November 16, 2024

เมื่อเร็วๆ นี้ หน่วยงานริเริ่มธุรกิจเพื่อสังคมแห่งประเทศไทย (Thailand Social Business Initiative: TSBI) ประกอบด้วย Yunus Center AIT สถาบันไทยพัฒน์ และ บริษัท อิมเมจ พลัส คอมมิว นิเคชั่น จำกัด ได้ร่วมกันจัดการอภิปราย (Panel Session) ในหัวข้อ "Strategic CSR through SDGs: The Opportunities & Competitiveness to 2020" ซึ่งมีเนื้อหาน่าสนใจ ที่จะขอนำมาถ่ายทอดไว้ ดังนี้

 เริ่มจาก การแนะนำว่า Strategic CSR นั้น ไม่ได้เกิดจากการลอกแบบ Best Practices ที่องค์กรอื่นดำเนินการ และพยายามทำให้เทียบเท่าหรือดีกว่า แต่เป็นการค้นหาสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์หรือทุนที่สั่งสมในองค์กรของตน นำมาสร้างให้เกิดความแตกต่างในการดำเนินการ ในทางที่เสริมสร้างขีดการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

การทำ Strategic CSR จะดำเนินการผ่านความริเริ่มหรือโครงการที่เกี่ยวข้องจำนวนไม่มาก แต่คุณค่าร่วม (Shared Value) ระหว่างธุรกิจกับสังคมที่เกิดขึ้น จะมีนัยสำคัญและเห็นผลเด่นชัด

ตัวอย่างหนึ่งที่ยกในการอภิปราย คือ การต่อต้านทุจริต สามารถยกระดับจากการปฏิบัติตามข้อกำหนด (Compliance) ซึ่งเป็นการทำงาน (ตามเช็คลิสต์) ในเชิงรับ และจำกัดเฉพาะองค์กรของตน มาเป็น Strategic CSR ที่อาศัยบทบาทขององค์กร ผลักดันให้เกิดการต่อต้านทุจริตในห่วงโซ่ธุรกิจ ไปยังคู่ค้าและลูกค้า โดยเฉพาะการมุ่งไปยังส่วนงานที่มีผลกระทบสูง อาทิ ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายขาย จะสามารถสร้างผลลัพธ์ที่เกิดจากการประหยัดงบประมาณและค่าใช้จ่ายที่รั่วไหลไปกับการทุจริตได้อย่างเป็นรูปธรรม

ในฐานะหนึ่งในผู้ร่วมอภิปราย ผมได้มีโอกาสชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของ Strategic CSR กับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ด้วยการนำห่วงโซ่ธุรกิจ ที่แสดงให้เห็นสายคุณค่า (Value Chain) มาใช้เป็นเครื่องมือในการระบุจุดที่องค์กรสามารถลดผลกระทบเชิงลบ (Minimizing Negative Impact) และเพิ่มผลกระทบเชิงบวก (Increasing Positive Impact) ที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

 

Source: GRI and UNGC, Integrating the SDGs Into Corporate Reporting: A Practical Guide, 2018.

 

ตัวอย่างของธุรกิจเครื่องนุ่งห่ม ที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงาน และวัตถุดิบจากภาคเกษตร กรณีของการลดผลกระทบเชิงลบ สามารถตอบสนองต่อ SDG เป้าที่ 3 เรื่องสุขภาวะ ที่เป็นการจัดสถานประกอบการและสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย SDG เป้าที่ 6 เรื่องน้ำและการสุขาภิบาล ที่เป็นการลดน้ำเสียจากการประกอบการ และ SDG เป้าที่ 15 เรื่องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ที่เป็นการลดความเสื่อมโทรมของดิน

กรณีของการเพิ่มผลกระทบเชิงบวก สามารถตอบสนองต่อ SDG เป้าที่ 8 เรื่องเศรษฐกิจและการจ้างงาน ที่เป็นการดูแลเรื่องค่าครองชีพของพนักงานในทุกระดับ และ SDG เป้าที่ 12 เรื่องแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ที่เป็นการเพิ่มช่องทางแก่ผู้บริโภคในการนำเครื่องนุ่งห่มใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เป็นต้น

จะเห็นว่า บทบาทของธุรกิจหรือภาคเอกชน สามารถใช้ Strategic CSR ในการตอบสนองต่อ SDGs ได้ โดยการวิเคราะห์สายคุณค่าที่องค์กรดำเนินงานอยู่ว่ามีส่วนใดที่ส่งผลกระทบ (ทั้งทางบวกและทางลบ) ต่อ SDGs และองค์กรจะตอบสนองต่อ SDGs ที่เกี่ยวข้องนั้นๆ ได้อย่างไร

หากใช้ตรรกะข้างต้น ในการพิจารณาบทบาทของภาครัฐ ที่เป็นหน่วยราชการ กระทรวง ทบวง กรม ต่างมีภารกิจของหน่วยงาน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนการบรรลุ SDGs อยู่แล้ว ไม่มากก็น้อย (โดยอาจไม่จำเป็นต้องริเริ่มโครงการใหม่เพิ่มเติมจากที่ดำเนินการอยู่) แต่จำเป็นต้องมีการประเมินและปรับกระบวนการให้เกิดความสอดคล้องกับ SDGs ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน

ข้อแนะนำสำหรับหน่วยราชการ ในการขับเคลื่อน SDGs ได้แก่

  • เลิกสร้างโครงการใหม่ (New Projects) ด้วยงบประมาณก้อนใหม่
    เริ่มปรับกระบวนงานปัจจุบัน (Existing Processes) ให้สอดรับกับการตอบสนอง SDGs
  • ลดความริเริ่มที่เป็นการทำงานแบบบนลงล่าง (Top-down)
  • เพิ่มความริเริ่มที่เป็นการทำงานแบบล่างขึ้นบน (Bottom-up)
  • ขจัดบรรยากาศการทำงานในแบบที่มีพิธีรีตองมากเกินไป (Bureaucratic)
  • เพิ่มบรรยากาศการทำงานในแบบสานความร่วมไม้ร่วมมือจากทุกฝ่าย (Collaborative)
  • เน้นส่งเสริมการพัฒนาแบบกลุ่มความร่วมมือ (Cluster)
  • แทนการพัฒนาในแบบทีละส่วน ทีละอย่าง (Piecemeal)

รัฐบาล ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดินในระดับสูงสุด จำต้องตระหนักถึงบทบาทที่เอื้อให้เกิดความสำเร็จต่อการบรรลุ SDGs ทั้งในแง่ของการกำหนดนโยบาย กลไก และกระบวนการขับเคลื่อน

 

 

Adapted from Michael E. Porter’s Presentation on a Strategy for Haitian Prosperity, September, 2017.

