December 22, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

Learning Platform หนึ่งเดียวในโลกที่คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

August 11, 2017 4689

ระบบการศึกษาแบบดั้งเดิมที่เรียนรู้ผ่านครู ตำรากับห้องเรียนถูกสร้างขึ้นมาเมื่อกว่า 500 ปีและยังคงเป็นรูปแบบหลักเพราะเป้าหมายคือการเพิ่มคุณวุฒิให้กับผู้เรียนด้วยการถ่ายทอดข้อมูลต่อๆ ไปจากผู้สอนสู่ผู้เรียนจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนเราไปแล้วว่า การที่จะสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาด้านใด

ก็เป็นเพราะบุคคลนั้นได้เรียนผ่านวิชาแกน วิชาบังคับ หรือวิชาเลือกอะไรมาบ้างตามหลักสูตรที่กำหนดตายตัวไว้ล่วงหน้าแล้วสถาบันใดไม่สามารถทำให้ผู้ควบคุมคุณภาพการศึกษารับรองโครงสร้างและเนื้อหาหลักสูตรอย่างที่ว่าได้ก็จะถือว่า ไม่ได้มาตรฐาน พิจารณาโดยผิวเผิน ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นสูตรสำเร็จที่ลงตัวทางการศึกษา

อย่างไรก็ตาม หลักสูตรที่แม้จะได้การรับรองจากหน่วยงานของรัฐแล้ว ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ใช้บัณฑิตเสมอว่าบัณฑิตที่ผ่านหลักสูตรต่างๆ จำนวนมากไม่มีความรู้ความสามารถและทักษะตามที่ผู้ทรงศักดิ์และสิทธิ์แห่งปริญญาบัตรนั้นๆ พึงจะมี ปริญญาจึงเป็นเพียงจุด เริ่มต้นที่ผู้ได้รับปริญญาต้องใช้เวลาอีก ชั่วชีวิตพิสูจน์ว่าตนเป็นผู้มีการศึกษา แน่แล้ว ฝรั่งจึงเรียกวันรับปริญญาว่า Commencement Day หรือวันแห่งการเริ่มต้น

เสียงเรียกร้องของสังคมมักแบ่งออกเป็น 2 มิติ ได้แก่ ฟากฝั่งตลาดแรงงาน ก็ต้องการบุคลากรที่พร้อมใช้งานได้อย่างมืออาชีพ สามารถทำงานที่ไม่เคยเจอมาก่อน มีความภักดีต่อองค์กร และมีความใส่ใจผูกพันต่อผลประโยชน์ของกิจการ และ มิติในฟากอุปสงค์ของผู้เรียนก็คาดหวังว่าจะมีระบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้จริง หลากหลายรูปแบบ เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่จำกัดการเรียนรู้เฉพาะในห้องเรียน (Any Time Anywhere Education) ตลอดจนคาดหวังว่าผลสัมฤทธิ์จากการเข้าศึกษาจะทำให้สามารถไปทำงานที่ตนชอบได้หลากหลาย (Protean Career) อย่างมีสมดุลระหว่างความสำเร็จในอาชีพและความสุขในชีวิต (Balance of Work Life) ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วแห่งศตวรรษที่ 21

