December 22, 2024

“พัทธนันท์ เพชรเชิดชู”  รองอธิการฯมธบ.” เปิดตัว  Capstone Project ต้นแบบ Startup University สู่ความสำเร็จแบบมืออาชีพ

ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู  รองอธิการบดีสายภาคีสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่า วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (College of Innovative Business and Accountancy: CIBA) ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้นักศึกษาภายใต้โครงการ Capstone Project เพื่อเสริมสร้างทักษะด้านผู้ประกอบการที่มุ่งเน้นให้สามารถแก้ไขโจทย์จริงจากความต้องการของภาคธุรกิจ รวมถึงฝึกทักษะการทำงานเป็นทีมบนพื้นฐานความรู้ที่แตกต่างกันเพื่อให้เตรียมพร้อมก่อนออกสู่ตลาดแรงงานจริง เนื่องจากทักษะด้านผู้ประกอบการถือเป็นอีกทักษะหนึ่งที่สำคัญต่อการทำธุรกิจและการประกอบอาชีพในโลกแห่งอนาคต เพราะไม่เพียงแต่นักศึกษาสามารถทำงานภายในองค์กรได้เท่านั้น แต่ยังสามารถเริ่มต้นทำธุรกิจได้อีกด้วย 

ล่าสุด ทาง CIBA ได้จัดการแข่งขัน Final Pitching Capstone Business Project โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการและสามารถคว้ารางวัลจากการแข่งขันครั้งนี้ได้ทั้งหมด 3 ทีม  ประกอบด้วย ทีม Charm Gems คว้ารางวัลชนะเลิศประเภท CREATIVE AWARD  ทีม A3 คว้ารางวัลประเภท ADAPTIVE AWARD และทีมจัสมิน   คว้ารางวัลประเภท INNOVATION AWARD    โดยแต่ละทีมได้เรียนรู้และพัฒนาโครงงานร่วมกัน เป็นการฝึกเสมือนทำงานในองค์กรจริง สามารถสร้างนวัตกรรม ประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้แก้ปัญหาได้ ทำให้นักศึกษา ได้ฝึกทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจ มีการทำงานร่วมกันกับเพื่อนต่างคณะ ทำให้ได้ฝึกการบริหารความขัดแย้ง ที่เกิดขึ้น (Conflict Management)  ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทางมหาวิทยาลัยก็ได้พยายามปลูกฝังเข้าไปในตัวนักศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการเป็นสตาร์ทอัพยูนิเวิอร์ซิตี้

นางสาวกาญจนา ช้างป่าดี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะบริหารธุรกิจนวัตกรรมและบัญชี สาขาการตลาดยุคดิจิทัล ตัวแทนทีม Charm Gems ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ CREATIVE AWARD กล่าวว่า ได้รับโจทย์เป็นเรื่องเกี่ยวกับลูกปัด ซึ่งจากการพูดคุยกับผู้ประกอบการพบว่าตลาดอิ่มตัว ลูกค้าแก่ขึ้นไปตามแบรนด์และไม่มีกำลังซื้อ ขณะที่กลุ่มที่มีกำลังซื้อก็ไม่สนใจ จึงดีไซน์รูปแบบใหม่ เพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานแทนที่จะเป็นลูกปัดก็เปลี่ยนมาเป็นหินสีผสมผสานความเชื่อเรื่องหินมงคลบวกกับนำหินมาร้อยเป็นสายนาฬิกา เพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งาน เป็นเครื่องประดับที่ใช้ดูเวลาได้ด้วย ดีไซด์สวยงาม เป็นงานแฮนด์เมด ทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น มีช่องทางการจำหน่ายผ่านสื่อออนไลน์เข้าถึงง่ายสะดวกกับลูกค้า

“การทำงานครั้งนี้ได้ประสบการณ์มากมาย เพราะว่าเราทำงานกับเพื่อนที่ไม่ได้สนิทไม่ได้รู้จักกันมาก่อนเลยก็ต้องปรับตัวเข้าหากัน เรื่องของการทำธุรกิจ เราเรียนมาก็จริงแต่ไม่เคยทำ สำคัญจริงๆ เลย คือ ต้องความต้องการของลูกค้า และเราทำอะไรตอบโจทย์เขาได้บ้าง มันจะทำให้เราประสบความสำเร็จ”

นางสาวกาญจนา กล่าวในตอนท้ายว่า ได้นำวิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาปรับใช้กับการทำธุรกิจขายของออนไลน์ของตนเอง จนปัจจุบันมียอดขายมากขึ้น เพียงพอต่อค่าเทอมและค่าใช้จ่ายส่วนตัว คิดว่าหลังจากจบการศึกษาไปแล้ว คงนำความรู้ที่ได้จากการเรียนไปต่อยอดให้กับธุรกิจของตนเองอย่างจริงจังมากขึ้น 

นางสาวนิภาพร  กันยา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม สาขาการโรงแรม ตัวแทนทีม จัสมิน กล่าวว่า ทางทีมได้รับรางวัล INNOVATION AWARD  จากการคิดค้นผลิตภัณฑ์ลูกประคบไฟฟ้าสมุนไพรสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก ที่จากเดิมใช้ครั้งเดียวแล้วก็ทิ้งไม่ใช้ซ้ำ ตามข้อจำกัดของสมุนไพร เลยคิดค้นกันว่า ถ้าเราใช้ลูกประคบไฟฟ้าแบบชาร์ตไฟได้ เพียงแค่เปลี่ยนจากลูกประคบเป็นแผ่นสมุนไพร จะช่วยให้ค่าใช้จ่ายน้อยลง จากปกติลูกประคบใช้งานราคาอยู่ที่ 180-200 บาทต่อลูกต่อการใช้งาน  1 ครั้ง แต่พอเปลี่ยนมาเป็นแผ่นสมุนไพรตามประเภทและชนิดสมุนไพร ช่วยทำให้ต้นทุนมาอยู่ที่ราคา 40-50 บาท แต่อาจจะเสียค่าเครื่องประคบครั้งเดียวแต่ใช้งานได้นาน   

