การใช้ไม้ฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมของชาวสวีเดน ไม่เพียงมีส่วนสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปิน นักเขียน และช่างฝีมือมากมายตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา
ในอดีตสวีเดนมีปัญหาการเสื่อมโทรมของทรัพยากรป่าไม้เช่นกัน จากการใช้ประโยชน์อย่างหนักทั้งด้านการเกษตร สร้างที่อยู่อาศัย แปรรูปเป็นไม้แผ่น ทำเฟอร์นิเจอร์ และรวมทั้งใช้ในการอุตสาหกรรม กระทั่ง พ.ศ.2446 มีการออกพระราชบัญญัติป่าไม้ ควบคุมและบริหารจัดการป่าอย่างเป็นระบบ ภายใต้หลักการสร้างสมดุลระหว่างคน สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ ส่งผลให้พื้นที่ป่าไม้ของสวีเดนมีขนาดเพิ่มขึ้นจาก 25% เพิ่มเป็น 75% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ครองตำแหน่งผู้ส่งออกไม้จากป่าอันดับ 3 ของโลก
นี่คือจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจในการผลักดันโมเดลจัดการป่ายั่งยืนระดับโลกจากสวีเดนสู่ประเทศไทย ในงาน Redesign Sustainable Forestry: The Innovative Forest Management ที่สถานทูตไทย-สวีเดน ร่วมกับเอสซีจี จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา และเป็นส่วนหนึ่งของ “เวทีความร่วมมือด้านความยั่งยืนไทย-สวีเดน ปี 2566”
ไม่เพียงความก้าวหน้าในเชิงวิศวกรรมที่สวีเดนเรียนรู้และพัฒนามาอย่างต่อเนื่องกับงานไม้ จากที่เคยติดข้อห้ามก่อสร้างอาคารไม้สูงเกิน 2 ชั้น เมื่อมีการปลดล็อคกฎหมายนี้เปิดกว้างให้กับการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ไม้เพื่อประโยชน์ในเชิงก่อสร้างและการออกแบบสถาปัตยกรรมอย่างไร้ขีดจำกัด ส่งผลให้มีอาคารขนาดใหญ่ที่สร้างจากไม้เพิ่มมากขึ้น เช่น Ekogen โครงการพัฒนาที่ประกอบด้วยแฟลตให้เช่า 75 ห้อง และยังมีที่กำลังพัฒนาอีกรวมกว่า 500 ห้อง นอกจากนี้ยังมีศูนย์วัฒนธรรม Sara ที่สร้างขึ้นใจกลางกรุง Skelleftea ทางตอนเหนือของสวีเดน มีโรงละคร 2 แห่ง มีศูนย์ศิลปะ ห้องสมุด และพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ผู้คนเข้ามาพบปะแลกเปลี่ยนความคิด
ที่เป็นปรากฏการณ์อันน่าทึ่งของงานไม้สวีเดนคือ กังหันลมไม้สูง 30 เมตรทางตอนเหนือนอกเมืองโกเทนเบอร์ก โดยใช้ไม้ลามิเนตติดกาว (CLT) มีความแข็งแรงกว่าเหล็กเมื่อเทียบในน้ำหนักเท่ากัน ในต้นทุนที่ต่ำกว่าเหล็กมาก เป็นต้นแบบของการสร้างกังหันลมในเชิงพาณิชย์ซึ่งจะสูงถึง 110-150 เมตร เนื่องจากไม้มีน้ำหนักเบาจึงสามารถสร้างแยกเป็นชิ้นส่วน ง่ายต่อการขนส่งและติดตั้ง
มร. Aaron Kaplan ผู้อำนวยการ Eco-Innovation Foundation (EIF) ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การจัดระบบจัดการป่า ในฐานะที่เป็น Facilitator ในการพัฒนาเมืองสีเขียวให้กับเขตต่างๆ ในสวีเดน ว่า ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาสวีเดนผ่านการลองผิดลองถูกมามาก
สวีเดนเคยถูกวิจารณ์ว่าสนใจแค่ต้นไม้ไม่กี่สายพันธุ์อย่างต้นสน เป็นเรื่องท้าทายมากกับการจะเพิ่มความหลากหลายให้กับป่าในสวีเดนซึ่งธรรมชาติเป็นป่าสน เพื่อเปลี่ยนเมืองให้เป็นสีเขียว เป็นเมืองนิเวศที่มีการจัดการป่าอย่างยั่งยืนเพื่อให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุล เพราะคนที่เป็นเจ้าของป่าคือชาวบ้าน ฉะนั้นการจะเปลี่ยนป่าต้องได้รับการยอมรับจากชาวบ้านด้วย
