ปัจจุบัน และอนาคตของ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ภายใต้หัวเรือใหญ่อย่าง

โรคมะเร็งจากสารเคมีปนเปื้อนในอาหาร สิ่งแวดล้อม และพฤติกรรม เป็นภัยที่นำไปสู่การเจ็บป่วยและเสียชีวิตของคนไทยเป็นอันดับต้นๆ จะดีแค่ไหน...หากคนไทยมีอุปกรณ์อัจฉริยะตรวจวัดสารตกค้างในผักผลไม้ เตือนภัยก่อนที่เราจะรับประทานเข้าไป

รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ปัจจุบันความปลอดภัยด้านอาหารจากสารเคมีเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ทีมวิจัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดย วิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ (CMIT) ประกอบด้วย รศ. ดร.เบญจพล ตันฮู้, รศ. ดร.ดารินี พรหมโยธิน และ ผศ.ดร. ทุติยาภรณ์ ทิวาวงศ์ ได้คิดค้นนวัตกรรมอัจฉริยะ ‘เครื่องตรวจจับสารพิษตกค้างในผักผลไม้แบบพกพา’ ชื่อ ‘เค-เวจจี้ สกรีน’ (K-Veggie Screen) ช่วยคัดกรองสารพิษตกค้างในผักผลไม้และสารก่อภูมิแพ้ในอาหารด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีก่อนบริโภค วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นใจและตอบโจทย์ผู้บริโภคในความปลอดภัยของอาหาร  ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ลดปัญหาผลกระทบทางสุขภาพจากสารเคมีตกค้างในผักผลไม้ สนองตอบแนวทางเศรษฐกิจยุคใหม่ BCG ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและอาหารซึ่งประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตที่มีชื่อเสียงของโลก ส่งเสริมตลาดเกษตรอินทรีย์และผักผลไม้ไร้สารเคมี นวัตกรรมฝีมือคนไทยนี้ได้จดสิทธิบัตรแล้ว

รศ. ดร.เบญจพล ตันฮู้  ทีมนักวิจัย วิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ สจล. กล่าวว่า แนวคิดที่มาของ ‘เค-เวจจี้ สกรีน  (K-Veggie Screen) เครื่องตรวจจับสารพิษตกค้างในผักผลไม้แบบพกพา เป็นการพัฒนาอุปกรณ์เครื่องอ่านค่าทางเคมีด้วยขั้วไฟฟ้า ที่สามารถช่วยคัดกรองปริมาณสารพิษในผักผลไม้และอาหาร สจล.ออกแบบเพื่อใช้งานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยในการดูแลสุขภาพของผู้ใช้งานตามบ้าน เป็นอุปกรณ์เสมือนผู้ช่วยในบ้าน สามารถเข้าถึงได้ง่าย หลักการคือนำผักที่ซื้อมาจากตลาดสดมาล้างก่อน แล้วนำเอาน้ำที่ได้จากการล้างมาตรวจวัดเพื่อดูปริมาณสารตกค้าง ถ้ามีปริมาณสารตกค้างยังอยู่ในปริมาณมาก ผู้ใช้งานก็สามารถนำผักไปล้างซ้ำจนกระทั่งได้น้ำที่สะอาด

 ‘เค-เวจจี้ สกรีน’ (K-Veggie Screen) เครื่องตรวจจับสารพิษตกค้างในผักผลไม้แบบพกพา ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ 1. ส่วนควบคุม ที่ประกอบจากไมโครคอนโทรลเลอร์ขนาดเล็กและประมวลผลก้าวล้ำด้วยระบบเอไอ (AI) เพื่อการทำงานอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 2. ส่วนตรวจวัด (Sensor) ซึ่งได้พัฒนาผิวหน้า ‘ขั้วไฟฟ้า’ ให้มีความจำเพาะกับสารกำจัดศัตรูพืชและแมลงได้อย่างแม่นยำ ผลตรวจวิเคราะห์ผ่านการทดสอบด้วยเครื่องวัดมาตรฐาน High Performance Liquid Chromatography (HPLC) สามารถเปลี่ยนเซ็นเซอร์เพื่อตรวจวัดสารก่อภูมิแพ้ในอาหาร อาทิ เคซีน (Casein), สารเร่งเนื้อแดง, กลูเตน, เมลามีน และสารโลหะหนัก, ซิงค์ และสารปรอท ได้อีกด้วย

