เกิดคริปโตเคอร์เรนซี ที่เป็นอีกสกุลเงินและสินทรัพย์ในรูปดิจิทัล ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นคลื่นลูกใหม่ในระบบเศรษฐกิจแห่งอนาคต ภายใต้การพัฒนาและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ของฟินเทค และเทคโนโลยีการเงินนั้น ได้นำพาทั้งพัฒนาการด้านบวกและแรงกระทบที่ท้าทายหลายประการที่ต้องรับมือซึ่งมีทั้งความเสี่ยงและโอกาสใหม่ๆ ที่จำต้องอาศัย 'ความรู้' ทางด้านการเงินเพื่อต่อกร ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญของสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจ และโอกาสนี้ที่ ผศ.ดร.กฤษฎา นิมมานันทน์ รองคณบดี ฝ่ายบริหาร ซึ่งเคยดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการหลักสูตร MSc in Corporate Finance, Investment, and Risk Management (CFIRM) และโครงการ Professional MBA คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ให้เกียรติร่วมแบ่งปันความรู้และความคิดเห็นต่อเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล และการเงินการลงทุนในสินทรัพย์เหล่านั้น ภายใต้การใช้กรอบความรู้ทางการเงิน เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องสินทรัพย์ตัวใหม่ในโอกาสนี้
สินทรัพย์ดิจิทัล และการเงินการลงทุนในโลกยุคใหม่
ผศ.ดร.กฤษฎา กล่าวถึง Digital Asset หรือสินทรัพย์ดิจิทัลว่า เป็น Asset Class ใหม่ที่เพิ่มขึ้นจากในอดีตที่เคยมีเพียงเงินฝาก หุ้น ตราสารหนี้ และ สินทรัพย์ทางเลือกอาทิ ทองคำ น้ำมัน อสังหาริมทรัพย์ เหล่านั้นล้วนเป็นสินทรัพย์ที่มีการลงทุนที่เราๆ รู้จักและคุ้นเคย มีบ้างที่บางคนแหวกแนวไปสู่การลงทุนในของสะสม อาทิ แสตมป์ ไวน์ รถคลาสสิก ภาพศิลป์ พระเครื่อง ฯลฯ จัดเป็นกลุ่ม Collectible โดยลักษณะนี้จะเป็นการผสมผสานทั้งความนิยมชมชอบไปพร้อมๆ กับสั่งสมสินทรัพย์ควบคู่กันไป
แต่ในหลายปีที่ผ่านมามีปรากฏการณ์ใหม่ในยุคเทคโนโลยีดิสรัปชันในหลายแวดวงอุตสาหกรรม รวมทั้งอุตสาหกรรมการเงิน ที่ชัดเจนมากๆ คือ การเกิดขึ้นของบิทคอยน์ซึ่งมีเทคโนโลยีบล็อกเชนที่มาคู่กัน ที่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จนทำให้วงการการเงินต้องปรับตัวครั้งยิ่งใหญ่ มีการแปลงสินทรัพย์ให้อยู่ในรูปสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) และได้รับความสนใจอย่างมาก ที่ผ่านมาที่คณะบริหารธุรกิจที่นิด้า รวมทั้ง ผศ.ดร.กฤษฎา เอง มีทั้งนักศึกษา ผู้บริหารองค์กร กิจการ บริษัทต่างๆ ที่ติดต่อเข้ามาเพื่อขอให้ช่วยขยายความเข้าใจในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลและการลงทุนเหล่านี้ โดยประเด็นคำถามที่ยิงเข้ามามากที่สุดคือ เรื่องการวัดมูลค่าของ สินทรัพย์ดิจิทัล เหล่านี้ว่าควรเป็นอย่างไร? ซึ่งจากสถานการณ์ที่ผ่านมา การลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้มองว่ามีความเสี่ยงและความผันผวนสูงมาก และแนวทางการรับมือกับความเสี่ยงเหล่านี้ ควรเป็นอย่างไร? มีความสนใจใคร่รู้กันอย่างกว้างขวาง
ความเสี่ยง & โอกาส ของสินทรัพย์ดิจิทัล
