October 22, 2024

พลตรี สุธี พานิชกุล หัวหน้าสำนักงานผู้บังคับบัญชาโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ให้เกียรติรับมอบเงินสมทบทุนจากนายเอกวิทย์ ชัยวรานุรักษ์ (กลาง) ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารหน่วยธุรกิจ สยามเซ็นเตอร์ และสยาม  ดิสคัฟเวอรี่ นายอิทธิพล บุญนา ผู้อำนวยการ หัวหน้าฝ่ายกิจกรรมการตลาด บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และนางสาววิสาข์ ธนวิภาคย์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายแบรนด์และสื่อสารองค์กร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจากกิจกรรมพิมพ์เสื้อลายลิมิเต็ด อิดิชัน จากเครื่องพิมพ์เอปสัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ “The Celebration: Right to Love” เพื่อฉลอง Pride Month ตลอดเดือนมิถุนายนของกลุ่มสยามพิวรรธน์ร่วมกับพันธมิตร ณ สยามเซ็นเตอร์ เมื่อเร็วๆ นี้

กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี นำโดย นายอัศวิน - นางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ร่วมกับ บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และพนักงานจิตอาสา  จัดกิจกรรม Workshop  เย็บเต้านมเทียม ภายใต้โครงการ “เย็บเต้าจากใจ สู้ภัยมะเร็งณ ร้านหนังสือ Asia Books สาขาอาคารบีเจซี 2 เพื่อนำไปมอบให้กับผู้ป่วยมะเร็งที่ผ่าตัดเต้านมและสูญเสียความมั่นใจในเรื่องของบุคลิกภาพหลังจากรับการรักษาให้กลับมามีรอยยิ้มกับสรีระของตนเองอีกครั้ง โดยกลุ่มบีเจซี บิ๊กซี จะมอบเต้านมเทียม เพื่อช่วยเหลือและสร้างพลังใจให้กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม แก่ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สำหรับโครงการดังกล่าว เป็น 1 ในโครงการด้านการพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือในสังคม จำนวน 72 โครงการของกลุ่มบีเจซี บิ๊กซี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ วันที่ 28 กรกฎาคม 2567

 

นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ กรรมการ บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) บริจาคเงินส่วนตัวในนาม “ทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์” ประจำปี 2567 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 ให้กับสถาบันการศึกษา มูลนิธิ โรงพยาบาลและองค์กรสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ จำนวน 45 องค์กร รวมเป็นเงิน 48.5 ล้านบาท โดยแบ่งการสนับสนุนเป็นองค์กรด้านศาสนา 7 หน่วยงาน ด้านการศึกษา 22 หน่วยงาน และ ด้านสังคม 16 หน่วยงาน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมพิธีมอบทุนฯ  ณ  อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก ซึ่งเงินบริจาคส่วนนี้จะช่วยสนับสนุนการทำงานขององค์กรต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ นายทองมาได้มอบ “ทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์” ต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปีนี้นับเป็นปีที่ 15 โดยได้บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางศาสนา การศึกษา และสังคม ผ่านมูลนิธิ สถาบันการศึกษา และองค์กรต่าง ๆ  ไปแล้วรวมทั้งสิ้น 112 องค์กร ทั่วประเทศ รวมถึงในเนปาล เป็นยอดเงินบริจาครวมทั้งสิ้นมากกว่า 522 ล้านบาท ตามเจตนารมณ์ที่ต้องการทำนุบำรุงศาสนา สนับสนุนทุนการศึกษา และช่วยเหลือหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำงานเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง

MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพนักเรียน เพื่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม โครงการ Energy Mind Award Season 2 ประจำปี 2567 ณ ห้องเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานเพลินจิต โดยการจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพนักเรียนในครั้งนี้ เป็นการยกระดับความเข้าใจต่อการดำเนินงานตามรูปแบบและมาตรฐานของโครงการฯ โดยมีสถานศึกษาให้ความสนใจและเข้าร่วมโครงการฯ ในปีนี้ จำนวน 81 แห่ง ซึ่งสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับการอบรมให้ความรู้ในเรื่องการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานด้านการอนุรักษ์พลังงานอย่างถูกวิธีและเป็นระบบ การวางแผนและจัดทำในเรื่องอนุรักษ์พลังงานในสถานศึกษาเพื่อยกระดับให้เป็นสถานศึกษาต้นแบบด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยจะนำนักเรียนทั้งหมด 324 คน ไปเรียนรู้ ณ ศูนย์รวมตะวัน จ.กาญจนบุรี จำนวน 4 รุ่น

รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 5-7 กรกฎาคม 2567

รุ่นที่ 2 ระหว่างวันที่ 12-14 กรกฎาคม 2567

รุ่นที่ 3 ระหว่างวันที่ 19-21 กรกฎาคม 2567

รุ่นที่ 4 ระหว่างวันที่ 26-28 กรกฎาคม 2567

MEA ในฐานะหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย ที่ดูแลระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ยังให้ความสำคัญในด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และในปี 2567 นี้ MEA ได้ดำเนินงานโครงการ Energy Mind Award Season 2 โดยมีเป้าหมายที่จะต่อยอดจากการดำเนินงานที่ผ่านมา โดยพัฒนาสถานศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้ก้าวไปสู่การเป็นสถานศึกษาต้นแบบด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม สร้างเสริมนักเรียนให้เป็นเยาวชนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และเป็นนักเรียนแกนนำด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ปลูกฝังและสร้างเยาวชนรุ่นใหม่หัวใจสีเขียว (Green Youth) ส่งมอบสู่สังคมไทย  เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมต่อไป

เอไอเอ ประเทศไทย นำโดย นายสุวิรัช พงศ์เสาวภาคย์ (ที่ 6 จากซ้าย แถวหลัง) ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการภายนอก นำทีมพลังตัวแทนเอไอเอกว่า 100 ท่าน ร่วมกิจกรรมบริจาคโลหิต เนื่องในวันประกันชีวิตแห่งชาติ ครั้งที่ 23 โดยได้รับเกียรติจาก นางมยุรินทร์ สุทธิรัตนพันธ์ (ที่ 7 จากซ้าย แถวหลัง) ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ร่วมถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ณ สภากาชาดไทย ถนนอังรีดูนังต์ ซึ่งนอกเหนือจากพลังตัวแทนที่มาร่วมบริจาคโลหิต ณ สภากาชาดไทยแล้ว เพื่อนพนักงานเอไอเอยังได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าว โดยได้มีการรับบริจาคโลหิต ณ อาคารเอไอเอ ทาวเวอร์ เมื่อเร็ว ๆ นี้

สำหรับกิจกรรมบริจาคโลหิตถือเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของเอไอเอ ในการเป็นผู้นำด้าน ESG ซึ่งพร้อมมีส่วนร่วมในการแบ่งปันน้ำใจให้แก่ผู้คนในสังคมไทย อีกทั้งช่วยต่อชีวิตให้แก่เพื่อนมนุษย์ เพื่อสนับสนุนให้ผู้คนกว่าหนึ่งพันล้านคนมีสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้น ตามคำมั่นสัญญา ‘Healthier, Longer, Better Lives’ และเดินหน้าพันธกิจ AIA One Billion ซึ่งเป็นพันธกิจหลักสำคัญของกลุ่มบริษัทเอไอเอ 

บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดย นางเอมอร จิรเสาวภาคย์ กรรมการผู้จัดการ มอบเสื้อกันฝนให้แก่นักเรียนโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร พื้นที่เขตพระนคร เขตบางพลัด และเขตดินแดง ภายใต้โครงการ “เทเวศประกันภัยห่วงใยเยาวชน” เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยและสุขอนามัยของเด็กเล็กในวัยเรียนให้ได้รับการดูแลและสามารถป้องกันตนเองจากโรคหวัดและโรคติดเชื้ออื่น ๆ จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในช่วงฤดูฝน ณ โรงเรียนราชบพิธ กรุงเทพมหานคร

มื้อกลางวันของ โรงเรียนบ้านหนองโบสถ์ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ ภายใต้ “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” ดำเนินการโดยมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ในการสนับสนุนของ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ อบอวลไปด้วยกลิ่นหอมของไข่เจียว เมนูโปรดของนักเรียนทุกคน โดยมีเด็กๆร่วมกับครูผู้รับผิดชอบกำลังช่วยกันปรุงเป็นอาหารกลางวันในวันนี้ ที่สำคัญไข่ไก่ที่นำมาปรุงเป็นเมนูต่างๆ ทั้งไข่ตุ๋นทรงเครื่อง ไข่พะโล้ และไข่ลูกเขย ที่เด็กๆ โหวตให้เป็นเมนูแสนอร่อยในดวงใจ ก็ได้มาจากฝีมือการเลี้ยงของทุกคน ไข่ไก่จึงไม่ใช่แค่ “อาหารกลางวัน” ของน้องๆ แต่ยังเป็น “ความภูมิใจ” ที่พวกเขาได้ลงมือเลี้ยงแม่ไก่ไข่ให้ได้ผลผลิตไข่ไก่คุณภาพปลอดภัยสำหรับทุกคน

