รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเครือข่ายพันธมิตรพัฒนาเมือง “City Development Alliance: CDA” ซึ่งสมาคมการผังเมืองไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เพื่อสนับสนุนทางวิชาการให้กับการพัฒนาเมือง ร่วมกันสร้าง ค้นหา และ ออกแบบความรู้ร่วมกัน พัฒนานโยบายทางด้านการพัฒนาเมืองของประเทศไทย ได้กำหนดแผนการดำเนินงานขึ้นในพื้นที่นำร่อง 19 เมือง
ทั้งนี้ มข.จะทำหน้าที่เป็นประธานเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนตามกรอบแนวทางการพัฒนาเมืองโดยมีกฎบัตรของเมืองต่างๆนั้นเป็นหัวใจหลักในการพัฒนา ซึ่งมข.และมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมดำเนินการตามโครงการดังกล่าวนี้จะนำหลักวิชาการและองค์ความรู้ด้านวิชาการ นำมาถ่ายทอดและต่อยอดจากสิ่งที่แต่ละเมืองนั้นได้ดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งทุกเมือง และทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เข้าร่วมตามแผนการดำเนินงานดังกล่าวนี้นั้นจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนและนำเสนอในสิ่งที่มี สิ่งที่ขาดและสิ่งที่ต้องการบนพื้นฐานที่เกิดขึ้นจากความต้องการของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมสนับสนุนการพัฒนาเมืองตามแนวทางเมืองอัจริยะ และได้กำหนดเป็นประเด็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการบริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น
“ขณะนี้มีเมืองต่างๆ จำนวน 19 แห่ง ที่ประกอบด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบริษัทพัฒนาเมือง ที่เข้าร่วมกับการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือดังกล่าว จากนี้ไปคณะทำงานร่วม 6 หน่วยงานหลักจะลงพื้นที่เพื่อเปิดเวทีสาธารณะ ในการรับฟังความคิดเห็นและความต้องการ และสิ่งที่คนในชุมชนนั้นอยากที่จะนำเสนอและอยากให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งบริบทของแต่ละพื้นที่ทั้ง 19 เมืองนั้นล้วนแตกต่างกันไปแต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ คนในชุมชนนั้นมีความเข้มแข็ง มีการรวมกลุ่ม มีการร่วมกันวางแผน ยุทธศาสตร์ ด้วยข้อตกลงร่วมกันของสังคม ซึ่งเรียกกันว่า “กฎบัตร” ซึ่งเป็นรูปแบบการพื้นฟูพัฒนาเมือง และพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ดังนั้นวันนี้จึงเป็นมิติใหม่ในการพัฒนาเมืองที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือจากภาควิชาการที่เข้าไปสนับสนุนการทำงานในพื้นที่นำร่อง 19 เมืองที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ไป”
ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี โดย นายวิชาญ เจริญกิจสุพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทผลิตภัณฑ์กระดาษไทย จำกัด ผนึกกำลัง เทสโก้ โลตัส โดย นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส ในงาน “Rethink Packaging คิดใหม่ ทำใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม”
เพื่อประกาศยกเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟมทั้งหมดของเทสโก้ โลตัส ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2562 เป็นต้นไป พร้อมเพิ่มความเข้มข้นของการดำเนินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยโครงการแบบครบวงจรและมุ่งสู่การสร้างระบบปิดของบรรจุภัณฑ์ (closed loop system) ภายใต้กลยุทธ์ 3R (Redesign, Reduce, Recover & Recycle) โดยมี นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกียรติร่วมงาน
สำหรับความร่วมมือระหว่างเอสซีจี และเทสโก้ โลตัส ครั้งนี้ มีตั้งแต่การจำหน่ายบรรจุภัณฑ์อาหารปลอดภัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแบรนด์เฟสท์ (Fest) จากเอสซีจี ให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบรรจุภัณฑ์ที่เป็นทางเลือกได้อย่างสะดวกสบาย เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานจากกล่องโฟมหรือบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้มากขึ้น
นอกจากนี้ เอสซีจียังให้บริการนำบรรจุภัณฑ์กระดาษใช้แล้วที่เก็บรวบรวมจากสาขาเข้าสู่ศูนย์กระจายสินค้าเทสโก้ โลตัส ไปรีไซเคิลและผลิตเป็นถุงกระดาษสำหรับใช้แทนถุงพลาสติกอีกด้วย จึงนับเป็นความร่วมมือที่เอสซีจี และเทสโก้ โลตัส ประสานพลังในการส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ตอบสนองทั้งฟังก์ชั่นการใช้งานของผู้บริโภค และตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนของเอสซีจี หรือ SCG Circular Way