ผศ.ดร.กฤษฎา กล่าวว่า “ในมุมของนักลงทุนรวมทั้งนักวิชาการการลงทุน ก่อนที่เราจะลงทุนในสินทรัพย์ใด อย่างน้อยเราจะอยากรู้มูลค่าพื้นฐานของสินทรัพย์นั้นว่า มีมูลค่าเท่าไหร่? แต่สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Digital Asset นั้น ความรู้ทางการเงินที่มีในปัจจุบัน ยังยากจะประเมิน ยกตัวอย่างบิทคอยน์ (BTC) ถามว่าควรจะมีมูลค่าเท่าไหร่? 1 แสน 1 ล้าน หรือ 10 ล้าน? คำตอบคือองค์ความรู้ที่จะอธิบายอย่างแจ่มชัดตอนนี้ยังไม่มี แต่มีศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยระดับชั้นนำของโลกหลายแห่งก็มีความเคลื่อนไหว และActiveมากที่จะทำวิจัย เพื่อประเมินมูลค่าพื้นฐาน ของบิทคอยน์ คริปโตเคอร์เรนซีต่างๆ ตลอดจน NFT (Non- Fungible Token) และเลยไปถึงสินทรัพย์ในโลกเสมือนจริงที่อยู่ในดิจิทัลฟอร์มทั้งหลายว่าควรจะมีมูลค่าเท่าไหร่กันแน่ เพราะองค์ความรู้ทางการเงินที่เคยมีมา ณ ตอนนี้ยังไล่ตามไม่ทันทั้งหมด เพราะเทคโนโลยีได้ก้าวล้ำนำหน้าไปก่อน
เมื่อความรู้ในเรื่องนี้ยังไล่ไม่ทันได้ทั้งหมด สิ่งที่จะตามมาคือ ‘ความเสี่ยง’ หรือ Risk ซึ่งนักลงทุนต้องเผชิญ แต่การเผชิญที่ว่า ก็มีนักลงทุนหลายกลุ่ม โดยกลุ่ม Early Adopter คือกลุ่มที่รับความเสี่ยงได้มาก โดยกลุ่มนี้มักเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีเป็นอย่างดี เป็นพวก Tech Savvy ที่กระโดดเข้าไปลงทุนในช่วงแรกๆ ซึ่งเค้าก็มักจะได้ของในราคาถูก และผลตอบแทนก็อาจจะสูง แต่เสี่ยงสูงเช่นเดียวกันเพราะถ้าโปรเจกต์หรือเหรียญไม่ประสบความสำเร็จ ก็อาจจะ Crash และเงินลงทุนก็อาจหายหมด เข้าทำนอง High Risk & High Expected Return แต่ถ้าสำเร็จก็มักได้ผลตอบแทนสูง แต่เมื่อเวลาผ่านไป และสินทรัพย์เริ่มมีนักลงทุนเข้ามาลงมากขึ้น บวกกับเทคโนโลยีเริ่มมีความเสถียรมากขึ้นจนเพียงพอต่อความเชื่อมั่น เมื่อนั้นความเสี่ยงก็จะเริ่มลดต่ำลง ตอนนั้นผลตอบแทนก็จะเริ่มลดทอนลงไปด้วยเช่นกัน อันนี้เป็นหลักการทางการเงินซึ่งก็ประยุกต์ใช้ได้สำหรับการลงทุนทุกประเภทคือ อย่าละเมิดความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ เพราะคนเรารับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน”
ทั้งนี้ ผศ.ดร.กฤษฎา เล่าถึงงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Yale ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยระดับชั้นนำในสหรัฐอเมริกาก็มีความพยายามที่จะศึกษาโดยใช้ Framework ทางการเงินที่เป็นที่ยอมรับเพื่อประเมินมูลค่าของบิทคอยน์ โดยดูจากประโยชน์ เช่น บิทคอยน์ มีประโยชน์หลักๆ คือ ใช้ในการโอนเงิน ซึ่งช่วยประหยัดค่าธรรมเนียม ด้วยจุดนี้ ถ้าลองตีผลประหยัดกลับมาเป็นมูลค่าพื้นฐานแล้ว บิทคอยน์น่าจะมีมูลค่าซักเท่าไหร่? มีนักวิชาการพยายามทำอยู่ แต่ก็ยังต้องผ่านการทดสอบ การเก็บข้อมูลอีกระยะหนึ่งเพื่อมาพิจารณา ซึ่งในปัจจุบัน กล่าวได้ว่ายังไม่มีเครื่องมือในการวัดประเมินที่เป็นมาตรฐานสากลเหมือนอย่างการประเมินมูลค่าหุ้น หรือตราสารหนี้ ที่สถาบันการเงิน หรือนักลงทุนมืออาชีพทุกคนใช้ในการประเมินการลงทุน แต่สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล นักการเงินมืออาชีพ ก็ยังไม่กล้า ที่จะฟันธงว่าราคาที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไหร่ เมื่อไม่รู้จึงเป็นที่มาของ ความเสี่ยง โดยที่ผ่านมานอกจากกลุ่มสายเทคฯ แล้ว กลุ่ม Private Wealth ก็เริ่มให้ความสนใจ แต่ยังขาดความมั่นใจ แม้ลูกค้าของสถาบันให้ความสนใจ แต่นักการเงินยังต้องพยายามศึกษาและวิเคราะห์ เพื่อหาข้อมูลมาสนับสนุนการลงทุน กองทุนหลายแห่งในต่างประเทศได้เริ่มนำสินทรัพย์ดิจิทัลมารวมในพอร์ตเพื่อสนองตอบความสนใจของนักลงทุน
