นับเป็นหนึ่งในวิชาชีพที่หลายคนมองว่ากำลังถูกท้าทายอย่างหนักจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) และเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ที่คาดว่าจะถูกนำมาปรับใช้กับงานบัญชีมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากช่วยลดต้นทุน ลดเวลา ลดการทุจริต และลดข้อผิดพลาด (Human Errors) เมื่อปลายปี 2019 บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลก McKinsey Global Institute เปิดเผยข้อมูลวิจัยที่ระบุว่า มีงานด้านการเงินและการบัญชีในองค์กรทั่วไปราว 40% ที่ถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติได้อย่างสมบูรณ์ และมีงานอีก 17% ที่ระบบอัตโนมัติเข้ามาแทนที่ได้เกือบสมบูรณ์ ขณะที่ก่อนหน้านั้นไม่นาน BBC ได้เผยผลสำรวจที่ทำร่วมกับ Oxford University ซึ่งชี้ว่าวิชาชีพบัญชีเป็นอาชีพที่เสี่ยงจะตกงานสูงถึง 97%
“เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดคลื่นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หรือ Disruption วิชาชีพใดที่ไม่ยอมปรับตัว วิชาชีพนั้นก็ย่อมจะอยู่ต่อไปได้ยาก ส่วนวิชาชีพที่จะก้าวต่อไปได้ ก็คือวิชาชีพที่สามารถนำเอาความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในวิชาชีพตนได้ สำหรับ Digital Disruption เรียกได้ว่ากระทบกับทุกวิชาชีพ ไม่เฉพาะกับแค่วิชาชีพบัญชี แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง ก็ถือว่ากระทบกับเราด้วยเช่นกัน ในฐานะสถาบันการศึกษาที่ผลิต “ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี” ออกสู่โลกธุรกิจ เราจึงมอง Digital Disruption ครั้งนี้ เป็นความท้าทายสำคัญที่ทำให้เราต้องปรับปรุงหลักสูตร และเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียน เพื่อให้เท่าทันกับโลกธุรกิจจริง” รองศาสตราจารย์ ดร.นฤนาถ ศราภัยวานิช หัวหน้าภาควิชาการบัญชี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (AccBA CMU) กล่าวถึงที่มาในการปรับการเรียนการสอนครั้งใหญ่ ที่กำลังเกิดขึ้นในปีการศึกษา 2563
Digital Disruption ไม่ใช่เรื่องแย่ สำหรับนักบัญชี
“จริงๆ แล้ว Disruption ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเป็นวงจร (Cycle) ทางธุรกิจ หรือเรียกว่าเป็น “สัจธรรมทางโลก” ก็ว่าได้ ที่ทุกรอบระยะเวลาหนึ่ง มันจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ (Disruption) เกิดขึ้น ถ้ามองกลับไปในอดีต ยุคก่อนมีคอมพิวเตอร์ พอจะมีการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในโลกธุรกิจเป็นครั้งแรก คนยุคนั้นก็มองไม่ต่างกันว่า มันเป็น Disruption แล้วก็กระทบต่อวิชาชีพบัญชีจนอาจทำให้วิชาชีพนี้หายไป แต่ทุกวันนี้ คอมพิวเตอร์ช่วยงานนักบัญชีได้มาก เช่นเดียวกัน เทคโนโลยี AI ถ้าเรามองว่ามันจะเข้ามาช่วย มันก็มีส่วนที่จะช่วยได้เยอะ แต่ถ้ามองว่ามันมาแย่งงาน มันก็อาจจะขวางโอกาสทางวิชาชีพได้”
