Episode 03 | ฉันมีเสรีภาพที่จะเลือกทางฉันเองหรือ? และ ใครคือเจ้าของตัวฉัน?

October 18, 2019 8010

ฉันมีเสรีภาพ ที่จะเลือก... || Episode 03 Part 1

ในตอนที่แล้ว อาจารย์จอห์น สจวต มิลล์ ได้กล่าวปกป้องศีลธรรมประโยชน์นิยม ท่านเห็นว่าการเคารพสิทธิมนุษย์ กับการทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมนั้น สถิตอยู่ในกรอบอันดีงามของศีลธรรมประโยชน์นิยม เพราะว่า พิจารณาในระยะยาวแล้ว การเคารพสิทธิมนุษย์ก็ดี กับ การทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมก็ดี จะก่อให้เกิด GHGN (“ผลดีอย่างใหญ่สุด แก่คนจำนวนมากสุด” GHGN = Greatest Happiness, for Greater Number of people) ในบ้านเมืองในระยะไกล…

ศ.แซนเดล ยกตัวอย่างว่า ถ้าหมอไม่เคารพสิทธิมนุษยชน แล้วควักอวัยวะห้าอย่างออกจากร่างกายคนสุขภาพดี ที่มาตรวจร่างกายตามปกติ แล้วนำอวัยวะทั้งห้านั้น ไปช่วยชีวิตผู้ป่วยห้าคนให้รอดตาย พิจารณาในระยะยาวแล้ว การ “ไม่” เคารพสิทธิมนุษย์เช่นนี้ ย่อมจะไม่มีผลให้เกิด GHGN ในสังคมในทางยาว เพราะว่า เมื่อคนรู้เรื่องนี้ คนทั้งหลายก็จะไม่มาตรวจร่างกายกันอีกต่อไป ศ.แซนเดล แสดงความกังวลใจกับนักศึกษา ว่า

  1. แต่การ “ไม่” ฆ่าคนเพื่อเอาอวัยวะ มีเหตุผลทางศีลธรรมเพียงเท่านี้ ละหรือ?
  2. หรือว่า จะมีเหตุผลอื่นอีก ที่เคารพต่อสิทธิมนุษย์ โดยไม่ได้อ้างเรื่องความสุขของคนหมู่มาก (GHGN) ?

เพื่อคลายความกังวลดังกล่าว ศ.แซนเดล ตั้งปริศนาระดับราก ซึ่งก็เท่ากับเป็นการวิจารณ์ปรัชญาประโยชน์นิยม ของอาจารย์ มิลล์ นั่นเอง ท่านตั้งคำถามสองข้อ คือ

1. จะขอตั้งปริศนาขยายจาก ประสบการณ์ขั้นเทพ ว่า จะมีเหตุผลทางศีลธรรมชนิดอื่นใดอีกหรือไม่ ที่จะประเมิน คุณค่า/ความคุ้มค่า ของความสุขสันต์หรรษาขั้นเทพ และถ้าหาก ว่า ศีลธรรมประเภทนั้นมีอยู่ รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร แบบว่าอยากรู้อ่ะ?

หมายความว่า เราจะไม่หยุดอยู่เพียงแค่สำนึกรู้ ว่า นี่คือขั้นเทพ โน่นคือขั้นเดรัจฉาน (เนื่องจากเราเคยมีประสบการณ์มาแล้วทั้งสองอย่าง เราจึงสามารถฟันธง “จัดประเภท” ประสบการณ์ได้) แต่ การรู้จักที่จะจัดประเภทประสบการณ์ ยังมิใช่เป็นการประเมินคุณค่า ของประสบการณ์นั้น โดยตรง

2. เหตุผล ของการเคารพมนุษย์แต่ละคน เป็นคน ๆ ไปไม่มียกเว้น โดยเห็นว่าเขามีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัวของเขาเองด้วยกันทุกคน เขาไม่ใช่ทางผ่าน เพื่อนับจำนวนไปออกยอด GHGN ระบบความคิดความเชื่อ และการแสดงเหตุผลในแนวนี้ อันเป็นแนวที่ยอมรับสิทธิมนุษย์แบบเน้น ๆ เพียว ๆ และแข็งแรง มีอยู่หรือไม่

