November 21, 2024

เอไอเอ ประเทศไทย นำโดย นายนิคฮิล แอดวานี (ที่ 3 จากซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ร่วมลงนามความร่วมมือการสนับสนุนโครงการ KKU Volleyball Academy กับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 นำโดย ดร.ณรงค์ชัย อัครเสรณี (กลาง) นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ. นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล (ที่ 3 จากขวา) อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ. เพียรศักดิ์ ภักดี รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ และ รศ. ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี พร้อมมอบเงินทุนสนับสนุนจำนวน 1.5 ล้านบาท เพื่อมุ่งส่งเสริมสนับสนุนนักเรียน-นักศึกษาหญิงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีความชื่นชอบและมีความสามารถด้านกีฬาวอลเลย์บอล ให้มีโอกาสฝึกซ้อมกีฬาด้วยองค์ความรู้และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านการกีฬาของมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะ และเพิ่มขีดศักยภาพให้สูงขึ้นจนสามารถต่อยอดก้าวสู่การเป็นนักกีฬาวอลเลย์บอลมืออาชีพทั้งในระดับชาติและระดับโลกในอนาคต ซึ่งการสนับสนุนในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงพันธกิจของเอไอเอในการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG (Environmental, Social, and Governance) โดยมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนและสังคมไทย ตลอดจนสนับสนุนให้คนไทยมีสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้นตามคำมั่นสัญญา ‘Healthier, Longer, Better Lives’ โดยมีนายกฤช ธีรสุข ผู้อำนวยการฝ่ายตัวแทนประกันชีวิต ภูมิภาค 4 และนายนครินทร์ ทองเฟื่อง ผู้ช่วยผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตัวแทนประกันชีวิต เขต 15 เอไอเอ ประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามฯ ณ ห้องรับขวัญ โรงแรมบายาสิตา เมื่อเร็วๆ นี้

ถึงแม้ว่าวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชนบ้านหินดาด ต.หินดาด อ.ห้วยแถลง จ.นครราชสีมา จะพึ่งพิงอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ และเด็กๆในพื้นที่ อยู่ในบริบทของสิ่งแวดล้อมการเติบโตตามอัตลักษณ์ของชุมชน

แต่ด้วยยุคสมัยที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่สนับสนุนให้สถานศึกษาพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เป็นการส่งเสริมโอกาสและยกระดับการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน          

รร.บ้านหินดาด ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดกลาง เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีจำนวนนักเรียน 294 คน เป็นอีกหนึ่งโรงเรียนในโครงการมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์ อีดี ที่นำกระบวนการ Coding และ Robotics มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน ภายใต้โครงการ "Coding Robotics Kids"

และกำหนดให้ Coding อยู่ในแผนการเรียนการสอน สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้น โดยตั้งเป้าให้นักเรียนมีทักษะการเขียน โปรแกรมควบคุมบอร์ดสมองกล สามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการศึกษาต่อและใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมีวิทยากรจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาสนับสนุนการอบรมครูผู้สอน และมีผู้นำทางการศึกษารุ่นใหม่ (School Partner :SP) จากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ที่ชวนทีม Robot ของซีพีเอฟ และวิทยากรจากภายนอกมาร่วมสอนน้องๆ นักเรียน ฝึกให้นักเรียนมีทักษะการวางแผน คิดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ด้วยกระบวนการ Coding Robotics

นายสหพันธ์ เปาจันทึก ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหินดาด เล่าว่า แม้โรงเรียนจะได้รับการสนับสนุนแท็บเล็ตจาก สพฐ. แต่วัสดุอุปกรณ์สำหรับการเรียนการสอน Coding ก็ยังไม่เพียงพอ จึงนำเรื่องนี้ปรึกษากับทีมผู้นำทางการศึกษารุ่นใหม่ของซีพีเอฟ ภายใต้โครงการคอนเน็กซ์ อีดี เสนอโครงการ Coding Robotics Kids และได้รับงบประมาณสนับสนุนจากซีพีเอฟ เพื่อจัดซื้อชุดการเรียนการสอน Coding ด้วยโปรแกรม Micro:bit นำมาต่อยอดการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ อาทิ  ป. 3- ป.4 ให้เรียน Coding อย่างง่าย เช่น การต่อบล็อกควบคุมหุ่นยนต์ ชั้นป.5 เริ่มเรียนโปรแกรม Coding ไมโครบิท ต่อบล็อกโค้ด การทำงาน-ควบคุม-รับค่าเซ็นเซอร์ เปิดปิดไฟหรือวัดอุณหภูมิ ด้วย Coding ชั้นป.6 เรียนรู้การเขียน Coding การควบคุมหุ่นยนต์รถวิ่ง