เมื่อนำสภาพการจัดการศึกษามาทาบทับกับเสียงเรียกร้อง ก็จะเกิดปรากฏการณ์อันท้าทายกับทุกสถาบัน เพราะการจัดการเรียนการสอนแบบหลักสูตรภายใต้บริบททางสังคมเมื่อ 500 ปีที่แล้ว ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของศตวรรษนี้ได้อีกแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาด้านบริหารธุรกิจ ที่ต้องรองรับผลกระทบของเทคโนโลยีอุบัติใหม่ (Disruptive Tech-nology) ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นศตวรรษนี้ สถาบันการศึกษาจำนวนไม่น้อยกำลังวิ่งตามกระแสของนวัตกรรมต่างๆ ให้ทัน ด้วยการทำหลักสูตรของตัวเองให้ทันสมัย สร้างจุดขายของหลักสูตรด้วยการเสนอวิชาใหม่ๆ ชื่อแปลกๆ บ้างก็นำเอาเทคโนโลยี Multimedia และ Social Media มาใช้จัดการการศึกษา แต่คำถามคือ การวิ่งตามเทคโนโลยีเป็นกลยุทธ์ที่ถูกต้องจริงหรือ? ประการแรก การวิ่งตามกระแสของเทคโนโลยีอุบัติใหม่เป็นกลยุทธ์ที่แพง ในขณะที่สถาบันการศึกษาจำนวนมากอยู่ในสถานะทางการเงินที่จะเพิ่มต้นทุนการผลิตบัณฑิตไม่ได้อีกแล้ว เพราะต้นทุนจมสูงแต่ประชากรที่กำลังเดินเข้าสู่รั้วสถาบันกลับมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ ประการที่สอง การสอนให้นักศึกษามีความคล่องแคล่วในเทคโนโลยีล่าสุดของวันนี้เป็นความน่าตื่นเต้นเพียงระยะสั้นเท่านั้นหรือไม่ เพราะไม่ทันที่นักศึกษาคนนั้นๆ จะสำเร็จการศึกษา  เทคโนโลยีที่เคยคุ้นเคยและคล่องแคล่ว ก็อาจพลันล้าสมัยไปเสียแล้ว

ดังนั้น สถาบันการศึกษาจึงควรทำหน้าที่ในระดับการสร้างรากฐานอันจำเป็นที่ทำให้ผู้เรียนสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ได้เองในอนาคต บวกกับ การพัฒนาทักษะในฐานะผู้ใช้งานที่จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีได้เสมอ ตัวอย่างเล็กๆ ที่หลายคนอาจไม่เคยตั้งหลักคิดก็ได้คือ ทำไมเราจึงสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือที่ต้องกดหลายปุ่มมาสู่การใช้จอสัมผัสทั้ง Android และ iOS ได้โดยไม่ยากลำบาก นั่นแสดงว่าที่ผ่านมาเราต้องสะสมทักษะอะไรบางอย่างมาพอสมควรจนสามารถปรับตัวได้ หรือในอีกด้านหนึ่ง ผู้สร้างเทคโนโลยีก็ต้องได้เรียนรู้ทักษะอะไรบางอย่างในโลกเก่า จนสามารถออกแบบเทคโนโลยีใหม่ที่สอดคล้องกับการใช้งาน แก้ปัญหา หรือเพิ่มระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้สมัยใหม่ได้

คำถามคือ จะจัดการศึกษาอย่างไรเพื่อพัฒนารากฐานอันมั่นคงและปีกอันแกร่งกล้า รากฐานที่จะต่อยอดความรู้ไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสังคม และปีกที่สามารถนำพาตนเองและโลกโบยบินไปสู่ระดับที่สูงขึ้นได้อย่างไร กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ บทความนี้กำลังจะอธิบายว่า การศึกษาที่จะสามารถลงลึกได้ถึงการสร้าง Roots and Wings ขนาดนั้นเป็นอย่างไร ปัจจุบันนี้ มีนักการศึกษาได้สร้างกลยุทธ์การสอน (Teaching Strategy) ไว้มากมายนอกเหนือจากการบรรยาย (Lecture) บ้างเกิดในห้องเรียน เช่น การระดมสมอง (Brainstorming) การถกแถลง (Discussion) กรณีศึกษา (Case Study) การเรียนที่เน้นการแก้ปัญหา (Problem-Based) สถานการณ์จำลอง (Simulation) เกม (Game) การสมมุติบทบาท (Role Play) การทำแบบประเมินเพื่อเข้าใจตนเอง (Self-Awareness Test) เป็นต้น บ้างก็เป็นการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติ  เช่น การอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) สหกิจศึกษา (Cooperative Education) การฝึกงาน (Internship/ Externship) การเรียนผ่านการทำโครงงาน (Project-Based) การเรียนรู้จากการลงมือทำ (Action Learning) การทำกิจกรรมเพื่อสังคม (Social Work Activity) จนพัฒนามาเป็นการเรียนแบบผสมผสานระหว่างกิจกรรมในกับนอกห้องเรียน เช่น Flipped Classroom ไปถึงการเรียนรู้บนโลกออนไลน์ เป็นต้น ในช่วงกว่าสอง
ทศวรรษที่ผ่านมาเริ่มกล่าวถึงการนำเรื่องสติ (Mindfulness) มาผสมผสานกับการพัฒนาปัญญา เช่น จิตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) การสร้างสรรค์ความรู้ด้วยปัญญาของผู้เรียน (Constructionism) เป็นต้น

