กรมปศุสัตว์ นำโดยนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ จัดกิจกรรม Kick Off เปิดปฏิบัติการอวสานสารเร่งเนื้อแดง โดยมีนายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี ณ อาคารมหานครมิวเซียม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ขับเคลื่อนนโยบายห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงตลอดห่วงโซ่การผลิต พร้อมสร้างการรับรู้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนให้ตระหนักถึงอันตรายและผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นจากการใช้สารเร่งเนื้อแดง กรมปศุสัตว์จึงดำเนินการมาตรการเชิงรุกเฝ้าระวังการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงในโรงฆ่าสัตว์ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ และฟาร์มเลี้ยงโคขุนทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยปลอดสารเร่งเนื้อแดง และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค พร้อมส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า
นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ภายใต้การกำกับดูแลของ ศ.ดร. นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านการเกษตรด้วยการยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง ยกระดับศักยภาพของเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง และสานต่อการทำสงครามสินค้าเกษตรเถื่อน พร้อมผลักดันนโยบายตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ โดยกรมปศุสัตว์ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว และบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้มีความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน และเป็นการยกระดับสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ ดังนั้น กิจกรรม Kick Off เปิดปฏิบัติการอวสานสารเร่งเนื้อแดง จึงเป็นกิจกรรมสำคัญที่มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์ หน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข และกองบังคับการปราบปรามกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมุ่งเน้นให้ประเทศไทยปราศจากการใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสัตว์ปศุสัตว์ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับความปลอดภัยในอาหารและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารต่อไป
ด้านนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สารเร่งเนื้อแดงที่มักพบการลักลอบใช้ ได้แก่ ซาลบูทามอล (Salbutamol) เคลนบูเทอรอล (Clenbuterol) และแรคโทพามีน (Ractopamine) ซึ่งมีคุณสมบัติในการกระตุ้นการสร้างโปรตีนในกล้ามเนื้อและลดการสะสมไขมัน จึงถูกนำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ในการเลี้ยงสัตว์ปศุสัตว์ โดยเมื่อนำสารชนิดนี้ไปผสมอาหารสำหรับเลี้ยงในฟาร์มสุกรและโคขุน จะทำให้ได้เนื้อสัตว์ที่มีสีแดงสด ชั้นไขมันบาง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ก่อให้เกิดการตกค้างในผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เมื่อผู้บริโภคทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างเข้าไป จะทำให้กระสับกระส่าย ใจสั่น มือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และความดันโลหิตสูง โดยจะอันตรายมากขึ้นในหญิงมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ในผู้ที่แพ้ หรือได้รับสารในปริมาณมากอาจเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งกรมปศุสัตว์มอบหมายให้กองควบคุมอาหารและยาสัตว์เป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดมาตรการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ ดำเนินมาตรการป้องกันการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดง โดยจัดให้มีการดำเนินการตรวจสอบอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ได้แก่ การตรวจสอบการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงตั้งแต่การเลี้ยงของเกษตรกรในฟาร์ม การเฝ้าระวังในโรงงานผลิตอาหารสัตว์ และการเฝ้าระวังสารเร่งเนื้อแดงตกค้างก่อนสัตว์เข้าโรงฆ่า อีกทั้ง สามารถตรวจสอบการเฝ้าระวังสารเร่งเนื้อแดงย้อนกลับแหล่งที่มา และ/หรือแหล่งผลิต ณ สถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ ซึ่งสารเร่งเนื้อแดงเป็นวัตถุที่ห้ามใช้ผสมในอาหารสัตว์ ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ พ.ศ. 2559 ตามความในมาตรา 6(4) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 หากตรวจพบการฝ่าฝืน มีโทษตามมาตรา 71 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ. 2546 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ กำหนดให้อาหารทุกชนิดมีมาตรฐาน โดยตรวจไม่พบการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์และเกลือของสารกลุ่มนี้ อาหารที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างถือว่าผิดมาตรฐาน ตามมาตรา 25(3) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มีมีโทษตามมาตรา 60 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