ทั้งนี้ การคิดค้นผลิตภัณฑ์ตัวนี้ออกมา ทางทีมได้ระดมความคิดแชร์ไอเดียกันหนักหน่วงพอสมควรกว่าจะได้รับการพิจารณาโครงการให้ผ่านเพราะต้องหาความแตกต่างของสินค้าและตรงกับความต้องการตลาดมากที่สุด พอผ่านแล้วต้องมาเจอกับด่านการศึกษาค้นคว้าข้อมูล แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคเพราะมีที่ปรึกษาใกล้ตัวที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ทั้งเรื่องนวดเพื่อสุขภาพ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสมุนไพร 

“จากเดิมที่ยังค้นหาตัวเอง ยังไม่รู้ว่า มีความสามารถด้านไหนเพราะเวลาทำอะไรตามคำสั่งคนอื่นก็สามารถทำได้หมด แต่ต่อมา พอเป็นผู้นำทีมก็รู้สึกว่า ตัวเองก็สามารถคิดเองได้แบบไม่ต้องมีใครสั่ง นอกจากนี้การเรียนรู้ในโครงการยังทำให้รู้ว่า เมื่อเรียนจบไปแล้วจะทำให้ได้เจอคนในหลายแบบ หลายความคิด ทั้งคนที่ได้ดั่งใจเรา ไม่ได้ดั่งใจเรา ถึงแม้จะมีความขัดแย้งภายในกลุ่ม แต่สุดท้ายก็ลงเอยได้ด้วยดีเพราะเราปรับตัวเข้าหากัน ปรับวิธีการทำงานร่วมกันเพื่อให้งานออกมาได้สำเร็จ จึงอยากชวนน้องๆเข้ามาลองเปิดใจกับ Capstone   เปิดใจกับคำว่า Startup  เริ่มคิด เริ่มลงมือทำแล้วจะรู้ว่าไม่มีอะไรน่ากลัวและไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้”

นางสาวเจนจิรา แสงคำ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและบัญชี สาขาการตลาดยุคดิจิทัล (CIBA) ทีม A3 ได้รับรางวัลประเภท ADAPTIVE AWARD จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ลูกประคบสมุนไพรแบบเดิมๆให้เป็นลูกประคบตัวการ์ตูนที่มาพร้อมกับกลิ่นหอมจากดอกไม้นำเข้าจากต่างประเทศ จุดเริ่มต้นของทุกคนคือ มีที่มาจากต่างคณะต่างสาขาแล้วมาร่วมทำโปรเจคกัน ช่วงแรกๆ มีการกลัวการเข้าหากันบ้าง แต่ก็แก้ปัญหาร่วมกัน พยายามฟังกันให้มากกว่าพูด ใครมีไอเดียดีๆ ก็จะช่วยกันนำเสนอ ทุกคนในทีมได้ข้อคิดร่วมกันว่า งานนี้ไม่ใช่งานที่คนอื่นทำ แต่เป็นงานของเราที่เราต้องทำกันเป็นทีมให้สำเร็จ คิดแบบนี้แล้วทำให้ทุกคนมีกำลังใจกันมาก และมีความมั่นใจเวลาขึ้น Pitching บนเวที  สำหรับน้องๆ ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ อย่ากลัวสิ่งที่จะลอง เพราะถ้าได้ลองแล้วนอกจากมีความท้าทาย มีความสนุกและยังได้เสริมศักยภาพให้กับตัวเองได้ด้วย

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) แถลงปรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 62 เหลือ 3.0% จากเดิมมอง 3.5% เหตุตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกชะลอมากกว่าคาด ทำให้แรงส่งต่อไปยังในช่วงที่เหลือมีข้อจำกัดแม้ความเชื่อมั่นและบรรยากาศการลงทุนมีแนวโน้มปรับดีขึ้นหลังจากฟอร์มรัฐบาลใหม่ ขณะที่ยังมีแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกสงครามการค้าถึงทางตัน จึงยากที่จะเห็นเครื่องยนต์ส่งออกกลับมาในปีนี้ พร้อมมองเป็นปีที่ระบบธนาคารเผชิญความท้าท้ายจากเศรษฐกิจชะลอ  คาดสินเชื่อทั้งปีโตชะลอลงที่ 4.5%  แนะระวังคุณภาพสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อย ที่เริ่มเห็น NPL ขยับขึ้นในกลุ่มสินเชื่อรถและบ้าน

เศรษฐกิจโลกเข้าสู่วงจรขาลงแรงและเร็วกว่าคาด  ไตรมาสแรกปีนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการค้าของโลกชะลอลงชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมในเศรษฐกิจหลักอย่างยูโรโซน ภาคการส่งออกของเศรษฐกิจหลักรวมถึงแถบอาเซียนเข้าสู่โหมดชะลอตัวจนถึงหดตัว สอดคล้องกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลกเติบโตเหลือ 3.3% และ 3.4%