สำหรับอาจารย์นฤนาถ เธอมีมุมมองด้านบวกกับเทคโนโลยี AI โดยมองว่าจะเข้ามาช่วยนักบัญชีได้มากในงานที่เป็น “รูทีน (Routine)” ซึ่งซ้ำซาก จำเจ และค่อนข้างน่าเบื่อ ไม่ได้ใช้การคิดวิเคราะห์เชิงลึก ดังนั้น การนำ AI เข้ามาใช้ในงานบัญชีจึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีได้ใช้เวลากับงานที่สร้างมูลค่า (Value Creation) ได้มากกว่า และใช้ทักษะที่สูงกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลข้อมูล (Data) หรือผลลัพธ์ (Outcome) ของงานบัญชี เพื่อส่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ต่อการตัดสินใจให้กับผู้ที่ใช้งานขั้นถัดไป อาทิ ผู้บริหารระดับสูง เจ้าของธุรกิจ CEO หรือนักลงทุน เป็นต้น
“ถ้ามองถึง Core Concept หรือ “หัวใจ” ในการทำหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี จะพบว่ามันไม่ได้เปลี่ยนไปเลย เพราะบทบาทสำคัญของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีคือ การจัดเตรียมข้อมูล (Provide information) ที่มีส่วนต่อการตัดสินใจให้กับผู้ใช้งาน สามารถเลือกข้อมูลที่ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ที่แตกต่างหลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องเสียเวลากับข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้อง เพียงแต่ในยุค AI Disruption ทำให้เรามีแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการทำบทบาทดังกล่าว ขอแค่เรารู้ว่าจะดึงจุดแข็งของ AI มาใช้ให้เต็มศักยภาพ และจะปิดจุดอ่อนแล้วเติมเต็มศักยภาพของ AI ได้ยังไง”
รศ.ดร.นฤนาถ สรุปว่า สิ่งแรกที่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีจำเป็นทำ คือการปรับตัวให้สอดรับกับเทคโนโลยี AI โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจว่ากระบวนการทำงานของ AI เป็นอย่างไร มาช่วยงานผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีในจุดใดได้บ้าง และที่สำคัญคือ มีข้อดีหรือจุดแข็งอะไร เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปกับงานหรือกระบวนการทำงานที่ AI ทำได้ดีกว่าหรือดีเท่ากับมนุษย์ เพื่อเอาเวลาที่เหลือไปทำงานและพัฒนากระบวนการทำงานในส่วนที่มนุษย์สามารถทำได้ดีกว่า
ถ้าคุณยังเป็นผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีแบบเดิม ยังยึดติดกับรูปแบบการทำงานแบบเดิม แพลตฟอร์มเดิมๆ และเทคโนโลยีเดิมๆ แล้วยังทำได้แค่ Provide Information แบบเดิมๆ สุดท้ายแล้ว เราก็จะกลายเป็นผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่โลกธุรกิจยุคใหม่ไม่ต้องการ แล้วเราก็จะค่อยๆ เลือนหายไปจากวิชาชีพนี้ในที่สุด
BIG Changes!! ในหลักสูตรของภาควิชาการบัญชี
เพื่อผลิตบัณฑิตที่เป็นที่ต้องการของโลกธุรกิจในอนาคต ปีการศึกษา 2563 ภาควิชาการบัญชี คณะบริหารธุรกิจ มช. จึงได้ปรับปรุงหลักสูตรครั้งใหญ่ โดยมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมในมิติของชุดความคิด (Mindset) และทักษะ (Skillset) ที่เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะทางสมรรถนะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) ให้กับนักศึกษาสาขาวิชาบัญชีทุกคน ก่อนออกสู่ตลาดแรงงาน
