ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีข่าวหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากันมาก ก็คือ ข่าวที่กรมสรรพากรจะพิจารณายกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีของ RMF และ LTF
บางทีการทำโฆษณาอย่างโจ่งแจ้งเพื่อบอกต่อผู้บริโภคว่าแบรนด์เราทำความดีอะไรบ้างเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กรก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าผู้บริโภคจะเชื่อในสิ่งที่แบรนด์พยายามจะบอกเสมอไป
หากพูดถึง AACSB International เชื่อว่า Business School ทั่วโลกต่างก็รู้จัก และมีจุดมุ่งหมายตรงกันที่จะได้ชื่อว่า ผ่านการรับรองมาตรฐานของ AACSB กันแทบทั้งสิ้น วันนี้เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับ 1 ใน 2 Business School ในประเทศไทยที่ได้รับตรา AACSB มาครอบครองอย่าง NIDA Business School หรือคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จึงไม่ขอพลาดที่จะอัปเดต Goal ต่อไปของ Business School ชั้นนำของประเทศแห่งนี้กัน
Time to go Online
ผศ.ดร.วิพุธ อ่องสกุล คณบดีคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เริ่มต้นกล่าวถึง ทิศทางในการพัฒนา Business School แห่งนี้ว่า
ขณะนี้การศึกษาทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับเทรนด์การศึกษาออนไลน์ซึ่งกำลังมาแรง แต่ถ้าพิจารณาในแง่ของสังคมไทยโดยรวม เราอาจจะยังไม่พร้อมกับการศึกษาออนไลน์ แต่หากพิจารณาในบริบทของคนรุ่นใหม่ยุคนี้ ต้องยอมรับว่าพวกเขาคุ้นเคยกับสื่อออนไลน์กันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเสพข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์ อ่าน E - Book หรือฟังเพลง ดูคลิปผ่าน YouTube ไปจนถึงการสื่อสารกันในกลุ่มเพื่อน คนในครอบครัวผ่าน Social Media ทุกรูปแบบ เพราะฉะนั้น การเรียนผ่านสื่อออนไลน์ก็จะไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป
ด้วยเหตุนี้ NIDA Business School จึงตกลงใจที่จะเดินหน้าเต็มที่กับการบุกเบิกและวางมาตรฐานการศึกษาออนไลน์ในประเทศไทย โดยได้จัดทำหลักสูตร International MBA เป็น ASEAN Perspective ในรูปแบบของ Double Degree โดยร่วมมือกับ Kelley School of Business Indiana University สถาบันที่เป็นต้นแบบและได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในด้านการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ โดยผู้เรียนหลักสูตรนี้จะได้รับปริญญา Master of Science in Specific Area อย่าง Marketing หรือ Finance จากทาง Kelly School และรับปริญญาในหลักสูตร MBA จากทางนิด้า ซึ่งหลักสูตรนี้คาดว่าจะเปิดรับสมัครนักศึกษาเป็นรุ่นแรกในปีการศึกษาหน้าเป็นรุ่นแรก
นอกจากนั้น ดร.วิพุธ ยังเปิดเผยถึงแนวทางการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนเพิ่มเติม ด้วยการนำแนวทาง Competency Development มาใช้เพื่อดึงศักยภาพแท้จริงของผู้เรียนออกมาและส่งเสริมให้ตรงจุด คู่ขนานไปกับการเรียนด้วย เพราะทางคณะต้องการให้ผู้เรียนได้รับทั้งความรู้ และทักษะในการพัฒนาศักยภาพที่โดดเด่นของตนเองให้เป็นประโยชน์ในหน้าที่การงานของตน และเป็นประโยชน์กับองค์กรและประเทศชาติด้วย โดย ดร.วิพุธ สรุปว่า ตอนนี้ Business School ของนิด้ามีภารกิจบริหารจัดการรถไฟ 3 ขบวน 3 Tracks ขบวนแรก เป็นการรักษาคุณภาพการเรียนการสอนในหลักสูตรปกติที่นิด้าไว้ ขบวนที่ 2 เป็นภาคส่วนของ Extra Curriculum ซึ่งก็คืองานด้าน Competency Development ที่ได้เซ็ทธีมไว้ ซึ่งจะมี HR Expert เข้ามามีส่วนร่วมในการบ่มเพาะ ปลูกฝัง ให้คำแนะนำนักศึกษาตั้งแต่วันแรกของการเรียน และขบวนที่ 3 ก็คือ Track Online ที่ผู้เรียนสามารถเรียนคู่ขนาน ทั้งที่นิด้า และเรียนออนไลน์ จนกระทั่งได้ดีกรีจาก 2 สถาบันชั้นนำในระดับประเทศและระดับโลกไปพร้อมกัน
Build Strong Internship Program
Internship หรือการฝึกงาน นับเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดที่ NIDA Business School ให้ความสำคัญ ดร.วิพุธ ได้กล่าวถึงนโยบายขยายโอกาสทางการศึกษาและขานรับกระแส ASEAN ร่วมกับการเสริมสร้างระบบ Internship ให้เข้มแข็งเพื่อให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์สูงสุดว่า ตอนนี้ทางคณะฯ ได้เริ่มไป Recruit นักศึกษาชาวเมียนมาร์ โดยเสนอว่าจะมอบทุนการศึกษาให้ ซึ่งโปรเจคนี้คาดว่าจะขยายไปในประเทศ CLMV ทั้งหมดอย่างครอบคลุมได้ในเวลาไม่นาน
โดยทุนการศึกษาที่ทางคณะฯ มอบให้ คณบดีท่านนี้เชื่อว่าจะดึงดูดใจผู้รับทุนได้แน่นอน เพราะนอกจากนักศึกษาชาวเมียนมาร์จะได้เรียนฟรีแล้ว สิ่งที่จะมอบให้เพิ่มเติม คือ การมอบโอกาสให้เขาได้เรียนในภาคพิเศษ ส่วนในวันจันทร์-วันศุกร์ ก็จะให้เขาได้มีโอกาสไปฝึกงาน กับบริษัทที่มีแนวโน้มว่าจะขยายธุรกิจไปในเมียนมาร์ และเข้าไปในตลาดหลักทรัพย์ของเมียนมาร์ที่คาดว่าจะเปิดขึ้นในปี พ.ศ. 2558 ด้วย ซึ่งเท่ากับ 2 ปี ที่นักศึกษาชาวเมียนมาร์มาศึกษาที่นิด้า เขาจะได้รับทั้งปริญญา MBA จากนิด้า และมีโอกาสไปฝึกงาน ได้เรียนรู้ระบบงาน ซึ่งเมื่อมาบวกกับความได้เปรียบที่เขามี Local Knowledge ด้วยแล้ว เมื่อบริษัทที่เขาไปฝึกงานจะไปเปิดตัวในตลาดหลักทรัพย์ที่พม่า บริษัทก็จะได้บุคลากรคุณภาพซึ่งเป็นคนท้องถิ่นไปด้วย ดร.วิพุธ จึงมั่นใจว่าการให้ทุนการศึกษาในรูปแบบนี้จะช่วยส่งเสริมทั้งขีดความสามารถในการขยายความร่วมมือและการพัฒนานักศึกษาของนิด้า และยังสอดคล้องกับการที่ประเทศของเราจะก้าวเข้าสู่ AEC ในปี พ.ศ. 2558 อีกด้วย
เสริมศักยภาพเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง
ตอนนี้ NIDA Business School ยังได้จัดตั้ง ศูนย์เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ขึ้น โดยการก่อตั้งศูนย์เป็นความร่วมมือกันระหว่าง Institute for Strategy and Competitiveness ของ ไมเคิล อี พอร์เตอร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ Harvard Business School โดยพันธกิจหลักของศูนย์ฯ เรา คือการมีบทบาทช่วยส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทย โดยล่าสุด เราได้จัดพิมพ์ Thailand in Doing Business 2014 ขึ้น ซึ่งเป็นการนำเสนอหลักเกณฑ์ในการทำธุรกิจในด้านความยาก ความง่าย ของการทำธุรกิจทุกสาขา โดยต้นตำรับเป็นของ World Bank ที่ทำ Review ในทำนองนี้ขึ้นมาทุกปี โดยทาง NIDA Business School คาดหวังว่าจะให้ Booklet เล่มนี้จะช่วยเผยแพร่ความรู้และให้เคล็ดลับตลอดจนแนวทางในการทำธุรกิจ ทั้งสำหรับ SMEs และผู้ที่อยากเริ่ม Start Up ธุรกิจใหม่ๆ ด้วย
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
29 ธันวาคม พ.ศ. 2557
การศึกษาด้านบริหารธุรกิจ โดยเฉพาะในระดับ MBA มีผู้บริหารองค์กรในทุกระดับ เข้ารับการศึกษา
คณะบริหารธุรกิจ นิด้า (NIDA Business School) เป็นบัณฑิตวิทยาลัยการบริหารธุรกิจแห่งแรกของประเทศไทย
“ไม่มีแสงสว่างใด เสมอด้วยปัญญา” คำแปลจากพุทธศาสนสุภาษิต “นตฺถิ ปญฺญา สมา อาภา” ที่บรรจุอยู่เหนือ “ธรรมจักร”
หากมี "แก้วสามประการ" ที่จะเนรมิตให้สถาบันการศึกษาใดประสบความสำเร็จในระยะยาว อยู่ยั้งยืนยง แล้วละก็ "ครูบาอาจารย์" ย่อมเปรียบได้กับแก้วประการแรก เคียงคู่มากับ "นักเรียน" และ "ศิษย์เก่า" นิด้าก็เฉกเช่นเดียวกัน ที่มีชื่อเสียงมาได้ยืนยาวทุกวันนี้ "ครูบาอาจารย์" ย่อมมีส่วนสำคัญมาก
ตลอดเวลาเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา คณะบริหารธุรกิจของนิด้า หรือ NIDA Business School ได้ผลิตคณาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านบริหารธุรกิจชั้นสูงจำนวนมากให้กับสังคมเศรษฐกิจไทย
อาจารย์ของ NBS แต่ละรุ่น ได้แยกย้ายกันไปทำประโยชน์ให้กับสังคมไทยอย่างหลากหลาย คือถ้าไม่ไปร่วม "สร้างคน" ในสถาบันการศึกษาชั้นสูงทั่วประเทศ ก็เข้าร่วมวางรากฐานให้กับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ หรือไม่ก็รัฐวิสาหกิจสำคัญในฐานะผู้บริหาร กระทั่งกระโจนเข้าสู่วงการเมือง รับตำแหน่งบริหารประเทศ ก็มีไม่น้อย
นับแต่ยุคแรก หลังพุทธกาลไม่นานนัก NBS ยังเป็นโรงเรียนบริหารธุรกิจเดียวในประเทศที่เปิดสอน MBA จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ NBS จะเป็นศูนย์รวมของบุคลากรชั้นกะทิทางด้านบริหารธุรกิจด้วย แม้ระยะแรกสุด NBS ต้องพึ่งพิงคณาจารย์ฝรั่งจากมหาวิทยาลัย Indiana, Michigan State, Wisconsin, Illionios และต้องจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ แต่ก็สามารถสร้างคณะอาจารย์ฝ่ายไทยของตนเองขึ้นได้ภายในเวลาไม่นานนัก
1-G
คณาจารย์ไทยรุ่นใหม่กลุ่มแรกที่ถูกส่งไปฟูมฟักและ "บ่ม" ที่อเมริกา ล้วนได้ผ่านการเคี่ยวกรัมอย่างหนักหน่วงจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในขณะนั้น และจบกลับมาด้วยดีกรีปริญญาเอก แต่ละคนล้วนยังหนุ่มแน่นและไฟแรง ไม่ว่าจะเป็น แสง สงวนเรือง, วีรวัฒน์ กาญจนดุล, มารวย ผดุงสิทธิ์, ศุภชัย จริตสุวรรณางกูร, นิตย์ สัมมาพันธุ์ แล้วก็ไล่ๆ กันมาด้วย บุรินทร์ กันตะบุตร, วุฒิชัย จำนงค์, ประวิตร นิลสุวรรณากุล, อัศวิน จินตกานนท์, ทนง ลำใย (ต่อมาเปลี่ยนนามสกุลเป็น พิทยะ), วีรศักดิ์ สุขอาณารักษ์ (เปลี่ยนเป็น อาภารักษ์) ,นิกร วัฒนพนม, ธำรงค์ ช่อไม้ทอง เป็นต้น ในเวลาสิบกว่าปีแรก NBS สามารถสร้างคณะอาจารย์ได้กว่า 20 คน
นั่นทำให้ NBS กลายเป็นศูนย์รวมของดอกเตอร์และมหาบัณฑิตทางด้านบริหารธุรกิจที่จบจากต่างประเทศ มากเป็นอันดับหนึ่งของไทยไปโดยปริยาย
สมัยนั้น เป็นยุคเริ่มแรกของการพัฒนาประเทศแนวใหม่ เป็นยุคของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับแรก และเป็นยุคที่ "ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม" จึงเป็นยุคที่ Demand ต่อบุคลากรหรือ Technocrat ที่ได้รับการศึกษาสมัยใหม่จากต่างประเทศมีสูงมากในทุกๆ ด้าน
กลุ่มคณาจารย์ที่ NBS ยุคนั้น นับเป็นกลุ่มดอกเตอร์ทางด้านบริหารธุรกิจรุ่นแรกๆ ของประเทศด้วย เพราะก่อนหน้านั้น นอกจาก อำนวย วีรวรรณ ที่จบทางด้านบริหารธุรกิจในประดับปริญญาเอกเป็นคนแรกของไทยแล้ว ที่เหลือก็ล้วนเป็นดุษฎีบัณฑิตทางด้านการบัญชี ไม่ว่าจะเป็น พนัส สิมะเสถียร สุธี สิงห์เสน่ห์ และ พยอม สิงห์เสน่ห์ ดังนั้น ดอกเตอร์ยุคแรกที่ NBS จึงมีโอกาสได้แสดงบทบาทในฐานะผู้เชี่ยวชาญได้อย่างรวดเร็ว ทั้งในแง่ของการสอน การวิจัย การอบรม สัมมนา การเป็นที่ปรึกษา และเข้าเกี่ยวข้องกับหน่วยงานเอกชนและรัฐบาลอย่างกว้างขวาง
เมื่อธุรกิจไทยเริ่ม Take Off หลังจากใช้แผนพัฒนามาระดับหนึ่ง ก็ย่อมต้องการบุคลากร โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญทางด้านการจัดการ ที่จะเข้าไปวางระบบบริหารโดยใช้เทคนิคสมัยใหม่ และร่วมจัดการกับองค์กรที่เริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นและซับซ้อนขึ้น และเมื่อประกอบกับโครงสร้างระบบราชการที่ให้ผลตอบแทนน้อยและขึงตึงไม่ยืดหยุ่น ก็ทำให้อาจารย์กลุ่มแรกเหล่านั้นถูกดึงตัว ถือเป็นยุค "สมองไหล" ครั้งแรกของ NBS
เริ่มด้วย วีรวัฒน์ กาญจนดุล อดีตคณบดีที่ออกมาร่วมก่อตั้งฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจให้กับธนาคารทหารไทย และต่อมาก็เข้าร่วมกับกลุ่มซีพีบุกเบิกการค้าระหว่างประเทศ จนเป็นหนึ่งในผู้บริหารระดับสูงสุด ดูแลทางด้านบัญชีการเงินของซีพีทั่วโลก