ในการวิจัยช่วงเฟสแรกนั้น เดิมทีมวิจัย สจล.ออกแบบ‘เค-เวจจี้ สกรีน’ (K-Veggie Screen) สำหรับใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ AAA จำนวน 2 ก้อน วิธีใช้งาน จุ่มปลายเซ็นเซอร์ลงในน้ำล้างผักผลไม้ที่ต้องการตรวจสอบ ตัวเครื่องมีหน้าจอแสดงผลซึ่งจะแสดงค่า 2  แบบ คือ ‘ปลอดภัย’ และ ‘ไม่ปลอดภัย’ โดยเซ็นเซอร์จะตรวจวัดสารเคมีในกลุ่มยาฆ่าแมลงและสารกำจัดศัตรูพืชเป็นหลัก แต่ปัจจุบันเป็น เฟสที่ 2 สจล.ได้พัฒนาความก้าวหน้า โดยออกแบบตัวเครื่องให้มีขนาดเล็กลง ใช้พลังงานจากอุปกรณ์ที่จะนำมาเชื่อมต่อ และสามารถ เปลี่ยนหัวเซ็นเซอร์ เพื่อสะดวกต่อการตรวจวัดสารเคมีชนิดอื่นๆ ได้ด้วย วิธีใช้งาน สะดวกง่ายดาย เพียงหยด’น้ำล้างผักผลไม้’ ลงใน ‘ช่องตรวจวัดค่าสารเคมี’ ใช้เวลาประมวลผลด้วย เอ.ไอ.อย่างรวดเร็วเพียง 10 วินาที และแสดงผลผ่านทางแอปพลิเคชัน ชื่อ ‘Smartzen’ ผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟน แบบเข้าใจง่าย มี 3 ระดับ (สี) ได้แก่ สีเขียว หมายถึง ปลอดภัย, สีเหลือง สารเคมีอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และสีแดง มีค่าสารเคมีเกินมาตรฐาน ทั้งนี้ทำให้ผู้บริโภคสามารถทำการล้างผักและผลไม้ให้อยู่ในเกณฑ์สีเขียวเพื่อความปลอดภัยของตนและครอบครัว  นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมต่อ Wifi, บลูทูธ และอุปกรณ์ IoT เพื่อความสะดวกสบายในการใช้งาน

ในปัจจุบันผักผลไม้แต่ละชนิดมีปริมาณสารเคมีตกค้างและแหล่งที่มาแตกต่างกัน ‘เค-เวจจี้ สกรีน’ (K Veggie Screen) จะช่วยทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจไม่ต้องกังวลในการล้างผักผลไม้ให้สะอาดปลอดภัย โดยสารเคมีที่ตกค้างในผักผลไม้ เช่น ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ปุ๋ยเคมี โลหะหนัก ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภค มีผลทำให้ ‘ระบบภูมิคุ้มกัน’ ของร่างกายอ่อนแอหากได้รับสารเคมีเหล่านี้ในปริมาณมาก และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็น ‘โรคมะเร็ง’ ตัวอย่างสารเคมีที่มักพบเจอ ได้แก่ สารคาร์โบฟูราน (Carbofuran) ซึ่งนิยมใช้ในนาข้าว พืชไร่ เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด แตงโม แตงกวา และพืชสวนอย่างกาแฟ ส้ม มะพร้าว, สารเมโทมิล (Methomyl) ในองุ่น ลำไย ส้มเขียวหวาน สตรอว์เบอร์รี่ กะหล่ำปลี หัวหอม และมะเขือเทศ, สารไดโครโตฟอส (Dicrotophos) ใช้กำจัดแมลงในพืชผักผลไม้ และ สารอีพีเอ็น (EPN) ใช้เป็นหัวยาและผสมกับสารเคมีเกษตรชนิดอื่นๆ ในการเพาะปลูกเพื่อกำจัดแมลงหลายชนิด นอกจากนี้ยังมีสารพิษที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ได้แก่ สารพิษจากเชื้อจุลินทรีย์ เช่น สารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) เสี่ยงทำให้เกิดมะเร็งตับ, สารพิษจากเห็ดบางชนิด และสารพิษในพืชผักบางชนิด เป็นต้น รวมไปถึงน้ำซุปที่อาจมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก สารตะกั่วจากการใช้หม้อที่ชำรุดหรือไม่ได้คุณภาพในการทำอาหาร