"Coding สอนให้เด็กๆคิดวิเคราะห์ ฝึกทักษะคิดแก้ปัญหาเป็นกระบวนการ นำความรู้มาประยุกต์ใช้กับวิชาอื่นๆได้ ที่ผ่านมา จัดการสอนไปแล้ว 1 รุ่น มีนักเรียนประมาณ 40 คน ที่สามารถเขียน Coding อย่างง่ายได้  ภาคเรียนนี้จะสอนอีก1 รุ่น  ประมาณ 40-50 คน ให้นักเรียนในชุมนุมการเขียนโปรแกรมด้วยไมโครบิท Coding เป็นพี่เลี้ยงส่งต่อความรู้ให้น้องๆ คาดหวังว่าในระยะต่อไป จะต่อยอดกระบวนการคิดจากบทเรียน สู่การทำสมาร์ทฟาร์มง่ายๆ" ผอ.สหพันธ์ กล่าว 

ด.ญ.กัญญาพัชร แก้วขวาน้อย นักเรียนชั้นป.6 บอกว่า รู้สึกสนุกกับการเรียน Coding ได้ทำกิจกรรมเรียนรู้หลายอย่าง ที่สามารถนำความรู้ไปต่อยอด เช่น การทำโมเดลฟาร์มอัจฉริยะ ขอขอบคุณพี่ๆซีพีเอฟที่มอบโอกาสและสนับสนุนการเรียนรู้ดีๆ ขณะที่ ด.ญ.ปิ่นมาลา จินดามาตย์ เล่าถึงสิ่งที่ได้รับ นอกจากความรู้จากการเรียน Coding ยังสามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในการเรียนรู้วิชาอื่นได้ ดีใจมากที่มีพี่ๆซีพีเอฟเข้ามาสนับสนุนโครงการดีๆอย่างนี้ให้กับโรงเรียนของเรา ส่วน ด.ช.อภิณัฐ ตันกระโทก นักเรียนชั้นม.1 บอกว่า  Coding ทั้งสนุกและให้ความรู้ที่นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ และยังได้ประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ สามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปช่วยชุมชนต่อไป

ซีพีเอฟ เป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนที่ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์ อีดี เพื่อขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21 สร้างเด็กดี มีคุณธรรม โดยล่าสุด ปีการศึกษา 2567 ซีพีเอฟสนับสนุนการดำเนินโครงการด้านวิชาการ และฝึกทักษะด้านวิชาชีพ 74 โรงเรียน ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสระบุรี ควบคู่กับเดินหน้าสร้างผู้นำทางการศึกษารุ่นใหม่ (SP) ซึ่งปัจจุบันมี SP ของซีพีเอฟรวม 93 คน ทำหน้าที่เป็นคู่คิด ร่วมทำงานกับผู้บริหารสถานศึกษาและคณะครู สู่เป้าหมายยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาของไทยและลดความเหลื่อมล้ำ

เจนเนอราลี่ ไทยแลนด์ นำทีมผู้บริหาร พนักงาน และตัวแทนนักวิ่งมาราธอน จากกิจกรรม เจนเนอราลี่ พรีเซ้นต์ เขาค้อ มาราธอน 2024 (Generali Presents Khaokho Marathon 2024) ต่อยอดการสร้างสังคมสู่ความยั่งยืน มอบอุปกรณ์การเรียนรู้ และของใช้จำเป็น พร้อมติดตั้งพัดลมจำนวน 22 เครื่อง รวมมูลค่ากว่า 100,000 บาท ให้แก่น้อง ๆ โรงเรียนบ้านห้วยขอนหาด ในพื้นที่อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตของเยาวชนไทยให้ดียิ่งขึ้น

