นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย พร้อมด้วยพนักงานกองทุน ฯ ร่วมหารือวางแนวทางแก้ไขกับบุคลากรสำนักงาน คปภ. จังหวัดราชบุรี ในการรับมือผู้มาติดต่อ สอบถามข้อมูลการยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัย เมื่อบริษัทประกันวินาศภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาต ฯ และตอบประเด็นข้อซักถามต่าง ๆ ที่ประชาชนสงสัย
อาทิหลังระยะเวลาปิดรับคำทวงหนี้ 60 วัน แล้วเจ้าหนี้ของบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) สามารถยื่นคำทวงหนี้ได้หรือไม่ กรณีเอกสารไม่ครบถ้วนสามารถ ส่งเพิ่มเติมภายหลังได้หรือไม่ เจ้าหนี้ของบริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตฯ ก่อนหน้าจะได้รับการชำระหนี้หรือไม่ พร้อมทั้งแนะนำวิธีการและขั้นตอนการติดตามสถานะคำทวงหนี้ ตลอดจนขั้นตอนอื่นที่จำเป็น ซึ่งจะเป็นแนวทางให้แก่สำนักงาน คปภ.จังหวัดราชบุรี ในการตอบข้อซักถามให้แก่ประชาชนที่มาติดต่อได้ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์บรูณาการร่วมกัน เพื่อส่งเสริมความรู้ความร่วมมือในการให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการทำประกันวินาศภัยและบทบาทหน้าที่ภารกิจของกองทุนประกันวินาศภัย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา
มูลนิธิรอสคองเกรส (Roscongress Foundation) ร่วมกับ สถานทูต และคณะผู้แทนการค้าของรัสเซียประจำประเทศไทยจัดการประชุมส่งเสริมศักยภาพธุรกิจและการลงทุนของรัสเซียเป็นครั้งแรกในประเทศ โดยภายในงานมีตัวแทนจากฝั่งผู้ประกอบการและสมาคมธุรกิจของไทยเข้าร่วมกว่า 180 ราย ซึ่งครอบคลุมทั้งใน อุตสาหกรรมเทคโนโลยี การแพทย์ ภาคประชาสังคม พลังงาน ธุรกิจค้าปลีก เกษตรกรรม และการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ประเทศไทยยังคงรักษาความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซียแม้ท่ามกลางการคว่ำบาตรจากกลุ่มประเทศตะวันตก โดยในปี 2566 ความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างรัสเซียและไทยยังคงพัฒนาต่อเนื่อง ซึ่งมีมูลค่าการค้าถึง 1,500 ล้านดอลลาร์ โดยผู้บรรยายในงานมีความเชื่อมั่นว่าตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องและเห็นว่ารูปแบบความร่วมมือในอนาคต ควรเป็นความร่วมมือระดับประเทศของทั้งไทยและรัสเซียผ่านการเจรจาที่ต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
โครงการของมูลนิธิรอสคองเกรส มีส่วนสำคัญในการช่วยสนับสนุนความร่วมมือดังกล่าวและการนำเสนอโครงการข้างต้น คือหัวใจหลักของงานในครั้งนี้ ขณะที่ อเล็กซานเดอร์ สตุกเลฟ (Alexander Stuglev) ประธานและซีอีโอของมูลนิธิรอสคองเกรส ยังได้นำเสนอเวทีเสวนาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น St. Petersburg International Economic Forum, the Russian Energy Week, the Russian Travel Tourism Forum “Let’s Travel”, St. Petersburg International Legal Forum, the Russian Design Industry Forum และ the Eastern Economic Forum. อเล็กซานเดอร์ สตุกเลฟ ได้กล่าวว่า ธุรกิจไทยได้เข้าร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นโดย มูลนิธิรอสคองเกรส ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2566 ที่ผ่านมาภาคธุรกิจไทยเข้าร่วมกิจกรรมของมูลนิธิรอสคองเกรส อย่างต่อเนื่องโดย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และตัวแทนจาก บริษัทในอุตสาหกรรมต่างๆ ในภาคพลังงานและ เทคโนโลยี จำนวน 157 แห่ง ได้เข้าร่วมวงเสวนา Eastern Economic Forum และในปี 2567 ประเทศไทยได้นำเสนอนิทรรศการ ขนาดใหญ่ ภายใต้ชื่อ The Travel! Forum
