บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) นำโดย นายโชน โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คณะผู้บริหาร และกลุ่มตัวแทน BLA Top 100 Club จัดกิจกรรมเพื่อสังคมเนื่องในวาระครบรอบ 72 ปี มุ่งมั่นสานต่อโครงการ “สานฝันจากพี่สู่น้อง” ส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ต้องการโอกาสและการสนับสนุนในการเข้าถึงการศึกษา เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของตนเอง ตลอดจนชุมชนและสังคม
โดยในปีนี้จัดกิจกรรมสานฝันใน 2 พื้นที่ มอบทุนการศึกษาและสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น พร้อมกิจกรรมสันทนาการ สร้างความสุขและรอยยิ้ม ร่วมกับน้อง ๆ โรงเรียนการศึกษาเด็กตาบอดพิการซ้ำซ้อน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และสนับสนุนพื้นที่การเรียนรู้ อันประกอบด้วย ห้องสมุดกรุงเทพประกันชีวิต ปรับปรุงสนามและเครื่องเล่นกลางแจ้ง อุปกรณ์กีฬาและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็น ให้กับน้อง ๆ โรงเรียนบ้านบางเก่า ตำบลบางเก่า อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อเร็ว ๆ นี้
รอยัล ภูเก็ต มารีน่า หรือ RPM กำลังก้าวสู่การเป็นท่าจอดเรือชั้นนำที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หลังจากได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร หรือ CFO ทำให้ RPM ได้ก้าวไปสู่อีกขั้นของการเป็นท่าจอดเรือปลอดคาร์บอนแห่งแรกของโลก
RPM มุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนทางทะเลในฐานะท่าจอดเรือแห่งเดียวในประเทศไทย และผู้นำรายแรกในภูเก็ตในกลุ่มอุตสาหกรรมท่าจอดเรือ โรงแรม และอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร CFO ประจำปี 2566 จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ในนาม อบก. (TGO) อันแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการดำเนินการด้านคาร์บอนฟุตพริ้นท์ การชดเชยคาร์บอน เพื่อนำไปสู่การจัดการและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศและมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในอนาคต โดยการรับรองนี้เป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงประสิทธิภาพของกระบวนการในการบริหารงานภายในองค์กร ที่ได้รับหลังจากการประเมินผลงานด้านการจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร โดยมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์การรับรองขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองระบบ ในนาม International Accreditation Forum และ คณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ หรือ National Standardization Council of Thailand
นายกูลู ลัลวานี หัวเรือใหญ่ของ RPM เน้นย้ำว่า "การผ่านการรับรอง CFO ครั้งนี้ ถือเป็นเครื่องยืนยันถึงความทุ่มเทอันแน่วแน่ของเรา ในด้านความยั่งยืน สะท้อนให้เห็นในทุกแง่มุมของการดำเนินงานอย่างตั้งใจ เรามีความยินดีที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานภาครัฐในฐานะท่าจอดเรือแห่งเดียวของประเทศไทย และผู้นำรายแรกในภูเก็ตในกลุ่มอุตสาหกรรมท่าจอดเรือ โรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป้าหมายของเราคือรักษามาตรฐานการเป็นท่าจอดเรือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดอีกแห่งของเอเชียรอยัล ภูเก็ต มารีน่า เรามุ่งเน้นการพัฒนาสู่การเป็นผู้นำด้านการดำเนินธุรกิจมุ่งสู่คาร์บอนต่ำ สู่การเป็นท่าจอดเรือที่ปลอดคาร์บอนแห่งแรกของโลก ตั้งเป้าเป็นจุดหมายปลายทางชั้นนำสำหรับการใช้ชีวิต การทำงาน การพักผ่อนหรือแม้แต่การเฉลิมฉลอง ตามแบบวิถีชีวิตของนักท่องเที่ยวทางทะเล ณ เมืองท่องเที่ยวชั้นนำของโลก อย่างภูเก็ตแห่งนี้
นอกเหนือจากสิ่งอํานวยความสะดวกในท่าจอดเรือของเราแล้ว เรายังคงพัฒนาและยกระดับที่พักอาศัยชั้นเลิศ ศูนย์กลางร้านค้า สำหรับผู้คนที่ต้องการวิถีชีวิตที่แตกต่าง ยิ่งไปกว่านั้น RPM ยังได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ริเริ่มการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง จากการได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลด้านองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อม จัดโดยหอการค้า เนเธอร์แลนด์ – ไทย NTCC ที่ตอบโจทย์ต่อความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม สังคม และการกํากับดูแลกิจการ (ESG)