จุดเด่นของนวัตกรรม ‘เค-เวจจี้ สกรีน’ นี้คือ ตัวเครื่องมีขนาดเล็กกะทัดรัด พกพาได้สะดวก น้ำหนักเบา ราคาถูก เซ็นเซอร์ใช้งานง่าย ไม่ต้องเตรียมตัวอย่างการทดสอบให้ยุ่งยาก เพียงเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนหรือ IoT ก็อ่านผลได้รวดเร็ว แม่นยำ มีความจำเพาะในการวัดสูง เนื่องจากการออกแบบขั้วไฟฟ้าใช้วิธีการฝังตัวโมเลกุลของสารจำเพาะที่ต้องการวัดลงไปในสารโพลิเมอร์ในการตรวจวัด จึงสามารถตรวจวัดในผักผลไม้ได้หลากหลายชนิด เพราะเซ็นเซอร์เน้นไปที่การจำเพาะของสารที่ทำการตรวจวัด จึงเหมาะสำหรับผู้รักสุขภาพและผู้บริโภคทั่วไป อุปกรณ์‘เค-เวจจี้ สกรีน’ ยังสามารถเปลี่ยนหัวเซ็นเซอร์ชนิดอื่นเพื่อตรวจวัดค่าความจำเพาะสารเคมีอื่นๆ ได้อีกด้วย

แวะไปชมนวัตกรรมเด่นฝีมือคนไทยนี้ได้ในงาน Innovation Expo 2024 วันที่ 1-3 มีนาคม 2567 ซึ่งเป็นงานแสดงนวัตกรรมเพื่อชีวิตและเศรษฐกิจยุคใหม่ จัดโดย สจล. ณ หอประชุมเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์  สจล.

ต้นทุนต่ำ ยกระดับ รพ.ขนาดกลาง-เล็ก เพิ่มอัตรารอดชีวิตจากโรคระบบทางเดินหายใจ

สจล. จับมือ บริษัท เคเอ็มไอที ลาดกระบัง จำกัด และ บริษัท ไอออนโฮลดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ ที่มีเทคโนโลยีในการผสมชีวพันธุ์ ที่สามารถทดแทนปุ๋ยเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผสมผสานกับองค์ความรู้กระบวนการที่มาจากการวิจัย ของนักวิจัยสถาบันวิจัยนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ยุคใหม่ สจล. ที่คิดค้นชีวพันธุ์และกรรมวิธีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ดังกล่าว ที่ได้มาตรฐานระดับสากล ซึ่งส่งผลให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดย รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี ได้ลงนามร่วมกับผู้บริหารทั้ง 2 บริษัท ได้แก่ คุณภัสชา อัยยปัญญา และดร.กฤชนนท์ อัยยปัญญา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอออน โฮลดิ้ง จำกัด พร้อมกับ รองศาสตราจารย์ ดร.สุดาพร สาวม่วง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เคเอ็มไอที ลาดกระบัง จำกัด โดยมี รศ.ดร.เกษม สร้อยทอง ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเกษตรอินทรีย์ยุคใหม่ สจล. ร่วมลงนามในฐานะพยาน