เพื่อให้ได้คำตอบ ต่อข้อกังขาข้างต้น ซึ่งความคิดศีลธรรมแบบเห็นแก่ประโยชน์ (ประโยชน์นิยม) ไม่สามารถตอบได้ชัดเจน ศ. แซนเดล แนะนำให้เรารู้จักกับ ศีลธรรมแนวเสรีนิยม Libertarianism ซึ่งเป็นแนวศีลธรรมที่เน้นสิทธิส่วนบุคคล โดยถือว่า “สิทธิพื้นฐานของมนุษย์” อีกนัยหนึ่ง ขวัญของคน ก็คือ สิทธิเสรีภาพ (the right to liberty) ” ซึ่งหมายถึง สิทธิที่จะเลือกอย่างเสรี ในการดำเนินชีวิตตามใจปรารถนา แต่ทั้งนี้ โดยเคารพผู้อื่น ว่าเขาก็มีสิทธิ ที่จะทำเช่นนั้นได้ เช่นเดียวกับเรา

คล้าย ๆ กับสำนวนที่ว่า “ทำได้ตามใจ คือ ไทแท้” อะไรประมาณนั้นรึเปล่าก็ไม่รู้ แต่ทั้งนี้ โดยให้ความเคารพว่า ฝรั่ง-แขก-จีน-จาม-อะแจ ทั้งหลาย ก็มีสิทธิชนิดนี้ด้วย คือ สามารถที่จะ “ทำได้ตามใจ คือไทแท้” ได้เช่นเดียวกับเรา แนวคิดศีลธรรมเสรีนิยม เน้นคนเป็นคน ๆ ไป โดยเห็นว่า คนแต่ละคน มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัวเขาเอง คนจึงไม่ใช่ทางผ่าน เพื่อไปออกยอด GHGN ในสังคม อีกนัยหนึ่ง เขาไม่ได้เป็นตัวเบี้ย อยู่บนกระดานหมากรุก กระดานใด

ด้วยเหตุนี้ การคิดคำนึงเรื่องสิทธิก็ดี ความยุติธรรมก็ดี โดยบวกรวมความชอบของคนแต่ละคน ซึ่งมีฐานะเอกชนผู้มีอิสระ เป็นเอกเทศจากกัน แล้วนำความชอบ ความปรารถนามารวมเข้าด้วยกัน ตามหลักการคิดหา GHGN วิธีคิดแบบนี้ เป็นข้อผิดพลาดอย่างแรง ของแนวคิดศีลธรรมประโยชน์นิยม

(--เพราะว่า คนแต่ละคน ศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัว และเป็นปัจเจกผู้เป็นเอกเทศ ความชอบไม่ชอบของปัจเจกแต่ละคน ต่างล้วนเป็นอิสระต่อกัน และไม่เกี่ยวอะไรกับความชอบไม่ชอบของปัจเจกคนอื่น ๆ เพราะฉะนั้น จึงไม่อาจจะนำมารวมกันได้ ถ้าจะคิดเป็นตัวเลขได้ ก็จะเป็นเลขคนละมิติกัน หรือเลขคนละฐาน-ซึ่งจะนำมารวมกันไม่ได้ ผิดกฎคณิตศาสตร์ นำเลขฐานสอง ไปบวกกับเลขฐานสิบ ได้หรือ?)

หลักศีลธรรมแนวเสรีนิยมนี้ เห็นว่า บ้านเมืองไม่ควรยุ่งเกี่ยววุ่นวาย กับชีวิตผู้คนพลเมือง ถ้าจำเป็นจะต้อง “ยุ่งเกี่ยว” หรือ “เสือก” บ้าง ก็ขอให้ “เสือก” น้อยที่สุด นักศีลธรรมเสรีนิยม มีเหตุผลเฉพาะเจาะจง 3 ประการ ว่า บ้านเมืองไม่ควรตรากฎหมาย ด้วยวัตถุประสงค์ เพื่อที่จะ

1) ป้องกันผู้คน จากภัยอันเกิดจากความประพฤติของตัวเขาเอง เช่น การออกกฎหมายบังคับ ให้รัดเข็มขัดที่นั่งในรถยนต์ หรือสวมหมวกกันน็อค เป็นต้น การสวมหมวกกันน็อค อาจเป็นสิ่งที่ดีก็ได้ แต่ว่า นั่นเป็นเรื่องที่คนแต่ละคน จะต้องสำนึกรู้เอาเอง รัฐบาลจะออกกฎหมายมาบังคับเขาไม่ได้

