ในวันนี้นิด้าถือว่ามีความพร้อมรับมือกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก รศ.พ.ต.อ.ดร.ประพนธ์ สหพัฒนา รองอธิการบดีฝ่ายบริหารนิด้า ได้เปิดเผยถึงประเด็นนี้กับนิตยสาร MBA ว่า “ภาพรวมของนิด้าในปัจจุบันอยู่ในช่วงของการเตรียมความพร้อมเพื่อออกนอกระบบเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลง ของมหาวิทยาลัยครั้งใหญ่ เพราะการเปลี่ยนจากเดิมที่เคยเป็น “ส่วนราชการ” มาสู่ “การเป็น มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ” ต้องมีการ เตรียมตัวในหลายๆ ด้าน ซึ่งระยะนี้เป็นช่วงเวลาของการกำหนดเป้าหมายในการเดินหน้า อีกส่วนหนึ่งจะเป็นการเตรียมตัวสำหรับภาระเรื่องการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องมีการคิดร่วมกันอย่างมาก”
ในภาพรวมของนโยบาย รศ.พ.ต.อ.ดร.ประพนธ์ เผยว่า มีการกำหนดเรื่องเร่งด่วนไว้หลักๆ ที่ 2 เรื่องใหญ่ คือ โครงสร้างของนิด้า ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับใหญ่ รวมไปถึงการบริหารงานบุคคล ส่วนเรื่องที่ 2 เป็นผลต่อเนื่องที่มาจากการออกนอกระบบ ซึ่งนำไปสู่การทบทวนในด้านนโยบายการเงินและการคลัง นอกจากก็เป็นเรื่องสำคัญอื่นๆ อาทิ เรื่อง โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบสารสนเทศ และสุดท้ายที่เราคิดว่าจะเป็นเสมือนเครื่องมือในการบริหารนโยบายให้ไปถึงเป้าหมาย คือ ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ
- ปรับโครงสร้างทั้งระบบเพื่อตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลง
“โครงสร้างและระบบใหม่ต้องตอบสนองต่อการปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว การทํางานต้องกระชับและคล่องตัวและ ที่สำคัญต้องสามารถตอบโจทย์ความต้องการโดยมีความยืดหยุ่นต่อผู้เกี่ยวข้อง ได้ทั้งหมด ทั้งในส่วนนักศึกษาและบุคลากร รวมไปถึงต้องรองรับต่อการสร้างสิ่งใหม่ๆ เช่น การสร้างหลักสูตรใหม่ๆ ที่เป็นความต้องการของสังคมและผู้เรียน ซึ่งเรื่องนี้ก็เริ่มมีการปรับกันในหลายๆ สถาบัน”
ในส่วนของความท้าทาย รศ.พ.ต.อ.ดร.ประพนธ์ เผยว่า โดยหลักของความยาก คือ เรื่องคน และ Facility ต่างๆ ที่ผูกพันไปกับเรื่องของค่าใช้จ่าย ซึ่งเรื่องที่ใหญ่ที่สุดก็คงใกล้เคียงกับองค์กร อื่นๆ นั่นคือเรื่องค่าจ้าง โดยที่ผ่านมานิด้ามีรูปแบบการจัดจ้างที่ต่างไปจากที่อื่นโดยเรามีการจัดจ้างหลากหลายรูปแบบ ในหลายคณะมีการจัดจ้างด้วยงบประมาณของคณะโดยตรง มีทั้งการจัดจ้างแบบชั่วคราวเป็นโปรเจ็กต์ มีการจัดจ้างโดยสถาบันบางส่วนก็เป็นการจัดจ้างแบบโครงการต่างๆ รวมถึงข้าราชการ ทั้งที่เป็นลูกจ้างประจำ และการจัดจ้างที่แตกต่างของคณะที่ ตั้งขึ้นมาใหม่ ซึ่งความหลากหลายเหล่านี้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ด้านสวัสดิการเกิดขึ้น
ทางฝายบริหารนิด้าได้กำหนดเป็นหนึ่งในเป้าหมายว่า ต้องปรับระบบการจัดจ้างให้มีความเป็นมาตรฐานหลังออกนอกระบบ แม้อาจมีความแตกต่างของการ Top Up ไปตามคณะ ที่มีศักยภาพสูง นั่นก็เป็นกรณีๆ ไป แต่โดยพื้นฐานคือต้องมีมาตรฐานที่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้นิด้าสามารถบริหารจัดการและ พัฒนางานด้านบุคลากรรวมไปถึงงานสรรหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- เรื่องเงิน เรื่องใหญ่ เมื่อเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ
รศ. พ.ต.อ ดร ประพนธ์ เผยถึงนโยบายด้านการเงินและการคลังหลังจากออกนอกระบบว่า “ในอุดมคติเลยนั้น นิด้าจะต้องอยู่ได้ด้วยตนเอง แต่ในความเป็นจริง เราคงยังไม่สามารถไปถึงจุดนั้นได้ในทันทีทันใด แต่ก็เป็นเป้าหมายปลายสุดที่อยากจะไปให้ถึง วันนี้การออกนอกระบบจะส่งผลดีต่อทางสถาบันในด้านการบริหารจัดการ ที่จะมีความเป็นอิสระและความคล้องตัวในระดับหนึ่ง แต่นิด้าก็ยังคงรับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากภาครัฐในบางส่วน
เมื่อวิเคราะห์แนวโน้ม รายได้ – รายจ่ายในระบบ จะพบสิ่งที่เห็นได้ค่อนข้างชัดว่า ทิศทางของรายได้ของมหาวิทยาลัยมีความโน้มเอียงที่จะลดลงตามส่วนของจำนวนนักศึกษาที่มีแนวโน้มจะลดลง ทางสถาบันฯ ได้เตรียมกลยุทธ์และแนวทางเพื่อตั้งรับทั้งในด้านการพัฒนาช่องทางเพิ่มรายได้และแนวทางการบริหารต้นทุนค่าใช้อย่างสร้างสรรค์”