มองสถานการณ์ส่งออกไทยยังคงอ่อนแอ ทั้งปีโตได้เพียง 0.5% ตามประมาณการเดิม  ในไตรมาสแรก มูลค่าส่งออกของไทยติดลบเป็นไตรมาสแรกที่ 2% และคาดว่าในระยะต่อไป ปัจจัยเสี่ยงด้านต่างประเทศจะส่งผลกระทบมากขึ้นทั้งเศรษฐกิจหลักที่เป็นคู่ค้าชะลอตัวมากขึ้นกระทบซัพพลายเชนโลกชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ และแรงกดดันสงครามการค้าที่ตอบโต้กันไปมาด้วยการขึ้นภาษีทำให้ปริมาณการค้าโลกอยู่ภาวะตกต่ำ โดยเฉพาะในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 4 ของมูลค่าส่งออกไทย แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะยังเติบโตได้ในเกณฑ์ดี แต่แรงส่งก็ไม่เพียงพอให้ภาพการค้าโลกดีขึ้น โดยเฉพาะจากตลาดจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องและตลาดยุโรปที่ยังเผชิญกับความเสี่ยงของ Brexit ที่ค้างคา เราประเมินยอดส่งออกของไทยไปตลาดยุโรปจะไม่ขยายตัวและหดตัวในตลาดจีนราว 5 % ขณะที่ตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่นยังขยายตัวได้ในอัตราชะลอลง ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งออกไปตลาดสหรัฐได้ต่ำกว่าคาด หากโดนตัดสิทธิ GSP จากสหรัฐ ซึ่งเป็นมูลค่าราว 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 16% ของยอดส่งออกไปสหรัฐ ทำให้ภาคส่งออกทรุดตัวต่ำกว่าคาดได้อีก

 

คาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติแตะ 40.4 ล้านคนในปี 62 หรือเพิ่มขึ้น  5.5% ชะลอลงจากปี 61 ที่ขยายตัว7.5% และแนวโน้มในปีหน้าจะไม่เห็นอัตราการเติบโตที่สูงๆของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างที่เราคุ้นชิน เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศนักท่องเที่ยวที่เป็นตลาดหลักชะลอตัวทั้งจีนและยุโรปซึ่งมีสัดส่วนรวมกันเกือบ 50%ของนักท่องเที่ยวรวมและส่งผลกระทบต่อรายได้การท่องเที่ยวรวมหดหายไปเนื่องจากรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีสัดส่วนกว่า 67%ของรายได้การท่องเที่ยวรวม เรามองว่าเมื่อพึ่งต่างชาติได้น้อยลง คงต้องหันพึ่งตนเองมากขึ้นโดยปลุกกระแสไทยเที่ยวไทยให้เพิ่มมากขึ้นจากที่มีรายได้เติบโตเฉลี่ยราว 8-10%ต่อปีเพื่อชดเชยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง

ความชัดเจนจากรัฐบาลใหม่ หนุนการลงทุนเอกชนครึ่งปีหลัง คาดทั้งปีขยายตัว 4%  เราประเมินสถานะความพร้อมของการลงทุนโดยใช้ตัวเลขทางการเงินที่มีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันกับการลงทุนทั้งสภาพคล่อง(Free cashflow) ที่เหลือของภาคธุรกิจ และผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) ที่ปรับดีขึ้น ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันบริษัทไทยอยู่ในสถานะพร้อมลงทุน บวกกับความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่อยู่ในเกณฑ์ดี อัตราการใช้กำลังผลิตที่ปรับสูงในหลายอุตสาหกรรม และต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ หากมีบรรยากาศสภาพแวดล้อมที่เอื้อและสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังความชัดเจนในทิศทางการเมือง นโยบายเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลใหม่ การเร่งสานต่อของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ EEC เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 สนามบินอู่ตะเภา จะทำให้เริ่มเห็นเม็ดเงินการลงทุนใหม่ของเอกชนเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะการลงทุนของอุตสาหกรรม S-Curve ที่ได้รับการอนุมัติจาก BOI ในปี 59-60 ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ปิโตรเคมี เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่หากเริ่มลงทุนในปี 62 จะมีมูลค่าสูงถึง 6.3 ล้านล้านบาท

การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง แต่ไม่เป็นอัตราเร่ง จากรายได้เกษตรกรที่ทรงตัวในระดับต่ำและหนี้ครัวเรือนที่พุ่งขึ้น ในช่วงปี 60-61 การบริโภคเอกชนฟื้นตัวเติบโตเร็ว ซึ่งเป็นการขยายตัวดีในทุกหมวดสินค้าแต่หลักๆมาจากแรงซื้อสินค้าคงทนกลุ่มรถยนต์จากการปลดล็อกมาตรการรถคันแรก ซึ่งสามารถสะท้อนจากสินเชื่อเพื่อการบริโภคเพิ่มขึ้นทุกหมวดหมู่ทั้งสินเชื่อบ้าน รถ บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล แต่ที่โดดเด่นคือสินเชื่อรถที่เติบโตในอัตราเร่ง 10-14% ทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อปัจจุบันสูงแตะ 1.1 ล้านล้านบาท บวกกับเริ่มมีประเด็นคุณภาพสินเชื่อรถจาก NPL ที่ขยับเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น แนวโน้มการขยายตัวการบริโภคเอกชนในช่วงต่อไปจะชะลอลงเพราะแรงซื้อรถน่าจะอ่อนแรงลง และยอดหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง 78.6% ต่อ GDP เป็นข้อจำกัดการเติบโตของการบริโภค

มองว่าธปท.จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% ตลอดปี 62 สาเหตุจากความเสี่ยงต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นทำให้แรงหนุนจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังไม่มากพอให้ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อมีไม่มาก  ขณะเดียวกัน  การจะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังจะชะลอลง พบว่ามีข้อจำกัดจากหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีประเด็นคุณภาพสินเชื่อที่เสื่อมถอยลง ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินได้

ค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มไปในทิศทางแข็งค่าขึ้น จากปัจจุบันเคลื่อนไหวที่ 31.6-32.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหนุนด้วยปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยวและการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้นอย่างชัดเจนของธนาคารกลางหลักๆของโลก นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหนุนจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่อยู่ในเกณฑ์ดีและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด  ทำให้คาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในช่วง 31.2-32.0 หรือเฉลี่ย 31.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าราว 2.7 % จากปีก่อนหน้า นอกจากนี้ความเสี่ยงจากสงครามการค้าและความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงมีอยู่  ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนมากกว่าช่วงต้นปี

