×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 806

Financial Innovation

August 01, 2017 5034

ทุน คือ ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต แข็งแรง

เป้าหมายของทุกระบบเศรษฐกิจจึงอยู่ที่การจัดการกับทุนต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นมาและเพิ่มพูนขึ้นเป็นความมั่งคั่งของสังคมและของประเทศชาติ ดังคำนิยามในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ที่ว่า 

“ทุน น. ของเดิมหรือเงินเดิมที่มีไว้ ลงไว้ กำหนดไว้ จัดตั้งไว้ เพื่อประโยชน์ให้งอกงาม เช่น มีความรู้เป็นทุน มีเงินเป็นทุน; เงินหรือทรัพย์สินอื่นๆ ที่ตั้งไว้สำหรับดำเนินกิจการเพื่อหาผลประโยชน์

การบริหารจัดการทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่งของชาติ การกำกับควบคุมการระดมทุนและการใช้ทุนตลอดจนการเคลื่อนตัวของทุนจากผู้ออมไปสู่ผู้ต้องการเงินทุน ไม่ให้ส่งผลกระทบทางลบต่อสังคมและระบบเศรษฐกิจ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง กลไกที่สร้างขึ้นมาอย่างหลากหลาย ทำหน้าที่ต่างๆ กัน แต่ล้วนมีเป้าหมายคือการให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโตอย่างเข้มแข็ง มีขีดความสามารถในเชิงแข่งขันกับระบบเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงสามารถเกื้อหนุนเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังเร่งพัฒนาขึ้นมาด้วย

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลัก-ทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คือกลไกสำคัญที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2535 บทบาทหน้าที่ที่คนทั่วไปรู้จักกันของหน่วยงานนี้คือการกำกับดูแลและบริหารจัดการตลาดทุนให้เป็นไปอย่างมีระเบียบ ได้มาตรฐานสากล

เป็นหน่วยงานตรวจสอบที่คอยพัฒนาและสอดส่องดูแลกิจกรรมและเรื่องราวในตลาดทุนทุกๆ ด้าน

ทว่าในยุคที่โลกธุรกิจเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงปรับตัวด้วยความเร็ว และดีกรีความผันผวนของตลาดทุนโลกทวีความรุนแรงขึ้น พรมแดนทางภูมิศาสตร์ไม่เป็นอุปสรรคต่อการไหลไปมาของทุนได้อีกต่อไป และการที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนกำลังจะร่วมกันเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ย่อมส่งผลกระทบต่อยุทธศาสตร์การกำกับดูแลตลาดทุนของประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก การรับมือด้วยการรุกไปข้างหน้าด้วยความสุขุม ด้วยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ จึงทวีความสำคัญยิ่ง

บทบาทของ ก.ล.ต. ในเชิงการพัฒนาตลาดทุน จึงต้องให้ความสำคัญและได้รับการเน้นย้ำ

ก.ล.ต. ในยุคที่ ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ กุมบังเหียน จึงต้อง “Create” และ “Innovate” ภายใต้กรอบอำนาจที่มีอยู่ เพื่อขับเคลื่อนเปิดทางให้นวัตกรรมใหม่ๆ ในตลาดทุนไทย ได้ฟูมฟัก งอกงาม ผลิดอกออกผล ในอนาคต

“เราต้อง Regulate through Development เรามีหน้าที่สร้าง regulatory frameworks and facilities เพื่อรองรับ ต้องสร้างถนน สร้างลานบินให้พร้อมบินขึ้น-ลงใช้งานด้วยความสะดวก ใครเดินตกข้างทางเราก็ประคองขึ้นมาเสีย ถ้าไม่ทำเช่นนี้ก็จะมีคนเดินตามทุ่ง เกะกะ ครั้นเราจะไปบอกว่า ‘คุณผิดๆ’ ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรเพราะเขาไม่รู้ว่าจะเดินอย่างไร และการเป็น Regulator ในตลาดทุนที่ยังต้องพัฒนานั้น คุณจะไปบังคับในสิ่งที่ไม่มีตัวตนได้อย่างไร คุณไปกำกับอะไรในเรื่องที่ยังไม่มียังไม่เกิดไม่ได้ เรามีหน้าที่ต้องทำต้องพัฒนา ครูผมสอนว่า Regulator มีหน้าที่ในการพัฒนาด้วยเช่นเดียวกัน เพราะถ้าคุณสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่ถูกต้อง คุณก็กำกับน้อยลงเอง” ดร.วรพลกล่าวกับเรา

ความหมายของการสร้างถนน สร้างลานบิน สร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่ ดร.วรพลกล่าวถึง จึงไม่จำกัดเพียงแค่การตั้งรับรอการเกิดขึ้นของเครื่องมือทางการเงินต่างๆ หากยังต้องมองไปข้างหน้าและต้องมีวิสัยทัศน์ถึงสิ่งที่ตลาดทุนกำลังจะเป็นไป และใช้กลไกที่มีอยู่ในการผลักดันให้เกิดเครื่องมือใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อตลาดทุนและระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

เป้าหมายการทำงานของ ก.ล.ต. ยังมุ่งหวังให้ภาคธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันผ่านตลาดทุนที่ทรงประสิทธิภาพ สามารถดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกมาลงทุนในตลาดทุนไทย ผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย และเพิ่มผู้เล่นที่มีคุณภาพในตลาดทุนไทย นั้นคือสร้าง Global Investors for Thai Capital Market

ในยุคของดร.วรพล ก.ล.ต. จึงวางเป้าหมายในการพัฒนาตลาดทุนอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกฎเกณฑ์เพื่อนวัตกรรมทางการเงินต่างๆ ที่จะมาสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในทุกมิติ ประกอบไปด้วย ผู้ต้องการทุน นักลงทุน ตลาด และผู้มีส่วนร่วมทั้งหมดในตลาดทุน

MBA เราเห็นว่าความคิดใหม่ที่กำลังจะสรุปรวบยอดให้ท่านได้อ่านต่อไปนี้ เป็นเรื่องสำคัญที่จะสามารถสร้างตลาดทุนที่เปิดกว้าง ทันสมัย และทรงประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นคุณูปการต่อเศรษฐกิจสังคมการเงินไทยในอนาคตอันใกล้

Dedicated

to Entrepreneurs

ผู้ต้องการเงินทุน ผู้ต้องการระดมทุน คือกิจการธุรกิจทั้งที่อยู่ในและนอกตลาดหลักทรัพย์ ธุรกิจเกิดใหม่ ธุรกิจที่ต้องการจะเริ่มต้น ผู้ที่มีไอเดีย มีความคิดสร้างสรรค์ พร้อมรับความเสี่ยง และมีจิตใจแบบผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Spirit) ตลอดจนธุรกิจนวัตกรรมต่างๆ ล้วนอยู่ในกลุ่มผู้ต้องการเงินทุน แม้คนเหล่านี้จะมีความสามารถและเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเติบโตมั่นคงของระบบเศรษฐกิจ ทว่าพวกเขายังขาดแคลนเงินทุน ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุนของพวกเขายังจำกัด เพราะที่ผ่านมายังถูกละเลยจากสถาบันการเงินกระแสหลัก ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจที่มีพื้นฐานจากเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งการเดินเข้าธนาคารไปขอกู้เงินทำได้ลำบาก เพราะศักยภาพในอนาคตยังไม่ปรากฏให้เห็นเป็นผลตอบแทนรูปธรรมที่จับต้องได้ว่ากำไรเท่านั้นเท่านี้

แต่ถ้าทอดตาไปในต่างประเทศ เราจะเห็นว่าถ้าพวกเขาได้รับการฟูมฟักอย่างเหมาะสมถูกวิธี ได้รับเงินทุนถูกจังหวะ กิจการทำนองนี้จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจและความมั่งคั่งให้กับ Stake-holders ได้อย่างมีนัยสำคัญ พวกเขาจึงควรได้รับการสนับสนุนส่งเสริมทางด้านทุนเพื่อสร้างธุรกิจให้เข้มแข็ง

กรณีตัวอย่างเล็กๆ อันหนึ่งคือกิจการของคนไทยซึ่งสามารถคิดค้นตัวทำละลายลามิเนตสำเร็จ จนได้รับการยกย่องจาก World Economic Forum ให้เป็นหนึ่งใน 300 บริษัทนวัตกรรมของโลก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนไทยมีความสามารถ มีความคิดความอ่าน หลายประเทศยื่นข้อเสนอให้ย้ายไปตั้งกิจการในประเทศของตน หลายบริษัทมาขอซื้อ การจะรักษากิจการนี้ให้อยู่ที่เมืองไทย จำเป็นต้องมีทุนเกื้อหนุนให้สามารถเติบโตได้ กลไกตลาดทุนของประเทศไทยจึงต้องเข้าไปทำหน้าที่ให้ธุรกิจเหล่านี้สามารถเติบโตได้อย่างราบรื่น ผ่านเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ อย่าง Venture Capital Fund หรือ Private Equity Fund หรือ High Yield Bond ซึ่งยังไม่มีหรือมีน้อยมากในเมืองไทย

Private Equity

นิมิตดีที่ ก.ล.ต. กำลังจัดทำเกณฑ์เกี่ยวกับ Private Equity Fund หรือกองทุนเงินร่วมลงทุน เพื่อให้กิจการที่ต้องการทุนแต่เคยหาทุนลำบาก สามารถหาทุนเพื่อนำไปขยายกิจการได้สะดวกขึ้น เป็นเงินทุนสำหรับธุรกิจที่ยังไม่เป็นบริษัทมหาชน และมีความตั้งใจให้ธุรกิจกลุ่มนี้สามารถจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยยังมีจุดอ่อนในการพัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม เช่นเดียวกับที่ประเทศพัฒนาแล้ว พัฒนาธุรกิจของตนด้วยนวัตกรรม สินค้ามีมูลค่าเพิ่มที่สามารถส่งผลทางเศรษฐกิจสูง เช่นการคิดค้นตัวยารักษาโรค หรือการนำนวัตกรรมทางด้านต่างๆ มาใช้ในสินค้า จึงเป็นสิ่งที่ประเทศไทยควรส่งเสริม

