November 21, 2024

Operations Management: ศาสตร์เพื่อการทำธุรกิจที่ยั่งยืน ต้องดูตั้งแต่ ‘ต้นทางการผลิต’

April 21, 2023 6612

ในช่วง 3-5 ปีมานี้ ภาคธุรกิจต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพราะถูกเทคโนโลยีดิสรัปต์ เจอวิกฤตโรคระบาด ได้รับผลกระทบจากสงครามหลายฝ่าย

และยังมีปัญหาทางเศรษฐกิจ เช่น เงินเฟ้อ แต่ที่หนักกว่านั้น เรากำลังเผชิญ ‘ภาวะโลกรวน (Climate Change)’ ซึ่งหมายรวมทั้งแผ่นดินไหว น้ำท่วมใหญ่ สภาพอากาศร้อนจัด-หนาวจัด ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน แผนการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนจึงเกิดขึ้นและกลายเป็นกติการะดับโลก ที่ผู้ประกอบการชาติต่างๆ ต้องปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่ ซึ่งไม่ใช่แค่การผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายแล้วจบ แต่ต้องหันมาให้ความสำคัญในเรื่อง ‘ความยั่งยืน (Sustainability)’ ตั้งแต่ภาคการผลิต เพื่อให้มีขยะ (Waste) น้อยที่สุด ทำลายโลกน้อยลง ดูแลสภาพแวดล้อมมากขึ้น

ผศ.ดร.พราวพรรณ ธารสิทธิ์พงษ์ อาจารย์ประจำ คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ผู้สอนวิชาการจัดการปฏิบัติการ (Operations Management) หลักสูตรการพัฒนาผู้บริหารยุคใหม่ (Executive MBA) เกริ่นถึงการสร้างธุรกิจในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรโลกในวันนี้ว่า

"ที่ผ่านมา การสร้างบริษัทเน้นในด้านผลลัพธ์หรือ Output มุ่งแต่กระบวนการผลิต ‘สินค้า’ ออกมา เช่น การผลิตสินค้าเทคโนโลยีมีรุ่นแบบ แบบใหม่ เทคโนโลยีใหม่ออกมาเรื่อยๆ แล้วผู้บริโภคก็ซื้ออันใหม่เมื่อสินค้าตกรุ่น ส่งผลทำให้เกิดขยะมลพิษ ของใช้ที่ไม่มีคนใช้ กระตุ้นให้เกิดการบริโภคนิยมมากขึ้น และไม่ได้คำนึงถึงความยั่งยืน"

แม้องค์กรธุรกิจแสดงออกว่าใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดกิจกรรม CSR เพื่อให้มีภาพลักษณ์ขององค์กรว่า อยากช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมแต่ก็ไม่บรรลุผลอย่างแท้จริง เช่น การปลูกต้นไม้ ปลูกป่า แต่ต้นไม้ก็ล้มตายในท้ายที่สุดเพราะไม่ได้มีแผนดูแลในระยะยาว การจัดกิจกรรมเก็บขยะ แต่สุดท้ายก็มีการทิ้งขยะไม่ถูกที่กันอีก ด้วยเหตุนี้ ผศ.ดร.พราวพรรณ จึงชี้ทางแก้ว่า ต้องกลับมาแก้ที่ ‘ภาคการผลิตโดยสิ่งที่ NIDA ทำอยู่คือ ส่งต่อองค์ความรู้ผ่านสาขาวิชา การจัดการปฏิบัติการ (Operations Management)