ประเสริฐศรี ฉิมปาน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองโบสถ์ บอกว่า สุขภาพร่างกายของเด็กนักเรียนเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะสุขภาพที่ดีย่อมทำให้เด็กๆมีกำลังกายในการศึกษาเล่าเรียน และอาหารโปรตีนคุณภาพดีอย่างไข่ไก่ก็จะเป็นผู้ช่วยชั้นดีในการบำรุงร่างกายและสมองของพวกเขา จึงเป็นที่มาของการสมัครเข้าร่วม “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน”

โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนขนาดเล็กมีนักเรียน 60 กว่าคน และมีเด็กๆในศูนย์เด็กเล็กก่อนวันเรียนอีก 50 คน จึงได้รับการพิจารณาให้เข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ โดยรุ่นแรกได้รับการสนับสนุนแม่พันธุ์ไก่ไข่ 100 ตัว พร้อมอาหารไก่ไข่ รวมทั้งการสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่มาตรฐาน และมีนักสัตวบาลผู้เชี่ยวชาญจากซีพีเอฟมาให้ความรู้สนับสนุนวิชาการด้านการเลี้ยงไก่ไข่ การดูแลตั้งแต่เริ่มต้นเลี้ยงจนถึงปลดแม่ไก่ เพื่อให้ครูผู้ดูแลและน้องๆ นักเรียนมีพื้นฐานที่สามารถบริหารจัดการโครงการได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งแนะนำการขาย การตลาด และบริหารให้มีเงินทุนส่งให้รุ่นต่อไป ทำให้โรงเรียนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนและดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง

“ปัจจุบันเราเลี้ยงไก่ไข่เป็นรุ่นที่ 2 โดยรุ่นแรกได้รับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์แม่พันธุ์และอาหารสัตว์ฟรีจากโครงการฯ ในแต่ละวันผลผลิตไข่ไก่ที่ได้จะจำหน่ายเข้าสู่ระบบสหกรณ์ เพื่อจำหน่ายต่อให้กับโครงการอาหารกลางวัน สำหรับใช้ปรุงประกอบเป็นอาหารกลางวันนักเรียน ส่วนที่เหลือจะจำหน่ายให้กับผู้ปกครองและชาวชุมชน โครงการฯ นี้จึงไม่เพียงเป็นแหล่งอาหารที่มั่นคงของนักเรียนทุกคน แต่ยังเป็นคลังอาหารของชุมชนด้วย” ผอ.ประเสริฐศรี กล่าว

โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน รุ่นแรกสร้างรายได้กลายเป็นเงินทุนสะสมสำหรับดำเนินโครงการได้ถึงกว่า 50,000 บาท สามารถนำไปต่อยอดการเลี้ยงไก่รุ่นใหม่ โดยขยายการเลี้ยงไก่เป็น 150 ตัว รองรับความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ส่วนแม่ไก่รุ่นแรกที่เลี้ยงมาแล้ว 1 ปี ซึ่งได้อายุปลดระวางแล้ว ผอ.ประเสริฐศรี ครูและนักเรียน มีความเห็นตรงกันว่าควรทำการศึกษาต่อจากสมมุติฐานที่ว่า แม่ไก่ยังคงให้ผลผลิตที่ดี น่าจะสามารถเลี้ยงต่อไปได้ จึงย้ายแม่ไก่ทั้งหมดลงเลี้ยงในโรงเรือนใหม่ในรูปแบบปล่อยพื้น เป็นแม่ไก่ไข่อารมณ์ดี พร้อมบันทึกการให้ผลผลิตต่อเนื่อง และวางแผนเลี้ยงต่อให้ได้ 1 ปีครึ่ง จึงจะปลดแม่ไก่ นี่จึงไม่ใช่เพียงการสร้างคลังอาหารในโรงเรียน แต่ยังเป็นการศึกษาทดลอง จากการเด็กๆรู้จักสังเกต เกิดการตั้งคำถาม และพิสูจน์สมมุติฐาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในการเรียนรู้ ที่ประยุกต์สู่การเรียนการสอนและการทดลองอย่างแท้จริง