ปัญหาคือธุรกิจนวัตกรรมแทบทั้งหมดมักจะต้องลงทุนในช่วงต้นกับการวิจัยพัฒนา ก่อนจะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เมื่อสามารถนำงานนั้นมาทำเชิงพาณิชย์เป็นผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ การลงทุนเพื่ออนาคตในประเทศไทยยังมีน้อยเกินไป การสร้างเกณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองกิจการใหม่ๆ เหล่านี้จึงต้องเกิดขึ้น

“เราจะยอมให้ธุรกิจขาดทุนเข้าตลาดได้หรือไม่ หลักก็คือต้องการให้เข้าใจ และให้โอกาส โดยมีการเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ลงทุนให้ครบถ้วน เราจะพิจารณาในรายละเอียดต่อไป และเรายังมีแนวคิดจะส่งเสริมธุรกิจด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยี” ดร.วรพลกล่าวกับเรา

วิธีคิดของเรื่องนี้คือ การระดมทุนจากกลุ่มคนที่มีความตั้งใจจะลงทุนในธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นแต่มีอนาคต โดยมองว่าจะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการลงทุน ด้วยการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เมื่อบริษัทนั้นสามารถเข้าสู่ตลาดได้

หนึ่งในรูปแบบที่ เลขาธิการ ก.ล.ต. มองไว้สำหรับ Private Equity Fund คืออาจจะปรับใช้ พ.ร.บ.ทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 ที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้ผู้ลงทุนจำนวนไม่กี่รายสามารถมาร่วมกันลงทุนได้คล่องตัวขึ้นและยังลดภาระภาษีอีกด้วย “กองที่ลงทุนมีสถานะเป็นทรัสต์ แต่คนรับจ้างบริหารเป็นอีกคนก็ได้ เช่น บริษัท ก. เป็นผู้บริหารจัดการ จะตั้งกองทรัสต์ขึ้นมาหลายๆ กองก็ได้ให้คนมาลงทุน ทุกคนต้อง commit ว่า ทุกครั้งที่ลงทุนต้องเอาเงินมาเติมให้ตามสัดส่วน เพราะว่าอาจจะไม่ระดมเงินก้อนวันแรก กองนี้อาจจะตั้งใจว่า 2,000 ล้าน แต่วันแรกจะเรียกแค่ 200 ล้านก่อน แต่ทุกครั้งที่เราระดมทุนเพิ่มคุณต้องใส่เพิ่มทุกครั้งตามสัดส่วนของตนที่ตกลงกันไว้แต่แรก กองทรัสต์จะไม่เป็นเบี้ยหัวแตกเกินไป โดยกองทรัสต์นี้ก็ต้องขออนุญาตเสนอขายกับ ก.ล.ต.” เขากล่าว

“ตัวกองทรัสต์อาจจะไม่ต้องเสียภาษี เพราะบริหารจัดการเพื่อประโยชน์ของผู้ลงทุน แต่เมื่อเกิดรายได้ขึ้น และจ่ายให้แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนจึงจะเป็นผู้เสียภาษี เพื่อมิได้เกิดการเก็บภาษีซ้อน ทั้งหมดนี้เป็นแค่การศึกษาโมเดลต่างๆ ว่าจะใช้เป็นรูปแบบใดดี จะพยายามหาเครื่องมือที่เหมาะสมที่จะชักชวนให้น่าลงทุนมากที่สุด” เขากล่าวเสริม

ในอนาคตอันใกล้ เราอาจได้เห็นกิจการอย่าง KKR หรือ Black Stone Group เกิดขึ้นในเมืองไทยก็ได้ ใครจะไปรู้

Renewable Energy for Sustainable Future

ปัจจุบันพลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียนเป็นความจำเป็นสำหรับประเทศไทย เพราะการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าทำได้ยาก จึงจำเป็นต้องส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนมาแทนที่ ประกอบกับธุรกิจเหล่านี้มีความจำเป็นต้องระดมทุนตลอดเวลา ด้วยขนาดธุรกิจประมาณ 500-1,000 ล้าน และต้องไปประกอบกิจการในพื้นที่ที่มีแหล่งวัตถุดิบ เช่น พลังงานลม พลังงานแสงแดด พลังงานจากไบโอแมส ถ้าขาดการส่งเสริมด้านทุนก็จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

ปัญหาของธุรกิจกลุ่มนี้คือเป็นธุรกิจใหม่ที่เริ่มต้นมาไม่นาน ก.ล.ต. และตลาดหลัก-ทรัพย์ฯ จึงหาช่องทางปรับปรุงเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค เพื่อให้กิจการประเภทนี้สามารถระดมทุนจากประชาชนและนำหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ได้ง่ายขึ้น เพื่อให้มีทุนไปสร้างโรงไฟฟ้าที่สองที่สามต่อไป

“เนื่องจากธุรกิจกลุ่มนี้ไม่มีประวัติผลประกอบการมายาว เดิมเข้าไม่ได้ ก.ล.ต. จึงได้เห็นชอบให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ แก้เกณฑ์เกี่ยวกับผลประกอบการแล้ว ให้ธุรกิจกลุ่มนี้เข้าตลาดได้ง่ายขึ้นเพื่อเขาจะได้มีทุนไปทำโรงไฟฟ้าที่สองที่สามต่อไป ถ้าไม่ทำอย่างนั้นต่างชาติเตรียมรับซื้อหมด เพราะเขาไม่มีทุนก็ต้องขาย ถ้าให้เขามีทุนเขาก็จะสร้างโรงสองโรงสาม และเราจะเข้มแข็งในระยะยาว ในไม่ช้าไทยน่าจะเป็นผู้นำการผลิต Renewable Energy ในอาเซียน” ดร.วรพลกล่าวกับเรา

โดยเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ ในตลาด mai สำหรับธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จะเปิดให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทุกประเภท เข้าจดทะเบียนในตลาด mai ได้เร็วขึ้น โดยโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่เริ่มขายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD) ครบ 1 ปี และมีขนาดมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป สามารถใช้ช่องทางนี้ในการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ mai ได้

สำหรับโรงไฟฟ้าที่เป็นไปตามเงื่อนไขของหลักเกณฑ์ใหม่ คือ โรงไฟฟ้าที่มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนทุกประเภท เช่น แสงอาทิตย์ ลม น้ำ ชีวภาพ ชีวมวล เป็นต้น โดยมีขนาดมูลค่ามาร์เก็ตแคปตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป มีสัญญาขายไฟฟ้า ที่ก่อให้เกิดรายได้มั่นคงในอนาคต และมีการดำเนินงานไม่น้อยกว่า 1 ปีนับแต่เริ่มต้นขายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์

แต่ทั้งนี้ก็มิได้ละเลยมิติคุ้มครองผู้ลงทุน เพราะได้กำหนดระยะเวลาการห้ามขายหุ้นของผู้บริหารฯ (Silent Period) ให้ยาวขึ้นจากเกณฑ์ปกติ 1 ปี เป็น 2 ปี และมุ่งเน้นให้ผู้ยื่นคำขอต้องเปิดเผยข้อมูลให้ผู้ลงทุนทราบถึงความเสี่ยง เกี่ยวกับสัญญาขายไฟฟ้า เงินอุดหนุนภาครัฐ (Adder) การจัดหาวัตถุดิบ ต้นทุนของวัตถุดิบ ตลอดจนเทคโนโลยีให้ชัดเจนและเพียงพอ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุน

Financing

Mega-program

ถนนหนทาง ตลอดจนระบบทางด่วน มอเตอร์เวย์ สะพาน สนามบิน รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดิน เขื่อน ฝาย ตลอดจนโรงไฟฟ้า ระบบจ่ายไฟ และโครงข่ายโทรคมนาคมหรืออินเทอร์เน็ต เหล่านี้ล้วนเป็นหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจ

ยิ่งของพวกนี้ทันสมัยและสะดวกเพียงใด คุณภาพชีวิตของประชาชนก็มีโอกาสจะดียิ่งๆ ขึ้น

รัฐบาลทุกรัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง

ทว่า บางช่วงบางเวลา รัฐบาลอาจมีภาระทางการเงิน ต้องจัดสรรงบประมาณไปในหลายส่วนหลายภาคก่อน ไม่ว่าจะเป็น การศึกษา สาธารณสุข และพัฒนาชุมชน ทำให้การลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานเกิดความล่าช้า

หลายส่วนของโครงการเหล่านี้อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งตามหลักสากลก็มีภาระที่จะต้องนับหนี้สินของตัวเองเป็นภาระหนี้สินสาธารณะด้วย เป็นผลให้การระดมทุนด้วยการกู้หนี้ยืมสิน ไม่คล่องตัวหรือยืดหยุ่นเท่าที่ควร

Infrastructure Fund เป็น Creative Solutions ที่หมดจดสวยงาม

เพื่อไม่ให้ประเทศชาติสูญเสียโอกาสในการลงทุนและปรับปรุงยกระดับ ตลอดจนซ่อมสร้าง ระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อรองรับการเติบโตของภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีน อินเดีย และประชาคมอาเซียน

“กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน” จะเป็นเครื่องมือระดมทุนเพื่อนำเงินไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและช่วยลดภาระงบประมาณของภาครัฐรวมถึงหนี้สาธารณะที่จะเกิดขึ้นจากการจัดทำโครงการต่างๆ ไปด้วยในตัว โดยประชาชนก็จะได้มีส่วนร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวทดแทนในส่วนนั้น

ลักษณะของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน คือเน้นที่รายได้จากการประกอบกิจการโครงการโครงสร้างพื้นฐานนั้นว่าต้องมีความมั่นคง นอกจากนี้ จะอนุญาตให้นำเงินไปลงทุนในทรัพย์สินของโครงการที่ยังอยู่ในขั้น Greenfield Projects ได้ (หมายถึง โครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรือก่อสร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่เริ่มมีรายได้เชิงพาณิชย์)