ภายในงานได้รับเกียรติจาก นายอาร์ช คอลมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และคณะผู้บริหาร พนักงาน กลุ่มบริษัทเจนเนอราลี่ ไทยแลนด์ เยี่ยมชมโรงเรียน พร้อมทำกิจกรรมร่วมกับน้อง ๆ และส่งมอบอุปกรณ์เพื่อการเรียนรู้ และของใช้จำเป็น อาทิ เช่น น้ำดื่ม เก้าอี้ กระดาษ สี ชนิดต่าง ๆ รวมถึง หมวกนิรภัย จำนวน 100 ใบ นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งพัดลมติดผนังจำนวน 22 เครื่อง ภายในโรงเรียนบ้านห้วยขอนหาด  เพื่อปรับปรุงสภาพแวดในโรงเรียนให้มีคุณภาพดีมากยิ่งขึ้น ภายใต้โครงการ "ปันรัก ปันของ ให้น้องใช้เรียน" เพื่อการสร้างอนาคตในการเรียนรู้ที่ดีให้กับน้อง ๆ เยาวชนของชาติ โดยมี นางสาวเปรมวิสาข์ คำหงษ์ รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยขอนหาด เป็นตัวแทนรับมอบ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ โรงเรียนบ้านห้วยขอนหาด จังหวัดเพชรบูรณ์

มูลนิธิเฮอริเทจ (ประเทศไทย) ภายใต้การดูแลของเครือเฮอริเทจ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ นำโดย วลัยทิพย์ ซื่อตรงมั่นคง ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร เครือเฮอริเทจ (ขวาบน) จัดโครงการ “ห้องเรียนโภชนาการ ครั้งที่ 12” ณ โรงเรียนวัดราษฎร์ศรัทธาราม ตำบลตลาดจินดา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม  เพื่อให้นักเรียนระดับระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 – 6 ได้รับความรู้เกี่ยวกับหลักโภชนาการ ประโยชน์ของสารอาหาร และการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่อย่างถูกต้อง รวมถึงการเสริมความรู้ในการอ่านและความเข้าใจ เกี่ยวกับข้อมูลโภชนาการบนฉลากผลิตภัณฑ์ ผ่านสื่อการเรียนรู้และกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจ

บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ผสานความร่วมมือกับโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สานต่อโครงการดิจิทัลบัส จัดกิจกรรมแรกของปี 2567 ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนค็อกนิสไทยฯ จังหวัดสกลนคร ตามเป้าหมายด้านการลดความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านดิจิทัลในประเทศไทย ผ่านการฝึกอบรมให้แก่บุคลากรให้ได้อีก 2,000 คน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 6 จังหวัดทั่วประเทศไทยในปีนี้

โครงการดิจิทัลบัสครั้งนี้ถือเป็นการร่วมมือระหว่างหัวเว่ย ประเทศไทย กับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนค็อกนิสไทยฯ จังหวัดสกลนคร ซึ่งถือว่าศูนย์การศึกษาในพื้นที่ห่างไกล รองรับนักเรียนจาก 9 พื้นที่เขตหมู่บ้าน ทั้งหมด 262 คน ตั้งแต่ระดับการศึกษาชั้นอนุบาล 1 จนถึงประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 โดยการจัดโครงการดิจิทัลบัสร่วมกับโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ครั้งนี้ได้มีการปรับเนื้อหาหลักสูตรให้มุ่งเน้นเรื่องการน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง และการนำเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนส่งเสริมความตระหนักรู้ด้านการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของหัวเว่ยในการลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาบุคลากรดิจิทัลในประเทศไทย โดยเฉพาะเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล

หัวเว่ยได้จัดโครงการดิจิทัลบัสผ่านการร่วมมือกับโรงเรียนต่าง ๆ ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 เพื่อนำความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาให้เยาวชนได้ประยุกต์ใช้กับความรู้จากสถาบันการศึกษา ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และวัฒนธรรมในพื้นที่ห่างไกล จนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ เราพบว่าประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัลยังเป็นปัญหาที่พบได้ในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงพื้นที่ห่างไกลในไทยซึ่งมีการพัฒนาและขยายตัวทางเทคโนโลยีค่อนข้างต่ำ ทำให้เกิดช่องว่างในการเข้าถึงองค์ความรู้และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล

ทั้งนี้ หัวเว่ยตั้งเป้าหมายฝึกอบรมนักเรียนและบุคลากรในประเทศไทยจำนวน 2,000 คน ผ่านโครงการดิจิทัลบัส ในปี 2567 ครอบคลุมในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ นครพนม กระบี่ กาญจนบุรี ชัยภูมิ นครนายก และระยอง โดยโครงการในจังหวัดนครนายกและระยองเป็นความร่วมมือระหว่างหัวเว่ยกับองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO และเป็นการต่อยอดจากโครงการที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2566 โดยในปีนี้ หัวเว่ยยังได้ปรับหลักสูตรดิจิทัลบัสให้เข้ากับโรงเรียนในพื้นที่มากยิ่งขึ้น เช่น การสร้างความตระหนักรู้เรื่องการนำเทคโนโลยีประยุกต์ใช้ภาคการเกษตร การนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาเกษตรกรรมในครัวเรือนให้ได้ผลผลิตที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการมอบความรู้เรื่องภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชนในการป้องกันภัยที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์

ดร.อภิสิทธิ์ พึ่งพร ผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้กล่าวถึงโครงการดิจิทัลบัสของหัวเว่ยว่า “ผมต้องขอขอบคุณหัวเว่ยที่ให้การสนับสนุนเยาวชนและบุคลากรในประเทศไทยด้วยการส่งมอบองค์ความรู้ดิจิทัลผ่านโครงการดิจิทัลบัสมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในครั้งนี้ยังเสริมด้วยกิจกรรมสันทนาการให้แก่เด็กนักเรียนชั้นอนุบาล 1-3 การมอบอาหารกลางวัน ร่วมปลูกต้นไม้ ปรับแต่งทัศนียภาพสถานศึกษา เป็นต้น โครงการดิจิทัลบัสถือเป็นโครงการที่สร้างแรงบันดาลใจที่ดี รวมทั้งช่วยสร้างโอกาสและสร้างความฝันให้กับเด็ก ๆ ในพื้นที่ห่างไกลของประเทศไทย”

ตลอดช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา โครงการดิจิทัลบัสของหัวเว่ยได้ให้การฝึกอบรมองค์ความรู้ด้านดิจิทัลให้แก่นักเรียนช่วงชั้นประถมศึกษาตอนปลายถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น รวมทั้งเจ้าหน้าที่พาณิชย์จังหวัด แพทย์อาสา และแรงงานท้องถิ่นรวมแล้วกว่า 4,500 คน ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี สงขลา พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ นครราชสีมา พิจิตร พะเยา กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงราย ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร นครศรีธรรมราช และนครนายก

นอกจากนี้หัวเว่ยยังมีโครงการให้การสนับสนุนด้านการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล ร่วมมือกับโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนโครงการส่วนพระองค์ฯ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การสนับสนุนอุปกรณ์หน้าจออัจฉริยะ Ideahub จำนวน 24 เครื่องให้แก่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สุขศาลาพระราชทานทั่วประเทศไทย ตลอดจนโครงการนำร่อง Huawei Smart PV solution สนับสนุนโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์กักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านหม่องกั๊วะ จังหวัดตาก เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงไฟฟ้าและการเรียนการสอนผ่านห้องเรียนดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยโครงการดิจิทัลบัสถือเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจ “เติบโตพร้อมกับประเทศไทย ร่วมสนับสนุนประเทศไทย” ของหัวเว่ย ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งการสนับสนุนเรื่องความเท่าเทียมทางดิจิทัลผ่านภารกิจของหัวเว่ยเรื่อง ‘นำทุกฝ่ายก้าวไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง’ (Lead Everyone Forward, Leave No One Behind)

บริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ในฐานะ ‘Green Insurer’ หรือผู้นำบริษัทประกันที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม นำโดยคุณแซลลี่ โอฮาร่า ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แอกซ่า ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ และประเทศเกาหลีใต้ (แถวหลัง คนขวา) พร้อมด้วยคุณบุปผาวดี โอวรารินท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายทรัพยากรบุคคลและภาพลักษณ์องค์กรและการสื่อสารองค์กร (แถวหลัง คนซ้าย) จัดกิจกรรมใหญ่ ในสัปดาห์แห่งการทำความดี หรือ “Week for Good”  ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทุกบริษัทของแอกซ่าทั่วโลกจัดขึ้นพร้อมกัน ระหว่างวันที่ 3-7 มิถุนายน 2566 โดยบริษัทฯ มุ่งเน้นในการให้ความสำคัญกับด้าน Climate Change และ Biodiversity และในปีนี้จัดขึ้นภายใต้ธีม “น้ำ” ที่ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในชีวิต เพราะโลกของเรามีน้ำอยู่มากถึง 71% และเป็นน้ำจืดเพียง 2.5% เท่านั้น