กลยุทธ์การเรียนการสอนดังกล่าว มีข้อดีและข้อจำกัดแตกต่างกันไป เช่นการระดมสมองเป็นกลยุทธ์พัฒนาทักษะการรู้คิดจากหลายมุมมองและการยอมรับความแตกต่างทางความคิดของคนที่เห็นไม่ตรงกับตนเอง แต่ก็มีข้อจำกัดที่ว่าหากโจทย์ปัญหามีคำตอบที่จำกัดโดยตัวมันเอง ก็ไม่เหมาะที่จะใช้วิธีดังกล่าว การบรรยายมีประสิทธิผลมากในการนำเสนอข้อมูลและทฤษฎีใหม่ แต่ก็ไม่สามารถให้หลักประกันได้ว่าผู้เรียนจะสามารถนำทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติได้ ส่วนการเรียนรู้จากการลงมือแก้ปัญหาเป็นทีมก็ทำให้เกิดทักษะการนำทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติ อีกทั้งพัฒนาภาวะผู้นำในตัวผู้เรียนได้ แต่โอกาสที่ผู้เรียนอาจจะไม่ได้พบเจอปัญหาเดิมอีกครั้งในชีวิต จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการถอดความรู้ (Reflection) ที่มีประสิทธิผลซึ่งต้องการครูที่ได้รับการอบรมมาเป็นพิเศษเพื่อมาอำนวยการสอนในลักษณะนี้ หรือการจัดหลักสูตรที่มีสหกิจศึกษาตามนโยบายของรัฐ แม้จะเป็นความพยายามตอบสนองข้อเรียกร้องของนายจ้างโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิต แต่ส่วนมากล้มเหลว เพราะไม่ได้เตรียมความพร้อมในด้านการปฏิบัติตนอย่างมืออาชีพ การบ่มเพาะทัศนคติแห่งวิชาชีพของผู้เรียนก่อนเข้าสู่ช่วงเวลาสหกิจศึกษา หลายหลักสูตรสอนด้วยการบรรยาย (Lecture) เกือบตลอดเวลาแล้วก็ส่งผ่านนักศึกษาเข้าสู่สหกิจศึกษาเลย โดยไปฝากความหวังไว้ว่าสหกิจศึกษาจะทำให้บัณฑิตครบเครื่องไปเอง เป็นต้น

ดังนั้น การจัดการศึกษาที่ดีจึงควรมีการออกแบบกลยุทธ์การสอนแบบ ผสมผสาน โดยยึดเอาจุดเด่น คุณลักษณะ คุณสมบัติ ความรู้และทักษะที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียนเป็นที่ตั้ง

เวทีเพื่อการเรียนรู้ (Platform) คืออะไร
คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเอาจุดเด่นของกลยุทธ์การสอนทั้งหมดดังกล่าว มาจัดกระบวนการเรียนรู้เสียใหม่ เพื่อทำให้แน่ใจว่าการจัดการศึกษาจะสามารถลงลึกได้ถึงการสร้างรากฐานอันมั่นคงและปีกอันแกร่งกล้าในตัวผู้เรียน โดยเรียกการศึกษาแบบนี้ว่า เวทีเพื่อการเรียนรู้ (Learning Platform) แทนการเรียกว่าหลักสูตร (Program หรือ Curriculum)