การระดมทุนจะนำไปลงทุนใน 8 ประเภทโครงการ คือ ระบบขนส่งทางราง ระบบทางพิเศษ ไฟฟ้า น้ำประปา สนามบิน ท่าเรือน้ำลึก โทรคมนาคม และพลังงานทางเลือก

กลไกการทำงานของกองทุนนี้ ดร.วรพลอธิบายว่า “กองทุนนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อระดมเงินจากประชาชน ประชาชนเมื่อรับเงินปันผลกลับไปได้รับการยกเว้นภาษี โดยกองทุนนี้ไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ได้ทั้งหมด แต่ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท และโครงการนั้นต้องมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ยกเว้นโครงการพลังงานทางเลือก ที่มีขั้นต่ำที่ 500 ล้าน เพราะจำเป็นต้องมี Size เล็กได้”

“วิธีการคือบางธุรกิจสร้างโรงไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว จะสร้างโรงไฟฟ้าต่อไป โรงไฟฟ้าแรกขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฯ ขายให้นิคมฯ มีสัญญา 20 ปีเอากระแสเงินสดอนาคตของการขายกระแสไฟฟ้ามาเข้ากองทุน ยกสิทธิกระแสรายได้เข้ากองทุน ได้เงินไปสร้างโรงไฟฟ้าที่สองที่สามต่อไป ผู้ถือกองทุนก็จะถือประโยชน์ของกองทุนนั้น ซึ่งจะได้รับกระแสเงินสดที่โอนมาดังกล่าวเป็นผลตอบแทนที่เหมาะสม”

ประเทศไทยมีชัยภูมิที่ดีเชื่อมทั้งภูมิภาค ASEAN กับ จีน อินเดีย ประเทศไทยต้องเป็น Economic Bridge ในภูมิภาคนี้ การเตรียมความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งที่จำเป็น ตลาดทุนจึงมีหน้าที่ในการช่วยเหลือรัฐบาลในการพัฒนาโครงการต่างๆ โดยไม่ต้องรอการจัดสรรงบประมาณหรือกู้เงินซึ่งจะกลายเป็นภาระหนี้สาธารณะ ด้วยการนำภาคเอกชน ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป

Holding Company for Growth

ธุรกิจก็เหมือนคน เมื่อเกิดแล้วก็ต้องเติบโต ธุรกิจจึงจำเป็นต้องจัดรูปธุรกิจ (Portfolio) เพื่อรองรับการเติบโตและเพื่อสร้างระบบบริหารจัดการที่ทรงประสิทธิภาพ

Preemptive Strategy ของ ก.ล.ต. คือเร่งออกแบบกฎเกณฑ์สำหรับธุรกิจ Holding Company ขึ้น โดยเกณฑ์ใหม่จะประกาศในเร็วๆ นี้

วัตถุประสงค์ของการประกาศเกณฑ์ใหม่คือเพื่อให้เป็นเครื่องมือของธุรกิจในการจัดโครงสร้างของตัวเองให้เป็นกลุ่มเป็นก้อน เพราะธุรกิจเมื่อเติบโตขึ้น จำเป็นต้องจัดโครงสร้างธุรกิจเป็นกลุ่ม บางรายอาจทำธุรกิจหลากหลายประเภท การจัดกลุ่มจะทำให้มีความชัดเจน สามารถดึงดูดความสนใจของผู้ลงทุนที่มีแตกต่างกันได้ดีขึ้น

“เป็นการจัดบ้านให้กับธุรกิจเหล่านั้น Holding Company ตั้งขึ้นมาเพื่อสนองการจัดกลุ่มของธุรกิจ และให้มีความหลากหลายในการลงทุน ขอเพียงมีโครงหลักๆ มากกว่าร้อยละ 50 ที่เหลือก็สามารถลงอีกหลายๆ อย่างได้ตามต้องการ และในอนาคตก็มีความยืดหยุ่นพอที่จะมาขอยื่นเปลี่ยนกลุ่มธุรกิจหลักของตัวเองได้ เช่นวันนี้ทำโรงไฟฟ้าแล้วอยู่ๆ พบว่าทำกาแฟดีกว่า เริ่มลงไป 10 เปอร์เซ็นต์ ต่อไปกาแฟดีจริง อาจจะเลิกทำโรงไฟฟ้ามาทำกาแฟก็ได้ เมื่อผ่านความเห็นชอบของผู้ถือหุ้น”

Holding Company จัดเป็นบริษัทที่ถือหุ้นอย่างเดียว โดยต้องมีหุ้นหลักหนึ่งกลุ่มเพื่อให้ผู้ลงทุนเข้าใจว่าบริษัทนี้เกี่ยวข้องกับธุรกิจอะไร สามารถใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย

การเตรียมเกณฑ์ Holding Company นอกจากเปิดช่องให้ธุรกิจจัดบ้านของตัวเอง เปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถลงทุนในกลุ่มธุรกิจ ยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับช่วงชิงความสำคัญให้กับประเทศไทยในการเป็นประตูสู่การลงทุนในภูมิภาค

ดร.วรพลยกตัวอย่างว่า “เช่นบริษัทไทยที่จะไปลงทุนโรงไฟฟ้าในลาว ร่วมกับรัฐบาลลาว หรือไปลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อนบ้าน พวกเขาอาจรวมตัวเป็นโฮลดิ้งคอมพานี จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์บ้านเรา แต่ไปลงทุนโรงไฟฟ้าที่พม่า ที่ลาว หรือในภูมิภาคนี้ ก็จะทำให้บริษัทนี้เป็นที่สนใจของนักลงทุนทั้งหลายที่ต้องการลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าในภูมิภาคแถบนี้ คือถ้านักลงทุนทั่วโลกพิจารณาต้องการมีสัดส่วนการลงทุนในภูมิภาคนี้ ก็มาลงทุนบริษัทเหล่านี้ที่จดทะเบียนในตลาดไทยได้ จะเห็นชัดเจนเลย ตลาดหุ้นไทยก็จะโต และไทยก็จะกลายเป็นที่ลงทุนของนักลงทุนทั้งหลาย ถ้าสนใจจะลงทุนในประเทศแถบนี้ต้องมาที่ไทย เพราะนี่คือที่ลงทุน ที่นี่คือศูนย์กลางในการลงทุนพวกนี้ พวกสาธารณูปโภคต่างๆ เราทำได้เพราะเรามี Real Sector ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว”

เกณฑ์ใหม่นี้ยังจะช่วยอำนวยความสะดวกให้บริษัทในต่างประเทศสามารถรวมตัวเป็น Holding Company มาลิสต์ในประเทศไทยเพื่อระดมทุนได้ เครื่องมือนี้ยังเป็นประโยชน์ในการรวมกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กเข้าด้วยกัน เป็นคลัสเตอร์

“เราก็หวังเอาธุรกิจเหล่านี้มารวมกันเป็น Holding Company บริษัทซอฟท์แวร์ บริษัทอินโนเวชั่น แล้วพวกนี้ก็ลงทุนไปได้ พูดง่ายๆ ว่าถ้าเดี่ยวๆ เข้ายาก ก็รวมกัน เป็นโฮลดิ้ง และหวังว่าพวกนี้จะโตได้ด้วยวิธีนี้ เพราะถ้าเดี่ยวจะใช้เวลากว่าจะโต เครื่องมือนี้จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญมาก” ดร.วรพลสรุป

ก็ไม่แน่ว่าในอนาคต เราอาจได้เห็น Berkshire Hathaway เวอร์ชั่นไทย อุบัติขึ้นจากผลพวงของเกณฑ์ใหม่นี้ และแน่นอน Warren Buffet เวอร์ชั่นไทยด้วยเช่นกัน

Mergers & Acquisitions

to Leapfrog

อีกกลไกหนึ่งที่จะช่วยจัดรูปธุรกิจ หนุนส่งให้สามารถขยายตัวในช่วงที่ต้องการก้าวกระโดดได้เต็มที่คือการใช้ยุทธศาสตร์ควบรวมกิจการหรือ M&A

ที่ผ่านมา ก.ล.ต. เองเห็นอุปสรรคในเชิงข้อกฎหมายหลายประการ ยุคนี้จึงเป็นยุคที่จะต้องขจัดขวากหนามเพื่อเปิดทางสะดวกให้การควบรวมกิจการได้แสดงศักยภาพอย่างที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นการที่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไปควบรวมกับกิจการนอกตลาด หรือบริษัทนอกตลาดควบรวมกันเองเพื่อเข้าตลาด

ขณะที่เรากำลังปิดต้นฉบับอยู่นี้ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมการควบรวมกิจการในตลาดทุน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอแล้ว และได้ให้สำนักคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วจะส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

โดยเนื้อหาหลักของ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเป้าหมายในการ “ส่งเสริมและสนับสนุนในการปรับโครงสร้างกิจการโดยการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทย...” และดูแลผู้ถือหุ้นและดูแลบริษัท ตลอดจนแก้ไขอุปสรรคข้อกฎหมายบางข้อให้เกิดความสะดวก เช่นการเคลื่อนย้ายสิทธิของเจ้าหนี้และลูกหนี้ การโอนใบอนุญาตจากบริษัทเก่ามาสู่บริษัทใหม่ และประเด็นปัญหาเรื่องภาษีอากร เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเคลียร์ปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมาของการควบรวมกิจการ

ดร.วรพลให้ความเห็นในประเด็นนี้กับเราว่า “เพราะเราเชื่อว่า ธุรกิจต้องการเติบโต ธุรกิจต้องการรวมกันเพื่อผนึกพลัง สร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นประโยชน์ที่ธุรกิจนั้นจะทำการ Diversification หรือ Integration ทางเศรษฐกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่นเป็นโรงกลั่นน้ำมันแล้วควบรวมกับกิจการปั๊มน้ำมัน การควบรวมมีประโยชน์ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ พูดง่ายๆ ว่า ทรัพยากรทางธุรกิจทั้งหลายควรอยู่ในมือของผู้บริหารที่มีคุณภาพและมีความสามารถ คนที่คุณภาพด้อยก็ควรถูกควบรวมไป”

