นับเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญด้วยบทบาทในด้านการบริการด้านวิจัยและเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรต่างๆ อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานที่ได้รับการจัดวางเป้าหมายในการส่งเสริมและมุ่งสร้างสตาร์ทอัพให้เกิดขึ้น ที่ผ่านมาศูนย์บริการวิชาการ KBS ได้ส่งมอบบริการวิชาการและความรู้สู่องค์กรภายนอกผ่านโครงการจัดอบรม/สัมมนา และงานบริการวิชาการในรูปแบบต่าง ๆ ให้กับทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างหลากหลาย ภายใต้ทีมคณาจารย์และวิทยากรผู้ทรงความรู้ทั้งภายในคณะและต่างคณะในสถาบันฯ กระทั่งถึงวิทยากรรับเชิญจากภายนอก บนเป้าหมายเพื่อการพัฒนางานบริการความรู้และวิชาการเพื่อการตอบโจทย์และยกระดับการพัฒนาและนำไปใช้ได้จริง ภายใต้การบริหารงานของ ผศ.ดร.โอปอล์ สุวรรณเมฆ หัวหน้าศูนย์บริการวิชาการ คณะบริหารธุรกิจ และประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจและการจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KBS - KMITL BUSINESS SCHOOL) ซึ่งได้เผยถึงนโยบาย เป้าหมาย กลยุทธ์ ตลอดจนจุดเน้นสำคัญของศูนย์ ฯ ในปีนี้คือ
หมวกใบแรก -งานบริหารศูนย์บริการวิชาการ KBS
ผศ.ดร.โอปอล์ สุวรรณเมฆ กล่าวถึงบทบาทในหน้าที่ของหัวหน้าศูนย์บริการวิชาการ คณะบริหารธุรกิจ ซึ่งมีพันธกิจ คือ การนำความหลากหลายของความเชี่ยวชาญจากอาจารย์ในคณะ ทั้งด้านบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการจัดการ ที่อยู่ภายใต้ KBS รวมถึงการทำงานร่วมกับศาสตร์ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งของ สจล. มาผนึกกำลังเพื่อให้บริการทางด้านวิจัย การเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรต่างๆ พร้อมกับการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่/สตาร์ทอัพให้เติบโต จัดอบรม/สัมมนาให้ความรู้สู่องค์กรภายนอก และบริการวิชาการให้กับชุมชนโดยเฉพาะกับชุมชนโดยรอบ สจล. ด้วยความร่วมมือกับสำนักงานเขตลาดกระบังอย่างต่อเนื่อง
3 งานสำคัญของงานบริการวิชาการ KBS
ความที่ KMITL เป็นมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้การบริการวิชาการของเรามีความหลากหลายศาสตร์ทั้งบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ เทคโนโลยี โดยสามารถนำศาสตร์แต่ละศาสตร์มาผสมผสานกัน เพื่อให้บริการวิชาการแก่องค์กรภายนอก อย่าง การกีฬาแห่งประเทศไทย สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กสทช สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น ฯลฯ ซึ่งบางครั้งองค์กรเหล่านี้ไม่ได้ต้องการองค์ความรู้ด้านบริหารจัดการเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการด้านไอที วิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งเราต้องประสานความร่วมมือไปยังส่วนงานวิชาการที่เกี่ยวข้อง
ในปีนี้ศูนย์บริการวิชาการยังมีบทบาทหน้าที่ใหม่ คือ เป็นผู้ประสานงานและดูแลนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนต่างๆ 200 กว่าแห่งที่ สจล. มี MOU ในการเข้ามาศึกษาเพื่อเก็บรายวิชาก่อนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยจริง เพื่อเปิดโลกให้นักเรียนได้เรียนรู้ก่อนที่จะเข้ามาศึกษาจริงในรูปแบบโครงการ Credit Bank
“เราพยายามสร้างโอกาส ให้น้องๆ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อให้เขามีโอกาสได้รู้จักตัวเองก่อนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ศูนย์บริการวิชาการจะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานไปยังโรงเรียนมัธยมศึกษาต่างๆที่มีความสนใจ ซึ่งแนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่รองศาสตราจารย์ ดร.สุดาพร สาวม่วง คณบดีคนปัจจุบัน ได้ร่วมด้วยช่วยผลักดัน โดยปีนี้ KBS ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลงนามทำ MOU ระหว่าง สจล. กับโรงเรียน 200 กว่าแห่งผ่านระบบออนไลน์”
สำหรับแผนในปี 2566 นอกจากการจับมือกับกลุ่มโรงเรียนต่างๆ แล้ว ศูนย์บริการวิชาการยังจับมือกับภาคเอกชนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการประหยัดพลังงาน ให้กับลูกค้าองค์การ และภาคอุตสาหกรรม ในอันที่จะร่วมสนับสนุนการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า
“พวกเขา อาจมองว่าการติดแผง ฯ ช่วยให้ประหยัดค่าไฟแล้ว แต่อาจไม่ได้คิดไปถึงคาร์บอนเครดิต ที่จะสร้างประโยชน์ได้มากมายด้วย ศูนย์บริการวิชาการจะให้ข้อมูลในการวางแผนการเปลี่ยนแปลง”