2) ตรากฎหมายที่อิงศีลธรรมจรรยา ของคนบางหมู่เหล่า มาบังคับใช้กับคนทั้งบ้านทั้งเมือง เช่น กฎหมายทะเบียนสมรส ซึ่งจริง ๆ แล้วอิงอยู่กับศีลธรรมจรรยาแบบตะวันตก-ตัวอย่างนี้ผู้เขียนสรุปภาษาไทยยกขึ้นเอง ศ.แซนเดล ท่านยกตัวอย่างกฎหมายเรื่อง การสมรสในหมู่เกย์ กับในหมู่เลสเบียน โดยอาจารย์ท่านว่า รัฐบาลไม่มีหน้าที่จุ้นจ้านเรื่องนี้ โดยท่านเจตนาจะหมายความว่า รัฐบาลไม่มีหน้าที่ ที่จะออกใบรับรองสถานะภาพการสมรสให้

3) บังคับกระจายรายได้ จากคนรวยไปสู่คนจน เช่น อัตราภาษีเงินได้แบบก้าวหน้า ใครได้มากต้องเสียมาก หรือนโยบายอื่น ๆ ที่เข้าข่ายนี้ เป็นต้น ผู้ยึดถือความคิดเสรีนิยม เห็นว่า ภาษีที่เก็บ โดยมีเจตนาเพื่อกระจายรายได้จากคนรวย เช่นจาก นายบิล เกตส์ หรือ นายไมเคิล จอร์แดน ไปสู่คนจนนั้น มีลักษณะไม่ได้ต่างไปจาก การบังคับใช้แรงงานเอากับคนรวย เพราะว่า เงินของคนรวยเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของเขา รัฐไปบังคับเอาเงินจากเขามา เท่ากับไปเบียดเบียนเอาหยาดเหงื่อแรงงานของเขา มาใช้ฟรี ๆ รัฐปฏิบัติต่อเขา (คนรวย) เยี่ยงทาส (โปรดชม Episode 03 at 09:56)

ศ.แซนเดล แนะนำให้เรารู้จัก นักปรัชญาเสรีนิยมคนสำคัญอีกท่านหนึ่ง คือ อาจารย์ โรเบิร์ต โนสซิค ซึ่งเป็นนักปรัชญาการเมืองชาวอเมริกัน สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เคยสอนที่ฮาร์วาร์ด ท่านเห็นว่า เกี่ยวกับอำนาจรัฐนั้น ขอให้รัฐมีอำนาจน้อย ๆ เพียงแค่สามารถเก็บภาษีระดับต่ำ ๆ ได้ เพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย เกี่ยวกับความจำเป็นพื้นฐานในบ้านเมือง เช่น การป้องกันประเทศ (กลาโหม) การป้องกันไม่ให้ประชาชนกัดกันเอง (ตำรวจ) การป้องกันการแย่งชิงทรัพย์สินที่ดินของกันและกัน (เช่น ประมวลแพ่งฯ บรรพ 4 ทรัพย์สิน) ตลอดจนดูแลให้แต่ละคนรักษาคำมั่นสัญญาระหว่างกัน (เช่น ประมวลแพ่งฯ บรรพ 2 ลักษณะ 2 สัญญา) ก็ให้มีระบบกฎหมายและศาล คอยดูแลกฎหมายเหล่านี้ ท่านว่า อำนาจรัฐมีไว้ทำเท่านี้ ก็พอแล้ว

ศ.แซนเดล ได้ยกหัวข้อที่ 3)รื่องการบังคับกระจายรายได้จากคนรวยไปให้คนจน ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ให้นักศึกษาได้ฝึกหัดคิดเรื่องศีลธรรมเสรีนิยม โดยท่านยกสถิติ เรื่องการกระจายความมั่งคั่งในสหรัฐฯ ขึ้นมาแสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ เป็นประเทศประชาธิปไตยตะวันตก ที่กระจายความมั่งคั่งไม่เสมอภาคที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศประชาธิปไตยตะวันตกประเทศอื่น ๆ ความมั่งคั่งในชาติในสหรัฐฯ 70% อยู่ในมือของคนเพียง 10% ของประชากรทั้งหมด เท่านั้น

ยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม? อาจารย์โนสซิค บอกว่า ถ้าเรารู้ว่า คนนั้นมั่งคั่งติดอันดับโน้น คนนู้นยากจนทะลุอันดับนี้ เราจะยังตัดสินไม่ได้ว่า การกระจายความมั่งคั่งยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม ท่านบอกว่า เราต้องสาวไปหาสาเหตุแห่งความร่ำรวย ว่าเขาได้มาอย่างไร ทั้งนี้ท่านเสนอ หลักในการพิจารณากลั่นกรอง 2 หลัก คือ

