January 22, 2025

Episode 02 | ค่าของคน-คุณราคาเท่าไร? และ จะวัดความสุขสันต์หรรษาได้อย่างไร?

October 17, 2019 9209

ค่าของคน – คุณราคาเท่าไหร่? || Episode 02 Part 1

ปัจจุบันนี้ การแสดงเหตุผลแบบอิงประโยชน์ หรือเหตุผลชนิดที่ “ผลดี-อย่างใหญ่สุด แก่คน-จำนวนมากสุด” ตามความคิดอาจารย์เจอเรมี เบ็นแธม ในชีวิตจริงนั้น ถูกนำมาใช้ประเมินความคุ้มค่าของโครงการการลงทุน และประเมินความควร/ไม่ควร ในอันที่จะลงมือกระทำกิจกรรมใด ๆ ทั้งในบริษัทเอกชน และหน่วยงานราชการ ตลอดจนใช้เพื่อการตัดสินใจในชีวิตประจำวัน ของเราท่านทั้งหลาย ทั้งนี้โดยเปรียบเทียบ ค่าใช้จ่าย ของกิจการนั้น กับ ประโยชน์ที่จะได้รับ จากกิจกรรมนั้น หรือบางท่านเรียกเป็นภาษาไทย ว่า “การวิเคราะห์ความคุ้มค่า”

บริษัทบุหรี่ ฟิลลิป มอริส วิเคราะห์ความคุ้มค่าของการสูบบุหรี่ ให้กับประเทศสาธารณรัฐเช็ค ซึ่งสมัยหนึ่งมีคนสูบบุหรี่มาก บริษัทฟิลลิป มอริส ดำเนินธุรกิจมีผลกำไรอยู่ในประเทศนั้น ผลการศึกษาของ ฟิลลิป มอริส ได้ความว่า ประเทศสาธารณรัฐเช็คจะได้ประโยชน์จากการปล่อยให้ประชาชนสูบบุหรี่ เพราะว่า จะมีรายได้ภาษีบุหรี่ และคนจะตายไวขึ้น ทำให้ประหยัดค่ารักษาพยาบาล และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายดูแลคนแก่ (ข้อความนี้ อยู่ในวิดีโอ ที่เวลา 05:50 Episode 02)

อย่างไรก็ดี ศ.แซนเดลเล่าว่า ต่อมา บริษัทฟิลลิป มอริส ได้ออกมาขอโทษสาธารณชน เกี่ยวกับการศึกษาความคุ้มค่า ที่ใจดำและไร้จิตสำนึกเชิงมนุษยธรรมเรื่องนี้

ตัวอย่างการประเมินความคุ้มค่า มีชื่อเสียงอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่ ศ.แซนเดล ยกขึ้นมาสาธก ได้แก่ กรณีศึกษาความคุ้มค่าการออกแบบรถ ฟอร์ด ปินโต เพื่อให้ปลอดภัยขึ้น ซึ่งมีการตีค่าคนตายและบาดเจ็บ ออกมาเป็นตัวเงิน ผลการประเมินความคุ้มค่าระบุว่า ไม่คุ้มค่าที่บริษัทจะเพิ่มชิ้นส่วนเพื่อความปลอดภัย ไว้ในแบบรถยนต์ ผลการศึกษาถูกนำขึ้นมาแถลงในศาล เพราะผู้ได้รับความเสียหายจากการใช้รถยนต์ ฟอร์ด ปินโต ฟ้องคดี คณะลูกขุนรู้สึกสะท้อนใจต่อความใจดำ และไร้จิตสำนึก ของบริษัทฟอร์ด และได้ตัดสินคดี ให้บริษัทชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนมาก

ถึงแม้ การกำหนดราคาชีวิตมนุษย์จะมีปัญหายุ่งยาก กับมีข้อพิจารณาว่า จะเหมาะสมหรือไม่ แต่ ศ.แซนเดล ได้ถามนักศึกษาว่า โดยภาพรวมแล้วนักศึกษา

เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย กับแนวคิดศีลธรรมแบบ “ผลดีอย่างใหญ่สุด แก่คนจำนวนมากสุด” (GHGN = Greatest Happiness, for Greater Number of people) ผลการยกมือปรากฏว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ เห็นด้วย ส่วนนักศึกษาที่ ไม่เห็นด้วย เป็นคนส่วนน้อย ศ.แซนเดล ขอให้นักศึกษาฝ่ายข้างน้อย ซึ่งไม่เห็นด้วย ได้อภิปรายแสดงเหตุผลกันก่อน

ก่อนที่จะสรุปผลการแสดงเหตุผล ศ.แซนเดล ได้ยกตัวอย่าง เรื่องราวในยุคโรมัน ที่ชาวโรมันโยนคนคริสเตียน ให้สิงโตกิน ในสนามโคลีเซียม เพื่อจะได้ชมการต่อสู้มือเปล่า ระหว่างคนกับสิงโต เป็นรายการบันเทิงยอดนิยมในกรุงโรมยุคหนึ่ง ความทุกข์ทรมานของคนคริสเตียน ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยนิด เพราะศาสนาคริสต์เพิ่งจะเกิด ถ้าจะเทียบกับความสุขสนุกสนานของชาวโรมันที่เป็นคนส่วนใหญ่ คิดตามหลัก “ผลดีอย่างใหญ่สุด แก่คนจำนวนมากสุด” แล้ว การโยนคนคริสเตียนให้สิงโตกินในสนามโคลีเซียม ถือได้ว่า เป็นสิ่งที่ถูกที่ควรอันพึงทำ ถูกต้องตามครรลองของศิลธรรมทางแพ่ง แนวประโยชน์นิยม

สรุปฝ่ายค้าน ศ.แซนเดล สรุปว่า คำค้านแบ่งออกได้เป็นสองประเด็น คือ

1. ศิลธรรมประโยชน์นิยมที่ยึดถือ “ผลดีใหญ่สุด สำหรับคนมากสุด” นั้น ได้ให้ความเคารพต่อเสียงข้างน้อย พอหรือยัง? และได้มองข้าม “ขวัญ” หรือสิทธิพื้นฐานของปัจเจกชนแต่ละคน ไปหรือเปล่า? ว่า “ขวัญ” หรือสิทธิพื้นฐาน เป็นสิ่งที่กำเนิดติดมาคู่อยู่กับชีวิตทุกชีวิต

(อีกนัยหนึ่ง ผู้เขียนบทสรุปภาษาไทย ขออนุญาตยกตัวอย่างว่า ในประเทศไทย คนมุสลิมเป็นคนส่วนน้อย เพราะฉะนั้น เพื่อประโยชน์สุข และ “ผลดีใหญ่สุด สำหรับคนมากสุด” ซึ่งเป็นชาวพุทธ เราจะย่ำยีคนมุสลิมอย่างไร ก็จะดีไปหมด เช่น อุ้มฆ่าทนายความสมชาย เป็นต้น หรือในทางกลับกัน ในประเทศบังกลาเทศ คนพุทธเป็นคนส่วนน้อย อยู่กันแถวเมืองจิตตะกองเท่านั้น เพราะฉะนั้น เพื่อ “ผลดีใหญ่สุด สำหรับคนมากสุด” ซึ่งเป็นชาวมุสลิม เราจะกระทำอย่างไรกับคนพุทธ ก็จะดีทั้งนั้น เช่น (สมมติ) อุ้มฆ่าท่านทูต อรรณพ กุมาร จักกะมะ เอกอัครราชทูตบังคลาเทศคนปัจจุบัน ประจำประเทศพม่า เป็นต้น -- ซึ่งท่านเป็นคนพุทธ บังกลาเทศส่งคนพุทธมาเป็นทูตที่พม่า หากการยกตัวอย่าง กระทบกระเทือนความรู้สึกของท่านผู้อ่านท่านใด ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้)

2. ความทรงคุณค่า ของสิ่งทั้งหลายในโลกมนุษย์ทุก ๆ เรื่อง สามารถตีออกมาเป็นหน่วยเงินตรา เพื่อจะได้บวกรวมตัวเลข ไปออกยอดเป็น ผลดีอย่างใหญ่สุด ได้จริงหรือ?