 

จากการทำงานในรูปแบบเดิม (Old Model) ที่รัฐบาลเป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยนโยบายจากบนลงล่าง เป็นผู้ตัดสินใจ เป็นผู้ให้ทุนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ จะต้องปรับเปลี่ยนมาสู่รูปแบบใหม่ (New Model) โดยตระหนักว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นกระบวนการทำงานร่วมกัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับทั้งรัฐบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในทุกระดับ ภาคธุรกิจทั้งบริษัทสัญชาติไทยและต่างสัญชาติ สมาคมการค้า ภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา สถาบันวิจัย รวมทั้งชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนภาคพลเมือง

ที่สำคัญ การมีนโยบายที่ดีโดยลำพัง ไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อน แต่ปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จ เกิดจากความแน่วแน่ในการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ (Translating Policy into Action)


บทความ โดย : พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ 

จากการคาดการณ์ความเสี่ยงของโลกโดย World Economic Forum ในปี 2018 จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศและภัยธรรมชาติเป็นความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นมากที่สุด (World Economic Forum, 2018) อีกทั้งรายงานของ www.ranker.com พบว่าในปี 2018 เกิดภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบรุนแรงเป็นจำนวนมาก (Slocum, 2018) สำหรับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย เช่น น้ำท่วมและดินโคลนถล่มในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจในพื้นที่ประสบภัยต้องหยุดชะงัก จากรายงานข่าว จังหวัดฮิโรชิมะเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดและพบผู้เสียชีวิตมากที่สุด (Workpoint News, 2018) ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ เช่น การสูญเสียสินค้าคงคลัง ผลกระทบต่อความต่อเนื่องทางธุรกิจ เป็นต้น ธุรกิจจะสามารถฟื้นฟูจากภัยธรรมชาติได้เร็วขึ้นถ้ามีแผนฉุกเฉินรองรับ (Glassman, 2018) ผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับความเสี่ยงซึ่งอาจเป็นสาเหตุของความเสียหาย (NTT Communications (Thailand) Co. Ltd., 2018) ตัวอย่างของภัยพิบัติ เช่น

  1. ภัยพิบัติจากการกระทำของมนุษย์ (Man-made disaster) :

เป็นการกระทำของมนุษย์ที่ส่งผลต่อความเสียหายของธุรกิจ เช่น อัคคีภัย, การรั่วไหลของน้ำมัน, การโจรกรรมข้อมูล เป็นต้น

  1. ภัยพิบัติทางธรรมชาติ (Natural Disasters) :

เป็นการเกิดภัยที่มีสาเหตุมาจากธรรมชาติ เช่น อุทกภัย, วาตภัย, แผ่นดินไหว, คลื่นสึนามิ, ไฟป่า เป็นต้น ซึ่งภัยพิบัติทางธรรมชาติส่งผลต่อความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของธุรกิจ

  1. ภัยพิบัติด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) :

เป็นภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง เช่น การจู่โจมของผู้ก่อการร้าย การประท้วงขนาดใหญ่ และสงคราม เป็นต้น ผู้ประกอบการอาจต้องพิจารณาถึงการย้ายกิจกรรมทางธุรกิจไปยังพื้นที่อื่นๆ

เมื่อความเสี่ยงและภัยพิบัติสามารถเกิดขึ้นได้เสมอและธุรกิจไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ผู้ประกอบการจึงจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ การบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management : BCM) จึงเป็นแนวทางที่สำคัญอย่างยิ่งในการลดโอกาสเกิด การเตรียมการ การตอบสนอง และฟื้นฟูธุรกิจจากความเสี่ยงและภัยพิบัติต่างๆ ที่จะทำให้ธุรกิจหยุดชะงักได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการสูญเสียรายได้หรือลูกค้าที่รับไม่ได้จากการหยุดชะงักของการให้บริการ และทำให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียต่อธุรกิจ (Sasawat Malaivongs, 2018) ทั้งนี้ เพื่อลดผลกระทบและความเสียหายให้เกิดน้อยที่สุดและธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินงานต่อไปได้รวดเร็วที่สุด

                กรอบแนวทางการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ หรือ BCM ตามมาตรฐาน ISO 22301:2012 มีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง 6 องค์ประกอบหลัก คือ

องค์ประกอบที่ 1 การบริหารโครงการจัดการความต่อเนื่อง (BCM Program Management) เป็นองค์ประกอบหลักของการสร้างความต่อเนื่อง โดยการจัดทำกรอบนโยบายและกำหนดโครงสร้างหน้าที่ความรับผิดชอบของบุคลากรในระดับต่างๆ

องค์ประกอบที่ 2 การศึกษาและทำความเข้าใจองค์กร (Understanding the Organization) เป็นขั้นตอนการทำความเข้าใจสภาพและการดำเนินงานขององค์กร ด้วยวิธีการวิเคราะห์ผลกระทบทางธุรกิจ (Business Impact Analysis – BIA) และการประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment - RA) เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการจัดระดับความสำคัญของกระบวนงาน การกำหนดแนวทาง และกลยุทธ์ในข้อต่อไป

องค์ประกอบที่ 3 การกำหนดกลยุทธ์ในการสร้างความต่อเนื่อง BCM (Determining BCM Strategy) กำหนดแนวทางในการตอบสนองต่อการหยุดชะงักของการดำเนินงานขององค์กร เช่น กลยุทธ์กู้คืนการดำเนินงาน (Recovery Strategy) และการกำหนดกลยุทธ์ด้านการจัดการทรัพยากรที่เหมาะสมตามข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ผลกระทบทางธุรกิจ (BIA)

องค์ประกอบที่ 4 การพัฒนาและเตรียมการตอบสนองต่อเหตุการณ์ในภาวะฉุกเฉิน (Developing and Implementing BCM Response) เมื่อมีการกำหนดกลยุทธ์เรียบร้อยแล้ว ต้องจัดทำแผนงานเตรียมตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน โดยให้เป็นไปตามกรอบยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ เช่น Incident Management Plans (IMP) หรือ แผนจัดการอุบัติการณ์ฉุกเฉิน, Business Continuity Plans (BCP) หรือ แผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ, Recovery Plans (RP) หรือ แผนกู้คืนธุรกิจหลังภัยพิบัติผ่านพ้นไป เป็นต้น