“ปีการศึกษา 2563 เป็นปีการศึกษาแรกที่หลักสูตรของเรากำหนดให้นักศึกษาสาขาวิชาบัญชีทุกคนต้องเรียนวิชาโท (Minor) ทางด้าน Information Technology อย่างน้อย 5 ตัวรวม 15 หน่วยกิต โดยภาควิชาฯ ได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรให้สอดคล้องและส่งเสริมสายอาชีพผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ซึ่งการจะสื่อสารภาษาของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีให้วิศวกรเข้าใจ ไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วภาษาในโลกธุรกิจก็ไม่ใช่ภาษาเทคโนโลยีจ๋า แต่เราก็ต้องการความลึกในระดับที่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง จึงต้องใช้เวลานานกว่าจะตกผลึกเป็น 5 กระบวนวิชานี้”
อาจารย์นฤนาถ กล่าวว่า การปรับปรุงหลักสูตรครั้งนี้ถือเป็นการปรับเปลี่ยนใหญ่ (Major Change) ของภาควิชาการบัญชีเลยก็ว่าได้ นอกจากการปรับหลักสูตร ตัวอาจารย์ผู้สอนก็ต้องมีการปรับตัว โดยเริ่มตั้งแต่การเตรียมความพร้อมในเรื่องของการใช้อุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ไปจนถึงการปรับทัศนคติด้วยการให้อาจารย์เข้าไปเรียนรู้เนื้อหาวิชา Information Technology ทั้ง 5 รายวิชา เพื่อให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความจำเป็นที่ต้องมีการเรียนการสอนวิชาดังกล่าว ขณะที่การปรับตัวในฝั่งผู้เรียน เป็นการบังคับให้นักศึกษาสาขาวิชาบัญชีทุกคนต้องลงเรียนวิชาโททั้ง 5 กระบวนวิชา
“ทั้ง 5 วิชาเป็นความรู้และทักษะที่จำเป็นต้องเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการต่อยอดประสบการณ์ที่จะเขาจะได้รับจากการทำงานในอนาคต แต่ถ้าปล่อยให้เด็กเลือกเอง เราค่อนข้างมั่นใจว่าเด็กส่วนใหญ่ก็จะไม่ลงเรียน พอไม่เรียนปุ๊บ กว่าที่เขาจะค้นพบว่าทักษะเหล่านี้เป็นสิ่งที่เขาจำเป็นต้องใช้ ก็หลังจากจบการศึกษาไปแล้ว ซึ่งถึงตอนนั้น เราก็ไม่สามารถเข้าไปช่วยเตรียมความพร้อมอะไรให้เขาได้มาก เราก็เลยต้องใช้วิธีบังคับ เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมให้เขาตั้งแต่ตอนเรียน”
กล่าวได้ว่า หลักสูตรของภาควิชาการบัญชีที่มีทิศทางแน่วแน่ที่จะให้นักศึกษาสาขาวิชาบัญชีทุกคนต้องลงเรียนวิชาโทด้าน Information Technology มากถึง 5 รายวิชา 15 หน่วยกิต นับเป็นแนวคิดใหม่ของภาควิชาการบัญชี คณะบริหารธุรกิจ มช. และอาจถือเป็นครั้งแรกของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ดังนั้น ด้วยความใหม่นี้เองทำให้ทางภาควิชาฯ จึงต้องจัดให้มีการพูดคุยชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจกับทั้งนักศึกษาและผู้ปกครอง ถึงความจำเป็นในการปรับปรุงหลักสูตร ตั้งแต่วันปฐมนิเทศ
“เราเชื่อว่า หลังจากผ่านกระบวนการเรียนรู้ 5 รายวิชานี้ ด้วยศักยภาพและฐานข้อมูลที่เราใส่ให้ นักศึกษาจะมีทักษะเพียงพอที่จะรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงมากกว่าและเร็วกว่ายุคปัจจุบัน และนี่คือความพยายามในการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้ยืดหยุ่นและรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเข้ามาเรื่อยๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบัณฑิตของเราจะมีความพร้อมรับมือกับโลกธุรกิจจริง”
รศ.ดร.นฤนาถ ย้ำว่า แม้ปีการศึกษานี้จะปีแรกของการเปิดสอน 5 กระบวนวิชาใหม่นี้ แต่ทางภาควิชาฯ จะร่วมเรียนรู้กับนักศึกษา เพื่อดูว่าควรปรับปรุงเนื้อหาหรือหัวข้อใด เพื่อให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับนักศึกษามากที่สุด โดยหลังจากที่เนื้อหาหลักสูตรลงตัวแล้ว ในขั้นต่อไปจะเริ่มทำโครงการ Refreshment ให้กับศิษย์เก่าที่จบไปสักระยะแล้ว ทั้งในเรื่องของการเปิดโลกทัศน์ทางด้าน Information Technology ตลอดจนเสริมสร้างทักษะ (Reskill-Upskill) ทางด้านนี้ให้กับศิษย์เก่า