ขณะเดียวกัน นักเรียนยังได้ฝึกความรับผิดชอบ โดยมีพี่ๆชั้นประถมปีที่ 6 เป็นพี่ใหญ่นำน้องๆ แบ่งเวรกันเก็บไข่ไก่ในเวลา 09.00 น. ของทุกวัน จากนั้นเวลา 15.00 น. จึงช่วยกันเกลี่ยอาหารและให้อาหารเพิ่ม ทักษะเหล่านี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและพัฒนาทักษะด้านอาชีพได้ และไข่ไก่คุณภาพดีที่ผลิตได้ ทำให้เด็กๆได้รับประทานไข่ไก่สด สะอาด ปลอดภัย นอกจากนั้น ยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับโรงเรียนและชุมชน ทั้งไข่ไก่ และผักต่างๆที่นักเรียนรับผิดชอบในการปลูก ดูแล และเก็บเกี่ยวผลผลิต ทั้งผักบุ้ง ผักสวนครัว พืชสมุนไพร และเห็ดนางฟ้า ที่นำเข้าโครงการอาหารกลางวัน  และส่วนที่เหลือนำไปจำหน่ายแก่ชาวชุมชนในราคาย่อมเยา เกิดเป็นกิจกรรมสร้างเสริมหลักการประกอบอาชีพ รู้จักการขาย การตลาด ซึ่งรายได้ที่เกิดขึ้นนำมาเป็นกองทุนหมุนเวียนโครงการฯ ต่อยอดเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญนักเรียนยังมีเงินออมจากการขายไข่ กลายเป็นเงินออมเพื่อศึกษาต่อ โดยหลังจากปลดแม่ไก่รุ่นแรก สามารถจัดสรรเงินทุนเพื่อการศึกษาต่อให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทุนละ 1,500 บาท ได้ถึง 6 ทุน

นอกจากนี้ เด็กๆยังนำไข่ไก่ไปแปรรูปเป็นขนมโดนัทและขนมวาฟเฟิล เพื่อจำหน่ายให้กับนักเรียนและชุมชน เกิดเป็นกิจกรรมเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน ช่วยส่งเสริมทักษะอาชีพ และโรงเรียนยังส่งเสริมให้นักเรียนนำผลิตภัณฑ์แปรรูป ร่วมมอบในงานบุญ โรงทาน และงานการกุศลต่างๆ เป็นการฝึกให้พวกเขารู้จักการแบ่งปันแก่ผู้อื่น

ด.ช.พงศธร ก้อนทอง หรือน้องปอน นักเรียนชั้นป.6 บอกว่า ดีใจที่ได้ร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ทำให้นักเรียนได้รับประทานไข่ไก่สด สะอาด ที่เด็กๆเป็นผู้ดูแลด้วยตัวเอง ช่วยให้ได้ฝึกทักษะอาชีพที่สามารถนำไปต่อยอดในชีวิตประจำวัน และเป็นพื้นฐานอาชีพในอนาคตได้ ส่วน ด.ช.ธีวสุ บุรินทร์ หรือน้องภูผา นักเรียนชั้นป.5 เสริมว่า โครงการฯนี้ ช่วยฝึกความซื่อสัตย์ มีวินัย และรู้จักการทำงานเป็นทีม ทางด้าน ด.ญ.ศุภาพิชญ์ มหาพันธ์ หรือน้องออย กล่าวขอบคุณเครือซีพี ซีพีเอฟ และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ที่ช่วยสนับสนุนโครงการฯ พวกเราจะดูแลโครงการฯนี้ให้ดีที่สุด ให้มีความต่อเนื่องไปถึงน้องๆรุ่นต่อไป เราภูมิใจที่ได้เป็นต้นทางอาหารปลอดภัย และดีใจที่โรงเรียนของเรากลายเป็นแหล่งศึกษาดูงานของโรงเรียนต่างๆ

โรงเรียนบ้านหนองโบสถ์ กลายเป็นต้นแบบของความสำเร็จในการบริหารจัดการโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ที่บรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้างแหล่งอาหารมั่นคงในโรงเรียนเพื่อสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนมีสุขภาพดีจากการได้บริโภคไข่ไก่ และยังสามารถต่อยอดความสำเร็จของโครงการฯ สู่โครงการเกษตรอื่นๆ และยังเป็นแหล่งอาหารของชุมชนได้อย่างยั่งยืน.