องค์ประกอบที่ 5 การทดสอบ ปรับปรุง และทบทวนแผน (Exercising Maintaining and Reviewing) เป็นขั้นตอนที่จะทำให้แน่ใจว่า BCM ที่จัดทำขึ้นสามารถใช้ได้จริงรวมทั้งเพื่อเตรียมความพร้อม ตรวจสอบความสามารถของบุคลากร และประสิทธิภาพของแผนในการตอบสนองต่อวิกฤติการณ์ ด้วยรูปแบบการทดสอบ เช่น Call Tree, Tabletop Testing, Simulation เป็นต้น

องค์ประกอบที่ 6 การปลูกฝัง BCM ให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร (Embedding BCM in the Organization’ s Culture) เป็นขั้นตอนที่สำคัญในการทำให้ BCM เข้าไปเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลาและจิตวิทยาที่จะทำให้บุคลากรทุกคนซึมซาบและเข้าใจถึงความสำคัญของ BCM ตลอดจนบทบาทหน้าที่ของตัวเอง (NSM, 2018)

โดยที่ผ่านมาการให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานต่างๆ ต่อธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ เช่น ในปี 2561 ได้เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยได้ออก 2 มาตรการช่วยเหลือลูกค้าธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นอุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่ม แผ่นดินไหว เป็นต้น ได้แก่ มาตรการที่ 1 การพักชำระหนี้ เพื่อลดภาระให้กับผู้ประกอบการ และ มาตรการที่ 2 สินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหาย เพื่อเป็นเงินทุนฟื้นฟูและหมุนเวียนในกิจการสำหรับลูกค้าเดิมของธนาคาร (MGR Online, 2018)

หากผู้ประกอบการสามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ความเสี่ยงและความรุนแรงก็จะลดน้อยลง เพราะความเสี่ยงที่อันตรายที่สุด คือ การขาดความตระหนัก ไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือ และขาดแนวทางการจัดการในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ธุรกิจพึงมีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาที่ยั่งยืน


บทความ โดย : ปภาดา บุบผาสวรรค์

หลักสูตรสหสาขาวิชาการจัดการความเสี่ยงและภัยพิบัติ | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในปัจจุบันมีเส้นแบ่งกั้นสูงระหว่างภาควิชาการและภาคปฏิบัติ ภาควิชาการโดยส่วนใหญ่จะสนใจเฉพาะการวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) ซึ่งเน้นกระบวนการวิจัยที่มีกระบวนการขั้นตอนที่กำหนดอย่างชัดเจน

จากบทความเรื่อง “วันโอโซนโลก ตอนที่ 1” ที่กล่าวถึงภาพรวมของชั้นโอโซน อาทิ ความสำคัญของชั้นโอโซน ผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่อชั้นโอโซนถูกทำลาย

ความรู้และศาสตร์ในด้านการศึกษา ที่ต้องปรับตามให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เป็นความท้าทายอย่างไม่มีจุดสิ้นสุด   ผศ. ดร. นาถรพี ชัยมงคล  คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี)  ได้เปิดเผยถึงภาพรวมของคณะฯ กับ “นิตยสาร MBA” ถึง แนวคิดของการสร้างหลักสูตรการเรียนและการสอน  เพื่อให้ทันกับกระแสของโลกในยุค Disruptive Technology

ห้องปฏิบัติการฝึกความพร้อมในทุกสาขาวิชา
นทุกสาขาของระดับปริญญาตรี ที่เปิดสอนถึง 11 หลักสูตร  อันได้แก่ สาขาการตลาด, การจัดการ, การบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ, คอมพิวเตอร์ธุรกิจ, การเงิน, การจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน, บัญชี ,เศรษฐศาสตร์ รวมทั้งหลักสูตรนานาชาติ (Marketing, International Business Administration, Business English) ที่นอกจากจะมีความโดดเด่นในด้านทฤษฎีแล้ว ยังเน้นการเรียนในภาคปฏิบัติที่มีชั่วโมงปฏิบัติมากถึง 60%  ซึ่งหมายความว่านักศึกษาจะได้ฝึกหัดทดลองใช้เครื่องมือจริงจากห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างทักษะให้นักศึกษามีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือตามสายงานและสาขาทางวิชาการ”   ผศ.ดร.นาถรพี  กล่าว

ทั้งนี้  ผศ.ดร นาถรพี ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า “ โดยเฉพาะห้องปฏิบัติการจำลองสถานการณ์ด้านโลจิสติกส์ (Logistics Simulation LAB) เป็นห้องปฏิบัติการเรียนรู้เพื่อสร้างโมเดลจำลองหลากหลายรูปแบบเพื่อช่วยในการวิเคราะห์และวัดผลการทำงานที่เกิดขึ้นให้มีประสิทธิภาพมากสุด เห็นถึงผลดี – ผลเสียเพื่อให้ได้ทางเลือกที่ดีที่สุดก่อนลงมือปฏิบัติจริง เช่น ส่วนงานคลังสินค้า สามารถสร้างโมเดลที่เกี่ยวข้องกับการขนย้าย (Material Handling) ภายในคลังสินค้า หรือในส่วนการขนส่ง สามารถสร้างโมเดล ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้า และปรับเปลี่ยนเส้นทางการขนส่งเพื่อหาต้นทุนการขนส่ง”

หลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนนี้นักศึกษาจะมีโอกาสเรียนรู้การปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการจากการฝึกงานในภาคฤดูร้อน การฝึกสหกิจศึกษา 1 ภาคเรียน รวมไปถึงการทำโครงงานเพื่อแก้ปัญหาจริงจากสถานประกอบการกรณีศึกษา และมีหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ที่ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ให้จัดทำการเรียนการสอนเพื่อตอบโจทย์นโยบายการผลิตและพัฒนากำลังคนและสร้างความสามารถในการแข่งขัน รองรับอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ที่มีการฝึกปฏิบัติงานจริงมากกว่าหลักสูตรอื่นๆ

ขณะเดียวกันมีห้องปฏิบัติการทรัพยากรมนุษย์ที่มีโปรแกรม My HR รวมถึงการพัฒนาด้านภาษาอังกฤษ มีการพัฒนาซอฟท์แวร์ดิสคัฟเวอรี่ต่างๆ เพิ่มขึ้นจากที่มีห้องปฏิบัติการโปรแกรม SAP (SAP Room) และห้องปฏิบัติการวิเคราะห์หุ้น ในสาขาการตลาด การจัดการ การบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ  โดย ผศ.ดร.นาถรพี  ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในประเด็นนี้ว่า