- เพิ่มหลักสูตรใหม่ ตอบโจทย์ภาครัฐ เอกชน และ Non Degree Program
รองอธิการบดีฝ่ายบริหารของนิด้า ให้ความเห็นถึงแนวทาง ตั้งรับตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์หลักสูตรการศึกษาใหม่ๆ ที่ ตลาดกำลังมีความต้องการ อาทิ หลักสูตรระยะสั้นที่ไม่เน้นปริญญาสำหรับทั้งคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความรู้เพื่อการใช้งานได้ทันที และคนรุ่นเก่าที่ต้องการเพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆ เพื่อความเท่าทันต่อสภาพการณ์ทางธุรกิจและการแข่งขันในโลกยุคใหม่ ซึ่งเหล่านี้นิด้าสามารถดำเนินการได้ และได้อย่างทันทีภายใต้ การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ
ในส่วนของงานบริการวิชาการ ทั้งงานวิจัย งานฝากอบรม และงานที่ปรึกษา ทางนิด้าจะมีโครงการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานราชการทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เช่น โครงการต่างๆ ที่รองรับสังคมผู้สูงอายุ มีโครงการบูรณาการร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการสร้างหลักสูตร เพื่อปรับตัวและเตรียมความพร้อมให้กับคนในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนเป้าหมายในการเข้าร่วมในโครงการที่เกี่ยวกับ Thailand 4.0 เป็นต้น
นอกจากภาครัฐนิด้ายังมีนโยบายสนับสนุนโครงการ จัดฝึกอบรมบุคลากรของภาคเอกชน ทั้งในศาสตร์ด้านการบริหาร บุคคล การสื่อสาร ตลอดจนเรื่องภาวะผู้นำ ภายใต้ศาสตร์ทั้ง 11 สาขาที่นิด้าเรามีอย่างครบพร้อม
- นโยบายเรื่อง Smart
ส่วนของการบริหารต้นทุนรายจ่าย นิด้ามีความพยายาม ทำในเรื่องของการประหยัดพลังงานในปีที่ผ่านมาได้มีการจัดการเรื่อง Facilities ใหม่ โดยมีการเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าแสงสว่างในสถาบันเป็นหลอด LED ทั้งหมด เปลี่ยนเครื่องปรับอากาศให้เป็นแบบอินเวอร์เตอร์เกือบทั้งหมด โดยได้งบสนับสนุนจากกระทรวงพลังงาน รวมทั้งการปรับความเร็วรอบของเครื่องปรับอากาศทั้งหมด ส่งผลให้ตัวเลขการประหยัดค่าใช้จ่ายลดลงที่เกือบ 6 ล้านบาทต่อปี โดยการดำเนินการทั้งหมดมาจากแผน Smart City ทำให้มี Guideline ตั้งแต่การติดตั้งมิเตอร์วัดไฟที่ลงในระดับที่ละเอียดมากขึ้น การใช้พลังงานสะอาด การติดตั้งสถานี ชาร์จไฟรถยนต์ การรณรงค์เรื่องลดการใช้ถุงพลาสติกทั้งสถาบัน โดยร่วมกับหน่วยงานภายนอก อาทิเช่น CP All รณรงค์การเลิกใช้ขวดพลาสติก เป็นต้น ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ได้ทำในช่วงที่ผ่านมา
อีกส่วนสำคัญในการพัฒนาคือ เรื่องการปรับระบบสารสนเทศ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำเพื่อร้อยเรียงกับเรื่องอื่นในแผนงาน เพื่อนำไปสู่การบริหารงานหลักสูตรที่สามารถนำคณาจารย์จากหลายคณะมาร่วมกันสอน เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ในหลายๆ ศาสตร์เข้าด้วยกันตามที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับหลักสูตรใหม่ๆ ที่สังคมไทยและโลกต้องการ ก็คือการนำองค์ความรู้ใน หลายๆ ด้านมารวมกัน ซึ่งการตอบโจทย์แบบนี้จำเป็นต้องนำหลายคณะวิชาเข้ามาผนวกกัน
รศ.พ.ต.อ.ดร.ประพนธ์ ให้ความเห็นทิ้งท้ายว่า “บนสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับการตอบโจทย์เรื่องการศึกษาของสังคม การที่จะต้องปรับเปลี่ยนสิ่งที่มีมาเดิมและการเพิ่มสิ่งใหม่ รวมทั้งการเผชิญการลดต้นทุนและการเพิ่มรายได้ การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรหรือคณะวิชา ‘นิด้า’ รู้ว่าปัญหาและอุปสรรคคืออะไรในอนาคต และมีคำตอบแล้วบางส่วน เช่น การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ การปรับโครงสร้างการทำงานเพื่อรองรับ การบริหารงานบุคคล ที่จะต้องเพิ่มคนเก่งให้มากขึ้นและรักษาให้อยู่กับสถาบันให้นาน เหล่านี้คือสิ่งที่จะต้องเดินหน้าต่อไป การปรับเปลี่ยนมุมมองหรือกระบวนทัศน์ยังคงต้องทำต่อไป และจะเข้มข้นมากขึ้น”
เรื่อง : ณัฐพัชธ์ สุมา
ภาพ : พัฐจักร ประพฤติกรรม