บมจ.กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต นำโดย คุณชัยณรงค์ เอื้อสิทธิชัย ประธานเจ้าที่บริหาร ฝ่ายจัดจำหน่ายผ่านธนาคาร (กลาง) พร้อมด้วยพนักงานจิตอาสาฝ่ายขาย ภูมิภาคนครหลวง 2 ร่วมจัดกิจกรรม “BANC’s Hearts in Action Day ครั้งที่ 2” หรือกิจกรรมจิตอาสาจากใจของทีมฝ่ายจัดจำหน่ายผ่านธนาคารเพื่อสังคมไทยน่าอยู่ โดยครั้งนี้ ผู้บริหารและพนักงานจิตอาสาได้ลงพื้นที่ ณ บริเวณป่าชายเลนบางขุนเทียน เพื่อเข้าไปช่วยในการฟื้นฟูระบบนิเวศจากปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะแนวชายฝั่ง รวมทั้งเพื่อช่วยรักษาความสมดุลระบบนิเวศป่าชายเลนบางขุนเทียนให้คงไว้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอกย้ำเป้าหมายหลักของบริษัท ฯ คือ การให้โอกาสทุกคนได้มีชีวิตที่ดีขึ้นตามใจปรารถนา
เชื่อกันว่าความก้าวหน้าของบล็อกเชน ในปีค.ศ.2019 จะเผยโฉมถึงปรากฏการณ์ของความเปลี่ยนแปลงและ Technology Disruption อย่างประจักษ์ชัดอีกหลายประการ เพราะวันนี้บล็อกเชนได้ก้าวข้ามความเป็นเทคโนโลยีที่รองรับ Bitcoin หรือคริปโตเคอเรนซี่ เข้าสู่มิติของการประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมจริง หรือ Real Sector จากกรณีตัวอย่างของการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมภาคต่างๆ อย่างหลากหลาย คือมุมเปิดความคิดเห็นของนักพัฒนาและโปรแกรมเมอร์รุ่นเก๋ากว่า 20 ปีในวงการไอที โดม เจริญยศ ซีอีโอ บริษัท โดมคลาวด์ จำกัด และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท สยามไอซีโอ จำกัด และอีกหลายองค์กรที่ โดม เจริญยศมีส่วนร่วมก่อตั้งเพื่อหวังพัฒนาระบบนิเวศน์ของเทคโนโลยีรอบใหม่
“สถานการณ์บล็อกเชนในวันนี้ เป็นเรื่องที่รับรู้และเข้าใจกันอยู่ในคนสายเทคและกลุ่มฮาร์ดคอร์ ในส่วนภาคอุตสาหกรรมหรือองค์กร ธนาคารและกลุ่มสถาบันการเงินเริ่มมีการใช้บล็อกเชนมาสักระยะหนึ่งแล้ว เช่น นำมาใช้ในการออกหนังสือสัญญาค้ำประกัน (Bank Guarantee) ที่เป็นลักษณะออนไลน์อยู่บนบล็อกเชน ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็เริ่มศึกษาแนวทางการประยุกต์ใช้บล็อกเชน สำหรับในบ้านเราก็เรียกว่าอยู่ในขั้นของการเรียนรู้ ส่วนในกลุ่ม End User และการรับรู้บล็อกเชนในวงกว้าง คนทั่วไปส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยรับรู้ว่า ระบบการทำธุรกรรมการเงินที่ใช้อยู่บางธุรกรรมเป็นบล็อกเชนแล้ว เช่น กฎหมายด้านดิจิทัลและธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่เริ่มประกาศใช้สำหรับการดำเนินธุรกรรมกับธนาคารและสถาบันการเงิน ที่อยู่ในขั้นตอน KYC (Know Your Customer) ที่มีการส่งข้อมูลส่วนตัวเพื่อยืนยันตัวตนที่เรียกว่า Digital ID ตรงนี้ เป็นการใช้บล็อกเชน ซึ่งคนทั่วไปยังไม่รู้ตัวว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนได้เริ่มแทรกเข้ามาอยู่ในธุรกิจและชีวิตประจำวันแล้ว การส่งเสริมความเข้าใจและการรับรู้เรื่องของบล็อกเชนเพื่อเอาประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เป็นอนาคตใหม่จึงเป็นสิ่งพึงควรและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง” คือความคิดเห็นของ โดม
อัปเดตการระดมทุน บนถนนเทคโนโลยี
โดม บอกเล่าถึงช่วงที่ผ่านมามีกระแสการระดมทุนที่เรียกว่า IEO หรือ Initial Exchange Offering ซึ่งมีโมเดลที่น่าตกใจ ชื่อ IEO ฟังคล้ายกับ ICO (Initial Coin Offering) ซึ่งได้รับความสนใจและมีอัตราเติบโตอย่างก้าวกระโดด ในหลายประเทศทั่วโลก เกิด Token หรือ Coin ที่ออกมาระดมทุนเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นจากหลักร้อยเป็นหลักพันเหรียญในเวลาอันรวดเร็ว อย่างไรก็ดี โมเดล ICO ยังมีข้อจำกัด และยังรอการผ่านกระบวนการกำหนดกฎเกณฑ์และพิจารณาให้เป็นไปตามกฎหมาย การเงินและการลงทุนอย่างถูกต้องและปลอดภัย แต่สำหรับ IEO ไม่ต้องผูกพันกัน ไม่ต้องการ Smart Contract เป็นการออกเหรียญมาแล้วเทรดใน Exchange เลย ราคาขึ้น-ลง ขึ้นอยู่กับ Market Maker และไม่สามารถย้ายไปเหรียญที่ Exchange อื่น แต่ก็ปรากฏว่ามีคนแห่แหนเข้ามาระดมทุนและลงทุนกันอยู่ไม่น้อย
ลักษณะนี้คือ อวตาร เพราะเจ๊งแน่ๆ ไม่มีทางที่จะขึ้นมาได้อย่างแน่นอน เมื่อลงมีคนเสีย เมื่อขึ้นมีคนได้ มีอยู่เท่านั้นเอง แต่แน่นอนว่าไม่ส่งผลกระทบถึงคนข้างนอก เพราะเมื่อซื้อก็เทรดที่ Exchange นั้น และในเมืองไทยไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เพราะไม่มีทางผ่านหลักเกณฑ์ก.ล.ต.ไปได้
สำหรับกระแสการระดมทุน ที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย คือ STO หรือ Security Token Offering เพราะเป็นการนำหลักทรัพย์มาแปลงเป็นรูปแบบดิจิทัล ขณะเดียวกันการระดมทุนด้วยเหรียญ Crypto บนบล็อกเชนในรูปแบบ ICO จะลดลง เพราะว่าการระดมทุน STO มีความปลอดภัยและแน่นอน เมื่อมีความเป็นเหตุเป็นผลก็จะเริ่มเข้ามามีบทบาท โดยทุกคนนำเงินไปลงทุนมีกำไรและนำมาคืนแบบ Smart Contract ซึ่งก็คือ หุ้นกู้แบบไร้ใบเท่านั้นเอง ทุกคนต้องเจอกันและตลาดมีอยู่ทั่วโลก
สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับบล็อกเชน
โดมย้ำว่า สิ่งสำคัญของการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือ Database ของบล็อกเชนเป็นสิ่งที่แก้ยาก เพราะในกระบวนการทำธุรกรรมบนบล็อกเชนทั้งหมดนั้นทำนอกเชน เช่น เมื่อมีการทำธุรกรรมโอนเงิน จะมีการเข้ารหัส หลังจากนั้นจึงจะโยนเข้าไปในเชน ดังนั้นเชนไม่รู้จักรหัสผ่าน ไม่มีการเก็บรหัสใดๆ ไว้
นี่คือความยิ่งใหญ่ของบล็อกเชน มีความเก่ง คือ Secure แต่มีข้อเสียคือ ช้า และจะไม่เร็วขึ้น จะเร็วแค่ถึงจุดหนึ่งเท่าที่จะรับได้เท่านั้น เพราะจะทำให้สูญเสียความ Secure ไป ยกตัวอย่าง Crypto Wallet นั้น จะมีคีย์ 2 ตัว คือ User และ Password ดังนั้นเหตุการณ์ลักลอบทำธุรกรรมการโอนเงินของเรานั้น ไม่มีทางทำได้เลย เพราะคีย์ทั้ง User และ Password อยู่กับเรา ไม่มีในเชน และหากว่าเราลืมก็คือหาย ซึ่งมีวิธีเก็บหลายแบบ เช่น เก็บเป็นตัวหนังสือจึงต้องแลกกัน นี่คือสิ่งที่เป็นข้อดีของบล็อกเชนที่ท้าทายและเราต้องแลก แต่ถ้าเป็นในระบบเดิม เช่น ธนาคาร Email ที่ไม่ใช่บล็อกเชน ระบบเป็นผู้ที่เก็บ User และ Password ไว้ เพราะฉะนั้นระบบจึงสามารถเปลี่ยนให้เราได้
โดมยังอธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในโลก จากการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาแอปพลายในการทำธุรกรรมในหลายธุรกิจ เรียกได้ว่า ไม่ต้องมีการล็อกอินในระบบเลย ยกตัวอย่าง การเปลี่ยนระบบการโอนเงินของธนาคาร จากเดิมที่อยู่ในรูปแบบ Centralize ทั้ง User และ Password เก็บรักษาไว้กับธนาคาร และพนักงานสามารถโอนเงินได้ อนาคตต่อไปจะปรับเปลี่ยนเข้ามาสู่รูปแบบบล็อกเชน ที่เจ้าของบัญชีเป็นผู้เก็บ User และ Passwordไว้เอง ต่อให้ซีอีโอหรือพนักงาน ก็ไม่สามารถโอนเงินให้เราได้ จนกว่าเราจะให้คีย์ไปรับที่เคาน์เตอร์หรือออนไลน์
สำหรับประโยชน์ที่คนจะได้เมื่อบล็อกเชนเข้ามานั้น โดม อธิบายว่า การนำบล็อกเชนเข้ามาใช้ประโยชน์มี 2 มุม เริ่มจาก Private Blockchain ถือเป็นการทำดาต้าเบส ที่มีความโปร่งใสและ Private ภายในองค์กร เช่น บริษัทที่ทำธุรกิจทางด้านลิสซิ่งหรือเกี่ยวกับการเงิน หรือนำมาใช้ในระบบจัดซื้อจัดจ้างของบริษัท ซึ่งที่ผ่านมาใช้การทำงานระบบเดิม จะไม่รู้เลยว่าข้อมูลที่อยู่ในดาต้าเบสจริงหรือไม่
ส่วนอีกรูปแบบที่น่าสนใจมาก คือ Public Blockchain คือบล็อกเชนที่มีลักษณะเปิดกว้าง สร้างเหรียญขึ้นมา แล้วนำเหรียญมาเทรดแทนเงิน ตัวอย่างเหรียญยอดนิยม อย่างบิทคอยน์และอีเธอเรียมเป็นบล็อกเชนที่ใครอยากเป็นเจ้าของ หาซื้อแล้วเปิด Wallet ได้เลย
มูลนิธิ ‘ไทยเชน’ และการพัฒนาความพร้อมของไทย
ซีดีโอของโดมคลาวน์ เล่าว่า มี Public Blockchain มากมายในโลก อย่างโซนใกล้ๆ เช่นที่ประเทศเวียดนามก็มีซึ่งเราใช้ Resource ไม่ได้มาก ทำให้มีความคิดว่าน่าจะพัฒนาและตั้งของเราขึ้นมาเองจะดีกว่า ต้นปี ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา โดมและ พันธมิตรได้รวมตัวกันก่อตั้ง “มูลนิธิไทยเชน” ด้วยเป้าหมายและวิสัยทัศน์ที่ไม่หวังกำไรแต่ต้องการให้เกิด Public Blockchainแห่งแรกของประเทศขึ้น และหลังจากนั้นพัฒนาการของเราก็เริ่มจะเริ่ม Kick off
หลังจากเปิดตัวที่มหาวิทยาลัยบูรพา ให้นักศึกษาคิดโปรเจ็กต์แอปสำหรับการประมูลรถยนต์ หรือแอปขายของบนบล็อกเชน โดยที่ไม่มีเซิร์ฟเวอร์รองรับเลยนั้น พบว่าสามารถดำเนินการได้เลย แต่ต้องหาเหรียญที่จะมาเป็นต้นทุน ซึ่งมูลนิธิสามารถซัพพอร์ตได้ โดยเปิดขายเหรียญให้คนทั่วไปเข้ามาสปอนเซอร์ให้โปรเจ็กต์สามารถดำเนินการไปได้ เหรียญ 50% เราโอนให้นักศึกษา เพราะจัดคอนเทสต์แต่ละครั้ง สามารถแจกเหรียญได้ จะมีการโอนให้นักศึกษาเจ้าของโปรเจ็กต์ได้เลยแต่ละครั้งสามารถให้นักศึกษามีเหรียญอยู่ในมือ โดยการปรับให้เป็นแอปพลิเคชันในรูปแบบต่างๆ ตั้งเป้าไว้ว่าหลังจากจัดกิจกรรม 3 เดือน จะมีแอปเกิดขึ้นประมาณ 20 - 30 แอป
“ความคิดของเด็กมหาวิทยาลัย เมื่อรู้เรื่องบล็อกเชน ก็สามารถคิดทิศทางของแอปได้โดยที่เราคาดไม่ถึง” โดมเล่าอย่างตื่นเต้น
สำหรับเป้าหมายไทยเชนนั้น อยากให้เป็น Public Blockchain ของประเทศไทย ที่ดำเนินการภายใต้มูลนิธิ เพื่อที่จะให้ทุกคนสามารถเข้ามาดูแลได้ในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยระยะแรกเน้นการเปิดโหนดเป็นหลัก ซึ่งเรียกว่า ไทยเชน ไม่มีต้นทุนค่าใช้จ่าย เพราะมี 6 โหนดที่มาร่วมทำระบบกับเรา และต่อไปจะมีประมาณ 21 โหนดภายในเดือนมิถุนายน 2562 ซึ่งข้อดีของการมีโหนดจำนวนมากขึ้นนั้น คือ ช่วยกันจำ ทำให้มีความรวดเร็วมากขึ้น และทำให้ปลอดภัยขึ้น ไม่มีใครโกงใครได้
มุมมองของโอกาสและความท้าทายสำหรับมนุษย์สายเทคฯ