อีกทั้งยังเป็นตัวแทนเดียวจากท่าจอดเรือในภูเก็ตที่ได้ร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์ในงานสัมมนาหัวข้อ “ยุทธศาสตร์สู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวยั่งยืนของอันดามัน” หรือ Andaman Sustainable Tourism Forum ครั้งที่ 1 จัดโดย มูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต”
อีกหนึ่งความสำเร็จของ RPM คือ การเปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ โดยในปีนี้เอง RPM ได้รับใบประกาศเกียรติคุณ อย่าง Letter of Recognition หรือ LOR ภายใต้โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก หรือเรียกโดยย่อว่าโครงการ LESS ซึ่งจัดโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกแห่งประเทศไทย หรือ อบก. นั่นเอง ท่าจอดเรือของ RPM สามารถตอบสนองต่อความต้องการพลังงานได้มากถึง 40% ต่อวัน ผ่านการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่สะอาดและยั่งยืน ทั้งนี้องค์กรยังมีแผนพัฒนาเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง สู่การเป็นท่าจอดเรือปลอดคาร์บอนของโลก
นอกจากนี้ RPM เอง ร่วมมือกับพันธมิตรทางเรือต่าง ๆ ในการลดการใช้ขวดพลาสติกในกิจกรรมการเดินเรือทุกประเภท ตั้งเป้าหากสำเร็จจะสามารถช่วยลดขวดพลาสติกไปได้ราว ๆ กว่า 4 ล้านขวดต่อปี ความร่วมมือเหล่านี้ยังครอบคลุมไปถึงพันธมิตรอื่น ๆ มากมาย อาทิเช่น องค์กร Seakeepers, มูลนิธิ Oceans For All, License To Clean, บริษัท Wawa Creations และ Disabled Sailing Thailand หรือที่รู้จักกันในนาม สมาคมกีฬาเรือใบสำหรับคนพิการ อีกด้วย
ทั้งหมดนี้ถือเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญของ รอยัล ภูเก็ต มารีน่า ในการเดินทางสู่การเป็นท่าจอดเรือปลอดคาร์บอนแห่งแรกของโลก ด้วยความมุ่งมั่นในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
การขาดแคลนน้ำและต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นับเป็นปัญหาใหญ่ที่พี่น้องเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชต้องแบกรับ เนื่องจากต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีคิดเป็น 19-20% ของต้นทุนการเพาะปลูกพืชทั้งหมด ขณะที่น้ำเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช ที่ผ่านมาภาครัฐต่างผลักดันแนวทางการบริหารจัดการน้ำ และสนับสนุนแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการดินและปุ๋ยมาโดยตลอด
ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนหลายแห่งก็จัดโครงการเพื่อสนับสนุนแนวทางที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกรควบคู่ไปด้วย เช่นเดียวกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ที่ดำเนินโครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร จากความสำเร็จของฟาร์มสุกรที่ดำเนินการมากว่า 20 ปี ต่อยอดสู่ธุรกิจไก่ไข่ ที่เดินหน้าทั้งโครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร และโครงการปุ๋ยมูลไก่ รวมถึงธุรกิจไก่เนื้อ ดำเนินโครงการปุ๋ยเปลือกไข่สู่ชุมชนและเกษตรกร ที่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และลดความเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้งแก่เกษตรกรในพื้นที่รอบข้างสถานประกอบการของบริษัทได้อย่างเป็นรูปธรรม
นายเกษม ลาดสันเที๊ยะ เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย 20 ไร่ ที่อยู่ตรงข้าม Complex ไก่ไข่จักราช อ.จักราช จ.นครราชสีมา เล่าว่า ตนเองเป็นเกษตรกรรายแรกๆที่รับมูลไก่จากฟาร์มมาใช้กับต้นอ้อย พื้นที่ 20 ไร่ ซึ่งมูลไก่มีธาตุไนโตรเจนสูง ช่วยให้ผลผลิตดี เมื่อเพื่อนเกษตรกรรายอื่นเห็นว่าดีก็ใช้ตาม จากนั้นจึงปรึกษากับทีมงานซีพีเอฟเรื่องการรับน้ำปุ๋ยมาใช้ เพื่อทดลองว่าจะช่วยให้ต้นอ้อยได้ผลผลิตดีขึ้นหรือไม่ โดยบริษัทใช้รถแบคโฮตัวเล็กมาขุดร่องเหมืองเล็กๆเพื่อดึงน้ำมาใช้ โดยเริ่มให้น้ำปุ๋ยเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตอนอ้อยรัดตอสูงประมาณ 75 เซนติเมตร - 1 เมตร พออ้อยตั้งลำได้ 3-4 ข้อ จึงเริ่มปล่อยน้ำให้ เมื่อเทียบการให้ปุ๋ยเคมี กับการใช้มูลขี้ไก่และน้ำปุ๋ย พบว่าอ้อยรากเดินดี ขยายกอใหญ่ ให้ลำเยอะ ลำใหญ่ ข้อยาว