วีรวัฒน์ มาจากครอบครัวข้าราชการ พ่อของเขาเป็นข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ และลุงของเขาคนหนึ่งก็เป็นถึงปลัดกระทรวงเศรษฐการ เขาจึงเป็นคนสุภาพและถ่อมตน ประนีประนอม มีลักษณะแบบผู้ดีเก่า เขาเป็นคนหนึ่งที่เห็นการก่อตั้งนิด้ามาแต่ต้น ตั้งแต่ยังเป็นอาจารย์เด็กอยู่ที่คณะรัฐประศาสนศาสตร์ของธรรมศาสตร์ ซึ่งเขาได้ทำหน้าที่จดรายงานการประชุมให้กับคณะกรรมการก่อตั้งนิด้าที่มีกรมหมึ่นนราทิปประพันธ์พงศ์เป็นประธาน และเจ้าคุณอรรถการุนยุวิผล เป็นคนร่างกฎหมาย
วีรวัฒน์เป็นนักเรียนทุนรุ่นแรกที่จะต้องกลับมาเป็นอาจารย์ เขาจบ MBA จากมหาวิทยาลัยฮาวายและปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยอิลลินอย และเชี่ยวชาญเรื่องการวางระบบบริหารสมัยใหม่ คุณสมบัติทั้งมวลนั้น ทำให้เขาสามารถผลักดันระบบบริหารสมัยใหม่ให้ประยุกต์ใช้ได้สำเร็จในกิจการครอบครัวคนจีนอย่างซีพี โดยราบรื่น
จากนั้นไม่นาน มารวย ผดุงสิทธิ์ ก็โดดออกตามมา โดยได้เข้าเป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มล็อกเล่ย์ อุตสาหกรรมพรมไทย และกลุ่มกรรณสูต มารวยมาจากครอบครัวข้าราชการจากอุตรดิฐ จบบัญชีธรรมศาสตร์และ MBA จากซีราคิวส์ กลับมารับราชการที่กรมบัญชีกลาง แล้วค่อยรับทุนไปเรียนปริญญาเอกจากวิสคอนซิล (แมดิสัน) เชี่ยวชาญด้านการเงินและบัญชีบริหาร ตลอดจนการวางแผนควบคุมภายใน (มารวยได้บุกเบิกวิชา Profit Planning and Control ที่ NBS มาก่อน) เขาได้ช่วยจัดระบบให้กับกิจการเหล่านั้น ซึ่งปัจจุบันก็ยังใช้ระบบที่เขาได้วางไว้ให้
ต่อมาเขาย้ายมาบริหารเอราวัณทรัสต์ กิจการเงินทุนหลักทรัพย์ในโครงการ "4 เมษา" ตามคำชวนของเริงชัย มะระกานนท์ ที่นั่น มารวยได้ริเริ่มออกตราสาร Floting Rate Note เพื่อระดมเงินฝากซึ่งก็ประสบความสำเร็จด้วยดี
จากนั้นไม่นานนัก ดุษฎี สวัสดิชูโต ประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะนั้น ได้ชวนให้เขามาเป็นผู้จักการตลาดหลักทรัพย์ฯ แทน สิริลักษณ์ รัตนากร ที่ลาออกกลางคันในขณะนั้น มารวยบริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้าสู่ยุครุ่งเรือง และผ่านวิกฤตการณ์หลายครั้งหลายครา จนกลายเป็นตำนานหน้าสำคัญของประวัติศาสตร์การเงินไทย เขาสร้างผลงานจำนวนมาก รวมทั้งการก่อตั้งสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่เขาได้ดึงเอา บุรินทร์ กันตะบุตร อดีตอาจารย์ของ NBS มานั่งบริหาร มารวยเคยรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังช่วงสั้นๆ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มสหวิริยา
ส่วน บุรินทร์ กันตะบุตร เป็นมหาบัณฑิต MBA จากมหาวิทยาลัยชิคาโก เช่นเดียวกับพ่อของเขา บัณฑิต กันตะบุตร อดีตเลขาธิการสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งน่าจะเป็นคนไทยคนแรกที่จบ MBA จากมหาวิทยาลัยชิคาโก และเป็นคนไทยคนที่สองที่จบ MBA หลังจากไกรสีห์ นิมมานเหมินท์ พ่อของธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ที่จบมาจากฮาร์วาด บุรินทร์ลาออกจาก NBS ในยุค "สมองไหล" ช่วงแรก เช่นเดียวกัน บุรินทร์มีความสนิทสนมกับ Merton Miller นักการเงินชื่อดังที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ และเคยเชิญ Miller มาบรรยายในเมืองไทย
แสง สงวนเรือง ก็เป็นอีกคนที่ลาออกจากนิด้าหลังจากขึ้นเป็นรองอธิการบดีได้ระยะหนึ่ง ในบรรดาคณาจารย์ของ NBS ยุคแรก แสงนับว่ามี Public Mind มากที่สุดและเกี่ยวข้องกับการเมืองมากที่สุดในยุคนั้น แสงเป็นคนบางนกแขวก เข้าเรียนรัฐศาสตร์จุฬาฯ และได้ทุนไปเรียนเศรษฐศาสตร์ที่ Claremont Men's College แล้วก็ต่อปริญญาโทที่ William College กลับมาทำงานที่สภาพัฒน์ฯ แล้วก็ย้ายมานิด้า และรับทุนไปเรียนที่อินเดียนา (บลูมิงตัน) จนจบปริญญาเอก
แสง รับงานวิจัยจากรัฐบาลจำนวนมาก เพราะสมัยนั้นยังไม่มี TDRI แสงจึงมีผลงานวิจัยทิ้งไว้ไม่น้อย ในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน แสงได้ร่วมก่อตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยกับ บุญสนอง บุณโยธยาน แสงเป็นคนเสนอให้ตั้งชื่อหอประชุม จิระ บุญมาก ตามชื่อศิษย์คนหนึ่งที่ถูกยิงเสียชีวิตบนถนนราชดำเนินระหว่างเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย 14 ตุลาคม พ.ศ. 2514
หลังเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาประชาชนที่ธรรมศาสตร์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 แสง กับ ทินพันธุ์ นาคะตะ ก็เริ่มมีวิวาทะทางวิชาการกับกลุ่มทหารยังเตริก์ ที่นำโดย พ.ท. มนูญกฤต รูปขจร และ พ.ท. จำลอง ศรีเมือง (ยศขณะนั้น) และแสงก็เป็นที่ปรึกษาของ พลเอกสัณห์ จิตรปฎิมา รองผู้บัญชาการทหารบกซึ่งก็เคยเป็นนักศึกษานิด้ามาก่อน ทำให้แสงต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร "เมษาฮาวาย" ในปี พ.ศ. 2524 ในฐานะที่ปรึกษาใหญ่ทางด้านนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วงระหว่างที่คณะปฏิวัติยึดกรุงเทพฯ ได้แบบเบ็ดเสร็จและได้เรียกให้เจ้าของและผู้บริหารระดับสูงสุดของธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคารเข้าฟังนโยบายใหม่ที่กองบัญชาการฯ สวนรื่นฤดี คนที่นั่นหัวโต๊ะในวันนั้นก็คือแสง แต่ต่อมาเมื่อการยึดอำนาจล้มเหลว จากนั้นไม่นาน แสงก็ลาออกจากนิด้า
หลังจากนิด้า เขาเริ่มงานภาคธุรกิจกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา แล้วก็ให้คำปรึกษากับกลุ่มธุรกิจของ เจริญ สิริวัฒนภักดี ไปด้วย และหลังจากที่ จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ลาออกจากนิด้าไปร่วมรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เพื่อแก้ปัญหาน้ำตาล จิรายุก็ได้ดึงแสงไปเป็นผู้จัดการบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย และต่อมาก็เข้าร่วมบริหารมหาวิทยาลัยเกริก ปัจจุบันแสงเกษียณแล้ว แต่ยังคงเป็นที่ปรึกษาให้กับเจริญ สิริวัฒนภักดีและเป็นผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาเอกทางด้านบริหารธุรกิจ (DBA) ของมหาวิทยาลัยรังสิต