โดม บอกว่า คนในสายเทคโนโลยีมีความคุ้นเคยกับบล็อกเชน แต่ก็มีอีกหลายคนโดน Disrupt ล้มหายตายจากไป เช่นเดียวกัน ในฐานะที่อยู่ในวงการมานานกว่า 20 ปี จะปรับตัวให้ทันได้อย่างไรนั้น
ผมว่ามันเป็นเรื่องที่สนุก สนุกกับการตามมัน ผมทำชีวิตแบบนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ตอนนี้ 2562 ยังทำเหมือนเดิม ทั้งการตามเทคโนโลยีและการโค้ช ผมยังสนุกกับมัน มองเหมือนนักดนตรี เล่นดนตรี บังเอิญเครื่องดนตรีหายไป แต่ผมโชคดีที่ผมอยู่กับเทคโนโลยีแล้วมันได้เงินมากขึ้นเรื่อยๆ และแพงขึ้นเรื่อยๆ และคิดว่าวันหนึ่งมันตอบชีวิตผมได้ คือ ได้เงินเยอะ และข้อที่ 2 ยังสนุกกับมัน ผมว่าวิธีคิดแบบนี้สำคัญที่สุด
อนาคตของบล็อกเชนแพลตฟอร์ม
เชื่อว่า แพลตฟอร์มเดิมไม่หายไปไหน ขณะเดียวกัน บล็อกเชนจะเข้ามาช่วยในเรื่องความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือ เช่น บริษัทที่ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์เพย์เมนต์ อาจใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนมาเก็บข้อมูลในระบบเรื่องการเงิน แต่การเพย์เมนต์ทุกอย่างเหมือนเดิม
“บล็อกเชน จะเข้าช่วยแก้ปัญหาด้านต้นทุนที่ถูกและปลอดภัยกว่า ยูสเซอร์อาจไม่รู้ตัว หรือแม้กระทั่งระบบประกาศขายบ้านที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อนำมาบล็อกเชนเข้ามา ยูสเซอร์จะสามารถกดไปดูโฉนดได้ รูปแบบนี้จะค่อยๆ เข้ามา เหมือนอินเตอร์เน็ทที่อยู่ในชีวิตประจำวันทุกที่ เราจึงคิดว่าบล็อกเชน คือ อินเทอร์เน็ตยุคใหม่ ที่ใครจะเขียนอะไรออกมาก็ได้ บนอินฟราสตรัคเจอร์” โดมกล่าว
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
ภาพ : ภัทรวรรธน์ พงษ์บริพันธ์
ปัญหามลภาวะทางสิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทยและอีกหลายประเทศกำลังเผชิญหน้าและเร่งระดมสรรพวิธีเพื่อหาทางแก้ไข หนึ่งในนั้นคือปัญหาเรื่องขยะมูลฝอยจำนวนมากจากครัวเรือนและภาคโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลให้มีการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมไปถึงการเผาเพื่อทำลายขยะจนทำให้เกิดมลพิษขึ้น
จากสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน หรือปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นวงกว้าง ตลอดจนกระทบถึงภาพลักษณ์ของประเทศ ทั้งด้านการท่องเที่ยวและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ปัญหาดังกล่าวจึงถูกยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน พร้อมหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยในอนาคต
คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมมือกับคณะปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และอาศรมความคิดด้านระบบโลกศาสตร์และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ราชบัณฑิตยสภา จัดงานเสวนาในหัวข้อ “การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและปฏิรูปประเทศด้านการจัดการมลพิษทางอากาศ PM 2.5 ทั้งระบบ” ณ ห้องประชุมศรีสุริยวงศ์บอลรูม ชั้น 11 โรงแรมตวันนา สุรวงศ์ โดยมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเปิดงานเสวนาในครั้งนี้
Temperature Inversion ปรากฏการณ์ฝาชีอากาศผกผัน
ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ระบุว่า มลพิษทางอากาศที่ล้วนมีสาเหตุหลักจากมนุษย์เป็นผู้สร้าง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศในอนาคต หากไม่ดำเนินมาตรการจัดการกับปัญหาฝุ่นละอองก็จะเกิดการสะสมไปเรื่อยๆ เมื่ออากาศเปลี่ยนผันเข้ามาก็กลายเป็นฝาชีครอบเอาไว้ ทำให้ฝุ่นละอองจะไม่สามารถกระจายไปไหนได้ จนท้ายที่สุดฝุ่นละออง PM 2.5 ก็มีการสะสมในปริมาณมาก และส่งผลกระทบต่อประชาชน ถึงขั้นก่อให้เกิดอันตรายกับสุขภาพได้
ความมุ่งหวังต่ออายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี...ที่ดียิ่งขึ้น
บนเวทีเสวนา นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดประเด็นเกี่ยวกับความมุ่งหวังในอีก 20 ข้างหน้า กับการได้เห็นคนไทยมีช่วงอายุของการมีสุขภาพดีที่ยืนยาวขึ้น มีอายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดีไม่ต่ำกว่า 75 ปี และมีอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ เพราะปัจจุบันมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาสุขภาพตั้งแต่ช่วงอายุประมาณ 50 ปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมลพิษอากาศที่กระตุ้นให้เกิดโรคภัยได้ง่ายขึ้น โดยมลพิษทางอากาศนั้นจัดเป็นสาเหตุอันดับ 2 ของการเกิดโรคไม่ติดต่อรองจากการสูบบุหรี่ ทั้งโรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจขาดเลือด และมะเร็งปอด ซึ่งมีประชากรปีละกว่า 7 ล้านคนทั่วโลกที่ต้องเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรจากมลพิษทางอากาศ
บนเวทีเสวนา นายแพทย์พันศักดิ์ ได้เผยถึงการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขตลอดช่วงที่ผ่านมาว่า “จากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกิดขึ้น เรามีการประเมินสถานการณ์ในทุกๆ วัน ผ่านการเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละอองจากกรมควบคุมมลพิษ และนำข้อมูลเหล่านั้นแปลงเป็นสาระสำคัญสื่อสารไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ต่อไป ขณะเดียวกันเรามีการเฝ้าระวังโรค โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุ เด็กเล็กหญิงตั้งครรภ์ และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่าง หอบหืด หลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งจัดทําแนวทางการดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยง เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) และยังดำเนินการสื่อสาร แจ้งเตือนประชาชน ให้ข้อมูลความรู้กับทุกภาคส่วน พร้อมสนับสนุนการใช้ พ.ร.บ.สธ. 2535”
อย่างไรก็ตาม รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวทิ้งท้ายถึงภาพรวมที่มุ่งหวังให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างแท้จริง นั่นคือการบริหารจัดการ ข้อมูลข่าวสารต่างๆ และการวิจัยของประเทศไทยเองที่จับต้องได้ สามารถเชื่อมโยงให้เห็นได้ชัดเจนว่า มลพิษทางอากาศก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยจริงๆ ไม่ใช้เพียงค่าประมาณการ หรืองานวิจัยอ้างอิงจากต่างประเทศ ที่อาจจะไม่ใช่บริบทของคนไทย
สร้างระบบภูมิคุ้มกันให้กับ...ทรัพยากรฯ และสิ่งแวดล้อม
ด้านผู้แทนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง ชี้ให้เห็นในเบื้องต้นว่า จากสภาพอุตุนิยมวิทยาในช่วงต้นปีที่มีสภาวะอากาศนิ่ง ลมสงบ ไม่เอื้อต่อการกระจายตัว ได้ส่งผลต่อการสะสมของฝุ่นในบรรยากาศอีกทั้งจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงอันเกิดจากแหล่งกำเนิดต่างๆ อาทิ การคมนาคมและขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง การก่อสร้าง และหมอกควันข้ามแดนจากประเทศใกล้เคียง ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของ PM 2.5 ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ
ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษได้จัดทำร่างแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง โดยมีสาระสำคัญภายใต้กรอบแนวคิดที่จะใช้หลักการจัดการเชิงรุก เน้นการป้องกันผลกระทบล่วงหน้า ด้วยการสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้กับทรัพยากรฯ และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ที่มีปัญหามลพิษ เพื่อนํามาใช้เป็นแนวทางในการป้องกันความเสียหายหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น พร้อมคํานึงถึงกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยง และเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยหรือสิ่งแวดล้อม ผ่าน 3 มาตรการสำคัญ ได้แก่
มาตรการที่ 1 : การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ โดยกําหนดเป็นแนวทางการดําเนินงานในระยะเร่งด่วน รวมถึงแนวทางปฏิบัติการแก้ไขปัญหาในช่วงวิกฤตในพื้นที่ที่มีปัญหาหรือพื้นที่เสี่ยง โดยอาศัยกลไกของระบบศูนย์สั่งการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ มาตรการที่ 2 : การป้องกันและลดการเกิดมลพิษจากแหล่งกำเนิด โดยให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมายออกกฎระเบียบ หรือแนวทางข้อบังคับในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง มาตรการที่ 3 : การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ ผ่านการพัฒนาระบบ เครื่องมือ กลไกในการบริหารจัดการ รวมถึงศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจและกําหนดแนวทางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาในอนาคต
เมื่ออุตสาหกรรมเติบโต ต้องเติบโตอย่างยั่งยืน
ขณะที่ นางสาวพะเยาว์ คำมุข ผู้อำนวยการกองวิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงาน ผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม บอกเล่าถึงความคาดหวังในอีก 20 ปีข้างหน้าที่อยากเห็นการเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในรูปแบบของ Green Industry ที่สามารถอยู่ร่วมกับประชาชนได้อย่างยั่งยืน โดยชี้ให้เห็นถึงมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 จากภาคอุตสาหกรรม ผ่านการดำเนินงานการกำกับดูแลให้โรงงานระบายอากาศตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ทั้งในกลุ่มโรงงานทั่วไป กลุ่มโรงงานที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และกลุ่มโรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง พร้อมตรวจสอบและเฝ้าระวังโรงงานเพื่อป้องกันการเกิดฝุ่นและมลพิษทางอากาศทั่วประเทศ รวมถึงการสุ่มตรวจวัดมลพิษทางอากาศในพื้นที่ที่มีโรงงานหนาแน่น