คำว่า Platform หมายถึง การจัดการระบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นพอที่จะรองรับกลยุทธ์การจัดการการเรียนการสอนที่หลากหลาย โดยที่ไม่ได้ตั้งหลักว่านักศึกษาต้องผ่านการเรียนวิชาอะไรบ้างจึงจะครบหลักสูตร แต่ตั้งเป้าหมายว่าผู้เรียนควรมีความรู้และทักษะอะไรบ้าง จึงจะสามารถประสบความสำเร็จในศตวรรษที่ 21 (The 21st Century Skills) และความรู้กับทักษะเหล่านั้นจะเกิดขึ้นได้ด้วยกลยุทธ์การสอนแบบใด ถึงจุดนี้ หลายคนโดยเฉพาะนักการศึกษาอาจตั้งคำถามว่า ทุกหลักสูตรก็มีการตั้งเป้าหมายเพื่อศตวรรษที่ 21 กันทั้งสิ้น แล้วเวทีเพื่อการเรียนรู้ที่ว่านี้มีอะไรที่แตกต่าง? ตอบอย่างสั้นที่สุดคือ Platform เป็นการประมวลกลยุทธ์การสอนที่หลากหลายอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับความชอบหรือความสามารถส่วนตัวของผู้สอนแบบในระบบหลักสูตร แต่เป็นการออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ตลอดกระบวนการเรียนรู้ที่มีความยืดหยุ่นพร้อมที่จะปรับไปสู่กลยุทธ์การสอนใหม่ใดๆ ที่ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ที่มากขึ้นตามหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ปรากฏในตัวผู้เรียน ส่วนคำตอบอย่างละเอียด เป็นดังที่จะได้กล่าวต่อไป

ตัวอย่างเวทีเพื่อการเรียนรู้
ประสบการณ์อันยาวนานที่ใช้กลยุทธ์การสอนที่หลากหลายดังกล่าวข้างต้น คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ค้นพบว่าปัจจัยความสำเร็จประการหนึ่งของการใช้กลยุทธ์เหล่านั้นอยู่ที่ผู้เรียนต้องสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (Self-Learning Capability) ไม่ใช่รอการป้อนความรู้จากผู้สอนแบบที่ตนเองอาจคุ้นเคยมาก่อน (โปรดดูภาพโครงสร้าง Learning Platform)

