December 22, 2024

เบ้าหลอมความรู้ เสริมสร้างผู้นำ : ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม

March 28, 2019 4348

ดังเป็นที่ทราบกันดีว่าเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในโครงสร้างของทุกภาคส่วน ไม่ละเว้นแม้ภาคการศึกษา หลายสถาบันได้นำเอาประโยชน์ของเทคโนโลยีมาพัฒนาปรับปรุง กระบวนการเรียนรู้ให้ล้ำหน้าเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนที่เปลี่ยนไป

แต่หัวใจสำคัญที่ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีเหนือจินตนาการแค่ไหน เพียงใด ก็ไม่อาจทดแทนได้นั่นคือ องค์ความรู้ (Knowledge หรือ Content) ที่ยังคงเป็นจุดแข็งสำคัญของสถาบัน บัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และในปีที่ผ่านมา นิด้าได้มีการเปลี่ยนคณะผู้บริหารวาระใหม่ โดย ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม ได้ก้าวเข้ามารับตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และได้กล่าวถึงแนวทางและนโยบายในการดำเนินงานต่อจากนี้ไปว่า

“ที่ผ่านมาทุกมหาวิทยาลัยประสบปัญหาเดียวกันคือจำนวนผู้ที่เข้ามาในระบบการศึกษามีแนวโน้มลดลง ดังนั้น ในอนาคตต้องมีการพัฒนาขยายฐานผู้เรียนให้ครอบคลุมมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มที่เคยจัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาแต่จะทำอย่างไรให้ทุก ๆ คน สามารถเข้ามาเรียนรู้กับเราได้ เป็นการขยายการเรียนรู้ไปสู่เป้าหมายอื่น ๆ มากขึ้น ไม่ใช่เพื่อแค่ใบปริญญา แต่อาจรวมไปถึงการเรียนเพื่อพัฒนาทักษะ ไม่ว่าจะเป็นการ Reskill ทักษะมาพัฒนาปรับปรุงหรือแม้แต่การที่ให้ผู้เรียนมีการเปลี่ยน Upskill ไปจากสาขาเดิม รวมถึงการที่จะต้องมี Multi skill หรือทักษะที่เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่เรียนรู้เพียงสาขาเดียวก็อาจจะต้องเป็นการเรียน ที่ประยุกต์ มีความเป็นสหวิทยาการมากขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนได้มีทักษะที่กว้างขึ้นและสามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่จะมีความหลากหลาย มากขึ้นในอนาคต” ผศ.ดร.ณดา กล่าว และยังเปิดเผยต่อว่า

ที่ผ่านมามีการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์ที่มีการ แข่งขันกันอย่างดุเดือดทั้งในและต่างประเทศ ทางนิด้าเองได้ พยายามยึดจุดยืนและต้องการนำเสนอความแตกต่างเพื่อเป็นทางเลือกที่ดีกว่าให้กับผู้เรียน “ในแง่ของเนื้อหาวิชานิด้าค่อนข้างทันสมัยอยู่แล้ว เพราะเรามีคณาจารย์ที่ทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง การเรียนการสอนของเราจะควบคู่ไปกับการที่คณาจารย์ทำวิจัย ทำให้องค์ความรู้ของอาจารย์ไม่หยุดกับที่ มีการพัฒนาและติดตามกระแสของโลกและการพัฒนาประเทศตลอด” ยกตัวอย่างเช่น เราสอนในเรื่องการบริหารการพัฒนา แต่เราก็มีงานวิจัยที่ผูกติดในเรื่องของ Policy นโยบายต่างๆ และ นำเอาทิศทางการพัฒนาระดับสากลเข้ามาปรับปรุงหลักสูตร เป็นประจำ และที่สำคัญเรามีกระบวนการในการปรับปรุงที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลง ทำให้คณาจารย์ในแต่ละสาขาสามารถที่จะ พัฒนาเนื้อหาวิชาการให้ทันสมัยอยู่อย่างต่อเนื่อง

 