แนวโน้มธนาคารพาณิชย์

การดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในปี 62 แม้ยังอยู่ในเกณฑ์ดีแต่มีแนวโน้มชะลอลง ตามสภาพเศรษฐกิจ โดยสินเชื่อรวมมีแนวโน้มขยายตัว 4.5% ลดลงจาก 6% ในปีก่อน ซึ่งปัจจัยหลักมาจากสินเชื่อรายย่อยที่คาดว่าจะขยายตัวลดลงจาก 9.4% ในปีก่อน เหลือเพียง 5.1% ตามการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มชะลอลงจากภาระหนี้ที่เร่งตัวขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และ SME ขยายตัวในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 4.6% และ 4.0% ตามลำดับ โดยคาดว่าแรงหนุนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและมาตรการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI และ EEC จะเกิดขึ้นได้หลังมีการฟอร์มรัฐบาลในช่วงครึ่งปีหลัง

คุณภาพสินเชื่อค่อนข้างน่ากังวลโดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อย ในขณะที่สินเชื่อธุรกิจปรับดีขึ้นเล็กน้อย โดยยอด NPL รวมทั้งระบบคาดว่าจะอยู่ที่ 4.9 แสนล้าน เพิ่มขึ้น 4.5 หมื่นล้านจากช่วงต้นปี ซึ่ง NPL ของกลุ่มสินเชื่อรายย่อยมีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นแตะระดับ 1.3 แสนล้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง NPL ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรถยนต์ จากผลของการเร่งปล่อยสินเชื่อในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยในปีที่ผ่านมาอัตราการขยายตัวของสินเชื่อรายย่อยสูงถึง 9.4% ขณะที่รายได้ภาคครัวเรือนเพิ่มเฉลี่ยเพียง 1.7%

ประเด็นเรื่องการทำสงครามเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ไม่น่ากังวล เนื่องจากสินเชื่อมีแนวโน้มชะลอลง โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอาจมีการปรับขึ้นเล็กน้อย ทำให้เงินฝากมีแนวโน้มขยายตัวที่ 4.8% ให้สภาพคล่องธนาคารพาณิชย์ตึงตัวขึ้นเล็กน้อย สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากปรับมาอยู่ที่ 98%

 

 

บมจ.ทิพยประกันภัย ปลื้มผลงานไตรมาส 1 ปี 62 กำไรสุทธิรวมเฉียด 520 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 10.67% ขณะที่เบี้ยประกันภัยรับรวม 4,882.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.76% ด้านเอ็มดี “ดร.สมพร สืบถวิลกุล” ประกาศกลยุทธ์เชิงรุกบูรณาการระบบดิจิทัลครบวงจร จับมือธุรกิจกับพันธมิตรบุกตลาดขยายฐานลูกค้าองค์กรและรายย่อย

ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ TIP เปิดเผยถึง ผลการดำเนินงานประจำไตรมาสแรก สิ้นสุด วันที่ 31 มีนาคม 2562 เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนว่า บริษัทมีผลการดำเนินงานขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถทำกำไรสุทธิได้สูงถึง 519.91 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.87 บาท หรือกำไรสุทธิขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 10.67% จากไตรมาสแรกปีก่อนกำไรสุทธิ 469.77 ล้านบาท และกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.78 บาท

สำหรับไตรมาส 1/2562 ทิพยประกันภัย มีเบี้ยประกันภัยรับรวมจำนวนทั้งสิ้น 4,882.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 4,368.33 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 513.83 ล้านบาท หรือ 11.76%

ทั้งนี้ เบี้ยประกันภัยรับรวมที่เพิ่มขึ้น ประกอบด้วย เบี้ยประกันอัคคีภัย 371.51 ล้านบาท เบี้ยประกันภัยทางทะเลและขนส่ง 116.58 ล้านบาท เบี้ยประกันภัยรถยนต์ 870.57 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัยเบ็ดเตล็ด 3,523.50 ล้านบาท

ด้านฐานะการดำเนินงานของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562 มีสินทรัพย์รวมที่ 42,490.75  ล้านบาท หนี้สินรวม 34,123.67 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 8,367.08 ล้านบาท

ดร.สมพร กล่าวว่า ผลการดำเนินงานไตรมาสแรกปี 62 อยู่ในเกณฑ์ที่ดีทั้งในแง่ของความสามารถการทำกำไร และเบี้ยประกันภัยรับรวม ที่เพิ่มขึ้นกว่า 10% ซึ่งสูงกว่าอัตราการขยายตัวของเบี้ยประกันภัยรับรวมของธุรกิจประกันวินาศภัยทั้งระบบที่คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5 - 6% เนื่องจากบริษัทฯ ได้ปรับแผนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี

สำหรับแผนการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 นั้น ดร.สมพร กล่าวว่าบริษัทฯ จะยังคงสานต่อนโยบายการพัฒนาเทคโนโลยี และสร้างนวัตกรรมการให้บริการอย่างทั่วถึงตลอด Insurance Value Chain ตั้งแต่กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปจนถึงการให้บริการสินไหมทดแทน และบริการหลังการขาย เพื่อสนองตอบความต้องการของลูกค้าได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้ามากที่สุด

พร้อมกันนี้ บริษัทยังดำเนินกลยุทธ์ในเชิงรุกด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าทั้งกลุ่มองค์กรและรายย่อยเพิ่มขึ้น โดยล่าสุด ทิพยประกันภัยได้เซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ บริษัท PVI Insurance Corporation ซึ่งเป็นบริษัทประกันวินาศภัยชั้นนำของประเทศเวียดนาม เพื่อขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศอีกด้วย