“ไม่ใช่แค่สถาบันการเงินที่เริ่มปรับตัวเข้าหาสินทรัพย์ดิจิทัล แม้แต่มหาวิทยาลัยระดับชั้นนำของโลกก็เริ่มกระจายสินทรัพย์ลงไปบ้างแล้ว ในส่วนของวิทยาลัย มองการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นการกระจายความเสี่ยง ทำในปริมาณไม่มาก ประมาณ 1-2% อาทิเช่น Harvard และ Yale โดยหลักๆ เขาให้ความสนใจและมองว่า ช่วงก่อนหน้านี้ เวลาหุ้นมีการขึ้น-ลง ซึ่ง คริปโต ก็มีการขึ้น-ลง แต่มันไม่สัมพันธ์กันเท่าไหร่ มหาวิทยาลัยจึงอยากกระจายเงินบางส่วนลงไปในคริปโต เพื่อลดความเสี่ยงโดยเฉลี่ยของพอร์ตให้ต่ำลง ถึงแม้ว่าผลตอบแทนท้ายสุดอาจจะได้เท่าเดิม แต่ก็สามารถทำให้พอร์ตการลงทุนของมีความผันผวนน้อยลง ซึ่งก็ถือว่ามีประโยชน์เพียงแต่ต้องลงในปริมาณน้อย และจากสถิติย้อนหลังไม่ควรลงทุนเกิน 3% เนื่องจากพอร์ตจะเริ่มผันผวนสูง ในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนมืออาชีพบางกลุ่มก็มีการมอง Digital asset เพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดความเสี่ยงของพอร์ตโดยรวมด้วยเช่นกัน”
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ต้นปี 2565 จนกลางปีจะเห็นว่า คริปโตมีมูลค่าลดลงอย่างมาก ไม่แตกต่างจากสินทรัพย์อื่นๆ ซึ่งล้วนต่างก็มีมูลค่าร่วงต่ำลงแทบทุกรายการ แม้แต่หุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ก็ยังมีมูลค่าต่ำลง -70% ซึ่งรุนแรงมาก ด้วยรูปการณ์เช่นนี้ แนวคิดเดิมเริ่มไม่ค่อยสัมพันธ์กัน เพราะเวลาราคาร่วงก็ร่วงพร้อมกันหมด ทำให้สุดท้ายแล้วกองทุนต่างๆ ที่คาดหวังให้คริปโตมาเป็นตัวช่วยกระจายความเสี่ยง ก็อาจไม่ได้ช่วยเท่าไหร่ เพราะเมื่อเกิดสถานการณ์ราคาก็ร่วงลงไปในทิศทางเดียวกันหมด
ผศ.ดร.กฤษฎา ยังมองว่า สินทรัพย์ดิจิทัลยังเป็น 'โอกาส' ที่เป็นไปได้ เพราะเทคโนโลยียังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และยังต้องมีการพัฒนาต่อไป ตราบใดที่เทคโนฯ ยังไม่ Mature มันก็จะยังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับจำนวนผู้ใช้ที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ตอนนี้แม้จะมีอัตราการเติบโตของผู้ใช้งานหรือผู้ร่วมลงทุนเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา แต่ถ้าเปรียบเทียบกับประชากรทั้งหมด ก็ต้องถือว่ายังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าไหร่ เพราะผู้พัฒนาออกสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ มีเป้าหมายต้องการครอบคลุมฐานผู้ใช้คือ ทุกคนทั่วโลก เป็น Decentralized Finance ที่ต้องการเปิดโอกาสให้ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของโลกก็สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ด้วยเทคโนโลยี
หุ้นตก คริปโตร่วง!
ผศ.ดร.กฤษฎา มองว่าน่าจะเป็นเพราะ 2 ปัจจัยสำคัญ โดยประการแรกเพราะในปัจจุบันยังมีความไม่เข้าใจอย่างกระจ่างชัดในพฤติกรรมการเคลื่อนไหวราคาของสินทรัพย์ดิจิทัลกันมากนัก งานวิจัยก็ยังน้อย ปัจจัยที่ขับเคลื่อนมูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัลก็ไม่ชัดเจน แม้จะมีความพยายามที่จะทำในส่วนนี้อยู่ ที่ผ่านมามีกูรูหลายท่านได้ให้ความเห็นต่อ Digital Asset เหล่านี้แตกต่างกันไป บ้างว่าการถือครองเป็นเหมือนการออม (Saving) บางท่านมองเป็นการเก็งกำไร (Speculating) บางท่านบอกว่ามันคือเงินตราและให้คิดว่ากำลังถือเงินสกุลหนึ่งไว้ แต่อาจารย์มองว่าถ้าในแง่มุมที่เป็นการออม โดยปกติแนวคิดทางการเงินเรื่องการออม เมื่อเราออม มูลค่าของสิ่งที่ออมไม่ควรจะลดลงจนทำให้กำลังซื้อลดลง ซึ่งมันขัดแย้งกัน ความไม่ชัดเจนของปัจจัยและความเห็นที่แตกต่างนี้สามารถทำให้นักลงทุนกลัว กลัวความไม่รู้ เลยเทขายออกมาก่อนในช่วงที่เกิดสถานการณ์ นั่นคือปัจจัยข้อแรก ส่วนอีกประการนั้น ผศ.ดร.กฤษฎา มีความเห็นว่าเพราะที่ผ่านมากองทุนขนาดใหญ่เริ่มนำเงินไปลงใน Digital Asset มากขึ้น ทำให้ Sentiment ด้านบวกและลบของตลาดที่เกิดจากความชอบหรือความกลัวความเสี่ยงของกองทุนเหล่านี้ มันสะท้อนลงไปทั้งในหุ้นและในคริปโตด้วย เพราะก่อนหน้านี้กองทุนเหล่านี้ยังไม่ได้เข้ามาลงทุนในคริปโต หลักทรัพย์ทั้งสองเคยวิ่งค่อนข้างเป็นอิสระต่อกัน แต่พอนักลงทุนสถาบันเริ่มเอาเงินบางส่วนลงทั้งหุ้นและคริปโต ตลาดทั้งสองก็จะเริ่มมีความเกี่ยวพันและเคลื่อนไหวไปในทิศทางทำนองเดียวกัน