จากการรับมือ COVID-19 สู่ New Normal ในการเรียน
นอกจาก Digital Disruption ที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรครั้งใหญ่ วิกฤติ COVID-19 ช่วงที่ผ่านมา ก็ส่งผลกระทบให้กระบวนการในการเรียนการสอนเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยสอน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มรายวิชา Information Technology เป็นวิชาโท แต่อีกส่วนมาจากแนวนโยบายของคณะบริหารธุรกิจเอง ที่ต้องการให้การเรียนการสอนมีความยืดหยุ่นทั้งแบบ On Site และ Online เพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนที่อาจกระทบต่อการเรียนการสอนในอนาคต
“ใน 4 สาขาของคณะบริหารธุรกิจ มช. สาขาบัญชีเป็นสาขาเดียวที่คอนเฟิร์มว่าสอนออนไลน์ 100% เพราะเรามองว่าต้องการให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตนักศึกษาน้อยที่สุด และเราเป็นสาขาค่อนข้างใหญ่ สิ่งที่จะช่วยทั้งตัวนักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรในคณะได้ดีที่สุด คือการขยับมาเป็นการสอนออนไลน์ทั้งหมด แต่ถ้ามีอะไร นักศึกษาก็เข้ามาติดต่อได้ตลอด”
นอกจากนี้ วิกฤติ COVID-19 ยังกระทบกับรูปแบบการฝึกงานอีกด้วย โดยอาจารย์นฤนาถ กล่าวว่า วิชาชีพบัญชีจำเป็นต้องใช้ทักษะในการทำงาน ดังนั้น วัตถุประสงค์หลักในการส่งนักศึกษาไปฝึกงาน ก็เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ใช้ทักษะในเชิงทฤษฎีที่เรียนมาไปประยุกต์ในกระบวนการทำงานที่แท้จริง แต่หลังจากส่งนักศึกษาไปฝึกงานได้เพียง 1 สัปดาห์ รัฐบาลประกาศ “ปิดประเทศ (Lockdown)” ทำให้สถานที่ฝึกงานต่างหยุดกิจการ นักศึกษาจึงต้องหยุดฝึกงาน ทางภาควิชาฯ จึงมีการประชุมเร่งด่วน เพื่อมองหากระบวนการฝึกหัดแบบใหม่เพื่อให้นักศึกษาได้ประยุกต์ใช้ความรู้ที่เรียนมา พร้อมกับดีไซน์การประเมินวัดผลภายใต้บริบทใหม่ของวิชาการฝึกงาน
“ภายใต้วัตถุประสงค์หลักคือ นักศึกษาต้องประยุกต์ใช้ความรู้เชิงทฤษฎีไปสู่ความสามารถในการปฏิบัติ (Practical) ขณะที่ข้อจำกัดคือ เด็กต้องปลอดภัยจากสถานการณ์ COVID-19 เราใช้วิธีนำกรณีศึกษา (Case Study) จากธุรกิจจริงมาเป็น “ตุ๊กตา” เพื่อให้เด็กนำองค์ความรู้ที่เรียนมาทั้งหมด 3 ปีมาใช้ เปลี่ยนจากการตอบคำถามในสนามทำงาน (Field Work) มาเป็นการตอบในแผ่นกระดาษให้อาจารย์ แล้วเรามาดูว่าอะไรคือสิ่งที่เด็กขาดและสิ่งที่เด็กมี อะไรคือสิ่งที่เด็กสามารถประยุกต์ใช้ได้ดีหรืออะไรที่ยังประยุกต์ไม่ได้ แล้วก็มีการสรุปประมวลผล หลังจากที่นักศึกษากลับมาเรียน”
อาจารย์นฤนาถ กล่าวว่า วิชาชีพบัญชีเป็นหนึ่งในสาขาอาชีพที่ไม่จำเป็นต้องทำงานแบบพบหน้า (Face-to-Face) การส่งข้อมูลทางไฟล์จึงเป็นหนึ่งในแนวทางการฝึกงานที่มีความเป็นไปได้สูงในอนาคต โดยเฉพาะถ้าสถานการณ์ COVID-19 ยังไม่ยุติ บวกกับข้อจำกัดของโลกธุรกิจที่อาจไม่พร้อมรองรับการฝึกงานของนักศึกษาทั้งหมดกว่า 200 คนในสาขาวิชาบัญชีในแต่ละปี ทำให้การฝึกงานรูปแบบ Case Study ก็เป็นอีกแนวทางที่อาจเป็น “วิถีใหม่ (New Normal)” ในวิชาการฝึกงานได้
“บัญชีบัณฑิต” ในอุดมคติของภาควิชาการบัญชี มช.