สำหรับการอนุรักษ์ป่าในแบบสวีเดนโมเดลไม่ได้หมายถึงการห้ามตัด แต่การตัดไม้แต่ละต้นต้องสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด ป่าเป็นเหมือนทุนที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้คน เป็นแนวทางการดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งปัจจุบันรายได้จากป่าไม้ของสวีเดนเทียบเท่า 10% ของจีดีพีของประเทศ ไม่เพียงการแปรรูปไม้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เฟอร์นิเจอร์ เยื่อกระดาษ เชื้อเพลิงชีวภาพ ฯลฯ แม้กระทั่งส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว เช่น เป็นสถานที่ท่องเที่ยวฮันนีมูนกลางป่า การเดินป่า เป็นต้น
ทางด้าน คุณนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี บอกว่าสนใจแนวทางการจัดระบบป่าที่สวนทางกับความเชื่อเดิมที่มองว่าการอนุรักษ์ป่าคือห้ามตัดไม้ โดยบอกว่าถ้าจะรักษาป่าอย่าห้ามตัดต้นไม้ เพราะจะทำให้ไม้มีราคาแพงขึ้น ยิ่งเป็นแรงจูงใจให้เกิดการลักลอบตัดป่า
การบริหารจัดการระบบป่าแบบสวีเดน นอกจากปลูกทดแทนแล้ว การตัดต้นไม้แต่ละต้นต้องให้ใช้ประโยชน์สูงสุด เช่น เศษไม้ที่เหลือจะผสมกาวกลายเอาไปใช้ประโยชน์ได้อีก เรียกว่าใช้ประโยชน์ได้ทุกเม็ด
ด้วยวิถีความเป็นอยู่ที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติทำให้คนสวีเดนผูกพันกับธรรมชาติและป่าเขา ป่าทั้งหมดเป็นของสาธารณะ ทุกคนเข้าถึงป่าได้ ท่องเที่ยว สร้างบ้านในป่า เก็บผลผลิตจากป่าได้ แต่ต้องกระทำอย่างเหมาะสม
คุณนิธิบอกถึงแง่คิดที่ได้จากการจัดการป่าแบบสวีเดนคือ หนึ่ง สวีเดนโมเดลสร้างความสำเร็จให้สวีเดน แต่ไทยต้องนำมาปรับใช้แบบไทยโมเดล ตามบริบทของประเทศไทย สอง ต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ภาครัฐต้องเป็นผู้นำ แต่จะสำเร็จได้ต้องอาศัยภาคเอกชนต้องมีความคิดริเริ่มเรื่องการปลูกป่าอย่างเหมาะสม รวมทั้งภาคประชาสังคม และชาวบ้าน ทุกฝ่ายต้องมีความตระหนักและช่วยกันดูแล สาม ต้องใช้เทคโนโลยี อย่างธุรกิจบรรจุภัณฑ์หรือเอสซีจีพี ที่มีการใช้ไม้ยูคาลิปตัสเป็นวัตถุดิบหลัก ได้นำระบบการบริหารจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน ตามมาตรฐาน Forest Stewardship Council (FSC) มาใช้กับพื้นที่ปลูกป่าเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมยูคาลิปตัสสายพันธุ์ใหม่ และใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่นโดรนและภาพถ่ายดาวเทียมมาช่วยเพิ่มคุณภาพการปลูก
และสี่ ต้องทำอย่างเป็นระบบ เอสซีจีดำเนินโครงการรักษ์ภูผาสู่มหานที ตามแนวทาง ESG 4 Plus ทำตั้งแต่เพิ่มการปลูกป่า ตลอดจนสร้างฝายชะลอน้ำแล้ว 115,000 ฝาย โดยมีเป้าหมายสร้างถึง 150,000 ฝาย เพราะถ้ามีฝาย ก็จะมีแหล่งน้ำบำรุงป่าให้เติบโต โดยมีชาวบ้านช่วยดูแลด้วยทั้งป่าและฝายเพราะอยู่ในพื้นที่
ที่สำคัญคือ การปลูกฝังให้คนรักป่า โดยเฉพาะเด็กๆ คุณนิธิบอกว่า เอสซีจีปลูกป่ามานานกว่า 10 ปี ปลูกต้นไม้มามากกว่าหนึ่งล้านต้น ทุกวันนี้ผมเริ่มเห็นแสงสว่าง มีคนไม่น้อยที่ชอบแคมปิ้ง เริ่มมีการเดินเทรลเช่นที่เขาใหญ่ เป็นเรื่องของปลูกฝังให้คนรักป่า เพราะการจะทำให้คนรักป่าได้ ต้องใกล้ชิดป่า แต่ด้านความเข้าใจเราต้องช่วยกัน เพราะในความเป็นจริงป่าอยู่อย่างยั่งยืนได้ และเรามีโอกาสที่จะนำป่ากลับคืนมา มีโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากป่าได้ อย่างสวีเดนใช้ประโยชน์จากป่าปีละหลายพันล้านเหรียญ ขณะที่ป่าก็เติบโตไปด้วย เพียงแต่ทุกคนต้องร่วมมือกัน ไม่ดูดาย
ขณะที่ มร. Aaron กล่าวทิ้งท้ายให้คิดว่า สำหรับคนเมืองต้องไม่ลืมว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับป่าไม้มาจากคนเมืองอย่างเราๆ ยิ่งมีความต้องการมากเท่าไร ยิ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมากเท่านั้น ถ้าต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ดีเราต้องมี Mindset ที่ดีเช่นกัน