มีผู้ก่อตั้งเหรียญหลายเหรียญ ที่ประกาศว่าคริปโตเป็น Investment Vehicle แต่นักการเงินมองว่า คริปโตน่าจะเป็น Speculative Vehicle มากกว่า ณ ตอนนี้ คือ สถานภาพมันยังเป็นได้เพียงเครื่องมือในการเก็งกำไร ‘แค่นั้น’ ซึ่งเช่นเดียวกันถ้าถามนักวิชาการ ด้วยความที่เหรียญต่างๆ มีความผันผวนสูงมาก จึงยังเป็นเพียงเครื่องมือเก็งกำไร ที่ผ่านมาจะพบว่าผู้ถือครองเหรียญ ก็เก็งกันว่าราคามันจะขึ้น หรือลง จะได้กำไรหรือขาดทุนเท่านั้น แต่เมื่อใดก็ตามที่เราจะเรียกสิ่งนี้ได้ว่าเป็นการลงทุน นั่นหมายถึงอย่างน้อยเราต้องสามารถที่จะประเมินมูลค่าพื้นฐานของสินทรัพย์นั้นได้ สามารถประเมินความคุ้มค่าต่อการลงทุนได้ ซึ่งตอนนี้ยังทำไม่ค่อยได้ในเหรียญบางประเภท
บิทคอยน์ บทพิสูจน์ตัวตนที่ยังต้องการเวลาและโอกาส
ในส่วนของเหรียญบิทคอยน์นั้น ผศ.ดร.กฤษฎา มีความเห็นว่ายังต้องการ ‘เวลาและโอกาส’ ในการพิสูจน์ตัวเอง เพราะหลายเสียงหลายความเห็นที่เปรียบบิทคอยน์เทียบกับทองคำ ในแง่ของการคงมูลค่า หรือ Store of value นั้น ผศ.ดร.กฤษฎา มองว่า ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ได้พิสูจน์ตัวเองผ่านกาลเวลา และเหตุการณ์ต่างๆ ร่วมกับมนุษย์เราจนเป็นที่ยอมรับในคุณค่าและมูลค่า ได้ฝังอยู่ในความรู้สึกลึกๆว่าทองคำมีมูลค่า ทั้งที่จริงๆ แล้วมันก็คือ หินฉายแสง แต่ในทางจิตวิทยา มนุษย์ผูกพันกับสิ่งนี้หรือมันอาจใช้เวลา และโอกาสในการพิสูจน์ตัวเองมายาวนาน จนมนุษย์เราเชื่อมั่นและกำมันแน่น ยิ่งเวลาเกิดวิกฤติ เกิดสงคราม คนยิ่งกระโดดเข้าไปกำหินฉายแสงเหล่านี้แน่นขึ้นไปอีก
แต่บิทคอยน์เพิ่งก่อเกิดขึ้นมาไม่นาน ดูจากคุณสมบัติของมันเทียบกับทองคำที่มีอย่างจำกัดและทำลายไม่ได้ บิทคอยน์ก็ทำลายไม่ได้ Algorithm ก็กำหนดไว้จำกัดเพียงแค่ 21 ล้านเหรียญ นอกจากว่าใครครอบครองแล้วทำ Private Key หายไปเหรียญบิทคอยน์เหล่านั้นก็จะไม่มีใครเข้าถึงได้
เนื่องจากมีอุปทานจำกัด เมื่อใดที่เกิดมีความต้องการถือครองมากขึ้น มูลค่าก็ย่อมจะยิ่งสูงขึ้นตามกฎอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผศ.ดร. กฤษฎา ยังไม่เชื่อว่าบิทคอยน์จะเป็น Digital Gold ได้ ยิ่งมองจากพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน มูลค่าเหรียญกลับวิ่งสวนทางกับทองคำ แต่ก็ถือว่าเป็นบททดสอบรอบที่ 1 ซึ่งการจะพิสูจน์ว่าบิทคอยน์จะเป็นสินทรัพย์ที่คงมูลค่าเทียบได้อย่างทองคำหรือไม่นั้น ก็คงต้องให้โอกาสกับบิทคอยน์อีกหลายๆ รอบ แต่บทพิสูจน์ในรอบแรก ณ ตอนนี้ บิทคอยน์ยังคล้ายกับหลักทรัพย์ คือ หุ้นมากกว่า พอหุ้นร่วงหนักคริปโตก็ร่วงตาม ในขณะที่ทองคำกับน้ำมันกลับสวนทางกันกับหุ้นและคริปโต
Case Study กรณีเหรียญล่ม