รศ.ดร.นฤนาถ กล่าวว่า โดยแก่นแท้แล้ว ความคาดหวังของผู้ประกอบการที่มีต่อบัณฑิตของภาควิชาการบัญชี แทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลย คืออยากได้บัณฑิตที่ทำงานได้ และสามารถนำความรู้ในเชิงทฤษฎีไปประยุกต์ใช้กับโลกธุรกิจจริงได้ ตลอดจนมีทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก รูปแบบธุรกิจ (Business Model) ไปจนถึงแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้อง ทำให้รายละเอียดของชุดความคิด (Mindset) และทักษะ (Skillset) ที่บัณฑิตยุคใหม่จำเป็นต้องมี เปลี่ยนแปลงไปพอสมควร โดย Mindset สำคัญอย่างแรกที่หัวหน้าภาควิชาฯ อยากให้บัณฑิตของภาควิชาการบัญชี คณะบริหารธุรกิจ มช.มี ได้แก่ ความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
“การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงในสาขาวิชาชีพบัญชีเท่านั้น อย่างปัจจุบัน เราจะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศกระทบกับทุกวิชาชีพ เพราะฉะนั้น เราก็เลยคาดหวังว่าการที่เราพัฒนาความรู้ทางสาขาวิชาชีพอย่างเข้มงวด ผนวกกับความรู้ทางด้าน Information Technology มากพอสมควร จะทำให้นักศึกษาของเรามีองค์ความรู้และทักษะ รวมถึงมีขบวนการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นตรรกะในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีและนักบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศ มีหน้าที่สำคัญในการเป็น “สื่อกลาง” ในการย่อยและจัดเตรียมข้อมูลให้กับผู้ใช้ที่แตกต่าง เพื่อให้แต่ละคนได้รับข้อมูลที่ช่วยให้ตัดสินใจได้เร็วขึ้น ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำหรับวิชาชีพบัญชีหรือผู้ประกอบวิชาชีพในยุคปัจจุบันและในอนาคต”
อาจารย์นฤนาถ เชื่อว่า ถ้าภาควิชาฯ สามารถปลูกฝัง Mindset และ Skillset ได้ตามเป้าประสงค์ของหลักสูตรใหม่ ย่อมจะก่อให้เกิดกระบวนการเสริมสร้างความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นให้กับบัณฑิต ดังนั้น ไม่ว่าโลกในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงในรูปแบบใด หรือมาจากทางฝั่งสาขาวิชาชีพใด ความพร้อมในการตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงจะทำให้บัณฑิตเหล่านั้น “เอาตัวรอด (Survive)” จากคลื่นความเปลี่ยนแปลง แถมยังสามารถ “ขี่ยอดคลื่น” เพื่อต่อยอดและพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่ทุกองค์กรอ้าแขนรับได้ไม่ยาก
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี บวกกับองค์ความรู้และทักษะที่ภาควิชาฯ เสริมให้ ก็เปรียบได้กับ “นักรบ” ที่สวมชุดเกราะแบบ Full Option พร้อมด้วย “อาวุธ” ต่างๆ และพร้อมในเชิงศักยภาพ จึงพร้อมรบทุกสถานการณ์ หรือก็คือ บัณฑิตของเรา เมื่อจบออกไปจะกลายเป็นผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่มีความพร้อมและมีความสามารถในการเลือกใช้ “เครื่องมือ” ในการตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ข้อมูลที่หลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งสุดท้ายแล้ว ย่อมจะนำไปสู่ความสนุกและความสุขในวิชาชีพบัญชีของบัณฑิตเรา
อย่างไรก็ดี หัวหน้าภาควิชาการบัญชี กล่าวว่า สำหรับคนที่ยังไม่แน่ใจว่าต้องการทำอาชีพอะไร การเรียนสาขาวิชาการบัญชีที่คณะบริหารธุรกิจ มช. อาจเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดี เพราะที่นี่มุ่งสอนให้นักศึกษาได้พัฒนาการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ขณะเดียวกันก็ฝึกให้คิดวิเคราะห์อย่างไม่มีกรอบจำกัด ยิ่งบวกกับการบ่มเพาะทั้ง Mindset และ Skillset ทางด้าน Information Technology บัณฑิตที่นี่จึงเสมือนมี “ภูมิคุ้มกัน” ทุกคลื่นดิสรัปชันที่จะเกิดขึ้นในโลกธุรกิจในอนาคต
“สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าบัณฑิตคนนั้นจะประกอบวิชาชีพใด หากประกอบวิชาชีพนั้นด้วยความมุ่งมั่นย่อมประสบความสำเร็จในอาชีพนั้นได้อย่างแน่นอน แต่ใครก็ตามที่แน่ใจแล้วว่า วิชาชีพบัญชีหรือสาขาอาชีพด้านการบัญชีเป็นสิ่งที่คุณต้องการ เราก็พร้อมจะพัฒนาคุณให้เป็นบัณฑิตที่เป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการ และตอบโจทย์การทำงานของตัวคุณเองได้อย่างเต็มที่” รศ.ดร.นฤนาถ กล่าวทิ้งท้าย
ติดตาม MBA Talk EP06 - นักบัญชี ยุค 5G @AccBA CMU #MBACMU
ได้ที่นี่
เรื่อง: สุภัทธา สุขชู
ภาพ: ชัชชา ฐิติปรีชากุล