“ เพราะเรามีเป้าหมายว่านักศึกษาของ คณะบริหารธุรกิจ  มทร. ธัญบุรี ต้องสามารถที่จะปฏิบัติได้จริง”

สำหรับการพัฒนาหลักสูตรของคณะฯ ตอนนี้มีการปรับทิศทางเพื่อสนับสนุนและเน้นการสร้างผู้ประกอบการ เพื่อรองรับนักศึกษาที่มุ่งการเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น โดยขั้นตอนของการส่งเสริมนั้น นักศึกษาทุกชั้นปีจะได้รับการฝึกและปฏิบัติการเป็นผู้ประกอบการอย่างแท้จริง โดยให้นักศึกษาฝึกงานสหกิจ (Internship) ในต่างประเทศ โดยการฝึกภาคปฏิบัตินี้ เพื่อให้มีความรู้และความพร้อมที่จะเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงมีการเพิ่มเนื้อหาวิชาทางด้านอีคอมเมิร์ซเข้าไปในทุก ๆ หลักสูตรอีกด้วย

“คณะผู้บริหารให้นโยบายถึงการปรับหลักสูตรเรื่องการเตรียมความพร้อมเป็นผู้ประกอบการให้กับนักศึกษาที่เข้ามาเตรียมความพร้อมเลย เป็นหลักสูตรที่นักศึกษาทุกคนจะได้เรียน  จากนั้นนักศึกษาที่สนใจเป็นผู้ประกอบการอย่างแท้จริง ทางคณะฯ จะมีกระบวนการสนับสนุนตามขั้นตอนของการเป็นผู้ประกอบการต่อไป” ผศ.ดร นาถรพี กล่าว

 

 

2 กองทุนเปิดโลกทัศน์เรียนและฝึกงานในต่างประเทศ

ในภาคการปฏิบัติ  คณะบริหารธุรกิจ มทร.ธัญบุรี ยังเน้นให้นักศึกษาได้มีโอกาสไปฝึกงานในต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นอีกรูปแบบที่สำคัญของการเรียนการสอนของที่นี่ โดย  ผศ. ดร. นาถรพี กล่าวและให้รายละเอียดในเรื่องของทุนต่างประเทศว่า มี 2 ทุน คือ กองทุนสหกิจ (กองทุนส่งเสริมประสบการณ์วิชาชีพ) ที่ให้ทุนสนับสนุนนักศึกษาฝึกงานในต่างประเทศคนละ 50,000 บาท โดยปีนี้ได้สนับสนุนการปฏิบัติงานสหกิจศึกษาในต่างประเทศในทุกภาคการศึกษา เช่น การปฏิบัติงานในโรงแรม Hotel- Restaurant Zum Reussenstein ประเทศเยอรมนี รวมทั้งการปฏิบัติงานด้าน E-Commerce และ Logistic กับบริษัทขนาดใหญ่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน  ซึ่งนักศึกษาสามารถนำทักษะที่ได้ มาใช้ในการปฏิบัติงาน และต่อยอดเป็น Startup ของตนเองได้

นอกเหนือจากการฝึกประสบการณ์วิชาชีพในสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว คณะบริหารธุรกิจได้ลงนามความร่วมมือทางด้านวิชาการกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในสาธารณรัฐประชาชนจีน เช่น University of Electronic Science and Technology of China เมืองเฉิงตู  Wuhan University และ Huazhong University of Science and Technology เมืองอู่ฮั่น เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการด้านการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ การตลาด ระบบการขนส่งและ Logistic การทำวิจัยและแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษา และพัฒนาหลักสูตรร่วมกันในอนาคต

ผศ. ดร นาถรพี  ได้เผยถึงแนวทางที่คณะฯ มุ่งมั่นที่จะแนะนำให้นักศึกษามองเห็นถึงโอกาสและประโยชน์ที่ได้จากการไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพในต่างประเทศ ซึ่งเป็นการเปิดประสบการณ์จริงให้นักศึกษา แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องสอบภาษาอังกฤษให้ผ่าน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ทางคณาจารย์ได้ไปเยี่ยมนักศึกษาที่ฝึกงานอยู่ในแหล่งค้าส่งประเทศจีน ที่พบว่าวันนี้มีความก้าวหน้ามาก  นักศึกษาไปฝึกงานในระยะเวลา 2 เดือน แต่มีมุมมองที่กว้างขึ้น บ้างก็วางแผนจะกลับมาทำธุรกิจ เพราะรู้และเห็นในกระบวนการจริง ตั้งแต่เริ่มฝึกการทำเว็บไซต์

นอกจากนี้ทางคณะฯยังมีโครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยทั่วโลกแบบ Credit Transfer เป็นระยะเวลา 1 ภาคการศึกษา  ซึ่งคนที่จะได้รับทุนต้องผ่านเกณฑ์กองทุนพัฒนานักศึกษา มีระดับคะแนนเฉลี่ยและคะแนนมาตรฐานภาษาอังกฤษ (TOEIC) ตามที่กำหนด  ซึ่งจะให้ทุน  2  หมื่นบาทต่อคน เพื่อเดินทางไปศึกษาในประเทศต่างๆ  โดยปีนี้มีไปในหลายประเทศ อาทิเช่น University of Wurzburg ประเทศเยอรมัน National Pintung University ประเทศไต้หวัน   

ทั้งนี้ ทางคณะฯ ยังขยายเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและองค์กรเอกชนต่างๆ ในประเทศอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้นักศึกษาได้เดินทางไปต่างประเทศ เพื่อให้ได้เห็นโลกที่กว้างขึ้น และเมื่อกลับมาจากฝึกงานแล้ว Mindset ของนักศึกษามักจะเปลี่ยนไป  ซึ่งในขณะเดียวกันยังได้รับการเสริมศักยภาพในเรื่องของภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาอย่างแน่นอนในอนาคตการทำงาน

ปริญญาโท

ผศ.ดร นาถรพี   ยังได้เผยถึงการศึกษาในระดับปริญญาโทนั้น ทางคณะได้มีการปรับปรุงเนื้อหาในแต่ละรายวิชาใหม่เพื่อให้มีความทันสมัยและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างรวดเร็วของโลกยุคปัจจุบัน โดยในปีที่ผ่านมา มีการปรับหลักสูตรเพื่อรองรับ Disruptive Technology มีการเปิดสาขาโลจิสติกส์ที่เป็นภาคอุตสาหกรรมสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ นอกจากนั้นยังมีการเสริมความรู้ทางด้าน  Marketing Technology และ Digital Marketing ควบคู่ไปกับศาสตร์ทางด้านการตลาด มีเสริมความรู้ด้าน Change Management การเป็น Change Agent และนวัตกรรมทางการจัดการ และการเงิน