ทิพยประกันภัย ร่วมกับ ธนาคารกรุงไทย มอบประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มคุ้มครองเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังช้างป่าในพื้นที่หมู่บ้านคชานุรักษ์และหมู่บ้านเครือข่ายใน 5 จังหวัดภาคตะวันออก เพิ่มความอุ่นใจให้กับเจ้าหน้าที่อาสาสมัครมูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำและเติมแร่ธาตุในโป่งดิน เพื่อเป็นแหล่งอาหารให้กับช้างป่าและสัตว์ป่า ณ บ้านเขาใหญ่ อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี กิจกรรมนี้เน้นย้ำถึงความร่วมมือเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการดูแลทรัพยากรธรรมชาติของไทยอย่างยั่งยืน

ดร.พลรัตน์ เอกโยคยะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ปีนี้เป็นปีที่ 2 ต่อเนื่อง ที่ทิพยประกันภัยสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยร่วมกับธนาคารกรุงไทยมอบประกันภัยอุบัติเหตุให้แก่อาสาสมัครฯ เฝ้าระวังและป้องกันภัยจากช้างป่า รวมทั้งสิ้นจำนวน 910 คน ซึ่งมีวงเงินความคุ้มครองสูงสุดต่อคนอยู่ที่ 200,000 บาท”

ทิพยประกันภัย ห่วงใยและคำนึงถึงความปลอดภัยของอาสาสมัครฯ ที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลชุมชนและเฝ้าระวังช้างป่าออกหากินนอกพื้นที่อนุรักษ์ในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ซึ่งภารกิจสำคัญนี้จะช่วยลดการเผชิญหน้าระหว่างคนกับช้างป่า กรมธรรม์นี้ให้ความคุ้มครองครอบคลุมในกรณีที่อาสาสมัครฯ ประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บ เข้ารับการรักษาพยาบาล หรือรุนแรงถึงขั้นทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิต ซึ่งเป็นหลักประกันที่มั่นคงสำหรับอาสาสมัครฯ เหล่านี้ แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลของอาสาสมัครฯ ผู้เสียสละ”

นายวิชัย อัศรัสกร กรรมการบอร์ดบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ธนาคารกรุงไทย ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ มุ่งมั่นดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ให้ความสำคัญกับการผลักดันให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ผ่านโครงการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และธนาคารได้สนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยการดูแลช้างและพัฒนาป่าธรรมชาติ รวมทั้งปรับปรุงพื้นที่แนวกันชนระหว่างช้างป่าและชุมชน เพื่อสร้างสมดุลในการอยู่ร่วมกัน ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทย ยังได้ร่วมกับ ทิพยประกันภัย มอบประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มให้แก่อาสาสมัครฯ ระหว่างปฏิบัติหน้าที่เฝ้าระวังช้างป่าในพื้นที่หมู่บ้านคชานุรักษ์และหมู่บ้านเครือข่ายใน 5 จังหวัด  และยังจัดกิจกรรม “รวมใจภักดิ์ สร้างโป่งเพื่อช้าง สร้างน้ำเพื่อคน” เพื่อสร้างฝายชะลอน้ำและสร้างโป่งเพื่อเพิ่มแร่ธาตุอาหารที่จำเป็นให้กับช้างป่าและสัตว์ป่า และเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ที่ทรงมีพระราชดำริจัดตั้งมูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขึ้นอีกด้วย”

นอกจากนี้ ทิพยประกันภัยได้จัดกิจกรรมจิตอาสา โดยผู้บริหาร พนักงานจิตอาสา และภาคีเครือข่ายรวมพลังกับชาวบ้านในชุมชนกว่า 300 คน ร่วมกิจกรรมเติมแร่ธาตุในโป่งดินให้เป็นแหล่งอาหารช้างป่าและสัตว์ป่า เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารให้สัตว์ป่า ส่งผลให้ระบบนิเวศเกิดความสมดุล สามารถเป็นแหล่งศึกษาทางธรรมชาติ รวมถึงการซ่อมแซมฝายชะลอน้ำ เพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง กักเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภค บริโภค และทำการเกษตรในช่วงหน้าแล้ง และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำอีกด้วย  กิจกรรมนี้เป็นการเสริมสร้างจิตสำนึกให้แก่พนักงาน ชุมชน และสังคมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ปกป้องธรรมชาติที่เป็นฐานทรัพยากรทางธรรมชาติที่ทรงคุณค่า ให้มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน

ปลูกฝังเยาวชนอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการ “วัน ซันโทรี่ มิซุอิกุ: เรารักษ์น้ำ”

X

Right Click

No right click