September 08, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

อุปสรรคในการพัฒนา ความสามารถการแข่งขันด้าน ICT ของประเทศไทย

July 19, 2017 7125

ในปัจจุบันดัชนีหลักที่ใช้วัดความสามารถการแข่งขันของประเทศก็คือโครงสร้างพื้นฐานในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม หรือ ICT (Information and Communication Technology) สถาบันที่จัดอันดับความสามารถการแข่งขันของประเทศไม่ว่าจะเป็น World Economic Forum (WEF) หรือ International Institute for Management Development (IMD) ล้วนแต่ใช้โครงสร้างพื้นฐานทางด้าน ICT เป็นดัชนีหลักในการวัดความเจริญของประเทศ

นอกจากนี้จะเห็นได้ชัดว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีการลงทุนทางด้าน ICT เป็นสัดส่วนที่มีจำนวนมากกว่าประเทศที่ด้อยพัฒนา นอกจากนี้ในมุมของการบริโภค ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีการบริโภคอุปกรณ์และบริการ ICT มากกว่าประเทศที่ด้อยพัฒนา สาเหตุหลักที่ประเทศที่พัฒนาแล้วให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT ก็เป็นเหตุผลเดียวกับการที่ประเทศเหล่านั้นให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร และระบบคมนาคมอื่นๆ เช่น โทรศัพท์ ถนน รถไฟ เป็นต้น เนื่องจาก ICT เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้คน ธุรกิจ และองค์กรต่างๆ สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายรวดเร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลให้ประชาชนและธุรกิจสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ทำให้ตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น อีกประการหนึ่งก็คือโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT ส่งผลให้คนเข้าถึงความรู้และมีการศึกษามากขึ้น การศึกษาสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เมื่อคนมีการศึกษาสูงขึ้น คนเหล่านั้นก็มีโอกาสที่จะสร้างนวัตกรรมต่างๆ ให้เกิดมากขึ้นไปด้วย จากงานวิจัยของ World Bank พบว่าในทุกๆ สิบเปอร์เซ็นต์ของการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ อย่างน้อย 1.4 เปอร์เซ็นต์ 

 สำหรับประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีความเจริญแล้ว เช่นเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น หรือ มาเลเซีย จะเห็นว่าในปัจจุบัน ประเทศไทยยังมีความเจริญด้านเทคโนโลยีทั้งทางด้าน ICT และโทรคมนาคมต่ำกว่า โดยจากการเปิดเผยผลวิจัยความสามารถแข่งขัน ICT ไทย ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในด้านต่างๆ เช่น จำนวนผู้ใช้บรอดแบนด์ (อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง) ทั้งด้านจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์ และอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และเรายังคงเป็นเพียงผู้ใช้ที่เป็นผู้ตามเทคโนโลยี ยังไม่ใช่ผู้สร้างนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่มีบริษัทไทยในประเทศไทยที่สามารถสร้างความสามารถการแข่งขันด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ขณะที่ จีนมี Alibaba ญี่ปุ่นมี Rakuten และ เกาหลีมี Line ซึ่งจากการจัดอันดับความสามารถในด้านโครงสร้างพื้นฐานของระบบเครือข่าย (Network Readiness Index) ที่วัดทั้งด้านคุณภาพและปริมาณของระบบเครือข่ายโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ต พบว่า ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 67 จาก 143 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นเหตุผลยืนยันได้อย่างดีกว่าความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยนั้นตามหลังประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากมีขีดความสามารถด้าน ICT น้อยกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว นอกจาการลงทุนและการบริโภค ICT ของคนและธุรกิจในประเทศแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือนวัตกรรมทางด้าน ICT รวมถึงธุรกิจมีการตอบรับนำ ICT เข้ามาประยุกต์ใช้ในการทำธุรกิจ มีการเกิดขึ้นของ
สิทธิบัตรทางด้าน ICT และมีการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้าน ICT ประเทศไทยยังมีบุคลากรที่มีศักยภาพ แต่ขาดการส่งเสริมอย่างชัดเจนจากภาครัฐในด้านการพัฒนาบุคลากร โดยในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยผลิตทรัพยากรบุคคลทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณและการพัฒนาด้านการศึกษา แต่ก็ยังมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาดแรงงาน รวมทั้งจำนวนบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ 

อีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาความสามารถการแข่งขันทางด้าน ICT ของประเทศไทยก็คือปัจจัยทางด้านการเมืองและกฎหมาย ปัจจัยการเมืองส่งผลกระทบหลักต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของต่างชาติ ทั้งนี้การเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ มีกลุ่มผลประโยชน์แอบแฝงมาในลักษณะของนักการเมือง มีการปฏิวัติรัฐประหารอยู่บ่อยครั้ง ส่งผลให้บริษัทต่างชาติไม่มีความมั่นใจในการลงทุน ส่งผลให้การเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ นั้นไม่สามารถเข้ามาได้ การที่กฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยียังไม่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy) กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยไซเบอร์ เป็นต้น ส่งผลต่อความไม่มั่นใจของภาคธุรกิจ และรวมไปถึงความไม่มั่นใจของผู้บริโภคในการซื้อสินค้าบริการออนไลน์ หรือทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้กฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาธุรกิจและการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรา 15 ที่กำหนดให้ผู้บริการหรือเจ้าของเว็บไซต์ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของผู้ใช้ในระบบของตนเอง 

นอกจากนี้ถึงแม้ว่าจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีแนวโน้มที่เติบโตขึ้น โดยเฉพาะในการใช้ Social Media หรือสื่อสังคม แต่การใช้ส่วนใหญ่ยังเป็นการใช้ในทางที่ผิดเช่น การกลั่นแกล้งทางออนไลน์ (Online Bullying) การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว การใช้เวลากับการเล่นเกม การกระทำเหล่านี้ส่งผลต่อความเสียหายทั้งต่อบุคคลอื่นๆ และระบบเศรษฐกิจและสังคม ภาครัฐบาล ภาคการศึกษา ควรมีนโยบายส่งเสริมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์ในทางบวก 

สุดท้ายปัญหาหลักในด้านการพัฒนาศักยภาพในด้าน ICT ของประเทศไทยก็คือ มีความเหลื่อมล้ำสูงระหว่างคนจนและคนรวย คนมีการศึกษาและคนไม่มีการศึกษา คนที่อยู่ในพื้นที่เมืองหลวงและคนที่อยู่ในพื้นที่ชนบท ในการเข้าถึงเทคโนโลยีพื้นฐาน จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาการใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคมมีการใช้โดยเฉพาะคนที่มีฐานะ มีการศึกษา และอยู่ในพื้นที่เมืองหลวงที่เทคโนโลยีโทรคมนาคมเข้าถึง จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าประเทศไทยมีอัตราผู้ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet) ค่อนข้างต่ำ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทยมีเครือข่าย 4G มาเกือบหนึ่งปีแต่จำนวนผู้ใช้ 4G มีเพียงประมาณ 2 ล้านคน ปัญหานี้ส่งผลให้ประเทศเสียโอกาสในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การเติบโตของรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการศึกษา ซึ่งการเสียโอกาสนี้นำไปสู่ปัญหาด้านอื่นๆ ของประเทศไม่ว่าจะเป็น ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านการศึกษา และรวมไปถึงด้านความมั่นคงด้วย คงถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องมาทบทวนปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมาว่าอะไรคือต้นเหตุ อะไรควรเป็นแนวทางการแก้ปัญหานี้ เพราะต้องอย่าลืมว่าในปัจจุบันไม่มีประเทศไหนที่สามารถแข่งขันหรือพัฒนาได้โดยปราศจากเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบเครือข่ายโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพได้


เรื่อง : รองศาสตราจารย์ พ.ต.ต.ดร.ดนุวศิน เจริญ  
รองคณบดี คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Saturday, 06 November 2021 03:30
X

Right Click

No right click