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เดินหน้า “โครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศภายในสถานประกอบการ”
เมื่อเร็วๆ นี้ นายราฟาเอล กายูเอล่า นักเศรษฐศาสตร์ และ ประธาน European Chemical Association (CEFIC) Strategy Mid Century Project และผู้เขียนหนังสือ “The Future of the Chemical Industry by 2050” กล่าวกับผู้ร่วมสัมมนาระหว่างการบรรยาย “Global Perspective: Challenges and Opportunities for Business from the Net Zero” ในงานสัมมนา “The Fast Track to Net Zero” จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจและกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ซึ่งเป็นผู้นำด้านวัสดุศาสตร์และอุตสาหกรรมเคมีระดับโลก
นี่คือโอกาสทางธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการลดคาร์บอน (Decarbonization) ไม่ใช่ประเด็นทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่เป็นโอกาสทางธุรกิจที่ยิ่งใหญ่และสามารถสร้างการเติบโตให้ธุรกิจได้จริง
นายกายูเอล่าอธิบายว่า ตอนนี้อุตสาหกรรมบางกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการลดคาร์บอนและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนมีการเติบโตสูงอยู่แล้ว เช่น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเติบโตปีละ 50% ขณะที่ธุรกิจผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกเติบโตประมาณ 85% ส่วนธุรกิจการเงินการลุงทุนที่ยั่งยืน และอีกหลายอุตสาหกรรมก็เติบโตอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน
เนื่องจากการปล่อยคาร์บอนจำนวนมหาศาลมาจากอุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมนี้คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่เป้าหมายการปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
“อุตสาหกรรมเคมีมีบทบาทสำคัญ เนื่องจากเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมอื่นๆ จึงมีส่วนในการปล่อยคาร์บอนถึง 77% ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และ 80% ในอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน ยานยนต์ อาหาร แฟชั่น และบรรจุภัณฑ์ ดังนั้น หากต้องการลดการปล่อยคาร์บอนให้เหลือศูนย์ อุตสาหกรรมเคมีคือกุญแจของการปฏิรูปสำหรับทุกอุตสาหกรรมใน Value Chain ความสำเร็จของอุตสาหกรรมเคมีจึงหมายถึงความสำเร็จของมวลมนุษยชาติด้วย”
นายกายูเอล่า ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมเคมีสรุปทิ้งท้ายว่า อุตสาหกรรมเคมีมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างนวัตกรรมสำคัญในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ต่อเนื่องมาถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ในปัจจุบัน ที่อุตสาหกรรมเคมีจะฟื้นฟูสมดุลระหว่างธรรมชาติและมนุษย์ รวมถึงร่วมสร้างและออกแบบอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน
นายกายูเอล่าย้ำว่า อุตสาหกรรมเคมีกำลังเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง สู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยมีผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ผลิตภายใต้กระบวนการหมุนเวียนมากขึ้น และบางส่วนผลิตภายใต้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเต็มรูปแบบแล้ว อีกทั้งมีการใช้วัสดุที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพมากขึ้น เพื่อมุ่งพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมในที่สุด