การออกของแสง เป็นการปิดฉากยุคสมองไหลของกลุ่มคณาจารย์ที่เป็นนักเรียนทุนในยุคก่อตั้ง แต่ก็ใช่ว่ากระแสสมองไหลจะหยุดลง วีรวัฒน์ กาญจนดุล เล่าให้ฟังว่า "ผมทำมา 7 ปี เราก็มีกันสัก 20 คน มี Ph.D. สักสิบกว่าคน และ MBA จำนวนหนึ่ง เป็นพวกที่กลับมาพักเพื่อจะกลับไปเรียนต่อ แต่พอเกิดปัญหาก็ทะยอยลาออกกันหมด จากยี่สิบกว่าคนเหลือสี่ห้าคน เขาต้องใช้เวลาอีกสิบกว่าปีในการสร้างขึ้นมาใหม่" นักเรียนทุนรุ่นสองที่ "ไหล" ออกจาก NBS ก็รวมถึง อัศวิน วีรศักดิ์ และทนง
อัศวินเป็นลูกของ อนันต์ จินตกานนท์ อดีตเอกอัครราชทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศ พี่สาวคนหนึ่งของเขาแต่งงานกับ สุจินต์ หวั่งหลี เจ้าของธนาคารหวั่งหลีที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นนครธน อัศวินจบจากมหาวิทยาลัย Western Australia และ MBA กับ Ph.D. จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา หลังจากนิด้า อัศวินเข้าเป็นรองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วก็โยกไปเป็นรองกรรมการผู้จัดการธนาคารนครธน (ปัจจุบันกลายเป็น CIMB) หลังจากนั้นก็เข้าร่วมทำงานภาคประชาสังคมกับกลุ่ม NGO มาแล้วกว่า 10 ปี โดยปัจจุบันเป็นกรรมการมูลนิธิรักษ์ไทย ส่วนวีรศักดิ์ ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว เขาจบปริญญาเอกจากวิสคอนซิล และกลับมาเป็นอาจารย์วิชาการเงิน หลังจากนิด้า วีรศักดิ์ก็เคยรับตำแหน่งรองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระยะหนึ่ง แล้วก็โยกไปธนาคารทหารไทย จนขึ้นเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส
ส่วนทนง เป็นลูกแม่ค้าจากสุพรรณบุรี เขาจบอัสสัมชัญศรีราชารุ่นเดียวกับ สนธิ ลิ้มทองกุล แล้วก็ได้ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นไปเรียนเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโยโกฮามา ตอนแรกเขาจะสมัครเข้าเป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ แต่ ป๋วย อึ้งภากรณ์ ต้องการให้กลับเมืองไทยก่อนค่อยหาทุนไปเรียนต่อปริญาโทและเอกทีหลัง ทว่าเขาต้องการเรียนต่อในทันที ก็เลยสมัครเข้าเรียนเศรษฐศาสตร์ต่อที่มหาวิทยาลัย Northwestern แล้วก็รับทุนนิด้า ทำให้เขาต้องย้ายคณะมาเรียนบริหารธุรกิจในระดับปริญญาเอกที่ Kellogg (สมัยโน้นยังใช้ชื่อว่า Graduate School of Management, Northwestern University)
ทนงเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์ธุรกิจและสร้างโมเดลการตัดสินใจ เขาดำรงตำแหน่งคณะบดีของ NBS อยู่ระยะหนึ่ง ช่วงนั้นที่ NBS มีอาจารย์ที่จบปริญญาเอกมาจาก Kellogg 3 คน คือทนง อรุณรักษ์ และวุฒิชัย และช่วงนั้นเองที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา เข้ามาเป็นนักศึกษาที่ NBS และต่อมาสมคิดก็ได้ทุนไปเรียนที่ Kellogg และได้ชักชวน อุตตม สาวนายน และ สุวินัย ต่อสิริสุข นักศึกษาไทยที่ Kellogg (สุวินัยเรียนวิศวกรรมที่ Northwestern แต่เรียน MBA ที่อินเดียน่า) มาร่วมเป็นอาจารย์ที่นิด้าด้วย นับว่า NBS ยุคนั้นได้กลายเป็นแหล่งรวมศิษย์เก่า Kellogg แหล่งใหญ่ พอๆ กับที่ธนาคารกสิกรไทย (สมัยนั้น "ศศินทร์" ยังไม่เกิด)
หลังจากนิด้า ทนงเข้าร่วมงานด้านวางแผนกลยุทธ์กับกลุ่มน้ำตาลมิตรผล แล้วก็โยกมาธนาคารทหารไทย จนขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการ และก็ร่วมกับกลุ่ม SHIN ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดูแลด้านการเงิน แล้วก็เข้าสู่วงการเมือง ทนงเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการกิติมศักดิ์ บลจ.ทหารไทย และรับตำแหน่งศาสตราพภิชาญของ NBS คู่กับ วีรวัฒน์ มารวย และสมคิด
2-G
เมื่อนักเรียนทุนรุ่นแรกและรุ่นสองทยอย "ไหล" ออกจาก NBS ก็ย่อมต้องตกเป็นภาระของนักเรียนทุนรุ่นต่อมาที่จะต้องกลับมาสานต่องานวิชาการและงานพัฒนาต่อยอด NBS
กระนั้นก็ตาม ก็ใช่ว่าคนรุ่นแรกจะลาออกกันหมด หลายคนในรุ่นนั้นยังอยู่เป็นเสาหลักและเชื่อมต่อให้กับนักเรียนทุนรุ่นต่อมา เช่น วุฒิชัย จำนงค์ นิกร วัฒนพนม นิตย์ สัมมาพันธ์ และธำรงค์ ช่อไม้ทอง
วุฒิชัย (เสียชีวิตแล้ว) เป็นอาจารย์เก่าแก่ของ NBS ที่มีผลงานทางวิชาการจำนวนมากจนได้เป็นศาสตราจารย์ วุฒิชัยเชี่ยวชาญด้านการจัดการและทรัพยากรมนุษย์ เขาสอนหนังสือเก่งและทุ่มเทให้กับการสอน เขารับบรรยายทั่วประเทศ จนมีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมาก
ส่วนนิกร เป็นอาจารย์คณะสถิติประยุกต์มาก่อน นิกรจบปริญญาเอกทางด้าน Operation Research จาก NYU และกลับมาสอนทางด้าน Quantitative Analysis นิกรเป็นผู้บุกเบิกโครงการพัฒนาผู้บริหารทั่วประเทศอันโด่งดัง (NIDA-IMET) ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการต่างจังหวัดตื่นตัวต่อความคิดใหม่ๆ ทางด้านบริหารธุรกิจ เพราะสมัยนั้นมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดยังไม่เปิดสอน MBA ปัจจุบันนิกรเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มเกษตรรุ่งเรืองและเป็นประธาน "มูลนิธิเพื่อการพัฒนาผู้นำธุรกิจและชุมชน"
ส่วนนิตย์นั้น เรียนจบทางด้านนิวเคลียร์ฟิสิกส์และเคยเป็นหัวหน้ากองกำจัดกากกัมมันตภาพรังสี แต่สมัยโน้นยังไม่มีกากรังสี ให้กำจัด นิตย์เลยหันมาเอาดีทางด้านการจัดการ นิตย์เป็นนักเรียนทุนรุ่นแรกที่ถูกส่งไปมิชิแกนสเตท นิตย์กลับมาสอนทางด้านบริหารทรัพยากรมนุษย์ และสนใจพุทธศาสนา นิตย์เคยเขียนหนังสือ "การบริหารเชิงพุทธ" ซึ่งถือเป็นนักวิชาการยุคแรกๆ ที่นำเอาศาสตร์ทางด้านการจัดการมาจับพุทธธรรม ส่วนธำรงค์นั้นสอนทางด้านการตลาด และเป็นผู้ร่างหลักสูตรปริญญาเอกให้กับโครงการ JDBA