ผศ.ดร.กฤษฎา เปิดเผยว่าในแวดวงวิชาการทางการเงินนั้นก็มีการติดตาม และศึกษาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของเหรียญคริปโตประเภทต่างๆ ดังเช่นกรณีการ Crash ของเหรียญ Stable Coin คือ TerraUSD (UST) ที่ทำให้เกิดการล่มของเหรียญ LUNA จากมูลค่าเหรียญที่ตกต่ำมากจนแทบไม่เหลือมูลค่าเมื่อกลางปี 2565 ที่ผ่านมา โดยเห็นว่า เป็นความเสี่ยงที่สามารถเกิดขึ้นได้ และเหตุการณ์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว นั่นก็คือ วิกฤติต้มยำกุ้ง ที่ตอนนั้น จอร์จ โซรอส ได้โจมตีค่าเงินบาท ซึ่งเป็น Pattern ทำนองเดียวกัน คือ มีความพยายามที่จะ Peg มูลค่าเงินให้ 1 ดอลลาร์เท่ากับ 25 บาทในสมัยนั้น เช่นเดียวกันกับที่เหรียญ UST พยายาม Peg ค่าเหรียญให้คงไว้ที่ 1 ดอลลาร์ต่อ 1 UST เทียบเท่ากัน
เพราะในวิธีการที่ Terra ทำเพื่อพยายาม Peg มูลค่าเหรียญ UST ก็คือเมื่อมีแรงขายเข้ามา แล้วมูลค่า UST จะร่วงหล่น เจ้าของเหรียญจะต้องเอาเงินเข้าไปช้อนซื้อ UST เพื่อให้มูลค่าเหรียญกลับสู่ระดับมูลค่าเดิม คือ 1 USD แต่ถ้ามีแรงซื้อ UST เข้ามาเยอะจนราคาขยับเพิ่ม เจ้าของเหรียญก็จะต้องเทขาย UST เพื่อรักษามูลค่าให้คงไว้เช่นกัน และแล้ววันดีคืนดี ก็มีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ซึ่งอาจจะเป็นแผนหรือการกระทำของผู้ไม่หวังดี ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าใคร แต่สมัยก่อนนั้นเรารู้ว่า คือ จอร์ส โซรอส แต่ในกรณี LUNA คือ ยังไม่รู้ แต่ที่รู้คือน่าจะมีเม็ดเงินมหาศาล และทำการถล่มขาย เพื่อให้ราคา UST หลุด Peg ในฝั่งของเจ้าของเหรียญ UST ซึ่งก็ไม่ได้มีปริมาณเม็ดเงินมากเพียงพอที่จะช้อนรับในอัตราที่รุนแรงและรวดเร็ว เพราะเวลาโดนถล่มขาย เจ้าของเหรียญจะต้องใช้เงินเฟียต หรือเงินจริงๆ มาช้อนซื้อ พอถึงจุดหนึ่ง เหรียญก็คือเหรียญ เงินจริงก็คือเงินจริง เพื่อแลกเหรียญกลับ แต่ว่าต้องเอาเงินจริงให้ไป ในที่สุดเมื่อเงินหมดคลัง ไม่สามารถสู้ต่อได้ สุดท้ายเหรียญก็หลุดจาก Peg
และในวิธีการที่เจ้าของเหรียญจะต้องหาเงินเพื่อมาช้อนซื้อการเทขายเพื่อคง Peg ไว้ ก็ด้วยการขายเหรียญ LUNA เพื่อแลกเงินจริง แล้วเอาเงินจริงมาช้อนซื้อต่อ ตอนที่ยิ่งโดนถล่มขาย และระบบพยายามจะรับมือกับวิกฤต สิ่งที่ระบบทำคือการ Mint เหรียญ LUNA ออกมาเป็นจำนวนมากจนล้นโลก พอ Supply ท่วม ราคามันก็แทบจะไม่เหลือ ทุกวันนี้หลายคนคิดว่า LUNA จะกลับมาได้ แต่ในทางทฤษฎีเพื่อประเมินความเป็นไปได้ คือยากมาก เพราะดูปริมาณ Supply แล้ว เพิ่มขึ้นเกือบสองหมื่นเท่า นั่นหมายถึงการจะกลับมาที่ราคาเหมือนเดิม มันแทบเป็นไปไม่ได้ ก็มีบางคนที่พยายามเข้าไปช้อนซื้อ โดยคิดว่าเผื่อมันจะขึ้น บางคนมองว่าดีกว่าซื้อหวย ซึ่งถ้ามองลักษณะนี้ เราไม่เรียกสิ่งนี้แม้แต่การเก็งกำไรด้วยซ้ำ แต่นั่นคือรูปแบบของการพนัน ซึ่งมีโอกาสสูญเงินหมดหน้าตัก ซึ่งนักเสี่ยงโชครู้ดีว่า การซื้อหวยถ้าไม่ถูกก็คือเงินหมด หมายความว่า เค้ายอมรับความเสี่ยงแบบนั้นได้ และถ้าบังเอิญมันเด้งขึ้นมา เค้าก็กำไร ก็มีนักลงทุนบางกลุ่มที่มองว่า มูลค่าเหรียญมันอาจจะเด้งกลับขึ้นมาอยู่จุดเดิมได้ แต่ถ้ามองในหลักเศรษฐศาสตร์แล้วคือ มันเป็นไปได้ยาก
“ถ้าผมเป็นเจ้าของเหรียญ วิธีที่ง่ายกว่านั้นคือ การสร้างเหรียญใหม่ ก็ทำเหมือนเดิม สร้างระบบ ทำแบบเดิม โดยออกเหรียญใหม่ Restart กลับมาใหม่ ส่วนกลุ่มเดิมก็ถือว่าเป็นความเสี่ยง เป็นความสูญเสียที่เกิดขึ้น และต้องยอมรับ สำหรับ Early adopter แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ถ้าเกิดเหตุการณ์ Crash แล้วก็ออกเหรียญใหม่ สิ่งที่ท้าทายมาก คือ Trust หรือความไว้ใจจะเริ่มมีปัญหา ซึ่งผมเชื่อว่า หลังเหตุการณ์ Terra Luna ความน่าเชื่อถือของ Algorithm ของ Stablecoin จะลดทอนไปอีกนานจนกว่าจะมีคนคิดวิธีการใหม่ในการ Peg มูลค่าเหรียญได้อย่างปลอดภัย เพราะถ้าใช้วิธีเดิม เหตุการณ์แบบเดิม เดี๋ยวประวัติศาสตร์ก็อาจซ้ำรอยเดิมได้อีก นักลงทุนก็จะสูญเงินไปหมด ตลาดก็เริ่มไม่ไว้ใจ เพราะตลาดจะไว้วางใจถ้ามี สินทรัพย์จริงมาBack ไว้ เป็นเงินจริงหรือคริปโตก็ได้ ก็เป็นอีกกรณีศึกษาของวิกฤตการณ์หนึ่งของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผ่านมา”
แนวทางการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล
นับแต่เหรียญบิทคอยน์ ได้ก้าวเข้าสู่ภาคการเงินที่เป็น Mainstream มากขึ้นนอกเหนือไปจากการรับรู้ในหมู่โปรแกรมเมอร์ มีการนำบิทคอยน์มาใช้ในการโอนเงิน และภายใต้เทคโนโลยีบล็อกเชนของบิทคอยน์ที่ต่อมาได้พัฒนาต่อยอดไปสู่การออกโทเคนอีกมากมาย มีทั้งเพื่อการระดมทุน และการออกแบบเพื่อใช้ประโยชน์ในระบบนิเวศน์ธุรกิจดิจิทัลต่างๆ ซึ่งทำให้คริปโตและสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกิดขึ้นเกิดความเป็นที่รู้จักและใช้งานแพร่หลายขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ มีศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ดิจิทัลเกิดขึ้นมากมาย ส่งผลให้ขนาดของ Market Cap เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ผนวกกับจังหวะที่พัฒนาการของเทคโนโลยีมีความพร้อมทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้เป็นโอกาสใหม่ทั้งเพื่อการระดมทุนและลงทุน
ผศ.ดร.กฤษฎา กล่าวถึงการระดมทุนและการลงทุนในรูปการออกเหรียญหรือโทเคน ที่ผ่านมา ในระยะแรกจะมีในรูปแบบที่เรียกว่า ICO (Initial Coin Offering) ตามมาด้วย STO (Security Token Offering) ซึ่งทั้งสองแบบล้วนแต่มีการออกแบบโมเดลธุรกิจ เขียนหนังสือชี้ชวนและสมุดปกขาวแสดงข้อมูลการเสนอขาย (White Paper) เพื่อเสนอขายในลักษณะคล้ายกับการออก IPO (Initial Public Offering) หรือการขายหุ้น แต่ ICO และ STO จะไม่มีสิทธิความเป็นเจ้าของ แต่จะได้รับเป็นการถือครองเหรียญหรือ Token ซึ่งผูกติดกับผลตอบแทนที่ผู้ออกกำหนดเสนอไว้ หรือ ได้รับสิทธิประโยชน์อื่นจากการถือครองเหรียญ แต่ ICO กับ STO เหมือนกันในรูปแบบแต่ต่างกันที่ STO จะเป็นการออกเหรียญโดยมีสินทรัพย์หรือกระแสเงินสดจากการดำเนินกิจการหนุนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งต่างจาก ICO
NFT เป็นอีกประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับความสนใจในระยะหลังๆ เนื่องจากนักลงทุนมีหลายประเภท บางคนสนใจการเก็งกำไร แต่บางคนก็ไม่ได้หวังผลกำไรเป็นเรื่องหลัก บางครั้งเป็นความอยากครอบครอง หรือ คุณค่าทางใจ อย่างเช่นรถโบราณ ภาพเขียน แสตมป์เก่าแก่ เหรียญและพระเครื่อง สิ่งของเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มของสะสม (Collectibles) ที่อาจไม่ได้คาดหวังผลตอบแทนในรูปตัวเงินเสียทั้งหมดแต่เงินเป็นผลพลอยได้มากกว่า ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนจึงเกิดการออกของสะสมในรูปแบบใหม่คือ NFT (Non Fungible Token) เช่น Digital Art ที่ได้รับการบันทึกอยู่บนบล็อกเชน หลักๆ คือ ของสะสมเหล่านี้ต้องมีจำนวนจำกัด เพราะถ้าผลิตออกมาได้เรื่อยๆ มันก็อาจไม่มีมูลค่า และไม่เป็นที่ต้องการ มูลค่ามันส่วนหนึ่งอยู่บนความจำกัด ส่วนปรากฏการณ์เหรียญ NFT ที่มีราคาร่วงหล่นตั้งแต่ต้นปี 2022 ผศ.ดร.กฤษฎา อธิบายว่า ถ้ามองในแง่สินทรัพย์ทางการเงินทั่วไป จะพบว่าพฤติกรรมของกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าไปลงทุนเป็นลักษณะเพียงการเก็งกำไร ยกราคาดึงดูดคนเข้ามา ยิ่งคนเข้ามาเพิ่มราคาก็เพิ่มตามไป และสุดท้ายเมื่อมีบางกลุ่มเริ่มเทขายทำกำไร ราคาก็ร่วง เพราะ Demand เป็น Demand เทียมในที่สุดราคาก็จะลงมาอยู่ที่ ณ จุดที่ผู้ต้องการถือครองจับต้องได้จริง