“เรากำลังก้าวสู่การค้นพบใหม่ๆ และการออกแบบเพื่อความยั่งยืน เมื่อเรานำทุกอย่างมารวมกัน ก็จะเป็นโอกาสการเติบโตครั้งยิ่งใหญ่ของโมเดลธุรกิจนี้ จึงขึ้นอยู่กับเราทุกคนที่จะร่วมมือกันเพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
นายกายูเอล่า กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบธุรกิจ อุตสาหกรรม และประเทศ ที่สามารถบริหารจัดการคาร์บอนได้ดีจะเป็นผู้ชนะในอนาคต ในขณะที่หากใครไม่สามารถบริหารจัดการและขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้านนี้ได้ ก็จะหายไปจากวงการ
ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลของหลายประเทศ เช่น ชาติสมาชิกกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) สหรัฐอเมริกาและประเทศจีน ได้ประกาศคำมั่นสัญญาครั้งสำคัญ คือ ตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral nation) ให้ได้ในปี ค.ศ. 2050 ส่วนจีนตั้งเป้าหมายไว้ที่ปี ค.ศ. 2060
นายกายูเอล่ามีความเห็นว่า ปัจจุบันกฎระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยคาร์บอนเริ่มขับเคลื่อนจากด้านอุปทานมาครอบคลุมด้านอุปสงค์ด้วย อีกทั้งโดยพื้นฐานแล้ว ผู้บริโภคจะมีบทบาทในการสร้างการเปลี่ยนแปลงและสร้างความต้องการ รวมถึงสร้างตลาดพรีเมี่ยมสำหรับสินค้าที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งบริษัทผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมที่สามารถปรับเปลี่ยนตามทิศทางนี้ได้ ก็จะได้รับประโยชน์ ส่วนธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ไม่สามารถทำได้ ก็จะเสียเปรียบและไม่ได้รับการยอมรับ
นายกายูเอล่า กล่าวว่า หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิกาศ และพลังขับเคลื่อนที่สำคัญคือ ยุโรปได้ออก “European Green Deal” เป็นกรอบการดำเนินงานเพื่อรับมือกับวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่มีรายละเอียดครอบคลุมมากที่สุดฉบับหนึ่งของโลก โดยมุ่งเน้นเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
“จะได้เห็นว่า (ภายใต้ European Green Deal) มีการตรากฎหมายทุกรูปแบบที่ส่งเสริมและเร่งการปฏิรูปเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2050 และลดการปล่อยคาร์บอนลง 55% ภายในปี ค.ศ. 2030”
ลอรีอัล ประเทศไทย เดินหน้าสานต่อโครงการ Beauty For A Better Life หรือโครงการฝึกทักษะอาชีพเสริมสวยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต
นายอภินันท์ เผือกผ่อง ผู้ว่าราชการ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานในพิธีมอบ “โครงการฟาร์มสาธิตการเลี้ยงสุกรขุนและไก่ไข่ระบบปิดอัตโนมัติ (Green Farm)” ที่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ สนับสนุนแก่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อยกระดับภาคปศุสัตว์ไทยสู่ 4.0 หนุนศูนย์สมาร์ทฟาร์มของมหาวิทยาลัย และร่วมพัฒนาวิชาการเกษตรสมัยใหม่ ถ่ายทอดสู่นักศึกษา เกษตรกร และผู้สนใจ
