January 22, 2025

เศรษฐกิจไทยเติบโตได้แค่ไหน? เมื่อโมเมนตัมโลกไม่เหมือนเดิม

March 23, 2023 1088

นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics

วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวจากปัญหาเงินเฟ้อสูงต่อเนื่องกระทบการค้าโลก  ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2566 นี้ ยังเติบโตได้ต่อเนื่องที่ 3.4% จากการเปิดประเทศของจีนช่วยหนุนการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวเร็ว ประกอบกับการบริโภคในประเทศขยายตัวดีต่อเนื่อง ความเสี่ยงหลักในปีนี้เป็นการส่งออกสินค้าไทยมีโอกาสหดตัว และภาวะหนี้ครัวเรือนสูงโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำ อย่างไรก็ดี ภาพรวมเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยยังคงแข็งแกร่ง

เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมีแนวโน้มชะลอตัว แต่ไม่รุนแรงมากเท่าที่เคยคาดกันเอาไว้เมื่อปลายปี 2565 สะท้อนได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Manager Index) ของประเทศส่วนใหญ่ที่อยู่ระดับหดตัวในช่วงต้นปี 2566 และล่าสุดในเดือนมกราคม 2566 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกมาปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจโลกในปี 2566 นี้ขึ้นมาเป็นร้อยละ 2.9 จากร้อยละ 2.7 ในการประเมินรอบก่อน

นอกจากนี้ การเปิดประเทศของจีนนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 เป็นต้นมา จะช่วยกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากจีนถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสินค้าหลัก รวมทั้งเป็นนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคกลุ่มหลักของโลก อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของอุปสงค์จากจีนอาจเพิ่มแรงกดดันต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกและทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกชะลอตัวเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ช้าลง จึงคาดว่าธนาคารกลางหลายแห่งจะยังคงอยู่ในช่วงปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ทั้งนี้ การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคบริการและตลาดแรงงานทั่วโลก ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยพยุงให้กำลังซื้อทั่วโลกมีความเข้มแข็งได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับปัญหาหนี้สาธารณะทั่วโลกที่มีระดับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังการเกิดวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้ประเทศส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ต้องเผชิญภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงเสถียรภาพทางการคลังโดยรวม  

สำหรับประเทศไทยที่ยังคงเป็นประเทศเป้าหมายอันดับต้นของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน ประกอบกับห่วงโซ่การผลิตและการส่งออกสินค้าของไทยที่มีความเชื่อมโยงกับจีนสูง ดังนั้น เศรษฐกิจไทยจึงได้รับแรงหนุนอย่างมากจากการเปิดประเทศของจีน เบื้องต้น ttb analytics จึงได้ปรับเพิ่มประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2566 ขึ้นมาที่ 29.5 ล้านคนจาก 22.5 ล้านคน โดยมาจากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีนและเอเชีย เป็นสำคัญ นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนถือเป็นอีกปัจจัยหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโต โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นค่อนข้างเร็ว สอดคล้องกับการฟื้นตัวของกิจกรรมการท่องเที่ยวและระดับการจ้างงานในตลาดแรงงานไทยที่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 แล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะได้อานิสงส์การเปิดประเทศของจีนและเศรษฐกิจโลกที่กำลังปรับดีขึ้น แต่ตัวเลขการส่งออกสินค้าของไทยที่หดตัวมากกว่าที่คาดไว้ในช่วงท้ายปี 2565 ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าฝั่งยุโรป สหรัฐอเมริกา ที่เป็นตลาดสินค้าเทคโนโลยีและกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาลดลงรวดเร็ว  โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ และเม็ดพลาสติก ทำให้ ttb analytics ประเมินตัวเลขการส่งออกสินค้าในปี 2566 จะหดตัวที่ร้อยละ 0.5 เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวและความผันผวนในภาคการเงินต่างประเทศ ทำให้ปี 2566 การตัดสินใจลงทุนและการนำเข้าสินค้าทุนของภาคเอกชนอาจมีแนวโน้มชะลอตัวออกไป ในขณะที่ราคานำเข้าพลังงานมีแนวโน้มลดลง  ตัวเลขการนำเข้าสินค้าของไทยในปี 2566 คาดว่าอยู่ที่ร้อยละ 1 ชะลอตัวจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 13.6 เมื่อรวมกับภาคการบริโภคที่ขยายตัวต่อเนื่อง จึงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.4

สำหรับประเด็นการนำเข้าสินค้าของไทยในปี 2566 ที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 1 จากปีก่อน หากเกิดกรณีที่การส่งออกสินค้าของไทยหดตัวต่ำกว่ากรณีฐาน (หดตัวที่ร้อยละ 0.5) ลงไปโดยหดตัวที่ร้อยละ 1 เศรษฐกิจไทยปี 2566 โดยรวมจะขยายตัวลดลงมาเหลือร้อยละ 3.1 และหากการส่งออกหดตัวที่ร้อยละ 2 จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.5 ดังนั้น ราคาสินค้าในตลาดโภคภัณฑ์โลกเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ การประคับประคองโมเมนตัมการส่งออกสินค้าของไทยให้เติบโตได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปีถือเป็นสิ่งสำคัญ

เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ อีกทั้งไทยมีทุนสำรองที่อยู่ในระดับสูง สำหรับระบบธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันยังมีความแข็งแกร่งทั้งในด้านฐานเงินฝากที่มีคุณภาพและสินทรัพย์สภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง ด้านเงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CET1) อัตราส่วนเงินสำรองที่มีอยู่ต่อ NPL (NPL Coverage ratio)  อยู่ในระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค  ในขณะที่สัดส่วน NPL ของไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2565

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม คือ หนี้ครัวเรือนของไทยที่อยู่ในระดับสูง และสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเติบโตค่อนข้างเร็ว เมื่อทิศทางดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ภาระหนี้ของกลุ่มเปราะบาง อาทิ กลุ่มรายได้น้อย กลุ่มเกษตรกร และภาคธุรกิจขนาดเล็ก ที่ยังจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มเพื่อพยุงระดับการบริโภคและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับประกอบธุรกิจครัวเรือน อีกทั้ง มาตรการดูแลลูกหนี้ทั้งในส่วนของประชาชนและภาคธุรกิจที่กำลังทยอยหมดลงนับแต่เดือนเมษายนจนถึงสิ้นปี 2566 นี้ อาจเป็นปัจจัยกดดันให้ลูกหนี้ที่เปราะบางจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือต่อไป

ดังนั้น ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญในปีนี้ คือ 1) การมองหาตลาดส่งออกสินค้าที่ยังมีศักยภาพเติบโตได้ต่อเนื่องท่ามกลางโลกที่ท้าทาย อาทิ กลุ่มตะวันออกกลาง อินเดียและกลุ่มอาเซียน ฯลฯ 2) มาตรการบรรเทาค่าครองชีพแก่กลุ่มครัวเรือนและดูแลกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่เปราะบาง อาทิ มาตรการลดค่าครองชีพในหมวดสินค้าจำเป็น มาตรการช่วยเหลือค่าน้ำค่าไฟฟ้า มาตรการช่วยผ่อนคลายต้นทุนของธุรกิจ SMEs และ 3) มาตรการทางการเงินและสินเชื่อจากภาคสถาบันการเงินเพื่อดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบางเป็นรายกรณี เป็นต้น

X

Right Click

No right click