January 22, 2025

คณบดี CIBA DPU คาดโควิด 19 ทำตลาดอีคอมเมิร์ซโต ส่งผลงาน 'ตลาดออนไลน์ บัญชี โลจิสติกส์' ขยายตาม

July 05, 2021 2301

ย้ำ 3 ทักษะคนรุ่นใหม่ต้องมี ทักษะดิจิทัล ทักษะความเป็นผู้ประกอบการ ทักษะการแก้ไขปัญหาและมีความคิดสร้างสรรค์ มั่นใจหากมีครบสามารถพาตัวรอดได้ทุกสถานการณ์

ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่อง โดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งส่วนใหญ่เดินห้างสรรพสินค้าหรือจับจ่ายตามร้านค้าต่างๆ น้อยลง ส่วนหนึ่งผลจากมาตรการของภาครัฐในการป้องกันโรค ที่ต้องปิดบริการชั่วคราว และอีกส่วนหนึ่งผู้คนหันไปใช้บริการช็อปปิ้งออนไลน์ ทำให้ตลาดออนไลน์เติบโตมากขึ้น ส่งผลให้สถานประกอบการต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการตลาด ปรับตัวเข้าสู่ตลาดออนไลน์มากขึ้น

ซึ่งเมื่อการตลาดออนไลน์เติบโตอย่างต่อเนื่อง การขาย การตลาด และโลจิสติกส์ก็เติบโตตามไปด้วย ดังจะเห็นได้จากรายงานของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย ที่เผยแนวโน้มทิศทางตลาดแรงงานในปี 2564 พบว่าสายงานที่ตลาดต้องการ อันดับ 1 สายงานขายและการตลาด 23.10% 2 บัญชีและการเงิน 9.58%  และ 3 สายงานขนส่งและโลจิสติกส์  9.50 %

“นักการตลาดยุคใหม่ต้องมีทักษะการตลาดออนไลน์ ซึ่งไม่ใช่เพียงโพสสินค้า แต่ต้องเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการขาย ระบบการชำระเงิน และการกระจายสินค้า บริการต่างๆ ดังนั้น หลักการเรียนการสอนการตลาดตอนนี้ จึงมุ่งเน้นการตลาดดิจิทัล ซึ่งจากการเปิดการเรียนการสอนของCIBA DPU ที่มีการปรับปรุงหลักสูตรมุ่งเน้นการเรียนรู้ให้นักศึกษามีทักษะในศตวรรษที่ 21 และทักษะด้านดิจิทัล ตามนโยบายของมหาวิทยาลัย ทำให้นักศึกษาการตลาดของCIBA DPU เพิ่มขึ้น 2 เท่า เช่นเดียวกับหลักสูตรบัญชี การเงิน การขนส่งและโลจิสติกส์ เพราะการทำธุรกิจจะต้องมีการเชื่อมโยงไปทุกภาคส่วน ขณะเดียวกันในอดีตอีคอมเมิร์ซอาจเติบโตได้ยาก เนื่องจากไม่มั่นใจการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต แต่ปัจจุบันนี้เปลี่ยนไป  คนเชื่อมั่นมากขึ้น เพราะมีการจ่ายเงินปลายทาง เห็นสินค้าก่อนแล้วค่อยจ่ายได้” ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าว

สำหรับทิศทางตลาดในยุคโควิด 19 และหลังโควิด 19 นั้น ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าวด้วยว่า การขายผ่านหน้าร้าน โชว์รูมต่างๆ อาจมีน้อยลง เพราะการขายในลักษณะดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายสูง ขณะเดียวกันพฤติกรรมผู้บริโภคมุ่งการซื้อของออนไลน์มากขึ้น เหล่าสถานประกอบการ ร้านค้าต้องปรับตัว และการทำตลาดออนไลน์ เป็นลักษณะการทำคอนเทนต์ (Content Marketing) และการทำ Digital  Marketing ทำให้มีความต้องการผู้ที่จบการตลาดยุคใหม่เข้ามาช่วยเสริมทัพเพื่อทำการตลาดดิจิทัล  ซึ่งในส่วนของธุรกิจบัณฑิตย์  ทุกคณะทุกหลักสูตรมีการปรับปรุงมาตั้งแต่ปี 2560 โดยในส่วนหลักสูตร CIBA เน้นสร้างคนที่มีทักษะยุคดิจิทัล เช่น หลักสูตรการตลาด นักศึกษาจะต้องมีทักษะการตลาดดิจิทัลผสมผสานกับการตลาดทั่วไป เพราะการทำตลาดในความเป็นจริงต้องมีการวางแผนการตลาดทั่วไป ควบคู่กับการตลาดออนไลน์ และต้องเข้าใจระบบการบัญชี การขาย และโลจิสติกส์ควบคู่กันไปด้วย รู้จักการใช้ซอฟต์แวร์ โปรแกรมต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

