November 08, 2024

ศูนย์ปัญญทัศน์เพื่อการจัดการ (NIDA Management Insight Lab: NIDA MIL) คณะบริหารธุรกิจเปิดมิติการศึกษาและบริการวิชาการด้าน Neuroscience

September 28, 2022 7057

ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา มีการจับตาของการพัฒนาการของศาสตร์ด้านการบริหารจัดการธุรกิจเป็นอย่างมากว่าจะมีทฤษฎีหรือแนวคิดใหม่ๆ

ออกมาล้อรับกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดและสร้างผลกระทบกับทุกๆอุตสาหกรรมอย่างไรบ้าง และได้พบว่าสาขาบริการและการจัดการธุรกิจได้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆที่ก้าวหน้ามารับใช้ในสายงานหลายด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Artificial Intelligence (AI) หรือ Data Analytics ที่ช่วยให้การบริหารจัดการข้อมูลทางธุรกิจและการตลาดมีประสิทธิภาพสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ หนึ่งในเรื่องใหม่ที่สร้างความฮือฮาและความตื่นตาตื่นใจโดยเฉพาะในหมู่นักการตลาดคือเรื่องประสาทวิทยาหรือ Neuroscience ที่ได้ขยับออกจากการเป็นศาสตร์เฉพาะในสาขาแพทย์มาเป็นเครื่องมือและศาสตร์ใหม่ที่นำมาใช้ในสาขาบริหารและการจัดการธุรกิจ เช่น การนำมาใช้ในงานวิจัยและกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด หรือแม้แต่ในเรื่องของการทำงานเป็นทีม (Teamwork) หรือความเป็นผู้นำขององค์กร (Organizational Leadership) เป็นต้น

แม้ Neuroscience จะถูกนำไปใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรยักษ์ใหญ่หลายต่อหลายองค์กรในโลก ไม่ว่าจะเป็น Facebook  Google  Amazon และบริษัทโฆษณาระดับโลกก็หันมาใช้ Neuroscience กันอย่างแพร่หลาย  แต่ในประเทศไทยยังนับว่าเรื่อง Neuroscience ในสายงานด้านธุรกิจและการตลาด ยังอยู่ในระยะของการเริ่มต้น ซึ่งทั้งนี้มีปัจจัยสำคัญคือ การขาดแคลนสถาบันที่มีองค์ความรู้และเชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาและชี้แนะในการใช้เครื่องมือทางประสาทวิทยา การแปรผลจากการวัดทางประสาทวิทยา และการนำผลการวิเคราะห์ทางประสาทวิทยามาประยุกต์ใช้ในองค์กร

ด้วยการเล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมเพิ่มองค์ความรู้ใหม่ๆ เข้ามาในหลักสูตร ทางคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ได้มีการส่งเสริมและเตรียมการให้คณาจารย์ของคณะเรียนรู้และศึกษาเพื่อเตรียมพัฒนาเป็นวิชาในเรื่อง Neuroscience เพื่อธุรกิจและการตลาด จนเป็นที่มาของการจัดตั้ง ศูนย์ปัญญทัศน์เพื่อการจัดการ (NIDA Management Insights Lab: NIDA MIL)

 

NIDA Management Insight Lab

รศ.ดร.อัษฎา จินตกานนท์ ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต / ผู้อำนวยการศูนย์ปัญญทัศน์เพื่อการจัดการ ได้บอกเล่าถึงความเป็นมาและเป้าหมายของการตั้งศูนย์ปัญญทัศน์เพื่อการจัดการ ว่า เพื่อสนับสนุนการวิจัยการศึกษา และการบริการวิชาการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการตัดสินใจของมนุษย์โดยใช้เครื่องมือที่ทันสมัยทางด้าน Neuroscience และพฤติกรรมประสาท (Behavioral Science)

แรกเริ่มแนวคิดเกิดจากความสนใจของอาจารย์ในคณะฯที่สนใจในเรื่อง Neuroscience โดยมองว่าเป็นหนึ่งในเรื่องใหม่ซึ่งในต่างประเทศมีการใช้กันอย่างแพร่หลายและหลากหลายมิติ แต่ในประเทศไทยยังมีความจำกัด คือยัง อยู่ในระยะเริ่มต้นก็ว่าได้

ซึ่งต่อมาคณาจารย์ของคณะฯก็เล็งเห็นถึงประโยชน์ที่ Neuroscience ที่พึงจะมีต่อผู้ประกอบการและเศรษฐกิจไทย จึงได้เริ่มส่งเสริมให้คณาจารย์ในคณะฯเริ่มทำการศึกษา เรียนรู้ รวมทั้งทำงานวิจัยเป็นเวลาหลายปีจนองค์ความรู้เริ่มตกผลึกและมีความพร้อมต่อการเผยแพร่ความรู้ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งศูนย์ฯ