หลักสูตรของเราเน้นการสร้างให้นักศึกษามีความสามารถในการบริหารจัดการโดยมีความรู้ครอบคลุมศาสตร์ทางด้านบริหารธุรกิจอย่างครบถ้วน ควบคู่ไปกับการพัฒนา Soft Skill ของนักศึกษา ซึ่งต้องมองว่าความต้องการของผู้เรียนในทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต จึงต้องปรับหลักสูตรให้ผู้เรียนได้ศึกษาผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง มีการเชิญวิทยากรจากภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานชั้นนำของประเทศ  และยังมีการเสริมวิชาโครงการระหว่างประเทศที่มีอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมานักศึกษาของเราได้มีโอกาสไปดูงานที่องค์กรชั้นนำระดับโลก เช่น โรงงานโรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) ในประเทศอังกฤษ และได้มีโอกาสเข้าฟังบรรยายทางด้านการบริหารเชิงกลยุทธ์ใน University of  Derby ที่มีชื่อเสียง ซึ่งในปีหน้าหลักสูตรของเราวางแผนที่จะนำนักศึกษาไปดูงานโลจิสติกส์ที่ประเทศเยอรมนี”

การส่งนักเรียนไปฝึกงานในต่างประเทศ นอกจากอินเตอร์โปรเจคส์แล้ว ทางคณะบริหารธุรกิจ มทร.ธัญญบุรี ยังมีความร่วมมือกับ  Auckland University of Technology (AUT) ประเทศนิวซีแลนด์ ในการเปิดหลักสูตรการอบรมภาษาอังกฤษเพื่อการเตรียมตัวไปศึกษาต่อ ณ ประเทศนิวซีแลนด์  โดยเป็นการต่อยอดจากหลักสูตรภาษาอังกฤษที่ได้ริเริ่มเอาไว้  ซึ่งมีโครงการที่จะขยายต่อไปในประเทศเยอรมันและจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโต เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาที่สูงสุด

 

 

หลักสูตรรองรับเทคโนโลยี 5 G

เมื่อกล่าวถึงการปรับหลักสูตรเพื่อรองรับเทคโนโลยี 5 G  ผศ.ดร นาถรพี  เผยถึงเรื่องนี้ว่า “ เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การสอนเราจึงต้องตอบโจทย์ Lifelong Learning    ซึ่งโดยความเห็นคิดว่า ในอนาคตการศึกษาอาจไม่จำเป็นต้องเรียนในห้องเรียนเสมอไป  ซึ่งเรากำลังจะมีหลักสูตรออนไลน์ทั้งระดับปริญญาตรีและโท เพื่อรองรับคนที่ทำงานด้วยเครดิตแบงก์เทียบโอนประสบการณ์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการนำร่อง คาดว่าจะเริ่มได้ในปี 2563 มีภาคเอกชนที่ให้ความสนใจค่อนข้างมาก เพราะตอบโจทย์คนยุคใหม่เป็นอย่างดี เพื่อให้คนได้สามารถพัฒนาตนเอง บริหารเวลาได้ง่าย และสร้างความมั่นใจว่าการเรียนรู้สามารถทำได้ตลอดชีวิต”

การเทียบโอนประสบการณ์หรือที่เรียกว่า เครดิตแบงก์นั้น จะมีมาตรฐานในการคัดกรอง โดยนำประสบการณ์การอบรม หลักสูตรต่างๆที่ผ่านมา โดยนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาเพื่อการเทียบโอน ซึ่งการเทียบโอนจะสามารถให้หน่วยกิตได้โดยไม่ต้องมีการเรียน ซึ่งการเทียบโอนประสบการณ์หรือเครดิตแบงก์ เป็นวิธีการที่ตอบโจทย์คนที่อยู่ในระบบการทำงาน ซึ่งในอดีตไม่มีโอกาสศึกษาต่อ ในบางกรณีอาจจะแค่ต้องการปริญญา แต่ในบางกรณีเมื่อเทียบโอนก็มาศึกษาต่อเพิ่มเติมกับทางสถาบัน

 สำหรับระดับปริญญาตรีมีวิชาหลักการจัดการและองค์การ การบริหารทรัพยากรมนุษย์  ขณะที่ในระดับปริญญาโท เราจะมี  3 วิชาหลักๆคือ การจัดการเชิงกลยุทธ์สำหรับผู้บริหาร พฤติกรรมองค์การสมัยใหม่ และการจัดการตลาดสำหรับผู้บริหาร และในส่วนของปริญญาเอกนั้น ส่วนใหญ่คนที่มาเรียนจะมีทั้งภาคเอกชนและนักวิชาการ จึงเป็นการมองเรื่องของการสร้างองค์ความรู้และทฤษฎีใหม่ๆ รวมไปถึงเรื่องเชิงวิชาการ อย่างไรก็ตามงานวิจัยในวันนี้ก็ต้องเน้นในเรื่องของการตอบโจทย์ของประเทศชาติเป็นหลัก

ผศ. ดร. นาถรพี   ได้กล่าวสรุปในท้ายที่สุดว่า ด้วยบทพิสูจน์ของจุดยืนที่กล่าวมา ทำให้เราสามารถอยู่มายาวนานกว่า 42 ปี  ภายใต้แนวทางการจัดการเรียนการสอนเปิดแยกตามสาขาวิชา ทำให้นักศึกษาสามารถได้เรียนตามสาขาวิชาที่ต้องการ  โดยทางคณะฯมีคณาจารย์รองรับกับหลักสูตรนับ 100 ท่าน  ซึ่งเป็นบุคลากรที่ได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถอยู่ตลอดเวลา อย่างล่าสุด ทางคณะฯได้จัดส่งบุคลากรไปศึกษาดูงานฟินแลนด์โมเดล ซึ่งเป็นโมเดลการศึกษาที่ได้รับการจัดอันดับและยอมรับว่าเป็นอันดับหนึ่งของโลก เป็นต้น