นอกจากนี้ จะผลักดันอาจารย์หน้าใหม่ๆ ของคณะบริหารธุรกิจให้เป็นที่รู้จักของบุคคลภายนอก โดยจะหาประเด็นน่าสนใจของงานท่านเหล่านั้นออกมาถ่ายทอดผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้คนรู้จักและติดตาม
ชูความเป็นผู้ประสานงานชั้นเลิศ
ผศ.ดร.โอปอล์ เผยต่อว่า นอกจากบทบาทของการสร้างงานแล้ว การเป็นผู้ประสานงานก็สำคัญไม่แพ้กัน เป็นผู้ประสานงานที่ เชื่อมคน เชื่อมศาสตร์ที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์สำคัญของลูกค้าที่กำหนดไว้
สำหรับตัวชี้วัดของศูนย์บริการวิชาการ คือ รายได้ของการให้บริการด้านวิชาการ และการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ประกอบการรุ่นใหม่/สตาร์ทอัพ ซึ่งที่ผ่านมารายได้ของศูนย์บริการวิชาการสามารถผ่านเป้าที่วางไว้ได้ โดยรายได้ของศูนย์บริการวิชาการปี 2564 เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 50 จากปี 2563 อยู่ที่ 30 ล้านบาท สำหรับปี 2565 เราตั้งใจที่จะทำให้ได้มากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา รายได้ของศูนย์บริการวิชาการมาจากการได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานที่คณาจารย์ของคณะได้ไปบริการวิชาการนั่นเอง สำหรับจำนวนผู้ประกอบการรุ่นใหม่/สตาร์ทอัพนั้นสามารถทำได้ตามเป้าที่วางไว้ เนื่องจากนักศึกษา KBS สนใจที่จะเรียนรู้ธุรกิจ และลงมือทำ เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว
ประธานหลักสูตรฯ หมวกอีกใบของ ผศ.ดร.โอปอล์
นอกจากบทบาทหน้าที่หัวหน้าศูนย์บริการวิชาการแล้ว ผศ.ดร.โอปอล์ ยังสวมหมวกอีกใบในฐานะประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจและการจัดการ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหลักสูตรของ KBS ที่ได้รับความสนใจจากนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็นอย่างดี
ผศ.ดร.โอปอล์ กล่าวว่า หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาชาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจและการจัดการ เปิดมาได้ 5 ปีแล้ว นับเป็นหลักสูตรที่ได้รับความสนใจพอสมควร ไม่แพ้หลักสูตรบริหารธุรกิจไทย และบริหารธุรกิจนานาขาติ ที่เปิดรับนักศึกษามาก่อน หลักสูตรนี้เน้นการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ คณิตศาสตร์และการจัดการสมัยใหม่ มาช่วยในการวางแผนและตัดสินใจทางธุรกิจ
โดยนักศึกษารุ่นแรกเพิ่งจบการศึกษาเมื่อปี 2564 ผู้จบในสาขาวิชานี้เข้าทำงานในสาย Supply Chain Management, เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลฝ่ายขาย, เจ้าหน้าที่จัดซื้อ, AE Marketing, Finance & Accounting Analyst, ผู้ช่วยผู้จัดการ, เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูล, เลขานุการ, เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ และประกอบธุรกิจส่วนตัว เป็นต้น
หลักสูตรนี้เหมาะกับน้องๆ ที่ชอบเรื่องเศรษฐกิจ-สังคมรอบตัว ชอบตัวเลข และรู้จักการใช้ตัวเลขในการบริหารงาน เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องที่เขาเรียนมาตั้งแต่มัธยมแล้ว แต่ละปีหลักสูตรจะเปิดรับนักศึกษาปีละ 160 คน
โดยในปีการศึกษา 2565 ได้มีการปรับหลักสูตรใหม่ เน้นเรื่อง Digital Economy เพิ่มมากขึ้น และเน้นเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยมีการจับมือกับหน่วยงานภายนอกเพื่อพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน เช่น ที่ผ่านมามีการจับมือกับไทวัสดุ นักศึกษาที่ได้ทุนการศึกษาจากที่นี่ ทำงานด้วย เรียนไปด้วย ตามตารางที่กำหนดไว้ การได้ทำงานกับไทวัสดุทำให้น้อง ๆ ได้ความรู้จากการลงมือทำจริง ได้เรียนรู้ และได้ประสบการณ์ในการทำงานก่อนเรียนจบ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการจัดรูปแบบการศึกษาที่คำนึงถึงทั้งความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ไปอย่างครบพร้อม ตอบโจทย์ด้านอาชีพกับนักศึกษา ตอบโจทย์การผลิตบัณฑิตของ สจล และยังตอบโจทย์ให้กับภาคเอกชนควบคู่กัน
ทั้งหมดทั้งปวง มาจากค่านิยม จากวัฒนธรรมของ สจล. ทั้งของบุคลากรและนักศึกษา ที่เรียกว่า F-I-G-H-T สู้ ที่ไม่ใช่แค่สู้ แต่มาจาก Futurist-Ignite-Greatness-Honor และ Team Spirit
ด้วยบทบาทหน้าที่ทั้ง 2 ด้าน แม้จะดูหนักหนา แต่ สามารถสนุกกับการทำงานในทุกๆ วัน ให้เหมือนว่า “เล่น” กับงานให้เกิดความสนุก และไม่ลืมที่จะเติมพลังบวกให้ตัวเองบ่อย ๆ
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
ภาพ: ภัทรวรรธน์ พงษ์บริพันธ์