และเพื่อขับเคลื่อนการควบรวมกิจการของธุรกิจไทย ก.ล.ต. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการควบรวมกิจการเพื่อพัฒนาธุรกิจและตลาดทุน โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาวิชาชีพมาร่วมระดมความเห็นและเสนอแนะเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าวด้วย ไม่ว่าจะเป็นจรัมพร โชติกเสถียร, สมชัย สัจจพงษ์, บรรยงค์ ลิ้มประยูรวงค์, ชูเกียรติ รัตนชัยชาญ, บรรยง พงษ์พานิช, กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์, ชนินท์ ว่องกุศลกิจ, ประสัณห์ เชื้อพานิช, ชัชวาล เอี่ยมศิริ, ปวีณา ศรีโพธิ์ทอง (นอกเหนือไปจากคนของ ก.ล.ต. ชาลี จันทนยิ่งยง และวรัชญา ศรีมาจันทร์ โดยมี ดร.วรพล เป็นประธานคณะกรรมการ)

เราหวังว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะได้รับการบังคับใช้ในเร็ววันนี้

Flying with Local Hero

เนื่องจากประเทศไทยไม่ใช่แต่เพียงกรุงเทพฯ และประเทศเราจะแข่งขันได้จำเป็นต้องอาศัยการผนึกกำลังจากทั่วประเทศ...

กรุงเทพฯ เข้มแข็ง ต่างจังหวัดก็ต้องเข้มแข็ง ประเทศถึงจะเดินได้ วิ่งได้

การจะมีธุรกิจที่เข้มแข็งต้องอาศัยกลยุทธ์ที่ถูกต้องเหมาะสม และใช้รูปแบบการบริหารจัดการที่เป็นระบบ โปร่งใส และทรงประสิทธิภาพ การจัดรูปธุรกิจที่เหมาะสม รวมถึงการมีทุนที่เพียงพอ อีกทั้งเมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเกิดขึ้นในปี 2558 ทุกธุรกิจล้วนต้องเตรียมรับมือกับการรุกเข้ามาของธุรกิจจากต่างประเทศและเตรียมพร้อมสำหรับการรุกไปในต่างประเทศอีกทางหนึ่ง

“โครงการหุ้นใหม่ ความภูมิใจของจังหวัด” จึงเกิดขึ้นเพื่อยกระดับธุรกิจในต่าง-จังหวัดซึ่งมีธุรกิจครอบครัวไม่น้อยให้ปรับเปลี่ยนสู่บริษัทมหาชน โดยอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้ง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หอการค้าไทย ที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้สอบบัญชีรวมพลังกัน

โดยสภาอุตสาหกรรม หอการค้า จังหวัดจะเป็นผู้เสนอชื่อธุรกิจที่ต้องการจะเข้าร่วมกับโครงการนี้ ตามเกณฑ์ในการพิจารณาประกอบด้วย มีความประสงค์ต้องการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ มีความประสงค์จะปรับปรุงกิจการให้เข้มแข็ง มีทุนจดทะเบียนและส่วนของผู้ถือหุ้นเมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว 20 ล้านบาท และผลประกอบการปีสุดท้ายมีกำไร

ธุรกิจที่เข้าร่วมจะได้รับการให้คำปรึกษาจากทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งทางด้านการจัดทำบัญชี ด้านการบริหาร ด้านเทคโนโลยีการผลิต โดยหากบริษัทใดสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ได้ภายในปี 2556 ก.ล.ต. จะมอบประกาศเกียรติคุณให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ดร.วรพล อธิบายว่า โครงการนี้เป็นเครื่องมือทำให้บริษัทไทยทั้งประเทศตื่นตัว กระจายความสนใจและความเข้าใจเรื่องตลาดทุนไปสู่ภูมิภาค และจะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนในต่างจังหวัดมีความสนใจในตลาดทุนมากขึ้น

ประชาชนในต่างจังหวัดอาจจะสนใจสอบถามว่าจะเป็นเจ้าของหุ้นคุณได้อย่างไร อาจจะสนใจไปเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นกับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือเปิดบัญชีกับบริษัทหลัก-ทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เพื่อซื้อกองทุนรวมก็ได้ ในส่วนของผู้ประกอบการท้องถิ่นน่าจะสนใจตลาดทุนมากขึ้น เขาอาจเห็นบริษัทเพื่อนฝูงเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ ก็อาจเกิดคำถามว่า บริษัทคุณทำไมทำได้ ทำไมเราไม่ได้ ก็จะเริ่มสนใจ ว่าหุ้นคืออะไร ตลาดคืออะไร บางคนสนใจโทรมาถาม เช่น ผมทำธุรกิจที่จังหวัดนี้มานานแล้ว จ้างงานก็ไม่น้อย ชื่อเสียงก็ทำให้จังหวัดมาไม่น้อย ผมมีสิทธิไหม”

ก.ล.ต. ส่งเสริมโครงการนี้ โดยยังคงพิจารณาคุณสมบัติของบริษัทและดูแลให้มีการเปิดเผยข้อมูลให้ครบถ้วน แม้บริษัทในต่างจังหวัดจะไม่สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ในระยะปีหรือสองปีนี้ทั้งหมด หากบริษัทเข้าสู่ระบบการรับคำปรึกษา มีการปรับปรุงการบริหารจัดการด้านต่างๆ ย่อมจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจนั้นๆ รวมถึงกระตุ้นความสนใจในตลาดทุนให้กับประชาชนทั่วประเทศ ให้สามารถใช้ตลาดทุนเพื่อการลงทุนจะเป็นรากฐานสำคัญของระบบทุนของประเทศต่อไป

MBA เห็นว่านอกจากจะสามารถหวังผลในเชิงจิตวิทยาและประชาสัมพันธ์แล้ว โครงการแสวงหาและเจียระไนเพชรแบบนี้ ย่อมก่อประโยชน์ต่อสังคมธุรกิจต่างจังหวัดในระยะยาว และเป็นนโยบายเชิงรุกของ ก.ล.ต. แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

An Investor

Perspective

แน่นอน ประเทศไทยมีประชากรทั้งประเทศประมาณ 68 ล้านคน หากสามารถให้ความรู้ สร้างความเข้าใจให้กับคนทั้งประเทศในเรื่องเกี่ยวกับการลงทุน มีผู้เข้ามาลงทุนในตลาดทุนมากขึ้น ย่อมจะทำให้ภาคธุรกิจสามารถระดมทุนได้สะดวกมากยิ่งขึ้น กลายเป็นฐานทุนที่เข้มแข็งในการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติต่อไป

บทบาทการสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องของตลาดทุนจึงเป็นอีกบทบาทที่ ก.ล.ต. ยุคนี้เห็นความสำคัญ มีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อขยายความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่ความรู้พื้นฐานจนถึงการลงทุนในเครื่องมือหรือตราสารการเงิน (Financial Instruments) ที่ซับซ้อน

เมื่อมีความรู้แล้ว การมีเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาอีกจำนวนมาก จะมาช่วยรองรับให้เกิดการระดมทุนที่กว้างขวาง อย่างเช่นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเชิงลึกที่อาจซอยย่อยลงไปได้อีกเป็นเฉพาะกลุ่มวิชาชีพที่มีการโยกย้ายงานบ่อย (เช่นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับวิศวกร สำหรับสื่อมวลชน สำหรับแพทย์ ฯลฯ) หรือกองทุนที่มีเป้าหมายเฉพาะเจาะจงที่สอดคล้องกับ Life Style เช่นกองทุนรวมเพื่อการศึกษาของบุตรหลาน กองทุนรวมเพื่อชีวิตสมรส และกองทุนรวมหลังเกษียณ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมให้มีการออมสะสมแบบสม่ำเสมออย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

นอกจากนี้การสร้างนักลงทุนกลุ่มใหม่ขึ้นมาจะช่วยให้ตลาดทุนไทยสร้างและคิดค้นผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ออกมาได้ เป็นส่วนช่วยเสริมให้ตลาดทุนไทยเติบโต และมีความแข็งแรงจากความหลากหลายที่เกิดขึ้น

อีกเป้าหมายของ ก.ล.ต. ในยุคนี้ คือพยายามปรับวิธีออมของคนไทยให้เปลี่ยนจาก “เหลือใช้แล้วจึงค่อยออม” มาเป็น “เหลือจากออมจึงค่อยนำไปใช้” ซึ่งจะทำให้เกิดเงินออมระยะยาวในสังคมไทย โดยผ่านกลไกการทำงานของตลาดทุน ซึ่งจะช่วยให้เงินที่ออมไว้นั้นมีดอกผลต่อเนื่องต่อไป

MBA เห็นว่าแนวคิดใหม่นี้จะช่วยให้กระบวนการสะสมทุน (Capital Formation) ของสังคมไทยเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น        

Financial Competency

การยกระดับความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนเพื่อเพิ่มจำนวนนักลงทุนในตลาดย่อมทำให้ตลาดทุนเกิดประสิทธิภาพ (Efficient Market) ส่งผลให้ราคาหลักทรัพย์มีเสถียรภาพและสามารถเป็นแหล่งระดมทุนต้นทุนต่ำในระยะยาวได้

น่าสนใจไม่น้อยที่ ก.ล.ต. ยุคปัจจุบันถือเรื่องนี้เป็นสำคัญ ผ่านโครงการ Financial Literacy เพื่อเสริมความสามารถในการลงทุนให้กับกลุ่มเป้าหมาย และจัดสรรให้มีส่วนงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ

ดร.วรพล อธิบายว่าการทำงานจะมี 3 ระดับ คือ Financial Literacy เป็นความรู้พื้นฐานสำหรับคนทั่วไปให้รู้จักเรื่องรายรับรายจ่าย การออม และการลงทุน และถัดไปเป็น Investor Education สำหรับผู้ที่เริ่มเป็นนักลงทุนหรือลงทุนไปบ้างแล้ว ขั้นต่อไปคือ Investment Sophistication