บมจ.กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต นำโดย นางแซลลี่ โอฮาร่า ประธานกรรมการบริหาร (แถวบน คนที่ 4 จากซ้าย) และดร.อุกฤษฎ์ ศรีดโรมนต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายตัวแทน พร้อมคณะผู้บริหาร และตัวแทนกว่า 100 ท่าน ร่วมทริปสุดพิเศษ 2018 Agency Grand Switzerland Convention” ซึ่งเป็นทริปที่จัดขึ้น เพื่อเป็นรางวัลและกำลังใจให้กับตัวแทนที่ทุ่มเท และมุ่งมั่นสร้างผลงานคุณภาพยอดเยี่ยมตลอดปีที่ผ่านมา โดยทริปดังกล่าวเต็มไปด้วยความสนุกสนาน เพลิดเพลินกับความสวยงามที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ของ ภูเขา ทะเลสาบ และสถานที่ที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ พร้อมประสบการณ์สุดเอ๊กซ์คลูซีฟ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

การทำงานร่วมกันของกลุ่มบุคคลจากหลากหลายเพศสามารถนำมาซึ่งโซลูชันที่สร้างสรรค์และแปลกใหม่ด้วยมุมมองที่แตกต่างจะส่งผลให้เกิดผลงานที่สมบูรณ์ อย่างไรก็ตามการเหมารวมว่าวงการเทคโนโลยีเป็นอุตสาหกรรมสำหรับผู้ชายเป็นหลักนั้นอาจ

เอไอเอส คว้ารางวัล Champion of WSIS Prizes 2019 จากโครงการ "Work Wizard" the digital platform for disability ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีอยู่ภายในองค์กรมาสร้างอาชีพแด่ผู้พิการ เพื่อช่วยลดช่องว่างที่เกิดขึ้นในสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ยืนหยัดอยู่ในสังคมได้อย่างยั่งยืน สำหรับ WSIS Prizes 2019 นี้ จัดขึ้นโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) และองค์การสหประชาชาติ (United Nation: UN) เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศของประชากรโลก โดยในปีนี้ มีโครงการส่งเข้าร่วมประกวดจากทั่วโลก รวมทั้งสิ้น 1,062 โครงการ และนับเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันที่เอไอเอส สามารถคว้ารางวัลจากเวทีระดับโลกนี้มาครองได้สำเร็จ

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า “กว่า 29 ปีที่ผ่านมา เอไอเอส มุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยมาโดยตลอด ที่ผ่านมา เอไอเอส ได้ดำเนินธุรกิจภายใต้บริบทของภาคเอกชนไทยที่พร้อมช่วยเหลือสังคมในทุกโอกาสเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ประเด็นหนึ่งที่เราเอาใจใส่เป็นอย่างมาก คือการเปิดโอกาสให้ผู้พิการได้เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกครอบครัวเอไอเอส เราเชื่อมั่นว่า ทุกคนต่างมีศักยภาพและมีทักษะในการพัฒนาตัวเองไม่แตกต่างกัน หากได้รับโอกาสในการเข้าทำงาน ผู้พิการจะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาและเติบโตไปพร้อมกัน สำหรับรางวัล Champion of WSIS Prizes 2019 ที่ได้รับมาในครั้งนี้ ถือเป็นสิ่งยืนยันถึงความจริงใจและความสำเร็จของพวกเราทุกคนที่สามารถนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยผลักดันให้ผู้พิการสามารถปฏิบัติงานได้เทียบเท่ากับคนปกติ ทำให้พวกเขามีกำลังใจในการต่อสู้ชีวิต มีความภาคภูมิใจในตัวเอง และมีรายได้ที่มั่นคงสามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้เป็นอย่างดี”

“ปัจจุบัน เอไอเอส มีพนักงานคอลล์ เซ็นเตอร์ผู้พิการ รวมทั้งสิ้น จำนวน 113 คน แบ่งออกเป็น ผู้พิการทางการมองเห็น จำนวน 57 คน ผู้พิการทางการได้ยิน จำนวน 9 คน และผู้พิการทางร่างกาย จำนวน 47 คน ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานผู้พิการทางการมองเห็น ได้นำเทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงาน โดยติดตั้งโครงข่าย Online สำหรับฮาร์ดแวร์ พร้อมติดตั้งโปรแกรม PPA ตาทิพย์ (Text to Speech ภาษาไทย) นำเทคโนโลยีดักจับความเคลื่อนไหวที่ Key Board หรือสิ่งที่แสดงผลบนหน้าจอ ซึ่งเป็นโปรแกรมสังเคราะห์เสียงภาษาไทย ช่วยให้พนักงานสามารถใช้งานคอมพิวเตอร์ด้วยตนเองได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ส่วนผู้พิการทางการได้ยิน ได้จัดให้มีซอฟต์แวร์ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ Web Cam (iSign) สำหรับการให้บริการ Call Center ภาษามือ ผ่านทาง Web Cam ซึ่งเป็นระบบการทำงานคล้ายกับโปรแกรม Skype ช่วยให้ทำงานได้สะดวก และสื่อสารได้อย่างเข้าใจมากยิ่งขึ้น และสำหรับพนักงานผู้พิการทางร่างกาย ได้มีการจัดสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ลิฟต์โดยสาร ห้องน้ำ ทางลาด และราวจับ เพื่อให้ผู้พิการทุกคนได้รับความสะดวกและปลอดภัยตลอดช่วงเวลาทำงานอีกด้วย”

“การยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนในสังคมไทยได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่ของภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาชนเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้คนละเล็กละน้อย ทำในสิ่งที่ตัวเองมีความสามารถและเกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม เราเชื่อว่า ประเทศชาติจะแข็งแรง สังคมจะต้องแข็งแรง และทุกคนสามารถช่วยกัน เติบโตไปพร้อมกัน” นายสมชัย กล่าวสรุป

การอบรมด้วยรูปแบบของการบูรณาการทฤษฎี กรณีศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทของ Industry 4.0 กิจกรรมกลุ่ม และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้สอนที่มีประสบการณ์ในภาคอุตสาหกรรมและผู้เข้ารับการอบรม