“ไม่ว่าจะเป็นสาขาไฟแนนซ์ มาร์เก็ตติง ก็ไม่มีสาขาไหนรับผิดชอบได้มากเท่า OM : Operations Management สาขาวิชาที่ว่าด้วยทฤษฎีการผลิตเป็นหลัก เพราะเกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าทุกอย่าง โดยเรามุ่งส่งเสริมให้ภาคธุรกิจสร้างผลิตภัณฑ์ (Product) ที่คำนึงถึงความยั่งยืน ด้วยความรับผิดชอบ ด้วยการสอนผู้เรียนให้เริ่มคิดว่า จะผลิตให้ยั่งยืนได้อย่างไร เลือกวัตถุดิบใด ควรดำเนินการผลิตอย่างไร จะลดต้นทุนอย่างไร โดยเราจะเริ่มสอนด้วยคำว่า ‘ไม่มีฉัน ไม่มีเธอ’ เพราะถ้าไม่มีผู้บริโภค ก็ไม่มีผู้ผลิต และถ้าเราอยู่ไม่ได้ ธุรกิจก็ดำเนินต่อไปไม่ได้ ดูอย่างผลกระทบที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ผู้บริโภคได้รับก่อน ทั้งสภาพฝุ่นควัน ปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือจะปล่อยให้โลกใช้พื้นที่สำหรับการเก็บขยะมากกว่าพื้นที่อยู่อาศัย

ในมุมของผู้สอน ผศ.ดร.พราวพรรณ เล่าเพิ่มว่า 10 ปีมาแล้วที่ Textbook ของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาปรับเปลี่ยนเนื้อหาที่ใช้สอนด้านการผลิตมาเป็น ‘Operations Management for Sustainable Approach’ โดยสิ่งที่เปลี่ยนไปก็เช่น ประเทศที่พัฒนาแล้วนิยมไปลงทุนในประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีน เพราะต้นทุนถูกกว่าและเป็นประเทศที่มีศักยภาพ รวมถึงไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งไทยได้รับผลกระทบจากภาคการผลิต เช่น มลภาวะทางอากาศอย่าง ‘ฝุ่นพิษ’ และยังไม่มีผู้รับผิดชอบผลกระทบอย่างจริงจัง

‘ความยั่งยืน’ จึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นต่อการดำรงอยู่ของทุกภาคส่วน แต่แน่นอนว่า ผู้ที่เป็นเจ้าของธุรกิจย่อมต้องการผลกำไรที่เป็น ‘เม็ดเงิน’ แต่การเปลี่ยนภาคการผลิตให้มาคำนึงถึงความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทานต้องอาศัยความเข้าใจ ใช้เวลา และเงินลงทุน จึงเป็นเรื่องท้าทายและยากที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว และแม้ภาครัฐมีส่วนสำคัญในการกำหนดกฎเกณฑ์รูปแบบใหม่เพื่อเร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม แต่อย่างไรก็ตาม หากดูในบริบทประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยแล้ว ผศ.ดร.พราวพรรณ เปิดเผยว่า การเปลี่ยนมุมคิดและพฤติกรรมการซื้อของ ‘ผู้บริโภค’ ให้มาเป็น ‘ผู้บริโภคยุคใหม่ที่เลือกซื้อสินค้าที่คำนึงถึงความยั่งยืน’ ธุรกิจหรือแบรนด์ต่างๆ ก็จะปรับตัวและให้ความสำคัญในด้านความยั่งยืนได้เร็วกว่าการออกกฎหรือกติกามาบังคับ

สำหรับโมเดลที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาตั้งแต่ภาคการผลิตที่เป็นต้นน้ำ ผศ.ดร.พราวพรรณ บอกว่า ต้องใช้ความรู้ด้าน ‘Design For Assembly’ คือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ไปสู่กระบวนการผลิต ซึ่งรวมการสร้างโรงงาน การรันโรงงาน การควบคุมคุณภาพสินค้า ฯลฯ

“วัตถุดิบนี้จะใช้ไปได้อีกกี่ปี จะมีวิธีผลิตอย่างไร ใช้เทคโนโลยีอะไรในขั้นการผลิต ซึ่งตลอดกระบวนการต้องไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และแม้โรงงานก็จะถูกบังคับให้ทำตามกฎเกณฑ์ต่างๆ แต่หลังจากขายสินค้าให้ผู้บริโภคแล้ว บริษัทต้องรับผิดชอบ โดยให้ผู้บริโภคนำสินค้ามาคืนแบรนด์หรือผู้ผลิต เพราะเป็นคนที่รู้ดีที่สุดว่า องค์ประกอบของสินค้ามีอะไรที่จะนำไปรีไซเคิลได้ อะไรที่นำไปใช้ในกระบวนการใหม่ได้ มีกี่ส่วนที่ต้องนำไปทำลายจริงๆ ยกตัวอย่าง Daisy หุ่นยนต์แยกชิ้นส่วนอัตโนมัติของ Apple ซึ่งบริษัทก็ได้ประโยชน์จากการได้ชิ้นส่วนกลับมา โดยที่ยังมีมูลค่าอยู่บ้าง และได้ภาพลักษณ์ว่า แบรนด์ใส่ใจเรื่องความยั่งยืน