  1. ปัจจัยเริ่มต้นเพื่อจะใช้สร้างความร่ำรวย เขาได้มาในทางที่เป็นธรรม ที่ถูกที่ควรหรือไม่ เช่นว่า ไปลักขโมยที่ดิน โรงงาน เครื่องมืออุปกรณ์ มาหรือเปล่า
  2. เมื่อผ่านการกลั่นกรองขั้นที่หนึ่งมาแล้ว ท่านให้พิจารณาว่า การแสวงหาทางเพิ่มพูนความมั่งคั่งร่ำรวยของเขานั้น ได้ทำไปตามกระบวนการแห่งความยินยอมอย่างเสรีหรือไม่ หมายความว่า ความมั่งคั่งร่ำรวยของเขา ผ่านกลไกตลาดเสรี หรือเปล่า

ศีลธรรมของชาวเสรีนิยม จึงละม้ายคล้ายกับศีลธรรมตลาดเสรี แต่เราก็ต้องทราบกันด้วยนะว่า ศีลธรรมตลาดเสรี มิได้หยุดอยู่แค่ว่า ใครใคร่ค้าช้างค้า ใครใคร่ค้าม้าค้า” แต่ว่า 1) ช้างกับม้าที่จูงมาค้ามาขายกัน ต้องเป็นของตัวเอง ไม่ใช่ของโจร จะต้องไม่ไปลักขโมยเขามาขาย และ 2) การค้าขายแลกเปลี่ยนกัน ก็ต้องทำด้วยความยินยอมของกันและกัน ไม่ใช่บังคับซื้อบังคับขาย เราจะเห็นได้ว่า “ความยินยอม” (Consent) เข้ามามีบทบาท ทั้งในความคิดเสรีนิยมและความคิดตลาดเสรี

สรุปว่า เมื่อผ่านการกลั่นกรองสองชั้นมาได้แล้ว ท่านก็จะถือว่า เขามั่งคั่งขึ้นมาอย่างยุติธรรม การที่รัฐ จะไปเก็บภาษีผู้ร่ำรวย ที่มั่งคั่งขึ้นมาอย่างยุติธรรมนี้ แล้วนำเงินภาษีมาช่วยคนยากคนจน ก็ถือว่าไม่เป็นการยุติธรรมต่อคนร่ำรวยเหล่านั้น ทั้งนี้ อาจารย์โนสซิค แสดงเหตุผลว่า การเก็บภาษี ก็คือ ไปบังคับเอารายได้ของเขามา การไปฉวยเอารายได้ของเขา เท่ากับไปปล้นเขา หรือมองให้ลึก ก็จะเท่ากับบังคับใช้แรงงานเขา ซึ่งการบังคับใช้แรงงาน อาจารย์โนสซิค ชี้ว่า เป็นการปฏิบัติต่อเขา เยี่ยงทาส นั่นเอง

ท่านยังพิเคราะห์ต่อไปอีกขั้นหนึ่ง ว่า การที่คนถูกรัฐปฏิบัติเยี่ยงทาส ก็แปลว่า เขาไม่ได้เป็นอิสระ หรือเป็นไทแก่ตัว อย่างแท้จริง กลายเป็นว่า เขาสังกัดอยู่กับนายทาสหรือเจ้าของทาส เขามีรัฐเป็นเจ้าของตัวเขาอยู่ เขาไม่ได้เป็นนายตัวเอง และไม่ได้เป็นเจ้าของตัวของเขาเองโดยบริบูรณ์

ซึ่งด้วยการให้เหตุผล ชนิดไล่สายเป็นลำดับ เช่นที่แสดงมานั้น ก็จะนำเรามาถึงจุดอันเป็นที่สุดแห่งศีลธรรมเสรีนิยม ที่เคารพสิทธิมนุษย์อย่างแข็งแรง อันได้แก่ หลักศีลธรรมที่ว่า มนุษย์แต่ละคน เป็นเจ้าของและเป็นนายตัวเขาเอง