เพื่อ สรุปให้กับฝ่ายสนับสนุน ศ.แซนเดล ยกตัวอย่างงานวิจัยด้านจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงชิ้นหนึ่ง ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในโลกตะวันตก เมื่อทศวรรษที่ 30 งานวิจัยชิ้นนั้นพยายามพิสูจน์ว่า คุณค่าทั้งหลายในโลกมนุษย์ทุกเรื่อง สามารถตีราคาออกมาได้เป็นหน่วยเงินตรา โดยผู้วิจัยได้สอบถามผู้ประสบภัยเศรษฐกิจวิบัติ ที่มาขอรับการสงเคราะห์ ว่าถ้าจะให้ทำกิจกรรมอันน่าสะอิดสะเอียน หรือเจ็บปวด ไม่น่าพึงปรารถนา ดังต่อไปนี้ เขาอยากได้เงินจำนวนเท่าใด จึงจะยอมทำ? เช่น 1) ดึงฟันหน้าให้หลุด หนึ่งซี่ 2) ตัดนิ้วเท้าก้อย หนึ่งนิ้ว 3) กินไส้เดือนตัวยาวที่ยังมีชีวิต หนึ่งตัว 4) ใช้ชีวิตที่ยังเหลือทั้งชีวิต ในไร่นาในมลรัฐแคนซัส - ซึ่งถือกันในสมัยนั้นว่า ล้าหลัง น่าเบื่อหน่าย 5) บีบคอแมวเรร่อนตัวหนึ่ง จนตายคามือ

ผลการสอบถามพบว่า ข้อ 4 จะต้องจ่ายเงินมากที่สุด รองลงมาคือ ข้อ 3 ฯลฯ

ผู้ทำการวิจัย ได้ข้อสรุปว่า กิเลสตัณหาความทะยานอยากทั้งปวงของมนุษย์ มีอยู่ ใน “ปริมาณหนึ่ง” มากน้อยต่างกันไป สังเกตดูเถิด คนเราไม่ได้รู้สึกอยากอะไร ในปริมาณความอยากที่เท่า ๆ กันเสมอไปทุกครั้ง ทุกกรณี หรือเหมือน ๆ กันทุกคน ก็ในเมื่อกิเลสตัณหาความทะยานอยากทั้งปวง มีอยู่ ในปริมาณหนึ่ง เพราะฉะนั้น ความอยากทั้งหลายนี้ ย่อมจะต้องวัดค่าออกมาได้ เพราะความที่มันมี “ปริมาณ” อยู่นั่นเอง

แต่ จริงหรือว่า ผลของงานวิจัยชิ้นนี้ สนับสนุนศีลธรรมแนวประโยชน์นิยม ที่ว่าคุณค่าและความมีราคาทั้งปวง สามารถตีออกมาได้ด้วยหน่วยวัด ที่เป็นเอกภาพเดียวกันทั่วไปหมดไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร เช่น หน่วยเงินตรา เป็นต้น เมื่อมีหน่วยวัดหน่วยเดียวกัน (หน่วยเงินตรา) ดังนั้น จึงสามารถนำมาบวกรวมกันได้ เพื่อหาผลดีอย่างใหญ่สุด แก่คนจำนวนมากที่สุด