“รอบที่ผ่านมาใช้น้ำปุ๋ยและมูลไก่ทำให้ได้ผลผลิตอ้อยสูงถึง 20-25 ตันต่อไร่ จากที่เคยใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียวได้ผลผลิตไร่ละ 18 ตัน รายได้จึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และยังช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยจากเมื่อก่อนตลอดการปลูก 1 ปี ใช้ปุ๋ยเคมี 20 กระสอบ ตอนนี้ลดปุ๋ยเคมีได้ 50% หรือใช้เพียง 10 กระสอบเท่านั้น ขอบคุณซีพีเอฟที่จัดโครงการนี้ดีๆแบบนี้ ทำให้ชุมชนและฟาร์มอยู่อย่างเกื้อกูลกัน ช่วยทั้งลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต แก้ปัญหาภัยแล้ง และเกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น” นายเกษม กล่าว
ส่วน นายหล๊ะ ดุไหน เกษตรกรชาว ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา ต้นแบบเกษตรกรที่รับน้ำปุ๋ยจากฟาร์มไก่ไข่จะนะ บอกว่า ใช้น้ำปุ๋ยสำหรับรดแปลงปลูกหญ้าเนเปีย พื้นที่ 10 กว่าไร่ ใช้รดสวนปาล์มอีก 10 ไร่ และล่าสุดใช้กับแปลงปลูกฟักทอง 10 ไร่ รอบการปลูกที่ผ่านมาได้ผลผลิตฝักทองมากถึง 20,000 กิโลกรัม ได้กำไรประมาณ 200,000 บาท เพราะได้น้ำปุ๋ย ซึ่งเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดี ที่มีแร่ธาตุที่ต้นพืชต้องการครบถ้วน ทำให้เถาฟักทองแข็งแรง ให้ดอกมาก ติดผลดก ลูกฟักทองใหญ่ น้ำหนักดี ผิวสวยขายได้ราคาดี ช่วยสร้างรายได้ที่ดี และวางแผนขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มอีก 10 ไร่ ในรุ่นต่อไป
ทางด้าน นายสิงห์คำ เป็งเรือน เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในพื้นที่ ต.ห้วยทราย อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เริ่มรับปุ๋ยเปลือกไข่ จากฟาร์มไก่ไข่สันกำแพง มาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อทดลองว่าจะใช้ได้ดีกับการปลูกข้าวหรือไม่ โดยพื้นที่นาข้าว 2.5 ไร่ ใช้ปุ๋ยเปลือกไข่ปริมาณ 1 ตันต่อไร่ นำมาโรยแล้วไถกลบ ช่วยปรับสภาพดินก่อนการเพาะปลูก ตอนนี้ข้าวอายุ 2 เดือน เห็นความแตกต่างจากแต่ก่อน เพราะได้ข้าวกอใหญ่ ลำใหญ่ เขียวดี เนื่องจากเปลือกไข่มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ที่ส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของต้นพืช คาดว่ารอบนี้จะได้ผลผลิตดีขึ้น และสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง จากปกติหนึ่งรอบใช้ 20 กิโลกรัมต่อไร่ รอบนี้น่าจะลดลงเหลือ 15 กิโลกรัมต่อไร่
“โครงการนี้ดีมาก ช่วยลดค่าปุ๋ย ช่วยประหยัดต้นทุน คาดว่าผลผลิตข้าวน่าจะเพิ่มมากขึ้นแน่นอน เพราะข้าวกอใหญ่ ตอนนี้เตรียมปุ๋ยเปลือกไข่สำหรับใส่นาปรังไว้แล้ว ขอบคุณที่บริษัทช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกรมาตลอด” นายสิงห์คำ กล่าว
สำหรับ ธุรกิจไก่ปู่-ย่าพันธุ์เนื้อของซีพีเอฟ โดยโรงฟักชัยภูมิ ดำเนินโครงการ “ปุ๋ยเปลือกไข่ สู่ชุมชน และเกษตรกร” โดยสนับสนุนเปลือกไข่และมูลไก่แก่ “โครงการสร้าง สาน สุข วิถีชุมชน ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง บ้านซับรวงไทร จ.ชัยภูมิ” ที่เกษตรกร 62 คน รวมตัวกันผลิตปุ๋ยหมักเปลือกไข่ใช้เอง สามารถผลิตปุ๋ยหมักเปลือกไข่ได้ปีละ 10,000 กระสอบ เพื่อแจกจ่ายให้สมาชิกฯ เกษตรกรได้นำไปใช้กับไร่ นา สวน และมอบแก่ชุมชนนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งทุกคนที่นำปุ๋ยหมักเปลือกไข่ไปใช้ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าปุ๋ยที่ได้ช่วยปรับปรุงคุณภาพดินให้ร่วนซุย เหมาะแก่การเพาะปลูกและการเติบโตของพืช ได้ผลผลิตดีขึ้น ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ต้นทุนการเพาะปลูกจึงลดลง สภาพแวดล้อมในพื้นที่ดีขึ้น คนในชุมชนได้บริโภคผักปลอดสารเคมีที่ตัวเองปลูก นับเป็นการบริหารจัดการของเสียแบบบูรณาการด้วยการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างความมุ่งมั่นของซีพีเอฟ ในการดำเนินโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม มีส่วนร่วมสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงสถานประกอบการ ได้พัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน ก้าวผ่านวิกฤติภัยแล้ง และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีจากการลดการใช้ปุ๋ยเคมีในการผลิต สอดรับตามกลยุทธ์สู่ความยั่งยืน 3 เสาหลักของบริษัท คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และ ดินน้ำป่าคงอยู่.
