×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 840

NIDA: World Class University สร้างจุดแข็งของประเทศ Featured

March 26, 2018 7412

เรื่องโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดี สถาบัน บัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ NIDA

“อาจารย์ที่เป็นคนเก่ง ชอบทำงานวิจัย อยู่ NIDA มีความสุขเพราะมีผลงานวิจัย ส่วนอาจารย์ที่ไม่เก่ง มาอยู่ NIDA จะลำบาก ถ้ามาอยู่เกินเวลาแล้วไม่มีผลงานวิชาการ อาจารย์จะถูกประเมินไม่ผ่าน” รองศาสตราจารย์ ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดี สถาบัน บัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ NIDA กล่าวถึง สิ่งที่ เป็น ยุทธศาสตร์การสรรหา/ คัดเลือก และพัฒนาบุคคลทุกกลุ่มให้มีขีดความสามารถสูง (Talented People) ซึ่งเป็นหนึ่งในแปดยุทธศาสตร์การพัฒนาระยะยาวของ NIDA 2551 – 2565

ยังมีอีก 7 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย

- ยุทธศาสตร์การระดมทรัพยากร เพื่อการพัฒนาสถาบัน

- ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบ บริหารงานต่างๆ ของสถาบัน ให้เอื้อต่อ การปฏิบัติภารกิจไปสู่ความเป็นเลิศทาง วิชาการ

- ยุทธศาสตร์การสร้างเครือข่าย ความร่วมมือกับองค์การภายนอก ทั้งใน ระดับประเทศและระดับนานาชาติ

- ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างภาพ ลักษณ์ของสถาบันใหม่ (Rebranding)

- ยุทธศาสตร์การรักษาความเป็น เลิศทางวิชาการด้านหลักสูตร งานวิจัย และการบริการวิชาการที่มีความโดดเด่น และสอดคล้องกับความต้องการของ สังคม

- ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างบทบาท และความรับผิดชอบต่อสังคม

- ยุทธศาสตร์การพัฒนาความเข้ม แข็งของศูนย์พัฒนาวิชาการต่างๆ ของ สถาบัน

เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “สถาบันชั้นนำแห่งชาติที่สร้างผู้นำ และองค์ความรู้เพื่อการ เปลี่ยนแปลงในระดับสากล” และเพื่อเป็นเสาหลักในการพัฒนาศาสตร์การบริหารของประเทศ และสร้างนักบริหารที่มีคุณภาพออกมารับใช้สังคมและประเทศชาติต่อไป อธิการบดี NIDA อธิบาย บทบาทในการพัฒนาศาสตร์การบริหารของประเทศให้เห็นภาพที่ง่าย และชัดเจน

“สร้างจุดขายบนจุดแข็งที่เรามี”

“หมายถึง การที่ประเทศสามารถสร้างจุดแข็ง และจุดขาย ไม่ใช่จุดแข็งอย่างเดียว ถ้าประเทศสามารถมีจุดแข็ง แต่ไม่สามารถนำจุดแข็งมาเป็นจุดขายได้ ก็ไม่เกิดความสามารถในการแข่งขันได้เลย เช่น ทรัพยากรบางอย่างมี และมีค่ามากของโลก แต่ไม่สามารถนำจุดแข็ง หรือทรัพยากรนั้นมาเป็นจุดขายได้นั้น ชาวโลกก็ไม่ได้สนใจเพราะฉะนั้นต้องสามารถสร้างจุดแข็งและจุดขายบนทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศ ได้อย่างสำเร็จ มีประสิทธิภาพ และยั่งยืนด้วย”

ตัวอย่างจุดแข็งที่จะเป็นจุดขายของไทย คือ ภาคเกษตรกรรม/อาหาร และภาคการท่องเที่ยว

ภาคเกษตรกรรมและอาหาร เป็นจุดแข็ง ของไทยที่ทั้งโลกยอมรับ 12 เดือนในหนึ่งปี ไทยมีผลผลิตด้านการเกษตรได้ทุกเดือน สัดส่วนต้นทุนในการบริโภคอาหารต่อรายได้ของคนไทยอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก เนื่องจากไม่ต้องนำเข้าอาหารหลักและยังสามารถส่งออกผลผลิตทางการเกษตรเป็นอันดับหนึ่ง หรืออันต้นๆ ของโลก อาทิ ข้าว น้ำ ตาล ยางพารา มันสำ ปะหลัง ปลาทูน่ากระป๋อง กุ้ง และผลไม้ต่างๆ