ทั้งนี้ รศ.ดร.อัษฎา บอกเล่าถึงโมเดลในการตั้งศูนย์ฯว่าได้มีการศึกษาต้นแบบจากหลายประเทศ อาทิ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง เดนมาร์ก จนได้รูปแบบที่เหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมาทางศูนย์นอกจากงานวิจัยและบริการวิชาการแล้ว ยังรับทำโปรเจกต์วิจัยและให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ และยังได้มีการเปิดสอนวิชาทางด้าน Neuroscience ให้นักศึกษาทั้งของนิด้าและผู้สนใจภายนอกเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ต้องการเผยแพร่การนำความรู้และเทคนิคไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาทางธุรกิจ ซึ่งปรากฏว่ามีผู้สนใจจากหลายกลุ่ม ทั้งผู้ประกอบการ ผู้บริหารองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนที่ต้องการแสวงหาเครื่องมือในการพัฒนาการทำงานแบบใหม่ๆ และสนใจการใช้ Neuroscience เพื่อการวิจัย และไปสู่การกำหนดกลยุทธ์การตลาด เป็นต้น

รศ.ดร.อัษฎา ขยายความเข้าใจถึงศาสตร์ Neuroscience ที่หลายคนมักจะคิดถึงศาสตร์ทางการแพทย์ ซึ่งใช่ใน Original ของศาสตร์ แต่ทางศูนย์ฯ ไม่ได้เน้นที่เทคนิคการแพทย์ แต่จะเน้นการนำความรู้ที่ได้เรียนรู้จาก Neuroscience ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาธุรกิจ หรือใช้ความรู้จากเทคโนโลยีที่ไม่ได้ซับซ้อน “ในแผนงานการจัดตั้งศูนย์ฯ เดิมกำหนดให้มีเครื่องมือวัดทางธุรกิจแบบครบวงจร คือ จะมีทั้งห้อง Focus Group ห้อง Experiment Lab เป็นต้น แต่ปัจจุบันทั้งงานวิจัย และความต้องการของผู้ประกอบการนั้น จะไปเน้นทาง Neuroscience มากกว่า รวมทั้ง Neuroscience ก็เป็นจุดสนใจของนักศึกษาด้วย ดังนั้น ทางศูนย์ฯจึงเริ่มต้นที่ Neuroscience ก่อน แต่ต่อไปในอนาคตเราจะขยายไปทางด้านอื่นๆ ตามแผนเดิม”

แน่นอนองค์ประกอบสำคัญยิ่งของการจัดตั้งศูนย์ปัญญทัศน์ฯ คือบุคลากรหรือผู้เชี่ยวชาญ โดย รศ.ดร.อัษฎา เผยว่า ทางศูนย์ฯ ประกอบไปด้วยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญและผู้ช่วยหลายท่าน อาทิ ศ.ดร.นิตยา วงศ์ธาดา ท่านมีงานวิจัยทางด้าน Neuroscience และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการระดับนานาชาติหลายเรื่อง ซึ่งนอกจากงานวิจัยแล้ว ศ.ดร.นิตยา ยังสอนวิชา Consumer Neuroscience และยังให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการที่สนใจด้าน Neuroscience หรืออย่าง รศ.ดร.อนุกัลยณ์ จีระลักษณกุล ก็เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านผู้ประกอบการ entrepreneurship โดยศูนย์ฯสามารถให้บริการงานวิจัยทางด้าน Neuroscience และการให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ ทางศูนย์ฯ ยังได้ร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ อาทิ Copenhagen Business School ในเดนมาร์ก  Nanyang Technological University ในสิงคโปร์ และ The Wharton School of The University of Pennsylvania ในสหรัฐอเมริกา เพื่อมาช่วยสอนให้ความรู้ และร่วมมือในการทำการวิจัย ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน ตลอดจนร่วมให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ

3 ภารกิจหลักศูนย์ประสาทวิทยานิด้า

งานสอน + บริการวิชาการและงานวิจัย + ให้คำปรึกษา

รศ.ดร.อัษฎา เล่าว่า “ทางศูนย์ฯมีภารกิจงานหลักๆ ที่ให้บริการอยู่ 3 เรื่อง โดย เรื่องแรก คือ บริการด้านการเรียนการสอนและเผยแพร่ความรู้ โดยมีหลายวิชาที่เปิดสอน อาทิ วิชาประสาทวิทยาผู้บริโภค (Consumer Neuroscience) วิชาประสาทวิทยาและการตัดสินใจ (Neuroscience and Decision Making)  ประสาทวิทยาสำหรับผู้นำ (Neuroscience and Leadership) เป็นต้น โดยทางศูนย์ฯ เราจัดสอนให้ทั้งนักศึกษาของนิด้าและบุคคลภายนอก สามารถมาลงเรียนได้ โดยรูปแบบการสอนจะเป็นแบบ Workshop คือ มีทั้งการอธิบายทั้งทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยจะเน้นถึงวิธีการนำความรู้ทาง Neuroscience ไปประยุกต์ใช้ในวางกลยุทธและการแก้ปัญหาทางธุรกิจ ซึ่งถึงแม้ผู้เรียนจะเรียนจบแล้ว ก็ยังสามารถกลับมาใช้บริการของทางศูนย์ฯ มาใช้เครื่องมือของทางศูนย์ฯได้ และที่สำคัญการใช้เครื่องมือยังต้องมีการประยุกต์กับทฤษฎี และต้องอาศัยเทคนิคและความเชี่ยวชาญ ยังต้องมีคนช่วยโค้ช การมาใช้บริการเครื่องมือที่ศูนย์ฯ จะมีมืออาชีพช่วยแนะนำได้ ซึ่งจะดีกว่า

นอกจากนี้ผู้ที่เรียนจบแล้วรวมทั้งบุคคลทั่วไป ก็สามารถติดตามงานวิจัยล่าสุดของทาง Neuroscience ว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจได้อย่างไร จาก Facebook ของทางศูนย์ฯ ซึ่งเราจะคอยป้อนข้อมูลเพื่อให้ความรู้อยู่อย่างสม่ำเสมอ (ชื่อ Facebook: NIDA Management Insight Lab)

สำหรับงานบริการ เรื่องที่สองจะเป็นการบริการทางวิจัยและงานวิชาการ โดยศูนย์ฯ จะเปิดบริการให้คณาจารย์ของเรา นักวิชาการต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ มาใช้บริการที่ศูนย์ฯ ของเรา นอกจากนี้ เราให้นักศึกษาปริญญาเอกของเราใช้ศูนย์ฯ เพื่อทำงานวิทยานิพนธ์อีกด้วย

สำหรับภารกิจหลักเรื่องที่สาม คือ งานบริการให้คำปรึกษาและช่วยเหลือและแก้ปัญหาธุรกิจของผู้ประกอบการ ซึ่งปัจจุบันทางศูนย์ฯ กำลังทำงานร่วมกับผู้ประกอบการหลายรายโดยนำเครื่องมือต่างๆทาง Neuroscience เข้ามาเป็นตัวช่วยในการวางกลยุทธ แก้ปัญหาทางด้านธุรกิจ และทำการตลาด ซึ่งงานทางด้านนี้ นอกจากจะมีอาจารย์ของคณะฯแล้ว ยังมีนักศึกษาปริญญาเอกและนักศึกษาปริญญาโทมาร่วมช่วยแก้ปัญหาทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการร่วมกัน  ซึ่งนักศึกษาของเราก็ได้รับความรู้ในการนำเครื่องมือทางประสาทวิทยาไปแก้ปัญหาธุรกิจและสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการปฏิบัติจริงไปแก้ปัญหาภายในองค์กรอื่นๆต่อไป

 

Next Step

รศ.ดร.อัษฎา เผยถึงแผนการบริหารศูนย์ฯ ในอนาคตที่มองว่า ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของบริบทและสภาพแวดล้อมของสังคมธุรกิจ ความต้องการศาสตร์ความรู้ใหม่ๆ โดยเฉพาะ Neuroscience จะสามารถเข้ามาเสริมและเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการและนักธุรกิจในอนาคต ซึ่งต่อไป ศูนย์ปัญญทัศน์ฯ จะเพิ่มความหลากหลายของวิชาด้าน Neuroscience ให้มากขึ้น และแน่นอนว่าเมื่อพรมแดนเปิดขึ้น และสถานการณ์แพร่ระบาดคลี่คลาย เราจะมีการเชิญอาจารย์จากต่างประเทศมาสอนเพิ่มขึ้น และแน่นอนว่าทางศูนย์ฯ จะเพิ่มทั้งจำนวน และความหลากหลายของเครื่องมือทาง Neuroscience รวมถึงการพัฒนากำลังคน เพื่อตอบสนองการแก้ไขปัญหาทางธุรกิจของผู้ประกอบการภายใต้สภาวะการแข่งขันที่สูงและตอบสนองโจทย์ทางการวิจัยที่ยากขึ้นเรื่อยๆ


เรื่อง: อรภัค  สุวรรณภักดี
ภาพ: ภัทรวรรธน์ พงษ์บริพันธ์

Last modified on Thursday, 06 October 2022 02:43
X

Right Click

No right click