โดยสรุปของความคิดเห็นในเรื่องโอกาสและความเสี่ยงของสินทรัพย์ประเภทนี้ ผมก็คิดเหมือนนักการเงินที่พูดว่า There is No Free Lunch ของฟรีไม่มีในโลก อยากได้ผลตอบแทนสูงก็ต้องยอมรับความเสี่ยงสูง และเมื่อไรก็ตามที่มีของถูก ผู้คนก็จะแห่เข้าไป ส่งผลให้ราคาก็จะสูงขึ้น แต่ในที่สุด ตลาดก็มีจะมีการปรับสมดุล อะไรที่เสี่ยงมาก ผลตอบแทนสูง ย่อมดึงดูดใจ อย่างไรก็ตามความเสี่ยงกับผลตอบแทนอาจไม่ได้เหมาะสมกันอยู่เสมอ ผมเชื่อใน Animal Spirits ที่มองว่าตลาดจะมีจิตวิญญาณ เสมือนหนึ่งมีชีวิต และมีกลไกในการปรับสมดุลได้ด้วยตัวของมันเอง แม้ตลาดอาจไม่ได้มีความสมเหตุสมผล (Fully Rational) เสมอไป
MBA Program & New Knowledges @NIDA
ผศ.ดร.กฤษฎา กล่าวถึงการสอนวิชาการเงินที่นิด้าว่า “เวลาเราพูดถึงความเสี่ยง ความเสี่ยงแต่ละคนจะไม่เท่ากัน ปัจจัยหนึ่งคืออยู่ที่ ความรู้ เพราะถ้ายิ่งมีความรู้ สิ่งที่มองว่าเสี่ยงก็อาจจะไม่เสี่ยง หรือความเสี่ยงจะลดลง ดังนั้น ความรู้จึงสำคัญมาก ความรู้เอามาสู้กับความเสี่ยงได้ดีมาก และการลงทุนในความรู้ก็เป็นการลงทุนในตัวเอง ที่จะทำให้เราสามารถเผชิญหน้าและรับมือกับความเสี่ยงและโอกาสได้อย่างเท่าทัน แต่ก็ต้องเป็นการศึกษาหาความรู้ที่สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ และลึกซึ้ง ซึ่งความรู้ในลักษณะนี้ คือสิ่งที่สามารถหาได้ที่นิด้า เรามีวิชาและความรู้ใหม่ๆ ที่หลากหลาย และเป็นความรู้ที่ถูกต้องบนฐานวิชาการที่เข้มข้นเป็นมาตรฐาน”
ยิ่งนับวันที่ระบบการเงินในโลกมีการเคลื่อนเข้าสู่ยุคใหม่ ยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องต่อเติมเพิ่มความรู้ เพื่อสู้และรับมือกับความเสี่ยง และโอกาสใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ คณะบริหารธุรกิจ นิด้า มีความพยายามที่จะพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรให้มีทั้งความลึกซึ้งและทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตร MBA หลักสูตร MSc in CFIRM (Corporate Finance Investment Risk Management) ซึ่งเป็นหลักสูตรปริญญาโทการเงินโดยเฉพาะของนิด้า เรามีการเพิ่มวิชาใหม่ๆ เพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา อย่างในช่วงที่ Big Data หรือ Data Analytics กำลัง Boom เราก็เปิดวิชาใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ข้อมูลทันที หรือในช่วงที่ผ่านมาคริปโตเคอร์เรนซีอยู่ในความสนใจและเป็นที่ต้องการ เราก็ปรับเพิ่มวิชาเข้ามาในทันที หลักสูตร MSc in CFIRM เรามีวิชาที่สอนเกี่ยวกับฟินเทค คริปโตเคอร์เรนซี DeFi (Decentralized Finance). Sustainable Finance ฯลฯ ซึ่งเปิดสอนมา 2 เทอมแล้ว
ที่โดดเด่นและเป็นที่สนใจของผู้เรียน คือเรามีวิชาสัมมนาการเงิน ซึ่งเป็นวิชา Advanced โดยเราจะเน้นการหยิบยกประเด็นหรือ Topic ใหม่ๆ ในหัวข้อทางการเงิน ทั้งคริปโต, DeFi, Blockchain เราเอามาบรรจุสอนในสัมมนาด้วย ซึ่งในปัจจุบันมีความต้องการความรู้เหล่านี้เพื่อนำไปปรับใช้ในองค์กร และเป็นวิชาที่เปิดบริการให้กับผู้บุคคลทั่วไปหรือศิษย์เก่าสามารถสมัครเข้ามาลงเรียนเพิ่มเติมได้ ซึ่งวิชาใหม่ๆ ที่ MBA นิด้าเรามีความหลากหลาย ทั้งหลักสูตรที่ออกแบบเพื่อผู้เรียนที่มีประสบการณ์สูงๆ เป็น Executive Program หรือหลักสูตร Young Executive MBA สำหรับผู้เรียนรุ่นใหม่ ซึ่งตอนนี้ทุก Generation ล้วนต่างให้ความสนใจต่อองค์ความรู้ในเรื่องการเงินการลงทุน และเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งไม่ใช่เพียงคนรุ่นใหม่ แต่เป็นความสนใจและความจำเป็นแล้ววันนี้สำหรับทุกๆ Gen เพราะผู้บริหารระดับสูงในองค์กรยิ่งต้องมีส่วนในการขับเคลื่อนการบริหารไปสู่อนาคตก็มีความต้องการความรู้ใหม่ๆ และทักษะๆ เหล่านี้เช่นกัน