มองไปอีก 50 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะอยู่ในจุดได้เปรียบที่ประเทศต่างๆ ต้องให้ความสำคัญเหมือนกับกลุ่มประเทศโอเปคเมื่อสามสิบปีก่อนที่มีทรัพยากรน้ำมัน ซึ่งอนาคตคงแทบจะลดความสำคัญไปมาก ซึ่งเป็นผลจากพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ มีมากขึ้นในต้นทุนที่ถูกกว่า ซึ่งแตกต่างกับประเทศไทยที่มั่งคั่งด้วยทรัพยากรอาหาร และเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีพ ที่ไม่สามารถหาสิ่งอื่นมาทดแทนได้ อีกทั้งประชากรโลกยังคงขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จนสุ่มเสี่ยงภาวะขาดแคลนอาหารในอนาคต

แต่สิ่งที่เป็นจุดอ่อนคือการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ล้วนเป็นขายวัตถุดิบทั้งสิ้น ต้นทุนการผลิตวัตถุดิบส่วนใหญ่คือ แรงงาน ซึ่งมีกำไรไม่มาก จึงไม่คุ้มค่ากับทรัพยากรที่สูญเสียไป ในขณะที่แรงงานของประเทศจำนวนเกือบร้อยละห้าสิบอยู่ในภาคเกษตร จึงเป็นผลให้คนส่วนใหญ่ในประเทศมีฐานะทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ต่ำ

ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับการแปรรูปผลิตผลภาคเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้หลายเท่าของต้นทุน เป็นการเพิ่มรายได้และสร้างงานให้เกิดขึ้น ซึ่งภาครัฐ และมหาวิทยาลัยสามารถเข้ามามีบทบาทสนับสนุนได้

ภาคการท่องเที่ยวของไทย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีศักยภาพสูงมาก

ล่าสุดในปี 2560 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาใน ประเทศไทยประมาณ 35 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยวปีละเกือบสองล้านล้านบาท สูงกว่าสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งคือยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และคาดว่า 10 ปีหลังจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะแตะที่ 50 ล้านคน รายได้ด้านการท่องเที่ยวจะมากกว่าปัจจุบัน 2-3 เท่าตัว 

จุดแข็งด้านการท่องเที่ยวของไทยเกิดจากแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย ไม่ซ้ำซาก ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายต่ำ โดยเฉพาะค่าที่พัก และค่าอาหาร ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถพำนักอยู่ได้หลายวัน เมื่อคูณเข้ากับจำนวนนักท่องเที่ยวแล้ว จะส่งผลให้ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงมาก ซึ่งภาคการศึกษาต้องเตรียมบุคลากรเพื่อรองรับให้เพียงพอ

สำหรับจุดอ่อนของประเทศที่ต้องได้รับการแก้ไขคือ ความอ่อนแอของสถาบันการเมือง ซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นถึงความวุ่นวายทางการเมือง ความไม่ต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายรัฐธรรมนูญอายุสั้นและปัญหาคอร์รัปชัน คอร์รัปชันจะมีความสัมพันธ์กับปัญหาความยากจนของคนในประเทศ ยิ่งความยากจนยิ่งมาก โอกาสเกิดคอร์รัปชันก็ยิ่งง่าย การศึกษาจะมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน เพราะทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะโดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์จะไม่ทำสิ่งที่ผิดหากไม่จำเป็น

“หลักของสถาบันการศึกษาคือ สร้างจุดแข็งของเราให้ยั่งยืน เพื่อให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถการแข่งขันในอนาคตที่ดี ขึ้น ช่วยกันขจัดจุดอ่อนของประเทศไทย NIDA มีปรัชญาวิสัยทัศน์ต้องการเป็นสถาบันชั้นนำแห่งชาติที่สร้างผู้นำ และ องค์ความรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงในระดับสากล ต้องการสร้างผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ และองค์ความรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงในระดับสากล สิ่งที่ทำมา 50 ปี ทำแบบนี้มาตลอด” องค์ความรู้ที่ NIDA สร้างขึ้น จึงมีสองส่วน คือ องค์ความรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงในระดับสากล และองค์ความรู้เพื่อเป็นเสา หลักในการพัฒนาศาสตร์การบริหารของประเทศ

สะท้อนออกมาให้เห็นจากงานวิจัยที่ แบ่งชัดเจนว่าส่วนหนึ่งคืองานวิจัยเพื่อไปสู่สากลให้ได้ ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับบริบทของโลก อาทิ เรื่องเทคโนโลยีเรื่องระบบเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกันอีกกลุ่มเป็นวิจัยพื้นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศเกี่ยวข้องกับบริบทของสังคมไทย อาทิ การเมืองการปกครองกฎหมายไทยต่างๆ