แม้ว่า NBS จะประสบปัญหาสมองไหลจนฮวบลงพักหนึ่ง แต่ไม่นานนัก นักเรียนทุนรุ่นต่อมาก็เริ่มจบกลับเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น สุนันทา เสียงไทย, ปราณี จิตกรณ์กิจศิลป์, วัฒนา ณ ระนอง, นราทิพย์ ทับเที่ยง, เดชา แก้วชาญศิลป์, สิงหา เจียมสิริ, ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา, ปรีชา จรุงกิจอนันต์, สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, สันติสุข สงวนเรือง, พงษ์ศักดิ์ ทรงชัยกุล, สุวินัย ต่อสิริสุข, จีระเดช อู่สวัสดิ์, อุตตม สาวนายน, ถกล นันธิราภากร, อังครัตน์ เพียบจริยวัฒน์, โอรส ลีลากุลธนิต, วรพล โสคติยานุรักษ์ ฯลฯ
ดอกเตอร์เหล่านี้ ถือเป็นคณาจารย์รุ่นกลางหรือ 2nd Generation ของ NBS ที่ได้สร้างคุณูปการไม่น้อยให้กับแวดวงวิชาการและธุรกิจเศรษฐกิจของไทย อย่างสุนันทา เสียงไทย ก็ได้รับการนับถือมากในแวดวงวิชาการทางด้านแรงงานสัมพันธ์ วัฒนา ณ ระนอง ก็เป็นผู้บรรยายทางด้านการตลาดและโฆษณามายาวนาน และเป็นผู้บุกเบิกการจัดงาน TACT Award มาตั้งแต่ยุคแรก นราทิพย์ ทัพเที่ยง ก็มีชื่อเสียงทางด้านบัญชี สามารถบรรยายเรื่องยากๆ ทางบัญชีให้เป็นง่ายได้ สิงหา ก็เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารการผลิต เขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับระบบบริหารงานผลิตของญี่ปุ่น เช่น JIT และ Kanban เป็นคนแรกของไทย ปัจจุบันเขาเป็นผู้บริหารคนหนึ่งของ AIT ปรีชาเป็นนักบริหารการศึกษาที่คนยอมรับ เขาเคยขึ้นเป็นอธิการบดีของนิด้าระยะหนึ่ง ไพบูลย์ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านหุ้น เขาเป็นที่ปรึกษาบริษัทหลักทรัพย์จำนวนมาก และเป็นนักจัดรายการโทรทัศน์ทางด้านหุ้นที่มีแฟนมากที่สุดในเมืองไทย จีระเดชก็เป็นนักบริหารการศึกษาทางด้าน Business Education ที่เชี่ยวชาญและมีเครือข่ายกว้างขวางมาก สมัยที่เขาเป็นคณะบดีของ NBS เขาได้เดิมทางไปดูงาน Business Schools สำคัญๆ ทั่วโลก ปัจจุบันเขาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และได้สร้างสรรค์งานสำคัญให้กับที่นั่นมากมาย เมื่อหมดรุ่นของ สังเวียน อินทรวิชัย และ เติมศักดิ์ กฤษณามาระ แล้ว ก็จะไม่มีใครเชี่ยวชาญงานบริหารการศึกษาทางด้าน Business Education เกินไปกว่าจีระเดช
ในบรรดาคณาจารย์รุ่นกลาง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ดูเหมือนจะโดดเด่นกว่าเพื่อน สมคิดเป็นศิษย์เก่า NBS ที่กลับมาเป็นอาจารย์หลังจากจบปริญญาเอกแล้ว สมัยที่สมคิดกลับมาจาก Kellogg ใหม่ๆ เขาได้นำเอาความคิดของ Michael Porter มาเผยแพร่ด้วย ขณะนั้นยังเป็นความคิดเชิงกลยุทธ์ธุรกิจที่ใหม่มาก เขาเป็นผู้บรรยายที่เก่งและข้อมูลแน่นและสามารถประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของธุรกิจไทย จึงเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว ขณะที่อยู่ NBS สมคิดเข้าไปเป็นที่ปรึกษาใหญ่ของกลุ่มธุรกิจอย่างกว้างขวาง ทั้งกลุ่มสหพัฒน์ฯ กลุ่มผู้จัดการ กลุ่มนครหลวงไทย กลุ่มน้ำมันพืชไทย และกลุ่มชินวัตร สมคิดลาออกจาก NBS เพื่อมาก่อตั้งพรรคไทยรักไทย และเป็นมันสมองคนสำคัญที่ผลักดันให้พรรคไทยรักไทยประสบความสำเร็จ ส่งผลให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี และตัวสมคิดเองก็ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และรองนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นสมคิดได้ดึงเอาอุตตมจาก NBS ไปนั่งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ด้วย ปัจจุบันสมคิดหันหลังให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณแล้ว โดยเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มสยามรัฐ ของชัชวาลย์ คงอุดม สมคิดเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่จะมีอนาคตไกล
3-G
แม้ปัจจุบัน การแข่งขันทางด้าน MBA จะสูงมาก NBS ที่เคยเป็นแหล่งรวมของนักวิชาการทางด้านบริหารธุรกิจชั้นนำของประเทศ จะลดบทบาทในเชิงนี้ลง ทว่า NBS ก็ได้พัฒนาคณาจารย์รุ่นใหม่เพื่อมาแทนรุ่นเก่าที่เริ่มทยอยเกษียณอายุ ในรอบสิบกว่าปีมานี้ กลุ่มคณาจารย์รุ่นใหม่ที่ถือเป็น 3rd Generation ก็ทยอยกันกลับเข้ามาร่วมสร้าง NBS
อาจารย์อย่าง ประสิทธิ์ กาญจนศักดิ์ชัย และ สมจินต์ ศรไพศาล (ลาออกแล้วทั้งคู่) ก็เคยเป็นศิษย์เก่า NBS มาก่อน และแม้คู่หูนักบริหารอย่าง ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ (อดีตคณบดีที่ปัจจุบันขึ้นเป็นรองอธิการบดี) จะไม่เคยเป็นศิษย์เก่า แต่ ประดิษฐ์ วิธิศุภกร และ เอกชัย นิตยาเกษตรวัฒน์ คณบดีคนปัจจุบัน ก็เป็นศิษย์เก่า NBS และเรียนอยู่ในสมัยที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา เพิ่งกลับจากต่างประเทศมาเป็นอาจารย์
ดังนั้น จึงกล่าวได้เต็มปากว่า NBS กำลังถูกขับเคลื่อนโดย "คนรุ่นที่สาม" หรือ "3-G" ซึ่งจะต้องนำนาวานี้ไปสู่ "ความเป็นเลิศทางวิชาการ" และ "Uniqueness" ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงและยิ่งยวด ในยุค Hypercompetition ที่กำลังรุมเร้าอยู่รอบด้านในขณะนี้
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
08 เมษายน พ.ศ. 2553
ถ้า Harvard Business School (HBS) บ่งบอกถึงกำพืดโรงเรียนธุรกิจของอเมริกันชน NIDA Business School ก็คงเป็นกำพืดของโรงเรียนธุรกิจไทยไม่ต่างกัน ทั้งคู่เป็นแหล่งบ่มเพาะธุรกิจยุคบุกเบิกเหมือนกัน บัณฑิตของทั้งคู่เป็น Mechanism ที่ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจของประเทศเหมือนกัน ทั้งคู่มี Brand Loyalty ที่สูงเหมือนกัน และยังมีอีกมากมายที่ทั้งคู่มีเหมือนๆ กัน
แล้วไฉนเลยหากจะเรียน MBA จะต้องดั้นด้นไปไกลถึง Harvard ด้วยเล่า?