คณบดี CIBA กล่าวต่ออีกว่า หลักสูตรการบัญชี การทำบัญชี ควบคู่กับการใช้ Data Analytics โดยการนำงบการเงินของบริษัทมาทำการวิเคราะห์ โดยใช้ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ ขณะที่โลจิสติกส์ก็ต้องมีการนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาช่วย นักศึกษาในยุคนี้ต้องเปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีขององค์กร ฉะนั้น การเรียนการสอนของCIBA นอกจากเรียนรู้เทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ที่จะมาใช้ในอาชีพแล้ว ยังมีการเชิญผู้ที่มีประสบการณ์ คนที่ทำงานในแวดวงนั้นๆ มาเป็นอาจารย์พิเศษช่วยเพิ่มเติมประสบการณ์ ทักษะต่างๆให้แก่นักศึกษา ไม่ว่าจะเป็น Shopee หรือ Lazada หรือผู้ประกอบการ และ Startups ในสาขาต่างๆ

“ทักษะที่จำเป็นสำหรับคนรุ่นใหม่ในอนาคตต้องมี 3 ทักษะดังนี้ คือ 1.ทักษะดิจิทัล นักศึกษาที่จบจากCIBA ต้องมีทักษะเรื่องของดิจิทัลครอบคลุมในสาขาที่ตนเองและสาขาที่ต้องทำงานร่วมกัน 2.ทักษะความเป็นผู้ประกอบการ CIBA ไม่ได้สร้างนักศึกษาที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่สร้างคนในองค์กรที่เข้าใจมุมมองความเป็นผู้ประกอบการของผู้บริหาร เข้าใจต้นทุน การเงิน การตลาด การขนส่งสินค้า การบริหารคน การค้าขายของทั้งในและต่างประเทศ การคำนึงถึงภาษี เรื่องเหล่านี้เป็นทักษะหนึ่งที่นักศึกษาต้องมี และ 3.ทักษะการแก้ไขปัญหาและทักษะความคิดสร้างสรรค์ การทำงานนอกจากรู้จักคิดสร้างสรรค์แล้วต้องรู้จักแก้ไขปัญหาจากความคิดสร้างสรรค์ที่นักศึกษาสร้างขึ้นด้วย ซึ่งถ้านักศึกษามีทักษะ  3 สิ่งนี้พวกเขาจะสามารถนำพาตัวเองให้อยู่รอดในทุกยุคทุกสมัยได้”คณบดีCIBA กล่าว

ยุคโควิด 19 ส่งผลให้หลายอาชีพต้องตกงาน เพราะการจ้างงานอาจจะไม่ง่ายอย่างอดีต ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าวด้วยว่า ตนมองว่าเป็นความท้าทายของเด็กรุ่นใหม่ ในการจะเข้าสู่โลกของการทำงาน  เพราะบางคนหากไม่ได้ทำงานในองค์กรหรือบริษัทแต่พวกเขาสามารถเป็นผู้ประกอบการ ขายสินค้าออนไลน์ หรือทำธุรกิจเล็กๆของตนเองได้ ไม่อยากให้นักศึกษจบใหม่ต้องท้อ หรือกังวลว่าเรียนจบแล้วไม่มีงานทำ หากมีทักษะดิจิทัล  ความเป็นผู้ประกอบการ การเงิน การบัญชี และโลจิสติกส์ จะกลายเป็นโอกาสของพวกเขา

Last modified on Monday, 05 July 2021 09:24
X

Right Click

No right click