“ตามที่ได้มีการระบุไว้ใน International Business Forum "World of Opportunities: Russia-ASEAN" ที่ผ่านมาว่า ความร่วมมือกับประเทศในกลุ่มอาเซียนยังคงดำเนินต่อไปและเป็นหนึ่งในกลุ่มความร่วมมือที่รัฐบาลรัสเซียให้ความสำคัญ ซึ่ง ประเทศไทยในฐานะหนึ่งในเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียนมีความน่าสนใจเป็นพิเศษในมุมมองของภาคธุรกิจรัสเซีย โดยหน้าที่ของเรา คือรวบรวมโอกาสทั้งหมดเพื่อความร่วมมือระหว่างธุรกิจรัสเซียและไทย ที่ผ่านมามูลนิธิรอสคองเกรสสร้างโอกาสแก่ธุรกิจไทย ในการค้นหาคู่ค้า บรรลุข้อตกลง และหารือเพื่อการร่วมมือในอนาคต” สตุกเลฟ กล่าวเสริม
ที่สำคัญปัจจุบันการพัฒนาความร่วมมือของทั้งสองประเทศได้เริ่มดำเนินการแล้ว โดยรัฐบาลรัสเซียเสนอเงื่อนไข ที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจให้แก่ประเทศไทย ตัวอย่างเช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ อาทิ พื้นที่การพัฒนาขั้นสูงในภาคตะวันออกไกล ผ่านการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและขั้นตอนการบริหารที่ไม่ซับซ้อน โดยประเทศไทยสนใจการส่งออกและความช่วยเหลือใน อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากรัสเซีย นอกจากนี้ การส่งมอบผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรรวมทั้งทรัพยากรด้านพลังงานของรัสเซีย อย่างสม่ำเสมอช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศของไทยและช่วยลดต้นทุนการผลิตเช่นเดียวกัน
ด้านเยฟกินี โทมิคิน (Evgeny Tomikhin) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย กล่าวว่า "ไทยและรัสเซียได้สร้าง ความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ เช่น พลังงานและเกษตรกรรม รวมทั้งกำลังหารือประเด็นการบังคับ ใช้กฎหมายผ่านสภาความมั่นคงของรัสเซียและไทย นอกจากนี้ทั้งสองประเทศอยู่ในช่วงพิจารณาความเป็นไปได้ของข้อตกลงเขต การค้าเสรีกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic Union : EAEU) ซึ่งอาจช่วยสนับสนุนการพัฒนาความร่วมมือทาง เศรษฐกิจได้ อีกทั้งความร่วมมือด้านมนุษยธรรมก็อยู่ในช่วงดำเนินการผ่านโครงการร่วมในด้านวิทยาศาสตร์ การศึกษา และวัฒนธรรม ผมมั่นใจว่าการประชุมครั้งนี้จะกลายเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาโครงการในพื้นที่เหล่านี้ รวมถึงในเวทีธุรกิจสำคัญ ในรัสเซีย"
“เราได้รับคำขอทางด้านความร่วมมือจากทั้งนักธุรกิจไทย และ ธุรกิจจากทางรัสเซียเป็นจำนวนมาก และการประชุมในครั้งนี้มีความสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพ พร้อมค้นหาวิธีการผ่านอุปสรรคร่วมกัน นี้คืออีกเหตุผลสำคัญที่ธุรกิจไทยควรเข้าร่วมอีเว้นท์ทางธุรกิจของรัสเซีย รวมไปถึงงานที่จะจัดขึ้นจากมูลนิธิรอสคองเกรส ทั้งนี้ยิ่งมีจำนวนบริษัทเข้าร่วมมากเท่าไรเราก็ยิ่งมีโอกาสที่จะสร้างความร่วมมือทางธุรกิจมากขึ้นเท่านั้น” ยูริ ลีชิน (Yuri Lyzhin) ผู้แทนทางการค้าของสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย กล่าว