 

บริษัทฯ ได้จัดกิจกรรมที่หลากหลายเกี่ยวกับน้ำมากมาย โดยกิจกรรมไฮไลท์ “Clean Up Canal เก็บขยะบริเวณคลองลาดพร้าว” เป็นกิจกรรมที่ร่วมมือกับ TerraCycle Thai Foundation โดยผู้บริหารพร้อมด้วยพนักงานจิตอาสา รวมพลัง Hearts in Action ร่วมเก็บขยะลำคลองได้จำนวนมากถึง 1,616 กิโลกรัม กิจกรรมดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยสร้างจิตสำนึก ร่วมดูแลรักษาสภาพแวดล้อม และป้องกันมลพิษทางน้ำก่อนไหลลงสู่ทะเล และกลายเป็นขยะทะเลที่เป็นปัญหาใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังมีกิจกรรม River Life Game เกมส์คัดแยกขยะ กิจกรรม Water Treatment เรียนรู้การบำบัดน้ำเสีย ผ่านการทำบึงประดิษฐ์ขนาดย่อม กิจกรรม Water is Life Talk การเรียนรู้ความสำคัญของการอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อม จากคุณนุ่น ศิรพันธ์ ดาราสาวที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และคุณพีระ พร้อมสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเล รวมถึงกิจกรรม Water Wisdom Online Quiz การร่วมตอบคำถามเกี่ยวกับการจัดการน้ำ และร่วมแบ่งปันไอเดียการลดใช้น้ำในชีวิตประจำวัน โดยได้รับความสนใจจากผู้บริหาร และพนักงานหัวใจทำงานเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 1,756 คน นับเป็นชั่วโมงการทำความดีได้มากถึง 2,095 ชั่วโมง สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของพนักงานพลังจิตอาสา ที่ใช้หัวใจทำงาน หรือ Hearts in Acton ที่เป็นอีกหนึ่งนโยบายหลักด้านความรับผิดชอบของสังคมของบริษัทฯ   

ทุกกิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยเหลือสังคม อีกทั้งยังทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ประสบการณ์ใหม่ๆ และเป็นส่วนหนึ่งที่จะเป็นแรงผลักดัน และขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม สู่ความยั่งยืนของสังคมไทย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายสูงสุดของบริษัทฯ ที่จะอยู่เคียงข้างทุกความเชื่อมั่น ดูแลกันตลอดไป

กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี จัดโครงการ“เก็บขยะชายหาดทะเลและปล่อยสัตว์ทะเลคืนชีวิตสู่ธรรมชาติ” โดยได้รับเกียรติจาก นายอัศวิน - นางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส นำทีมพนักงานจิตอาสาและครอบครัว ปล่อยเต่าทะเล ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ และสัตว์น้ำอื่น ๆ จำนวน 720 ตัว พร้อมเก็บขยะบริเวณชายหาดตะวันรอน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นาวาเอก พงษ์ศักดิ์ รามนุช ผู้อำนวยการ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลกองทัพเรือ เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ เรื่องวิถีชีวิตและการอนุรักษ์เต่าทะเล กิจกรรมดังกล่าวเป็น ๑ ในโครงการด้านการพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือในสังคม จำนวน 72 โครงการของกลุ่มบีเจซี บิ๊กซี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 เป็นประโยชน์ต่อการกระตุ้นและปลุกสร้างจิตสำนึกให้สังคมเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และร่วมอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากต่อไป

“โครงการสหพัฒน์ให้น้อง” อีกหนึ่งโครงการดี ๆ ที่บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้เป้าหมายสำคัญในการสนับสนุนเยาวชนไทยให้เห็นคุณค่าของ การทำความดี ปลูกฝังเยาวชนไทยตั้งแต่วัยเด็ก ให้เติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่ดีและมีความซื่อสัตย์ ด้วยการส่งต่อเรื่องราวเพื่อเป็นแรงบันดาลใจผ่านทางรายการสร้างสรรค์เพื่อสังคม

