนหนึ่งในสังคมธุรกิจความรู้ MBA เป็นหัวใจของการทำธุรกิจ ใครก็ตามที่คิดจะเป็นผู้บริหารหรือทำธุรกิจส่วนตัวไม่ว่าจะเรียนจบสาขาอะไรมาก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความรู้ MBA" 

ในวันนี้คำว่า “Smart Farming” หรือ “เกษตรอัจฉริยะ” ได้ถูกหลายๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย หยิบยกขึ้นพูดถึงว่าเป็นอนาคตและความอยู่รอดและสร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ของภาคการเกษตรของประเทศ โดยเฉพาะยุค 5G ในขณะเดียวกัน ก็ยังเป็นเสมือนภาพลักษณ์ของความเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ พร้อมกันนี้ Smart Farming ยังมาพร้อมกับการลงทุนในเรื่องเทคโนโลยีอีกด้วย 

คำถามคือ Smart Farming จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรไทยได้จริงหรือ ทำได้อย่างไร อะไรคือช่องว่างที่ทำให้เกษตรกรไทยยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี Smart Farming และจะปิดช่องว่างนี้ได้อย่างไร 

เพื่อหาคำตอบ แสวงแนวทางเพื่อปิดช่องว่าง และสร้างความเชื่อมโยงเทคโนโลยีสู่การทำเกษตรกรรมแบบสมาร์ต ภายในงาน Thailand MBA Forum 2018 : The Next Chapter of Tech & Management จึงได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง Advance Technology for “Smart Farming” ขึ้น โดยได้รับเกียรติจากคณะวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรโดยตรง ประกอบด้วย ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.นฤทัย วรสถิตย์ รักษาการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตพืช กรมวิชาการเกษตร, เรืองชัย เจริญกิจสุพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะและพัฒนานวัตกรรม SMEs เกษตรธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และ ณัฐ มั่นคง ผู้ประกอบการเกษตร “โคโค่ เมล่อน ฟาร์ม” มาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ในประเด็นดังกล่าว

อะไรคือช่องว่างในการเข้าถึงเทคโนโลยีของเกษตรกรไทย

ดร.นฤทัย วรสถิตย์ : ช่องว่างในระบบผลิตภาคการเกษตรของเรามีเยอะมาก ย้อนไป 30-40 ปีที่แล้ว ประเทศไทยนับว่าเป็นผู้นำด้านการเกษตร เราผลิตได้ดี เป็นเบอร์ 1 ของการส่งออกสินค้าการเกษตรในหลายๆ ประเภท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นความโชคดีของประเทศไทยที่มีสภาพ-แวดล้อมที่เอื้ออำนวยกว่าหลายๆ ประเทศ เกษตรกรบ้านเราก็มีประสบการณ์สูง แต่ก็ยังมีพื้นที่ทางการเกษตรกรอีกหลายๆ พื้นที่ ที่มีสภาพแวดล้อมไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไรนัก ยกตัวอย่าง ทางภาคอีสาน ซึ่งดินมีสภาพเป็นดินปนทราย ไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ ไม่มีระบบชลประทานที่ดีมากพอ ต้องอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติอย่างเดียว เกษตรกรกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะผลิตเพื่อการบริโภคเหลือก็ขายบ้าง เพียงพอต่อการใช้ยังชีพ เพราะในขณะนั้นต้นทุนในการผลิตยังไม่สูงมากนัก 

แต่เมื่อเกษตรกรมีการใช้ดินใช้ทรัพยากรไปเรื่อยๆ ความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติในดินก็ลดลง ในขณะเดียวกันการเติมความสมบูรณ์กลับลงไปในดินก็ไม่ได้มากพอ บวกกับบางปีเจอกับฝนแล้ง ดินขาดน้ำเมื่อเกษตรกรเริ่มมีการลงทุนใส่ปุ๋ยต่างๆ เพื่อเติมลงไปในดินหวังจะให้เป็นอาหารของพืชผล แต่เมื่อไม่มีน้ำเป็นตัวทำละลาย ปุ๋ยก็ไม่สามารถเติมความสมบูรณ์กลับเข้าไปในดินได้ การลงทุนจึงไม่คุ้มและไม่เกิดประโยชน์ เมื่อได้รับผลตอบแทนไม่คุ้มค่าจึงทำให้เกษตรกรกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งต้องออกไปนอกทำงานนอกภาคการเกษตร ลูกหลานก็ไปอยู่ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่การเกษตรเช่นกันและไม่ได้มองว่าการเกษตรเป็นรายได้หลักอีกต่อไป ในสถานการณ์เช่นนี้หากจะให้เกษตรกรกลุ่มนี้ต้องมาลงทุนเทคโนโลยี ก็จะไม่มีใครกล้าลงทุน หากต้องลงทุนด้วยตัวเอง ซึ่งนี่ก็คือหนึ่งในช่องว่างที่เกิดกับเกษตรรายย่อยของไทย