หลายคนคงเคยได้ยินว่าคนอ่านหนังสือน้อยลง และหนังสือกำลังจะหมดความนิยม แต่จากผลสำรวจการอ่านของประชากรไทย ประจำปี 2561 จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทยใช้เวลาอ่านในการอ่านเฉลี่ย 80 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งที่ผ่านมาในปี 2558 อยู่ที่ 66 นาทีต่อวัน โดยหนังสือเล่มยังคงเป็นสื่อที่คนนิยมอ่านมากที่สุดตามมาด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั้งสื่อออนไลน์ เว็บไซต์ อีบุ๊ค เป็นต้น สอดคล้องกับพฤติกรรมการอ่านที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของเทคโนโลยีในโลกยุคดิจิทัล ซึ่งนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่คนไทยยังให้ความสำคัญกับ “การอ่าน” เพราะเป็นทักษะพื้นฐานที่จะช่วยพัฒนาความรู้ ความคิค ช่วยเปิดโลกทัศน์และกระตุ้นการสร้างแรงบันดาลใจโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่อยู่ในช่วงวัยแห่งการเรียนรู้

บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ อินทัช เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าวจึงส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนไทยเห็นคุณค่าของการอ่านผ่าน โครงการ จินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทยกับอินทัช ที่ดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 ตลอดระยะเวลา 12  ปีที่ผ่านมา เยาวชนทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการกว่า 16,000 คนได้อ่านวรรณกรรมหลากหลายประเภททั้งพระราชนิพนธ์ วรรณกรรมพื้นบ้าน วรรณกรรมในชั้นเรียน วรรณกรรมร่วมสมัย รวมถึงวรรณกรรมที่ได้รับรางวัลต่างๆ มากมายรวมแล้วกว่า 2,000 เรื่อง จากเรื่องราวต่างๆ ที่ร้อยเรียงเป็นตัวหนังสือถูกถ่ายทอดและสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะที่มีสีสัน สะท้อนถึงจินตนาการของผู้รังสรรค์ผลงานในมิติที่หลากหลาย ดังเช่นผลงานของผู้ชนะเลิศจากการประกวดในปีที่ 12 ที่ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี

ผลงานชิ้นแรกชื่อ “สุขสุดของปวงไทย” จากวรรณกรรมเรื่อง “ความสุข ความทรงจำในรัชกาลที่ 9” ของนางสาวพิสชา  พ่วงลาภ หรือ น้องพิม อายุ 19 ปี เยาวชนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับอุดมศึกษา ถ่ายทอดความรู้สึกประทับใจที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นศูนย์รวมดวงใจของคนไทย ฝากถึงเพื่อนๆ ที่จะส่งผลงานเข้าประกวดว่า “ให้สร้างสรรค์ผลงานที่เป็นตัวของตัวเอง ใช้เทคนิคที่ตนเองถนัด ทำแล้วมีความสุข โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงรางวัล แต่ทำผลงานให้สุดความสามารถแล้วจะได้ผลงานที่ทรงคุณค่า น่าสนใจ เพราะผู้ชมสามารถสัมผัสได้ถึงความสุขจากการชมผลงานของเรา

อีกหนึ่งผลงานชื่อ “อีสาน” จากวรรณกรรมเรื่อง “อีสานบ้านเฮา” ของนายธนาธิป นาฉลอง หรือ น้องติ๊ก อายุ 17  ปี ได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ถ่ายทอดกลิ่นอายของความเป็นชนบทบนผืนแผ่นดินอีสานในแง่มุมที่หลากหลาย กล่าวว่า “ผมรู้สึกดีใจ และภูมิใจที่ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากพระองค์ท่าน ผมได้พัฒนาฝีมือ ได้สร้างสรรค์งานด้วยเทคนิควิธีการใหม่ๆ เพื่อถ่ายทอดผลงานให้ครอบคลุมเนื้อหาของวรรณกรรมให้ได้มากที่สุด และสิ่งสำคัญที่สุดที่ผมอยากให้เกิดขึ้น คือ เมื่อคนดูภาพของผมแล้ว เขาอยากอ่านวรรณกรรมเรื่องที่นำมาถ่ายทอดเพื่อจะได้เข้าใจภาพได้ชัดเจนขึ้น สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจส่งผลงานเข้าประกวดอย่าเพิ่งไปคิดถึงเรื่องรางวัล ให้คิดถึงโอกาสดีๆ ที่จะทำให้เราได้ฝึกฝน พัฒนาฝีมือ และทำให้หลงรักการอ่านมากขึ้น ”

สำหรับในปีนี้ อินทัช พร้อมเดินหน้าโครงการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 โดยจัดการประกวดภาพวาดในหัวข้อ “บวร” ความสุข ความผูกพันของสังคมไทย เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้ตระหนักรู้ถึงบทบาท หน้าที่ และความสำคัญของ “บ้าน วัด โรงเรียน” (บวร) ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นสามเสาหลักที่ยึดโยงความสัมพันธ์ของคนในสังคมไทยเข้าไว้ด้วยกัน เป็นกลไกให้คนในชุมชนร่วมกันคิด ร่วมกันพัฒนา และบริหารจัดการชุมชนของตนเองให้เข้มแข็ง  ชิงถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และทุนการศึกษาสำหรับเยาวชน และสถาบันการศึกษาที่สนับสนุนให้เยาวชนส่งผลงาน รวมมูลค่ากว่า 1.4 ล้านบาท สำหรับคณะกรรมการตัดสินทางโครงการได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งด้านวรรณศิลป์ และทัศนศิลป์ นำทีมโดย ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ และอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พร้อมด้วยคณาจารย์อีกหลายท่าน ได้แก่ อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์, ดร.สังคม  ทองมี ผู้อำนวยการศูนย์ศิลป์สิรินธร, อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิตไทย, คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ (ทมยันตี) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และคุณธวัชชัย สมคง บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Fineart