นายสิริพงศ์ อรุณรัตนา ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจสัตว์บก ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และซีพีเอฟ ร่วมกันขับเคลื่อนและยกระดับภาคปศุสัตว์ของไทยด้วยนวัตกรรมสู่ยุค 4.0 ด้วยการดำเนินโครงการความร่วมมือทางวิชาการ “โครงการฟาร์มสาธิตการเลี้ยงสุกรขุนและไก่ไข่ระบบปิดอัตโนมัติ (Green Farm)” มาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อให้เป็นฟาร์มเลี้ยงสัตว์มาตรฐานสากลภายใต้ระบบปิด (EVAP) เป็นฟาร์มรักษ์โลกที่เป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐานฟาร์มสีเขียว หรือกรีนฟาร์ม สำหรับพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ฝึกทักษะภาคปศุสัตว์ที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย เป็นสถานที่ศึกษาทดลองและวิจัยด้านเทคโนโลยีการเกษตร ของนักศึกษาของสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร รวมถึงส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้แก่คณาจารย์ ตลอดจนการให้บริการทางวิชาการ พร้อมทั้งพัฒนาฟาร์มให้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาเรียนรู้ที่ทันสมัย ของนักศึกษาซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่สามารถต่อยอดสู่การเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้แก่ผู้อื่นต่อไป
“โครงการฟาร์มสาธิตฯ ถือเป็นความร่วมมือทางวิชาการและกิจการเพื่อสังคมที่ซีพีเอฟตั้งใจส่งมอบให้กับมหาวิทยาลัย ช่วยผลักดันการพัฒนาทางวิชาการและองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัย สู่บุคลากรให้มีทักษะด้านการผลิตเกษตรอุตสาหกรรมแบบครบวงจร โดยบริษัทสนับสนุนงบประมาณ และผู้เชี่ยวชาญร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้กับบุคลากรและนักศึกษา กระทั่งสามารถนำเทคนิควิชาการไปขับเคลื่อนโครงการได้อย่างยั่งยืน" นายสิริพงศ์ กล่าว
นายสมพร เจิมพงศ์ ผู้อำนวยการใหญ่ ธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ม.วลัยลักษณ์และซีพีเอฟ มีเป้าหมายเดียวกันในการมุ่งพัฒนากำลังคนด้านการเกษตรสมัยใหม่ และพัฒนาภาคเกษตรอุตสาหกรรมของไทย ตลอดระยะเวลาการผนึกกำลังในการดำเนินโครงการฯ มานานกว่า 3 ปี โรงเรือนสาธิตฯสุกรขุนและไก่ไข่ในระบบปิดอัตโนมัติ ภายใต้กระบวนการบริหารจัดการฟาร์มในรูปแบบกรีนฟาร์ม กลายเป็นศูนย์สาธิตและฝึกอบรมด้านปศุสัตว์ให้แก่นักศึกษาที่สามารถเรียนรู้และฝึกปฏิบัติงานในฟาร์ม เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ที่พวกเขานำไปเป็นพื้นฐานการทำงาน หรือประกอบอาชีพได้ในอนาคต ขณะเดียวกันยังเป็นการสนับสนุนนักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรให้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์ที่ได้รับ สู่ชุมชนและเกษตรกร ผ่านกลไกของศูนย์การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้การผลิตสัตว์มีคุณภาพ ปลอดภัยเพื่อผู้บริโภค
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ม.วลัยลักษณ์ มุ่งมั่นผลักดัน “ศูนย์สมาร์ทฟาร์ม” เพื่อพัฒนาฟาร์มมหาวิทยาลัยเดิม ให้เป็นการบริหารฟาร์มโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งด้านพืชสวน พืชไร่ ปศุสัตว์ และประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคปศุสัตว์ ซึ่งมหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากซีพีเอฟ ที่มีความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยีและองค์ความรู้ระดับโลก เข้ามาส่งเสริมและพัฒนาระบบการเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นแหล่งฝึกประสบการณ์แก่นักศึกษา เกษตรกร และผู้สนใจ ให้สามารถนำองค์ความรู้ไปพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพ สามารถลดต้นทุน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิต อันเป็นการส่งเสริมความมั่นคงทางอาชีพให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน พร้อมสนับสนุนสู่การเป็นแหล่งค้นคว้า วิจัยพัฒนาที่ยั่งยืนของเกษตรกรชาวนครศรีธรรมราช และภูมิภาคใกล้เคียง อันจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกรอย่างแน่นอน./