ช่องว่างต่อมาคือ รูปแบบการรายงานผลผลิตสินค้าเกษตรหรืออะไรก็ตามของประเทศ ส่วนใหญ่มักจะเป็นการรายงานภาพรวมเป็นค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ เราแทบจะไม่เคยมีการแยกแยะหรือโฟกัสออกมาเป็นส่วนๆ ทำให้ข้อมูลไม่เอื้อต่อการที่จะให้ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ใช้ทักษะหรือเทคโนโลยีที่เหมาะสมหรือการพัฒนานวัตกรรมที่เหมาะสม หรือคำแนะนำที่เฉพาะเจาะจงกับปัญหาพืชผลทางการเกษตรได้มากเท่าที่ควรเพราะขาดข้อมูล

อีกหนึ่งช่องว่างที่ทำให้เกษตรกรไทยไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้มากเท่าที่ควรทั้งที่ประเทศไทยมีหน่วยงานที่สนับสนุนการพัฒนาการเกษตรกรอยู่มากมายก็คือ หน่วยงานของภาครัฐมีการแบ่งงานกันออกเป็นส่วนๆ เป็นกรม กอง ไม่เอื้อต่อการเชื่อมโยงในการทำงาน ถึงแม้ว่าในปัจจุบันภาครัฐจะมีการสนับสนุนให้แต่ละหน่วยงานมาทำงานมาระดมความคิดทำโครงการร่วมกัน แต่เมื่อจบโครงการก็จบไม่ได้มีระบบที่จะสร้างให้เกิดการทำงานต่อเนื่อง ไม่มีระบบที่จะทำให้ผู้เกี่ยวข้องจะสามารถเห็นภาพได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ 

ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ : ช่องว่างของการเข้าถึงเทคโนโลยีของเกษตรกรคือ ต้องสามารถตอบคำถาม 2 ข้อนี้ให้ได้ คำถามแรกคือ เกษตรกรได้อะไรจาก Smart Farming คำถามที่สองคือผู้บริโภคได้อะไรจากการบริโภคพืชผลจาก Smart Farming 

ตอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้วางธีมเกี่ยวกับเรื่องของนวัตกรรม (Innovation) เรื่องของ Disruption (สภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล) ภาคการเกษตรก็เป็นด้านหนึ่งของการทำงานครั้งนี้ ด้วยคำถามแรกว่า เกษตรกรได้อะไรจาก Smart Farming คือเรื่องของซัพพลาย (Supply) คำถามถัดมาผู้บริโภคได้อะไรจาก Smart Farming นั่นคือเรื่องของดีมานด์ (Demand) การที่ผู้บริโภคต้องจ่ายมากขึ้นจากการซื้อสินค้าที่ได้ชื่อว่าเป็น Smart Farming จะได้อะไรที่เพิ่มเติมขึ้นหรือมีอะไรที่ทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจเพิ่มขึ้น

ผมได้พยายามหาคำตอบ ซึ่งก็ยังไม่พบ จนได้ไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ที่นี่มีการทำ Smart Farming มีการทำโรงเรือนโดยการควบคุมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอากาศ ความชื้น อุณหภูมิ ธาตุอาหารในดิน แสง จากการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานทำด้านนี้ในประเทศญี่ปุ่นพบว่า ผู้ประกอบการที่ทำแบบนี้อยู่รอดแค่ 25% เรียกได้ว่า ทำ 4 ราย เจ๊งไป 3 ราย เหลือรอด 1 ราย