สำหรับการจัดกิจกรรม Kick Off เปิดปฏิบัติการอวสานสารเร่งเนื้อแดงในครั้งนี้ เป็นการมุ่งเน้นไม่ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสัตว์ โดยกรมปศุสัตว์มีการรณรงค์ให้ความรู้แก่เกษตรกรถึงอันตรายของสารเร่งเนื้อแดง และส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ตามมาตรฐานฟาร์มที่ดีอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานเพื่อสนับสนุนการส่งออกผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ไปจำหน่ายยังต่างประเทศ พร้อมทั้งสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัย โดยสังเกตจากลักษณะเนื้อสัตว์ที่ไม่มีสีแดงเข้มผิดธรรมชาติ ไม่แห้งเหนียว หรือมีน้ำซึมออกมามากผิดปกติ
ทั้งนี้ หากต้องการซื้อเนื้อสัตว์ ผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ที่ปลอดภัย โดยสังเกตจากสัญลักษณ์ ปศุสัตว์ OK ซึ่งได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ หรือป้ายทองอาหารปลอดภัย (Food Safety) และหากพบผู้กระทำความผิดสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225-6888 หรือแจ้งข้อมูลผ่าน Application DLD 4.0 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
พฤกษา โฮลดิ้ง พร้อมด้วยบริษัทในเครือ ได้แก่ โรงพยาบาลวิมุต และ อินโนโฮม คอนสตรัคชัน ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมพลังสานต่อโครงการ “บ้านใส่ใจเพื่อคนพิการ By PRUKSA” เดินหน้าต่อเนื่องมาสู่ปีที่ 6 โดยโครงการนี้มีเป้าหมายสำคัญในการปรับปรุงและสร้างบ้านใหม่ให้แก่คนพิการ เพื่อให้คนพิการได้มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม ปลอดภัยและตอบสนองต่อความพิการเฉพาะรายบุคคล เพื่อช่วยให้สามารถใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายมากขึ้น พร้อมทั้งสนับสนุนสร้างโอกาสในการมีอาชีพของคนพิการ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้และยืนหยัดอย่างมีศักดิ์ศรีในสังคม
การลงพื้นที่สำรวจปัญหาอย่างละเอียดเพื่อแก้ไขตรงจุด
พฤกษาฯ และทีมงานได้ลงพื้นที่สำรวจสภาพแวดล้อมและความต้องการของคนพิการอย่างใกล้ชิด โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้ได้ช่วยให้ทีมงานสามารถประเมินปัญหาที่แท้จริงของแต่ละครอบครัว ทำให้การช่วยเหลือสามารถออกแบบให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มต้นจากการเยี่ยมเยียนบ้านแต่ละหลังเพื่อพูดคุยกับคนพิการและครอบครัวในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและเชียงใหม่ ทีมงานได้ทำการตรวจสอบสภาพแวดล้อมโดยรอบทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และความสะดวกในการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้ทีมงานสามารถวางแผนการออกแบบและปรับปรุงบ้านที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของแต่ละบุคคลได้อย่างแท้จริง
พลังของพันธมิตรภาครัฐและเอกชน ผนึกกำลังเพื่อคุณภาพชีวิตคนพิการ
โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากหลากหลายองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งรวมพลังกันในด้านทรัพยากร ความรู้ และความเชี่ยวชาญในการสร้างบ้านและสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการ ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม โรงพยาบาลสิรินธร ขอนแก่น ชมรมชมภูม่วนใจ๋ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่ที่ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ทุกหน่วยงานทำหน้าที่บูรณาการความช่วยเหลือในหลากหลายด้าน เริ่มตั้งแต่การประเมินปัญหาการอยู่อาศัยของคนพิการ การจัดลำดับความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ การส่งเสริมการเข้าถึงบริการและสวัสดิการของรัฐ และการให้คำปรึกษาในการพัฒนาอาชีพให้ยั่งยืน ซึ่งการทำงานร่วมกันในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ แต่ยังเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบและความห่วงใยที่องค์กรทั้งหลายมีต่อสังคมอย่างแท้จริง
นวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัยและการเสริมสร้างอาชีพที่ยั่งยืน
หนึ่งในจุดเด่นของโครงการ “บ้านใส่ใจเพื่อคนพิการ By PRUKSA” คือการใช้ความเชี่ยวชาญและนวัตกรรมมาปรับปรุงพื้นที่อยู่อาศัยให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้พิการในแต่ละพื้นที่ โดยพฤกษาและทีมงานออกแบบโซลูชันที่เป็นมิตรกับการใช้งาน เช่น การปรับแต่งบ้านให้เข้าถึงได้ง่ายด้วยทางเดินที่ปราศจากสิ่งกีดขวาง พื้นห้องน้ำที่ไม่ลื่น ปรับระดับและความสูงของเครื่องมือในบ้านให้เหมาะสมกับการใช้งานของผู้พิการ รวมถึงการใช้วัสดุที่ทนทานและปลอดภัย โดยเตรียมพร้อมเพื่อส่งมอบบ้านที่ปรับปรุงแล้วเสร็จในช่วงปลายปีนี้