ดังนั้น ขั้นตอนแรกของเวทีเพื่อการเรียนรู้ คณะฯ จึงทุ่มไปที่การใช้กลยุทธ์การสอนที่จะทำให้ผู้เรียนกระหายใคร่รู้อีกทั้งยังถูกฝึกให้แสวงหาความรู้ด้วยตนเองภายใต้การกำกับดูแลของอาจารย์ที่ปรึกษา คณะฯ เลือกใช้การทำ Flipped Classroom กล่าวคือกิจกรรมการเรียนความรู้พื้นฐานถูกนำไปไว้นอกห้องเรียนด้วยการจัดทำบทเรียนความรู้พื้นฐานให้มีลักษณะที่นักศึกษาสามารถศึกษาด้วยตนเองนอกห้องเรียน จากสื่อการสอนที่จัดเตรียมไว้ให้และที่ต้องค้นคว้าตามความสงสัยใคร่รู้ของผู้เรียนเอง โดยอาจารย์มีหน้าที่ติดตามว่าผู้เรียนมีวินัยในการเรียนหรือไม่ มีปัญหาในการเรียนรู้และแสวงหาความรู้อะไร เรียนได้เร็วหรือช้ากว่ากลุ่มอย่างไร หากมีใครที่เรียนช้าหรือมีปัญหาอาจารย์จะคอยจัดให้เกิดพื้นที่สำหรับเพื่อนสอนเพื่อน พี่สอนน้อง เพราะการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการสอนผู้อื่น นอกจากนี้ ผู้เรียนยังจะได้รู้จักการมีน้ำใจช่วยเหลือกันและกัน อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของส่วนที่สองของเวทีการเรียนรู้ในขั้นแรกนี้ กล่าวคือ การสร้างคุณลักษณะ (Character Building) ซึ่งคือสิ่งที่ถูกนำมาไว้ในห้องเรียนแทนการฟังบรรยายความรู้พื้นฐานเช่นที่เกิดขึ้นในระบบหลักสูตรทั่วไป คุณลักษณะที่ผู้เรียนจะได้รับการพัฒนาในขั้นนี้ ได้แก่ การคิดดีพูดดีมีวินัย การค้นพบเป้าหมายชีวิตและอาชีพในฝันของตนเอง การรู้จักแข่งขันกับตนเอง การทำตนให้ผู้อื่นรัก และการรักผู้อื่นให้เป็น นอกจากนั้น ยังมีการพัฒนาทักษะที่จะแสดงคุณลักษณะของตนเองอย่างสร้างสรรค์ เช่น ทักษะการสื่อสารอย่างมืออาชีพ ความคล่องแคล่วในการใช้เทคโนโลยี ภาวะผู้นำ เป็นต้น กลยุทธ์การสอนพัฒนาคุณลักษณะ ได้แก่ การอบรมเชิงปฏิบัติการ การแสดงบทบาท การจำลองสถานการณ์ การฝึกใช้เทคโนโลยีในห้องปฏิบัติการ การนำเสนอและถกแถลง ฯลฯ บทบาทของอาจารย์ในเวทีส่วนนี้คือการเป็นครูฝึก (Coaching) การประเมินผลสำหรับด่านแรกของเวทีเพื่อการเรียนรู้ขั้นนี้ ได้แก่ การสอบวัดความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้ด้วยตนเอง และการวัดสมรรถภาพทักษะต่างๆ ข้างต้น ส่วนคุณลักษณะนั้นไม่เพียงแต่จะมีการประเมินผลจากการสะท้อนบทเรียน (Reflection) แล้ว ยังมีการติดตามผลทาง Line การทำ Focus Group และการสัมภาษณ์รายบุคคลหลังจากที่ผู้เรียนได้พิสูจน์ตนเองแล้วว่าสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองจนผ่านการสอบวัดความรู้พื้นฐาน พร้อมกับได้รับการปลูกฝังคุณลักษณะอันมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว  เขาก็พร้อมที่จะเข้าสู่ขั้นตอนที่สองของเวทีเพื่อการเรียนรู้ ได้แก่ การพัฒนาความกว้างของฐานความรู้จากสหสาขาวิชา (Breadth of Interdisciplinary) ตลอดจนการเรียนรู้เชิงลึกในวิชาชีพของตน (Depth of Core Discipline) ในขั้นนี้ บทบาทของอาจารย์ส่วนใหญ่จะใช้กลยุทธ์การสอน ด้วยการบรรยาย การวิเคราะห์กรณีศึกษา การค้นคว้าแบบอิสระ และการเรียนแบบ Problem-Based เป็นต้น

ในขั้นตอนที่สาม ผู้เรียนก็พร้อมที่จะเรียนรู้แบบ Action Learning ที่เน้นการเรียนรู้ผ่านโครงการซึ่งเป็นโจทย์ปัญหาจริงที่สามารถทำสำเร็จได้ภายใน 3 สัปดาห์ถึง 3 เดือน จากประสบการณ์ของคณะฯ สามารถแบ่งโครงการ (Projects) ที่ผู้เรียนต้องผ่านการฝึกฝนออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

• โครงการเพื่อการพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีม (Team Effectiveness Project) โครงการประเภทนี้จะมีความท้าทายสูง ผู้ร่วมทีมจะมีปัญหาความขัดแย้ง (Conflict) เพราะความยากและแรงกดดันของเวลา แต่ผู้เรียนจะได้เรียนรู้การใช้ประโยชน์จากความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้เห็นว่า ความขัดแย้งเป็นบ่อเกิดแห่งการพัฒนา ที่ใดไม่มีความขัดแย้งสิ่งต่างๆ มักจะกลายเป็นวงจรประจำ (Routine) จนยากจะยกระดับได้ ผู้เรียนต้องพยายามทำงานให้ลุล่วงตามกรอบเวลา ก้าวข้ามความขัดแย้งเพื่อการบรรลุเป้าหมายร่วมของทีม