อนาคตทางการศึกษาที่ดีคือสิ่งที่เด็กและเยาวชนควรได้รับ แต่ถ้าระหว่างทางของการศึกษานั้นเด็กๆได้เรียนรู้พื้นฐานอาชีพและปูพื้นฐานการใช้ชีวิตด้วยแล้ว การศึกษานั้นย่อมก่อประโยชน์สูงสุดกับเยาวชนยิ่งขึ้น นี่คือนโยบายที่ผู้บริหารของโรงเรียนประชาพัฒนาบ้านแฮด ต.บ้านแฮด อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น คิดและดำเนินอย่างเป็นรูปธรรม
หนึ่งความมุ่งมั่นในการนำเอาพื้นฐานอาชีพมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน ให้กับเด็กๆบ้านแฮดทุกคน คือ “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” จากความร่วมมือของโรงเรียน มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ และหอการค้าญี่ปุ่น (JCC) ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องถึง 11 ปี
“จุดเริ่มต้นของความร่วมมือในโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ เกิดจากการที่ท่านนายอำเภอมาแนะนำ เพราะเคยทำโครงการนี้มาก่อนจะย้ายมาประจำที่นี่ เมื่อเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี จึงอยากให้ขยายมาในอำเภอบ้านแฮดด้วย เด็กๆจะได้มีไข่ไก่โปรตีนชั้นเยี่ยมมาทำเป็นอาหารกลางวัน ได้รับประทานไข่ที่สดใหม่ นักเรียนได้เรียนรู้การเลี้ยงไก่ จากนั้นมูลนิธิฯ เข้ามาสำรวจภาวะทุพโภชนาการของเด็กที่โรงเรียน ซึ่งตอนนั้นพบภาวะดังกล่าวแม้จะไม่มาก แต่ถ้าได้รับการสนับสนุนให้ได้บริโภคอาหารโปรตีนมากขึ้น ย่อมแก้ปัญหานี้ได้ เมื่อดูข้อมูลโรงเรียน ดูจำนวนนักเรียน และผ่านการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา จึงตกลงร่วมกันว่าจะทำโครงการฯนี้ในปี 2555 เริ่มเลี้ยงไก่ไข่ 150 ตัว สำหรับนักเรียน อนุบาล 1 – ประถม 6 ทั้ง 130 คน จากนั้นผู้อำนวยการและครูก็ได้เข้าร่วมอบรมการเลี้ยง และมีสัตวบาลซีพีเอฟเข้าดูแลมาตลอด” นางสาวกุลชญา สงวนศิลป์ หรือครูแหม่ม ครูผู้ดูแลโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ กล่าว
ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นเจ้าหน้าที่ของบริษัทมาช่วยแนะนำ โดยมีครูผู้รับผิดชอบโครงการฯ และนักการภารโรง นายหาญชัย ปาณา และ นายสงวนศักดิ์ แผงตัน เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ดูแลร่วมกับเด็กนักเรียนมาตลอด ในช่วงที่อากาศร้อนอาจมีปัญหาบ้าง ทางมูลนิธิฯและซีพีเอฟแนะนำให้ติดสปริงเกอร์บนหลังคา ติดพัดลมระบายอากาศในโรงเรือน และมีการจัดการของเสียในโรงเรือนด้วยการใช้ผ้าใบและปูแกลบไว้ใต้กรงเลี้ยง ที่ช่วยลดทั้งกลิ่นและทำให้จัดการง่ายขึ้น มูลไก่และแกลบยังเป็นปุ๋ยอินทรีย์สำหรับแปลงผักที่นักเรียนแต่ละชั้นเรียนรับผิดชอบ ในกิจกรรมเสริมการเรียน ตามนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลา(เรียน)รู้ อีกด้วย
สำหรับกิจกรรมในแต่ละวัน ครูแหม่มบอกว่า จะมีเด็กนักเรียนชั้นประถม 4-5-6 จัดเวรเข้ามาดูแลไก่ โดยมีพี่ประถม 6 เป็นหลัก 1-2 คน และน้องๆ ประถม 4-5 มาช่วยอีก 2 คน โดยนักเรียนทั้ง 3 ชั้นปี ทุกคนจะได้มีโอกาสหมุนเวียนเข้ามารับผิดชอบ เพื่อให้พวกเขาได้ฝึกความรับผิดชอบ เรียนรู้การมีส่วนร่วมทำงานเป็นทีม และเป็นการปูพื้นฐานด้านเศรษฐกิจพอเพียง น้องๆยังได้เรียนรู้เรื่องโภชนาการควบคู่ไปด้วย ที่สำคัญยังได้รู้ว่าอาหารที่รับประทานทุกวันมีแหล่งที่มาอย่างไร มีความปลอดภัยในอาหารจากฝีมือการเลี้ยงของพวกเขา นอกจากนี้ ยังได้ฝึกเรื่องบัญชีและการออม จากการทำบันทึกจำนวนไข่ไก่และการขายไข่ไก่เข้าโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งปัจจุบันมีเงินทุนหมุนเวียนในโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯถึง 2 แสนกว่าบาทแล้ว
ด.ช.ธนวัฒน์ วงศ์ษา หรือน้องโน๊ต นักเรียนชั้นป.6 ที่รับผิดชอบโครงการฯ บอกว่า ชอบมากที่ได้มาเลี้ยงไก่ไข่ เพราะทำให้ได้ฝึกความรับผิดชอบ ฝึกการทำงานกันเป็นทีม คุณครูจะแบ่งเวรให้นักเรียนมาทำกิจกรรม ทั้งการเก็บไข่ไก่ นับและบันทึกจำนวนไข่ คิดราคาไข่ไก่ แล้วลงบัญชีที่คุณครูทำไว้ให้ และรวบรวมไข่ไก่ส่งเข้าโรงครัวทุกวัน ไข่ส่วนที่เหลือจะนำไปขายในชุมชน คุณยายของผมเคยมาซื้อไข่ไก่ที่โรงเรียนด้วย เพราะสด ใหม่ สะอาด ราคาถูกกว่าในตลาด บางครั้งต้องสั่งจองล่วงหน้าเพราะขายดีมาก ผมและเพื่อนๆชอบมากและตื่นเต้นทุกครั้งที่เก็บไข่ได้เยอะๆ เราภูมิใจทุกครั้งที่มีคุณครูจากโรงเรียนอื่นมาดูงานการเลี้ยงไก่ของโรงเรียนเรา มาดูวิธีการให้น้ำ ให้อาหาร และการดูแลไก่ โรงเรียนของเราได้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับคนอื่นๆ
ส่วน ด.ญ.พลอยพิชชา เสโส หรืออองฟอง นักเรียนชั้นป.6 บอกว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้มีส่วนร่วมกับโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ พอถึงเวลาชั่วโมงสุดท้ายก่อนเลิกเรียน ก็จะมาเก็บไข่กับเพื่อนๆและน้องๆห้องอื่น ทุกคนตื่นเต้นมากเพราะลุ้นว่าวันนี้จะเก็บไข่ได้กี่ฟอง น้องอองฟองทำหน้าที่ลงบัญชี ทำให้ได้ฝึกเรื่องการคิดคำนวณ ซึ่งเป็นเรื่องที่เธอชอบมาก และยังได้สอนน้องๆลงบัญชีให้ถูกต้องด้วย สำคัญที่สุดคือ ทุกคนได้รับประทานไข่ไก่เป็นอาหารกลางวัน แต่ละสัปดาห์ที่โรงครัวจะมีเมนูไข่ประมาณ 3 วัน เมนูที่ทุกคนชอบที่สุดคือ ไข่พะโล้ ทุกครั้งที่มีเมนูไข่ก็จะภูมิใจว่าเป็นไข่ที่มาจากไก่ของเราเอง ดูแลเอง เก็บเอง ขอขอบคุณ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และซีพีเอฟมากๆ ที่สนับสนุนโครงการดีๆแบบนี้ ทำให้เราได้บริโภคไข่ไก่ที่สด สะอาด ปลอดภัย อยากให้มีโครงการดีๆแบบนี้ตลอดไป