“แต่อย่างไรก็ตาม ตามหลัก Technology Management มุ่งให้เกิดการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ มากที่สุด ผลิตได้มากในระดับแมสและรวดเร็วที่สุด จึงต้องหาคำตอบกันต่อไปว่า บริษัทใดจะสามารถผลิตสินค้าที่ใช้งานได้ยาวนานขึ้น ผู้บริโภคใช้งานอุปกรณ์ใหม่น้อยลงได้อย่างไร เพราะบริษัทก็ยังต้องการให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าใหม่ แต่สุดท้าย ผู้บริโภคก็จะตัดสินใจก่อนการซื้อครั้งใหม่เอง ในด้านมูลค่าสินค้ากับ Life Cycle ที่เกิดขึ้น”

และเพื่อบ่งบอกว่า สินค้าหรือแบรนด์นั้นๆ ผ่านการตรวจสอบแล้วว่า คำนึงถึงความยั่งยืนตั้งแต่กระบวนการผลิต ผู้สอนวิชา Operations Management อธิบายว่า ผู้บริโภคสามารถสังเกตผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองซึ่งจะมี ฉลากเขียว (Green Label) กำกับอยู่ และให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ด้วยว่า ก่อให้เกิดคาร์บอนจากกระบวนการผลิตเท่าไร สร้าง Waste มากเพียงใด โดยทาง NIDA ก็ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเครือข่ายให้ความรู้และผลักดันให้เกิดการแชร์ข้อมูลเพื่อให้ฉลากผลิตภัณฑ์นี้ไปอยู่ในสินค้าทุกประเภท ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค และคาดว่าจะได้เห็นมากขึ้นในช่วง 5 ปีนับจากนี้

หากพิจารณาในระดับมหภาค สาขาวิชา OM ยังเป็นศาสตร์ที่ตรงกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs เป้าหมายที่ 12: สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (Responsible Consumption and Production) ซึ่งมีหลายแนวทาง อาทิ การจัดการและการใช้ทรัพยากรธรรมธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน, การลดของเสียที่เป็นอาหาร (food waste), การลดการปล่อยสารเคมีและของเสียเป็นพิษออกสู่ธรรมชาติและจัดการอย่างถูกต้อง ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องมีความรับผิดชอบ คิดอย่างรอบด้านและรอบคอบ

"ความรับผิดชอบนี้เป็นยาขมเพราะองค์กรไม่ค่อยอยากพูดถึง สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือการลดค่าใช้จ่าย (Cost) แต่ก็สามารถยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว เช่น การปรับให้วัตถุดิบมีต้นทุนถูกลง ขณะเดียวกัน ใช้ได้ยาวนานขึ้นและเอื้อให้คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมได้รับประโยชน์ร่วมกัน เช่น อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ถ้าผลิตรถยนต์ที่เบาขึ้น การใช้พลังงานก็น้อยลง เครื่องยนต์ก็จะดีขึ้น เคลื่อนตัวได้เร็วขึ้น เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการบินที่เลือกวัสดุที่เบาลง มาเป็นองค์ประกอบของตัวถัง ทำให้บินได้ไกลขึ้น ใช้น้ำมันน้อยลง จึงเป็นการลดต้นทุนได้หลายต่อ แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นความท้าทายสำหรับภาคธุรกิจเพราะการทำธุรกิจส่วนใหญ่ถูกตัดสินด้วยต้นทุน ว่าจะอยู่รอดหรือบรรลุผลหรือไม่”