“ทั้งสามส่วนจะทำให้เกิด Invest-ment Competency หรือความสามารถในการลงทุนให้เป็น ถ้าทำได้อย่างนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับประเทศไทย” เขากล่าว

กลยุทธ์ของ ก.ล.ต. คือมุ่งไปที่สื่อสารมวลชนระดับ Mass Media ซึ่งประชาชนทั่วไปให้ความสนใจเช่น โทรทัศน์ และภาพยนตร์ ก.ล.ต. ใช้วิธีเชิญชวนผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ในประเทศไทย มาร่วมคิดว่าจะสอดแทรกนำเสนอความรู้ทางการเงินเข้าไปในรายการต่างๆ รวมถึงละครที่เข้าถึงกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ เป็นการขอความช่วยเหลือจากฝั่งผู้ผลิต

อีกทาง ก.ล.ต. เข้าไปมีส่วนร่วมกับการผลิตสื่อโดยเป็นผู้สนับสนุนบางช่วงรายการที่จะนำความรู้เกี่ยวกับการเงินการลงทุนไปเผยแพร่ให้สอดคล้องกับเนื้อหารายการนั้นๆ

เลขาธิการ ก.ล.ต. ยกตัวอย่างการสอดแทรกเนื้อหาทางด้านการเงินเข้าไปในละครให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า “ยังคงเป็นละครเหมือนเดิม พระเอกอาจจะขับแท็กซี่ เป็นคนขับรถ แล้วฟังพ่อแม่นางเอกคุยกันเรื่องหุ้น สุดท้ายลงทุนเป็น จนกลายเป็นเจ้าของกิจการ หรือเป็นนักลงทุนที่มีคุณภาพ คือยังคงเป็นละครปกติ ที่ประชาชนชม มีพระเอก นางเอก”

ในระดับต่อมาคือ Investor Education ก.ล.ต.พัฒนาเนื้อหาที่หลากหลายสำหรับนักลงทุน เผยแพร่ทางเว็บไซต์ และจัดทำแอพ-พลิเคชั่น ที่จะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องในเรื่องตราสารต่างๆ เครื่องมือช่วยในการคำนวณต่างๆ เช่นผลตอบแทนการลงทุน ROI, ROE, Y-T-M ฯลฯ นอกเหนือจากการอบรมสัมมนาที่ทำเป็นระยะอยู่แล้ว

ดร.วรพล อธิบายเหตุผลที่พยายามกระจายความรู้สู่สังคมวงกว้างว่า “เพราะคนไทย 68 ล้านคน มีจำนวน 56 ล้านคนเป็นคนชั้นกลาง (Middle Income Class) แล้ว เราจึงจำเป็นต้องดึงคนกลุ่มนี้เป็นฐานทุนของตลาด เป็นฐานของการลงทุนให้มากขึ้น พูดง่ายๆ ต้องขยายเงินออม ขยายเงินลงทุนให้มากขึ้น ทำให้ Capital Formation หรือการสะสมทุนของประเทศไทยดีขึ้นโดยรวม”

Financial Literacy

สุรีรัตน์ สุรเดชะ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมความรู้ด้านการเงินของ ก.ล.ต. กล่าวถึงงานที่รับผิดชอบตามกลยุทธ์ Financial Literacy ว่า ในอดีต ก.ล.ต.ให้ความรู้ผู้ลงทุนโดยเน้นเรื่องการเตือนเรื่องความเสี่ยง การชี้ให้ระมัดระวังกลโกงต่างๆ และการกระตุ้นให้ใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นพันธกิจด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเป็นหลัก ต่อมา ก.ล.ต. เห็นว่าการพัฒนาตลาดทุนไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนต้องมีฐานผู้ลงทุนที่แข็งแกร่ง การรอให้คนเข้ามาเป็นผู้ลงทุนแล้วค่อยให้ความรู้จึงไม่ทันการ จำเป็นต้องขยายขอบเขตการดำเนินงานลงมาในระดับพื้นฐานมากขึ้น เริ่มจากกระตุ้นให้คนตระหนักถึงความจำเป็นของการบริหารจัดการรายได้ รายจ่าย การสะสมเงินออมและการวางแผนการเงินเพื่อเป้าหมายต่างๆ รวมไปถึงการลงทุนเพื่อทำเงินให้งอกเงย โดยเน้นกลุ่มคนวัยทำงาน รวมทั้งนิสิตนักศึกษาที่กำลังจะมีรายได้เป็นของตนเอง เพราะเมื่อมีความรู้พื้นฐานทางการเงินและเข้าใจการลงทุนในตลาดทุนอย่างถูกต้อง เท่ากับเป็นการเตรียมความพร้อมให้เป็นผู้ลงทุนที่มีคุณภาพในอนาคตของ ก.ล.ต. กล่าวถึงงานที่รับผิดชอบตามกลยุทธ์ Financial Literacy ว่า ในอดีต ก.ล.ต.ให้ความรู้ผู้ลงทุนโดยเน้นเรื่องการเตือนเรื่องความเสี่ยง การชี้ให้ระมัดระวังกลโกงต่างๆ และการกระตุ้นให้ใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นพันธกิจด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเป็นหลัก ต่อมา ก.ล.ต. เห็นว่าการพัฒนาตลาดทุนไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนต้องมีฐานผู้ลงทุนที่แข็งแกร่ง การรอให้คนเข้ามาเป็นผู้ลงทุนแล้วค่อยให้ความรู้จึงไม่ทันการ จำเป็นต้องขยายขอบเขตการดำเนินงานลงมาในระดับพื้นฐานมากขึ้น เริ่มจากกระตุ้นให้คนตระหนักถึงความจำเป็นของการบริหารจัดการรายได้ รายจ่าย การสะสมเงินออมและการวางแผนการเงินเพื่อเป้าหมายต่างๆ รวมไปถึงการลงทุนเพื่อทำเงินให้งอกเงย โดยเน้นกลุ่มคนวัยทำงาน รวมทั้งนิสิตนักศึกษาที่กำลังจะมีรายได้เป็นของตนเอง เพราะเมื่อมีความรู้พื้นฐานทางการเงินและเข้าใจการลงทุนในตลาดทุนอย่างถูกต้อง เท่ากับเป็นการเตรียมความพร้อมให้เป็นผู้ลงทุนที่มีคุณภาพในอนาคต

สำหรับความรู้พื้นฐานทางการเงินที่ทุกคนควรจะมี 4 ด้านที่เกี่ยวกับการเงินส่วนบุคคล (Personal Finance) คือเรื่องรายได้ ค่าใช้จ่าย เงินออม และเงินลงทุน วิธีการที่จะจัดการเรื่องเหล่านี้ ต้องรู้ว่าจะหารายได้มาอย่างไร อะไรเป็นค่าใช้จ่ายสำคัญที่ทำให้เงินที่มีหดหายไป ถ้าสามารถจัดการสองหมวดแรกได้ก็จะมีเงินเหลือไปออม เมื่อมีเงินออมแทนที่จะปล่อยไว้ในธนาคารก็ต้องหาทางนำไปลงทุนให้งอกเงย ซึ่งจำเป็นต้องหาความรู้เกี่ยวกับสินค้าในตลาดทุน

เพราะจากข้อมูลที่หลายหน่วยงานจัดทำได้ชี้ให้เห็นว่า ระดับการออมของประชาชนในประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำ สัดส่วนการออมต่อรายได้มีเพียง 11% การเป็นหนี้ของภาคครัวเรือนยังสูง จึงจำเป็นที่ต้องให้ความรู้ความเข้าใจทางด้านการเงินกับประชาชน ให้มีความมั่นคงทางการเงิน สามารถบริหารจัดการเงินของตัวเองได้อย่างเหมาะสม

สุรีรัตน์เล่าถึงเนื้อหาที่นำเสนอว่า มีตั้งแต่ใช้เงินให้เป็นทำอย่างไร การหารายได้เพิ่มเป็นเรื่องที่ต้องคิด เรื่องการใช้บัตรเครดิต ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องบริหารให้เป็น เป็นความรู้พื้นฐานทางการเงิน เราพูดตั้งแต่การใช้เงิน การจัดการรายจ่าย การจัดการกับเงินออม และเราก็ลงไปถึงความรู้ขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับสินค้าในตลาดทุนว่ามี 3 กลุ่ม กลุ่มแรกถือไว้ระยะสั้นเพื่อความคล่องตัว กลุ่มที่สองลงทุนเพื่อให้สร้างกระแสรายได้ และกลุ่มที่สามลงทุนไว้เพื่อให้มูลค่าเติบโต เราพยายามใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย เช่น เวลาเราพูดถึงตราสารหนี้คนทั่วไปไม่รู้จัก ต้องอธิบายให้เข้าใจว่าพันธบัตรคืออะไร หุ้นกู้คืออะไร ต่างกันตรงไหน และเราให้ความรู้เรื่องหุ้นว่าทำไมถึงต้องลงทุน คือถ้าจะให้เงินเติบโตมีวิธีอย่างไร จะให้ค่อยๆ โตทีละ 1-2 เปอร์เซ็นต์ หรือจะรับความเสี่ยงได้มากกว่านั้น เพราะถ้าคุณอายุ 40 กว่าจะเกษียณ 60 ใน 20 ปีต่อให้หุ้นเหวี่ยงไปขนาดไหนก็มีโอกาสที่ทำให้เงินเติบโตไปได้ดีกว่า หลายคนคิดว่าเงินเกษียณเป็นเงินก้อนสุดท้าย ไม่อยากให้ไปอยู่ในหุ้นเลย เป็นความคิดที่ไม่ถูก หากกลัวความเสี่ยงเกินไป ไม่กล้าเสี่ยงกลับจะกลายเป็นความเสี่ยงที่จะมีเงินไม่พอใช้ตอนเกษียณ เพราะเงินเกษียณถ้าไม่อยู่ในหุ้นเลย จากแสนหนึ่งผ่านไป 20 ปีอาจจะอยู่แค่แสนห้า แต่ถ้ามีหุ้นอยู่บ้าง 10-20 เปอร์เซ็นต์ ก็จะโตดีกว่า เพราะต่อให้ผันผวนอย่างไร ในระยะยาวกิจการในตลาดหลักทรัพย์ต้องโตขึ้น เราเป็นเจ้าของกิจการ เงินของเราก็เติบโตตามไปด้วย เป็นเรื่องที่ต้องพยายามสื่อสารให้คนทั่วไปเห็นความสำคัญของการลงทุน