“ตลอด 11 ปีที่ผ่านมา ที่โรงเรียนประชาพัฒนาบ้านแฮด ได้ร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน เราบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจสร้างความมั่นคงอาหารในโรงเรียน โดยมีโรงเรือนเลี้ยงไก่เป็นแหล่งฝึกสอนทักษะอาชีพ ให้นักเรียนมีประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติจริง ที่จะกลายเป็นทักษะติดตัวพวกเขาไปใช้ในอนาคต และยังได้ภูมิใจว่าเขาคือคนสร้างคลังอาหารที่มั่นคงให้กับทั้งเพื่อนนักเรียนและชุมชน ที่ได้รับประทานไข่สดใหม่ทุกวัน โรงเรียนได้กลายเป็นแหล่งอาหารชุมชน และเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับโรงเรียนหรือชุมชนอื่นๆเข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง” ครูแหม่มกล่าว
ความสำเร็จของโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน โรงเรียนประชาพัฒนาบ้านแฮด สะท้อนความมุ่งมั่นของมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ซีพีเอฟ และองค์กรพันธมิตร ที่ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชนในชนบทห่างไกลทั่วประเทศมาตลอด 35 ปี โครงการฯนี้ได้สร้างคลังอาหารในโรงเรียนไปแล้ว 959 โรงเรียน ทำให้เด็กและเยาวชนมากกว่า 188,000 คน เข้าถึงโปรตีนที่ดี ช่วยบรรเทาปัญหาทุพโภชนาการ สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ และเป็นพื้นฐานอาชีพให้กับเด็กๆอย่างเป็นรูปธรรม
เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ เอสซีจีซี (SCGC) ผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ระดับภูมิภาคที่มุ่งเติบโตทางธุรกิจควบคู่กับการสร้างความยั่งยืน ตามแนวทาง ESG (Environmental, Social and Governance) ผนึกกำลังความร่วมมือจัดกิจกรรม “วันอนุรักษ์ชายฝั่งสากล หรือ International Coastal Cleanup 2023 ประจำปี 2566” ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม จ.ระยอง กว่า 25 องค์กร โดยมีจิตอาสาจากทุกภาคส่วนร่วมกิจกรรมเก็บขยะชายหาดกว่า 2,800 คน เพื่อลดปัญหาขยะที่หลุดรอดลงสู่ทะเล ฟื้นฟูความสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งส่งเสริมการนำทรัพยากรกลับมาหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีนายพิเชษฐ์ ตั้งปัญญารัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ระยอง โอเลฟินส์ จำกัด ในธุรกิจ SCGC เป็นผู้แทน SCGC ร่วมพิธีเปิดกิจกรรมในครั้งนี้ และได้รับเกียรติจาก ว่าที่ร้อยตรีพิรุณ เหมาะรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยองให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด
SCGC ตระหนักถึงปัญหาขยะที่หลุดรอดสู่ทะเลและสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลเท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงวิถีชีวิตของชุมชนประมงพื้นบ้านและชุมชนริมชายฝั่ง รวมทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศอีกด้วย โดย SCGC มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศทางทะเลเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึง ชุมชน เยาวชน และพนักงานจิตอาสา ผ่านการนำ “นวัตกรรมเพื่อพิทักษ์ทะเล” (Innovation for Better Marine) มาช่วยยกระดับการแก้ไขปัญหา และขับเคลื่อนภารกิจพิทักษ์ทะเลด้วย “โมเดล 3 พร้อมเพื่อท้องทะเล” ซึ่งเชื่อมโยงและครอบคลุมตลอดทั้งกระบวนการจัดการ ได้แก่ “พร้อมใจ” ไม่ทิ้งขยะลงแหล่งน้ำ และคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง ผ่านโครงการ “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน “พร้อมเก็บ” เก็บขยะที่หลุดรอดมาสู่ชายหาดและแม่น้ำลำคลอง ด้วยนวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ และกิจกรรมเก็บขยะชายหาด “พร้อมเติบโต” เพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยนวัตกรรมบ้านปลา SCGC เป็นต้น
วันอนุรักษ์ชายฝั่งสากล หรือ International Coastal Cleanup Day (ICC Day) จัดขึ้นทุกปี ในวันเสาร์ที่ 3 ของเดือนกันยายน ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมเก็บขยะชายหาดพร้อมกันทั่วโลก โดยจังหวัดระยองได้จัดกิจกรรมดังกล่าวต่อเนื่องเป็นปีที่ 21 แล้ว สำหรับปี 2566 นี้ มีการพัฒนาชายหาด 3 พื้นที่ ตั้งแต่หาดแหลมเจริญต่อเนื่องไปจนถึงหาดสุชาดา ระยะทางประมาณ 10.2 กิโลเมตร บริเวณหาดน้ำริน หาดพยูน หาดพลา ระยะทางประมาณ 4.6 กิโลเมตร รวมไปถึงบริเวณหาดแม่รำพึง ที่มีระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร สามารถรวบรวมปริมาณขยะได้ จำนวนมากกว่า 6 ตัน มีสมาชิกจิตอาสาจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายภาคประชาชน และชุมชนใกล้เคียง เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 2,800 คน โดยข้อมูลของขยะที่เก็บได้จะถูกส่งไปยังองค์กรอนุรักษ์ท้องทะเล (Ocean Conservancy) ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อรวมกับข้อมูลการเก็บขยะชายหาดจากประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาขยะในทะเลในระยะยาวอย่างยั่งยืน