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ (S-Curve) ในการเปลี่ยนผ่านจากเครื่องยนต์ดีเซลเป็นเครื่องยนต์ไบโอดีเซล เร่งส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ภายในประเทศ พร้อมพัฒนามาตรฐานการควบคุมปริมาณสารมลพิษอเสียของเครื่องยนต์จาก EURO 4 เป็น EURO 5 และยังมีการร่วมมือกับ METI ประเทศญี่ปุ่น จัดทำโครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและผลกระทบของ PM 2.5 ในภาคอุตสาหกรรมไทย
มากกว่านั้น ภาคอุตสาหกรรมยังร่วมกับ ปตท. และ กทม. สร้างและติดตั้งเครื่องต้นแบบ “ระบบขจัดมลพิษแบบเคลื่อนที่” ในพื้นที่สาธารณะ 11 เครื่อง ควบคู่กับการขอความร่วมมือรณรงค์ประชาสัมพันธ์และกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดให้ “ชาวไร่อ้อยไม่เผาอ้อย” และขอความร่วมมือจากสมาชิด ส.อ.ท. ดำเนินมาตรการการหยุดหรือลดกำลังการผลิตในบางช่วงเวลา การบำรุงรักษาเครื่องจักร และ Big Cleaning โรงงาน ร่วมด้วย
งบประมาณที่เสียไป… ต้องได้กลับมาอย่างคุ้มค่า
จากการกำหนดนโยบายต่างๆ หรือแม้แต่มาตรการจัดการที่แต่ละหน่วยงานได้จัดทำออกมานั้น ล้วนแล้วแต่ต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการ แต่ประเด็นคือ เราจะใช้งบประมาณเหล่านั้นอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด? ดังนั้น นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์จึงทำการตีมูลค่าจากมลพิษที่เกิดขึ้นว่าก่อให้เกิดต้นทุนกับสังคมไทยมากน้อยแค่ไหน เพื่อนำไปสู่การเลือกใช้มาตรการที่ดีที่สุดภายใต้ทรัพยากรและงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยใช้วิธีทางเศรษฐมิติประมาณค่าความเต็มใจที่จะจ่ายต่อครัวเรือนสำหรับความเสียหายขั้นต่ำ อิงจาก PM 10 จำนวน 1 ไมโครกรัม/ลบ.ม. = 6,380 บาท/ปี และจากยอดจำนวนครัวเรือนในกรุงเทพจาก 2.89 ล้านครัวเรือน ดังนั้น สำหรับกรุงเทพฯ ทุกๆ 1 ไมโครกรัมต่อลบ.ม. ของ PM10 ที่เกินระดับปลอดภัย จึงสร้างความเสียหายมูลค่า 18,420 ล้านบาท/ปี ซึ่งในปี 2560 กรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ย PM10 = 44.21 ไมโครกรัม ต่อ ลบ.ม./ปี ดังนั้น เมื่อคำนวณแล้วจะพบว่าความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากมลพิษทางอากาศจึงตีเป็นมูลค่าได้สูง 446,023 ล้านบาท/ปี
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ได้เสนอมาตรการจัดการผ่านการออกกฎหมายโดยใช้แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่อาศัยกลไกในการควบคุมพฤติกรรม หรือการสร้างแรงจงูใจ ไม่เน้นการบังคับอย่างเดียว โดยให้มีการจัดทำมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ผ่านการสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายของมลพิษ ลดมลพิษจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในรถยนต์ ลดมลพิษจากการเผาในภาคเกษตรและป่าไม้ ลดมลพิษจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจากกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ลดมลพิษที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน และประเมินผลสัมฤทธิ์ของมาตรการ
“มาตรการที่เสนอข้างต้นจะประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืนก็ต่อเมื่อ เรามีงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมที่เพียงพอและต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการริเริ่มนำกฎหมายอากาศสะอาดมาบังคับใช้ (Clean Air Act) พร้อมจัดตั้งหน่วยงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency) และสำคัญที่สุดคือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน” รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิชกล่าวทิ้งท้าย
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดงาน “ประชารัฐรวมใจ คัดสรร OTOP Select 2019” ร่วมกับ 24 พันธมิตรจากภาครัฐ Trader และ Buyer ยักษ์ใหญ่ จับมือกันคัดผลิตภัณฑ์ OTOP Select 3-5 ดาว ที่ผู้ผลิตสมัครเข้ามาร่วมกิจกรรมกว่า 2,000 รายการทั่วประเทศ จำแนกเป็น 4 กลุ่ม คือ กินดี อยู่ดี สวยดี และดูดี รวมถึงมอบรางวัล Best of OTOP Select (ระดับจังหวัด) และ Top of The Best OTOP Select (ระดับประเทศ) 4 กลุ่ม มั่นใจ!! ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับโอกาสสำคัญต่อยอดธุรกิจไปสู่ช่องทางการตลาดที่หลากหลาย พร้อมเผยแพร่อัตลักษณ์ไทยไปสู่ตลาดต่างประเทศ
นางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้จัดงาน “ประชารัฐรวมใจ คัดสรร OTOP Select 2019” ขึ้น ณ อาคารหอประชุม 100 ปี ธัญบุรี เทศบาลนครรังสิต มีกำหนดจัดงานตั้งแต่วันนี้-14 มิถุนายน 2562 โดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐ ซึ่งเป็นการผสานพลังที่จะช่วยกันคัดสรรผลิตภัณฑ์ OTOP ที่มีความพร้อมในการพัฒนาทั้งด้านสินค้าและการตลาดเพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด
รองอธิบดี กล่าวต่อว่า “กิจกรรมนี้มีหน่วยงานพันธมิตรจากภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ จำนวน 24 หน่วยงาน ประกอบไปด้วย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, บริษัทสยามพิวรรธน์, บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท คิง พาวเวอร์ แท็กซ์ฟรี จำกัด, บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด, บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด, บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท นารายภัณฑ์ จำกัด, บริษัท ตำรับไทย สมุนไพร จำกัด, บริษัท อะราวนด์ เดอะ เนค จำกัด, บริษัท โอทอป อินเตอร์เทรดเดอร์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด, บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด, บริษัท ทีวีไดเร็ค จำกัด (มหาชน), บริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด, บริษัท สยามเจมส์กรุ๊ป จำกัด, สมาคมสินค้าตกแต่งบ้าน, สมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้ง (ประเทศไทย), สมาคมของขวัญของชำร่วยและของตกแต่งบ้าน, สมาคมออกแบบสร้างสรรค์, สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย”
“ตลอดระยะเวลาการจัดงาน 4 วัน คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจะร่วมกันพิจารณา ผลิตภัณฑ์ OTOP Select” ที่มีผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ OTOP 3-5 ดาวจากทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 2,000 รายการ โดยจำแนกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1) กินดี (Eat well) อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 520 รายการ 2) อยู่ดี (Live well) อาทิ ของใช้ ของที่ระลึก จำนวน 445 รายการ 3) สวยดี (Look well) อาทิ ครีมบำรุง ผลิตภัณฑ์สปา จำนวน 260 รายการ และ 4) ดูดี (Dress well) อาทิ เสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องประดับ จำนวน 775 รายการ โดยแนวทางหลักคณะกรรมการจะพิจารณาจากผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ และพร้อมจะต่อยอดทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งกรมฯ จะประกาศผลผู้ที่ผ่านการคัดสรร ในวันที่ 26 มิ.ย.62 ผ่านทางเว็บไซต์ www.dbd.go.th”
“นอกจากการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ OTOP Select ในข้างต้นแล้ว ยังมีกิจกรรมการคัดเลือกสุดยอด ผลิตภัณฑ์ OTOP Select ในอีก 2 กิจกรรมคือ 1) Best of OTOP Select (ระดับจังหวัด) และ 2) Top of The Best OTOP Select (ระดับประเทศ) 4 กลุ่ม เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ผู้ผลิตได้มีกำลังใจในการพัฒนาสินค้าและก้าวไปสู่การเป็นต้นแบบให้กับผู้ผลิตรายอื่นๆ และเพิ่มศักยภาพของผลิตภัณฑ์ OTOP ให้ตอบโจทย์การตลาดแต่ยังคงอัตลักษณ์ภูมิปัญญาของไทยเอาไว้ นำไปสู่การเป็นที่ประจักษ์ในสายตาผู้บริโภคมากขึ้น พร้อมการกระตุ้นและสร้างความนิยมในการซื้อสินค้าท้องถิ่นของไทย ก่อนต่อยอดผลิตภัณฑ์ OTOP Select เข้าสู่ช่องทางการตลาดในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะตลาดออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ทั่วโลก”
“กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนา เศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ OTOP ซึ่งเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่จะกระจายอยู่ทั่วประเทศ พร้อมเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้ทำงานร่วมกับภาครัฐ ซึ่งจะเป็นความร่วมมือที่สำคัญ ในการผลักดันธุรกิจท้องถิ่นของประเทศให้เดินหน้าไปพร้อมกันกับภาคเอกชนรายใหญ่ ลดช่องว่าง ความเหลื่อมล้ำในวงจรธุรกิจของประเทศและเติมศักยภาพให้ธุรกิจรายย่อยสามารถแข่งขันได้” รองอธิบดี กล่าวในท้ายที่สุด
ดร.ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานกรรมการเครือเบทาโกร (ขวา) พร้อมด้วย นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ซ้าย) นำคณะผู้บริหารและพนักงาน เข้าร่วมพิธียกเสาเอกโรงงานแปรรูปไก่มหาสารคาม บริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเนื้อไก่สดคุณภาพและ ได้มาตรฐาน แห่งที่ 5 ของเครือฯ กำลังการผลิต 40,000 ตัวต่อวัน เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ณ อำเภอกุดรัง จังหวัดมหาสารคาม
รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตสกลนคร ตัวแทน ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ลงนามความร่วมมือกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยนายแพทย์มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนไทยร่วมกันสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัยและพัฒนา เพื่อวิจัยและพัฒนาพืชกัญชาเพื่อประโยชน์ทางราชการ การแพทย์หรือการรักษาผู้ป่วยภายใต้กรอบและเงื่อนไขที่ถูกต้องและเป็นไปตามกฏหมาย เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติและผู้ป่วย
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้รับความร่วมมือจากธนาคารออมสิน ปรับลดค่าบริการของธนาคารในการขอหนังสือรับรอง รับรองสำเนาเอกสารนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Certificate ) ผ่านธนาคารที่ร่วมโครงการ เป็นกรณีพิเศษ ระยะเวลา 7 เดือน เริ่ม 1 มิ.ย. - 31 ธ.ค.62 โดยหนังสือรับรองนิติบุคคลปรับลดลง 50 บาท เหลือ 100 บาท/ฉบับ และรับรองสำเนาเอกสารทางทะเบียน งบการเงินและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเป็น 20 บาท/หน้า ไม่กำหนดอัตราเริ่มต้น 1-5 หน้าแรก ส่งผลดีช่วยธุรกิจลดต้นทุน ไม่เสียเวลาเดินทาง ประหยัดค่าใช้จ่ายและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ตั้งแต่ 20 ม.ค.55 กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ขยายการให้บริการออกหนังสือรับรองนิติบุคคล รับรองสำเนาเอกสารทางทะเบียน งบการเงิน และบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น โดยเพิ่มช่องทางการใช้บริการผ่านทางธนาคารที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 9 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพ กรุงไทย ออมสิน กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ ธนชาต มิซูโฮ กรุงศรีอยุธยา และเกียรตินาคิน มีสาขาให้บริการ จำนวน 3,965 สาขา ภายใต้ชื่อ e-Certificate จากเดิมประชาชนจะต้องเดินทางมาขอรับเอกสารที่หน่วยงานให้บริการของกรมเท่านั้น ทำให้ผู้ใช้บริการไม่ต้องเดินทางมาติดต่อด้วยตนเองที่กรมฯ และได้รับเอกสารภายในเวลาอันรวดเร็ว
อธิบดี กล่าวเพิ่มเติมว่า “กรม ได้พยายามพัฒนาระบบการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนให้กับผู้มาใช้บริการให้มากที่สุด ล่าสุดกรมได้รับความร่วมมือจาก ‘ธนาคารออมสิน’ ซึ่งเป็นหน่วยงานพันธมิตร ที่ให้บริการผ่านระบบ e-Certificate ของกรม โดยยินดีที่จะปรับลดค่าบริการเป็นกรณีพิเศษ สำหรับในส่วนค่าบริการของธนาคารเป็นระยะเวลา 7 เดือน ตั้งแต่ 1 มิ.ย. - 31 ธ.ค.62 โดยธนาคารออมสินมีสาขาที่พร้อมให้บริการทั้งหมดจำนวน 1,069 สาขาทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ เดือน พ.ค.62) สำหรับอัตราค่าบริการของธนาคารใหม่ได้ปรับลดลงเป็นดังนี้ หนังสือรับรองนิติบุคคลปรับลดลง 50 บาท เหลือ 100 บาท/ฉบับ และรับรองสำเนาเอกสารทางทะเบียน งบการเงินและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเป็น 20 บาท/หน้า โดยไม่กำหนดอัตราเริ่มต้น 1-5 หน้าแรก ”
“สำหรับค่าบริการผ่านช่องทาง e-Certificate ในอัตราปกติประกอบด้วยค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวงและค่าบริการของธนาคาร โดยขอหนังสือรับรองนิติบุคคล 1 ฉบับ (5 รายการ) จะมีค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวง ฉบับละ 200 บาท ค่าบริการของธนาคาร ฉบับละ 150 บาท และการขอรับรองสำเนาเอกสารทางทะเบียน งบการเงิน และบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ค่าธรรมเนียม หน้าละ 50 บาท ค่าบริการธนาคาร 1-5 หน้าแรก 100 บาท หน้าถัดไปหน้าละ 20 บาท”
“การปรับลดค่าบริการของธนาคารที่ให้บริการออกหนังสือรับรอง และการรับรองสำเนาเอกสารนิติบุคคลของธนาคารออมสินในครั้งนี้ จะเกิดผลดีโดยตรงต่อผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนโดยทั่วไปที่ต้องการใช้ข้อมูลนิติบุคคลเพื่อยืนยันสถานะทางธุรกิจ การติดต่อหรือเจรจาทางธุรกิจกับคู่ค้า การทำธุรกรรม และการตรวจสอบข้อมูล นิติบุคคลก่อนดำเนินการตัดสินใจลงทุน รวมถึงยังเป็นการลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจให้มีค่าใช้จ่ายลดลง ประกอบกับเป็นการลดระยะเวลาในการติดต่อธุรกรรมส่งผลให้ธุรกิจไทยเกิดศักยภาพในการแข่งขันที่รวดเร็วขึ้น อย่างไรก็ดี ตั้งแต่วันที่ ตั้งแต่ 20 ม.ค. 2555 ที่กรม ได้เปิดให้บริการ e-Certificate มีผู้ใช้บริการจำนวน 1,043,939 ราย แบ่งเป็น บริการหนังสือรับรองจำนวน 988,237 ฉบับ และรับรองสำเนาเอกสารจำนวน 457,267 แผ่น และยังมีแนวโน้มที่จะมีผู้มาใช้บริการผ่านทาง e-Certificate เพิ่มมากขึ้นในอนาคต” อธิบดี กล่าวในท้ายที่สุด