มากไปกว่าตัวแทนจากภาคธุรกิจได้แบ่งปันประสบการณ์ความร่วมมือระหว่างรัสเซียและไทย ผู้ร่วมอภิปรายประกอบ ด้วย ยูริ ลีชิน (Yuri Lyzhin) ผู้แทนทางการค้าของสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย คอนสแตนติน กอร์เชเนฟ (Konstantin Gorshenev) ตัวแทนจาก "OPORA Russia” องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่ทำหน้าที่สร้างพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนระหว่างเจ้าของและผู้จัดการธุรกิจขนาดเล็กและกลางประจำกรุงเทพฯ วารินทร์ แคร่า รองประธาน กรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Cloudsec Asia และอดิศร์ กฤษณวงศ์ กรรมการบริหารสูงสุดหอการค้าแห่งประเทศไทย
ส่วนผู้ที่สนใจที่จะเข้าร่วมการเจรจาทางธุรกิจในปี 2568 ที่จะถึงนี้ สามารถเข้าร่วมได้ที่ the St.Petersburg International Economic Forum ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-21 มิถุนายน 2568 และในช่วงฤดูใบไม้ร่วงกับ the Eastern Economic Forum ที่เมืองวลาดิวอสตอค ระหว่างวันที่ 3-6 กันยายน 2568
บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยนางสาวปวีณา จูชวน (ขวา) ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เป็นผู้แทนบริษัทฯ รับรางวัลจรรยาบรรณดีเด่น หอการค้าไทย ปีที่ 22 ประจำปี 2567 จากศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย (กลาง) องคมนตรี โดยมีนายสนั่น อังอุบลกุล (ซ้าย) ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นเกียรติในงานประกาศเกียรติคุณจรรยาบรรณดีเด่น หอการค้าไทย ประจำปี 2567 (The Thai Chamber of Commerce Business Ethics Standard Test Awards: TCC Best Award 2024) ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567
กรุงเทพประกันภัยได้รับรางวัลจรรยาบรรณดีเด่น หอการค้าไทย ซึ่งบริษัทฯ ได้รับรางวัลดังกล่าวต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 ในฐานะเป็นองค์กรที่บริหารธุรกิจอย่างมีจรรยาบรรณตามหลักจรรยาบรรณของหอการค้าไทย แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และการบริหารงานของบริษัทฯ ที่มุ่งดำเนินธุรกิจอย่างมีจรรยาบรรณ
บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) นำโดย นางสาวอรนาฎ นชะพงษ์ ผู้บริหารสายกลยุทธการตลาดและบริหารจัดการลูกค้า พร้อมด้วย นายนรินทร์ เอกวงศ์วิริยะ ผู้บริหารฝ่ายการตลาดและสื่อสารองค์กร จัดกิจกรรม Bangkok Life Happy Movie Day เพื่อมอบสิทธิประโยชน์ให้กับลูกค้าที่เป็นสมาชิก BLA Happy Life Club โดยเชิญชวนร่วมชมภาพยนตร์ Moana 2 แอนิเมชันชื่อดังจากดิสนีย์ ช่วงเทศกาลวันพ่อ พร้อมกิจกรรมสนุก ๆ มากมาย ณ โรงภาพยนตร์ไอแมกซ์ เลเซอร์ ควอเทียร์ ซีเนอาร์ต เอ็มควอเทียร์ เมื่อเร็ว ๆ นี้
กิจกรรมดูหนังร่วมกันในครอบครัวเป็นกิจกรรมที่กรุงเทพประกันชีวิต ตั้งใจจัดขึ้นเพื่อขอบคุณลูกค้าที่มอบความไว้วางใจให้กรุงเทพประกันชีวิตดูแล ด้วยการส่งมอบความสุขให้ทุกคนในครอบครัว ซึ่งนอกจากจะได้ใช้เวลาร่วมกันแล้ว ยังเสริมสร้างจินตนาการ และการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ผ่านเรื่องราวการเดินทางผจญภัยครั้งใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมของ Moana โดยในวันดังกล่าวมีลูกค้าเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 1,000 คน ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการเป็นแบรนด์ประกันชีวิตที่ดูแลเรื่องความมั่นคงทางการเงิน รวมถึงใส่ใจ ส่งมอบความสุขให้ลูกค้าได้ในทุก ๆ วัน โดยจะมีสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อีกมากมายที่จะมอบให้ลูกค้าคนสำคัญตลอดปี 2568
วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ร่วมกับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดโครงการแข่งขันเพื่อพัฒนาทักษะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและนักศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.)และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.ส่งเสริมการพัฒนาทักษะผู้ประกอบการ สำหรับนักเรียนและนักศึกษา 2.พัฒนาทักษะที่จำเป็นในยุคปัจจุบัน เช่น การทำงานร่วมกับผู้อื่น การแก้ปัญหา การสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการใช้เทคโนโลยี และ3.เตรียมความพร้อมกำลังคนคุณภาพในการพัฒนาประเทศ
โครงการดังกล่าว เปิดรับสมัครนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และนักศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. ตั้งแต่วันนี้ - 17 มกราคม 2568 โดยมีกิจกรรมการแข่งขัน 4 เวทีหลัก ดังนี้:
1. โครงการแข่งขันตอบปัญหาทางบัญชี "สัมมาอาชีวบัญชี มหาจักรีสิรินธร" ครั้งที่ 10 เนื่องด้วยวิชาชีพบัญชี เป็นหนึ่งในสาขาวิชาชีพที่ถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งยังเป็น 1 ใน 7 สาขาวิชาชีพ ที่มีการพัฒนาข้อตกลงในการโอนย้ายแรงงานเสรีในกรอบข้อตกลงยอมรับร่วมสาขาวิชาชีพนักบัญชีของประชาคมอาเซียน DPU เห็นความจำเป็นในการสร้างความเข้าใจเชิงลึก และความตระหนักรู้ในความรับผิดชอบทางวิชาชีพให้แก่นักเรียนสายวิชาชีพบัญชีในระดับอาชีวศึกษา ในการพัฒนาให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีศักยภาพในอนาคต
การจัดการแข่งขันครั้งนี้ จึงจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาความรู้และทักษะของนักเรียน นักศึกษา ในสายวิชาชีพบัญชี โดยมีกำหนดจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 24 มกราคม 2568 เวลา 08.00 - 16.30 น. ณ ห้องประชุมปรีดี พนมยงค์ชั้น 7อาคารเฉลิมพระเกียรติ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์และสมัครได้ที่: https://forms.gle/nH5KR4WkhkrTQpWk6
2. โครงการเทรดหุ้น "GenZ Biz-Investor สู่โลกลงทุนเรียนรู้ตลาดหุ้นจริงกับ App เทรดของคน GenZ-Season2" โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาทักษะการลงทุนในตลาดหุ้นจริง ผ่านการใช้แอปพลิเคชัน "Finansia HERO" ซึ่งในการแข่งขันครั้งนี้มุ่งเน้นการนำความรู้ด้านการเงินและการลงทุนมาร่วมกับการใช้เทคโนโลยีทางการเงินผ่านเครื่องมือการเทรดหุ้นจำลอง เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาการเรียนรู้ผ่านการลงทุนเสมือนจริง รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยพื้นฐานเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งการประเมินจังหวะการลงทุนที่เหมาะสม และการพัฒนาทักษะอื่น ๆ ที่สำคัญในการลงทุน ได้แก่ ทักษะการทำงานกับผู้อื่น ทักษะการแก้ปัญหาและการวิเคราะห์ เป็นต้น โดยกำหนดการจัดกิจกรรมแข่งขัน ในวันจันทร์ที่ 27 มกราคม 2568 เวลา 08.00 - 17.30 น. ณ ห้องประชุมปรีดี พนมยงค์ ชั้น 6 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ และ สมัครได้ที่:https://forms.gle/2Zf5qhXaskx1UnRf8
3. โครงการประกวดโมเดลธุรกิจและสร้างแบรนด์ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ครั้งที่ 1 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาศักยภาพเยาวชนระดับมัธยมปลายและอาชีวศึกษา ผ่านการส่งเสริมทักษะผู้ประกอบการที่ครอบคลุม อาทิ การคิดวิเคราะห์ การทำงานเป็นทีม และความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นให้นักเรียนและนักศึกษาสามารถพัฒนาโมเดลธุรกิจที่มีความยั่งยืน โดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างความสำเร็จทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และเพื่อเตรียมความพร้อมให้เยาวชนก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพและมีวิสัยทัศน์ในอนาคต โดยกำหนดการจัดกิจกรรมแข่งขันในวันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม 2568 เวลา 08.00 - 16.30 น. น. ณ ห้องประชุมปรีดี พนมยงค์ ชั้น 7 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ และสมัครได้ที่: https://forms.gle/6CXQox2X2WXr3zzE9