สำหรับในปีนี้ “โครงการสหพัฒน์ให้น้อง” เดินหน้าเข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว โดยที่ผ่านมาได้บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ตัวจิ๋วไปแล้ว 182 โรงเรียน ซึ่งการดำเนินการในปีนี้มีเป้าหมายลงพื้นที่โรงเรียน 26 แห่ง ที่มีการอบรมปลูกฝังให้นักเรียนเป็นเด็กดี มีคุณธรรม ร่วมเฟ้นหาและพูดคุยกับ “ยอดมนุษย์ตัวจิ๋ว” (Little Hero) ตัวแทนเด็กดี ประพฤติดี มีคุณธรรม ซื่อสัตย์ กตัญญู มีจิตอาสา มีความโดดเด่นในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการทำความดีให้ครอบครัวและสังคม โดยเกณฑ์ในการคัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ จะมุ่งไปยังโรงเรียนขนาดกลางที่มีจำนวนนักเรียน 200-250 คน และเป็นโรงเรียนที่มีการปลูกฝังส่งเสริมคุณธรรมให้กับนักเรียน เพื่อบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ให้เติบโตเป็นต้นกล้าที่งดงาม เป็นอีกพลังในการขับเคลื่อนสังคมและประเทศชาติให้มีแต่ความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

ล่าสุด ทีมงานสหพัฒน์ ได้ลงพื้นที่โรงเรียนวัดธัญญะผล จ.ปทุมธานี เพื่อตามหาน้อง ๆ ที่เป็นเด็กดี มีคุณธรรม และมีความซื่อสัตย์ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเยาวชนใน สังคมไทย พร้อมให้ความรู้แก่น้อง ๆ ผ่าน กิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โครงการธนาคารขยะออมทรัพย์ เรียนรู้เรื่องการแยกขยะเพื่อลดปริมาณขยะ จากวิทยากรประจำฐาน  การ DIY สิ่งของจากขยะเหลือทิ้งที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้น้อง ๆ สามารถนำความรู้ไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองโรงเรียนและชุมชนต่อไป

“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” รองประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เด็กและเยาวชน ถือเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า ซึ่ง"โครงการสหพัฒน์ให้น้อง" มุ่งมั่นในการสนับสนุนเยาวชนไทยให้เห็นคุณค่าของการทำความดี ปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก ให้เติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่ดีและมีความซื่อสัตย์ โดยเราเชื่อว่าโรงเรียนเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่สามารถบ่มเพาะเยาวชนคุณภาพได้ เป็นอีกพลังในการขับเคลื่อนสังคมและประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป 

“สิรินทรา สรรเสริญ” ผู้อำนวยการ โรงเรียนวัดธัญญะผล จ.ปทุมธานี กล่าวว่า “โครงการสหพัฒน์ให้น้องมีการดำเนินการที่สอดคล้องและเป็นแนวทางเดียวกันกับโรงเรียน ในการมุ่งปลูกฝังเยาวชนไทยให้มีคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งที่ผ่านมาโรงเรียนได้ปลูกฝังเยาวชนให้เป็นเด็กดี มีคุณธรรม ยึดเรื่องความซื่อสัตย์ และจิตอาสาเป็นหลัก เพราะมองว่าการเรียนรู้การเป็นจิตอาสา จะทำให้เด็กและเยาวชน เรียนรู้ความเสียสละ สร้างให้เกิดคุณธรรม จริยธรรมในจิตใจ เพื่อเติบโตไปอย่างมีคุณภาพในสังคม” 

“ด.ช.ประภากรณ์ คัลชัย” หรือ “น้องกันโซ่” อายุ 12 ปี นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตัวแทนเด็กดี “ยอดมนุษย์ตัวจิ๋ว” ได้เปิดเผยความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ว่า “รู้สึกดีใจที่พี่ ๆ สหพัฒน์ ได้มาจัดกิจกรรมที่โรงเรียน สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากการได้เรียนรู้การแยกขยะต่าง ๆ แล้ว ยังได้ฝึกความกล้าแสดงออก จากการที่ตนได้เป็นตัวแทนพูดเชิญชวนเพื่อน ๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆของโรงเรียนอีกด้วย”

นับเป็นโครงการดี ๆ ที่มุ่งบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์จิ๋ว ให้เติบโตเป็นต้นกล้าที่งดงาม เป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป 