“เหล่านี้ เราก็ชัดเจนคือ จะไปโฟกัสอันหนึ่งและทิ้งอีกอันหนึ่งก็ไม่ได้ บางทีเราก็ต้องการขึ้นไปให้ชาวโลกได้เห็น NIDA ต้องไปทำวิจัยที่สามารถตีพิมพ์วารสารนานาชาติได้ ถ้าให้อาจารย์ทำงานวิจัย แต่ไม่เคยได้ตีพิมพ์วารสารนานาชาติ ชื่อเสียงเราระดับโลกก็ไม่ได้ พอเราไปเกียร์ทางนั้น ใส่น้ำมันไปทางนั้นหมด งานวิจัยที่เป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศก็ไม่เกิดขึ้นก็ถือว่า ไม่ได้ช่วยประเทศในการที่เราจะทำให้ปัญหาในประเทศลดลงได้ หรือสร้างความเข้มแข็งชุมชนได้ ดังนั้นวันนี้ งานวิจัย NIDA จะมีสองส่วนส่วนหนึ่งคือ เน้นที่เป็นสากลของโลก อีกส่วนเน้นในท้องถิ่นแต่ละคณะจะรับผิดชอบต่างกัน”

“NIDA สถาปนาขึ้นจากพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพื่อให้เป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูง ให้ความรู้กับประชาชนคนไทยออกไปบริหารพัฒนาประเทศชาติ เราก็ทำหน้าที่นี้มาตลอด พัฒนาและเปลี่ยนหมุนไปกับการเปลี่ยนแปลงของทั้งโลก และภายในประเทศไทย ตัวหลักสูตรก็ต้องเปลี่ยนตลอดเวลา วิธีการสอนก็ต้องเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่เอาเข้ามาใช้ก็ต้องเปลี่ยนตลอดเวลา”

การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดนิ่ง เพื่อให้ก้าวไปสู่การเป็นสถาบันอุดมศึกษาระดับสากล (World Class University) หมายความว่ามหาวิทยาลัยต้องมีองค์ความรู้ที่ทันสมัยทันโลก ทุกคณะของ NIDA ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณวุฒิระดับ อุดมศึกษาของชาติ และการประเมินในระดับดีมาก และสถาบันยังได้รับคะแนนการประเมินการดำเนินงานจากหลากหลายองค์กรในระดับสูงที่สุดในประเทศไทย ส่วนในด้านของบุคลากร สถาบันมีคณาจารย์และบุคลากรระดับชั้นแนวหน้าของประเทศ โดยจัดเป็นสถาบันการศึกษาที่มีสัดส่วนอาจารย์วุฒิปริญญาเอก และสัดส่วนอาจารย์ที่มีตำแหน่งทางวิชาการสูงที่สุดในประเทศไทย

ในโลกนี้ มีมหาวิทยาลัยหลายพันแห่งที่เปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจ และการบัญชี (Association to Advance Collegiate Schools of Business : AACSB) คือ หน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางใน การรับรองและประกันคุณภาพให้กับสถาบันการศึกษาด้านธุรกิจ หรือ Business Schools ทั่วโลก ปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 30 ของสถาบัน ในสหรัฐอเมริกา และร้อยละ 5 ของสถาบันการศึกษาทั่วโลกที่ ได้รับการรับรองนี้ ซึ่ง NIDA คือ หนึ่งสถาบันที่ AASCB ให้การรับรอง

“ถ้าดูกันอย่างผิวเผิน NIDA เล็กมาก เพราะมีนักศึกษา ประมาณ 7 พันคน เทียบกับอีกหลายแห่งที่มีนักศึกษา 4 - 5 หมื่นคน NIDA มีอาจารย์ไม่ถึง 200 คน ที่อื่นมีอาจารย์หลายพันคน แต่พอดูลึกลงไป เช่น ด้านงานวิจัย สัดส่วนผลงานวิจัย อาจารย์ NIDA เปรียบเทียบต่ออาจารย์ จำนวนตีพิมพ์ หารด้วยอาจารย์ในสถาบันนิด้าเป็นอันดับหนึ่งของทั้งประเทศ ถึง NIDA จะเล็กก็จริง แต่มีขีดความสามารถสูง เรามี Facility ที่ทันสมัย มีเครือข่ายมีแหล่งข้อมูลที่ดี ใครก็ตามที่เคยมาประเทศไทยแล้ว แวะเข้ามาดู NIDA ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนที่จะปฏิเสธจับมือกับเรา”

นั่นคือสิ่งที่เชื่อมโยงเข้ากับ ยุทธศาสตร์การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์การภายนอก ทั้งในระดับ ประเทศและระดับนานาชาติเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์เพื่อเข้าถึงพันธมิตรที่มีความโดดเด่น ในสิ่งที่สถาบันขาดแคลน แต่ NIDA เองก็ต้องมี ความโดดเด่นมากพอที่จะดึงดูดมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกมาสร้าง Collaboration ร่วมกัน