• โครงการเพื่อพัฒนาทักษะการวิเคราะห์ (Analytical Skill Project) เป็นโครงการที่ผู้เรียนถูกกำหนดให้ใช้กรอบแนวคิดเหมือนกันทั้งหมดทุกกลุ่มเพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาต่างๆ ขององค์กร เช่น โครงการประยุกต์ใช้ QCC เพื่อพัฒนาคุณภาพการดำเนินการในจุดต่างๆ ขององค์กรจริง เป็นต้น โครงการประเภทนี้มุ่งเป้าหมายที่การพัฒนาทักษะการนำทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติ

• โครงการเพื่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creativity and Innovation Project) โครงการประเภทนี้อาศัยจุดแข็งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มีการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เป็นจำนวนมาก ผู้เรียนจะต้องนำเทคโนโลยีมาพัฒนาอย่างสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ในรูปของแผนธุรกิจที่ตอบโจทย์ทั้งมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ เป็นมิตรต่อสิ่ง-แวดล้อมและยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคม (Triple Bottom Line) เรียกได้ว่าตอบสนองนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อสังคมไทย 5.0 กล่าวคือเป็นสังคมที่สามารถจัดหาสินค้าและบริการให้กับผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ในปริมาณที่สมเหตุผลภายในเวลาที่เหมาะสม (Provide goods and services to the people in need at the appropriate amount within a reasonable time.)

• โครงการเพื่อพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship Project) ภายใต้โครงการประเภทนี้ ผู้เรียนต้องประกอบธุรกิจจริงและบรรลุเป้าหมายทางการตลาดและการเงินภายในเวลาที่กำหนด โครงการนี้ทำให้ผู้เรียนเห็นกระบวนการพัฒนาธุรกิจจากจุดเริ่มต้นการคิดจนถึงการทำกำไร/ขาดทุนอย่างครบวงจร

บทบาทของอาจารย์ผู้สอนในขั้นที่ 3 ของเวทีเพื่อการเรียนรู้ ได้แก่ เป็นผู้อำนวยการส่งเสริมการเรียนรู้ (Facilitator) ตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดขอบเขตของโครงการร่วมกับผู้บริหารองค์กรเจ้าภาพที่เป็นผู้มอบโจทย์สำหรับทำโครงการ กำหนดตัวบุคลากรขององค์กรเจ้าภาพที่จะร่วมกระบวนเรียนรู้ด้วยการแก้ปัญหาพร้อมกับทีมนักศึกษา จัดหาที่ปรึกษาเพิ่มเติมในกรณีที่โครงการเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่ซับซ้อน เป็นต้น นอกจากนี้ อาจารย์ยังต้องเป็นที่ปรึกษาโครงการ (Project Advisor) ให้กับผู้เรียนตลอดโครงการ ซึ่งต้องทำหน้าที่ตั้งแต่การร่วมกับผู้เรียนในการกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ กรอบทฤษฎีที่จะนำมาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาของโครงการ ติดตามความก้าวหน้า และประเมินผลการเรียนรู้เนื่องจากเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การเรียนรู้ของผู้เรียน ส่วนการแก้ปัญหาสำเร็จหรือไม่เป็นปัจจัยรอง เพราะแม้อาจแก้ปัญหาในกรอบเวลาไม่สำเร็จก็มิได้หมายความว่าการเรียนรู้ล้มเหลว ดังนั้นการวัดผลของขั้นนี้ ได้แก่การถอดบทเรียนผ่านกระบวนการสะท้อนความคิด (Reflection) 4 ด้าน ดังนี้

• การสะท้อนบทเรียนด้านทฤษฎี (Reflection on Theory vs. Practice) ได้แก่ การถอดบทเรียนว่ากรอบแนวคิด ทฤษฎีที่วางแผนไว้ก่อนลงมือทำสามารถใช้ได้ในการทำงานจริงๆ หรือไม่ เพราะเหตุใด บทเรียนที่ได้เรียนรู้จากการนำทฤษฎีเชิงวิชาการหนึ่งๆ ไปใช้คืออะไร เหตุใดโลกของทฤษฎีกับโลกของความเป็นจริงจึงอาจต่างกัน