SCB CIO หนุนผู้ประกอบการและนักลงทุนไทย ตระหนักถึงความสำคัญของ Green Taxonomy พร้อมดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องและมุ่งเน้นสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยสถาบันการเงินมีแนวโน้มนำเสนออัตราดอกเบี้ยที่จูงใจมากขึ้น สนับสนุนบริษัทที่ออกตราสารหนี้ ที่ทำกิจกรรมเศรษฐกิจสอดคล้องกับ Taxonomy ส่วนนักลงทุนสถาบันมุ่งออกแบบผลิตภัณฑ์การเงิน นำเสนอกองทุนที่คำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG ด้านนักลงทุนรายย่อย หันมาเน้นลงทุนกับผลิตภัณฑ์การเงินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขานรับเป้าหมายประเทศไทยมุ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ขณะที่ล่าสุด ไทยได้มีการประกาศ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 โดยกิจกรรมเศรษฐกิจเป้าหมายกลุ่มแรก คือ ภาคพลังงานและขนส่งซึ่งก๊าซคาร์บอนรวมกันเกือบ 70% ของทั้งหมด
ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภูมิภาคหลักๆ ในโลกได้จัดทำมาตรฐานกลางที่เกี่ยวข้องกับ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล(ESG) โดยระบุเงื่อนไขอย่างชัดเจนและโปร่งใสเพื่อนำไปใช้อ้างอิงในการช่วยจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจประเภทต่างๆ โดยเฉพาะหมวดธุรกิจที่มีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Green Taxonomy)
โดยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดเงินตลาดทุนไทย ควรทำความเข้าใจและนำไปปรับใช้ เนื่องจากจะช่วยให้ผู้ที่ต้องการลงทุนในโครงการหรือกองทุน ESG รวมทั้งนักลงทุนหรือสถาบันการเงินที่ต้องการปล่อยสินเชื่อให้โครงการ ประเมินได้ว่าควรลงทุนในโครงการไหน ด้วยเม็ดเงินเท่าไหร่ และรู้เท่าทันในการดำเนินการด้าน ESG อย่างแท้จริง ส่วนบริษัทจดทะเบียนที่ต้องการระดมทุนจัดทำโครงการ ก็จะสามารถชี้แจงและส่งสัญญาณให้ผู้ลงทุน หรือ สถาบันการเงินทราบได้ว่าโครงการที่กำลังระดมทุนอยู่ มีการดำเนินการอย่างจริงจังและมีผลต่อการบริหารจัดการทางด้าน ESG อย่างไร
ทั้งนี้ SCB CIO วิเคราะห์มาตรฐานด้าน Green Taxonomy ของกลุ่มประเทศต่างๆ ได้แก่ EU Taxonomy . ASEAN Taxonomy และ Thailand Taxonomy พบว่า EU Taxonomy เป็นต้นแบบกฎหมาย Green Taxonomy ของทั่วโลก ที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2020 เป็นกฎหมายกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่กิจกรรมเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี2050เน้นลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้และปกป้องทรัพยากรน้ำและทะเลอย่างยั่งยืน การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน การป้องกันและควบคุมมลพิษ และการปกป้องและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ หัวใจสำคัญของ EU Taxonomy คือต้องการจัดการปัญหาการฟอกเขียว (Greenwashing) เพื่อช่วยให้ผู้ที่มีส่วนร่วมในตลาดเงินตลาดทุน ลงทุนในสินทรัพย์ที่ยั่งยืนได้อย่างมั่นใจ ทั้งยังกำหนดหน้าที่การเปิดเผยข้อมูลเชื่อมโยงกับ Taxonomy ไว้ให้บริษัทและผู้มีส่วนร่วมในตลาดเงินต้องปฏิบัติตามด้วย
ส่วน ASEAN Taxonomy ไม่ได้เป็นกฎหมาย แต่มีลักษณะเป็นมาตรฐานกลางเพื่อให้ประเทศสมาชิกในภูมิภาคนำไปปรับใช้และดำเนินการจัดทำกฎหมายหรือข้อบังคับ Taxonomy ของประเทศตัวเอง โดยมีวัตถุประสงค์ใกล้เคียงกับ EU Taxonomy แต่มุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนคำมั่นสัญญาของกลุ่มอาเซียน ในการปฏิบัติตามข้อตกลงปารีส (Paris
Agreement) และข้อตกลงในระดับชาติ ซึ่งไม่ได้ระบุชัดเจนในประเด็นปกป้องทรัพยากรน้ำและทะเล และป้องกันควบคุมมลพิษ
สำหรับ Thailand Taxonomy มีวัตถุประสงค์การสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม 6 ข้อ ได้แก่ 1.การลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2) การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3) การใช้ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน 4) การอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ 5) การป้องกันและควบคุมมลพิษ และ 6) การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่ง Thailand Taxonomy มีการระบุกิจกรรมเศรษฐกิจที่นำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน คือ หลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเป้าหมายแรกคือ ภาคพลังงานและขนส่ง ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนรวมกันเกือบ 70% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั้งหมด
ในส่วนของ ประเทศไทย ได้ให้คำมั่นสัญญาในการประชุม UN Climate Change Conference ครั้งที่ 26 ว่า ไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero ) ภายในปี 2065 ขณะที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ จากการดำเนินงานภายในปี 2030 และจากการให้สินเชื่อ และการลงทุนภายในปี 2050