  • อนาคตวิชาการ ต้องบูรณาการข้ามศาสตร์

ผศ.ดร.ณดา กล่าวถึงแนวทางวิชาการในอนาคตว่า ต่อไป จะเป็นการบูรณาการข้ามศาสตร์ นิด้าเราก็พยายามที่จะให้เกิด การบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างคณะมากขึ้น เรามัก ตั้งคำถามก่อนว่า ถ้าเราจะพัฒนาผู้เรียนสักคนหนึ่งผลลัพธ์ ของการเรียนรู้ที่เราอยากจะให้ผู้เรียนคนนี้ได้รับนั้น ตอบโจทย์ กับความต้องการของตลาดหรือไม่ อาจจะมีการพัฒนานักกฎหมายให้มีความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ด้วย เพื่อให้เกิดรูปแบบของ นิติเศรษฐศาสตร์ หรือแม้แต่การพัฒนาทักษะการสื่อสารในคน ที่เรียนทางด้านบริหารภาครัฐ รวมถึงความเข้าใจความรู้ในการใช้ เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปด้วย มีการพัฒนาผูกประกอบการให้มี ความสามารถที่จะรองรับการขยายตัวของธุรกิจออนไลน์หรือ การค้าแบบ E-commerce ต่างๆ เป็นต้น

แม้ว่าเรื่อง Massive Open Online Courses หรือ MOOCs ที่หลายๆ มหาวิทยาลัยทั่วโลกกำลังตื่นตัวจะถือเป็นความท้าทาย ต่อการพัฒนาระบบการศึกษา ทำให้กระบวนการเรียนเปลี่ยนไป และภาคเอกชนเองก็เริ่มมองว่าทักษะของคนไม่จำเป็นจะต้องผ่านการเรียนปริญญาเท่านั้น แต่สิ่งที่เราคิดว่าเราสามารถ สร้างโอกาสจากเรื่องเหล่านี้ได้ก็คือ แทนที่เราจะให้เขาเรียนในคอมพิวเตอร์คนเดียว จะไม่ดีกว่าหรือหากการเรียนรู้นั้นถูกจัดอยู่ในบรรยากาศที่เหมาะสม ได้พบเพื่อน ได้ปฏิสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อนและอาจารย์ ซึ่งสิ่งนี้เป็นจุดแข็งของนิด้าเพราะเรามีสังคมในการเรียนระหว่างกัน มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน เป็นสิ่งที่ผู้มาศึกษาในนิด้าให้ความสำคัญ นั่นคือ การสร้างเครือข่าย ดังนั้น หากเราพัฒนาสิ่งเหล่านี้ควบคู่กันไป ก็เป็นจุดแข็งที่เทคโนโลยี Disrupt ไม่ได้ และอีกจุดแข็งหนึ่งของเราก็คือ การพัฒนากรณีศึกษา (Case Study) ที่เราทำมาอย่างต่อเนื่อง คณาจารย์ของเราค่อนข้างที่จะสัมผัสกับปัญหาในองค์กร สัมผัสกับปัญหาของการพัฒนาในหลายๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็นในด้านการท่องเที่ยว ปัญหาสภาวะที่เกิดในองค์กร เราจึงมีกรณีศึกษาที่จะ สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการอภิปรายและเรียนรู้กันได้ ผ่านรูปแบบกรณีศึกษา

ผศ.ดร ณดา กล่าวถึงเป้าหมายที่จะขยายกลุ่มผู้เรียนให้กว้างขึ้นนั้น นิด้าได้มีการพัฒนาหลักสูตรในรูปแบบ Non Degree มากขึ้น รวมถึงเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างการอบรม Non Degree กับหลักสูตรที่เป็น Degree ที่ผู้เรียนสามารถนำหน่วยกิตมาเทียบโอนในหลักสูตรที่เป็น Degree ได้ ซึ่งทางสถาบันก็มีกฎเกณฑ์ในการดำเนินการรองรับเอาไว้แล้ว