ผมได้สอบถามเกษตรกรว่ามีการดำเนินงานต่างจากรายอื่นตรงไหน ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า ผู้ประกอบการรายนี้มองตั้งแต่การผลิตไปจนถึงมือลูกค้าเลย การเกษตรของญี่ปุ่นรายนี้ได้ตอบได้ว่า สิ่งที่เขาได้รับจากการทำ Smart Farming คือ ความสามารถในการควบคุมคุณภาพของผลผลิตภายในฟาร์มได้ทั้งหมด และสามารถป้อนสิ่งที่พืชผลต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทั้งหมดนี้ แต่ก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นติดตามมา เกษตรกรรายนี้ยังได้ตอบถึงสิ่งที่ผู้บริโภคได้รับจากการที่จ่ายแพงขึ้นเพื่อซื้อพืชผลทางการเกษตรจาก Smart Farming ของเขาว่าลูกค้าจะได้ผักของเขามีวิตามินสูงกว่าฟาร์มทั่วไป และนอกจากนี้หากลูกค้าที่ต้องการผักที่มีกากใยอาหารเพิ่มขึ้นในขณะที่บริโภคเท่าเดิม หรือต้องการให้ผักอร่อย กรอบขึ้น หวานขึ้น เขาก็สามารถทำตรงนี้ให้ได้ โดยทั้งหมดนี้ต้องมีการทำวิจัย 

และนี่เป็นบทเรียนที่มักพบอยู่เสมอเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ว่าต้องมีงานวิจัยเป็นพื้นฐาน ซึ่งสุดท้ายงานวิจัยก็จะไปตอบโจทย์ของการตลาดในที่สุด ผมมองว่าการที่เราจะทำอะไรก็จะมี 2 แกนเสมอ แกนแรกคือ โนว์ฮาว แกนที่สองคือ ดิจิทัล แต่ไม่ได้หมายความว่าการใส่ดิจิทัลเข้าไปแล้วเกษตรกรจะประสบความสำเร็จ เพราะเกษตรกรต้องมี โนว์ฮาว อยู่ก่อนแล้ว ส่วนดิจิทัล นั้น จะเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เกษตรกรติดปีก มูลค่าเพิ่มหรือโอกาสของความสำเร็จที่เพิ่มขึ้นจะมาจากการใช้อุปกรณ์ 

“ช่องว่าใหญ่ที่สุดของการทำ Smart Farming คือเรื่องของราคา ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าทำไมลูกค้าต้องจ่ายแพงขึ้นจากการบริโภคพืชผลจากฟาร์มแห่งนี้” 

แนวทางเพื่อปิดช่องว่าง และสร้างความเชื่อมโยงเทคโนโลยีสู่การทำเกษตรกรรมแบบสมาร์ต

เรืองชัย เจริญกิจสุพัฒน์ : ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เราดำเนินงานมาแล้วเป็นปีที่ 51 และสิ่งที่เห็นคือ ภาคเกษตรของประเทศไทยก็ยังไม่ไปถึงไหน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีกว่า การทำการเกษตรบ้านเราต้องพึ่งพิงดิน น้ำ อากาศ จากธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงมักเผชิญกับภาวะน้ำท่วม ฝนแล้ง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อปริมาณพืชผลทางการเกษตรที่ออกสู่ตลาดในแทบจะทุกประเภท 

ด้วยบทบาทของ ธกส. เป็นสถาบันทางการเงินที่มีหน้าที่ช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกร มีเงินทุนพร้อมที่จะเติมให้เกษตรในการทำการเกษตร แต่การเติมนั้นต้องให้เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด ภายใต้สถานการณ์ของเกษตรกรที่ต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบันนอกจากการผลิตที่ยากต่อการควบคุมแล้ว ยังมีเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเปิด AEC ต้องเจอกับคู่แข่งขันจากเพื่อนบ้านรอบๆ ประเทศไทยที่มีการผลิตสินค้าทำการเกษตรที่เหมือนๆ กันออกมา

โจทย์ของ ธกส. คือ ทำอย่างไรให้เกษตรกรสามารถแข่งขันทางการตลาดได้ ให้มีการคิดในเรื่องของธุรกิจมากขึ้นคิดในเรื่องของต้นทุนกำไรมากขึ้น มีการเข้าถึงนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตและจำหน่าย ไม่ใช่การผลิตและขายตามยถากรรมอย่างที่ผ่านๆ มา 

และนี่คือที่มาของการปรับโครงสร้างการดำเนินงานของธกส. โดยเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งหน่วยงาน ภายใต้ชื่อ บ่มเพาะและพัฒนานวัตกรรม SMEs เกษตรธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อเข้ามาช่วยดูแลเรื่องของการเชื่อมนำเอาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมต่างๆ รวมถึงการดูแลในเรื่องของการบริหารจัดการ บริหารต้นทุนกำไร การตลาด ให้กับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าของ ธกส. เพื่อให้เกษตรกรอยู่อย่างเข้มแข็ง จนถึงทำให้เกษตรกรสามารถกำหนดราคาขายสินค้าทางการเกษตรได้