นอกจากนี้ พฤกษาและพันธมิตรยังให้การสนับสนุนด้านการส่งเสริมอาชีพเพื่อให้คนพิการสามารถพึ่งพาตนเองได้ ด้วยการนำเสนอแนวทางการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับความสามารถและสถานะของแต่ละคน เช่น การฝึกฝนอาชีพที่สามารถทำได้ที่บ้าน หรือการสร้างรายได้ผ่านการเชื่อมต่อกับเครือข่ายทางธุรกิจในท้องถิ่น เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้พิการในระยะยาว
พฤกษามุ่งมั่นในการสร้างสังคมแห่งความเป็นธรรมและเสมอภาค
ด้วยปณิธานของพฤกษา โฮลดิ้ง ที่ยังคงมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์โครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาสังคมให้เป็นธรรมและเสมอภาค โดยไม่มองข้ามกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือในสังคม ทั้งนี้ พฤกษาเชื่อมั่นว่าทุกคนควรได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกันในการมีชีวิตที่ดีขึ้น มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โครงการ “บ้านใส่ใจเพื่อคนพิการ By PRUKSA” จึงเป็นการแสดงถึงความตั้งใจของพฤกษาที่จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสะท้อนถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและจิตวิญญาณในการพัฒนาชุมชนอย่างแท้จริง
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดเวทีสัมมนาวิชาการด้านการประกันภัย ประจำปี 2567 หรือ Thailand Insurance Symposium 2024 ภายใต้แนวคิด “สร้างโอกาสใหม่แห่งการประกันภัยด้วยเทคโนโลยี เพื่อคุ้มครองชีวิตและสุขภาพอย่างยั่งยืน” (Redefining Insurance through Technology for Sustainable Life and Health Protection) จัดโดยสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สำนักงาน คปภ. เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ณ แกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมฮิลตัน สุขุมวิท กรุงเทพ ในรูปแบบ Hybrid ทั้ง Onsite และ Online มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 400 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ รวมทั้งนักศึกษาจากหลักสูตรของสำนักงาน คปภ. อาทิ หลักสูตรสุดยอดผู้นำวิทยาการประกันภัยระดับสูง (Super วปส.) นักศึกษาหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) นักศึกษาหลักสูตรที่ปรึกษาด้านการประกันภัย (CIA) และสื่อมวลชน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการประกันภัย การบริหารความเสี่ยง และการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัยในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งให้ผู้เข้าร่วมงานสัมมนาได้รับฟังการถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันภัย การบริหารความเสี่ยง และสภาวการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประกันภัย อีกทั้ง เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้และรับฟังความคิดเห็น ระหว่างผู้เข้าร่วมสัมมนากับวิทยากร เพื่อนำไปสู่การวางแนวทางการพัฒนาการประกันภัย และนำองค์ความรู้ที่ได้ไปพัฒนาระบบประกันภัย ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเครือข่ายบุคลากรในอุตสาหกรรมประกันภัยทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้บรรยายพิเศษมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ธุรกิจประกันภัยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ดังนั้น ธุรกิจประกันภัยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบัน เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในการยกระดับการประกันชีวิตและสุขภาพให้มีประสิทธิภาพและสร้างความยั่งยืนในระยะยาว ทั้งนี้หากมีการนำเอาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาใช้ร่วมกันเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลในเรื่องต่าง ๆ ก็ทำให้เกิดการตั้งราคาเบี้ยประกันภัยมีความเหมาะสม การพัฒนาแผนความคุ้มครองที่สนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และประชาชนสามารถใช้เป็นข้อมูลในตัดสินใจเลือกซื้อประกันชีวิตและสุขภาพ รวมไปถึงการนำข้อมูลจาก Smart Watch หรืออุปกรณ์ที่สามารถติดตามการออกกำลังกายและข้อมูลสุขภาพของลูกค้ามาใช้ในการพิจารณาให้ส่วนลดเบี้ยประกันภัยเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้และช่วยให้ภาคธุรกิจได้รับข้อมูลที่ทันสมัยของแต่ละบุคคลในการนำไปประเมินความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ การเติบโตของธุรกิจประกันภัย จำเป็นต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากเทคโนโลยี สถิติข้อมูล และงานวิจัยในเชิงลึกและนำไปใช้ต่อยอดได้ จึงเป็นที่มาของการยกระดับสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สู่การเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการประกันภัย (Research Development and Innovation Center) เพื่อให้เป็นศูนย์กลางรวบรวมองค์ความรู้ และวิทยาการด้านการประกันภัยในระดับสากล รวมถึงขับเคลื่อนการพัฒนาผลงานวิจัย และทดลองนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในธุรกิจประกันภัยเพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ รวมถึงขับเคลื่อนและพัฒนาให้สำนักงาน คปภ. เป็นองค์กรที่ทันสมัยที่สุด โดยศูนย์วิจัยแห่งนี้จะเป็นสถาบันชั้นนำในการพัฒนาบุคลากรในธุรกิจประกันภัย รวมถึงผู้นำและบุคลากรของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องความรู้ด้านการประกันชีวิตและประกันวินาศภัย การนำประกันภัยไปใช้ในการบริหารความเสี่ยง การบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ การแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ทิศทางในด้านกำกับดูแล และการดำเนินธุรกิจประกันภัย ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมของโลก ในปีหน้าจะมีการพัฒนาหลักสูตรเพิ่มเติม สำหรับทั้งบุคลากรของธุรกิจประกันภัยและเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. รวมถึงหลักสูตรนานาชาติสำหรับหน่วยงานกำกับดูแลและภาคธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคอาเซียน อีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญของศูนย์วิจัยแห่งนี้ ก็คือ การเสริมสร้างความร่วมมือและเครือข่ายความรู้และการแลกเปลี่ยนวิทยาการใหม่ ๆ นวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านการประกันภัย ระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล ผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ และบุคลากรด้านการประกันภัย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เสนอผลงานวิจัยและเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้รับข้อมูลและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมประกันภัย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในช่วงปลายปีนี้ สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย จะร่วมกันจัดอีกหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญ ก็คือ งาน Insure Mall สรรพสินค้าออนไลน์รวบรวมผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Insure Mall ครบทุกเรื่องประกัน จบทุกความต้องการ” โดย Insure Mall จะเป็นช่องทางที่สำคัญในการให้บริการประชาชนผู้สนใจประกันภัย สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันภัยได้อย่างครบถ้วนในช่องทางเดียว สร้างประสบการณ์ที่ดีในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัย สามารถเลือกซื้อประกันภัยจากบริษัทประกันภัย บริษัทนายหน้าประกันภัย และธนาคารที่คัดสรรแบบประกันภัยที่มีความเหมาะสมต่อตัวท่านและครอบครัว ในรูปแบบออนไลน์ได้ตลอดเวลา ตลอดจนเป็นแหล่งรวมความรู้พื้นฐานด้านการประกันภัยสำหรับประชาชน ซึ่งก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจและการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาสู่ประเทศไทย สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยจะมีกิจกรรมเปิดตัวโครงการซื้อประกันภัย รับส่วนลดสูงสุดถึง 30% และร่วมลุ้นรับของรางวัลมากมาย สามารถติดตามได้ทาง www.insuremallthailand.com
นอกจากนั้น ภายในงานยังมีการเสวนาหัวข้อ “Future Landscape in Digital Insurance” โดย ดร.ชญานิน เกิดผลงาม รองเลขาธิการ ด้านกลยุทธ์และเทคโนโลยี สำนักงาน คปภ. ดร.จุฑาทอง จารุมิลินท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง และนายสัมฤทธิ์ ตรงตรานนท์ ผู้อำนวยการสายงาน บริษัท ยิบอินซอย จำกัด ต่อจากนั้นเป็นการบรรยาย หัวข้อ “Innovating for Tomorrow: The Future of CX & Digital Workbench in Insurance” โดย Mr. Eugene Macey, Partner, PwC SEA & Global Insurance Customer & Digital Leader และหัวข้อ “Transforming Healthcare and Insurance with AI” โดย นพ.เดโชวัต พรมดา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท Healthtag จำกัด และยังมีการมอบรางวัลผลงานวิชาการของนักศึกษาหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 12 จำนวน 6 ผลงานได้แก่ รางวัลดีเด่น รางวัลดี และรางวัลชมเชย ทั้งนี้ ได้มีการนำเสนอผลงานที่ได้รับรางวัลดีเด่น ได้แก่ กลุ่ม GP 3 การพัฒนา Application เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในกรมธรรม์ และเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ อย่างครบถ้วน : กรณีประกันภัยสุขภาพ และรางวัลดี ได้แก่ GP 2 การพัฒนากรอบธรรมาภิบาล AI สำหรับธุรกิจประกันภัย (AI Governance Framework for Thai Insurance Industry) อีกด้วย
“ในโอกาสนี้ ผมขอแสดงความยินดีกับผลงานวิชาการที่ได้รับรางวัล รวมทั้งขอแสดงความชื่นชมผลงานวิชาการของทุกกลุ่ม ขอยอมรับว่าผลงานวิชาการของทุกกลุ่มในปีนี้น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการต่อยอดและพัฒนาระบบประกันภัยเป็นอย่างมาก ความตั้งใจของทุกท่านมีส่วนในการยกระดับคุณภาพผลงานวิจัยและการพัฒนาธุรกิจประกันภัยเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้าสนับสนุนการสร้างงานที่มีคุณค่าสำหรับกลุ่มคนเปราะบาง รวมถึงกลุ่มคนพิการ ให้ความสำคัญกับความหลากหลายและแตกต่าง มีการปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ปัจจุบัน ซีพีเอฟจัดจ้างพนักงานคนพิการ 806 คน ทำงานในสถานประกอบการ ในชุมชน และเป็นนักกีฬาบาสเกตบอลวีลแชร์ทีมชาติ