เพราะไม่เพียงแต่ศักยภาพทางการศึกษาที่มาตรฐานเป็นที่ยอมรับเท่านั้น แต่หากใครได้มีโอกาสเข้าไปยัง NIDA Business School ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จะพบว่าบรรยากาศการเรียนการสอนในห้องเรียน หรือแม้แต่ห้องสมุดเอง ก็ถูกออกแบบมาไม่ต่างจาก Harvard
“Harvard และ Wharton ต่างก็เป็นพันธมิตรของเรา ที่เราจำเป็นต้อง Connect ไว้เพื่ออัพเดตตัวเราเองตลอดเวลา เพราะการที่จะได้รับการรับรองเป็นระดับ World Class MBA ที่แข่งกับเมืองนอกได้นั้น เพียงแค่สอนตาม Case ตามตำราอย่างเดียวคงไม่พอ” รศ.ดร.เอกชัย นิตยาเกษตรวัฒน์ คณบดี NIDA Business School อธิบายถึงการเปลี่ยนไปของการศึกษา MBA ที่ NIDA
NIDA ในวันนี้จึงปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่แน่ล่ะ ไม่ว่าจะเปลี่ยนอย่างไร แต่ก็ต้องไม่ลืมว่ารากเหง้าที่แข็งแกร่งตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ก็มีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ NIDA มี Business School ดังเช่นที่เป็นอยู่ในวันนี้
ปฏิสนธิ
จำเดิม NIDA กำเนิดขึ้นโดยปฐมปัจจัยสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงต้องการให้ประเทศมีสถาบันบ่มเพาะผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพ และสิ่งหนึ่งคือ กระแสพัฒนาประเทศให้ทันสมัย ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นยุค “พัฒนา” ของไทย
แม้จะดูว่า NIDA Business School หรือคณะบริหารธุรกิจเดิม ถูก Set ขึ้นมาพร้อมๆ กับ 3 คณะ คือ รัฐประศาสนศาสตร์, สถิติประยุกต์ และพัฒนาการเศรษฐกิจ แต่แท้จริงแล้ว ต้นกำเนิดแนวคิดกลับเป็นเอกเทศมาตั้งแต่ต้น โดยมี ดร.อำนวย วีรวรรณ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลังของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ในขณะนั้นเป็นหัวแรงหลัก ทั้งนี้ เพื่อสนองความต้องการของธุรกิจเอกชนที่กำลังเริ่มขยายตัว ตามเป้าหมายแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่เริ่มมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 อีกทั้งที่ผ่านมาการเรียนการสอนด้านธุรกิจถูก Focus ไปในด้านพื้นฐานของวิชาบัญชี (Accountancy) หรือไม่ก็เป็นการศึกษาในแนวพณิชยการ (Commerce) เน้นผลิตคนให้เป็นเสมียน ไม่ใช่นักบริหารธุรกิจ
โดยตอนแรกมีเอกสารราชการจากนายกรัฐมนตรี เสนอเรื่องการจัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัยการบริหารธุรกิจ (Graduate School of Business Administration) โดยที่คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบมาก่อนแล้ว ก่อนที่จะมอบให้สภาการศึกษาแห่งชาติเป็นเจ้าของเรื่องและให้ไปพิจารณาในรายละเอียด
อย่างไรก็ดี ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาจัดตั้งสถาบันด้านการบริหารการพัฒนา (คือ NIDA) เมื่อ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2505 ตามข้อเสนอของศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร นั้น พบว่ามีข้อเสนอให้เปิดการเรียนการสอนด้าน “บริหารวิสาหกิจ” ด้วยเช่นกัน
ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีพลังมากขึ้น จึงมีการผนวกสาระของทั้งสองโครงการเข้าด้วยกัน แล้วเปิดเป็นคณะบริหารธุรกิจในโครงการจัดตั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยมี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า วรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งสถาบันฯ ส่วน ดร.อำนวย ก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการชุดดังกล่าวด้วย
โดย ดร.วีรวัฒน์ กาญจนดุล ซึ่งเป็นผู้ช่วยกรรมการเลขานุการ มีหน้าที่จดบันทึกการประชุมทุกครั้งในขณะนั้นบอกว่า “นิด้าจะไม่ไปทาง M - Commerce แต่เป็น MBA Graduate School ทาง Administration เพราะฉะนั้นไม่ Require พื้นปริญญาตรีทางด้านหนึ่งด้านใดโดยเฉพาะ ซึ่งตอนนั้นถือเป็นการเปลี่ยนโฉมใหม่ของการศึกษาด้านธุรกิจ”
MBA บุกเบิก
การก่อตั้ง NIDA ช่วงแรกๆ ในปี พ.ศ. 2509 สมัย จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี อันเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังดี และเริ่มรับการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (Foreign Direct Investment: FDI) จึงจำเป็นต้องสร้างบุคลากรทางการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจขึ้นมา เพื่อผลิตนักธุรกิจในประเทศให้มีความเชี่ยวชาญต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะเป็น Development Mechanism ของประเทศชาติต่อไปในอนาคต
ดร.แสง สงวนเรือง, ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์,ดร.วีรวัฒน์ กาญจนดุล, ดร.บุรินทร์ กันตะบุตร, ดร.ศุภชัย สุวรรณังกูร, ดร.นิตย์ สัมมาพันธ์, ดร.วุฒิชัย จำนงค์, ดร.อัศวิน จินตกานนท์, ดร.ทนง พิทยะ ฯลฯ คือคนกลุ่มแรกๆ ที่ถูกส่งไปศึกษาต่อทางด้าน Ph.D. และ DBA กับทาง MUCIA (The Midwestern Universities Consortium for International Activities) ภายใต้การให้ทุนของ “มูลนิธิฟอร์ด” ที่ระบุให้ทุนปริญญาเอกทางด้านบริหารธุรกิจ ในมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้แก่ที่ อินเดียน่า อิลลินอยส์ วิสคอนซิน และมิชิแกน โดยแต่ละคนที่ได้ทุนไปศึกษาต่อปริญญาเอกเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะโอนตำแหน่งราชการเพื่อย้ายสังกัดมารับทุนเป็นอาจารย์ที่คณะบริหารธุรกิจทุกคน
คล้อยหลังประมาณ 3-5 ปี นับแต่ NIDA เปิดเมื่อปี พ.ศ. 2509 อาจารย์คนไทยรุ่นแรกจึงเริ่มทยอยกลับมาเป็นอาจารย์ประจำที่คณะบริหารธุรกิจ โดยคนกลุ่มนี้ถือเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักทั้งทางการสอน และร่างหลักสูตร รวมถึงแปลและแต่งตำราที่ใช้ในการเรียนการสอนด้านบริหารธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจภายในประเทศมากที่สุด นั่นเพราะการเรียนบริหารธุรกิจในช่วงแรกจะเรียนจาก Text Book ซึ่งสอนโดยอาจารย์อเมริกัน ที่มาจากโครงการสนับสนุนการสอนของ MUCIA ทั้งหมด ความพยายามในการวางหลักสูตรในช่วงนั้น นับว่าเป็นไปอย่าง Active พอสมควร เนื่องจากขณะที่แยกย้ายกันเรียนที่ MUCIA อาจารย์แต่ละคนต้องมาพบปะ เพื่อแสดงทัศนะเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันเป็นประจำที่อเมริกา ตามเงื่อนไขของผู้ที่ได้รับทุนของฟอร์ด