การที่จะก้าวไปถึงจุดนั้นได้ ก็ต้องดูแลในเรื่องของคุณภาพ โดยการเติมเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือเรื่องของดิจิทัลเข้าไปให้เกษตรกร จนถึงการออกไปบอกกับตลาด บอกกับผู้บริโภคเกิดการรับรู้ว่าผลผลิตที่เกิดขึ้นนั้นดีกว่าสินค้าที่อยู่ในตลาดทั่วไปอย่างไรพร้อมกับทำในเรื่องของการจัดการ และการลดต้นทุนให้กับเกษตรกรไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยพัฒนาผลผลิตให้ดีขึ้น มีการให้ความรู้เรื่องปุ๋ย การพัฒนาคุณภาพของดิน มีการส่งเสริมเรื่องปุ๋ยสั่งตัด มีการคัดเกรดสินค้าก่อนส่งขาย การนำเอาสินค้าที่ตกเกรดมาแปรรูปสินค้า การส่งเสริมให้ลดในเรื่องของการใช้เคมีและเพิ่มความรู้และส่งเสริมการใช้สารชีวพันธุ์มากขึ้น ไปจนถึงการออกใบรับรองพืชผลทางการเกษตรเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค และที่สำคัญมีการดูแลควบคุมพื้นที่การผลิตเพื่อไม่ให้เกิดภาวะผลิตทางการเกษตรล้นตลาดอีกต่อไป

ณัฐ มั่นคง : ในฐานะของเกษตรกร เจ้าของฟาร์มเมล่อนที่มีการดำเนินงานภายใต้ในระบบที่เรียกว่า Smart Farming มองว่าเรื่องของการเกษตรไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเป็นผู้ผลิตพืชผลทางการเกษตรอย่างเดียว แต่ต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นด้วย เช่นเรื่องของการเงิน การลงทุน การบริหารจัดการ และการตลาด 

การทำการเกษตรในรุ่นพ่อรุ่นแม่จะใช้ประสบการณ์ และความชำนาญที่เกิดจากการทำซ้ำจนเกิดความแม่นยำ แต่ในยุคของผมเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่มีความรู้มาจากการลงมือปฏิบัติ สังเกต เก็บข้อมูล ศึกษาทฤษฎี และเข้าใจในเรื่องของการบริหารจัดการ การตลาด ในยุคนี้มีผู้ที่คิดค้นเทคโนโลยี นวัตกรรม เครื่องมือที่เข้ามาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลพืชผล จึงทำให้การดูแลฟาร์มสามารถทำได้อย่างแม่นยำมากขึ้นบนพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับพืชที่ปลูกอย่างแท้จริง 

“โรงเรือนของผมสามารถควบคุมได้ทั้งหมดทั้งความชื้นของดิน คุณภาพ โรคแมลง เช่น ต้นเมล่อนในฟาร์มเหี่ยว ถ้าคิดแบบทั่วไปก็ต้องมองว่าขาดน้ำ แต่เซนเซอร์ของผมแจ้งว่า ความชื้นในดินยังอยู่ในค่าที่เหมาะสมอยู่ในค่าเดิม ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่ผมจะให้น้ำกับต้นเมล่อน ด้วยความรู้เกี่ยวกับการปลูกเมล่อนทำให้ผมทราบว่าต้นเมล่อนของผมขาดน้ำจริง แต่สาเหตุของการขาดน้ำมาจากการมีนำในดินเยอะเกินจนรากเน่าซึ่งผมก็รักษาตามอาการจนต้นเมล่อนออกรากฝอยขึ้นมาใหม่ และให้ผลผลิตได้ที่มีคุณภาพระดับ 60-70%”

นอกจากการวิจัยในเรื่องของการผลิตซึ่งผมได้เคยทดลองปลูกเมล่อนมาราว 20-30 สายพันธุ์ ทั้งพันธุ์ญี่ปุ่นแท้ เทียม หรือสายพันธุ์ใหม่ แต่แล้วก็จะต้องไปจบตรงผู้บริโภค ต้องมีการทำวิจัยไปจนถึงลูกค้าด้วยว่าชอบเมล่อนสายพันธุ์อะไร รสชาติแบบไหน ซึ่งคนไทยนิยมเมล่อนที่หวาน กรอบ เนื้อแน่น ถ้าปลูกพันธุ์ญี่ปุ่นแท้ที่เน้นความหวานและนุ่มละลายในปาก ก็อาจจะขายไม่ได้