นางณฐอร อินทร์ดีศรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่เยี่ยมการทำงานของพนักงานพิการ 2 คนที่ปฏิบัติงานที่ร้านเชสเตอร์ สาขาสยามสแควร์ ธุรกิจร้านอาหารในกลุ่มบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) โดยมีคุณพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล เครือซีพี-ซีพีเอฟ และ คุณลลนา บุญงามศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชสเตอร์ฟู้ด จำกัด ให้การต้อนรับ กิจกรรมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าสถานประกอบการร้านเชสเตอร์ปฏิบัติต่อพนักงานคนพิการอย่างเท่าเทียม และมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้คนพิการและครอบครัว
นางณฐอร กล่าวว่า กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการสนับสนุนนายจ้างและองค์กรให้โอกาสจ้างงานคนพิการทำงานในสถานประกอบการ ซึ่งนอกจากช่วยคนพิการมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยพัฒนาทักษะความรู้ของกลุ่มคนเปราะบางตอบรับความต้องการของตลาดแรงงาน และการที่กรมฯ เยี่ยมชมการปฏิบัติงานของคนพิการที่ร้านเชสเตอร์ สาขาสยามสแควร์ เป็นการสร้างความมั่นใจว่า คนพิการได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม สร้างโอกาสให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และตอกย้ำว่า คนพิการเป็นบุคลากรที่มีศักยภาพและเป็นกำลังสำคัญของสถานประกอบการ ร้านเชสเตอร์ สาขาสยามสแควร์ เป็นหนึ่งในสถานประกอบการมากกว่า 14,000 แห่งของไทยที่เป็นต้นแบบสถานประกอบการที่สนับสนุนให้โอกาสคนพิการได้ทำงานหาเลี้ยงชีพตนเอง และที่สำคัญทำให้เกิดภาคภูมิใจในตนเอง มีกำลังใจในการทำงาน สามารถยืนหยัดอยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียม เห็นคุณค่าของคนพิการในสังคมมากขึ้น
ด้าน นางสาวพิมลรัตน์ กล่าวว่า ซีพีเอฟมีความร่วมมือกับกระทรวงพม.หลายมิติ การจัดจ้างคนพิการ ลดความเหลื่อมล้ำของคนพิการผ่านการสร้างงาน สร้างอาชีพ สนับสนุนให้คนพิการและครอบครัวมีความมั่นคงในชีวิต สามารถพึ่งพาตนเองได้ อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างมีความสุข และภาคภูมิใจ สอดคล้องกับ
หลักปรัชญา 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืนของเครือซีพี ที่บริษัทยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน และบริษัท จากการสนับสนุนการจัดจ้างงานคนพิการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ บริษัท ได้รับการยกย่องเป็นองค์กรต้นแบบความยั่งยืนในตลาดทุนไทยด้านสนับสนุนคนพิการ และรับรางวัลองค์กรที่ “รางวัลองค์กรที่ส่งเสริมการจ้างงานคนพิการระดับดีเยี่ยม ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7
ปัจจุบัน ซีพีเอฟ จัดจ้างคนพิการได้มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงรวม 806 คน ซึงเป็นจำนวนการจ้างงานที่สูงกว่ากฎหมายกำหนด โดยแบ่งเป็นการจัดจ้างคนพิการ 3 รูปแบบ ประกอบด้วย รูปแบบแรก การจ้างงานทำงานในสถานประกอบการของซีพีเอฟ 210 คน รูปแบบที่สอง การจ้างงานทำงานให้ชุมชนที่คนพิการอาศัยอยู่ เช่น โรงเรียน วัด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ทำงานเป็นผู้ช่วยงานโครงการ “เลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” รวม 580 คน และรูปแบบที่สาม การให้สัมปทานพื้นที่คนพิการขายของในโรงงาน 1 คน รวมทั้งสนับสนุนนักกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอลทีมชาติไทย 15 คน
สำหรับ บริษัท เชสเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด ดำเนินธุรกิจร้านอาหารเชสเตอร์ มีการจัดจ้างคนพิการ 17 คน และทำงานอยู่ที่ร้านเชสเตอร์ 3 คน และจัดจ้างให้ทำงานในชุมชนอีก 14 คน
นางสาวสุกัญญา “อีฟ” บุตรโคตร พนักงานคนพิการทางการเคลื่อนไหว เนื่องจากประสบอุบัติเหตุ ต้องใส่เท้าเทียม เล่าว่า ตนเองมาทำงานที่เชสเตอร์สาขาสยามสแควร์นาน 7 ปี ทำหน้าที่อยู่ในครัวเป็นพนักงานปรุงอาหาร ที่เชสเตอร์เป็นเหมือนบ้านหลังที่ 2 มีเพื่อนร่วมงานที่ดี ผู้จัดการดีคอยให้กำลังใจ และให้โอกาสทุกอย่าง มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว ตนเองยังได้รับการพัฒนาทักษะความสามารถปรับตำแหน่งและเงินเดือนมาตลอด ช่วยให้ตนและครอบครัวเข้าถึงสิทธิต่างๆ ที่สำคัญสามารถสนับสนุนให้ลูกได้เรียนหนังสือ
นายอธิวัฒน์ “ท๊อป” เดชะมาก เป็นพนักงานพิการทางสติปัญญาและการเรียนรู้ กล่าวว่า สมัครทำงานกับร้านเชสเตอร์ สาขาสยามสแควร์ มีหน้าที่เก็บโต๊ะ เก็บจาน ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ทำงานอยู่กับเชสเตอร์ ได้ทำงานอย่างมีความสุข หัวหน้าและเพื่อนร่วมงานเข้าใจ คอยช่วยเหลือและให้คำแนะนำตลอดเวลา สำหรับรายได้ทั้งหมดที่ได้รับจะมอบให้แม่ทั้งหมดเพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายของที่บ้าน