หรือว่า การณ์กลับตรงกันข้าม คือพิจารณาอีกทางหนึ่ง สิ่งทรงคุณค่าและมีราคาทั้งหลายทั้งปวงในมนุษยโลกนั้น นอกจากจะหลากหลายแล้ว ยังผิดกันไกลและสถิตอยู่ในต่างมิติกัน จนเราไม่สามารถใช้หน่วยวัดค่า หน่วยเดียวกันวัดทุกอย่างได้อย่างมีเอกภาพ แต่ละเรื่องต่างก็มีหน่วยวัดจำเพาะเรื่องตน เช่น ระยะทาง--วัดด้วยหน่วยวัดเป็นกิโลเมตร แต่วัดน้ำหนัก--กลับใช้หน่วยกิโลกรัม เป็นต้น

โดยที่ หนึ่งกิโลเมตร ไม่ใช่ หนึ่งกิโลกรัม และ ไม่ใช่ หนึ่งกิโลวัตต์ และ ไม่ใช่ หนึ่งกิโลไบต์

ซึ่ง ก็ในเมื่อ เราไม่สามารถตีราคา สิ่งมีค่าทั้งหลายในสากลโลก ออกมาได้โดยใช้หน่วยวัดเดียวกันอย่างมีเอกภาพ แล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับปรัชญาประโยชน์นิยม? อันวางอยู่บนพื้นฐานเรื่องการรวมค่าผลดีนานาชนิดของนานาบุคคล มาบวกรวมเข้าด้วยกัน เพื่อหาผลดีอย่างใหญ่สุด มาเป็นตัวกำหนดศีลธรรม


จะวัดความสุขสันต์หรรษา ได้อย่างไร || Episode 02 Part 2

ประเด็นที่ศีลธรรมประโยชน์นิยม ที่ถูกวิจารณ์

1. ศิลธรรมประโยชน์นิยมซึ่งยึดถือ “ผลดีใหญ่สุด สำหรับคนมากสุด” นั้น ถูกวิจารณ์ว่า ได้ให้ความเคารพต่อเสียงข้างน้อย พอหรือยัง? ได้มองข้าม “ขวัญ” หรือ สิทธิพื้นฐานของปัจเจกชนแต่ละคน ไปหรือเปล่า? เข่นมองข้ามไปว่า “ขวัญ” หรือ สิทธิพื้นฐาน เป็นสิ่งที่กำเนิดติดตัวมา คู่อยู่กับชีวิตทุกชีวิต ไม่มีใครมีสิทธิล่วงละเมิดขวัญของใคร

2. ความชอบ หรือ ค่าของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกมนุษย์นั้น มีฐานะเท่า ๆ กัน และสามารถตีค่าออกมาด้วยหน่วยวัดหน่วยเดียวกัน เพื่อจะได้รวมตัวเลข มาออกยอดเป็น ผลดีอย่างใหญ่สุด ได้จริงหรือ? คำพูดฟันธงแบบประโยชน์นิยมที่ว่า ค่าของสิ่งต่าง ๆ มี “ศักดิ์” เท่ากัน ของอาจารย์เบ็นแธม กล่าวไว้ว่า ด้วยปริมาณเท่ากัน การเล่นหมากเก็บ หรือการอ่านบทกวี ต่างก็จรรโลงใจได้ทัดเทียมกัน”

    • เป็นไปได้หรือ ที่เราจะตีราคา ความทรงคุณค่าหรือความชอบทั้งหลาย ออกมาด้วยหน่วยวัดหน่วยเดียวกัน อย่างมีเอกภาพ เช่น หน่วยเงินตรา?
    • ความทรงคุณค่า หรือความชอบทุก ๆ ชนิด มี “ศักดิ์” เท่ากันหรือ? ความสุขของชาวโรมัน ที่โห่ร้อง ชมคนคริสเตียนถูกสิงโตฉีกกินอยู่สนามโคลีเซียม ไม่ได้เป็นความสุขที่มี “ศักดิ์” ติดลบหรือ? แล้วความสุขชนิดนั้นจะมี “ศักดิ์” เท่าเทียม กับ ความสุขหรือความรู้สึกดี อันเกิดจากการทำบุญตักบาตร-สำหรับคนพุทธ หรือทำบุญกับเด็กกำพร้า-สำหรับคนมุสลิม หรือไม่? (ตัวอย่างเกี่ยวกับพุทธ/มุสลิม ผู้เขียนบทสรุปยกขึ้นเอง ศ.แซนเดล ยกเฉพาะคริสเตียน)