ความเป็นเกษตรกรของบรรพบุรุษเราในอดีตล้วนเกิดจากประสบการณ์และการทำซ้ำ และการบอกต่อๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่น แต่ท้ายที่สุดส่วนใหญ่อาจจะไม่เคยรู้เกี่ยวกับทฤษฎีที่ถูกต้องในพืชผลทางการเกษตรที่ตนเองปลูกอยู่เลย แต่หากเรามีความรู้เชิงทฤษฎี บวกกับประสบการณ์จากการสังเกตการณ์ทำซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า และนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ การผลิตของเราก็จะเกิดความแม่นยำ ตรงจุดและไปได้ไวกว่า 

เกษตรกรไทยมีการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างไร

ณัฐ มั่นคง : ถึงแม้ว่าโคโค่เมล่อนฟาร์มจะได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีจากบริษัทดีแทค แต่ก็เคยตอบคำถามหลายๆ ฝ่ายไปว่าหากต้องลงทุนอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้เองตัวเองก็ยินดีที่จะลงทุน แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้การศึกษาด้วยว่า พืชผลทางการเกษตรที่ปลูกนั้นคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่ จุดคุ้มทุนอยู่ตรงไหน และเทคโนโลยีแบบไหนที่จำเป็น เช่นการปลูกเมล่อนต้องให้ความสำคัญเรื่องน้ำ ก็ต้องลงทุนระบบเกี่ยวกับการจัดการน้ำ แต่ถ้าเป็นฟาร์มกล้วยไม้ที่ต้องใส่ใจเรื่องของแสงก็ต้องลงทุนเกี่ยวกับการควบคุมแสงสว่างในฟาร์มเป็นต้น

“ผมมีความเชื่อว่าเทคโนโลยีของ Smart Farming จะเข้าสู่เกษตรกรไทยให้เกิดการใช้อย่างแพร่หลายในเร็วๆ นี้ เพราะเทคโนโลยีจะมีต้นทุนที่ถูกลงใช้ง่ายขึ้นต่อไปตัวเซนเซอร์อาจจะมีวางขายในร้านขายวัสดุทางการเกษตรทั่วๆ ไปอย่างแน่นอน” 

ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ : กฎของดีมานด์ และซัพลาย จะทำให้เทคโนโลยีทางการเกษตรหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับ Smart Farming ลดต่ำลง และสร้างโอกาสในการเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านั้นให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้ได้ง่ายขึ้น ข้อดีของนวัตกรรมคือไม่มีขนาดเข้ามาเกี่ยวข้อง ใครเร็วกว่าย่อมได้เปรียบเป็นเรื่องของปลาเร็วกินปลาช้าไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาช้าอีกต่อไปแล้ว หากเกษตรกรในบ้านเราเริ่มมีทำการเกษตรบนพื้นฐานของความรู้ และรู้จักที่จะใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือ จะส่งผลให้ประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นการเติบโตที่อยู่บนพื้นฐานความรู้ที่คนในประเทศของเราถนัดคือการเกษตร 

ดร.นฤทัย วรสถิตย์ : กลไกด้านราคาจะทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีของ Smart Farming ในทุกวันนี้มีบริษัทคอมพิวเตอร์ใหญ่ๆ หันมาพัฒนาในเรื่องเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางด้านการเกษตรและอาหารเพิ่มมากขึ้น เพราะตามที่มีการคาดการณ์ประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและทั้งคนที่ต้องการจ่ายเพื่อสุขภาพ ซึ่งพอเกษตรกรสามารถควบคุมต้นทุนต่างๆ ได้ บวกกับอุปกรณ์มีราคาลดต่ำลงคุณภาพดีขึ้น จะช่วยให้สามารถควบคุมคุณภาพในการผลิตและลดการสูญเสียไปได้ รวมทั้งในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมากขึ้นในทุกวันนี้ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเร่งรัดให้เกษตรไทยเข้าสู่ Smart Farming 


สามารถรับชมคลิปวิดีโอ หัวข้อ Advance Technology for “Smart Farming” จากงาน Thailand MBA Forum 2018 ได้ที่นี่

Page 2 of 3
X

Right Click

No right click