FWD ประกันชีวิต เปิดโมเดลต้นแบบโครงการพัฒนาชุมชนกับชุมชนลาหู่ ดอยปู่หมื่น อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
นายชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารความยั่งยืน เอสซีจี นายวรการ พงษ์ศิริกุล Cement Plant Director บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วยนายอนุชาติ สุปัญญา ผู้อำนวยการส่วนจัดการป่าชุมชน สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรจังหวัดลำปาง สมาคมเพื่อการเรียนรู้ป่าชุมชน จ.ลำปาง และคณะกรรมการจัดการป่าชุมชน 5 พื้นที่ ได้แก่ ป่าชุมชนบ้านหาดปู่ด้าย, ป่าชุมชนบ้านขอใต้, ป่าชุมชนบ้านแม่เชียงรายลุ่ม, ป่าชุมชนบ้านร่องเคาะและป่าชุมชนบ้านสบลืน ได้ร่วมมือทำบันทึกข้อตกลงอนุรักษ์ บำรุง และปลูกเสริมป่าชุมชนอย่างยั่งยืนบนพื้นที่ป่าชุมชนจำนวน 3,000 ไร่ ณ ชุมชนบ้านขอใต้ จังหวัดลำปาง
นายชนะ ภูมี กล่าวว่า “เอสซีจีดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลตามแนวทาง ESG 4 plus คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลดความเหลื่อมล้ำ และร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ โครงการอนุรักษ์ บำรุง และปลูกเสริมป่าชุมชนอย่างยั่งยืนนี้ ดำเนินการบนพื้นที่ 3,000 ไร่ ที่เอสซีจี มุ่งหวังให้เป็นโมเดลต้นแบบที่ดำเนินการโดยชุมชนเพื่อประโยชน์ของชุมชน ในการดูแลแหล่งต้นน้ำให้อุดมสมบูรณ์ สร้างอาหาร สร้างรายได้ให้กับชุมชน ตลอดจนเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามธรรมชาติ นอกจากนี้ จะมีการประเมินการกักเก็บคาร์บอนและขึ้นทะเบียนขอคาร์บอนเครดิต เพื่อแหล่งกักเก็บดูดซับคาร์บอน เอสซีจี เชื่อมั่นว่าจะช่วยให้เกิดการปลูก ฟื้นฟูป่าแบบมีส่วนร่วม ต่อยอดแนวทางการปลูกป่าอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ได้ต่อไป”
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กรุงเทพมหานคร (กทม.), สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, แผนงานคนไทย 4.0, สมาคมโรงแรมไทย และบมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และ เซเว่น เดลิเวอรี่ จัดกิจกรรม BKK Zero Waste ต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม เพื่อแสดงพลังองค์กรภาคีทุกภาคส่วนรวมกว่า 100 องค์กรที่ต้องการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืนด้วยการจัดการขยะที่ต้นทาง และส่งเสริมให้องค์กร/หน่วยงานและสาธารณชนตระหนักถึงปัญหาขยะและมีส่วนร่วมในการลดการสร้างขยะและคัดแยกขยะที่ต้นทางโดยเรียนรู้ผ่านองค์กรต้นแบบ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้เป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกับภาคีเครือข่าย ในเฟสที่ 2 ของโครงการไม่เทรวม หรือ BKK ZERO WASTE ซึ่งเป็นการดำเนินการเรื่องการกำจัดขยะในกรุงเทพมหานคร โดยได้รับการสนับสนุนสำคัญจากทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เป็นเหมือนผู้ประสานงานกับกลุ่มภาคีเครือข่าย
“สำหรับเรื่องขยะ ถือเป็นเรื่องใหญ่ของกรุงเทพมหานคร เราใช้งบประมาณจำนวนมากในการดูแลขยะ โดยปีที่แล้วใช้งบประมาณมากถึง 7,000 ล้านบาท เฉพาะการจัดเก็บขยะของกรุงเทพมหานคร และการจ้างเก็บขน ซึ่งถ้าเราสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ก็จะทำให้เรามีงบประมาณไปดูแลในส่วนอื่นๆ ได้มากขึ้น” นายชัชชาติกล่าว
ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ปัญหาขยะมูลฝอยนับเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และการร้องเรียนของประชาชนจากการจัดการขยะมูลฝอยอยู่เสมอ ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID19 ทำให้ขยะติดเชื้อและขยะพลาสติกมีปริมาณเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดยขยะมูลฝอยก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและสุขอนามัยของประชาชน ตลอดจนมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก/สารพิษลงสู่สิ่งแวดล้อม เกิดการปนเปื้อนของน้ำชะขยะสู่แหล่งดิน/แหล่งน้ำ และเกิดก๊าซมีเทนจากบ่อฝังกลบขยะที่เป็นก๊าซเรือนกระจกและเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญของประเทศ จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ปี 2564 กรุงเทพมหานครสร้างขยะมูลฝอยสูงถึง 12,214 ตันต่อวัน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18 ของปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั้งประเทศ
“สสส. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย ที่ให้ความสำคัญในการจัดการขยะมูลฝอย โดยการสร้างพื้นที่ต้นแบบการคัดแยกขยะ การต่อยอดการคัดแยกให้สมบูรณ์ครบวงจร การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การส่งเสริมให้แหล่งกำเนิดในพื้นที่นำร่องมีระบบลดและคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ด้วยการสนับสนุนและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและภาคประชาสังคม” ดร.สุปรีดา กล่าวเสริม
ทั้งนี้ นายตรีเทพ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา รองผู้จัดการทั่วไป ส่วนงานยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมและคอนเน็กซ์ อีดี บมจ.ซีพี ออลล์ กล่าวว่า ซีพี ออลล์ ได้ร่วมสนับสนุนองค์ความรู้การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางโดยใช้วิถี "ต้นกล้าไร้ถัง" ขยายผลมาสู่โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร พร้อมร่วมลงนาม MOU สร้างภาคีเครือข่าย "โรงเรียน กทม. ไร้ถัง"ส่งแนวคิด “เปลี่ยนขยะเป็นทรัพย์สิน” สู่เยาวชน-ชุมชน สร้างเครือข่ายจัดการขยะแข็งแกร่งสุดในไทย เมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา และเริ่มนำร่องในพื้นที่ 9 เขต จำนวน 24 โรงเรียน และมีแผนขยายผลให้ครบ 437 โรงเรียนสังกัด กทม.ภายในปีการศึกษา 2568 เพื่อปลูกฝังให้เกิดการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางให้กับเยาวชนและชุมชน แก้ปัญหาการจัดการขยะ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่และเป็นวาระสำคัญของประเทศ
“สิ่งสำคัญที่สุดของการแก้ปัญหาระดับชาติ คือการสร้างความร่วมมือ รวมพลังกันแก้ปัญหาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ภาคีของเรามีองค์ความรู้หรือ Knowhow ในการจัดการขยะที่ประสบความสำเร็จอย่างทับสะแกโมเดล มีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะครบวงจร ขณะที่ กทม.เองก็มีนโยบายและวิสัยทัศน์ชัดเจนว่าต้องการให้เกิดการคัดแยกขยะอย่างจริงจังตั้งแต่ต้นทาง รวมถึงมีบุคลากร โรงเรียน ชุมชน ภาคีทุกภาคส่วนรวมกว่า 100 องค์กร ความร่วมมือกันในครั้งนี้ จึงนับเป็นการรวมพลังครั้งสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะอย่างยั่งยืน ตามปณิธานองค์กร ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน” นายตรีเทพกล่าว