ทั้งนี้ Green Taxonomy จะทำให้บริษัทจดทะเบียนต้องพยายามปรับเปลี่ยนหรือดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ Taxonomy มากขึ้น ขณะที่สถาบันการเงินขนาดใหญ่มีแนวโน้มต้องมุ่งเน้นนำเสนออัตราดอกเบี้ยที่จูงใจมากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนบริษัทที่ออกตราสารหนี้ เพื่อกิจกรรมเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับTaxonomyและนักลงทุนสถาบัน จะต้องประยุกต์ใช้Taxonomyกับการออกแบบผลิตภัณฑ์การเงิน เช่น ลงทุนในกิจกรรมที่สอดคล้องกับTaxonomy นำเสนอกองทุนที่คำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG เพราะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่ยั่งยืนของสหภาพยุโรป (Sustainable Finance Disclosure Regulation)
ส่วนนักลงทุนรายย่อย เมื่อหันมาเน้นลงทุนกับผลิตภัณฑ์การเงินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะเป็นแรงผลักดันให้ผู้ให้บริการต้องแก้ไขข้อกำหนดการบริหารพอร์ตลงทุน และการให้คำแนะนำลงทุนโดยพิจารณาเรื่องความยั่งยืน ควบคู่กับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงมากขึ้น รวมทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์สำหรับนักลงทุนรายย่อย ที่เน้นสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมหรือหลีกเลี่ยงการลงทุนที่สร้างผลกระทบในทางตรงกันข้ามกับวัตถุประสงค์ Taxonomy ซึ่งจะนำไปสู่โอกาสของบริษัทที่ดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจสอดคล้องกับ Taxonomy ในการเข้าถึงนักลงทุนรายย่อยได้มากขึ้น
นางสาววิสาข์ ธนวิภาคย์ (กลาง) ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายแบรนด์และสื่อสารองค์กร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด เป็นตัวแทนมอบเสื้อผ้าสิ่งของของพนักงานเอปสัน ประเทศไทย ให้แก่มูลนิธิกระจกเงา เพื่อใช้ในโครงการด้านสังคมต่างๆ ของมูลนิธิฯ ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ “Make The Switch” ของพนักงานเอปสันทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพนักงานของเอปสันนำเสื้อผ้าและสิ่งของมาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อเป็นการรณรงค์การนำเสื้อผ้าและสิ่งของที่ไม่ใช้แล้วไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อนร่วมงาน เพื่อเพิ่มโอกาสในการนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) และนำส่วนหนึ่งมาบริจาคแก่ผู้ด้อยโอกาสผ่านทางมูลนิธิกระจกเงา เพื่อสอดคล้องและขานรับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว “Environmental Vision 2050” ของไซโก้ เอปสัน คอร์ปอเรชั่น
นายวัชชระ ชินเศรษฐวงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษไทย กล่าวถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษว่า ทิศทางของหลายประเทศทั่วโลกขณะนี้ มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ทั้งในเรื่องการลดการใช้พลังงาน การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการเกิดของเสียจากการผลิต รวมถึงสนับสนุนการใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ กระดาษจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้และนำมารีไซเคิลใช้ใหม่ได้ ทำให้หลายธุรกิจและอุตสาหกรรมเริ่มกลับมาใช้กระดาษเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์มากขึ้น ซึ่งกระดาษในวันนี้ได้ถูกพัฒนาด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้มีทั้งความคงทน แข็งแรง ตอบสนองต่อธุรกิจและอุตสาหกรรมได้ในหลายรูปแบบ แนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้อุตสาหกรรมกระดาษเริ่มกลับมาเติบโตอีกครั้ง หลังได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล
นอกจากนั้น อุตสาหกรรมกระดาษยังได้รับผลบวกจากการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มกระดาษคราฟท์ ที่มีสัดส่วนการผลิตกว่า 80% และใช้วัตถุดิบที่ได้จากการรีไซเคิลกระดาษปีละหลายล้านตันได้รับผลดีตามไปด้วย ซึ่งภูมิภาคเอเชียยังคงเป็นกลุ่มผู้บริโภคและผู้ผลิตอันดับต้นของโลก โดยเฉพาะอาเซียนที่เป็นฐานการผลิตของหลายอุตสาหกรรม ทำให้ไทยกลายเป็น HUB และเป็นศูนย์กลางของอาเซียนที่หลายประเทศให้ความสำคัญ รวมถึงผู้อยู่ในอุตสาหกรรมกระดาษจากทั่วโลก
งาน ASEAN Paper Bangkok 2023 ในครั้งนี้ มีความสำคัญต่ออนาคตของอุตสาหกรรมกระดาษไทยและโลกเป็นอย่างมาก นอกจากจะเป็นงานฯ ที่เป็นการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ เจรจาธุรกิจการค้าร่วมกันแล้ว ยังมีกิจกรรมที่ส่งเสริมความร่วมมือ พร้อมกำหนดแนวโน้มทิศทางของอุตสาหกรรมกระดาษในอนาคตร่วมกันอีกด้วย
นายพรรธระพี ชินะโชติ ประธานกรรมการร่วม อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย กล่าวถึงการจัดงาน ASEAN Paper Bangkok 2023 ว่า อาเซียนมีประชากรมากถึง 680 ล้านคนในปี 2565 เป็นตลาดขนาดใหญ่ มีการบริโภคสูง เป็นฐานการผลิตสินค้าสำคัญของโลก โดยมีกระดาษเข้าไปเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหรือเป็นบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ ดังนั้นการจัดงานฯ ในครั้งนี้จึงดึงดูดความสนใจจากบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกให้มารวมกันอยู่ที่ประเทศไทย เพื่อจัดแสดงตั้งแต่วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เครื่องจักร โซลูชั่น นวัตกรรมเทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์กระดาษประเภทต่างๆ ที่ครบวงจร