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับสถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ระดมเครือข่ายนักวิชาการนานาชาติจากมหาวิทยาลัย ชุมชนธุรกิจ สถาบันวิจัยและพัฒนา และหน่วยงานภาครัฐ ผลักดันความร่วมมือในงาน ‘เนเธอร์แลนด์-ไทย : เทคโนโลยีอวกาศ 2023 เพื่อการเกษตรยั่งยืนและระบบอาหารที่มั่นคง’ (The Netherlands – Thailand Space Technology Forum 2023 : Space Technology for Resilient Agriculture and Food System) เพื่อเป้าหมายยกระดับการทำเกษตรและระบบอาหารที่ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว พัฒนาการเกษตรดาวเทียม โดยมี รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. และนายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ฯ ร่วมเป็นประธานเปิดงาน ณ ห้อง The Crystal Box เกษรทาวเวอร์ ราชประสงค์

รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ระบบการเกษตรและอาหารทั่วโลกอยู่ภายใต้แรงกดดัน เนื่องจากจำนวนประชากรโลกที่กำลังเพิ่มขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว (Climate Change) ความท้าทายของระบบเกษตรกรรมและอาหารของประเทศ ไม่เพียงต้องผลิตอาหารด้วยวิธีที่ปลอดภัย ดีต่อสุขภาพเท่านั้น แต่จะต้องมุ่งเป้าประกันความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security) ได้อย่างเพียงพอสำหรับทุกคนด้วย ‘งานเนเธอร์แลนด์-ไทย: เทคโนโลยีอวกาศ 2023 เพื่อการเกษตรยั่งยืนและระบบอาหารที่มั่นคง’ ตอกย้ำความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างไทย-เนเธอร์แลนด์ ในการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์เชิงพื้นที่ ‘เทคโนโลยีอวกาศ’ (Space Technology) และ ‘เกษตรกรรมดาวเทียม’ (Satellite Agriculture) เพื่อพัฒนาเกษตรกรรมของทั้งสองประเทศ นับเป็นการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ภูมิสารสนเทศ และผู้มีส่วนกำหนดนโยบาย 140 คน ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยโซลูชั่นที่ก้าวล้ำ และกำหนดภูมิทัศน์ใหม่ของ ‘เทคโนโลยีอวกาศ’ และ ‘เกษตรกรรมที่ชาญฉลาดต่อสภาพภูมิอากาศ’ อาทิ การใช้ข้อมูลและภาพจากดาวเทียมเพื่อการพยากรณ์อากาศ การวิเคราะห์ดิน และการจัดการพืชผลแบบเรียลไทม์ได้ปฏิวัติการเกษตรกรรมสู่ยุคใหม่ เพิ่มขีดความสามารถสร้าง ‘มาตรฐานสากลเกษตรยืดหยุ่นและยั่งยืน’ ในการทำ ‘เกษตรอัจฉริยะ’ ผ่านปัญญาประดิษฐ์ IoT และการวิเคราะห์ข้อมูล โดยสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ SDG2 – ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security), SDG3 - ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ตลอดจน SDG11 – ชุมชนและเมืองที่ยั่งยืน เราจะร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศ ด้วยนวัตกรรมและสร้างแรงบันดาลใจของความร่วมมือไทย – เนเธอร์แลนด์ ในการผลักดันขยายองค์ความรู้และการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นความท้าทายระดับโลก

นายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน (Remco van Wijngaarden) เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ‘วิทยาศาสตร์ภูมิสารสนเทศ’ มีความสำคัญมากขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา การวางแผนการเดินทาง พยากรณ์อากาศ และอื่นๆ ข้อมูลเชิงพื้นที่กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับหลายภาคส่วน เช่น เกษตรกรรม การวางผังเมือง การจัดการทรัพยากร (ป่าไม้ น้ำ แร่ธาตุ) และเพื่อการออกแบบระบบที่จะลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และภัยพิบัติ อันเป็นความท้าทายของโลกปัจจุบัน เช่น อุณหภูมิที่สูงขึ้น ภัยแล้ง น้ำท่วม การตัดไม้ทำลายป่า การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ มลภาวะทางอากาศ ฯลฯ ล้วนเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน และต้นกำเนิดและผลที่ตามมามักจะทับซ้อนกันทางภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์ภูมิสารสนเทศช่วยให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนได้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยเราในการคิดค้นวิธีแก้ปัญหาและการตัดสินใจที่ดีขึ้นเพื่อสังคมและโลกอีกด้วย การประชุมเทคโนโลยีอวกาศเนเธอร์แลนด์ – ไทย 2023 ครั้งนี้  มุ่งเน้นไปที่การนำ ‘เทคโนโลยีอวกาศ’ เข้ามามีส่วนในการทำ ‘ระบบการเกษตรและอาหาร’ ที่มีความยืดหยุ่นคล่องตัวและยั่งยืนมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิสารสนเทศจึงมีบทบาทสำคัญในการทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้