เพื่อสาดความกระจ่างเข้าสู่ข้อปริศนา ศ.แซนเดล ได้แนะนำให้เรารู้จัก นักปรัชญาศีลธรรมประโยชน์นิยม คนสำคัญอีกผู้หนึ่ง คือ นายจอห์น สจวต มิลล์ บิดาของท่านผู้นี้เป็นศิษย์ของเจอเรมี เบ็นแธม

นายจอห์น สจวต มิลล์ พยายามจะปกป้องหลักปรัชญาศีลธรรมประโยชน์นิยม เพราะเขาถือว่าในทางปฏิบัติ แนวคิดนี้จะก่อให้ “เกิดผลดีใหญ่สุด ต่อคนจำนวนมากสุด” ถือเป็นกฎศีลธรรมสูงสุดแล้ว โดยที่เขาพยายามแสดงเหตุผลว่า หลักการนี้สอดคล้องกับการพิทักษ์สิทธิส่วนบุคคล และยังใจกว้างเปิดช่องให้สามารถแบ่งชนิดความสุขสันต์หรรษา ออกเป็น ขั้นเทพ กับ ขั้นเดรัจฉาน ได้ด้วย และสามารถพิสูจน์กันได้

ศ.แซนเดล ถามนักศึกษาว่า พิสูจน์ได้อย่างไร?

ซึ่งนักศึกษาก็ตอบถูกต้องตรงตามวาทะของ จอห์น สจวต มิลล์ ที่เขาพูดไว้ว่า “...ระหว่างความสุขสันต์หรรษาสองอย่าง ซึ่งผู้คนได้ลองลิ้มชิมกันมาแล้วทั้งสองอย่าง ถ้าอย่างหนึ่งเป็นที่ต้องใจของคนทั้งหมด หรือของคนเกือบทั้งหมด โดยวัดจากความรู้สึกสถานเดียว ไม่นำมาตรฐานใดเข้ามาเกี่ยวข้อง ฉะนี้แล้ว ประสบการณ์อย่างแรกนั้น ถือว่าเป็นความสุขสันต์หรรษา อันน่าปรารถนามากกว่าอย่างหลัง” –จอห์น สจวต มิลล์ หมายความว่า อย่างแรกเป็นขั้นเทพ อย่างหลังเป็นขั้นเดรัจฉาน

ศ.แซนเดล ทดสอบทฤษฎีดังกล่าวของ มิลล์ ในชั้นเรียน ด้วยการฉายคลิปวิดีโอ 3 คลิป นำมาจากรายการบันเทิง 3 ประเภท คือ 1) การแสดงเรื่องแฮมเลต ของ เชคสเปียร์ 2) รายการเรียลลิตี้ โชว์ “เฟียร์ แฟคเตอร์” และ 3) รายการการ์ตูน “เดอะ ซิมสันส์”

หลังจากนั้น นักศึกษาได้อภิปรายถึงประสบการณ์ จากการชมรายการบันเทิงทั้งสาม อันก่อให้เกิดความสุขสันต์หรรษา ทั้งชนิดที่เป็นขั้นเทพและขั้นเดรัจฉาน

นักศึกษาผู้หนึ่ง ขออนุญาตออกนอกเรื่อง เล่าตัวอย่างจากวิชาชีววิทยา ที่ตนได้เรียนเมื่อปีก่อน ว่า อาจารย์ได้บรรยายให้ฟังเรื่องหนูทดลอง ที่ถูกกระตุ้นต่อมหรรษาในสมอง มันก็เลยสุขสันต์หรรษาจนไม่กินอาหาร และสุขสันต์จนดิ้นตาย ความหรรษาชนิดนั้น ถือว่าเป็นระดับเดรัจฉาน นักศึกษาผู้นั้นบอกว่า เขาต้องการความสุขสันต์ขั้นเทพ เพื่อจะได้ไม่ต้องตายไปแบบหนูทดลอง อย่างไรก็ดี การที่ผู้ใดจะมีความสุขกับบทละครเช็คสเปียร์ได้ เขาก็ต้องผ่านการเรียนรู้ และได้รับคำแนะนำมาก่อน ผิดกับการชมรายการการ์ตูน เดอะ ซิมสันส์ ที่ไม่ได้เรียกร้องความพร้อมอะไรมากนัก