  • ความท้าทาย คือเปลี่ยนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

ผศ.ดร ณดา กล่าวถึงประเด็นเรื่องความท้าทายหลักของ เส้นทางการเปลี่ยนแปลงว่า อยู่ที่การปรับเปลี่ยนได้ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของกระแสที่เกิดขึ้นหรือไม่ อย่างไร รวมไปถึงการ พัฒนาประเทศเองก็มีทิศทางที่เริ่มมีการจัดตั้งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีมีทิศทางการพัฒนาชัดเจน ดังนั้น โจทย์ต่อไปของนิด้าคือ การพัฒนาคนให้รองรับไทยแลนด์ 4.0 หรือพัฒนาคนไทยให้ไปรองรับในศตวรรษที่ 21 การที่นิด้าเป็นองค์กรที่ไม่ใหญ่มากทำให้อาจจะมีปัญหาในเรื่องของทรัพยากรที่ต้องใช้ในการพัฒนา ปรับเปลี่ยน ขณะเดียวกันด้วยความที่มีบุคลากรไม่มากก็อาจจะ กลายมาเป็นจุดแข็งทำให้นิด้าสามารถปรับตัวได้โดยง่าย นอกจากนี้นิด้ายังมีเครือข่ายของอาจารย์ที่มีประสบการณ์ รวมถึงการทำ MOU ร่วมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศอย่างหลากหลาย ทำให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรไม่ว่าจะเป็นในลักษณะ ของ Double Degree หรือ Dual Degree ซึ่งในอนาคตเราจะได้ เห็นหลักสูตรที่ถือเป็นการวางพื้นฐานทางด้านทรัพยากรบุคคล ให้กับประเทศไทยเพื่อเสริมสร้างเสาหลักในการขับเคลื่อน อย่างมั่นคงและยั่งยืน

“เนื่องจากเราก่อกำเนิดมาโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ฉะนั้นภารกิจหนึ่งของเราคือ การทำให้หลักเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นหลักคิดที่จะทำให้เกิดกระบวนการในการ ตัดสินใจพัฒนาไปสู่ความสมดุลและยั่งยืนได้จริง คิดเชิงระบบเป็น Systematic Approach คือใช้กระบวนการการตัดสินใจ โดยมีเงื่อนไขความรู้กับคุณธรรมเป็นปัจจัยนำเข้ามาสู่กระบวนการในการตัดสินใจที่ใช้หลักพอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน แล้วนำไปสู่พฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นการบริหารองค์กร การตัดสินใจระดับบุคคล เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในลักษณะที่สามารถพึ่งตัวเองได้ ปรับตัวได้เร็วเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง ฟื้นตัวได้เร็วเมื่อเผชิญวิกฤต โดยนิด้ามีการสะสมองค์ความรู้ในเรื่องนี้เอาไว้อย่างมากพอที่จะนำมาพัฒนาเป็นหลักสูตรอบรมพัฒนาผู้นำ การเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต

 

เราจะมีการเปิดตัวหลักสูตรอบรมผู้นำพอเพียง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะเปิดรับสมัครในปีนี้ เพื่อที่จะเปิดเรียนในปีการศึกษา 2562 เป็นหลักสูตรเชื่อมโยงระหว่าง Non degree กับ Degree ได้ และยังตอบโจทย์ทั้งการพัฒนาประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และสามารถพัฒนาคน เพื่อรองรับไทยแลนด์ 4.0 ด้วย เป็นกลไกการ สร้างคนที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาแบบองค์รวม มีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้นำองค์กรทั้งภาครัฐและ เอกชน เพราะเป็นกลุ่มที่มีบทบาทในการตัดสินใจ และขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ การเรียนจะมีทั้งหมด 3 Modules

  1. การสร้างความรู้ ทำให้เข้าใจก่อนว่าเศรษฐกิจพอเพียงมี Function เชิงระบบอย่างไร
  2. การฝึกปฏิบัติ ในการถอดบทเรียนจากกรณีศึกษา เอาความรู้ที่ได้รับใน Module แรกมาถอดบทเรียนการฝึกปฏิบัติ โดยการศึกษาจากกรณีศึกษา
  3. การประยุกต์ ต้องสามารถเอาความรู้ที่ได้ไปใช้ในการ ปฏิบัติงานได้จริง