ยิ่งรูปแบบการลงทุนมีการเปลี่ยนแปลง และขาดความรู้ ความเข้าใจ ยิ่งทำให้ความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการลดความเสี่ยง ก็คือต้องมีความรู้
นักศึกษา MBA ของนิด้ามีความหลากหลาย หลักสูตรและวิชาที่เปิดสอนก็มีความหลากหลาย เนื้อหาความรู้ใหม่ๆ และเป็นที่สนใจของผู้เรียน และความต้องการของภาคธุรกิจ อาทิ Data Analytics, DeFi, Digital Asset, คริปโตเคอร์เรนซี ฯลฯ แม้แต่ศิษย์เก่าที่เพิ่งจบก็เสียดายที่เรียนไม่ทัน เราจึงจัดให้มีการมาลงเรียนสมทบได้ สำหรับบางวิชา จึงเปิดสอนวิชาใหม่ๆ เป็นวิชาเลือกเพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกและศิษย์เก่าเข้ามาสมัครเรียนได้
นอกเหนือไปจากวิชาด้านการเงิน เรายังมีวิชาเลือกที่ส่งเสริม Startup คือ IDE (Innovation Driven Entrepreneurship) คือการเป็นผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เราก็มีวิชาเลือกตรงนี้อยู่สำหรับผู้ที่สนใจจะทำ Startup หรือแม้แต่เป็น Startup ที่ต้องการ Commercialize Technology โดยมีเทคโนฯ อยู่แล้วในห้องแล็บ แต่จะ Spin ไปสู่การเป็นธุรกิจ ซึ่งวิชานี้จะช่วยเติมเต็ม Startup ได้แน่นอน ซึ่งไม่เพียงเฉพาะ FinTech แต่ครอบคลุมนวัตกรรมกลุ่มไหนๆ ก็ได้ เป็นการเปิดสอนเพื่อช่วยผลักดันการนำงานวิจัยไปสู่ภาคธุรกิจ เราช่วยได้
Why MBA @NIDA
ทุกวันนี้มี Content เผยแพร่อยู่มากมายในโลกอินเทอร์เน็ต ที่เป็นทั้งข้อมูล ความรู้ มีทั้งผิดและถูกปะปนกันไป และหลายๆ ข้อมูลก็เป็นความคิดเห็น เป็นทรรศนะของคนที่หลากหลาย และไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกรอบทฤษฎีทางวิชาการ และไม่ใช่ทุกๆ ความเห็นจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเชื่อถือหรือใช้ได้ทั้งหมด
แต่ Content ที่เป็นความรู้ที่จัดการเรียน การสอนอยู่ภายในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะที่นิด้า เราต้องส่งมอบความรู้ที่ถูกต้อง มีหลักการและทฤษฎี มีความเป็นมาตรฐาน สิ่งไหนอันตรายเราจะบอก ให้มีความระมัดระวัง โดยเฉพาะความรู้ที่เกี่ยวกับการลงทุนกับเรื่องความเสี่ยงซึ่งเป็นสิ่งคู่กัน
ยุคนี้ที่อินเทอร์เน็ตแพร่หลาย ความรู้ทั่วไปหาได้ไม่ยากนั้นเป็นข้อเท็จจริง แต่ภายใต้การได้รับข้อมูลและความรู้เหล่านั้นมีความถูกต้องหรือคัดกรองมาแล้วหรือไม่ การมาเรียนกับอาจารย์ผู้มีดีกรีการศึกษาการันตี มีความเชี่ยวชาญ มีหลักการ เหตุผล และทฤษฎีรองรับ เอาไปใช้งานได้ หลายครั้งการเรียนตามสื่อ มีประโยชน์มาก แต่ว่ามักจะเป็นการรับความรู้ที่เป็นจุด ซึ่งแตกต่างจากการมาเรียนที่ได้รับออกแบบมาเป็นหลักสูตร เป็นโปรแกรมทำให้ความรู้มีความเชื่อมต่อและนำไปใช้ได้ สร้างความเข้าใจได้ทั้งภาพเล็กและเห็นทั้งภาพใหญ่อย่างเชื่อมโยงกัน
อีกประการสำคัญคือ การมาเรียนในหลักสูตร ไม่ใช่เพียงการหาความรู้หรือ Knowledge เพียงอย่างเดียว อีกประการสำคัญคือเรื่อง Vision ซึ่งหลักสูตรอย่างที่นิด้า จะมีการออกแบบให้นักศึกษาได้รับการพัฒนากรอบความคิด พัฒนาทักษะ สามารถตีโจทย์ปัญหาเพื่อประยุกต์ใช้ความรู้ คือ Intuition มันจะพัฒนาขึ้นมาด้วย
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
ภาพ: ภัทรวรรธน์ พงษ์บริพันธ์