เมื่อเร็วๆ นี้ นายอัศวิน - นางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ และรองประธานกรรมการบริหาร บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่มบีเจซี จัดโครงการบริจาคนมกล่องยูเอชทีให้แก่โรงเรียนเนื่องในวันดื่มนมโลก ภายใต้โครงการ “World Milk Day วันดื่มนมโลก @ Big C ปีที่ ๙” ซึ่งเป็น ๑ ในโครงการด้านการพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือในสังคม จำนวน ๗๒ โครงการของกลุ่มบีเจซี บิ๊กซี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗  โดยได้รับเกียรติจาก พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนรับมอบนมยูเอชที จำนวน ๑๓๓,๘๙๓ กล่อง เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่โรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษา จำนวน ๑๔๓ โรงเรียน ใน ๓๓ จังหวัด

นายวรปัชญ์ พ้องพงษ์ศรี รองผู้ว่าการฝ่ายกฎหมาย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม เป็นประธานในกิจกรรมการให้ความรู้และฝึกซ้อมการป้องกันและระงับอัคคีภัย และกิจกรรมการสร้างชุมชนเครือข่ายเป็นมิตรกับทางพิเศษในเขตทางพิเศษศรีรัช ประจำปี 2567 ณ สวนหย่อมและลานกีฬาซอยอยู่ดี เขตสาทร กรุงเทพมหานคร

นายวรปัชญ์ พ้องพงษ์ศรี รองผู้ว่าการฝ่ายกฎหมาย กทพ. กล่าวว่า นอกจากภารกิจหลักในการให้บริการทางพิเศษ เพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางของประชาชนรวมถึงการขนส่ง และเป็นทางเลือกกในการเดินทางของพี่น้องประชาชนแล้ว กทพ. ยังได้ตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะชุมชนรอบเขตทางพิเศษ จึงได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์มาโดยตลอด ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญอีกภารกิจหนึ่ง การจัดกิจกรรมการให้ความรู้การป้องกันและระงับอัคคีภัย และกิจกรรมการสร้างชุมชนเครือข่ายเป็นมิตรกับทางพิเศษในเขตทางพิเศษศรีรัชในวันนี้ นับเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมความสัมพันธ์นดีให้เกิดขึ้นระหว่าง กทพ. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนรอบเขตทางพิเศษ โดยในวันนี้ ได้รับความร่วมมือจาก สำนักงานเขตสาทร ชุมชนกิ่งจันทน์ ชุมชนกุศลทอง ชุมชนดอนกุศลร่วมใจ ชุมชนพัฒนาวรพจน์ ชุมชนจันทน์ร่ำรวย โรงเรียนวัดดอน และโรงเรียนวัดยานนาวา เข้าร่วมกิจกรรม โดยในวันนี้ ได้มีการให้ความรู้วิธีการดับเพลิง การฝึกซ้อมขั้นตอนอพยพ กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การช่วยฟื้นคืนชีพ (First Aid & CPR) ให้กับชาวชุมชนรอบเขตทางพิเศษ ในการป้องกันและระงับอัคคีภัยรวมถึงให้ความช่วยเหลือในกรณีเกิดอัคคีภัย ในการนี้ กทพ. ได้มอบถังดับเพลิงเพื่อมอบให้กับชุมชนกิ่งจันทน์ ชุมชนกุศลทอง ชุมชนดอนกุศลร่วมใจ ชุมชนพัฒนาวรพจน์และ ชุมชนจันทน์ร่ำรวย ชุมชนละจำนวน 5 ถัง พร้อมทั้งได้มอบอุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์การเรียน และถังดับเพลิง ให้กับโรงเรียนวัดดอน และโรงเรียนวัดยานนาวา โรงเรียนละจำนวน 5 ถัง อีกด้วย

​“การทางพิเศษฯ ได้ทำการฝึกซ้อมการป้องกันและระงับอัคคีภัยใต้ทางพิเศษ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานใกล้เคียง ในการรองรับหากเกิดอัคคีภัยใต้ทางพิเศษ หรือในชุมชนใกล้เคียง แสดงให้เห็นว่าการทางพิเศษฯ กับชุมชนรอบเขตทางพิเศษมีความร่วมมือที่ดีต่อกัน ผมหวังว่ากิจกรรมในวันนี้จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างการทางพิเศษฯ และชุมชนรอบเขตทางพิเศษ ก่อให้เกิดความเข้าใจที่ดีและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ลดพื้นที่เสี่ยงเพื่อให้ชุมชนช่วยกันดูแลพื้นที่รอบเขตทางพิเศษ โดยการทางพิเศษฯ จะจัดกิจกรรมดี ๆ อย่างนี้ต่อไป” นายวรปัชญ์ ฯ กล่าวในท้ายที่สุด

X

Right Click

No right click