น้องๆ ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงอุดมศึกษา สามารถศึกษารายละเอียด และติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.intouchcompany.com , FB : intouchstation หรือ Line ID : Jintanakarn.intouch เปิดรับผลงานตั้งแต่วันนี้ถึง 31 กรกฎาคม 2562 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 082-796-1670-1 หรือ 02-118-6953 สแกน QR Code เพื่อดาวน์โหลดใบสมัคร หนังสือรับรองผลงาน และตัวอย่างวรรณกรรมแนะนำได้ตามด้านล่าง

เคทีซีแจงผลประกอบการไตรมาส 1/2562 กำไรสุทธิ 1,589 ล้านบาท เติบโต 31% การดำเนินธุรกิจโดยรวมเป็นไปตามคาด เดินหน้าปรับแผนการตลาดต่อเนื่องรับกับสภาพการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลง เพื่อให้ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรบรรลุเป้าหมาย พัฒนาระบบออนไลน์ทุกฟังก์ชัน      ตอบโจทย์สมาชิก พร้อมสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่เพื่อให้องค์กรเติบโตต่อเนื่องควบคู่สร้างสรรค์สังคมอย่างยั่งยืน

นายระเฑียร  ศรีมงคล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ภาพรวมอุตสาหกรรมสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคมีการแข่งขันสูงขึ้น จากการเข้ามาทำธุรกิจสินเชื่อรายย่อยมากขึ้นของธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ทำให้ทุกบริษัทฯ ในธุรกิจนี้ต้องปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลง โดยในช่วง 3 เดือนแรก อุตสาหกรรมสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคยังคงมีอัตราเติบโตต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า”  

“สำหรับไตรมาสแรกของปี 2562 เคทีซีได้ปรับแผนการตลาดต่อเนื่องให้ทันต่อสภาพการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลง โดยสามารถขยายฐานบัตรได้ดีและควบคุมคุณภาพหนี้ให้อยู่ในระดับเดียวกันกับปีก่อน มีรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น มีการปรับกระบวนการทำงานสม่ำเสมอ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานเพิ่มไม่มากนัก คุณภาพพอร์ตลูกหนี้รวมดี รวมทั้งการตั้งสำรองและการตัดหนี้สูญลดลง จึงเป็นผลให้กำไรสุทธิดีเกินคาด โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นถึง 31% ด้วยกำไรสุทธิ 1,589 ล้านบาท หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของบริษัทฯ รวมอยู่ที่ 1.18% โดยรายได้ในไตรมาสแรกที่เติบโตมาจากการขยายฐานสมาชิกบัตรใหม่ทั้งกลุ่มลูกค้าระดับบน (Premium) และรักษาฐานสมาชิกระดับกลาง (Mass) อีกทั้งการออกโปรแกรมการตลาดและการใช้สื่อออนไลน์ที่เข้าถึงสมาชิกเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตร เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับสมาชิก”

ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 เคทีซีมีสินทรัพย์รวมเท่ากับ 76,174 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% โดยสินทรัพย์ที่สร้างรายได้หลักให้กับบริษัทฯ อยู่ในรูปของลูกหนี้การค้าสุทธิ คิดเป็น 92% ของสินทรัพย์รวม โดยพอร์ตลูกหนี้การค้ารวมเท่ากับ 75,209 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ฐานสมาชิกรวม 3.3 ล้านบัญชี เติบโต 8.2% แบ่งเป็นพอร์ตสมาชิกบัตรเครดิต 2,348,990 บัตร ขยายตัว 6.4% ยอดลูกหนี้บัตรเครดิตรวม 48,413 ล้านบาท สัดส่วนของลูกหนี้บัตรเครดิตเทียบกับอุตสาหกรรมปัจจุบันอยู่ที่ 12.5% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 12.2% ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเท่ากับ 49,091 ล้านบาท เติบโต 10.4% (อุตสาหกรรมเติบโตที่ 8.6%) ส่วนแบ่งตลาดของการใช้จ่ายผ่านบัตรเท่ากับ 11.2% อยู่ในระดับเดียวกับสิ้นปี 2561 ที่มีค่า 11.2% NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.04% ลดลงจาก 1.14% (อุตสาหกรรม 2.02%)

 

“พอร์ตสมาชิกสินเชื่อบุคคลเคทีซีเท่ากับ 967,059 บัญชี ขยายตัว 12.8% ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคล 26,483 ล้านบาท สัดส่วนลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเคทีซีเทียบกับอุตสาหกรรมเท่ากับ 5.4% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่สามารถเทียบเคียงกับในอดีตได้ เนื่องจากมีการรวมลูกหนี้สินเชื่อทะเบียนรถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตัวเลขอุตสาหกรรมสินเชื่อบุคคล และ NPL ของสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 0.78% ลดลงจาก 0.82% (อุตสาหกรรม 3.49%) โดยสัดส่วน ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อ NPL ยังคงมูลค่าสูงที่ 605% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 591% สำหรับปริมาณการซื้อขายผ่านร้านค้ามีมูลค่า 22,282 ล้านบาท เติบโต 6% และจำนวนร้านค้าสมาชิกเท่ากับ 37,787 แห่ง เพิ่มขึ้น 13% จากโครงการขยายร้านค้าออนไลน์และโครงการขยายร้านค้าอาลีเพย์”