ในด้านผู้เรียน หากเป็น Executive MBA ผศ.ดร.พราวพรรณ จะให้ผู้เรียนนำประสบการณ์มาแชร์กันว่า องค์กรผลิตอะไร สร้างผลกระทบอะไร และแก้ให้ตรงจุดได้อย่างไร ไปจนถึงการคำนวณ Product Life Cycle ว่าสิ่งที่เราผลิตจะนำกลับเข้าสู่ระบบได้อีกหรือไม่ สร้าง Input ที่ดีให้แก่ภาคอุตสาหกรรมอย่างไร แต่หากเป็นผู้เรียนที่มีช่วงอายุราว 35 ปีขึ้นไป ซึ่งก็คือ เจเนอเรชั่น Y เป็นกลุ่มที่แอ็คทีฟในด้านความยั่งยืนมากที่สุด เช่น สามารถสร้างแคมเปญได้เอง นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ การออกแบบแพ็กเกจจิง ลดการเกิด Waste ได้อย่างเห็นผล และหากผู้เรียนเป็นคนรุ่นใหม่ก็มักจะนำองค์ความรู้กลับไปขับเคลื่อนแนวคิดเพื่อความยั่งยืนต่อไป

“เราใส่เรื่องความยั่งยืนเข้าไปในทุกส่วนการเรียนการสอน ทำให้เห็นประโยชน์ เห็นข้อดีข้อเสียจากการเกิดขึ้นของธุรกิจ ว่าดีหรือไม่ดีต่อบริบทของสังคม และสร้างแนวทางให้ผู้เรียนเริ่มคิดเรื่องสร้างความยั่งยืน โดยกระตุ้นให้เริ่มต้นที่ตัวเอง แล้วเมื่อไปอยู่ในองค์กรหรือบริหารองค์กรก็ค่อยๆ ปรับให้คนในองค์กรคิดเหมือนกัน ซึ่งถ้าขับเคลื่อนแนวคิดนี้ด้วยเจเนอเรชั่นใหม่ ไม่น่ายาก และน่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่ใหญ่กว่าภาครัฐ”

สอบถามถึงสายงานของผู้ที่มาเรียนสาขาการจัดการปฏิบัติการ ผศ.ดร.พราวพรรณ ตอบว่า ส่วนใหญ่มาจากโรงงานอุตสาหกรรม การจัดการสิ่งแวดล้อม การควบคุมคุณภาพสินค้า (TQM) และยกตัวอย่างกรณีที่ผู้เรียนสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืนได้ คือ การนำแนวคิดที่ได้จากการเรียนไปปรับใช้ในธุรกิจร้านอาหารเล็กๆ ที่ขาดองค์ความรู้มากที่สุดและใช้เทคโนโลยีน้อยที่สุด โดยคืนส่วนแบ่งจาก ‘ต้นทุนที่ลดลง’ ให้แก่พนักงานในลักษณะของ Incentive ตั้งแต่ระดับหัวหน้าเชฟจนถึงระดับพนักงานหั่นผัก ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ พนักงานที่ทำงานระดับล่างสุด ซึ่งเป็นคนที่อยู่หน้างานช่วยลด Waste ในองค์กรได้เป็นอย่างดี และการได้สิ่งตอบแทนยังกระตุ้นให้พนักงานเกิดความมุ่งมั่นที่จะลดการสร้าง Waste ลงอีก

“เราต้องร่วมกันสร้างระบบนิเวศเป็น ‘คอมมูนิตี้ต่างๆ ที่คำนึงถึงความยั่งยืน’ เพราะระบบนิเวศไม่ใช่แค่ผู้ผลิตและผู้บริโภค แต่ยังมีคู่แข่ง มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โรงงาน ซัพพลายเออร์ รวมถึงคนที่อยู่รอบๆ องค์กรธุรกิจอีกมาก ซึ่งถ้าบริหารจัดการให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน ก็จะเป็นคำตอบและทางออกที่ดีที่สุด” ผศ.ดร.พราวพรรณ กล่าวทิ้งท้าย


บทความ: ภัชภิชา ฤกษ์สิรินุกูล
รูปภาพ: ฐิติวุฒิ บางขาม

Last modified on Friday, 21 April 2023 10:41
X

Right Click

No right click