สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า เตรียมพร้อมจัดงาน NIDA International Business Conference 2019 ขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ช่วงวันที่ 1 และ 2 มีนาคม พ.ศ. 2562 ณ ชั้น 9 – 10 อาคารบุญชนะ อัตถากร นิด้า ภายในงานเป็นการผนึกกำลังระหว่างผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิชาการและภาคส่วนธุรกิจ เพื่อเป็นการสร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนและเรียนรู้ประสบการณ์ภายใต้ธีมที่กำลังเป็นที่จับตามองของปีนี้คือ “Transforming Business to the Future”
รศ.พ.ต.ต.ดร.ดนุวศิน เจริญ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เผยถึงจุดประสงค์ของการจัด Conference ในครั้งนี้ว่านอกเหนือไปจากรวบรวมและนำเสนอผลงานวิจัยโดยนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยเรื่องใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารธุรกิจ ยังมีประเด็นว่าในยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจเกิดขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น Blockchain, AI (Artificial intelligence) หรือ IoT (Internet of Things) จนหลายๆ ธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องมีการ Transform จึงอยากจะให้มีการศึกษาเรื่องผลกระทบต่อการเข้ามาเทคโนโลยีว่าจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจในด้านไหน และอะไรคือสิ่งที่ธุรกิจจะต้องจัดเตรียมแผนและกลยุทธ์รองรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
สำหรับปีนี้ NIDA International Business Conference 2019 นี้ มีการัดงานขึ้น 2 วัน
Day 1 : พันเอก ดร ดนุวสิน เผยว่า “สำหรับวันที่ 1 มีนาคม ซึ่งเป็นวันแรกของ Conference จะมีการจัด Cases Development Workshop โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นอาจารย์และนักวิจัยที่ต้องการเขียนเคส หรือกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในองค์กรจริง สามารถนำเอาความรู้ คอนเซ็ปต์หรือทฤษฎีที่เรียนมาไปประยุกต์ใช้ได้ ที่ผ่านมาคณะบริหารธุรกิจในประเทศไทยหลายแห่งมักจะใช้เคสจากอเมริกาและยุโรปในการเรียนการสอน ปัญหาคือ เคสเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในบริบทประเทศไทย ดังนั้น นิด้า โดยเฉพาะคณะบริหารธุรกิจ เราต้องการเป็นผู้นำในการพัฒนาเคสที่เป็นบริบทของประเทศไทย ทางคณะมีการสนับสนุนให้อาจารย์เขียนเคสหรือกรณีศึกษาเพื่อใช้ในการสอนและการวิจัยมาเป็นระยะเวลาเกือบสิบปีทำให้เรามีจำนวนเคสค่อนข้างเยอะ
เราต้องการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคในเรื่องการเขียนกรณีศึกษาเพื่อให้อาจารย์มหาวิทยาลัยอื่นๆ หรือนักวิจัยผู้ที่สนใจสามารถมีความรู้ความเข้าใจหากเขาต้องมีการพัฒนากรณีศึกษาที่จะนำมาใช้ในการสอน เขาจะเขียนอย่างไร มีประเด็นอะไรที่เขาต้องให้ความสำคัญ รูปแบบของเคสที่ดีเป็นอย่างไร รูปแบบการเขียน Teaching note เทคนิคในการเขียนเคส การเลือกเคส รวมถึงเทคนิคการสอนโดยใช้เคส สำหรับวิทยากรและโค้ชใน workshop ครั้งนี้ก็จะมีผมเป็นวิทยากร ซึ่งผมเองมีประสบการณ์ในการตีพิมพ์เคสมากกว่า 12 เคสซึ่งส่วนใหญ่เป็นเคสของบริษัทหรือองค์กรในประเทศไทย และอีท่านหนึ่งที่เป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ คือ Lee Meng Foon รองประธาน The Case Writers’ Association of Malaysia (CWAM) เป็นสมาคมใหญ่ที่สนับสนุนการพัฒนาเคสแห่งหนึ่งในประเทศมาเลเซีย