ดร. นพดล สุกแสงปัญญา ผู้เชี่ยวชาญ วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สจล. กล่าวถึงการใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการวิเคราะห์และติดตามสังเกตการณ์ ‘ภัยแล้ง’ ในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1. ภัยแล้งเชิงอุตุนิยมวิทยา 2. ภัยแล้งเชิงอุทกภัย 3. ภัยแล้งเชิงเกษตรกรรม เพื่อให้หน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลและภาพไปใช้ในการวางแผนและบริหารจัดการภัยแล้งได้ดียิ่งขึ้น โดยใช้องค์ประกอบต่างๆ อาทิ ระดับปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิของหน้าดิน สภาพอากาศความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์พืช ระบบชลประทาน และความชื้นของดิน เพื่อใช้ในการวางแผนทำการเกษตรอย่างยั่งยืน ผลักดันเครือข่ายในประเทศไทยและเนเธอร์แลนด์ในการใช้ ‘เทคโนโลยีอวกาศ’ มาช่วยทางด้าน ‘เกษตรแม่นยำ’ และระบบอาหารที่มั่นคงเพียงพอ  หากเกษตรกรสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้จริงจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพียงแต่ในปัจจุบันยังขาดการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ใช้ นอกจากนี้ควรออกมาตรการเพื่อความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ เสริมสร้างเกษตรกรที่ไม่ทำลายป่าและไม่ทำการเพาะปลูกมากเกินจนล้นความต้องการของผู้บริโภค

ศาสตราจารย์ ดร. วิคเตอร์ เจตเทน คณะวิทยาศาสตร์สารสนเทศภูมิศาสตร์และการสังเกตการณ์โลก (ITC) มหาวิทยาลัยทเวนเต้ (University of Twente) เนเธอร์แลนด์  กล่าวว่า การวิเคราะห์ความมั่นคงทางอาหารใน ‘สภาพอากาศสุดขั้ว’ (Extreme Climatic Conditions) ด้วยเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล หรือ Remote Sensing จากดาวเทียม สามารถช่วยระบุปริมาณผลิตผลที่ชัดเจน ปัญหาการผลิตในเวลาและสถานที่ได้อย่างแน่นอน เราสามารถระบุพื้นที่มีปัญหาเพื่อวางแผนรับมือกับจุดอ่อนได้ทันท่วงทีและแม่นยำ ทั้งนี้เราต้องเข้าใจความซับซ้อนของระบบการเกษตร ความยืดหยุ่น ความเป็นจริงและข้อจำกัดของเกษตรกร จึงจะสามารถใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

งานครั้งนี้ ประกอบด้วยความร่วมมือของ 11 องค์กร ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL), คณะวิทยาศาสตร์สารสนเทศภูมิศาสตร์และการสังเกตการณ์โลก (ITC) มหาวิทยาลัย Twente, สำนักงานภูมิภาค FAO ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก, สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ประเทศไทย (GISTDA), กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรมป่าไม้ ประเทศไทย, ศูนย์ภูมิสารสนเทศสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT), คาดาสเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เนเธอร์แลนด์, ปีเตอร์สัน เทคโนโลยี เนเธอร์แลนด์ และชมรมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ – สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

X

Right Click

No right click