4. โครงการแข่งขันเกมจำลองบริหารธุรกิจนวัตกรรมและความยั่งยืน ครั้งที่ 3 ด้วยตระหนักถึงความท้าทายในโลกปัจจุบันที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว การจัดโครงการแข่งขันเกมจำลองฯ จึงมีจุดประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมให้เยาวชนสู่การเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ ผ่านแพลตฟอร์มเกมจำลองซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะสำคัญ อาทิ การทำงานร่วมกัน การแก้ปัญหา การสื่อสาร และความคิดสร้างสรรค์ โดยมุ่งหวังให้เยาวชนสามารถปรับตัวและสร้างนวัตกรรมท่ามกลางความท้าทายของโลก ด้วยการเรียนรู้การวางแผนธุรกิจ การสร้างแบรนด์ และคำนึงถึงความยั่งยืนอย่างรอบด้าน โดยกำหนดการจัดกิจกรรมแข่งขันในวันที่ศุกร์ 31 มกราคม 25668 เวลา 08.00 - 16.30 น. ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ และสมัครได้ที่ : https://forms.gle/aJkTsbKbHTjDskUT7 (จำกัด 66 ทีม)
วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ขอเชิญชวนนักเรียน นักศึกษาที่มีความมุ่งมั่น มีความคิดสร้างสรรค์ มาร่วมพัฒนาทักษะและแสดงศักยภาพผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ การทำงานร่วมกัน รวมทั้งพัฒนาทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับนักศึกษา เพื่อก้าวสู่การเป็นบุคลากร ที่มีความพร้อมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ - 17 มกราคม 2568 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://ciba.dpu.ac.th/
นายบัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พรูเด็นเชียล ประเทศไทย พร้อมด้วย นายอิฎฐ์ อภิรักษ์ติวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานพัฒนาองค์กร เข้าร่วมพิธีรับมอบรางวัลเชิดชูเกียรติและประกาศเกียรติคุณ ในฐานะหน่วยงานที่ทำคุณประโยชน์และคุณูปการต่อกรุงเทพมหานคร จาก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่ง พรูเด็นเชียล ประเทศไทย ได้รับมอบประกาศเกียรติคุณ โล่ และเข็มเชิดชูเกียรติ จากโครงการ “Give the Future: การให้ที่ยั่งยืน คือ การให้ที่ส่งต่อได้” โดยการมอบประกันภัยอุบัติเหตุแก่กลุ่มลูกจ้างกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นกลุ่มคนเปราะบางให้สามารถเข้าถึงประกันได้ จำนวน 51,000 คน ทุนประกันรวม 5,100,000,000 บาท และ ใบประกาศเกียรติคุณ จากกิจกรรม “"Prudential Thailand Run for Growth" โดยเชิญชวนพนักงานมาร่วมสร้างสุขภาพที่แข็งแรงด้วยการวิ่ง-เดิน พร้อมส่งมอบกล้าต้นไม้และจักรยานให้แก่กรุงเทพมหานคร ด้วยการร่วมสนับสนุนโครงการ “Green Bangkok 2030” ซึ่งพิธีมอบรางวัลฯ จัดขึ้นที่ห้องประชุมรัตนโกสินทร์ ชั้น 1 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เร็วๆนี้