ช่องทางการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายของ ก.ล.ต. มีเว็บไซต์ www.start-to-invest.com เป็นช่องทางที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ แต่ผู้ที่จะเข้ามาหาข้อมูลจากเว็บไซต์ต้องรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะใช้ หรือหากเป็นคนที่ใช้อยู่แล้วก็ต้องตั้งใจมาหาข้อมูลจึงจะเห็น จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มช่องทางการสื่อสารที่สามารถเข้าถึงประชาชนในวงกว้าง เช่น โทรทัศน์และนิตยสารเพิ่มขึ้น เป็นการให้ความรู้เรื่องการเงินการลงทุนที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวัน ในเร็ววันนี้ ก.ล.ต. จะมีแอพพลิเคชั่นชื่อ start-to-invest ให้ใช้ สำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตที่จะเข้าถึงข้อมูลสินค้าในตลาดทุนได้สะดวกขึ้น ดูได้ทุกที่ทุกเวลา รวมทั้งมีโปรแกรมช่วยในการวางแผนการเงินเพื่อเป้าหมายต่างๆ ใช้คำนวณเงินที่ต้องเตรียมไว้ให้เพียงพอรองรับชีวิตในวัยเกษียณได้ด้วย

สำหรับตัวชี้วัดความสำเร็จการรับรู้ในโครงการนี้สามารถมองได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน เช่น มีสัดส่วนการออมเพิ่มขึ้น มีจำนวนบัญชีที่คนลงทุนในหลัก-ทรัพย์ประเภทต่างๆ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้น หรือกองทุนรวมต่างๆ มากขึ้นกว่าเดิม

การติดอาวุธทางปัญญาให้กับประชาชนทั่วไปในเชิงการลงทุน นอกจากจะช่วยให้แต่ละคนรู้จักวิธีการลงทุนในรูปแบบต่างๆ แล้ว ยังจะมีส่วนช่วยให้ธุรกิจในประเทศไทยมีความพร้อมทางด้านทุนเพื่อใช้ในการแข่งขันต่อไป

Life Style

Funding

การสร้างสินค้าที่น่าสนใจตรงกับความต้องการของนักลงทุนเป็นอีกเรื่องที่ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญในการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดกลุ่มนักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาในตลาด

การจัดตั้งกองทุนรวม ที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจน โดยร่วมมือกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนให้ออกแบบกองทุนประเภทที่สอดคล้องกับ Life Style ของผู้ออม เช่นกองทุนรวมสำหรับการออม ลงทุนทุกเดือนเพื่อการศึกษา กองทุนรวมเพื่อแต่งงาน เป็นต้น          

อีกประเภทคือกองทุนหลังเกษียณ โดยเอาเงินก้อนไปลงทุนที่จะมีดอกผลทุกเดือน เพื่อใช้จ่ายในชีวิตหลังเกษียณ หรือ Post Retirement Fund เพราะคนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น กองทุนชนิดนี้ยังสามารถพัฒนาต่อไปเป็นกองทุนสำหรับการรักษาโรคบางชนิดได้ด้วย กองทุนนี้จะช่วยทำให้ชีวิตหลังเกษียณมีหลักประกัน และกลายเป็นทุนที่ให้ตลาดทุนนำไปใช้ต่อได้

ดร.วรพลให้เหตุผลว่า “ที่ผ่านมาไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในเรื่องพวกนี้ จึงให้แนวทางว่า ให้ตั้งกองทุนที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อเป็นการผลักดันให้การออมเกิดขึ้น เป็นการสร้างฐานนักลงทุนให้กว้างขวาง โดยการให้ความรู้ความเข้าใจในการลงทุน สร้างเครื่องมือการออมให้เกิดขึ้น โดยการกำหนดว่าจะลงทุนประเภทไหน ก็เลือกให้เหมาะสมกับ profile ความเสี่ยงของตัวเอง คือถ้าคุณไม่อยากเสี่ยงมากก็อาจจะเน้นที่ตราสารหนี้ เป็นทางเลือก ก็อาจมีข้อกำหนดแล้วแต่กองทุน ก็ให้ บลจ. ไปพิจารณาเสนอมา”

การจัดตั้งกองทุนที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนจะเป็นอีกส่วนหนึ่งในการรองรับ พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 ซึ่งกำหนดวงเงินคุ้มครองไม่เกิน 1 ล้านบาท ที่จะบังคับใช้ในเดือนสิงหาคมนี้ เป็นทางเลือกสำหรับประชาชนทั่วไปที่มีเงินออมในธนาคารให้สามารถลงทุนในตลาดทุนได้เพิ่มเติมและหลากหลายขึ้น

Accredited Investor Regime

สังคมนักลงทุนปัจจุบันแบ่งตามมุมมองของกฎหมายตลาดทุนได้เป็น 2 พวกใหญ่ คือนักลงทุนรายย่อย (เรียกเป็นภาษาทางการว่า “ประชาชนทั่วไป”) และนักลงทุนสถาบัน (17 ประเภท)

กฎหมายบังคับให้มองว่า ถ้าไม่ใช่สถาบัน 17 ประเภทแล้วต้องเป็น “ประชาชนทั่วไป” สถานเดียว...ต้องเป็น “ขาว” เป็น “ดำ” เป็น “สูง” เป็น “ต่ำ” โดยไม่มีที่ว่างให้กับพวก “เทาๆ” หรือ “กลางๆ” เลย

ทว่าในความเป็นจริง เราพบว่า “ประชาชน” ทั่วไปที่มีความสามารถสูง มีศักยภาพสูง เชี่ยวชาญการลงทุน และมีความรู้ทะลุปรุโปร่งในเชิงตลาดทุนนั้น มีอยู่ถมไป

ในเชิงความรู้ความเข้าใจ คนเหล่านี้ไม่ต่างจาก “นักลงทุนสถาบัน” 17 ประเภทนั้น แม้แต่น้อย พวกเขารู้จักแยกแยะความเสี่ยง และปกป้องตัวเองได้ ที่สำคัญมีเงินทุนพร้อมลงทุนจำนวนไม่น้อย

ก.ล.ต. ยุคนี้จะแก้เกณฑ์ด้วยการเปิดพื้นที่ให้นักลงทุนประเภทนี้ได้มีตัวตนเป็นครั้งแรก

“เป็นการจัดกลุ่มผู้ลงทุนเสียใหม่ แยกผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้มากและดูแลตนเองได้จากนักลงทุนรายย่อย เพื่อให้นักลงทุนกลุ่มนี้สามารถลงทุนในตราสารที่หลากหลายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ออกตราสารก็สามารถออกตราสารที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเพื่อขายให้กับคนกลุ่มนี้ ดร.วรพลกล่าวกับเรา

Accredited Investor กลุ่มใหม่นี้ จะสามารถลงทุนในตราสารที่ออกขายเฉพาะนักลงทุนสถาบันได้ (institutional investor) ถือเป็นการยกระดับนักลงทุนรายย่อยที่มีความรู้ความเข้าใจในเครื่องมือทางการเงินต่างๆ มากกว่านักลงทุนทั่วไป ให้มีคุณสมบัติเช่นเดียวกันกับนักลงทุนสถาบัน

นักลงทุนกลุ่มนี้มีเกณฑ์เบื้องต้นคือ ต้องถือครองมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (Net Worth) 50 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีรายได้ต่อปี 4 ล้านบาทขึ้นไป หรือพอร์ตการลงทุนมีมูลค่าตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป

ก.ล.ต. คาดว่าหลังจากประกาศเกณฑ์นี้ใช้อย่างเป็นทางการแล้ว จะทำให้คนกลุ่มนี้สามารถลงทุนได้หลากหลายขึ้น รวมถึงตราสารที่มีความเสี่ยงสูงแต่ได้รับผลตอบแทนสูงด้วย เช่น High Yield Bond (หุ้นกู้ที่ได้รับการจัดอันดับต่ำกว่าหรือเท่ากับ BBB) ซึ่งออกโดยธุรกิจขนาดกลางที่ต้องการระดมทุน เป็นการจับคู่ระหว่างผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูงและมีความรู้กับผู้ต้องการทุนที่ยังมีเรตติ้งไม่สูง

ดร.วรพลอธิบายว่า “High Yield Bond คือบอนด์ของบริษัทที่มีคุณภาพ เพียงแต่เครดิตเรตติ้งอาจไม่ดีพอ เขาต้องให้ผลตอบแทนสูงเพื่อดึงดูดให้คนมาซื้อ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มีคนได้เครดิตเรตติ้ง A หรือ A- มีอยู่จำนวนหนึ่ง ที่เหลือ น่าจะ Rating ต่ำกว่านั้น พวกนี้ออกบอนด์มาหาคนซื้อลำบาก ทั้งที่ไม่ได้เลวร้าย ผลประกอบการดีพอสมควรอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ”

การก่อเกิด Accredited Investor จะช่วยให้เกิดนักลงทุนที่มีความหลากหลาย เติมเต็มในส่วนที่ควรจะเป็น และช่วยทำให้เกิดตราสารใหม่ๆ ซึ่งจะมีส่วนในการพัฒนาตลาดทุนและตลาดผู้ประกอบการของไทยต่อไป

The New New Futures

ประเทศไทยใช้ตลาดอนุพันธ์ เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงมาตั้งแต่ปี 2549 โดย ก.ล.ต. เล็งเห็นความสำคัญของตลาดนี้ โดยการเพิ่มสินค้าในตลาดล่วงหน้าให้มีมากยิ่งขึ้น ครอบคลุมสิ่งที่ภาคธุรกิจและนักลงทุนต้องการ

ปัจจุบัน บริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้เปิดซื้อขายอนุพันธ์ทั้งสิ้น 7 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ SET50 Index Futures, SET50 Index Options, Single Stock Futures, Gold Futures, Interest Rate Futures, Silver Futures และ Oil Futures

ตัวอย่างที่ชัดเจนของสินค้าในตลาดล่วงหน้าของไทยที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นคือ ตลาดอนุพันธ์ทองคำของประเทศไทยมีการซื้อขายเป็นอันดับ 3 ของโลก เพราะผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับทองคำ (พ่อค้าทองหรือร้านทองนั่นเอง) พากันเข้าสู่ระบบนี้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง ขณะที่ Oil Futures ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมาก็มารองรับกับสถานการณ์ราคาพลังงานโลกที่ผันผวน ขณะที่มีความต้องการใช้งานสูงในหลายธุรกิจ ก็มีทิศทางที่เติบโตขึ้น

ในอนาคตอันใกล้จะมี Currency Futures (Baht/USD Futures) เพื่อให้ธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็กมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงได้ในต้นทุนที่ไม่สูง สามารถบริหารค่าเงินได้เองในตลาดล่วงหน้า จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการทุกระดับที่มีการทำธุรกรรมกับต่างประเทศ

ดร.วรพล ชี้ว่า การเพิ่มสินค้าในตลาดล่วงหน้า ตัวอย่างเช่น Currency Futures จะเป็นช่องทางที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการ และ CEO และ CFO ในการบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศโดยเริ่มต้นจากเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาก่อน เพราะเป็นสกุลเงินที่ใช้กันทั่วไปในการค้าขายระหว่างประเทศ

“ผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดเล็ก สามารถใช้ตลาดล่วงหน้าในการบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน ซึ่งจะส่งผลต่อผลประกอบการของธุรกิจได้ เป็นอีกเครื่องมือที่ให้ธุรกิจได้เลือกใช้นอกเหนือจากการ Hedging ค่าเงินกับธนาคารพาณิชย์ แต่เพียงช่องทางเดียว”

REIT=Real Estate Investment Trust

REIT เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา

เครื่องมือนี้จะมาช่วยในการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยอาศัยรูปแบบทรัสต์ที่จะช่วยให้สามารถระดมทุนก้อนใหญ่ๆ เพื่อนำมาพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ได้

เมื่อมองในเชิงผู้ลงทุน REIT คือกองทรัสต์ที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ โดยต้องลงทุนและมีรายได้ส่วนใหญ่จากอสังหาริมทรัพย์ เช่นในประเทศสหรัฐอเมริกากำหนดให้ REIT ต้องลงทุนอย่างน้อย 75 เปอร์เซ็นต์ในอสังหา-ริมทรัพย์ ทั้งนี้ REIT มีลักษณะผสมผสานระหว่างตราสารหนี้และตราสารทุน คือมีการเพิ่มค่าหลักทรัพย์คล้ายตราสารทุน แต่ก็ยังได้รับปันผลคล้ายตราสารหนี้ด้วย

ดร.วรพลอธิบายเครื่องมือนี้ว่า “เป็นรูปแบบการใช้ทรัสต์ ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ได้ทั้งหมด สามารถกู้เงินก็ได้ ความเป็นทรัสต์สามารถกู้เงินเพื่อพัฒนา สามารถเป็น development project ได้ โดยเครื่องมือนี้จะต่างจาก Property fund ที่ต้องสร้างจบแล้ว มีศูนย์การค้าแล้วเอาศูนย์การค้านั้นมาให้ผู้ลงทุน แต่ REIT เป็นกึ่งนักพัฒนากลายๆ โดยสามารถรวบรวมจากหลากหลายโครงการมาจัดรูปขึ้นเป็นทรัสต์ ถือเป็นอีกเครื่องมือที่จะออกมาในการระดมทุน”

ด้วยสินค้าใหม่ๆ ที่จะมีเพิ่มขึ้นในตลาดทุนของประเทศไทย ก.ล.ต. คาดหวังว่า จะสามารถดึงดูดนักลงทุนใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดอย่างมีนัยสำคัญ สามารถช่วยให้ตลาดทุนไทยมีรากฐานที่แข็งแกร่ง เติบโตเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาคได้ต่อไป

MBA ก็มีความหวังเช่นกัน

Capable

Intermediary

บทบาทที่สำคัญอีกด้านของ ก.ล.ต. คือการเชื่อมประสานทุกภาคส่วนในตลาดทุนตั้งแต่บุคคล ธุรกิจ และภาครัฐบาล ผู้ต้องการลงทุนและผู้ต้องการทุนให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนาตลาดของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้ตลาดทุนในภูมิภาค

สิ่งที่สำคัญในการทำเรื่องนี้คือคน บุคลากรในตลาดทุนทั้งโบรกเกอร์ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ผู้สอบบัญชี ธนาคาร ต้องได้รับการยกระดับความสามารถให้สามารถรองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ อย่างเช่นธุรกิจนวัตกรรมต่างๆ หรือธุรกิจที่เกี่ยวกับพลังงานทางเลือก ผ่านหลักสูตรฝึกอบรมที่ ก.ล.ต. เตรียมจัดขึ้นเพิ่มเติม

เป้าหมายเพื่อให้เกิดนักวิเคราะห์ที่เป็น Investment Strategist สามารถวิเคราะห์หลักทรัพย์ได้ทุกประเภท ไม่จำกัดอยู่เพียงแค่หุ้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างนักลงทุน ผู้ต้องการทุน เมื่อนักวิเคราะห์มีความสามารถเพิ่มขึ้น ความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทตัวกลางกับลูกค้านักลงทุนและผู้ต้องการทุนก็จะเพิ่มมากขึ้นตามกันไป

ขณะเดียวกันในฟากฝั่งของตลาด ก็ได้มีการเชื่อมโยงกับประเทศในกลุ่มอาเซียน เลขาธิการ ก.ล.ต. ขยายความว่า

“ไทยได้เปรียบ เพราะเราอยู่ท่ามกลางความเจริญของจีน ที่มีประชากร 1,400 ล้านคน อินเดีย 1,150 ล้านคน อาเซียนอีก รวมแล้ว 3,000 กว่าล้านคน มีประชากรรอบไทยมากกว่าครึ่งของโลก และมีความเจริญเติบโตที่สุดในโลกขณะนี้ ไทยโชคดีที่สุดเพราะเป็นประเทศอยู่ตรงกลาง เป็นประเทศเดียวที่ติดทะเลทั้งแปซิฟิก และอินเดีย ถ้าทำดีๆ เราจะเป็น Economic Bridge (สะพานเศรษฐกิจ) ที่ต่างชาติสนใจ”

โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยี รองรับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ในการระดมทุนรูปแบบต่างๆ เดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ จะมีการเปิด ASEAN Linkage ระหว่างตลาดหลักทรัพย์ไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย ให้สามารถเชื่อมโยงกันได้ ทำให้มีสินค้าในตลาดมากขึ้น และผู้ลงทุนสามารถสั่งซื้อผ่านตลาดใดก็ได้

อีกด้านคือความพยายามเป็น Back Office ให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ลาว พม่า เพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยเป็นศูนย์กลางของตลาดทุนในภูมิภาค ด้วยความสามารถในการรองรับการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ไทยยังคงมีอยู่มาก และการลงทุนเพื่อระบบโครงสร้างพื้นฐานต้องอาศัยงบประมาณและความเชี่ยวชาญ ความพยายามในการเป็น Back Office ให้กับประเทศเพื่อนบ้านที่ตลาดทุนกำลังเริ่มพัฒนา จึงจะเป็นสิ่งที่สมประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย

4P’s

ของ ก.ล.ต.

ปะราลี สุคนธมาน ผู้ช่วยเลขาธิการ สายงานบริหารองค์กร ก.ล.ต. ให้ข้อมูลเกี่ยวกับทิศทางการปรับเปลี่ยนการทำงานของ ก.ล.ต. ว่าจะทำในกรอบ 4P ซึ่งประกอบด้วย

Proactive เน้นการทำงานเชิงรุก ทั้งการทำงานและการออกไปพบปะแลกเปลี่ยนกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

Preventive การเน้นบทบาทด้านการป้องกันเพิ่มเติมจากการกำกับดูแล

Promotion คือการทำให้ตลาดทุนของประเทศไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพและแข่งขันได้ในระดับโลก

Premiere คือทำให้ทุกภาคส่วนในตลาดทุนเป็นเยี่ยม รวมถึง ก.ล.ต. เองก็ต้องปรับตัวให้ดีเลิศ

การจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ สิ่งสำคัญคือการสื่อสารทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กร มีการตั้งส่วนงานขึ้นมาใหม่ เรียกว่า ฝ่ายส่งเสริมความสัมพันธ์องค์กร ทำหน้าที่ประสานความสัมพันธ์กับ Stakeholders ทั้งหมด รวมถึงการออกไปพบปะผู้ประกอบการเพื่อสร้างความเข้าใจถึงข้อดีของตลาดทุนและการเตรียมความพร้อมของกิจการ ส่วนที่เห็นได้ชัดเจนคือ การทำงานเชิงรุกในงานด้านการพิจารณาอนุญาต IPO ที่เดิมส่วนงานที่ทำหน้าที่พิจารณาจะรอให้ผู้ต้องการออกเสนอขายยื่นเรื่องเข้ามา ส่วนงานที่ตั้งขึ้นใหม่จะเดินสายออกไปพบปะผู้ประกอบการร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อกระตุ้นให้เห็นประโยชน์ของการระดมทุนในตลาดฯ และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อม เช่นโครงการ “หุ้นใหม่ ความภูมิใจของจังหวัด” ที่เปิดตัวไปเมื่อเร็วๆ นี้ โครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายความรู้ ให้ผู้ประกอบการในจังหวัดต่างๆ ตื่นตัวและรู้จักใช้ประโยชน์จากตลาดทุนให้มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ก.ล.ต. จะให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยทุกจุดที่มีการติดต่อกับภายนอก ทุกส่วนงานของ ก.ล.ต. ต้องรับฟังความคิดเห็นและปัญหาของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาพิจารณาอย่างจริงจัง ในเรื่องนี้จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานของคนใน ก.ล.ต. ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย โดยกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาว่าในด้านทรัพยากรบุคคลว่าจะมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการอย่างไรบ้าง เพื่อปรับแนวคิดและแนวทางในการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้มีความสอดคล้องกับทิศทางที่กล่าวไปก่อนหน้านี้