เพราะฉะนั้น การกระทำใด ๆ ที่ทำลง ราวกับว่า เราเป็นเจ้าของตัวเขา เขาไม่ได้เป็นเจ้าของตัวเองโดยบริบูรณ์ เช่น การไปควักเอาอวัยวะห้าชิ้นออกจากตัวเขา ไปช่วยชีวิตผู้ป่วยที่นอนรอการเปลี่ยนอวัยวะก็ดี การบังคับกระจายรายได้บางส่วน จากผู้ร่ำรวยซึ่งมั่งคั่งขึ้นมาอย่างยุติธรรมก็ดี การออกกฎหมายมาป้องกันภัย อันอาจเกิดจากการกระทำของตัวเขาเองก็ดี หรือกฎหมายที่ออกมาบังคับให้เรามีวิถีชีวิตส่วนตัว อย่างนั้นอย่างนี้ก็ดี ท่านว่า ล้วนแล้วแต่ผิดหลักศีลธรรมเสรีนิยม ทั้งสิ้น และเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

ศ.แซนเดล ทิ้งท้ายการบรรยายช่วงนี้ว่า สำหรับนักศึกษาที่เห็นต่าง ขอให้ไปเตรียมตัวมาแสดงความเห็นในการเรียนช่วงต่อไป ทั้งนี้ โดยท่านแนะแนวให้ว่า ความเห็นต่างที่จะเด็ดขาดชัดเจน จะต้องสามารถ หักล้าง การแสดงเหตุผลชนิด “ไล่สายมาโดยลำดับ” ของความคิดเสรีนิยม ที่บอกว่า การเก็บภาษีจากผู้มั่งคั่ง --> ก็คือการบังคับเอารายได้จากเขา --> การบังคับเอารายได้จากเขา --> เท่ากับบังคับใช้แรงงานเขา --> การบังคับใช้แรงงานเขา --> ก็เหมือนการปฏิบัติต่อเขาเยี่ยงทาส --> ซึ่งที่สุดก็คือ --> เป็นการละเมิดหลักศีลธรรมเสรีนิยมที่ว่า มนุษย์เป็นเจ้าของ ตัวของเขาเอง


ใครคือเจ้าของตัวฉัน || Episode 03 Part 2

ในตอนก่อน อาจารย์ โรเบิร์ต โนสซิค นักปรัชญาเสรีนิยมชาวอเมริกัน แสดงเหตุผลโต้แย้งการเก็บภาษีคนรวยเพื่อกระจายรายได้ ด้วยการนำเงินภาษีที่เก็บได้ ไปสร้างที่อยู่อาศัย ให้การรักษาพยาบาล และให้การศึกษาแก่คนจน ท่านถือว่าเป็นการข่มเหงกัน และผิดหลักศีลธรรมเสรีนิยม

ในชั้นเรียนตอนที่สองนี้ ศ.แซนเดล ยกเหตุผลของ อาจารย์ มิลตัน ฟริดแมน นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยม มหาวิทยาลัยชิคาโก ซึ่งได้ชี้ไว้ว่า งานหลายต่อหลายอย่างอันคนยึดถือกันมา ว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐ เช่น การประกันสังคมที่สร้างระบบเงินบำนาญ ไว้ให้แก่แรงงานเกษียณอายุทุกคน ที่จริงก็ไม่น่าจะใช่หน้าที่ของรัฐ หากประชาชนอยากกินอยู่อย่างฟู่ฟ่า หรือจมไม่ลง หรือไม่รู้จักที่จะเก็บออม แล้วในที่สุด เขาก็ต้องแก่เฒ่าอย่างอนาถา นั่นก็เป็นเสรีภาพ ที่เขาจะเลือกทางของเขาเอง เพราะว่า เขาเป็นเจ้าของตัวของเขาเอง รัฐไม่พึงไปข่มเหง เก็บเงินประกันสังคม เพื่อสร้างสวัสดิการแก่ประชาชน เพราะรัฐไม่ได้เป็น “เจ้าของ” ประชาชน

ในช่วงที่สอง ศ.แซนเดล เปิดโอกาสให้นักศึกษาผู้สนับสนุนแนวศีลธรรมเสรีนิยม ได้จัดกลุ่มเล็ก ๆ อภิปรายปกป้องความคิดเสรีนิยม ที่ถูกคัดค้านมาตลอดการบรรยายช่วงก่อน ซึ่ง ศ.แซนเดล ได้สรุปคำคัดค้านศีลธรรมเสรีนิยม จากทั้งในชั้นเรียน และจากที่นักศึกษาส่งอีเมลมา