แต่ในที่สุด ทั้งนักศึกษาและอาจารย์แซนเดล ก็เห็นพ้องกันว่า การยกเรื่องความสุขสันต์หรรษาขึ้นมาแบ่งเป็น ขั้นเทพ กับ ขั้นเดรัจฉาน นั้น อาจารย์จอห์น สจวต มิลล์ น่าจะมีวาระซ่อนเร้นอยู่บางอย่าง ซึ่งในที่สุด ศ.แซนเดล ได้แสดงให้เราเห็น คำคัดจากงานของ มิลล์ ที่ชี้บ่งว่า วาระซ่อนของอาจารย์มิลล์ คือ อะไร? ทั้งนี้ พบว่าอาจารย์มิลล์ เห็นว่า คนที่มีประสบการณ์ทั้งสองอย่าง จะตระหนักได้เอง โดยไม่ต้องมีใครมาชี้นำหรือจูงจมูก ว่า ความสุขสันต์หรรษาขั้นเทพ มี “ศักดิ์” สูงกว่า หรือมี “น้ำหนัก” มากกว่าขั้นเดรัจฉาน และนอกจากจะแยกแยะได้เองแล้ว ยังจะนึกชอบประสบการณ์ขั้นเทพ มากกว่าขั้นเดรัจฉาน อีกด้วย

โดยที่อาจารย์ มิลล์ ได้กล่าววาทะไว้ แปลเป็นไทย ว่า

“เกิดเป็นมนุษย์ ที่สุขบ้างทุกข์บ้าง ชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหน ก็ยังดีกว่า เกิดเป็นเหี้ยที่มีความสุขตลอดชีวิต เป็นโสคราติส ที่สุขมั่งทุกข์มั่ง ก็ยังดีกว่า เกิดเป็นควายที่มีแต่สุขล้วน ๆ แล้วที่ผมพูดเนี่ยะ เหี้ยก็ดี ควายก็ดี อาจมีความเห็นต่าง... แต่นั่น ก็เป็นเพราะ ทั้งเหี้ยและควาย ต่างก็มีขีดความสามารถ ที่จะมีประสบการณ์ ได้เฉพาะแต่ขั้นเดรัจฉาน เพียงอย่างเดียวเท่านั้น”

-----------------------------------------------------------------------

หมายเหตุสำหรับคำแปลภาษาไทย – ผู้แปลซึ่งก็คือผู้เขียนบทสรุปภาษาไทย มีพื้นการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ เพราะฉะนั้น ก็เลยนับถืออาจารย์ จอห์น เมนาร์ด เคนส์ ซึ่งท่านเคยพูดไว้เกี่ยวกับการเลือกใช้ถ้อยคำ ว่า

“Words ought to be a little wild for they are the assaults of thought on the unthinking.” -John Maynard Keynes ขอบคุณ ที่ท่านผู้อ่านบางท่าน เข้าใจ

สุดยอด! เล่นเอาเกือบเคลิ้ม กล่อมกันเปล่าเนี่ยะ?