เหล่านี้ถือเป็นจุดเด่นของเรา ที่กล่าวได้ว่า เมื่อเข้ามาแล้ว เป็นหน้าที่ของเราในการปั้นเด็กให้ประสบความสำเร็จ ออกจากรั้วการศึกษาของคณะบริหาร (มทร.) ธัญบุรี ไปสู่โลกใบกว้างสำหรับการทำงานได้อย่างมีคุณภาพ

บริษัทฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี เปิดตัว Global Campaign “NEVER STOP” ตอกย้ำสร้าง Branding ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในการเติบโตทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ดั่งสโลแกน “FUJIFLIM Value from Innovation” โดยการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างไม่หยุดยั้งไม่มีเพียงกลุ่มสินค้าทางด้านการถ่ายภาพเท่านั้น ยังรวมไปถึงกลุ่มสินค้าทางด้านการดูแลสุขภาพและเครื่องมือทางการแพทย์ (Medical System) โดยการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างไม่หยุดยั้งเพื่อมารองรับความต้องการของผู้บริโภคครอบคลุมทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น

 

 

โดยเฉพาะงาน Photo Fair 2018 งานแฟร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการถ่ายภาพ สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ทางด้านกล้องดิจิตอล โดยทำการเปิดตัว กล้องFUJIFILM GFX50R กล้อง Medium Format ภายใต้ Concept Passion Never Stop อีกกลุ่มหนึ่งผลิตภัณฑ์ไฮไลท์คือ Instax BNK48 Limited Edition โดยมีสมาชิก BNK48 ทั้ง11 คน ร่วมเป็นBrand Ambassador พร้อมด้วย กล้อง Hybrid Instax SQUARE SQ20 สามารถ่ายภาพเคลื่อนไหวเป็นครั้งแรกในกล้องอินแสตนท์ นอกจากนี้ ฟูจิฟิล์มยังประกาศเป็นผู้นำทางด้านพริ้นท์ติ้ง ขยายธุรกิจการปรับเปลี่ยนร้านแล็บสีในรูปแบบใหม่ชื่อ “ฟูจิฟิล์ม โฟโต้สเตชั่น” หรือ FPS เป็นแฟลกชิพสโตร์ต้นแบบของร้านแล็บสีที่ถูกพัฒนาให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ายุคดิจิตอล ปิดท้ายด้วยแคมเปญ ฟูจิฟิล์มฉลองครบรอบ 30 ปีในประเทศไทย ในปีหน้านี้จัดนิทรรศการภาพถ่ายครั้งยิ่งใหญ่สุดในเมืองไทย Photo Exhibition “Power of Print” ปรากฏการณ์ครั้งแรกที่ภาพถ่ายของคุณจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในนิทรรศการที่สร้างพลังครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดทั้งหมดนี้จะนำมาจัดแสดงในงาน Photo Fair2018 ภายใต้ concept “Never Stop”

 

 

มร.ชิโตมุ วาตะนาเบ้ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ฟูจิฟิล์มเปิดตัวGlobal Campaign “NEVER STOP” หัวใจหลักแคมเปญนี้คือการตอกย้ำสร้าง Branding ของฟูจิฟิล์มให้ดูแข็งแกร่งยิ่งขึ้นในการเติบโตทุกกลุ่มธุรกิจของฟูจิฟิล์ม โดยการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง ไม่เพียงกลุ่มสินค้าทางด้านการถ่ายภาพเท่านั้น ยังรวมไปถึงกลุ่มสินค้าทางด้านการดูแลสุขภาพ (Health Care) และเครื่องมือทางการแพทย์ (Medical System) โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อตอกย้ำแสดงให้เห็นว่าฟูจิฟิล์ม มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรม และพัฒนาเทคโนโลยีอย่างไม่หยุดยั้ง ดั่งสโลแกน “FUJIFILM Value from Innovation”

 

 

และในโอกาสที่ ฟูจิฟิล์มฉลองครบรอบ 30 ปี ในปีหน้านี้เราได้จัดแคมเปญ นิทรรศการถ่ายภาพที่ใหญ่ที่สุดและเป็นครั้งแรกในประเทศไทย Photo Exhibition ภายใต้แนวคิด “Power of Print” ให้รูปมีความหมาย เป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกที่ภาพถ่ายของคุณจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในนิทรรศการที่สร้างพลังครั้งยิ่งใหญ่สุด เพื่อสะท้อนภาพถ่ายที่สัมผัสได้ถึงพลัง และยังคงเป็นการสร้างแรงบันดาลใจถึงคุณค่าของการบันทึกความทรงจำผ่านภาพถ่าย ในแคมเปญนี้ เราได้ Brand Ambassador คือ คุณแป้งโกะ จินตนัดดา ลัมมะกานนท์ นักร้อง นักแสดงมาร่วมส่งภาพที่มีพลังในนิทรรศการครั้งนี้ เพียงนำรูปถ่ายที่คุณชื่นชอบที่สื่อถึงพลัง Power of Printที่ถ่ายด้วยกล้องดิจิตอลยี่ห้ออะไรก็ได้ กล้อง Instaxหรือภาพจากมือถือ นำภาพไปพริ้นท์ลงบนกระดาษสีฟูจิฟิล์ม ขนาด 8x10 นิ้ว และ 8x12 นิ้วที่ร้าน Wonder Photo Shop, FUJIFLIM Photo Station หรือร้านอัดภาพที่ร่วมรายการภาพของคุณเป็น 1 ใน 5,000 ภาพกับนิทรรศการครั้งนี้ เปิดรับภาพตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 – 13 มกราคม 2562 จัดแสดงภาพถ่าย Photo Exhibition “Power of Print” จะจัดขึ้นในวันที่ 21-24 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ นายวาตานะเบ้ กล่าว

 

 

ฟูจิฟิล์มไม่เคยหยุดยั้งในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนในยุคปัจจุบัน ภายใต้แนวคิดNever Stopยืนยันในความเป็นผู้นำที่ไม่เคยหยุดยั้งตลอดเวลา

บริษัท เชสเตอร์ฟู้ด จำกัด โดยผู้บริหารและพนักงานเชสเตอร์จิตอาสา 120 คน จัดกิจกรรมมอบความสุขและสร้างกำลังใจให้แก่ผู้สูงอายุ มูลนิธิธารนุเคราะห์ สถานพักฟื้นคนชราบางเขน ในโครงการ "เชสเตอร์ ปันรัก ปันน้ำใจ" ปีที่ 6 โดยกิจกรรมประกอบด้วย การจัดเลี้ยงอาหารกลางวัน กิจกรรมสันทนาการร่วมกับผู้สูงอายุ และการปรับทัศนียภาพในสถานพักฟื้นฯ พร้อมมอบสิ่งของอุปโภคบริโภค และเงินบริจาค มูลค่ารวม 80,000 บาท ที่ได้จากการร่วมสมทบทุนของ ผู้บริหาร พนักงาน และลูกค้าเชสเตอร์ ให้แก่มูลนิธิฯได้ใช้ประโยชน์ต่อไป