• การสะท้อนบทเรียนด้านการแก้ปัญหา (Reflection on Problem Solving) ได้แก่ การถอดบทเรียนว่าผู้เรียนสามารถแก้ปัญหาได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ เพราะเหตุใด การตั้งโจทย์/ คำถามมีผลต่อการแสวงหาคำตอบอย่างไร

• การสะท้อนบทเรียนด้านการทำงานเป็นทีม (Reflection on Team Process) ได้แก่ การถอดบทเรียนเกี่ยวกับที่มาของประสิทธิผลของการทำงานเป็นทีม (Team Effectiveness) การสะท้อนบทเรียนด้านนี้อาจไม่ต้องรอให้จบสิ้นโครงการ แต่สามารถทำได้ทันทีเมื่อทีมประสบปัญหาความขัดแย้ง เพื่อการเรียนรู้ในการปรับปรุงกระบวนการทำงาน การลดความขัดแย้ง ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งเพื่อการพัฒนา เป็นต้น

• การสะท้อนบทเรียนด้านกระบวนการเรียนรู้ (Reflection on Learning Process) ได้แก่ การถอดบทเรียนเพื่อการเรียนรู้กระบวนการเรียนรู้ (Learning about Learning) ได้แก่การสะท้อนความคิดเห็นจากคำถามที่ว่า หากต้องทำโครงการนี้ใหม่อีกครั้ง มีสิ่งใดจะยังคงทำเหมือนเดิม มีสิ่งใดจะทำ
แตกต่าง เพราะเหตุใด 

เมื่อผู้เรียนผ่านเวทีเพื่อการเรียนรู้ทั้งสามขั้นตอนมาแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายได้แก่การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ทำงานจริง ได้แก่ การทำสหกิจศึกษา หรือแม้แต่การเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง (Startup) คณาจารย์ต้องเปลี่ยนบทบาทของตนเองอีกครั้งมาเป็นผู้นิเทศงาน และผู้ให้คำปรึกษาหารือ (Counselling) การวัดผลมุ่งที่ความพร้อมในการประกอบวิชาชีพอย่างมืออาชีพ (Professionalism) และความสมดุลที่จะประสบความสำเร็จในการงานและชีวิตส่วนตัว (Work Life Balance)

ปัจฉิมบทสู่การนำแนวคิดเวทีเพื่อการเรียนรู้ไปใช้
สถาบันการศึกษาใดที่เห็นประโยชน์ของการสร้าง Learning Platform ดังที่ยกตัวอย่างของคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาข้างต้นนั้น ไม่จำเป็นต้องลอกเลียนแบบรูปแบบและขั้นตอนที่กล่าวไปเสียทั้งหมด   แต่ควรที่จะออกแบบเวทีสั่งสมประสบการณ์การเรียนรู้ที่สามารถตอบเป้าหมายอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสถาบัน โดยหัวใจของความสำเร็จอยู่ที่ความสมดุลของพื้นที่ที่เป็นเวทีของการเตรียมความพร้อมให้กับผู้เรียน เวทีของการสั่งสมความรู้เชิงวิชาการ กับเวทีของการลงมือปฏิบัติ กระบวนการวัดผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ที่ไม่ใช่เพียงการสอบ และการนำผลลัพธ์มาปรับปรุงกลยุทธ์การสอน อย่างต่อเนื่อง โดยในที่สุดสถาบันอาจจะเรียกเวทีเพื่อการเรียนรู้ของท่านว่า “หลักสูตร” เหมือนเดิมก็ได้ ตราบที่ท่านทำให้แน่ใจได้ว่า ผลสัมฤทธิ์แห่งการเรียนรู้ในตัวผู้เรียนจะเกิดขึ้นได้จริงจากการออกแบบไม่ใช่เพราะความบังเอิญ (By Design Not By Chance)

 

เรื่อง : รศ.ดร.สิริวุฒ  บูรณพิร

          คณบดี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

X

Right Click

No right click