เอสซีจี ร่วมแบ่งปันหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในงาน “Vietnam Circular Economy Forum 2024” จัดโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของเวียดนาม และพันธมิตรองค์กรชั้นนำทั้งเวียดนามและไทย เพื่อนำแผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนแห่งชาติเวียดนาม ซึ่งกำลังจะได้รับการอนุมัติจากนายกรัฐมนตรีของเวียดนามไปปฏิบัติจริง หลังภาครัฐ เอกชน องค์กรไม่แสวงผลกำไร สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งเอสซีจี ร่วมผลักดันแผนดังกล่าวมากว่า 3 ปี
นายชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารความยั่งยืน เอสซีจี เผยในงานดังกล่าวว่า “แนวคิดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน ESG (Environmental, Social, Governance) เพื่อสร้าง Inclusive Green Growth ของเอสซีจี เราจึงร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของเวียดนาม และอีกหลายภาคส่วน จัดงาน “Vietnam Circular Economy Forum 2024” ขึ้นต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินธุรกิจตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
สำหรับปีนี้ที่เวียดนามได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนแห่งชาติขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ เอสซีจีในฐานะองค์กรที่ส่งเสริม ESG และหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ผ่านการลงทุนในนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า นำทรัพยากรใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงมุ่งมั่นร่วมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนนี้ทั้งในเวียดนามและประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน หรือภูมิภาคอื่น ๆ ที่เราเข้าไปดำเนินธุรกิจ อย่างเช่นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เอสซีจีได้ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐ เอกชน จัดงาน “ESG SYMPOSIUM 2024 INDONESIA: INCLUSIVE GREEN GROWTH FOR GOLDEN INDONESIA” ในประเทศอินโดนีเซีย เพื่อสร้างความร่วมมือผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เดินหน้าพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัยและตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมุ่งเน้นการบูรณาการแนวคิด Sustainability Trends เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) และเป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (STGs) เข้ากับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความพร้อมในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด High Value Added Services
ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเดินหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ที่จัดตั้งโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อแก้ปัญหาระดับโลกใน 17 เป้าหมายสำคัญในมิติต่าง ๆ เช่น การศึกษา สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น โดยมีเป้าหมายหลักให้สำเร็จภายในปี 2573 ด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI( Artificial Intelligence) เข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลและเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ แต่ยังมีข้อจำกัดที่ต้องพิจารณา เช่น ความปลอดภัยของข้อมูล ฯลฯ