 

 

นายธิติธัช ไกรเกรียงศรี ผู้ช่วยผู้จัดการมูลนิธิธารนุเคราะห์ สถานพักฟื้นคนชราบางเขน กล่าวว่า มูลนิธิฯ ก่อตั้งขึ้นโดย นาย ยก ตั้งตรงศักดิ์ นักธุรกิจและนักสังคมสงเคราะห์ เพื่อให้ความช่วยเหลือและอุปการะคนชรายากไร้และด้อยโอกาสที่ไม่มีผู้เลี้ยงดู ตั้งแต่ปี 2516 ซึ่งปัจจุบันมูลนิธิฯ ได้ให้การอุปการะคนชราชายอยู่ 65 คน จึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับน้ำใจจากจิตอาสาเชสเตอร์ ร่วมกันเลี้ยงอาหารกลางวัน จัดกิจกรรมสันทนาการ และมอบเงินพร้อมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น แก่มูลนิธิฯ ให้สามารถดูแลผู้สูงวัยที่อยู่ในมูลนิธิฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ประชากรผู้สูงวัยต้องการความเอาใจใส่ด้วยความรักจากลูกหลาน ดังนั้น การที่จิตอาสาเชสเตอร์เข้ามาจัดกิจกรรมในวันนี้ ช่วยสร้างรอยยิ้ม ความสุข ความอบอุ่น กับคนชราในสถานพักฟื้นฯ แห่งนี้ ให้ได้มีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดี และมีกำลังใจพร้อมดำเนินชีวิตในช่วงบั้นปลายได้ต่อไป” นายวิสุทธิ์กล่าว

 

 

นางรุ่งทิพย์ พรหมชาติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านปฏิบัติการ บริษัท เชสเตอร์ฟู้ด จำกัด ธุรกิจร้านอาหารเชสเตอร์ ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า เชสเตอร์ จัดกิจกรรม “เชสเตอร์ ปันรัก ปันน้ำใจ” เป็นประจำทุกปี ต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 6 เป็นความตั้งใจของเชสเตอร์ฟู้ดที่จะสร้างการมีส่วนร่วม ระหว่างผู้บริหาร พนักงาน และกลุ่มลูกค้าให้ได้ทำกิจกรรมแบ่งปันน้ำใจแก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม ปีละ 2 ครั้ง โดยในปีนี้กิจกรรมครั้งแรกจัดขึ้นที่สถานแรกรับเด็กชายปากเกร็ด (บ้านภูมิเวท) นนทบุรี และวันนี้เป็นกิจกรรมครั้งที่ 2 ที่เชสเตอร์นำเงินรับบริจาคจากผู้บริหารและเพื่อนพนักงานชาวเชสเตอร์ฟู้ด รวมถึงกลุ่มลูกค้าที่ร่วมสมทบทุนผ่านกล่องรับบริจาคที่ร้านเชสเตอร์ 200 สาขาทั่วประเทศ มามอบให้สถานพักฟื้นคนชราบางเขน สำหรับการดูแลคนชราและทำกิจกรรมต่างๆ ต่อไป

 

 

“เชสเตอร์ส่งเสริมให้ผู้บริหารและพนักงานเชสเตอร์มีจิตสาธารณะ มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเพิ่มความสุขให้กับคนในชุมชน ตอกย้ำการเป็นองค์กรที่มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม โดยในปีหน้า เชสเตอร์ยังคงจัดกิจกรรม “เชสเตอร์ ปันรัก ปันน้ำใจ” อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะปรับเปลี่ยนไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบอื่นๆ เพื่อขยายโอกาสให้ชาวเชสเตอร์จิตอาสาสร้างความสุขให้กับชุมชนได้เพิ่มขึ้น” นางรุ่งทิพย์กล่าว./

“คุณเชื่อในรักแรกพบ และรู้สึกเหมือนว่ามันอยู่กับเราตลอดไปไหม” เพราะการทำงานออกแบบก็เช่นเดียวกับความรัก เมื่อคุณพบสินค้าที่ผ่านการออกแบบมาอย่างดี คุณจะรู้สึกตกหลุมรักและอยากใช้สินค้านั้นขึ้นมาทันที

เมื่อเร็วๆ นี้ ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี ได้จัดงาน “Design Talks 2018” กิจกรรมสัมมนาเสริมการเรียนรู้และเพิ่มประสบการณ์ด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ให้กับนักออกแบบและผู้ที่สนใจมาอย่างต่อเนื่องในทุกปี โดยครั้งที่ 4 นี้ ได้รับเกียรติจาก คุณปุ้ม (Ms.Pum Lefebure) นักออกแบบไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Design Army บริษัทออกแบบที่มีชื่อเสียงในวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐฯ อเมริกา และมีผลงานออกแบบให้กับแบรนด์ระดับโลกมาแล้วมากมาย อาทิ Academy Awards, Adobe, GE และ Disney เป็นต้น รวมทั้งได้รับการยกย่องจาก Washington Business Journal ให้เป็นนักธุรกิจหญิงที่น่าจับตามอง และเป็นหนึ่งใน Adweek’s Creative 100 ในปี 2016 มาร่วมถ่ายทอดวิธีคิดและกระบวนการออกแบบ ที่เป็นเบื้องหลังแห่งความสำเร็จของแบรนด์สินค้า ผ่านมุมมองและประสบการณ์ตรง ณ เอสซีจี สำนักงานใหญ่ บางซื่อ

 

 

“I am not a Designer. I am a Seducer” คือคำจำกัดความใหม่ของอาชีพนักออกแบบที่คุณปุ้มได้ให้ไว้อย่างน่าสนใจ ก่อนจะชวนให้ทุกคนคิดต่อว่า ถ้าอยากจะให้คนตกหลุมรักแบรนด์หรือสินค้าสักชิ้นต้องทำอย่างไรบ้าง ในยุคที่ความสวยงามอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเพียงอย่างเดียว เหล่านักออกแบบรุ่นใหม่ต้องมีความคิดและวางแผนเพื่อสร้างเสน่ห์ให้กับโจทย์ที่เราได้รับ เพราะเสน่ห์ไม่เพียงแต่จะทำให้งานออกมาโดดเด่นเท่านั้น แต่ยังเป็นการยกระดับคุณค่าของตัวนักออกแบบเองด้วย