โดยผู้เขียนบทสรุปภาษาไทย จะขอสรุปคำคัดค้านของนักศึกษา โดยใช้สำนวนภาษาของผู้สรุปเอง ว่า

  1. รัฐต้องเก็บภาษีเพื่อกระจายรายได้ เพราะว่า คนจนจำเป็นต้องใช้เงินมากกว่าคนรวย ถ้าเราแบ่งเงินจากคนรวยมาบาทสองบาท เขาไม่เดือดร้อนอะไร และเขาไม่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนบาทสองบาทนั้น ขณะที่ เงินจำนวนเล็กน้อยดังกล่าว มีความหมายมาก ต่อคนจน
  2. การเก็บภาษี โดยได้รับความยินยอมจากผู้เสียภาษี ไม่ถือว่าเป็นการบังคับข่มเหง
  3. ผู้ประสบความสำเร็จทางการเงิน จนมั่งคั่งร่ำรวยขึ้นมาได้ ต่างล้วนเป็นหนี้สังคมอยู่บางอย่างบางประการ ถ้าเขาอยู่ในประเทศเอธิโอเปีย เขาอาจไม่มีสิทธิมั่งคั่งร่ำรวยระดับที่เป็นอยู่นี้ ก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น เขาก็ต้องชำระหนี้ ด้วยการเสียภาษีให้กับสังคมที่เขาอยู่อาศัย จนเขาสามารถสร้างความร่ำรวยขึ้นมาได้
  4. ความมั่งคั่งร่ำรวยหลาย ๆ กรณี มีโชคช่วยหรือรวยมรดก ผู้เป็นเจ้าของครอบครองความมั่งคั่งร่ำรวยอยู่นั้น จึงใช่ว่า จะเป็นผู้พึงมีพึงได้ทรัพย์สินเหล่านั้น เสมอไป

นักศึกษากลุ่มหนึ่ง อาสาที่จะอภิปรายสนับสนุนและปกป้องปรัชญาเสรีนิยม เรียกชื่อกลุ่มว่า “ทีมเสรีนิยม” นักศึกษากลุ่มนี้แสดงเหตุผลแย้ง คำคัดค้านทั้งสี่ประการข้างบน ผู้เขียนสรุปภาษาไทยขอข้ามช่วงนี้ไป แต่จะขอกล่าวรวม ๆ ว่า ศ. แซนเดล ได้อาศัยการอภิปรายของนักศึกษามาชี้ประเด็นว่า--

อาจารย์โนสซิค ไม่ได้พัฒนาแนวคิดเรื่อง มนุษย์เป็นเจ้าของเอง แต่ท่านยืมมาจากนักปรัชญาคนสำคัญอีกคนหนึ่ง ซึ่งเราจะได้ทำความรู้จักความคิดเรื่องนี้ และนักปรัชญาท่านนั้น อย่างละเอียดในตอนถัดไป

ชมต้นฉบับวีดิทัศน์ และชมบรรยากาศการเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สำหรับตอนนี้ 

ฉันมีเสรีภาพที่จะเลือก กับ ใครเป็นเจ้าของตัวฉัน?

คำคัดเด็ด ประจำตอนนี้

ศีลธรรมของชาวเสรีนิยม จึงละม้ายคล้ายกับศีลธรรมตลาดเสรี แต่เราก็ต้องรู้กันก่อนนะว่า ศีลธรรมตลาดเสรี มิได้หยุดอยู่แค่ว่า “ใครใคร่ค้าช้างค้า ใครใคร่ค้าม้าค้า” เพราะยังมีเงื่อนไขต่อไปว่า 1) ช้างกับม้าที่จูงมาค้ามาขายกันนั้น ต้องเป็นของตัวเอง ไม่ใช่ของโจร จะต้องไม่ไปลักขโมยเขามาขาย และ 2) การค้าขายแลกเปลี่ยนกัน ก็ต้องทำด้วยความยินยอมของกันและกัน ไม่ใช่บังคับซื้อบังคับขาย

เราจะเห็นได้ว่า “ความยินยอม” เข้ามามีบทบาท ทั้งในความคิดเสรีนิยม และความคิดตลาดเสรี


สรุปคำบรรยายปรัชญา/ปรัชญาการเมือง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ศ.ไมเคิล แซนเดล

-- ปรีชา ทิวะหุต สรุปเป็นภาษาไทย

-----------------------
นิตยสารMBA ฉบับที่ 180 September-October 2014

X

Right Click

No right click