ดังนั้นภาพของ ก.ล.ต. ในอนาคตที่จะออกมาคือ “เราอยากเป็นผู้กำกับดูแลแบบที่เป็นพันธมิตร รับฟัง ในขณะที่คนของเราจะต้องเก่ง มองการณ์ไกล คิดรอบด้าน เป็นองค์กรที่ทุกภาคส่วนให้ความเชื่อมั่นว่าสามารถทำหน้าที่กำกับและพัฒนาตลาดทุนไทยให้มีประสิทธิภาพ แข่งขันได้ในตลาดโลก”

ปะราลี เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยยกตัวอย่าง ฝ่ายส่งเสริมความสัมพันธ์องค์กรที่เป็นส่วนงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ว่า “นอกจากที่เขาต้องประสานกับบุคคลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. และสมาคมต่างๆ เพื่อรับฟังความคิดเห็น ปัญหา และอุปสรรคต่างๆ แล้ว เขาจะต้องนำมาสื่อสารและประสานงานกับส่วนงานของ ก.ล.ต. ที่เกี่ยวข้องที่ทำหน้าที่กำกับดูแล เช่นฝ่ายที่ทำหน้าที่กำกับดูแลและตรวจสอบการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ กำกับดูแลและพัฒนาบริษัทจดทะเบียน ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาก็เดินสายออกไปแนะนำตัวเอง ให้รู้ว่าเราขึ้นมาใหม่ทำหน้าที่นี้ มีอะไรยินดีรับฟัง มีอะไรบอกกับเราได้ ก็มี 2-3 เรื่องแล้วที่เราได้ดูแลตรงนี้ หมายความว่าเราออกกฎเกณฑ์อะไรไป หากเราพบว่ามีประเด็นอะไรที่คนนอกเริ่มเห็นว่าเป็นอุปสรรค ตรงนี้เราก็เอามาประสานงานข้างในต่อ โดยขณะที่เราต้องรับฟังข้อมูลมา ก็ต้องพยายามรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับส่วนงานต่างๆ ภายในองค์กรด้วย พยายามหาทางออก แก้ไขปัญหา หรือทำให้เข้าใจให้ตรงกันแทนที่จะปล่อยให้ความเข้าใจผิดๆ ลุกลามออกไปเป็นวงกว้าง”

เป็นการเปลี่ยนมุมมองและแนวการทำงานของ ก.ล.ต. ที่เห็นเด่นชัดว่าการทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลนั้นสามารถทำได้หลายวิธี โดยเราสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้เป็นในเชิงรุก มีบทบาทเป็นผู้พัฒนาตลาดทุนและวางตัวอย่างเป็นพันธมิตร ออกไปรับรู้ พร้อมที่จะรับฟังให้มากขึ้นได้ โดยในขณะเดียวกันก็ยังคงยึดมั่นในหลักการ มุ่งมั่นที่จะปกป้องนักลงทุนและรักษาความเป็นธรรมในตลาดทุนไปได้พร้อมๆ กัน

เชื่อมโยง

ต่างประเทศ

พราวพร เสนาณรงค์ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์และการต่างประเทศ ก.ล.ต. กล่าวถึงบทบาทของ ก.ล.ต.ในความพยายามให้ตลาดทุนไทยมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและการเพิ่มบทบาทของตลาดทุนไทยในภูมิภาคอาเซียน

การเชื่อมโยงตลาดทุนในภูมิภาคอาเซียน ก.ล.ต. พยายามแก้เกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคและเป็นภาระเชิงการแข่งขัน เช่นเกณฑ์เปิดเผยข้อมูลหากจะออกหลักทรัพย์ในหลายประเทศ เรียกว่า ASEAN Standards for Disclosure ต่อไปก็สามารถใช้หนังสือชี้ชวนฯ ฉบับเดียวกันในหลายประเทศ รวมถึงเกณฑ์บรรษัทภิบาลที่เป็นสากล โดยกลุ่ม ก.ล.ต. อาเซียนจัดทำ Ranking ด้านบรรษัทภิบาลในบริษัทชั้นนำของอาเซียน ซึ่งไทยก็ปรับเกณฑ์ได้ตามมาตรฐาน รวมถึงเกณฑ์บริษัทหลักทรัพย์ที่ใช้ในประเทศไทยก็เป็นเกณฑ์สากลที่ใช้กันทั่วโลก ความพร้อมที่จะขับเคลื่อนเชื่อมโยงไทยกับโลกในส่วนของตลาดทุนจึงนับได้ว่ามีความพร้อมพอสมควร

การเชื่อมโยงของตลาดทุน จะทำให้ผู้ลงทุนมีสินค้าและผู้ให้บริการให้เลือกมากขึ้น โดยในปีนี้จะมีสินค้าจากต่างประเทศ คือ กองทุนรวมและตราสารหนี้ต่างประเทศเข้ามาขายในประเทศไทยโดยผ่านบริษัทหลักทรัพย์ไทย

ในส่วนของตลาด การที่เปิดกว้างให้มีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามา จะช่วยสร้างมุมมองใหม่ๆ เกิดเครื่องมือใหม่ๆ มีสภาพคล่องใหม่ๆ เข้ามา ทำให้บริษัทที่จะเข้าไประดมทุนในตลาดมีโอกาสที่จะได้ต้นทุนในการระดมทุนที่ต่ำลง สามารถขยายฐานลูกค้าไปในต่างประเทศได้มากขึ้น

ผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนไทย ก็จะมีสินค้าที่จะนำไปซื้อขายมากขึ้น โดยที่ผ่านมา ก.ล.ต. มีการพูดคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อที่จะให้บริษัทหลักทรัพย์ไทยสามารถนำผู้ลงทุนไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น และเป็นโอกาสของโบรกเกอร์ที่จะเพิ่มฐานลูกค้าจากการออกไปแข่งขันในต่างประเทศ

พราวพร ให้ภาพการเชื่อมโยงต่างประเทศว่า “เรามองว่า เนื่องจากกระแสของโลกมีเรื่องของการเติบโตของเอเชีย และอาเซียนก็เป็นหัวใจหลักหนึ่งนอกจาก จีน อินเดีย เราก็มองว่าไทยเราพยายามสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านโดยเฉพาะในกลุ่มที่ตลาดทุนเพิ่งเริ่มพัฒนา เพราะเราเห็นว่า เขาเติบโตเราก็ควรสามารถโตไปด้วยกันได้ ไม่ใช่เราไปเอาเปรียบเขา คือโตไปด้วยกัน เช่นท่านเลขาฯ วรพล คิดว่า เราน่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้โครงการสาธารณูปโภคในประเทศที่กิจการที่ตลาดทุนเพิ่งเริ่มพัฒนาเขาสามารถมาระดมทุน ใช้ตลาดทุนไทยเป็นแหล่งทุนได้ อาจเป็นรูปของการออกกองทุนรวมระดมเงินจากตลาดทุนไทย แล้วไปลงในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศลาว กัมพูชา พม่า เพื่อที่ว่าการเติบโตของอาเซียนจะได้เข้ามาในส่วนของเศรษฐกิจไทยด้วย”

บทบาทของ ก.ล.ต. ในการเชื่อมโยงทุกภาคส่วน จึงครอบคลุมทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดทุน การนำโบรกเกอร์ของไทยไปหาพันธมิตรในประเทศกลุ่มอาเซียน การเชื่อมโยงกับสภาหอการค้าในต่างประเทศ เพื่อเชื่อมโยงไปถึงผู้ประกอบการในประเทศนั้นๆ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านตามความต้องการเช่น การดูงาน การให้คำปรึกษา

เมื่อเราสามารถเชื่อมโยงไทยกับเพื่อนบ้านและโลกได้ ก็จะเป็นโอกาสอันดีสำหรับทุกฝ่ายในตลาดทุนที่จะได้รับประโยชน์จากความใกล้ชิดเหล่านี้

ดร.วรพล

โสคติยานุรักษ์

สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก PhD in Finance จาก The Wharton School, University of Pennsylvania สหรัฐอเมริกา

เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินที่มีบทบาทในเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง เคยดำรงตำแหน่งสำคัญด้านการบริหารและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ อาทิ รองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานคณะทำงานจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเรื่องการเจรจาทำความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐอเมริกา

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพิจารณาออกพันธบัตรรัฐบาล กระทรวงการคลัง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ คณะกรรมการแข่งขันการค้า คณะกรรมการวิจัยและพัฒนา วุฒิสภา คณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

ประธานคณะกรรมการสภาวิทยาลัยชุมชนกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการศูนย์เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร-ศาสตร์ และเป็นอาจารย์สาขาวิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

บทบาทด้านนิติบัญญัติ เป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ดร.วรพลเข้ามามีบทบาทในตลาดทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ก.ล.ต. ตั้งแต่เริ่มตั้งเมื่อปี 2535 กับการเป็นวิทยากรในการออกเกณฑ์ตราสารหนี้ รวมถึงการรับเชิญเป็นวิทยากรเป็นระยะ และยังเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะทำงานด้านบัญชีและบรรษัทภิบาลของ ก.ล.ต. และเข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต. เมื่อเดือนตุลาคม 2554

X

Right Click

No right click