ดร.ยุวรี โชคสวนทรัพย์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและเทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกวงการ รวมถึงภาคการท่องเที่ยว ดังนั้นทางคณะฯ จึงได้ปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับแนวโน้มดังกล่าว โดยเน้นการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อให้นักศึกษานำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยบูรณาการแนวคิด SDGs สอดแทรกไปในทุกรายวิชา เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้การจัดการท่องเที่ยวที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน
เสริมการเรียนรู้ผ่านชุมชน
ดร.ยุวรี กล่าวว่า หลักสูตรการเรียนมีทั้งหมด 3 สาขา ประกอบด้วย 1.สาขาการท่องเที่ยวและธุรกิจอีเวนต์ ได้ปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดรับกับรูปแบบการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่เน้นรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ปรับเป็นการจัดทัวร์แบบกลุ่มเล็ก เพื่อลดมลภาวะ ทั้งยังพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ โดยให้มีการจัดตั้งบริษัททัวร์จำลอง เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้การจัดทัวร์ในรูปแบบที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีรายวิชาที่ส่งเสริมการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มให้วัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น นักศึกษายังได้เรียนรู้การเป็นมัคคุเทศก์ที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ก่อนจะก้าวไปเป็นเจ้าของธุรกิจนำเที่ยวในอนาคต
ปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม
จากการขึ้นทะเบียน อุทยานธรณีโลก UNESCO (UGGP) ของประเทศไทย 2 แห่ง คือ อุทยานธรณีโลกสตูล และ อุทยานธรณีโลกโคราช รูปแบบการท่องเที่ยวในพื้นที่เหล่านี้ เน้นจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว เพื่อรักษาสมดุลธรรมชาติ โดยรูปแบบการท่องเที่ยวแบบใหม่ถูกนำมาสอดแทรกกับรายวิชาการท่องเที่ยวลดมลภาวะ ที่ผ่านมาคณาจารย์ของทางคณะฯ ได้ทำวิจัย หัวข้อ “การสำรวจศักยภาพในการจัดกิจกรรมดูนกเพื่อการเรียนรู้โดยใช้พื้นที่สถานศึกษาขนาดกลางในเขตเมือง กรณีศึกษามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์” พบว่ามีนกรวม 39 ชนิดในมหาวิทยาลัย งานวิจัยดังกล่าวถูกนำมาใช้ในการสอนในรายวิชาท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ผ่านการเรียนรู้กิจกรรมดูนก โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมดูนกมาร่วมเป็นวิทยากร รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านโครงการรีไซเคิลที่นักศึกษาจะต้องคิดค้นร่วมกับอาจารย์ผู้สอน เช่น การเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยการรวบรวมฝาขวดน้ำมอบให้กับบริษัท Qualy เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากพลาสติก พร้อมกับเชิญผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรมาบรรยายความรู้ เพื่อให้เห็นความสำคัญของการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนจากวัสดุเหลือใช้
นอกจากนี้ ยังได้รับนโยบายจากมหาวิทยาลัย โดยทางคณะฯ ได้ดำเนินการตาม SDGs เป้าหมายที่ 15 Life on Land ด้านการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศบนบก โดยกิจกรรมที่ผ่านมา นักศึกษาร่วมกับอาจารย์ทำโครงการอนุรักษ์ที่ ศูนย์อนุรักษ์นกน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ผ่านกิจกรรมปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและในปีต่อมา คณะฯ ได้ขยายกิจกรรมไปยัง ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า จ.นครนายก โดยนักศึกษาได้ร่วมกิจกรรมทำความสะอาดและปรับปรุงกรงเสือ ซึ่งกิจกรรมลักษณะนี้ถูกบูรณาการเข้าไปในหลักสูตรตั้งแต่ปี 1 เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกการอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่เริ่มต้นการศึกษา