สมมติว่า-สมมติเท่านั้น นะครับ-สมมติว่า เราคล้อยตามอาจารย์มิลล์ในประเด็นนี้--ที่ว่า คนที่มีประสบการณ์ทั้งสองอย่าง จะตระหนักได้เองว่า ความสุขสันต์หรรษาแบ่งได้เป็น ขั้นเทพกับขั้นเดรัจฉาน และจะรู้ได้ด้วยตนเองอีกเหมือนกันว่า ความสุขขั้นเทพมีน้ำหนักมากกว่าความสุขขั้นเดรัจฉาน และแถมยังจะนึกชอบประสบการณ์ขั้นเทพมากกว่าขั้นเดรัจฉาน เพราะฉะนั้น ตามตัวอย่างในชั้นเรียน จึงมีนักศึกษาบางคนเห็นว่า ถ้าจะต้องใช้ชีวิตส่วนที่ยังเหลืออยู่ทั้งชีวิต อยู่กับไร่นาอันกันดารในมลรัฐแคนซัส แล้วให้เลือกเอาระหว่างวิดีโอบทละครเช็คสเปียร์ชุดหนึ่ง หรือวิดีโอการ์ตูน เดอะ ซิมสัน ชุดหนึ่ง (สมมติว่า อินเทอร์เน็ตยังไม่มี) ก็จะขอเลือกอยู่กับวิดีโอชุดบทละครเช็คสเปียร์ จะไม่ขอเอาวิดีโอการ์ตูน เดอะ ซิมสัน

ผู้เขียนบทสรุปภาษาไทย จะขอเสนอตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่ง ว่า ท่านที่เคยเดินทางไป กรุงปารีส แม้จะเพียงครั้งเดียวก็ตาม บริษัททัวร์เขาก็มักจะแนะนำให้ท่านรู้จัก ย่านปิกาล ซึ่งเป็นแหล่งรวมร้านสื่อโป๊ทั้งหลาย เช่น หนังสือ ดีวีดี อุปกรณ์ ชุดชั้นใน ฯลฯ ยังไม่รวมบาร์ ร้านเหล้า และโรงแรมขายชั่วโมง ตามซอกซอยแถวนั้น อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่ง กรุงปารีสก็มี โรงละครริชเชอลิเยอ ที่ จัตุรัสก็อลแลตต์ ซึ่งเป็นโรงละครหลัก ของคณะละครหลวงแห่งฝรั่งเศส ที่เล่นละครต่อเนื่องมา ตั้งแต่ยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 บทละครบางเรื่องของ โมลลิแยร์ แสดงมาแล้วกว่าสามพันครั้ง ตลอดระยะเวลาประมาณสามร้อยปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน นักท่องเที่ยว คนที่สามารถมีประสบการณ์ทั้งสองอย่าง เท่านั้น ที่จะแยกออกได้ว่า ประสบการณ์ในโรงละครริชเชอลิเยอ เป็นประสบการณ์ขั้นเทพ ส่วนประสบการณ์ที่ย่านปิกาลล์ คือประสบการณ์ขั้นเดรัจฉาน และเขาจะชอบประสบการณ์ที่โรงละครริชเชอลิเยอ มากกว่า ประสบการณ์ที่ย่านปิกาลล์ โดยอัตโนมัติด้วยตัวของเขาเอง ไม่ต้องมีใครมาชี้นำ บอกกล่าว สั่งสอน

 

กล่อมกันเปล่าเนี่ยะ? เรายังไม่ได้รับคำตอบ ต่อปริศนาซ้อน ที่แฝงอยู่กับปริศนาข้อนี้ กล่าวคือ ปริศนาซ้อนมีว่า นักท่องเที่ยวที่มีประสบการณ์ทั้งสองอย่าง เขาจะแยกออกได้อย่างไร? ทำไมเขาถึงได้สำนึกรู้ ได้ด้วยตัวของเขาเอง ว่า ประสบการณ์ที่ย่านปิกาลเป็นประสบการณ์เดรัจฉาน แต่ประสบการณ์ที่โรงละครริชเชอลิเยอคือขั้นเทพ? เขารู้ได้อย่างไร? ดัดจริต-เปล่า? โห...ทำไมเขาเสแสร้ง เป็นนักแสดง เก่งได้ขนาดนั้น?