หากเราสามารถพัฒนาบุคลากรให้เข้าใจศาสตร์นี้อย่างจริงจัง เราก็จะได้บุคลากรที่ขับเคลื่อนในทุกๆ มิติ ถ้าคนที่จะต้อง มีบทบาทในตรงนี้เข้าใจในวิธีคิดที่เน้นในเรื่องของการมีความรู้อย่างเพียงพอ มีความรู้ในการลงมือทำและมีกระบวนการตัดสินใจ โดยยึดหลักมีเหตุมีผล พอประมาณ แล้วก็ตระหนักถึงความเสี่ยง รอบคอบระมัดระวังในการที่จะตัดสินใจ ก็เหมือนกับว่าเราจะได้ Output ในแง่ของความยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นมิติในการพัฒนาที่ยั่งยืน

ทั้ง ผศ.ดร ณดา ได้กล่าวถึงบทบาทใหม่ๆ ของนิด้าที่จะมีมากขึ้นในปีนี้ผ่านโครงการบริการวิชาการมากมายที่จะลงไปสู่ คนรุ่นใหม่และกลุ่มต่างๆ นอกเหนือจากบุคลากรในภาครัฐและ เอกชน เช่น โครงการที่จัดทำเพื่อพัฒนาทักษะด้านการบริหารให้กับผู้เรียนในระดับอาชีวะ โครงการผู้นำเยาวชนระดับมัธยมปลายเพื่อพัฒนาทักษะทางการเงิน การทำ Summer Camp ของนักศึกษาปริญญาตรีเพื่อเข้ามาเรียนรู้วิชาการด้านต่างๆ ในสถาบัน รวมไปถึงโครงการพัฒนากลุ่มผู้นำท้องถิ่น เป็นต้น

เหล่านี้คือสิ่งที่นิด้าจะเข้าไปมีบทบาทและปรับเปลี่ยน ทิศทางในลักษณะของการสร้างบทเรียนรู้ต่อสังคมในวงกว้าง ซึ่ง ผศ.ดร.ณดา ได้กล่าวปิดท้ายถึงสิ่งที่ผู้เรียนทุกคนจะได้รับจากการเข้าร่วมเรียนรู้ผ่านทุกโครงการของนิด้าต่อจากนี้ไปว่า

“ในแง่ของคุณภาพ ไม่ว่าคุณจะเรียนจบปริญญาตรีจากที่ไหนแล้วมาต่อปริญญาโทที่นิด้า คุณได้มากกว่าความรู้อยู่แล้ว เพราะบุคลากรของ เรามีความเชี่ยวชาญในศาสตร์นั้น ๆ คุณจะได้รับการพัฒนาตามความต้องการของตลาดจริง แต่นอกจากความรู้ นักศึกษายังจะได้ทักษะที่เป็น Soft Skills ที่จำเป็นติดตัวไปด้วย รวมถึงสิ่งที่สำคัญคือ การพัฒนาคนและจริยธรรม เพราะว่าเราเองขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้น ตรงนี้เป็นเรื่องที่เราค่อนข้างมั่นใจว่า นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว จะเป็นบัณฑิตที่ตรงความต้องการของตลาด ส่วนบริษัทหรือ องค์กรต่าง ๆ ที่ได้รับบัณฑิตของเราเข้าไปทำงาน ก็มีความมั่นใจและเชื่อมั่นในตัวนักศึกษาได้ เพราะเรามีกระบวนการในการจัดการเรียนการสอนที่ไม่ได้ให้เฉพาะความรู้ แต่ครบพร้อมไปทักษะและจริยธรรม โดยสมบูรณ์” ผศ.ดร ณดา กล่าวในท้ายที่สุด


เรื่อง : ณัฐพัชธ์ สุมา
ภาพ : พัฐจักร ประพฤติกรรม

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Saturday, 06 November 2021 03:14
X

Right Click

No right click