ปูพื้นความรู้ Green Hotel
ดร.ยุวรี กล่าวเพิ่มเติมว่า 2.หลักสูตรสาขาการโรงแรมและธุรกิจอาหาร ได้ร่วมมือกับโรงแรม 5 ดาว เช่น เครือแมริออท ผ่านโครงการ CWIE (Cooperative and Work-Integrated Education) เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกงานในสถานประกอบการจริง และยังได้เรียนรู้แนวคิด Green Hotel ผ่านโครงการนำ Food Waste หรือเศษอาหารเหลือใช้มาแปรรูปให้เป็นประโยชน์ นอกจากนี้ นักศึกษายังนำแนวคิดนี้มาต่อยอดเป็น Project ของการฝึกงานในสถานประกอบการ ภายใต้โครงการ “การศึกษาแนวทางการใช้ประโยชน์จากขยะอาหารจากอาหารมื้อเช้าโรงแรม” โดยมีแนวทางแก้ไขโดย นำอาหาร Food Waste มาแปรรูปเป็นคุกกี้เบคอนสำหรับสุนัข ซึ่งได้รับรางวัลชมเชยประเภทโปสเตอร์จากโครงการ CWIE ปีการศึกษา 2566
ทั้งนี้ ก่อนฝึกงาน นักศึกษาได้เรียนรู้แนวคิด Green Hotel จากการเรียนการสอนที่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับ โรงแรมขนาดเล็กและโฮมสเตย์ โดยเรียนรู้จากการได้ฝึกประสบการณ์จริงในโรงแรม DPU Park Hotel ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของคณะฯ และเปิดให้บริการกับบุคคลทั่วไป อีกทั้งยังได้เรียนรู้จากกรณีศึกษาของอาจารย์ในหลักสูตร ที่มีการลงพื้นที่ชุมชนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอาชีพด้านการโรงแรมและการบริการ รวมถึงแนวทางจัดการสิ่งแวดล้อมและปรับปรุงที่พักให้ได้มาตรฐาน ให้เหมาะสมกับแนวคิดการท่องเที่ยวยั่งยืน
ปั้นเชฟมืออาชีพ-สร้างมูลค่าเพิ่ม Food Waste
และ 3.สาขาวิชาศิลปะการประกอบอาหาร นักศึกษาจะได้ฝึกทักษะระดับเชฟในโรงแรมและร้านอาหารมิชลินสตาร์ โดยนอกจากเรียนรู้การทำอาหารแล้ว ยังต้องเข้าใจการจัดการ Food Waste ซึ่งช่วยลดปริมาณขยะอาหารและสร้างมูลค่าเพิ่มให้วัตถุดิบเหลือทิ้ง เพื่อลดมลพิษจากขยะอินทรีย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางสนับสนุน SDGs เป้าหมายที่ 12 Responsible Consumption and Production ด้านการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน
นำ AI มาประยุกต์ใช้
ในปีการศึกษา 2567 ทางคณะฯ รับนโยบายจากมหาวิทยาลัย และ Academic Group 1 กำหนดให้นำเทคโนโลยี AI เข้ามาสนับสนุนการเรียนการสอน เช่น นำ ChatGPT มาช่วยจำลองสถานการณ์บริการในงานโรงแรมและการท่องเที่ยว โดยมีที่ปรึกษาด้านไอทีคอยแนะนำการเขียน ChatGPT Prompts เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ โดยคาดหวังให้นักศึกษาสามารถออกแบบเส้นทางท่องเที่ยว สร้างโปรแกรมนำเที่ยว และตอบคำถามของลูกค้าได้เสมือนจริง สำหรับ AI ในงานบริการ ยังมีบทบาทสำคัญในโรงแรม เช่น การเก็บข้อมูลประวัติลูกค้า เพื่อนำไปใช้วางแผนบริการที่ตรงใจลูกค้ามากขึ้น โดยในภาคเรียนถัดไปจะเริ่มนำ AI เข้ามาใช้ในการเรียนการสอนอย่างเป็นรูปธรรม
“ทั้งนี้ คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรมยังเน้นปลูกฝังแนวคิด High Value Added Services หรือ การบริการมูลค่าสูง ให้กับนักศึกษา โดยมุ่งสร้างบัณฑิตที่ไม่เพียงแค่มีความรู้ด้านงานบริการ แต่ยังสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการให้บริการมูลค่าสูงอย่างยั่งยืน เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบริการที่เปลี่ยนแปลงตามเทรนด์ของโลก”ดร.ยุวรี กล่าวในตอนท้าย