“ไตรมาสแรกของปี 2562 เคทีซีมีอัตราเติบโตของรายได้รวมสูงกว่าค่าใช้จ่าย โดยสามารถทำรายได้เพิ่มขึ้น 9% เท่ากับ 5,574 ล้านบาท จากรายได้ดอกเบี้ย (รวมรายได้ค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน) ของธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลเพิ่มที่ 9% และ 10% เท่ากับ 3,267 ล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียม 1,235 ล้านบาท และรายได้อื่นๆ 1,072 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วน 59% 22% และ 19% ของรายได้รวมตามลำดับ โดยที่รายได้อื่นๆ มีสัดส่วน 88%       มาจากหนี้สูญได้รับคืน และมีการควบคุมค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมภาษีเงินได้) อยู่ที่ 3,590 ล้านบาท ใกล้เคียงกับ    ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 3,603 ล้านบาท แม้ว่าพอร์ตจะมีการขยายตัวแต่ด้วยลูกหนี้ที่มีคุณภาพ ทำให้การตั้งสำรองลดลง และค่าใช้จ่ายการเงินที่เป็นต้นทุนเงินลดลงที่ 2% เนื่องจากบริษัทฯ ออกหุ้นกู้ใหม่ด้วยต้นทุนเงินที่ต่ำลงกว่าค่าเฉลี่ยต้นทุนของหุ้นกู้เดิม โดยรักษาสัดส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิ (Operating Cost to Income Ratio) ที่ต่ำอยู่แล้วให้ลดลงอีกเหลือ 24.9% จาก 27.2% ในช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน”

“บริษัทฯ มีวงเงินสินเชื่อคงเหลือ (Available Credit Line) ทั้งสิ้น 26,730 ล้านบาท เป็นวงเงินของธนาคารกรุงไทย 15,720 ล้านบาท และธนาคารพาณิชย์อื่นๆ 11,010 ล้านบาท โดยมีต้นทุนการเงินไตรมาส 1/2562 เท่ากับ 2.91% ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 ที่มีอัตรา 3.02% โดยมีอัตราส่วนของหนี้สินต่อ   ส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 3.25 เท่า ซึ่งต่ำกว่าภาระผูกพันที่กำหนดไว้ที่ 10 เท่า”

ในปี 2562 นี้ เคทีซีมุ่งหมายการดำเนินงานไปที่ความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก (Customer Needs) โดยจะเน้นนำเสนอสิทธิประโยชน์ด้านออนไลน์ที่เข้มข้น ไม่น้อยกว่าการใช้บัตรที่ร้านค้าปกติ เพื่อให้สมาชิกเคทีซีหรือกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายนึกถึงบัตรและแบรนด์เคทีซีเป็นอันดับต้นๆ ควบคู่กับการพัฒนาระบบออนไลน์ และแอปพลิเคชัน “KTC Mobile” ที่เน้นให้ทุกฟังก์ชันการทำงานมีประโยชน์ สะดวก และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภค ตลอดจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 เป็นที่คาดหมายว่าจะเกิดการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ได้ผ่าน นาโน-พิโกไฟแนนซ์ และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่จะส่งให้ธุรกิจสามารถบรรลุเป้าหมายหลักในการเติบโตอย่างต่อเนื่องควบคู่การสร้างสรรค์สังคมที่ดีอย่างยั่งยืน

เอสซีจี เดินหน้าตามกลยุทธ์สร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน ลงทุนกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน PT. Fajar Surya Wisesa Tbk. หนึ่งในผู้นำธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอินโดนีเซีย พร้อมรองรับตลาดที่มีประชากรสูงถึง 270 ล้านคน และมีอัตราการเติบโตของตลาดบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับเป็นการลงทุนครั้งสำคัญที่จะช่วยสร้างโอกาส การเติบโตของธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี ในอนาคต

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า “เอสซีจี ยังคงเดินหน้าตามกลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งมั่นคงในระยะยาว (Long-term Growth) ด้วยการขยายฐานการลงทุนในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี ได้เข้าลงทุนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สัดส่วนร้อยละ 55 ใน PT. Fajar Surya Wisesa Tbk. (หรือ “Fajar”) ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย จากผู้ถือหุ้นปัจจุบัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 9.6 ล้านล้านรูเปีย (ประมาณ 21,150 ล้านบาท หรือเทียบเท่า 665 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่า จะดำเนินธุรกรรมแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 โดยใช้แหล่งเงินทุนจากภายใน นอกจากนี้ เพื่อรองรับโอกาสในการขยายธุรกิจแพคเกจจิ้งในอนาคต เอสซีจีอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการเพิ่มทุนของธุรกิจแพคเกจจิ้ง ซึ่งคาดว่าการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2562 นี้

นายรุ่งโรจน์ กล่าวต่อไปว่า “การเข้าถือหุ้นข้างมากใน Fajar จะช่วยขยายการเติบโตของเอสซีจีในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดอินโดนีเซีย ซึ่งธุรกิจแพคเกจจิ้งมีโอกาสเติบโตอย่างมากในอนาคต โดยหากพิจารณาจากจำนวนประชากร 270 ล้านคน และอัตราการใช้กระดาษบรรจุภัณฑ์ต่อคนของอินโดนีเซียแล้ว ศักยภาพการเติบโตของตลาดกระดาษบรรจุภัณฑ์ในอินโดนีเซียสูงกว่าไทยเกือบ 3 เท่าตัว”

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี มีผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง และการแข่งขันที่รุนแรงได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงมีขีดความสามารถสูง และมีศักยภาพในการขยายธุรกิจครอบคลุมอาเซียน โดยมีโรงงานตั้งอยู่ที่ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นตลาดที่เติบโตอย่างมาก โดยมุ่งขับเคลื่อนธุรกิจด้วยการเป็นผู้ให้บริการบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (Total Packaging Solutions Provider) รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้า บริการ และกระบวนการผลิต เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และการใช้งานของผู้บริโภค ตลอดจนการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตามแนวทางของเอสซีจี หรือ SCG Circular Way

ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี ในปี 2561 มีรายได้จากการขาย 87,255 ล้านบาท โดยมีกำไรสำหรับปี 6,319 ล้านบาท ขณะที่ Fajar ในปี 2561 มียอดขายกระดาษบรรจุภัณฑ์รวม 1.38 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 9.94 ล้านล้านรูเปีย (ประมาณ 21,900 ล้านบาท) และมีกำไรสำหรับปีประมาณ 1.41 ล้านล้านรูเปีย (ประมาณ 3,100 ล้านบาท)

X

Right Click

No right click