บุคลากร คือ หัวใจสำคัญของทุกสถาบัน เช่น เดียวกับ NIDA ที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์การสรรหา/ คัดเลือก และพัฒนาบุคคลทุกกลุ่มให้มีขีดความสามารถสูง (Talented People) เพื่อให้แน่ใจว่าคนที่มีคุณภาพที่ดีที่สุดจะเลือกมาทำงานที่ NIDA มีความก้าวหน้าและผลตอบแทนที่พึงพอใจ มั่นคง แข่งขันได้ในทุกระดับ

อาจารย์ของ NIDA กว่าร้อยละ 90 จบการศึกษาระดับปริญญาเอกเทียบกับค่าเฉลี่ยของ ประเทศที่ระดับร้อยละ 30 และมีความแอคทีฟ ด้านงานวิจัย ซึ่งเป็นพื้นฐานการสร้างองค์ความรู้ที่ทันโลกมาสอนนักศึกษา ความแอคทีฟนี้พิจารณาได้จากตำแหน่งทางวิชาการ ผู้ช่วย ศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ ซึ่ง NIDA มีสัดส่วนอาจารย์ที่มีตำแหน่งทางวิชาการกว่าร้อยละ 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ

“มหาวิทยาลัยก็ต้องมี Incentive กระตุ้นให้อาจารย์ได้ทำวิจัยชั่วโมงการทำงาน NIDA โชคดี เพราะไม่มีปริญญาตรีดังนั้นจำนวนชั่วโมงงานสอนของอาจารย์จะน้อย NIDA เราก็จะมี Requirement ขั้นต่ำ ในหนึ่งปีต้องมีงานวิจัยกี่ชิ้นงานวิจัยต้อง ตีพิมพ์อะไรบ้าง อาจารย์ทุกคนต้องทำตามเกณฑ์เดียวกันหมด อาจารย์ที่เป็นคนเก่ง ชอบทำงานวิจัยอยู่ NIDA มีความสุข เพราะมีผลงานวิจัย มีเวลาทำวิจัย ได้ค่าตอบแทนคุ้มค่า ส่วนอาจารย์ ที่ไม่เก่ง มาอยู่ NIDA จะลำบาก เพราะถูกบังคับให้ทำวิจัย ถูกบังคับทำผลงานวิชาการ อาจารย์คนไหนถ้ามาอยู่นิด้าแล้วไม่มีผลงานวิชาการ ก็จะถูกประเมินไม่ผ่าน เพราะฉะนั้นถ้าอาจารย์ไม่เก่ง มาอยู่นิด้า อาจจะอยู่ไม่ได้ อยู่ได้ปีหนึ่งก็ต้องออก” เช่นเดียวกับบุคลากรเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุน จำ นวนมากจบปริญญาโท และมีผลตอบแทนใน ระดับเดียวกับภาคเอกชนมีความก้าวหน้า และมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี เป็นพลังสำคัญในระยะยาวขององค์กร

สิ่งเหล่านี้สร้างความเชื่อมั่นว่า NIDA จะก้าวไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก หรือ World Class University พร้อมทั้งเป็นเสาหลักในการพัฒนาศาสตร์การบริหารของประเทศ และสร้างนักบริหารที่มีคุณภาพออกมารับใช้สังคม และประเทศชาติ ท่ามกลางความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น

“ทุกวันนี้ออนไลน์ก็เข้ามาถึงเราหมดแล้ว คนไทยก็สามารถหาความรู้ได้ จากการที่มองจอ ไม่ต้องเข้าคลาสเรียนในมหาวิทยาลัย แต่ว่าอะไรคือการันตีว่าคนนี้มีความรู้จริง แม้แคนดิเดตตอนรับสมัครงานมี 10 คนมาสัมภาษณ์งาน ปรากฏ 5 คนมีวุฒิการศึกษาจบมหาวิทยาลัยที่ดี มีชื่อเสียง อีกห้าคนไม่มีวุฒิการศึกษา เขาก็บอกว่า เขาเก่ง องค์กรจะเสี่ยงไหม ผมว่าคนไทยยังให้ความสำคัญกับการเข้าเรียนในสถาบันการศึกษา เพียงแต่ไม่ได้เป็นใบเบิกทางที่ใช้ได้เหมือนเมื่อก่อน ดังนั้นสถาบันก็ต้องพัฒนาหลักสูตรให้เกิดความมั่นใจกับ หน่วยงานคนที่รับบัณฑิตที่จบจากเราไปทำงาน” ก็เหมือนกับเรารับอาจารย์ เรารับคนไม่จบปริญญาเอกก็ได้ ถ้ามีคนมาสมัครค่าตอบแทนถูกกว่าด้วยซ้ำ คราวนี้ คำถามว่าแล้วเรามั่นใจได้อย่างไร ว่าเราจะได้อาจารย์ที่มีองค์ความรู้ในศาสตร์ด้านนั้น และทักษะในการทำงานวิจัยที่แท้จริง

Rate this item
(3 votes)
Last modified on Wednesday, 02 October 2019 09:39
X

Right Click

No right click