เอไอเอ ประเทศไทย นำโดย นางสาวรพีพร วงศ์ทองคำ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและภาพลักษณ์ เป็นตัวแทนรับรางวัล “บริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมดีเด่น ประจำปี 2567” หรือ “2024 AMCHAM Corporate Social Impact Award 2024” ระดับ Platinum จากความสำเร็จของโครงการ “เอไอเอ แชร์ริ่ง อะ ไลฟ์” (AIA Sharing A Life) ครั้งที่ 11 หรือวันทำดีร่วมกันของชาวเอไอเอ ซึ่งรางวัลดังกล่าวจัดขึ้นโดยสภาหอการค้าอเมริกันแห่งประเทศไทย (The American Chamber of Commerce in Thailand: AMCHAM) ในงานได้รับเกียรติจาก นายโรเบิร์ต โกเดค เอกอัครราชทูตประจำสถานทูตอเมริกาในประเทศไทย และนาย Simon Denye, AMCHAM Board Governor เป็นประธานมอบรางวัลในพิธี ณ โรงแรม อวานี พลัส ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ
สำหรับโครงการ “เอไอเอ แชร์ริ่ง อะ ไลฟ์” ครั้งที่ 11 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “For Better Health” ด้วยการมอบบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ให้แก่ประชาชนและผู้ด้อยโอกาสโดยไม่มีค่าใช้จ่ายจำนวนทั้งสิ้น 10,000 เข็ม ใน 11 แห่งทั่วประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรชั้นนำ ได้แก่ โรงพยาบาลในเครือ BDMS และซาโนฟี่ บริษัทชั้นนำด้านสุขภาพระดับโลก และแรงสนับสนุนจากเพื่อนพนักงาน พลังตัวแทน รวมถึงประชาชนในชุมชนต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนกิจกรรมในครั้งนี้จนประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม
สำหรับรางวัล “บริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมดีเด่น” หรือ AMCHAM Corporate Social Impact Award 2024 นี้ นับเป็นรางวัลอันทรงคุณค่า ซึ่งเอไอเอ ประเทศไทย ได้รับติดต่อกันต่อเนื่องมาเป็นเวลา 13 ปี จากการเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยยึดหลัก ESG โดยมุ่งรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และบรรษัทภิบาล มาตลอดระยะเวลากว่า 86 ปีในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ตลอดจนยังมีการส่งเสริมด้านกิจกรรมเพื่อตอบแทนสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำถึงความเป็นผู้นำในด้านการดูแลสุขภาพเพื่อสนับสนุนให้คนไทยมีสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้น ตามคำมั่นสัญญา ‘Healthier, Longer, Better Lives’ อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจ AIA One Billion ที่เอไอเอมุ่งสนับสนุนผู้คนกว่าหนึ่งพันล้านคนทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้มีสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้น ภายในปี 2573
ดาว (Dow) ในฐานะผู้นำด้านวัสดุศาสตร์และการผลิตซิลิโคนของโลก ผงาดขึ้นมายืนอยู่แถวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีและโซลูชั่นที่สนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ (New Energy Vehicle) ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การลงทุนด้านนวัตกรรมนี้ นอกจากจะเป็นกลยุทธ์การดำเนินการของดาวแล้ว ยังเป็นพันธกิจของ Dow ที่มุ่งมั่นส่งเสริมการเดินทางและการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2566 ที่ผ่านมา โดยมีรถยนต์พลังงานใหม่จากจีนเข้ามาตีตลาดเป็นจำนวนมาก ข้อมูลจากสถาบันวิจัยอุตสาหกรรมรถยนต์หลายแห่งระบุว่า นับถึงเดือนพฤษภาคม 2567 แบรนด์รถยนต์พลังงานใหม่ที่มีชื่อเสียงจากจีนต่างเข้ามาตั้งฐานการผลิต ลงทุนสร้างโรงงาน หรือเริ่มไลน์การผลิตมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายอันดับหนึ่งของการลงทุนดังกล่าว ตามมาด้วยมาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยอาจเนื่องมาจากประเทศไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (NEVPC) ขึ้นในปี 2563 กำหนดวิสัยทัศน์ปี 2578 เพื่อพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ยุคใหม่ที่ไม่ปล่อยมลพิษ และนวัตกรรมโมเดลธุรกิจเพื่อสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร
ภายใต้บริบทใหม่ของการเดินทางและการขนส่งที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากวิวัฒนาการของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดังกล่าว Dow ซึ่งสั่งสมประสบการณ์ด้านวัสดุศาสตร์มายาวนานกว่า 120 ปี จึงมีบทบาทสำคัญในการคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีและโซลูชันสำหรับวัสดุ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและกลุ่มผู้ผลิตอุปกรณ์ตามแบบฐาน หรือ OEMs (original equipment manufacturers) ในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า ให้สามารถเอาชนะความท้าทายในการผลิตสินค้าด้านความปลอดภัย ระบบการตอบสนอง และระบบไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างยั่งยืน โดย Dow มีความร่วมมือกับคู่ค้าที่ต่างๆ เพื่อเร่งการพัฒนานวัตกรรมให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดในภูมิภาค
โดยล่าสุด Dow ได้นำเสนอโซลูชันการจัดการความร้อนและการป้องกัน ที่ช่วยปกป้องระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ขั้นสูง (Advanced Driver Assistance Systems - ADAS) และระบบแบตเตอรี่ รวมถึงสนับสนุนระบบชาร์จเร็วที่สถานีชาร์จไฟฟ้า โดยมีตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ เช่น LuxSense™ หนังซิลิโคนภายใต้แบรนด์ “ลักส์เซนส์” (silicone synthetic leather) และซิลิโคนเคลือบยางรถยนต์ปิดผนึกรอยรั่วได้เอง (self-sealing silicone) ที่เป็นนวัตกรรมยานยนต์ที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาอย่างยั่งยืน
เพิ่มประสิทธิภาพของส่วนประกอบ ADAS
เมื่อผู้บริโภคมีความต้องการความปลอดภัยและรถยนต์ที่มีความชาญฉลาดยิ่งขึ้น จึงมีการนำ ADAS มาใช้เพิ่มขึ้น โดยผู้ผลิตกำหนดมาตรฐานที่สูงขึ้นในกระบวนการประกอบรถยนต์ ทั้งในด้านความเที่ยงตรง (linearity) ความไว (sensitivity) การทำซ้ำ (repeatability) การตอบสนองอย่างรวดเร็ว (quick response) ความละเอียด (resolution) และความเสถียร (stability) ดังนั้น ตัวเลือกวัสดุจึงมีผลโดยตรงต่อความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ ADAS ซึ่ง Dow ได้เล็งเห็นถึงความต้องการดังกล่าว จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์การจัดการความร้อน DOWSIL™ ซึ่งมีระดับการนำความร้อนในหลายระดับให้เลือกได้ตามความต้องการ
นอกเหนือจากการจัดการความร้อนแล้ว Dow ยังมีโซลูชันซิลิโคนประสิทธิภาพสูงสำหรับการป้องกันคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ป้องกันการรั่วซึม และการปกป้องเฉพาะทางสำหรับ ADAS โดยโซลูชันเหล่านี้จะช่วยให้ลูกค้าสามารถพัฒนาออกแบบระบบเซ็นเซอร์รุ่นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า
สร้างเกราะป้องกันสำหรับแบตเตอรี่
ปัญหาเรื่องความปลอดภัยของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เช่น Thermal Runaway หรืออาการที่แบตเตอรี่ร้อนและบวม จนทำให้เสียหรืออาจทำให้เกิดไฟไหม้ ซึ่งเป็นปัญหาด้านความปลอดภัยที่สำคัญ Dow จึงได้พัฒนา DOWSIL™ ซึ่งเป็นวัสดุซิลิโคนขั้นสูงของดาวที่ถูกออกแบบเพื่อการป้องกันไฟไหม้จากแบตเตอรี่ โดยมีความเสถียรด้านความร้อนและความไวไฟต่ำ วัสดุเหล่านี้ได้รับออกแบบเป็นพิเศษ เพื่อเสริมความทนทานและอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ที่มีหลากหลายรูปแบบและคุณสมบัติ
ขณะเดียวกัน Dow ยังมีชุดวัสดุ สถานที่ทดสอบสถานการณ์จำลอง และการทดสอบประสิทธิภาพในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อสนับสนุนผู้ผลิตแบตเตอรี่และ OEMs ในการเลือกวัสดุที่เหมาะสมและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของแบตเตอรี่
ขับเคลื่อนนวัตกรรมเทคโนโลยีชาร์จเร็ว
ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะมีความกังวลเกี่ยวกับระยะทางขับขี่และแบตเตอรี่ที่อาจหมดระหว่างทาง (range anxiety) และให้ความสนใจกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ที่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มระยะการขับขี่ อย่างไรก็ตาม กระบวนการชาร์จแบตเตอรี่ในปัจจุบันยังมีความท้าทาย เพราะโครงสร้างพื้นฐานยังไม่เพียงพอ นอกจากนั้น ยังมีความต้องการอัปเกรดสถานีชาร์จเป็นระบบชาร์จเร็วที่ต้องการการจ่ายพลังงานสูงและการระบายความร้อนอย่างรวดเร็ว และมีความทนทาน Dow จึงได้พัฒนาประสิทธิภาพของซิลิโคนในด้านการนำความร้อน การกันรั่ว และการประกอบรถยนต์ รวมถึงฉนวนและการนำความร้อน ภายใต้ผลิตภัณฑ์ DOWSIL™ เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายเหล่านี้
บรรลุเป้าหมาย "การพัฒนาที่ยั่งยืน" ด้วยนวัตกรรม
Dow มุ่งมั่นที่จะเปลี่ยน "การพัฒนาที่ยั่งยืน" ให้กลายเป็นความจริงทางธุรกิจผ่านการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่องและความพยายามที่ไม่หยุดยั้ง บริษัทได้บุกเบิกพัฒนาโซลูชั่นด้านเครื่องหนังจากวัสดุซิลิโคน และซิลิโคนเคลือบยางรถยนต์ปิดผนึกรอยรั่วได้เอง (self-sealing silicone) เช่น
LuxSense™ หนังซิลิโคนภายใต้แบรนด์ “ลักส์เซนส์” เป็นวัสดุชั้นนำระดับสูงของโลกที่ได้รับการอนุมัติสำหรับการใช้งานที่หลากหลาย รวมถึงเบาะและสิ่งตกแต่งภายในรถ วัสดุนี้มีเนื้อสัมผัสที่นุ่มสบาย ทำความสะอาดง่าย มีกลิ่นกลางๆ ทนทานต่อการใช้งาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และปล่อยคาร์บอนต่ำ
SILASTIC™ ซิลิโคนเคลือบกันยางรั่ว เป็นโซลูชันรุ่นบุกเบิกระดับสากล ที่เคลือบซิลิโคนบนชั้นยางด้านใน เมื่อยางมีรอยรั่วชั้นซิลิโคนจะทำหน้าที่ผนึกรอยรั่วได้ด้วยตัวเอง และรักษาประสิทธิภาพการทำงานตามปกติของยางไว้ นวัตกรรมนี้ช่วยส่งเสริมการลดการใช้หนัง ลดการปล่อยคาร์บอน และสนับสนุนการผลิตที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ Dow ได้นำเสนอโซลูชันที่ครอบคลุมตลอดอายุการใช้งานรถยนต์ ตั้งแต่การออกแบบและการพัฒนา ไปจนถึงการผลิต การใช้งาน และการรีไซเคิล โดยคำนึงถึงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในทุกขั้นตอน โครงการวิจัยและพัฒนาของ Dow มากกว่า 80% เป็นการผลิตโดยปกป้องสภาพภูมิอากาศ สนับสนุรนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และการพัฒนาวัสดุอย่างปลอดภัย โดยมีเป้าหมายคือ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิต่อปี 5 ล้านตันภายในปี 2573 และบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ โดยแบรนด์ CP และ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven จับมือกับพันธมิตร You&I Premium Suki Buffet ร้านสุกี้พรีเมียม สู่ตลาดอาหารพร้อมทาน เปิดตัว “เกี๊ยวกุ้งทรัฟเฟิลซุปน้ำดำ CP x You&I” สร้างประสบการณ์ความอร่อยระดับพรีเมียม สะดวกและรวดเร็ว ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่ชื่นชอบอาหารที่ใช้เวลาเตรียมน้อย แต่ยังคงคุณภาพและรสชาติเหมือนรับประทานที่ร้าน โดยมี นางศุภรา ศรีบูรณ์ ผู้อำนวยการ ธุรกิจการค้าในประเทศ นายเมธี เจริญสุวรรณ รองผู้อำนวยการขาย และนางสาวอนรรฆวี ชูรัตน์ ผู้บริหารสูงสุด สายงานการตลาดกลาง ซีพีเอฟ พร้อมด้วย นายทัพพ์เทพ จีระอดิศวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพี ออลล์ นางสาวยุพิน ชัยวิกรัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนางสาวปาณญา ศรีโพธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ยู แอนด์ ไอ กรุ๊ป จำกัด ร่วมงาน
จุดเริ่มต้นของ “เกี๊ยวกุ้งทรัฟเฟิลซุปน้ำดำ CP x You&I” เป็นความร่วมมือเพื่อให้คนไทยได้อิ่มอร่อยระดับพรีเมียมต้นฉบับของร้าน You&I จึงรังสรรค์เมนู Limited Edition สุดพิเศษ ด้วยการนำวัตถุดิบคุณภาพ 'เกี๊ยวกุ้งจักรพรรดิ ตราซีพี' มาผสานความอร่อยกับซุปน้ำดำสูตรเฉพาะสไตล์ You&I ที่ลือชื่อ กลมกล่อมด้วยกลิ่นหอมของเห็ดทรัฟเฟิล และยังผนวกกับช่องทางการจำหน่ายที่ครอบคลุมอย่างร้าน 7-Eleven ช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงง่ายและสะดวกมากขึ้น
นางศุภรา ศรีบูรณ์ ผู้อำนวยการ ธุรกิจการค้าในประเทศ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ในครั้งนี้เป็นการผสานจุดแข็งของเครือซีพี-ซีพีเอฟ ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบคุณภาพ ควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล เสริมด้วยศักยภาพของ 7-Eleven ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย ที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกกลุ่มวัย ช่วยสนับสนุน You&I เข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขวางขึ้น ในรูปแบบของเมนูอาหารพร้อมทาน
“You&I เป็นร้านสุกี้ระดับพรีเมียมที่มาพร้อมน้ำซุปเลื่องชื่อให้เลือกหลายแบบ เสิร์ฟพร้อมวัตถุดิบชั้นเยี่ยม ซึ่งความร่วมมือกับซีพีเอฟ เป็นการผนวกความพรีเมียมระหว่างของ น้ำซุปของ You&I จับคู่กับ เกี๊ยวกุ้งจักรพรรดิ ผลิตภัณฑ์ยอดนิยมแบรนด์ซีพี ที่การันตีด้วยรางวัล Superior Taste Award 2024 นำเสนอประสบการณ์ความอร่อยที่คุ้มค่าให้ชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้อย่างสะดวกรวดเร็ว” นางศุภรา กล่าว
สำหรับ ความร่วมมือฯ ครั้งนี้ ดำเนินภายใต้แนวคิด 'ลูกค้าสำเร็จ CP สำเร็จ' ของเครือซีพี ผนึกกำลังเพื่อส่งมอบเมนูอาหารคุณภาพแก่ผู้บริโภคได้อร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการที่หลากหลาย สามารถลิ้มลองความอร่อยของ 'เกี๊ยวกุ้งทรัฟเฟิลซุปน้ำดำ CP x You&I' ในราคา 69 บาท ได้แล้ววันนี้ ที่ 7-Eleven ทั้ง 6,000 สาขาทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล
นายธีรลักษ์ แสงสนิท ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวเปิดงาน EXIM Stakeholders Day ซึ่ง EXIM BANK จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ภายใต้แนวคิด “EXIM’s Journey towards Green Development Bank” โดยมี ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเพื่อเชื่อมโยงและผนึกกำลังการมีส่วนร่วม ตลอดจนรับฟังเสียงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ทุกภาคส่วนต่อนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของ EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มุ่งดำเนินบทบาท “Green Development Bank” โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานกำกับดูแล ผู้ถือหุ้น ผู้แทนจากกระทรวงที่ดูแลงานด้านเศรษฐกิจ ผู้แทนจากหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชน สังคม และชุมชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สถาบันการเงินต่าง ๆ และกลุ่มลูกค้าทุกขนาดธุรกิจ ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ จาก EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567
EXIM BANK จะนำความคิดเห็นและข้อเสนอไปใช้กำหนดนโยบาย ทิศทาง แผนการดำเนินงาน และแนวทางพัฒนาองค์กร โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, and Governance : ESG) เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2570 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 สอดคล้องกับความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจไทย และขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศและโลกอย่างยั่งยืน