ฉะนั้น เมื่อกลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะ ทุกคนจึงสามารถวาง Concept ร่วมกันได้เป็นอย่างดี ดังเช่นที่ ดร.มารวย เคยเล่าว่า “นิด้าจะหนักไปทาง Approach ทางด้านบริหาร ตอนนั้นผมกับ ดร.วีระวัฒน์ และอาจารย์ท่านอื่นๆ ก็ปรึกษากันว่า เราใช้ Case ของ Harvard บ้าง อะไรบ้าง แต่เราไม่มี Case ของคนไทยเลย ทำไมอาจารย์ไม่เขียนขึ้นมาเองเลยล่ะ”
การร่วมกันจัดทำ Case ทางการศึกษานี่เอง ที่ทำให้บรรดาอาจารย์รุ่นแรกๆ ต้องออกไปสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อพัฒนา Case ให้สอดคล้องกับธุรกิจจริง และที่สำคัญคือต้อง Practical ด้วย โดยช่วงแรกๆ นั้นมี สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ TMA (Thai Management Association) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกิดจากการรวมตัวกันของภาคเอกชนเป็นพันธมิตรหลัก โดยมีจรัส ชูโต, ดร.อาชว์ เตาลานนท์, ดนัย บุนนาค และยุทธสาร ณ นคร เป็นแกนนำ
ขณะที่ ดร.แสง ก็บอกทำนองเดียวกันว่า ในขณะนั้นเศรษฐกิจกำลังเติบโต บริษัทเอกชนก็เพิ่งจะเริ่มตั้ง ทำให้หลายบริษัทต้องการที่ปรึกษาที่เชื่อถือได้ ส่งผลให้ตอนนั้น อาจารย์ที่คณะบริหารธุรกิจเองออกไปเป็นที่ปรึกษาแทบทุกคน ทั้งนี้ก็เพื่อแลกเปลี่ยนกับความเป็นจริงในการดำเนินธุรกิจที่จะนำมาสอนนักศึกษา ซึ่งนั่นทำให้อาจารย์คนไทยรุ่นบุกเบิกที่คณะบริหารธุรกิจของ NIDA ได้ถักทอความสัมพันธ์กับภาคธุรกิจเอกชนขึ้นอย่างไม่รู้ตัว และที่สำคัญคือ ความสัมพันธ์ที่ว่านี้ทำให้คนในคณะบริหารธุรกิจนิด้า มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับชาติมาจนถึงปัจจุบัน
ประชาธิปไตยเบ่งบาน
ที่ผ่านมา ตำแหน่งอธิการบดี และคณบดี ในขณะนั้นจะมาจากการแต่งตั้งโดย “รัฐบาล” หรือไม่ก็ “คนนอก” ซึ่งนั่นทำให้มีกลุ่มอาจารย์กลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มวันพุธ” ใช้เวลาที่ว่างจากการสอนในบ่ายวันพุธ มารับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน เพื่อพูดคุยกันถึงเรื่องการสรรหาตำแหน่งบริหารดังกล่าวด้วย “คนใน”
กระทั่งวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 สภาสถาบันจึงได้มีการลงมติให้มีการสรรหาอธิการบดีโดยให้องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี เป็นไปตามที่ชมรมอาจารย์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์เสนอ โดยผลครั้งนั้นทำให้ ศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ชูโต ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบดีคนแรกภายใต้ระบบการสรรหาแบบใหม่
ความคุกรุ่นด้านแนวคิดประชาธิปไตยนี่เอง ที่แม้จะมีด้านดีอยู่ไม่น้อย แต่ทว่าท้ายสุดแล้วกลับส่งผลต่อตำแหน่งคณบดีของคณะบริหารธุรกิจด้วยเช่นกัน เนื่องจากอาจารย์ที่จบมาสอนแต่ละคนถือเป็นนักวิชาการที่มีความเป็นตัวของตัวเอง (อีโก้) ค่อนข้างสูง ดังนั้น จึงทำให้ผู้ที่จะมาเป็นคณบดีได้นั้น หากไม่สามารถควบคุมอาจารย์ทุกคนได้ ก็ต้องเป็นคนที่ต้องประสานประโยชน์ได้เก่ง ซึ่งนั่นกลายเป็นที่มาว่าคณบดีคณะบริหารธุรกิจของ NIDA มักจะเป็นคนที่อายุน้อย และเพิ่งจบมาสอนใหม่ๆ
ดังเช่นที่ ดร.ทนง พิทยะ อดีตคณบดี (พ.ศ. 2522 - 2523) ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ผมจบกลับมา 6 เดือน ได้เป็นคณบดีเลย คือตอนนั้นมีอาจารย์อยู่ 10 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ตามขั้วที่จบมา ซึ่งเป็นปกติของวงวิชาการ วงวิชาการผู้นำต้องอ่อนน้อมมาก การเป็นคณบดีก็คือกระโถนท้องพระโรงดีๆ นี่เอง คือแนวทางของนักวิชาการมันต้องมีอิสระ เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น มันเป็นธรรมชาติของอาจารย์ที่ต้องการอิสระ”
และความอิสระที่ว่านี่เอง ที่กลายเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้คณะบริหารธุรกิจ NIDA มีประสบกับปัญหาขาดแคลนบุคลากรอยู่เรื่อยมา
Competitive Age
เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นในสมัยที่ 2 ของการเป็นนายกฯ ของ พล.อ.เปรม คำถามที่ว่า เราควรสร้างผู้เชี่ยวชาญธุรกิจเพื่อรองรับการเติบโตเพิ่มขึ้นหรือไม่ ก็ดังกระหึ่มขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2525 ได้มีการเปิดสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (หรือ ศศินทร์ ในปัจจุบัน) ขึ้น เพื่อสอนปริญญาโทด้าน MBA เป็นภาษาอังกฤษ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.เติมศักดิ์ กฤษณามระ เป็นหัวแรงหลักในการจัดตั้ง ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ก็ผลักดันให้เปิดหลักสูตร MBA และ Ex-MBA ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยเช่นกัน โดยหลักสูตรดังกล่าวเปิดสอนในช่วงภาคค่ำ
ความพยายามในการ Share ผู้เรียน MBA นี้ แม้จะมีความระวังเป็นอย่างสูงสำหรับผู้ที่เปิดใหม่อย่างจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ที่จะไม่ดึงผู้เรียนในตลาดหลักที่ NIDA เป็นเจ้าตลาดอยู่ แต่ทว่าคณะบริหารธุรกิจของ NIDA เอง ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับการขยายมณฑลการศึกษา MBA ให้กว้างขึ้น โดยในปีเดียวกัน คณะบริหารธุรกิจ ได้ก่อตั้งโครงการ NIDA-IMET หรือโครงการสัมมนานักธุรกิจชั้นนำส่วนภูมิภาค ที่นำโดย ดร.นิกร วัฒนพนม โดยโครงการดังกล่าวนี้เรื่องฮือฮาอย่างมากในช่วงเวลาดังกล่าว เพราะนอกจากจะเป็นการตอบโจทย์ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 ที่เน้นบทบาทและความร่วมมือจากภาคเอกชนในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การผลิตในสาขาการเกษตร อุตสาหกรรม แล้ว ยังถือเป็นการวางโครงสร้างที่แข็งแกร่งให้กับหอการค้าจังหวัดจนถึงทุกวันนี้ด้วย
โดย ดร.นิกร กล่าวกับเราว่า “ต่างจังหวัดพวก Entrepreneur เขา Self-Made อยู่แล้ว สิ่งที่เราจะทำก็คือการสร้างให้นักธุรกิจต่างจังหวัดมีการจัดการสมัยใหม่ ให้รู้เท่าทันธุรกิจสังคมในกรุงเทพฯ รู้เท่าทันเหตุการณ์ต่างๆ ในโลกนี้ ทั้งภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง โดยช่วงที่ไปช่วยเสริมสร้างหอการค้าแต่ละจังหวัด เราก็ supply กับลูกศิษย์โดยตรง ฉะนั้น ประธานหอการค้าจังหวัดในยุคแรกๆ เป็นลูกศิษย์ผมหมด”
อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนในการปรับตัวกับภาวะการแข่งขันที่รุมเร้ามากขึ้นของคณะบริหารธุรกิจที่ NIDA น่าจะอยู่ในสมัยที่ ดร.ปรีชา จรุงกิจอนันต์ เป็นคณบดี (พ.ศ. 2530 - 2532) คาบเกี่ยวไปถึงช่วงที่ ดร.จีรเดช อู่สวัสดิ์ เป็นคณบดี (พ.ศ. 2532 - 2534 ) ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการศึกษาด้านธุรกิจ เพื่อรองรับเศรษฐกิจที่กำลังก่อเป็นฟองสบู่ หรือแม้แต่ทางด้านงานวิจัย ที่ตอนนั้นเริ่มมี สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เข้ามามีบทบาทอย่างสูงต่องานวิจัยต่างๆ ในภาครัฐ
หากดูจากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วง พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ทำให้ NIDA เองตัดสินใจพุ่งเป้าไปที่หลักสูตรการเรียนการสอนเป็นหลัก แทนที่จะเดินควบคู่ไปกับงานวิจัยดังเช่นอดีตที่ผ่านมา โดยนอกจากจะมีการจัดทำหลักสูตรการเรียน MBA ที่หลากหลายขึ้น เช่น MBA ภาคภาษาอังกฤษ, Ex-MBA,Y-MBA แล้ว ยังมีการจัดทำหลักสูตรปริญญาเอกด้านบริหารธุรกิจ ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2531 ด้วย ซึ่งมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้าร่วมด้วย
หลักสูตรปริญญาเอกในขณะนั้นเรียกว่า Asians Dean of Graduate School of Management เนื่องจากในช่วงแรกจะเป็นการร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในเอเชียด้วยกัน ทั้งฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย โดยได้ทุนพัฒนาจาก ซีด้า หรือ Canadian International Development Association เป็นเงินมา 8 ล้านเหรียญแคนาดา หรือประมาณ 200 ล้านบาท แต่ท้ายที่สุดแล้วก็เป็นความร่วมมือเพียงประเทศไทยกับฟิลิปปินส์เท่านั้น ความพยายามอันนี้ได้กลายมาเป็นโครงการ JDBA โดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นผู้อำนวยการคนแรก
นอกจากนี้เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2538 คณะบริหารธุรกิจที่ NIDA ยังพยายามที่จะ Link หลักสูตร MBA ให้ผ่านการยอมรับจากทั่วโลก ด้วยการสร้างหลักสูตร Global MBA ด้วยการส่งนักศึกษา ประมาณ 50 คนไปเรียนต่างประเทศ อาทิ Boston University, University of Pittsburg หรือในยุโรป อย่าง INSEAD, IMD, และ Bocconi เป็นต้น ทว่าสุดท้าย หลักสูตรดังกล่าว ก็ไม่อาจมีโอกาสได้ใช้จริง เพราะไม่ผ่านมติที่ประชุมคณะ
สมองไหล Crisis
รศ.ดร.เอกชัย นิตยาเกษตรวัฒน์ กล่าวว่า “ปัญหาที่แก้ไม่ตกของนิด้า ก็คือเวลาที่คนออกไป การสร้างทดแทนมันไม่เพียงพอ เพราะคนมีคุณภาพเข้ามาในอัตราที่น้อยกว่าคนที่ไหลออกไป”
ภาวะการช่วงชิงบุคลากรทางการศึกษาด้านธุรกิจเช่นนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากระบบสถาบันการศึกษาจ่ายเงินเดือนอาจารย์ตาม Quality ดังเช่นระบบการศึกษาชั้นนำของโลกยอมทุ่มเงินไม่อั้น เพื่อให้อาจารย์ดังๆ มาสอนในสถาบันการศึกษาของตน ซึ่งนั่นไม่เพียงแต่จะทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นเท่านั้น หากแต่จะทำให้หมดปัญหาเรื่องอาจารย์ถูกเอกชนซื้อตัวไปด้วย
เหตุผลเดียวที่ทำให้ประสบปัญหาดังกล่าวก็คือ “เงินเดือนที่สวนทางกับศักยภาพอาจารย์” เนื่องจาก NIDA เป็นสถาบันการศึกษาของรัฐ ดังนั้น ระเบียบข้อบังคับว่าด้วยเรื่องรายได้ จึงต้องเป็นไปตามระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชกาลพลเรือน (ก.พ.)
ดร.วีรวัฒน์ กาญจนดุล ในฐานะคณบดีในตอนนั้น จึงปรึกษาหารือกับเพื่อนอาจารย์รุ่นแรกๆ ว่า เพื่อให้ทุกคนมีประสบการณ์และมีเงินใช้ จะมีการอนุญาตให้ออกไปทำงานข้างนอกได้อาทิตย์ละ 1 วัน โดยจะไปเป็นที่ปรึกษาธนาคารหรือของอะไรก็สุดแล้วแต่ ครั้นทำไปได้สักระยะ ปรากฏว่ามีบัตรสนเทศว่าระเบียบดังกล่าวถือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของทางราชการ
ดร.วีรวัฒน์ จึงแก้เกมด้วยการเสนอกับทางสถาบันฯ ว่าขอให้ตั้งเป็น “ศูนย์บริการทางวิชาการ” ที่จะรับงานวิจัยข้างนอก หรือ ที่ปรึกษาข้างนอกได้ แต่มี Requirement เรื่องเวิร์คโหลดต่างๆ และงานที่รับเข้ามาจะต้องมา Present Methodology ให้ Faculty Members ฟังด้วยว่าทำอะไร พอทำวิจัยเสร็จ ก็มา Present ให้อาจารย์ และนักศึกษาฟังด้วย ยกเว้นเจ้าของงานจะไม่ยอม
“เขาถามว่าใครจะรับ ผมบอกงั้นผมรับเอง ผมจะลาออกจากนิด้า แล้วมาเป็นผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการนี้ แต่ว่าดึงไว้ไม่อยู่ ในที่สุดก็ไปกันหมด ผมก็ต้องไปด้วย” ดร.วีรวัฒน์ เล่าถึงความล้มเหลวในความพยายามที่จะรักษาอาจารย์ไว้ให้ได้ในช่วงแรก
ปัญหาดังกล่าวเป็นเหมือนงูกินหางทางการศึกษาก็ว่าได้ เพราะแม้จะเริ่มต้นสร้างระบบอย่างไร แต่การครอบไว้ในระบบราชการอีกทีหนึ่ง ก็ถือเป็นเรื่องยากที่จะทลายกำแพงนี้ลงได้ กลายเป็นปัญหาว่า พออาจารย์มีชื่อเสียง มีงานวิจัยที่ดี ก็จะออกไปเป็นที่ปรึกษาบริษัทเอกชนกันหมด และที่สุดก็จะถูกดึงตัวด้วยผลตอบแทนที่สูงกว่าหลายสิบเท่าตัว กระทั่งถึงช่วงที่คณะบริหารธุรกิจ NIDA ต้องเข้าสู่ภาวะการขับเคี่ยวของ MBA ในเมืองไทย การออกหลักสูตรเพื่อรองรับความต้องการทางการศึกษาจึงเริ่มขึ้น พร้อมๆ กับการชดเชยรายได้ให้กับอาจารย์ โดยแนวคิดดังกล่าวเริ่มมีขึ้นในสมัยที่ ดร.ปรีชา จรุงกิจอนันต์ เป็นคณบดี
สิ่งเหล่านี้เอง ที่ทำให้ NIDA จำเป็นต้องออกหลักสูตรที่หลากหลาย เพื่อรองรับรายได้ที่เพียงพอของอาจารย์ ซึ่งหากพวกเขาเลือกไปอยู่ภาคเอกชนแล้วจะได้เงินเดือนมากกว่าเงินเดือนประจำของอาจารย์หลายสิบเท่า ฉะนั้น หลักสูตรที่ออกมาจึงมีทั้งที่เป็นภาคกลางวัน กลางคืน เสาร์-อาทิตย์ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ใช้แก้ปัญหาที่คาราคาซังมาตั้งแต่อดีตได้ดีที่สุด อย่างน้อยๆ ก็ในตอนนี้
เรื่อง กองบรรณาธิการ
08 เมษายน พ.ศ. 2553
สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ดำเนินการจัดทำหลักสูตร Smart Supervisor 4.0
ดร.อรรถเวทย์ พฤกษ์สถาพร (ที่ 3 จากซ้าย) รักษาการอธิการบดี พร้อมด้วย ดร.พลอยจรัส ประกัตฐโกมล (ที่ 1 จากขวา) ผู้จัดการแผนกกิจกรรมการแข่งขัน วิทยาลัยดุสิตธานี ร่วมแสดงความยินดีกับทีมนักศึกษาของวิทยาลัย เนื่องในโอกาสที่ไปสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยและสถาบัน โดยสามารถคว้าถ้วยรางวัล Champion รางวัลใหญ่ของการแข่งขัน พร้อมด้วยรางวัล 1 เหรียญทองและ 1 เหรียญทองแดง ในการแข่งขัน Jeju Local Cuisine Competition 2019 ซึ่งจัดขึ้นที่ Jeju Hanla University ณ เกาะเชจู สาธารณรัฐเกาหลีใต้ เมื่อเร็ว ๆ นี้