ศ.แซนเดล ช่วยไขปริศนาซ้อนข้อนี้ให้เรา (Episode 02 ที่เวลาวีเดโอ 49:05) แต่ผู้เขียนจะขอสรุปตามครรลองเดียวกันนั้น โดยใช้ตัวอย่างที่ยกขึ้นเองข้างบน เกี่ยวกับ ย่านปิกาลกับโรงละครริชเชอลิเยอ ก็แล้วกัน ว่า.....

เราผู้สามารถมีประสบการณ์ทั้งสองอย่าง ประสบการณ์ทั้งสองนั้น จะบอกเราเองว่า ความสุขขั้นเทพ ที่โรงละครริชเชอลิเยอ เรียกร้องขีดความสามารถที่หลากหลาย รอบด้าน ครบเครื่อง และต้องการการพัฒนาตนเองที่สูงขึ้น มากกว่าประสบการณ์ความสุขขั้นเดรัจฉานของเราเอง (ไม่ใช่ของใคร) ที่ย่านปิกาลล์ เช่น เราจะต้องรู้ภาษาฝรั่งเศสขั้นสูงขึ้น กว่าภาษาฝรั่งเศสที่ใช้กันในย่านปิกาลล์ เป็นต้น คนที่มีประสบการณ์ได้แต่กับย่านปิกาลล์เพียงอย่างเดียว จะรู้แต่คำว่า เงี่ยน” ส่วนผู้ที่สามารถจะมีประสบการณ์ได้ทั้งสองแห่ง นอกจากจะรู้จัก “เงี่ยน” แบบที่ปิกาลแล้ว เขายังไปโรงละครริชเชอลิเยอ ที่จัตุรัสก็อลแล็ต เพื่อจะเพลินเพลิน เอ็นจอย กับการพูดจาแสดงออกซึ่งคำว่า “เงี่ยน” เสียใหม่ว่า “ผาณิตผิชิดมด ฤจะอดบ่อาจมี” เป็นต้น

ชมต้นฉบับวีดิทัศน์ และชมบรรยากาศการเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สำหรับตอนนี้ 

ค่าของคน-คุณราคาเท่าไร? กับ จะวัดความสุขสันต์หรรษาได้อย่างไร? 

คำคัดเด็ด ประจำตอนนี้

ศิลธรรมประโยชน์นิยม ที่ถือว่า “ผลดีใหญ่สุด สำหรับคนมากสุด” นั้น ได้ให้ความเคารพต่อเสียงข้างน้อย พอหรือยัง? และได้มองข้าม “ขวัญ” หรือ สิทธิพื้นฐานของปัจเจกชนแต่ละคน ไปหรือเปล่า? ว่า “ขวัญ” หรือสิทธิพื้นฐาน เป็นสิ่งที่กำเนิดมา คู่อยู่กับชีวิตทุกชีวิต

“เกิดเป็นมนุษย์ ที่สุขบ้างทุกข์บ้าง ชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหน ก็ยังดีกว่า เกิดเป็นเหี้ยที่มีความสุขตลอดชีวิต เป็นโสคราติส ที่สุขมั่งทุกข์มั่ง ก็ยังดีกว่า เกิดเป็นควายที่มีแต่สุขล้วน ๆ

แล้วที่ผมพูดเนี่ยะ เหี้ยก็ดี ควายก็ดี อาจมีความเห็นต่าง... แต่นั่น ก็เป็นเพราะทั้งเหี้ยและควาย ต่างก็มีขีดความสามารถ ที่จะมีประสบการณ์ได้เฉพาะแต่ขั้นเดรัจฉาน เพียงอย่างเดียวเท่านั้น”

--อาจารย์ จอห์น สจวต มิลล์


สรุปคำบรรยายปรัชญา/ปรัชญาการเมือง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ศ.ไมเคิล แซนเดล

-- ปรีชา ทิวะหุต สรุปเป็นภาษาไทย

-----------------------
นิตยสารMBA ฉบับที่ 179 August - September 2014

X

Right Click

No right click