ที่สุดของภูมิภาค โดยแนวคิดในการจัดงานครั้งนี้ คือ “เทคโนโลยีการผลิตกระดาษเพื่อความยั่งยืนและโซลูชั่นสำหรับธุรกิจของอนาคต” (Sustainable Paper Production Technology & Solution for Future Business) ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มและทิศทางของธุรกิจและอุตสาหกรรมของโลก
โดยไฮไลท์ของงานฯ ในครั้งนี้ คือ การเปิดพื้นที่โซนจัดแสดงงานใหม่ในกลุ่มกระดาษลูกฟูกและกระดาษรีไซเคิล (Corrugated and Paper Recycling) ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์กลุ่มใหญ่ของอุตสาหกรรมกระดาษ และในการจัดงานยังได้รับความร่วมมือจากองค์กรธุรกิจสำคัญในอุตสาหกรรมทั้งไทยและนานาชาติ อาทิ Federation of ASEAN Pulp and Paper Industries (FAPPI), The Australasian Pulp and Paper Technical Association (Appita) จากประเทศออสเตรเลีย, Indian Agro & Recycled Paper Mills Association (IARPMA) จากประเทศอินเดีย, Myanmar Pulp And Paper Industry Association (MPPIA) จากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์, Vietnam Pulp and Paper Association (VPPA) จากประเทศเวียดนาม, Printing and Packaging Industry Club (FTI) กลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ The Thai Pulp and Paper Industries Association (TPPIA) สมาคมอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษไทย จากประเทศไทย
รวมทั้งยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมายภายในงาน ไม่ว่าจะเป็นการประชุมในหัวข้อ ทิศทางอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษในอนาคต The Future of Tissue and Paper Forum การบรรยายพิเศษเจาะลึกอุตสาหกรรมกระดาษกับ Technical Insights และ Executive Insights The World’s Market Trend of Pulp and Paper Industry ฯลฯ ซึ่งในการจัดงานครั้งนี้มีบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกเข้าร่วมจัดแสดงงานกว่า 200 ราย และคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมชมงานมากกว่า 3,000 ราย จึงอยากเชิญชวนให้ผู้ประกอบการและผู้สนใจในอุตสาหกรรมกระดาษให้เข้ามาเยี่ยมชมงาน ซึ่งจะสามารถนำไปพัฒนา สร้างมูลค่า และต่อยอดธุรกิจได้เป็นอย่างดี
งาน ASEAN Paper Bangkok 2023 เริ่มแล้ววันนี้ - 1 กันยายน 2566 ณ ฮอลล์ 4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.aseanpaperbangkok.com
นายรวินทร์ บุญญานุสาสน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย และ นายสุเมธ ภิญโญสนิท ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด (CPP) พร้อมด้วยผู้แทนจากองค์กรพันธมิตร ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง “โครงการร่วมศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดการก๊าซเรือนกระจก ในรูปแบบแพลตฟอร์มจัดการก๊าซเรือนกระจกครบวงจรเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ที่บริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด (โรงงานข้าวนครหลวง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566
ธนาคารกรุงไทย ในฐานะธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศ มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงินเพื่อตอบโจทย์คนไทยทุกกลุ่ม และสนับสนุนการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เพื่อมุ่งสู่แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน โดยแพลตฟอร์มจัดการก๊าซเรือนกระจกนี้ ธนาคารคาดหวังว่าจะเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถตอบโจทย์ธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ มีต้นทุนที่เหมาะสม และมีกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ โดยธนาคารและพันธมิตรจะร่วมกันศึกษาและพัฒนา แนวทางการดำเนินธุรกิจในด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในองค์กรอย่างครบวงจร เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยและสามารถนำมาใช้ได้จริง
นอกจากนี้ มีการเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านมาตรฐานการวัดค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการรับรองกิจกรรม ภายใต้การดำเนินการโครงการความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อให้เกิดกลไกการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) ที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศและสากล ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ในการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตของแต่ละองค์กร เพื่อนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ภายใต้มาตรฐานโครงการการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายหรือนโยบายที่เกี่ยวข้อง และสนับสนุนให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN) ในเป้าหมายที่ 13 (Climate Action) เรื่องการปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น