Workshop ในช่วงบ่ายจะเป็นการจัดให้ผู้ที่เข้าอบรม พัฒนา Case Outline โดยจะมี Coach 5 ท่าน เป็นอาจารย์คณะบริหารธุรกิจที่เคยตีพิมพ์เคสไปแล้วไม่ว่าจะเป็นท่านอาจารย์จงสวัสดิ์ อาจารย์ปิยะ อาจารย์นิตยา อาจารย์กฤษฎา และเรายังได้รับเกียรติจาก Dr. Hillol Bala อาจารย์จาก Indiana University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยระดับชั้นนำ Ranking ในอันดับ TOP 20 ของโลก และท่านเป็นผู้มีประสบการณ์ในการเขียนเคสจะมาเป็นผู้ที่ให้คำปรึกษาร่วมด้วย หลายคนเข้าใจว่าเคสจะใช้เฉพาะในคณะบริหารธุรกิจ แต่จริงๆ แล้วผมมองว่าจะเป็นประโยชน์ในด้านอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าด้านรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ สังคมเศรษฐกิจหรือการท่องเที่ยว ก็สามารถที่จะใช้เคสเป็นมาเป็นสิ่งที่ทำให้นักศึกษาได้เห็นถึงสถานการณ์จริง ปัญหาจริงในโลกธุรกิจ ในชุมชนว่าเป็นอย่างไร และสามารถ Apply ความรู้ผสมทฤษฎีที่เรียนมาไปใช้ในการแก้ปัญหาได้
Day II : สำหรับวันที่ 2 มีนาคม จะเป็นงานสัมมนา NIDA International Business Conference ในวันนั้นงานจะเริ่มต้นเปิดในช่วงเช้าโดยท่านอธิการบดีนิด้าซึ่งจะกล่าวเรื่องของการปรับตัวของมหาวิทยาลัยและ การ Transform ของมหาวิทยาลัย ในส่วนของ Keynote speaker ของปีนี้ ถือว่าเป็น highlight สำคัญเพราะได้รับเกียรติจาก Prof. Thomas Robinson ประธานและ CEO ของสมาคม AACSB ซึ่งเป็นหนึ่งผู้กำหนดมาตรฐานชี้วัดด้านคุณภาพของคณะบริหารธุรกิจทั่วโลก โดย Prof. Thomas Robinson จะมากล่าวถึงทิศทางของการเรียนการสอนในหลักสูตรบริหารธุรกิจที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรเพื่อรองรับต่อการเข้ามาของเทคโนโลยีและอนาคต จากนั้นจะมีการนำเสนอผลงาน แบ่งออกมาเป็น 4 Tracks ที่เชื่อมโยงกับเรื่อง Transformation ด้านต่างๆ ของธุรกิจตั้งแต่เทคโนโลยี การตลาด องค์กร และการบริหาร ต่อด้วย Transformation Leader’ s Forum
พันเอก ดร ดนุวสิน บอกเล่าถึง Transfomation Leader’ s Forum ในปีนี้ที่ได้เชิญผู้บริหารผู้เคยมีประสบการณ์ในการเข้าไปเปลี่ยนแปลงองค์กรใหญ่ๆ อาทิ ดร.ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดร.จีราวรรณ บุญเพิ่ม อดีตปลัดกระทรวงไอซีที ผู้เข้าไปมีส่วนผลักดันนโยบายในเรื่องการนำไอซีทีเข้ามาใช้ในประเทศไทยหลายนโยบาย อีกท่านคือ คุณชุติมา สีบำรุงสาสน์ เป็น VP ของบริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ซึ่งจะมากล่าวในประเด็น Culture เรื่องคนในองค์กรระดับโลกอย่างไมโครซอฟท์ นอกจากนั้นก็จะมี Keynote อีกท่านหนึ่งคือ Prof. Hillol Bala อาจารย์จาก Kelley School of Business ที่ Indiana University หนึ่งในทีมผู้สร้างทฤษฎี Technology Acceptance Model (TAM) ที่กล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในทฤษฎีที่ถูกอ้างอิงมากที่สุดในการบริหารธุรกิจ โดยท่านจะพูดเรื่องที่ต้องพิจารณาเมื่อมีการ Transform ในองค์กร หลังจากนั้นจะเป็นการนำเสนอ เปเปอร์ ซึ่งจะมีอีก 4 Tracks ที่เชื่อมโยงเรื่อง Transformation กับชุมชนและสังคม, กับการเงิน, กับเรื่อง New Role Marketing และกับการบริหารหรือ Management ส่วนช่วงสุดท้ายของงานจะเป็นพิธีมอบรางวัล Best Paper Award
NIDA International Business Conference 2019
สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ ที่ คลิ๊กที่นี่
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
ภาพ : ภัทรวรรธน์ พงษ์บริพันธ์