โดยหลัก 3 ข้อที่หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Design Army ใช้สร้างสรรค์งานมาโดยตลอดคือ เกี้ยวพาราสี (Flirt) ความดื่มด่ำ (Romance) และยั่วยวน (Seduce) ซึ่งคุณปุ้มเปรียบเทียบกับขั้นตอนการเดต โดยเริ่มจากการกวาดตามองหาบุคคลที่เราสนใจศึกษาความชอบของเป้าหมาย และวิธีการเข้าหา จากนั้นจึงเข้าไปแนะนำตัวทำความรู้จักตามวิธีที่เหมาะสม ก่อนจะโปรยเสน่ห์ในแบบที่คาดไม่ถึง ด้วยหลักการเหล่านี้ก็จะทำให้บุคคลนั้นหันมาสนใจและตกหลุมรักคุณได้

 

 

และเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น คุณปุ้มได้หยิบเอาผลงานก่อนหน้านี้มายกตัวอย่างให้เห็นความสำคัญของเสน่ห์แห่งการสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนบัลเลต์ที่ดูเป็นศิลปะเฉพาะกลุ่มให้กลายเป็นศิลปะร่วมสมัย ด้วยการถ่ายภาพนางแบบและนายแบบใส่เสื้อผ้าที่ดูสปอร์ตและทันสมัย ภายใต้แรงบันดาลใจจากแลนด์มาร์คในแต่ละประเทศ หรือการทำให้บริษัทแว่นตาที่ไม่น่าสนใจกลายเป็นแบรนด์ที่ดูทันสมัยมากขึ้น จากโฆษณาที่เล่าเรื่องราวจากรุ่นสู่รุ่นที่ส่งต่อความรักในเรื่องแว่นตาอย่างมีสไตล์ รวมไปถึงตัวอย่างการแก้ปัญหาช็อกโกแลตที่ขายไม่ดีในช่วงหน้าร้อน โดยนำความรู้สึกที่ผู้คนมีต่อพรรคการเมืองในประเทศ มาเปรียบเป็นรสชาติต่างๆ ของทางแบรนด์ พร้อมออกแบบแพคเกจจิ้งจากสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงกัน
ส่งผลให้ช็อกโกแลตซีรี่ส์การเมืองที่เธอออกแบบมียอดขายสูงขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า

อีกเคล็ดลับที่คุณปุ้มได้เล่าให้ฟัง คือ อยากให้นักออกแบบได้ลองร่างแบบ (Sketch) ด้วยมือ แทนการใช้เฉพาะเทคโนโลยีอย่างคอมพิวเตอร์ โดยให้เหตุผลว่า หากไม่ลองวาดหรือเขียนลงไปจริงๆ เราจะไม่สามารถเห็นภาพที่จะเกิดขึ้นได้เลย และนั่นจะทำให้การทำงานยากทั้งกับตัวเองและการอธิบายคนอื่นต่อด้วย นอกจากนี้การร่างแบบด้วยมือยังเป็นสไตล์ส่วนตัวที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบกันได้ เพราะน้ำหนักมือของแต่ละคนไม่เท่ากัน จึงเป็นอีกเสน่ห์ที่จะสร้างความพิเศษให้กับงานได้

 

 

ตลอดการสัมมนาเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะและสร้างความประทับใจให้แก่ผู้เข้าร่วมงานกว่า 300 คนได้เป็นอย่างดี ภายใต้ความมุ่งมั่นตั้งใจของเอสซีจี ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจสู่ความสำเร็จ พร้อมผลักดันพัฒนาวงการออกแบบของไทย และช่วยยกระดับอุตสาหกรรมของบรรจุภัณฑ์ให้เติบโตและยั่งยืนต่อไป ทั้งในประเทศไทยจนก้าวไปสู่ระดับโลก

ก่อนจะจบการสัมมนาในครั้งนี้ คุณปุ้ม (Ms.Pum Lefebure) ได้ฝากข้อคิดไว้ให้กับนักออกแบบรุ่นใหม่ว่า “การออกแบบให้ตอบโจทย์แบรนด์ได้ดีนั้น สิ่งสำคัญมากกว่าแค่การออกแบบให้สวยงาม คือ ทัศนคติ และความเข้าใจในธุรกิจนั้นๆ ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกด้วยใจ ให้ลูกค้าสัมผัสและตกหลุมรักด้วยการมองเห็น พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง และไม่ว่าจะทำอะไร หาตัวเองให้เจอว่าอยากเป็นอะไร จากนั้นก็พาตัวเองไปสู่พื้นที่ที่คุณจะได้แสดงฝีมือ”

รศ.นพ.ทวีกิจ นิ่มวรพันธ์ (ที่ 3 จากขวา) รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี รับมอบเงินรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย จำนวน 250,000 บาท จากการจัดกิจกรรม เดิน-วิ่ง การกุศล CPF BANGNA CHARITY RUN 2018 ที่จัดโดยชมรม ซีพีเอฟ รันนิ่ง คลับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เพื่อสมทบทุนซื้ออุปกรณ์เครื่องมือแพทย์แก่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี นายนิธิพงศ์ นงค์นาค (ที่ 3 จากซ้าย) ผู้จัดการทั่วไป โรงงานผลิตอาหารสัตว์บกบางนา กม.21 ซีพีเอฟ พร้อมทีมงาน เข้ามอบ ณ มูลนิธิรามาธิบดี/.

นายปิติ ตัณฑเกษม ในฐานะประธานกรรมการ มูลนิธิทีเอ็มบี รับมอบเงินสนับสนุนมูลค่ากว่า 1.4 ล้านบาท จากนายพิพัฒน์ พิศณุวงรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายจัดการลงทุน บริษัท หลักทรัพย์จัดการทหารไทย (TMBAM) ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในโครงการไฟ-ฟ้า เพื่อจุดประกายเยาวชนและชุมชน โดยเงินสนับสนุนดังกล่าวมาจาก 10% ของค่าบริหารจัดการ (Management Fee) กองทุนรวมหุ้น ทีเอ็มบีธรรมมาภิบาลไทย โดยรับมอบในงาน “ เด็กธรรมดา คือสิ่งที่สวยงาม” ณ ทีเอ็มบี สำนักงานใหญ่ ถนนพหลโยธิน

Page 2 of 7
X

Right Click

No right click